Skip to main content

จากกระแสบุพเพสันนิวาสที่โลกออนไลน์พากันเผยแพร่ข่าวที่กรมศิลปากรเคยขุดพบโครงกระดูกมนุษย์หัวขาดเมื่อปี พ.ศ. 2557 ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นของพระปีย์กับเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ผมและคณะผู้ติดตามจึงรีบรุดเข้าไปดูซากโครงกระดูกมนุษย์ที่วัดสันเปาโล แถบทะเลชุบศร เมืองลพบุรี

แต่เมื่อไปถึงแล้ว ผมเดินวนหาอยู่หลายรอบ ก็ไม่พบหลุมโครงกระดูกของกรมศิลฯที่กำลังเป็นข่าวสักที

จนจังหวะเหมาะได้พบกับ "ลุงเล็ก" ชายมีอายุมาดดีคนหนึ่งที่บอกกับผมว่าเป็นคนช่วยกรมศิลป์ฯ ดูแลเขตโบราณสถานวัดสันเปาโลและเป็นผู้เคยทำความสะอาดกะโหลกศีรษะของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ลุงเล็กแจ้งให้ผมฟังว่า ปัจจุบันหลุมโครงกระดูกของฟอลคอนกับพระปีย์ (ที่อยู่ริมถนนตรงข้ามวัดสันเปาโล) ถูกดินฝังกลบเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากกำลังอยู่ในช่วงตกลงเจรจาซื้อขายที่ดินระหว่างเอกชนกับกรมศิลป์ฯ ซึ่งหากซื้อขายสำเร็จ จะมีการขุดโครงกระดูกและพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ต่อไป (ดังนั้น หากใครที่ตามข่าวแล้วอยากรุดขึ้นไปดูแหล่งขุดโครงกระดูกฟอลคอนกับพระปีย์ ก็คงต้องรอกันไปอีกซักระยะครับ)


ลุกเล็กขณะอธิบายสถานที่ฝังศพของพระปีย์และฟอลคอนโดยชี้ไปที่ฐานโบสถ์คริสต์รูปไม้กางเขนซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหอดูดาววัดสันเปาโล พร้อมยืนยันว่าที่ผ่านมามีกลุ่มนักวิชาการฝรั่งเศสให้ความสนใจสถานที่แห่งนี้กันมาก

ลุงเล็กใช้ภาพวาดสีน้ำมันของหอดูดาวเมืองละโว้ (วัดสันเปาโล/เซนต์ปอล) ที่บาทหลวงปูโซจากคณะเยซูอิตมอบให้หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ. 2305 มาเป็นหลักฐานอธิบาย โดยชี้ไปที่ตัวอาคารที่มีรูปร่างเป็นกากบาทหรือไม้กางเขนซึ่งเชื่อกันว่าน่าจะเป็นโบสถ์คริสเตียนที่มีการฝังศพของพระปีย์กับฟอลคอน โครงกระดูกทั้งสองอยู่ในสภาพไม่มีศีรษะ ลุงเล็กแจ้งว่าโครงกระดูกที่มีรูปร่างใหญ่และสูงกว่าน่าจะเป็นของฟอลคอน ส่วนที่เล็กและเตี้ยกว่านั้น น่าจะเป็นพระปีย์

แต่ลุงเล็กอธิบายต่อว่าเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ จริงๆ แล้วไม่ใช่คนที่สูงใหญ่มากนักดังที่บางคนเข้าใจ ส่วนกะโหลกศีรษะของวิชาเยนทร์ ลุงเล็กให้ข้อคิดเห็นว่า แม้ร่างฟอลคอนได้ถูกฝังอยู่ไม่ไกลจากพระศพของพระปีย์ แต่ศีรษะฟอลคอนถูกตัดไปเสียบประจานไว้ในระยะที่ห่างออกมา ฉะนั้น จึงพบกะโหลกศีรษะในตำแหน่งที่ห่างออกจากโครงกระดูกหลักและอยู่ในชั้นดินที่ตื้นกว่านั่นเอง

ผมมานั่งใคร่ครวญดูแล้ว แม้ข้อสันนิษฐานเรื่องศพของฟอลคอนกับพระปีย์ตามคำบอกเล่าของลุงเล็ก จะต้องมีการตีความสืบหาพยานหลักฐานมาสอบสวนค้นคว้าเพิ่มเติมอีก แต่ก็ถือเป็นข้อคิดเห็นที่น่าสนใจและคู่ควรแก่การอภิปรายมิใช่น้อย เช่น หากดูที่บ้านเกิดของฟอลคอนที่ว่ากันว่าเป็นชาวกรีกผสมเวนิซจากเซฟาโลเนียทางแถบทะเลไอโอเนีย คนพื้นเมืองที่นั่นมักมีรูปร่างไม่สูงใหญ่หรือหนีห่างจากผู้คนแถบเอเชียนัก ซึ่งสอดคล้องกับคำให้การของลุงเล็กที่บอกว่าเจ้าพระยาวิชาเยนทร์เป็นฝรั่งร่างเล็ก ไม่ได้สูงใหญ่อะไรมาก ส่วนหลักฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับมรณกรรมของเจ้าพระยาวิชเยนทร์และพระปีย์ แม้จะมีการให้ข้อมูลแตกต่างกันบ้าง เช่น การตัดหัวผ่าศพแยกร่างฟอลคอน การแล่เนื้อฟอลคอน แต่หลักฐานส่วนใหญ่ก็พูดในลักษณะที่ค่อนข้างสอดคล้องตรงกัน นั่นคือ ฟอลคอนได้ถูกทรมานก่อนตายพร้อมเป็นจังหวะการตายที่ไล่เลี่ยสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับการฆาตกรรมพระปีย์

นายแพทย์แกมเฟอร์ ชาวเยอรมันที่เข้ามาในสยามราว พ.ศ. 2233 หลังวิชเยนทร์ตายได้ 2 ปี บันทึกไว้ว่า วิชเยนทร์ถูกจับในวันเดียวกับพระปีย์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2231 จากนั้นพระเพทราชาได้ตัดศีรษะพระปีย์ก่อน แล้วโยนลงแทบเท้าวิชเยนทร์ขณะที่ถูกตรึงโซ่ตรวน พร้อมกล่าวเย้นหยันว่า "นั่นแหละ พระเจ้าอยู่หัวของเจ้า” ต่อมาวิชเยนทร์ถูกทรมานและอดอาหารอยู่ 15 วัน จึงถูกนำไปประหาร

ขณะที่ ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 81 จดหมายเหตุเรื่อง "การจลาจลเมื่อปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช” (ซึ่งต้นฉบับเป็นภาษาฝรั่งเศส ต่อมาแปลเป็นอังกฤษ แล้ว หลวงจินดาสหกิจ หรือละม้าย ธนะศิริ นำมาแปลเป็นภาษาไทยและตีพิมพ์เผยแพร่ในปี พ.ศ. 2510) พูดถึงการทำรัฐประหารของพระเพทราชา โดยความตอนหนึ่งกล่าวว่า

“......ออกพระเพทราชาก็ให้เบิกตัวมองซิเออร์ คอนสตันซ์ ออกมาหา และกล่าวบริภาษ.............ว่า มองซิเออร์ คอนสตันซ์ เป็นผู้คิดทรยศกบฎต่อพระมหากษัตริย์และรัฐบาลสยาม แล้วก็สั่งให้ทำทารุณกรรมด้วยประการต่างๆ.........................แต่เมื่อได้เพียรทรมานอยู่หลายชั่วนาฬิกาแล้ว จึงให้นำตัวพระราชบุตรบุญธรรม (หมายถึงพระปีย์ โอรสบุญธรรมพระนารายณ์ : เพิ่มโดย ดุลยภาค) ออกมาตัดพระเศียร แล้วก็เอาเชือกร้อยพระเศียรผูกห้อยคอมองซิเออร์ คอนสตันซ์ไว้ ราวกับผูกผ้าพันคอแบบยุโรป.....................มองซิเออร์ คอนสตันซ์ ต้องถูกทรมานอย่างแสนสาหัส...........จนวันที่ 4 มิถุนายน จึงถึงแก่ความตายด้วยความทุกข์ทรมานนั้น”

สุดท้าย แม้จะไม่สามารถชี้ชัดยืนยันได้เต็มปากว่าโครงกระดูกมนุษย์ในที่ดินริมถนนตรงข้ามวัดสันเปาโลนี้ เป็นของพระปีย์กับฟอลคอนจริงๆ แต่เมื่อเทียบจังหวะเวลาการเสียชีวิต ความผูกพันทางการเมืองของบุคคลทั้งสอง รวมถึงอาณาบริเวณการประหาร-ฝังศพ ที่อยู่ในเขตรัศมีตำบลทะเลชุบศรอันประกอบด้วยชุมชนคริสเตียนวัดสันเปาโล พระที่นั่งเย็น (ตำหนักหนึ่งของพระนารายณ์และเป็นจุดปะทะคุมเชิงระหว่างทหารรักษาพระองค์ต่างชาติกับทหารพระเพทราชา) และวัดซาก (เขตประหารนักโทษการเมืองที่ขึ้นชื่อและมีบางหลักฐานระบุว่าเป็นที่ประหารของฟอลคอน)

ผมคิดว่าเราก็อาจพอสรุปได้ว่า ทั้งพระปีย์และฟอลคอน ได้สิ้นลมทรมานในเขตทะเลชุบศรอย่างแน่นอน และก็มีความเป็นไปได้ที่ศพของพระปีย์และฟอลคอน (ซึ่งทั้งคู่ถือศาสนาเดียวกัน) จะถูกนำมาฝังไว้หรือแม้แต่เสียบประจานไว้ที่ชุมชนสันเปาโล หากแต่ข้อสันนิษฐานนี้จะน้ำหนักมากน้อยขนาดไหนนั้น คงต้องปล่อยให้มีการวินิจฉัยสอบสวนหลักฐานกันต่อ

ฉะนั้น ช่วงนี้หากใครอยากสอบถามเรื่องโครงกระดูกของพระปีย์กับฟอลคอน ก็คงต้องขึ้นมาหาลุงเล็กที่วัดสันเปาโล แล้วพยายามสืบค้นหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีเพิ่มเติมเพื่อช่วยวินิจฉัยต่อยอดองค์ความรู้สืบไปในภายหน้า


ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค