Skip to main content

โครงการ "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (One Belt One Road / OBOR) ของจีนซึ่งมีรากฐานมาจากเส้นทางสายไหมในอดีต กำลังคืบคลานเลาะเลียบไปตามพื้นผิวอธิปไตยรัฐต่างๆ ในเอเชีย ยุโรป หรือแม้กระทั่งบางส่วนของแอฟริกา สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศต่างๆ เริ่มแสดงท่าทีปรับตัวขานรับต่อยุทธศาสตร์จีนทั้งในแง่เศรษฐกิจและความมั่นคงมากขึ้นเรื่อยๆ ทว่า คำถามสำคัญที่ยังไม่มีการพูดถึงนัก คือ ประเทศใดในอาเซียนที่น่าจะต้องเข้าไปพัวพันหรือเผชิญหน้ากับอิทธิพลจีนผ่านโครงการ "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ในระดับที่เข้มข้นที่สุดไปจนถึงระดับที่เบาบางที่สุด


ที่มา :  China Dialogue

ต่อกรณีดังกล่าว ผมเสนอให้มองภาพยุทธศาสตร์จีนในเอเชียอาคเนย์ผ่าน 4 ส่วนหลัก ได้แก่

1. เส้นทางสายไหมทางบก (Silk Road Economic Belt) ซึ่งเน้นขยายโครงข่ายโลจิสติกส์ผ่านระเบียงเศรษฐกิจทางบก โดยเน้นหนักไปที่เวียดนาม เมียนมา ไทย ลาว และกัมพูชา

2. เส้นทางสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Road) ซึ่งเน้นขยายโครงข่ายโลจิสติกส์ทางทะเล โดยเฉพาะเวียดนาม สิงคโปร์-มาเลเซีย อินโดนีเซีย และบางส่วนของไทยกับเมียนมา เพื่อคลุมพลังการค้าทั้งในเขตทะเลจีนใต้ ช่องแคบมะละกา และทะเลอันดามัน

3. เส้นรอยต่อสร้อยไข่มุก (String of Pearls) ซึ่งหมายถึง ยุทธศาสตร์ขยายอำนาจทางเศรษฐกิจและการทหารของจีนให้ครอบคลุมท่าเรือสำคัญในเขตมหาสมุทรอินเดียและบางส่วนของแปซิฟิก โดยมีเมียนมาและเขตทะเลที่ทับซ้อนกันระหว่างจีนกับเวียดนามเป็นเป้าหมายหลัก และ

4. เส้นปะทะในทะเลจีนใต้ ซึ่งหมายถึง พื้นที่ความขัดแย้งเรื่องดินแดนในย่านทะเลจีนใต้ระหว่างจีนกับบางรัฐในอาเซียน เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ฯลฯ

การปะติดปะต่อกันของภาพภูมิทัศน์ยุทธศาสตร์จีนทั้งสี่ส่วนหลัก ส่งผลให้เกิดการจัดแบ่งรัฐเอเชียอาคเนย์ออกเป็นสามกลุ่มหลักคร่าวๆ ดังนี้

1. ประเทศที่อาจเข้าไปเกี่ยวพันหรือเผชิญหน้ากับอิทธิพลจีนแบบเข้มข้นหนักหน่วง ได้แก่ เวียดนาม และเมียนมา

2. ประเทศที่อาจเข้าไปเกี่ยวพันหรือเผชิญหน้ากับอิทธิพลจีนแบบพอประมาณ ได้แก่ สิงคโปร์-มาเลเซีย ไทย-ลาว-กัมพูชา และ อินโดนีเซีย-ฟิลิปปินส์

3. ประเทศที่อาจเข้าไปเกี่ยวพันหรือเผชิญหน้ากับอิทธิพลจีนแบบเบาบาง ได้แก่ บรูไน และติมอร์ตะวันออก

สำหรับในกลุ่มแรก พบว่า เวียดนาม คือ รัฐที่ถูกทั้งถนนบกและถนนทะเลของจีนตัดผ่าน เพื่อโยงเข้าหาเขตเศรษฐกิจจีนในมณฑลกวางสีและอ่าวเป่ยปู้ นอกจากนั้น เวียดนามยังถูกจัดวางให้เข้าไปอยู่ในวงยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุกจีนประจำย่านมหาสมุทรแปซิฟิก และขณะเดียวกัน เวียดนามเองก็เป็นรัฐที่มีข้อพิพาทเรื่องทะเลจีนใต้กับจีนในระดับที่เข้มข้น ดังนั้น เวียดนามจึงจัดอยู่ในอันดับต้นๆ ของรัฐที่มีผลประโยชน์ได้เสียกับจีนในระดับสูง ส่วนเมียนมา จัดเป็นรัฐที่ค่อยๆ ถูกแนวท่อก๊าซ ตลอดจนถนน ทางรถไฟและท่าเรือจีนพาดผ่าน เพื่อเชื่อมมณฑลยูนนานเข้ากับอ่าวเบงกอล โดยถึงแม้ว่าเมียนมาจะไม่มีข้อขัดแย้งเรื่องทะเลจีนใต้กับจีน หากแต่ด้วยปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ของเมียนมาเองที่เชื่อมโยงกับเอเชียใต้ เมียนมาจึงกลายเป็นพื้นที่หลักในยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุกจีน (ซึ่งส่วนหนึ่ง เป็นไปเพื่อปิดล้อมอินเดียและโยงพลังเศรษฐกิจจีนในการบุกตลาดเอเชียใต้)

สำหรับในกลุ่มที่สอง พบว่า การผนึกท่าเรือและเมืองมหานครทางแถบช่องแคบมะละกา ได้ทำให้กลุ่มรัฐสิงคโปร์-มาเลเซีย กลายเป็นแกนเศรษฐกิจหลักที่ส่งผลต่อการขยายตัวของเส้นทางสายไหมทางทะเล หากแต่ว่าทั้งสองรัฐ ยังคงขาดแนวเชื่อมต่อทางบก จึงจำเป็นต้องพึ่งไทย-ลาว-กัมพูชา ในการผนึกพลังโลจิสติกส์ร่วมกับจีน ขณะที่ กลุ่มรัฐไทย-ลาว-กัมพูชา ได้แปลงสภาพเป็นศูนย์กลางคมนาคมหลักประจำย่านอินโดจีนพื้นทวีป โดยมีไทยเป็นพื้นที่หลักที่รองรับนโยบายมองลงใต้ของจีนซึ่งพุ่งทะยานลงจากมณฑลยูนนานเข้าคาบสมุทรมลายู อย่างไรก็ตาม จีนได้เริ่มขยายพลังโลจิสติกส์ในลาวและกัมพูชา ควบคู่กันไป เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในลุ่มน้ำโขง พร้อมใช้ฐานยุทธศาสตร์จากทั้งสองรัฐเข้าตีประกบฐานตลาดในไทยและเวียดนาม กระนั้นก็ดี ทั้งไทย ลาวและกัมพูชา อาจไม่ต้องเผชิญความขัดแย้งทางทหารกับจีนแบบเข้มข้น เนื่องจากไม่ใช่คู่พิพาทกับจีนในทะเลจีนใต้


ที่มา : World Politics Review

ในส่วนอินโดนีเซีย-ฟิลิปปินส์ ซึ่งแม้จะไม่ใช่จุดยุทธศาสตร์หลักของเส้นทางสายไหมทางทะเล หากแต่พื้นที่เศรษฐกิจตรงเกาะสุมาตรา ก็ถูกบูรณาการเข้ากับมาเลเซียและสิงคโปร์ โดยกองทัพเรือจีนเคยประสบความสำเร็จในการเข้าถึงมหาสมุทรอินเดียผ่านช่องแคบซุนดา ซึ่งทำให้อินโดนีเซียอาจกลายเป็นพื้นที่สำรองหลักของจีนหากเกิดสภาวะคับขันในการเดินเรือตรงช่องแคบมะละกา ส่วนกรณีฟิลิปปินส์ ความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ระหว่างเกาะลูซอน กับเขตบริหารพิเศษฮ่องกง-มาเก๊า หรือแม้กระทั่งไต้หวัน ทำให้ฟิลิปปินส์เริ่มถูกผูกโยงเข้าไปอยู่ในข่ายเส้นทางสายไหมทางทะเล โดยถึงแม้ว่าฟิลิปปินส์จะเป็นรัฐคู่พิพาทกับจีนในทะเลจีนใต้ หากแต่การกระชับสัมพันธ์กับฟิลิปปินส์ย่อมทำให้จีนถ่วงดุลกับสหรัฐพร้อมเพิ่มพูนกำลังเศรษฐกิจบนสนามเอเชีย-แปซิฟิก ได้มากขึ้น

สำหรับในกลุ่มสุดท้าย กล่าวได้ว่า ติมอร์ตะวันออก คือ รัฐที่ถูกตัดขาดจากเส้นทางสายไหมทางทะเลของจีนมากที่สุด พร้อมมีที่ตั้งภูมิศาสตร์ห่างไกลจากเส้นทางคมนาคมหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตลอดจนไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์เชิงลึกกับจีนทั้งในแง่ยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุกและทะเลจีนใต้ ส่วนบรูไน แม้จะไม่ถูกพาดผ่านโดยเส้นทางขนส่งทะเลสายหลักของจีน หากแต่ด้วยความเชื่อมโยงทางการค้ากับมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ในกรอบอาเซียน บรูไนจึงมีความได้เปรียบสูงกว่าติมอร์ตะวันออก ส่วนในพื้นที่ทะเลจีนใต้ แม้บรูไนจะเป็นหนึ่งในคู่พิพาท หากแต่ก็ไม่ใช่คู่ขัดแย้งหลักกับจีน (เมื่อเทียบกับเวียดนามและฟิลิปปินส์) ฉะนั้น บรูไนจึงอาจไม่ต้องเผชิญหน้ากับจีนแบบเข้มข้นรุนแรง

จากการจัดอันดับรัฐในเบื้องต้น จะเห็นว่า โครงการ "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ของจีน ซึ่งสัมพันธ์กับยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุกและข้อพิพาททะเลจีนใต้ ทำให้เราเริ่มมองเห็นภาพพลวัตทางเศรษฐกิจ การเมือง และ ความมั่นคง ของเอเชียอาคเนย์ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มรัฐที่ต้องพัวพันเผชิญหน้ากับอิทธิพลจีนในระดับที่เข้มข้นที่สุดไปจนถึงระดับที่เบาบางที่สุด กระนั้นก็ตาม อันดับรัฐที่ผมวิเคราะห์นำเสนอไปเบื้องต้นย่อมมีวิวัฒนาการขึ้นลงผันแปรไปตามปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เช่น สมรรถะการกำหนดดำเนินนโยบายต่างประเทศของแต่ละรัฐในอาเซียนที่อาจจะมีประสิทธิผลต่อการตอบสนองท่าทีของจีนไม่เท่าเทียมกัน หรือความก้าวหน้าในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจซึ่งอาจมีจุดเริ่มต้นและจุดขยายตัวที่ไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่ โดยผลพวงจากพลวัตตัวแปรแวดล้อมต่างๆ ย่อมกระทบต่ออันดับขึ้นลงของประเทศต่างๆ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ยกตัวอย่างเช่น ในกลุ่มรัฐประเภทที่สอง ซึ่งยังไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัดว่าระหว่างกลุ่มรัฐสิงคโปร์-มาเลเซียกับกลุ่มรัฐไทย-ลาว-กัมพูชา กลุ่มใดจะครองอันดับสูงสุดในแง่ของการเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์พร้อมๆ กับเผชิญหน้ากับอิทธิพลจีน ต่อกรณีดังกล่าว หากในอนาคต โครงการเส้นทางสายไหมทางทะเลของจีน มีความก้าวหน้ารวดเร็วกว่าโครงการเส้นทางสายไหมทางบก ก็ย่อมทำให้ทั้งสิงคโปร์-มาเลเซีย ชิงความได้เปรียบทางเศรษฐกิจเหนือกว่าไทย-ลาว-กัมพูชา โดยแม้ว่าไทยจะมีท่าเรือยุทธศาสตร์ในอ่าวไทย หากแต่ก็ไม่ใช่เส้นทางหลักเมื่อเทียบกับช่องแคบมะละกา แต่ทว่า หากถนนทางบกกลับมีความก้าวหน้ามากกว่าถนนทางทะเล ผลลัพธ์ที่ได้ย่อมเป็นไปในทิศทางตรงข้าม แต่ถ้าหากโครงการทั้งสองส่วนกลับมีความก้าวหน้าไปในอัตราที่ใกล้เคียงกัน ทั้งสิงคโปร์-มาเลเซีย-ไทย-ลาว-กัมพูชา ก็อาจถูกเชื่อมโยงบูรณาการและมีสมรรถนะในการครองอันดับที่ใกล้ชิดสมดุลกันมากขึ้น หรือ หากมีปัจจัยใหม่ก่อตัวขึ้น (แม้ว่าจะเกิดขึ้นยาก) เช่น การพลิกฟื้นนโยบายขุดคอคอดกระ โฉมหน้าเส้นทางสายไหมทางทะเลก็อาจเปลี่ยนแปลงไป พร้อมส่งผลขนานใหญ่ต่อผลประโยชน์ได้เสียของรัฐต่างๆ ในภูมิภาค


ดุลยภาค ปรีชารัชช

บทความนี้พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกใน หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 7-10 ธันวาคม 2560

หมายเหตุ: การจัดอันดับในบทความนี้ ผู้เขียนใช้เกณฑ์การเชื่อมโยงทางโลจิสติกส์ ผสมกับปัญหาพิพาทด้านดินแดนและขอบเขตการขยายอิทธิพลจีน มาเป็นตัวกำหนด จึงทำให้เกิดการตัดแบ่งอันดับเป็นทั้งแบบประเทศเดียว เช่น เวียดนาม เมียนมา หรือ เป็นกลุ่มประเทศ เช่น การดึงสิงคโปร์มารวมกับมาเลเซีย (เนื่องจากทั้งสองรัฐมีความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์และมีพลังควบคุมช่องแคบมะละกาเหมือนกัน) อย่างไรก็ตาม ผู้อ่านสามารถจัดประเภทรัฐเป็นแบบอื่นที่แตกต่างไปจากผู้เขียน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเกณฑ์การจำแนกหรือหลักวิเคราะห์ของแต่ละบุคคล

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค