Skip to main content

ทฤษฎีว่าด้วยการพังทลายของรัฐอยุธยา ถูกขับเคลื่อนด้วยกระแสทรรศน์หลากหลายระนาบ เช่น หลักเชื้อชาติ/เผ่าพันธุ์นิยม ที่นำเสนอโดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเน้นไปที่ภาพความโหดร้ายป่าเถื่อนของกองทัพพม่าที่ผสมผสานกับการแตกความสามัคคีของคนไทยจนทำให้ต้องเสียกรุงครั้งที่สอง ขณะที่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้วิพากษ์ไปที่โครงสร้างรัฐ นั่นก็คือ ปัญหาการเกณฑ์ทัพอันเป็นผลสืบเนื่องจากความหละหลวมของระบบควบคุมไพร่แห่งอาณาจักรอยุธยา ส่วนสุเนตร ชุตินธรานนท์ กลับพุ่งเป้าไปที่ปฏิบัติการทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธีการทหาร โดยเฉพาะ ความทนทานของกองทัพพม่าในการรบข้ามฤดูน้ำหลากซึ่งทำให้ทหารอยุธยาต้องจนแต้มในการป้องกันกรุง

หากแบ่งการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์อยุธยาช่วงเสียกรุงครั้งสุดท้ายคร่าวๆ ออกเป็น สำนักชาตินิยม โครงสร้างนิยม และ พิชัยยุทธ์นิยม พบเห็นงานเขียนจากนักวิชาการฝรั่งจำนวนมิน้อยที่จัดอยู่ในหมวดหมู่เดียวกันกับข้อโต้แย้งของนิธิและสุเนตร โดยเฉพาะตามหลักยุทธนิยม เช่น หนังสือของ B.J.Terwiel เรื่อง Thailand's Political History: From the Fall of Ayuthaya to Recent Times (2006) ที่แม้ผู้เขียนจะพูดถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการล่มสลายของอยุธยาเอาไว้หลายมิติ หากแต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับจุดอ่อนอยุธยาในระดับยุทธวิธีทางทหาร ซึ่ง Terwiel ได้นำเอาภูมิทัศน์ความมั่นคงวัดเข้าไปวางไว้ในปฏิบัติการโจมตีอยุธยาโดยฝ่ายกองทัพพม่า

Terwiel ได้อธิบายว่า กิจกรรมสร้างบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆ ในสมัยราชวงศ์ปราสาททองและราชวงศ์บ้านพลูหลวง เช่น วัดไชยวัฒนาราม ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของย่านวัดจำนวนมากที่มีลักษณะหันเหออกจากแกนราชธานีอยุธยาตรงเกาะเมือง มิหนำซ้ำ รูปแบบวัดที่เต็มไปด้วยชั้นกำแพงอิฐ ยังทำให้เขตวัดที่กระจายตัวอยู่รอบนอกมีความแข็งแกร่งทนทานใกล้เคียงกับตัวกำแพงพระนครศรีอยุธยา ดังนั้น เมื่อกองทัพพม่าสามารถชิงชัยยึดวัดต่างๆ ได้ทีละเล็กทีน้อยจากทหารอยุธยา พร้อมแปลงสภาพวัดให้เป็นค่ายหรือป้อมทหารพม่า เมื่อนั้นกองทัพพม่าจึงเริ่มเขยิบอยู่ในสภาพได้เปรียบทางการยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็น การปลูกหอรบประชิดเมืองหรือการใช้อิฐวัดเป็นฐานกำบังปืนใหญ่จากอยุธยา

จริงแล้ว ข้อสังเกตของ Terwiel ถือว่าน่าสนใจมิน้อย เพราะช่วงใกล้อวสานกรุงศรีฯ ทหารพม่าได้ล้อมกำแพงเมืองอยุธยาผ่านการประสานโครงข่ายจากป้อมวัดที่มีการชักโยกถ่ายเทกำลังกันไปมา โดยเฉพาะ การกระชับวงล้อมตีกรุงแบบรอบทิศทาง เช่น การยิงปืนใหญ่ถล่มตัวเมืองอยุธยาจากวัดสามพิหาร วัดหน้าพระเมรุ วัดพิชัย วัดไชยวัฒนาราม วัดท่าการ้อง ฯลฯ

ขณะเดียวกัน แม้การใช้ค่ายวัดจะสร้างข้อได้เปรียบให้กับทหารพม่าโดยมิต้องวิเคราะห์หรือใช้หลักฐานสนับสนุนข้อโต้แย้งอะไรมากนัก เพราะถือเป็นธรรมชาติทางการยุทธ์ทั้งนี้เนื่องจากค่ายวัดส่วนใหญ่มักตั้งอยู่ในระยะประชิดกรุงโดยมีแต่เพียงลำน้ำหรือคูเมืองเป็นเส้นแบ่งเขตเท่านั้น ทว่า จากการที่รัฐบาลอยุธยาเริ่มสูญเสียกลุ่มวิสุงคามสีมาจำนวนมากให้กับกองทัพพม่า คงทำให้ทหารอยุธยาเกิดอาการเสียขวัญประหวั่นพรั่นพรึงมิน้อยอันเป็นผลจากการที่เขตศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองได้ถูกศัตรูย่ำยีหรือถูกนำไปใช้ประโยชน์เพื่อต่อรบกับฝ่ายตน โดยไม่มีหลักประกันแน่ชัดว่าขวัญเมืองเหล่านี้ ท้ายที่สุดจะยังคงคุ้มครองปกป้องทหารอยุธยาหรือหันไปช่วยข้าศึกกันแน่ นอกจากนั้น การที่ทัพอยุธยาตัดสินใจยิงปืนใหญ่ใส่วัดวาอารามที่ถูกเนรมิตรังสรรค์โดยบรรพบุรุษฝ่ายตน คงจะทำให้เกิดภาวะชะงักงันหรือความรวนเรในการโจมตีเป้าหมายทางการรบอยู่บ้าง

อย่างไรก็ตาม หากสืบย้อนไปดูศึกล้อมกรุงศรีฯ ก่อนหน้า ก็พบว่า การตีอยุธยาผ่านระบบค่ายวัด นับว่าไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร เช่น ค่ายวัดหน้าพระเมรุ หรือ วัดสามพิหาร ที่ล้วนแล้วแต่เคยเป็นที่ตั้งค่ายของทัพพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้/บุเรงนอง พระเจ้าอลองพญา หรือแม้กระทั่ง พระยาละแวกจากกัมพูชา (หรือพูดอีกแง่ คือ ทั้งศึกเสียกรุงครั้งที่หนึ่ง ศึกสมัยพระมหาธรรมราชาและศึกอลองพญา ล้วนแล้วแต่มีการใช้ประโยชน์จากค่ายวัดทั้งสิ้น) ซึ่งตรงจุดนี้นี่เองที่ Terwiel กลับแสดงให้เห็นถึงจุดอ่อนในสมมุติฐานของเขา ทั้งนี้เนื่องจาก Terwiel ระบุว่าเขาไม่ค่อยแน่ใจจริงๆ ว่าชาวอยุธยาพอจะทราบเรื่องอันตรายจากการปล่อยให้ข้าศึกใช้ประโยชน์จากภูมิทัศน์วัดหรือไม่ เพราะเขารู้สึกฉงนใจว่าทั้งๆ ที่อาจมีผลเสียรุกกระทบตามมา แต่ทำไมรัฐอยุธยาถึงปล่อยให้มีมหกรรมปฏิสังขรณ์วัดจำนวนมาก (ที่เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมอันแข็งแกร่งดุจป้อมค่าย) ในช่วงปลายอาณาจักร

คำตอบนี้ คิดว่า ผู้ปกครองอยุธยาย่อมประจักษ์ชัดอยู่แล้วเกี่ยวกับพิชัยยุทธ์ล้อมกรุงของข้าศึกผ่านอรรถประโยชน์จากค่ายวัด (ซึ่งคงมีการจดบันทึกหรือบอกเล่าสืบทอดกันมา) เพียงแต่ว่า ความสงบร้างศึกมาร้อยกว่าปีนับแต่ครารัชสมัยพระนเรศวรบวกกับธรรมชาติการขยายตัวของนคราตามกาลเวลา ย่อมทำให้เกิดการผุดตัวขึ้นมาของพระอารามที่กระจายตัวออกไปเรื่อยๆ จากแกนเมืองโดยอัตโนมัติ (บวกกับความมั่นใจของชาวอยุธยาเอง ว่าอย่างไรเสียคงไม่มีศึกใหญ่เข้ามาประชิดกรุงอีกเป็นแน่) แต่อย่างไรก็ตาม หลังการรุกแบบสายฟ้าแลบของศึกอลองพญาที่มีการระดมยิงปืนใหญ่จากวัดหน้าพระเมรุ นับเป็นจุดพลิกผันที่สร้างความตกตะลึงให้กับนักการทหารอยุธยา ซึ่งโชคดีที่องค์ปฐมกษัตริย์คองบองทรงประสบอุบัติเหตุจากการยุทธ์จนต้องเลิกทัพกลับไปก่อน โดยเป็นที่น่าสังเกตว่าหลังหมดศึกอลองพญาจนกระทั่งถึงศึกเสียกรุงครั้งที่สอง กษัตริย์อยุธยาได้ทำทุกวิถีทางเพื่อวางแนวปะทะผลักพม่าออกนอกกำแพงเมืองโดยอาศัยการตั้งทัพตามวัดต่างๆ เช่น ค่ายเจ้าตากที่วัดพิชัย ทว่า เมื่อท้ายที่สุด ทัพพม่าสามารถขับไล่ทหารอยุธยาออกจากค่ายวัดได้ทั้งหมด จนสามารถตั้งป้อมสวมทับประชิดกำแพงเมืองได้สำเร็จพร้อมกุมชัยชนะในการรบข้ามฤดูน้ำหลาก เมื่อนั้น ทหารอยุธยาจึงเริ่มเห็นลางพ่ายแพ้ทางการยุทธ์อย่างชัดเจน

จากกรณีดังกล่าว จึงนับได้ว่า การประดิษฐ์ปรับแปลงค่ายวัดโดยทหารพม่า ถือเป็นตัวแปรหนึ่งที่มีผลต่อความปราชัยของทัพอยุธยาในศึกอวสานกรุงศรีฯ โดยหากจะใส่ปฏิบัติการยึดค่ายวัดเข้าไปใน Dynamic Tactical Framework หรือ กรอบพลวัตยุทธวิธีช่วงหลังฤดูน้ำหลาก อาจเรียงลำดับการรณรงค์สงครามของทัพพม่าคร่าวๆ ได้ดังนี้

1. ระดมเสบียงและกำลังพลเข้ารุกคืบทำลายฐานทหารอยุธยา
2. ไล่ทัพอยุธยาออกจากค่ายวัดรอบเมือง พร้อมตั้งค่ายใหม่สวมทับเข้าไปในเขตวัดประกอบกับเพิ่มค่ายใหม่ระหว่างวัดเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการลำเลียงพลและขยับวงล้อมกรุง
3. ก่อมูลดินตามค่ายวัดและค่ายอื่นๆ เพื่อระดมยิงทำลายเป้าหมายภายในตัวกำแพงอยุธยา
4. ขุดอุโมงค์เพื่อเผาฐานกำแพงเมือง และ
5. ระดมพลบุกเข้าเมืองเพื่อรบขั้นแตกหัก

จากขั้นลำดับที่นำแสดงมา "Temple Fortress" จึงมีผลต่อการ "Shut Down" กรุงศรีอยุธยาอย่างล้ำลึก


ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค