Skip to main content

บริเวณนั้นทั้งบริเวณเป็นเกาะ สายน้ำไหลเรียบเรื่อยเซาะแก่งหินและรากไม้ใหญ่ริมตลิ่งเป็นเงาเว้าๆแหว่งๆ คือ การออกแบบอย่างลงตัวของธรรมชาติ สายฝนพรำตั้งแต่เริ่มเที่ยง อุโบสถหลังขนาดกะทัดรัดจึงกลายเป็นที่หลบฝนของชาวบ้าน หลายคนอุ้มลูกนั่งยองๆ อยู่ใต้ชายคา เด็กๆ กับเพื่อนบางคนหลบเข้าใต้ถุนอุโบสถขีดเขียนพื้นดินทรายเล่นฆ่าเวลา


ชนกะเหรี่ยงโปจากหลายหมู่บ้านมาร่วมทำบุญปีใหม่ที่อุโบสถกลางน้ำ หมู่บ้านคลิตี้ล่าง หมู่บ้านของมนุษย์ตะกั่ว ..


ปีใหม่แบบไทยๆ แต่ละปี อุโบสถกลางน้ำจะกลายเป็นที่ชุมนุมของคนในหมู่บ้าน ด้วยแรงเชื่อถือศรัทธา ชนกะเหรี่ยงโปจะเดินแห่ร้องรำทำเพลงกันมาเพื่อสรงน้ำพระสงฆ์ เมื่อถึงเวลา ผู้ชายตัวโตๆ จะช่วยกันอุ้มพยุงพระสงฆ์ลงจากบันไดอุโบสถ ชาวบ้านคนอื่นๆ ไม่เว้นหญิงชาย คุกเข่าก้มตัวลงในท่าหมอบคลานสี่ขาเป็นแถวๆ เกร็งหลังให้พระเหยียบ เดินวนรอบอุโบสถ พระรูปอื่นๆ จะเดินทยอยตามๆ กันมาบนหลัง ไม่เว้น แม้กระทั่งเณรที่เพิ่งจะบวชใหม่ ก่อนที่จะมานั่งบนเก้าอี้ที่ชาวบ้านได้จัดเตรียมเอาไว้ให้ก่อนจะต่อแถวสรงน้ำพระด้วยน้ำอบร่ำแป้งหอม ใครบางคนบอกว่า ทำอย่างนี้แล้วได้บุญแรง ..


ในอดีต บรรพบุรุษของคนกะเหรี่ยงคลิตี้ล่างย้ายที่ตั้งหมู่บ้านไปตามที่ต่างๆ หลายครั้ง จนในที่สุด ไปปักหลักตั้งหมู่บ้านอยู่บริเวณที่เรียกว่า กองหละและพุโผว่ ซึ่งห่างจากจุดที่ตั้งในปัจจุบันไปทางตะวันตกประมาณ 7 กิโลเมตร ต่อมา จึงได้ย้ายเข้าไปรวมกับหมู่บ้านคลิตี้บน ก่อนจะแยกตัวออกมาตั้งหมู่บ้านใหม่ในที่ตั้งปัจจุบัน


นับเวลาต่อเนื่องนานวัน บ้านคลิตี้ล่างมีอายุมากกว่า 100 ปี นับจากปี 2440 สมัยก่อนลักษณะบ้านเรือนจะปลูกด้วยโครงไม้ไผ่เป็นหลัก หลังคามุงด้วยใบหวายหรือหญ้าคา มีเตาไฟกลางบ้านเพื่อประกอบอาหารให้แสงสว่างและความอบอุ่นแก่คนในครอบครัว


ปัจจุบัน บ้านแต่ละหลังแข็งแรงขึ้นด้วยไม้แผ่นใหญ่และหลังคาสังกะสี ..


น้ำอบประพรมลงบนจีวรสีฝาดพร้อมกับรอยยิ้มอิ่มบุญ ชาวบ้านแต่ละคนส่งเสียง “สาธุ” ดังไปทั่วบริเวณอุโบสถกลางน้ำ แป้งสีขาวประพรมอยู่บนใบหน้าของชนกะเหรี่ยงชายหญิงที่เข้าร่วมพิธี บ้างก็รดน้ำกันเอง บ้างก็ร้องรำทำเพลงครื้นเครงไปตามวิถีปฏิบัติ


คลิตี้ เป็นคำเรียกในภาษาไทยที่เพี้ยนเสียงมาจากคำว่า คี่ถี่ ซึ่งมีความหมายว่า เสือโทน ชาวบ้านในแถบนี้เชื่อว่ามีเสือโทนตัวหนึ่งอาศัยและหากินอยู่ในอาณาบริเวณนี้ กินพื้นที่ตั้งแต่ทุ่งใหญ่นเรศวร ลำคลองงู แม่น้ำแควใหญ่และแม่น้ำแควน้อย คนเฒ่าคนแก่ที่เคยพบเห็นเล่าว่า เคยเจอรอยเท้าเสือ “ใหญ่เท่ากับเท้าช้าง”


นอกจากนี้ ชาวบ้านยังเชื่อว่า เสือโทน ยังคอยปกปักรักษาให้หมู่บ้านอยู่เย็นเป็นสุข หากใครประพฤติไม่ดี เสือโทนจะโกรธและก่อให้เกิดเภทภัยต่างๆ นานา เสือโทนจึงเป็นเครื่องมือในการกำกับพฤติกรรม ตั้งแต่ความคิดถึงการกระทำ .. เช่น ถือความสัตย์ พูดความจริง ไม่พูดหยาบโลน ครอบคลุมไปถึงเรื่องการกินการอยู่ เล่ากันว่า เวลารับประทานอาหาร ชนกะเหรี่ยงคลิตี้จะนั่งพับเพียบเรียบร้อยเพื่อสวดมนต์ระลึกถึงคุณค่าของอาหารที่ธรรมชาติได้ประทานมาให้


ปัจจุบัน ความเชื่อเรื่องเสือโทนเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กับการมาถึงของความศิวิโลซ์จากโลกภายนอกและสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ ชื่อเดียวกับชื่อหมู่บ้าน ..

ย้อนหลังนับเวลาไปราวสิบปีที่แล้ว ช่วงปี 2540-2541 กรณีสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ถูกเผยแพร่โดย เอ็นจีโอ นักวิชาการและสื่อมวลชน จนเป็นที่รับรู้ของสาธารณะชนวงกว้าง เมื่อบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ปล่อยน้ำปนเปื้อนตะกั่วจากโรงแต่งแร่ลงสู่ลำห้วยคลิตี้


ค้นพบในเวลาต่อมาว่า การปนเปื้อนของสารตะกั่วในลำห้วยและตะกอนท้องน้ำบริเวณใต้โรงแต่งแร่สูงตลอดลำห้วย เป็นระยะทางยาวกว่า 19 กิโลเมตร เฉพาะบริเวณอันเป็นจุดที่ตั้งของหมู่บ้าน ตรวจสอบพบว่ามีสารตะกั่วปนเปื้อนเกินเกณฑ์มาตรฐานที่มนุษย์และสัตว์จะรับได้


เกิดโรคภัยไข้เจ็บอันหาสาเหตุไม่ได้ ปลาในลำห้วยลอยตาย สัตว์เลี้ยง เช่น วัวควายเสียชีวิตและคนในหมู่บ้านมีอาการแขนขาชา มือเท้าและตัวบวมอย่างผิดปกติและมีอาการประสาทอย่างไม่ทราบสาเหตุ เมื่อไปหาหมอ หมอจะไม่วินิจฉัยโรคแต่จ่ายยาแก้ปวดบวมมาให้ทาและพาราเซตามอลมาให้รับประทาน

ปัจจุบัน กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่า ปริมาณสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้สูงเกินกว่ามาตรฐานแต่ไม่ยอมรับว่าอาการป่วยของชาวบ้านมีสาเหตุมาจากการรับพิษสารตะกั่วในลำน้ำหรือชาวบ้านสามารถใช้น้ำในการอุปโภค-บริโภคหรือลงเล่นน้ำได้แต่อย่าพยายามทำให้ตะกอนข้างล่างฟุ้งขึ้นมาเหนือผิวน้ำ


นับว่าเป็นวิธีการง่ายๆ ที่หน่วยงานรัฐอย่างกรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุขให้ความช่วยเหลือ


ชนกะเหรี่ยงคลิตี้ล่างเคยหาของป่าและทำไร่ข้าวเพียงพอกินเท่านั้น มีการทำเกษตรเป็นแบบไร่หมุนเวียน ภูมิปัญญาเก่าแก่ที่รักษาระบบในธรรมชาติไม่ให้บอบช้ำ ด้วยการปลูกข้าวไร่และพืชผัก 1-2 ปี แล้วปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นตัว เปลี่ยนไปใช้พื้นที่ไร่ซากเก่าซึ่งเคยเป็นพื้นที่ที่ทำไร่มาแล้วเมื่อ 5-10 ปี ก่อน


พืชหลักได้แก่ ไร่ข้าว เมื่อถึงฤดูทำไร่ข้าว ทุกครัวเรือนจะหยอดเมล็ดข้าวพร้อมเมล็ดผัก ตั้งแต่ พริก แตงไทย แตงเปรี้ยว ผักกาดขาว ผักกาดเขียว ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง ผักชีหอม ผักชีลาว ผักขี้โอ้ง ข้าวโพด โดยไม่ใช้สารเคมีใด ๆ ทั้งสิ้น ผักจะขึ้นพร้อมกับข้าวในพื้นที่ไร่และเก็บกินได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม


ต่อมา เมื่อถูกจำกัดพื้นที่ทำกินโดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ครอบครัวหนึ่งจึงเหลือพื้นที่ทำกินเพียง 3-5 แปลงนอกจากนี้ ยังเลี้ยงสัตว์ แต่หลังจากเหมืองแร่ปล่อยสารตะกั่ว ทำให้เป็ด วัว ควายล้มตาย ชาวบ้านจึงขายทิ้ง


ลำห้วยคลิตี้เป็นสายน้ำสายหลักของคนพื้นถิ่นนี้ โดยเฉพาะหมู่บ้านคลิตี้ล่าง ต่างใช้อุปโภคบริโภค ถึงแม้ปัจจุบัน ศาลชั้นต้นจะสั่งชดเชยค่าเสียหายแก่ชาวบ้าน 8 คน ในวงเงิน 4 ล้านบาท จากการร่วมกันฟ้องร้องเป็นจำนวนเงินมากกว่า 10 ล้าน บาท ในเดือนสิงหาคมของปีที่ผ่านมา (.. 2550)


แต่ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับลำห้วยและวิถีชีวิตเป็นสิ่งที่ชดเชยกันอย่างไรก็คงไม่คุ้มค่า


แม้ว่าวันนี้ ชนกะเหรี่ยงคลิตี้จะดูเหมือนคนปกติทั่วไปแต่อาการเจ็บป่วยผิดปกติยังคงปรากฏให้เห็นและยังลุกลามไปถึงลูกหลานของคนที่นั่น


วันนี้ น้ำในลำห้วยคลิตี้ยังคงใสเย็น บริเวณน้ำตก เด็กๆ หนุ่มๆ สาวๆ ทั้งในถิ่นและต่างหมู่บ้านที่มาร่วมงานปีใหม่ไทย ต่างลงเล่นน้ำดำผุดดำว่าย ป่าสีเขียวทึบปล่อยสายแดดยามบ่ายลอดลงมาตามกิ่งใบสะท้อนบนผิวน้ำมองเห็นเป็นประกายวาววับสวยงาม หากซ่อนเร้นความมักง่ายของคนบางกลุ่มที่ไม่คำนึงถึงระบบชีวิตในธรรมชาติ ชุมชน คน เพื่อนร่วมโลกอื่นๆ ที่ต้องอยู่ร่วมกัน


.....


ปัจจุบัน ศาลพิพากษา กรมควบคุมมลพิษล่าช้าแต่ไม่ละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ โดยให้ระบบธรรมชาติค่อยๆ ฟื้นตัวเองและห้ามชาวบ้านทำตะกอนในลำห้วยฟุ้งขึ้นมาบนผิวน้ำ


สายน้ำคลิตี้ สวยอยู่กลางป่าสีเขียว แต่พิษตะกั่วยังตกค้าง


ความเชื่อและแรงศรัทธา


 

 

งานบุญปีใหม่ไทย จะอุ้มพยุงพระเดินบนหลังชาวบ้านผู้ศรัทธา ตามความเชื่อของชาวกะเหรี่ยง






โจวทิไผ่และโจวหล่อพ่อ ผู้ได้รับผลกระทบจากพิษสารตะกั่ว






นับนิ้วดูสิครับ






ชาวบ้านคลิตี้ร่วมงานบุญและดูและรักษาป่า



บล็อกของ กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์

กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ละอองน้ำกระจายฟุ้ง แดดอ้าวเป็นไอระยับ จับประกายในสายน้ำเล็กๆ หัวฉีดน้ำพ่นฟูฝอยขึ้นฟ้า หมุนวน 180 องศาเด็กชายจับมือน้องสาว มองละอองน้ำ-ตาเป็นประกาย
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
...วันหนึ่งของเวลากลางวันในสวนสัตว์เขาดิน ..เอ่อ.. ผมยืนถ่ายมื้อเที่ยงแสนอร่อยมื้อนี้มากกว่าหนึ่งชั่วโมง ..ได้ภาพมาประมาณนี้ครับ ..(แกคงหิวมาก)
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ไฟป่า ยังคงเป็นปัญหาที่กลุ่มอนุรักษ์เขาแผงม้าต้องจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหน้าแล้ง เช่นนี้...แดดอ้าวผ่าเปรี้ยงลงกลางหัว เหล่าอาสาสมัคร v4n ยืนฟังขั้นตอนการทำงานดับไฟป่าโดยกลุ่มอนุรักษ์เขาแผงม้า ไกลโพ้น เมฆฤดูร้อนลอยอยู่เหนือเทือกเขาที่ได้ชื่อว่า ภูเขาไฟเนินลูกแล้วลูกเล่าถูกแปรสภาพเป็นไร่ เหนือเนินหลายลูก ทะเลหญ้าสลับดงกล้วยป่าแซมเป็นจุดๆ รถบรรทุกน้ำถูกนำมาเตรียมเอาไว้ให้พร้อม
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ในวงการนักอนุรักษ์ ไม่มีใครที่ไม่รู้จักคุณลุงโชคดี ...!!! ในกลุ่มอาสาสมัครสาธารณะ v4n กำลังเป็นที่รู้จัก ...!!!แววตาอ่อนโยนหลังแว่นกรอบนั้นมองมาที่พวกเราอย่างสงสัย เส้นผมและหนวดเคราเส้นเล็กขาวโพลนเหมือนกับปุยฝ้ายแตกปุยทำให้คุณลุงโชคดีดูอ่อนโยนมากขึ้น ใต้ศาลาเอนกประสงค์กลางลานบ้านของสวนลุงโชค เด็กๆ รุ่นหลังอย่างพวกเรากำลังตามความคิดของคุณลุง
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
...บ้านข่าร้อนมากกกก...ถึงมากที่สุด!! สายลมฤดูร้อนทำกิ่งไทรกลางลานสั่นไหว แดดจ้าเหนือหัวแต่หนุ่มสาวบ้านข่าไม่หวั่นเกรง พวกเขามารวมตัวกันที่ลานหน้าตลาดใจกลางหมู่บ้าน
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
หอนาฬิกา หัวหิน, กลุ่มคนเสื้อสีฟ้าในนามกลุ่มพีซ ฟอร์ เบอร์ม่า นำทีมโดยองค์กรแอมเนสตี้ ไทยแลนด์ มากกว่า 10 คน ชูป้ายรณรงค์ให้ประชาคมอาเซียนหันมาดูสถานการณ์การเมืองในพม่าอย่างจริงจัง รวมทั้ง ปัญหาผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา,แดดฤดูร้อน ร้อนมาก ทันทีที่กลุ่มคนเสื้อฟ้า ปั่นจักรยานมาถึง นักข่าวกลุ่มใหญ่และตำรวจเข้ากลุ้มรุม, ป้ายรณรงค์ถูกโชว์ให้เห็นกันชัดว่า พวกเขามาทำอะไรHey Asean : free all burma
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
  ตะวันยามเช้า สะท้อนประกายสีส้มแดงบนผืนทะเลกว้าง ,เสาสำหรับประกอบพิธีไหว้ผีบรรพบุรุษที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวเลมอแกนกลายเป็นอดีตที่ต้องทำความเข้าใจและอนุรักษ์ไว้ ก่อนที่จะหายไปกับกาลเวลา
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
  หมู่บ้านมอแกน อ่าวบอนใหญ่ แห่งหมู่เกาะสุรินทร์ มองเห็นบ้านเรือนเป็นทิวแถวจากผืนทะเลสีคราม ,ภาพบนถ่ายจากหน้าหมู่บ้าน บนเรือหัวโทง ,ภาพล่างถ่ายจากท้ายหมู่บ้าน บนเส้นทางเดินธรรมชาติ ทั้งหมดนี้ เป็นหนึ่งในโปรแกรมมอแกนพาเที่ยว โครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนใจติดต่อ 083-703-0925 ,andamanproject1@yahoo.com
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
มึดา มักจะมีรอยยิ้มอยู่เสมอ ดวงตากลมโต ใสแหน๋ว อ่อนโยนและเข้มแข็งอย่างไร้เจตนา ผิวขาวอมส้มเรื่อคล้ายผลสตอเบอร์รี่ก่อนที่มันจะสุกกลายเป็นสีแดง นานมาแล้วที่เด็กหญิง คือ เครื่องหมายของคนไร้สัญชาติ,และคงเป็นไปทั้งชีวิตของเธออะไรที่เรียกว่า ไร้สัญชาติ ,คำตอบที่ห้วนและง่ายที่สุด คือ ความหมายของการไม่มีสิทธิในฐานะคนของรัฐ, ที่ควรจะได้รับการคุ้มครอง, อย่างไม่มีเจตนาแอบแฝง บางทีคนมีบัตรประชาชนก็ไม่ได้รับการคุ้มครองเหมือนกัน (HAAAAAA)...