Skip to main content

กัมพูชา คือ รัฐที่มีรูปร่างกะทัดรัด (Compact State) คล้ายฝรั่งเศส สเปน โปแลนด์ ฯลฯ โดยผืนแผ่นดินมีสัณฐานการวางตัวเป็นรูปวงกลมกึ่งสี่เหลี่ยมจัตุรัส ซึ่งในทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ส่งผลดีต่อการวางยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศ กระนั้นก็ตาม หากตำแหน่งเมืองหลวง มิได้ตั้งอยู่ย่านใจกลาง (Core) หรือ ภูมิประเทศขาดการวางตัวของปราการธรรมชาติที่หนาทึบ รัฐเช่นว่า อาจสุ่มเสี่ยงต่อการถูกบุกรุกจากข้าศึกเพื่อนบ้าน หรือถูกใช้เป็นฐานแผ่อิทธิพลของมหาอำนาจทางการเมืองโลก

ในกัมพูชา ประวัติศาสตร์การทหารช่วงสงครามเย็น คือ กรณีศึกษาที่น่าสนใจทางภูมิรัฐศาสตร์ กล่าวคือ ตำแหน่งกรุงพนมเปญที่ตั้งต่ำมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ใกล้ชายแดนเวียดนาม พร้อมแผ่นดินที่ยื่นลึกเข้าไปในเขตเพื่อนบ้านซึ่งเรียกว่า "จะงอยปากนกแก้ว" ทำให้กัมพูชามีความสุ่มเสี่ยงต่อการถูกรุกรวบดินแดน โดยเฉพาะจากรัฐเพื่อนบ้านที่มีดุลประชากรและแสนยานุภาพทางทหารสูงกว่าอย่างเวียดนาม ดังเห็นได้จากการบุกพนมเปญของกองทัพเวียดนามเหนือและกองกำลังเฮงสัมรินในช่วงสงครามอินโดจีนครั้งที่สาม จนทำให้รัฐบาลเขมรแดงต้องถอยร่นเข้าไปออมกำลังอยู่แถบตะเข็บชายแดนไทย (ดูเพิ่มเติมในแผนภาพที่ 1)


แผนภาพที่ 1 แสดงตำแหน่งที่ตั้งของกรุงพนมเปญ

ขณะเดียวกัน เส้นทางโฮจิมินห์ซึ่งใช้ส่งกำลังบำรุงทหารเพื่อสู้รบกับกองทัพอเมริกันช่วงสงครามอินโดจีนครั้งที่สอง (แผนภาพที่ 2) ก็ช่วยกระตุ้นให้นักยุทธศาสตร์สหรัฐและประธานาธิบดีนิกสัน (แผนภาพที่ 3) ตัดสินใจทำสงครามลับในกัมพูชาเพื่อสกัดเส้นทางโฮจิมินห์มิให้เชื่อมต่อกับแนวจรยุทธ์ในเขตชนบทไซ่ง่อนได้สะดวก ผลที่ตามมาคือการทิ้งระเบิดจำนวนมหาศาลจากเครื่องบินรบ B 52 จนทำให้แผ่นดินกัมพูชากว่าค่อนประเทศ กลายเป็นทะเลเพลิงที่ตกอยู่ใต้ซากปรักหักพังแห่งไฟสงคราม


แผนภาพที่ 2


แผนภาพที่ 3 ริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีคนที่ 37 ของสหรัฐอเมริกา ดำรงตำแหน่งปี 1969-1974

จากข้อสังเกตเบื้องต้น กัมพูชาจึงเป็นรัฐที่มีความเปราะบางในทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงเป็นรัฐที่ส่งผลสะเทือนต่อดุลอำนาจอินโดจีน อนึ่ง รูปสัณฐานของรัฐกระชับเช่นว่านี้ ยังส่งผลต่อการผลิตนโยบายความมั่นคงทั้งในส่วนกองทัพกัมพูชา กองทัพไทย และกองทัพเวียดนาม ตลอดจนแบบแผนการดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐมหาอำนาจ เช่น จีน สหรัฐ ฯลฯ

ในโลกปัจจุบัน ผมคิดว่ามีปริศนาภูมิรัฐศาสตร์อีกหลายอย่างที่สามารถวิเคราะห์วิจัยเพิ่มเติมได้จากกรณีกัมพูชา เช่น 1) ผืนที่ราบซึ่งทอดตัวยาวจากพนมเปญไปถึงสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในเวียดนาม หรือผืนที่ราบเปิดโล่งจากทะเลสาบเขมรจรดลุ่มน้ำบางปะกงในไทย มีผลต่อพฤติกรรมยุทธศาสตร์หรือความทรงจำประวัติศาสตร์ในกัมพูชาและเพื่อนบ้านอย่างไร อาทิ พัฒนาการเมืองไซ่ง่อน (โฮจิมินห์ ซิตี้) ที่ตั้งอยู่บนรากนิคมเขมรเก่าอย่างเมืองไพรนคร หรือแผนยุทธการโนนหมากมุ่น ที่ตาพระยา ปราจีณบุรี ซึ่งให้ภาพการปะทะทางทหารระหว่างกองทัพเวียดนามกับกองทัพไทย หรือ 2) วัตถุทางภูมิรัฐศาสตร์ อาทิ ธงชาติ ถนน ค่ายทหาร โดยเฉพาะกรณีปราสาทพระวิหาร แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งด้านดินแดนที่ผูกโยงกับอัตลักษณ์ชาติอย่างไร และ 3) ทำไมจีนถึงให้ความสำคัญกับกัมพูชามากขึ้น ตำแหน่งรัฐที่โยงไทยกับเวียดนามแต่ขาดทางรถไฟและโครงข่ายโลจิสติกส์อื่นๆ อย่างพอเพียง มีผลหรือไม่ต่อการแผ่อิทธิพลภูมิรัฐศาสตร์ของจีนในกัมพูชา


ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
โจทย์สำคัญของสถาบันกองทัพที่สิงสถิตอยู่ในสังคมอันเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย ว่าสุดท้ายแล้ว กระบวนการปฏิรูปการเมืองของประเทศ กับ การปฏิรูปภาคทหารของกองทัพ จะดำเนินควบคู่ไปกับการปฏิรูปทางสังคมที่ตั้งอยู่บนฐานความยุติธรรมและสันติวิธี ได้มากน้อยเพียงไร