Skip to main content


ที่มาภาพ: wikipedia
 

หลังลงนามข้อตกลงสันติภาพครั้งประวัติศาสตร์ในการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำสหรัฐกับเกาหลีเหนือที่สิงคโปร์ ดูเหมือนจะมีเค้าลางแห่งการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์การเมืองความมั่นคงบางประการทั้งในระดับโลกและในระดับภูมิภาค

หากวิเคราะห์ประเภทระบอบการเมืองในมิติระหว่างประเทศ โดยเฉพาะจากมุมมองและวาทกรรมสหรัฐอเมริกา อาจแบ่ง "Regime Types” ออกเป็น "Pariah State” หรือ "รัฐนอกคอก” กับ "Rogue State” หรือ "รัฐอันธพาล”

สำหรับรัฐนอกคอก คือ รัฐที่ปกครองแบบเผด็จการและกดขี่ประชาชนภายในประเทศจนถูกโดดเดี่ยวหรือคว่ำบาตรจากนานาชาติ เช่น ซิมบับเวและพม่าสมัยรัฐบาลทหาร ส่วนรัฐอันธพาล ถือว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนคล้ายรัฐนอกคอกแต่จะเพิ่มพฤติกรรมก้าวร้าวทางทหารหรือมีแนวโน้มคุกคามต่อสันติภาพระหว่างประเทศ เช่น ลิเบีย ซีเรีย และเกาหลีเหนือ

รัฐนอกคอกและรัฐอันธพาลในระบบโลก อาจมีชะตาชีวิตที่แตกต่างกัน เช่น พม่าที่ใช้การเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยสลัดคราบรัฐนอกคอกจนสำเร็จในการพัฒนารัฐและแปลงสัณฐานระบอบการเมือง ส่วนลิเบียกลับเผชิญหน้ากับการรุกรานทางทหารจากสหรัฐจนทำให้ระบอบเผด็จการกัดดาฟีล่มสลาย แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับเกาหลีเหนือ

การประชุมสุดยอดทรัมป์-คิมรอบล่าสุด กลับช่วยค้ำประกันการดำรงอยู่ของรัฐอันธพาลสืบไป กล่าวคือ ผู้นำเกาหลีเหนือไม่ต้องเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยแถมยังยืดอายุให้ประเทศหนีรอดจากการบุกโจมตีจากสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตร

ส่วนเรื่องการปลดอาวุธนิวเคลียร์ (Denuclearization) เกาหลีเหนือยังคงมีพลังต่อรองทางยุทธศาสตร์เนื่องจากการลงนามในข้อตกลงมิได้มีลักษณะลงลึกในรายละเอียดปลีกย่อยเกี่ยวกับข้อปฏิบัติทางการทหาร แถมเกาหลีเหนือยังมีเวลาเตะถ่วงทยอยทำลายจุดทดสอบขีปนาวุธบางแห่ง แต่ขณะเดียวกัน ก็สามารถเร่งพัฒนาให้โครงการขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ข้ามทวีป หรือ ICBM/Intercontinental Ballistic Missile ประสบความสำเร็จขั้นสูงสุดจนสามารถขยายรัศมีนิวเคลียร์ให้ครอบคลุมเขตภูมิศาสตร์ต่างๆ ของสหรัฐตลอดจนจุดยุทธศาสตร์รอบโลกอื่นๆ ได้แม่นยำ

ต่อกรณีดังกล่าว การเจรจาลดอาวุธยุทธศาสตร์ (Strategic Arms Limitation Talks: SALT) ระหว่างสหรัฐกับสหภาพโซเวียตเมื่อปี ค.ศ. 1972 คือตัวบ่งชี้สำคัญ โดยขณะที่มีความพยายามที่จะกำจัดอาวุธร้ายแรง ทั้งสหรัฐและโซเวียตได้ทำการทดลองขีปนาวุธติดหัวรบที่ยิงไปยังจุดโจมตีได้มากกว่าหนึ่งเป้าหมาย (Multiple Independently Targetable Warheads: MIRV) สำเร็จก่อนที่การเจรจาต่อรองอาวุธยุทธศาสตร์จะสิ้นสุดลง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงจังหวะโอกาสให้การแอบพัฒนาอาวุธเชิงรุกในช่วงที่มีการดำเนินการตามข้อตกลงเชิงยุทธศาสตร์นั่นเอง

ประเด็นที่น่าสนใจต่อมา คือ ทั้งๆ ที่เริ่มมีข้อตกลงยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐกับเกาหลีเหนือ หากแต่เกาหลีเหนือเองก็ยังคงมีสมรรถนะและห้วงเวลาที่พอเพียงสำหรับพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ต่อไป ดังนั้น รัฐต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซึ่งสัมพันธ์เชื่อมโยงกับระบบความมั่นคงในเอเชียตะวันเฉียงเหนือและก็อยู่ในวงรัศมีการยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ) จะได้รับผลกระทบและมีการปรับตัวเชิงยุทธศาสตร์หรือแม้กระทั่งพยายามเล่นบทบาทในการพัฒนาสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลีอย่างไร

ต่อประเด็นดังกล่าว อาจแบ่งการวิเคราะห์คร่าวๆ ออกเป็นสองส่วนหลัก ได้แก่

1. รัฐในเอเชียอาคเนย์อาจมีท่าทีร่วมในการสนับสนุนสันติภาพ โดยเฉพาะการส่งสัญญาณให้เกาหลีเหนือหยุดทดลองพัฒนาขีปนาวุธนิวเคลียร์ข้ามทวีป หากแต่เงื่อนไขเฉพาะทางการเมืองความมั่นคงในบางรัฐอาจส่งผลให้แรงกดดันจากอาเซียนมีพลังไม่มากนัก ในพม่า อองซาน ซู จี มนตรีแห่งรัฐ เคยแสดงท่าทีต่อต้านการทดลองยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ หากแต่กองทัพพม่าได้เคยสร้างสัมพันธ์ทางทหารกับเกาหลีเหนือ โดยเฉพาะการสร้างอุโมงค์ลับในเขตภูเขาแถบเนปิดอว์ หรือการพัฒนาจรวด/ขีปนาวุธบางประเภทของกองทัพพม่า

ส่วนลาวกับเวียดนาม ยังใช้ระบอบคอมมิวนิสต์เหมือนเกาหลีเหนือ แต่ปฏิสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือมีลักษณะเฉพาะ ในลาว อิทธิพลเศรษฐกิจวัฒนธรรมเกาหลีใต้เริ่มขยายตัว แต่สัมพันธภาพทางการเมืองการทูตกับเกาหลีเหนือ โดยเฉพาะในระดับผู้นำพรรคและกองทัพยังดำรงอยู่ ส่วนเวียดนาม แม้จะมีความใกล้ชิดบางส่วนระหว่างผู้นำเวียดนามกับเกาหลีเหนือผ่านประวัติศาสตร์การทูตนับแต่ช่วงทศวรรษ 1960 หากแต่เวียดนามก็ไม่เคยสนับสนุนการพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีปของเกาหลีเหนือ แถมยังเริ่มขยายความสัมพันธ์ด้านการเมืองความมั่นคงกับสหรัฐอเมริกา

2. รัฐในอาเซียน มีกลไกความร่วมมือด้านการเมืองความมั่นคงซึ่งมีผลบางส่วนต่อสัมพันธภาพระหว่างอาเซียนกับเกาหลีเหนือและสหรัฐ หากแต่บางรัฐก็เริ่มพยายามแข่งขันแย่งชิงบทบาทเป็นผู้นำไกล่เกลี่ยอำนวยความสะดวกในกระบวนการสันติภาพ

อาเซียนเคยประกาศเขตแห่งสันติภาพ เสรีภาพและความเป็นกลาง หรือ ZOPFAN (Zone of Peace, Freedom, and Neutrality) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1971 รวมถึงประกาศเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ หรือ SEANWFZ (Southeast Asia Nuclear-Weapon-Free Zone) ในปี ค.ศ. 1995 โดยชาติที่เคยมีบทบาทแข็งขันในการผลักดันกรอบร่วมมือดังกล่าว ได้แก่ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ยกตัวอย่างเช่น นายเอส ราชารัตนัม (S. Rajaratnam) อดีต รมต.ต่างประเทศสิงคโปร์ เคยผลักดันให้อาเซียนเป็นเขตสันติภาพและมองว่าเศรษฐกิจอาเซียนไม่สามารถแยกขาดจากสงครามและสันติภาพได้ เพราะฉะนั้น การเจรจาผลักดันให้เกาหลีเหนือปลดอาวุธนิวเคลียร์เพื่อพัฒนาสันติภาพในเอเชียอาคเนย์ (ซึ่งโยงใยเชื่อมต่อกับเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ) จึงเป็นแนวคิดที่อยู่คู่กับวิวัฒนาการอาเซียนมาตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน

กระนั้นก็ตาม ดูเหมือนว่าการเป็นเจ้าภาพของสิงคโปร์ในการประชุมสุดยอดทรัมป์-คิม ที่พึ่งผ่านไปหมาดๆ จะทำให้สิงคโปร์เริ่มชิงความได้เปรียบบนเวทีอาเซียนมากขึ้น ซึ่งทำให้น่าจับตามองต่อว่ารัฐอาเซียนรัฐใดที่จะก้าวขึ้นมาถ่วงดุลหรือเกลี่ยบทบาทกับสิงคโปร์ในกระบวนการสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี เช่น อินโดนีเซียซึ่งมีปฏิสัมพันธ์ที่เป็นมิตรกับทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ โดยเฉพาะเครือข่ายเชื่อมต่อที่แนบแน่นระหว่างตระกูลของซูการ์โนกับคิมอิลซ็อง รวมถึงบทบาทที่แข็งขันของอินโดนีเซียในกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (NAM: Non-Aligned Movement) ซึ่งเกาหลีเหนือเคยให้การร่วมมือสนับสนุน

ท้ายที่สุด คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าอาเซียนจะแสดงพลังส่งเสริมกระบวนการสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลีได้มากน้อยแค่ไหน โดยแม้จะมีความท้าทายนานาประการ อาทิ การปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือที่อาจไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน รวมถึงสัมพันธภาพที่ซับซ้อนระหว่างสหรัฐกับเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้และรัฐมหาอำนาจอื่นๆ โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น รัสเซีย ที่ย่อมกระทบต่อสถาปัตยกรรมความมั่นคงในเขตอาเซียนและเอเชีย-แปซิฟิค แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ประวัติศาสตร์หน้าใหม่แห่งการสร้างสันติภาพก็ได้ถืออุบัติขึ้นแล้ว


ดุลยภาค ปรีชารัชช

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
โจทย์สำคัญของสถาบันกองทัพที่สิงสถิตอยู่ในสังคมอันเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย ว่าสุดท้ายแล้ว กระบวนการปฏิรูปการเมืองของประเทศ กับ การปฏิรูปภาคทหารของกองทัพ จะดำเนินควบคู่ไปกับการปฏิรูปทางสังคมที่ตั้งอยู่บนฐานความยุติธรรมและสันติวิธี ได้มากน้อยเพียงไร