Skip to main content

บริเวณนั้นทั้งบริเวณเป็นเกาะ สายน้ำไหลเรียบเรื่อยเซาะแก่งหินและรากไม้ใหญ่ริมตลิ่งเป็นเงาเว้าๆแหว่งๆ คือ การออกแบบอย่างลงตัวของธรรมชาติ สายฝนพรำตั้งแต่เริ่มเที่ยง อุโบสถหลังขนาดกะทัดรัดจึงกลายเป็นที่หลบฝนของชาวบ้าน หลายคนอุ้มลูกนั่งยองๆ อยู่ใต้ชายคา เด็กๆ กับเพื่อนบางคนหลบเข้าใต้ถุนอุโบสถขีดเขียนพื้นดินทรายเล่นฆ่าเวลา


ชนกะเหรี่ยงโปจากหลายหมู่บ้านมาร่วมทำบุญปีใหม่ที่อุโบสถกลางน้ำ หมู่บ้านคลิตี้ล่าง หมู่บ้านของมนุษย์ตะกั่ว ..


ปีใหม่แบบไทยๆ แต่ละปี อุโบสถกลางน้ำจะกลายเป็นที่ชุมนุมของคนในหมู่บ้าน ด้วยแรงเชื่อถือศรัทธา ชนกะเหรี่ยงโปจะเดินแห่ร้องรำทำเพลงกันมาเพื่อสรงน้ำพระสงฆ์ เมื่อถึงเวลา ผู้ชายตัวโตๆ จะช่วยกันอุ้มพยุงพระสงฆ์ลงจากบันไดอุโบสถ ชาวบ้านคนอื่นๆ ไม่เว้นหญิงชาย คุกเข่าก้มตัวลงในท่าหมอบคลานสี่ขาเป็นแถวๆ เกร็งหลังให้พระเหยียบ เดินวนรอบอุโบสถ พระรูปอื่นๆ จะเดินทยอยตามๆ กันมาบนหลัง ไม่เว้น แม้กระทั่งเณรที่เพิ่งจะบวชใหม่ ก่อนที่จะมานั่งบนเก้าอี้ที่ชาวบ้านได้จัดเตรียมเอาไว้ให้ก่อนจะต่อแถวสรงน้ำพระด้วยน้ำอบร่ำแป้งหอม ใครบางคนบอกว่า ทำอย่างนี้แล้วได้บุญแรง ..


ในอดีต บรรพบุรุษของคนกะเหรี่ยงคลิตี้ล่างย้ายที่ตั้งหมู่บ้านไปตามที่ต่างๆ หลายครั้ง จนในที่สุด ไปปักหลักตั้งหมู่บ้านอยู่บริเวณที่เรียกว่า กองหละและพุโผว่ ซึ่งห่างจากจุดที่ตั้งในปัจจุบันไปทางตะวันตกประมาณ 7 กิโลเมตร ต่อมา จึงได้ย้ายเข้าไปรวมกับหมู่บ้านคลิตี้บน ก่อนจะแยกตัวออกมาตั้งหมู่บ้านใหม่ในที่ตั้งปัจจุบัน


นับเวลาต่อเนื่องนานวัน บ้านคลิตี้ล่างมีอายุมากกว่า 100 ปี นับจากปี 2440 สมัยก่อนลักษณะบ้านเรือนจะปลูกด้วยโครงไม้ไผ่เป็นหลัก หลังคามุงด้วยใบหวายหรือหญ้าคา มีเตาไฟกลางบ้านเพื่อประกอบอาหารให้แสงสว่างและความอบอุ่นแก่คนในครอบครัว


ปัจจุบัน บ้านแต่ละหลังแข็งแรงขึ้นด้วยไม้แผ่นใหญ่และหลังคาสังกะสี ..


น้ำอบประพรมลงบนจีวรสีฝาดพร้อมกับรอยยิ้มอิ่มบุญ ชาวบ้านแต่ละคนส่งเสียง “สาธุ” ดังไปทั่วบริเวณอุโบสถกลางน้ำ แป้งสีขาวประพรมอยู่บนใบหน้าของชนกะเหรี่ยงชายหญิงที่เข้าร่วมพิธี บ้างก็รดน้ำกันเอง บ้างก็ร้องรำทำเพลงครื้นเครงไปตามวิถีปฏิบัติ


คลิตี้ เป็นคำเรียกในภาษาไทยที่เพี้ยนเสียงมาจากคำว่า คี่ถี่ ซึ่งมีความหมายว่า เสือโทน ชาวบ้านในแถบนี้เชื่อว่ามีเสือโทนตัวหนึ่งอาศัยและหากินอยู่ในอาณาบริเวณนี้ กินพื้นที่ตั้งแต่ทุ่งใหญ่นเรศวร ลำคลองงู แม่น้ำแควใหญ่และแม่น้ำแควน้อย คนเฒ่าคนแก่ที่เคยพบเห็นเล่าว่า เคยเจอรอยเท้าเสือ “ใหญ่เท่ากับเท้าช้าง”


นอกจากนี้ ชาวบ้านยังเชื่อว่า เสือโทน ยังคอยปกปักรักษาให้หมู่บ้านอยู่เย็นเป็นสุข หากใครประพฤติไม่ดี เสือโทนจะโกรธและก่อให้เกิดเภทภัยต่างๆ นานา เสือโทนจึงเป็นเครื่องมือในการกำกับพฤติกรรม ตั้งแต่ความคิดถึงการกระทำ .. เช่น ถือความสัตย์ พูดความจริง ไม่พูดหยาบโลน ครอบคลุมไปถึงเรื่องการกินการอยู่ เล่ากันว่า เวลารับประทานอาหาร ชนกะเหรี่ยงคลิตี้จะนั่งพับเพียบเรียบร้อยเพื่อสวดมนต์ระลึกถึงคุณค่าของอาหารที่ธรรมชาติได้ประทานมาให้


ปัจจุบัน ความเชื่อเรื่องเสือโทนเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กับการมาถึงของความศิวิโลซ์จากโลกภายนอกและสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ ชื่อเดียวกับชื่อหมู่บ้าน ..

ย้อนหลังนับเวลาไปราวสิบปีที่แล้ว ช่วงปี 2540-2541 กรณีสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ถูกเผยแพร่โดย เอ็นจีโอ นักวิชาการและสื่อมวลชน จนเป็นที่รับรู้ของสาธารณะชนวงกว้าง เมื่อบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ปล่อยน้ำปนเปื้อนตะกั่วจากโรงแต่งแร่ลงสู่ลำห้วยคลิตี้


ค้นพบในเวลาต่อมาว่า การปนเปื้อนของสารตะกั่วในลำห้วยและตะกอนท้องน้ำบริเวณใต้โรงแต่งแร่สูงตลอดลำห้วย เป็นระยะทางยาวกว่า 19 กิโลเมตร เฉพาะบริเวณอันเป็นจุดที่ตั้งของหมู่บ้าน ตรวจสอบพบว่ามีสารตะกั่วปนเปื้อนเกินเกณฑ์มาตรฐานที่มนุษย์และสัตว์จะรับได้


เกิดโรคภัยไข้เจ็บอันหาสาเหตุไม่ได้ ปลาในลำห้วยลอยตาย สัตว์เลี้ยง เช่น วัวควายเสียชีวิตและคนในหมู่บ้านมีอาการแขนขาชา มือเท้าและตัวบวมอย่างผิดปกติและมีอาการประสาทอย่างไม่ทราบสาเหตุ เมื่อไปหาหมอ หมอจะไม่วินิจฉัยโรคแต่จ่ายยาแก้ปวดบวมมาให้ทาและพาราเซตามอลมาให้รับประทาน

ปัจจุบัน กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่า ปริมาณสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้สูงเกินกว่ามาตรฐานแต่ไม่ยอมรับว่าอาการป่วยของชาวบ้านมีสาเหตุมาจากการรับพิษสารตะกั่วในลำน้ำหรือชาวบ้านสามารถใช้น้ำในการอุปโภค-บริโภคหรือลงเล่นน้ำได้แต่อย่าพยายามทำให้ตะกอนข้างล่างฟุ้งขึ้นมาเหนือผิวน้ำ


นับว่าเป็นวิธีการง่ายๆ ที่หน่วยงานรัฐอย่างกรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุขให้ความช่วยเหลือ


ชนกะเหรี่ยงคลิตี้ล่างเคยหาของป่าและทำไร่ข้าวเพียงพอกินเท่านั้น มีการทำเกษตรเป็นแบบไร่หมุนเวียน ภูมิปัญญาเก่าแก่ที่รักษาระบบในธรรมชาติไม่ให้บอบช้ำ ด้วยการปลูกข้าวไร่และพืชผัก 1-2 ปี แล้วปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นตัว เปลี่ยนไปใช้พื้นที่ไร่ซากเก่าซึ่งเคยเป็นพื้นที่ที่ทำไร่มาแล้วเมื่อ 5-10 ปี ก่อน


พืชหลักได้แก่ ไร่ข้าว เมื่อถึงฤดูทำไร่ข้าว ทุกครัวเรือนจะหยอดเมล็ดข้าวพร้อมเมล็ดผัก ตั้งแต่ พริก แตงไทย แตงเปรี้ยว ผักกาดขาว ผักกาดเขียว ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง ผักชีหอม ผักชีลาว ผักขี้โอ้ง ข้าวโพด โดยไม่ใช้สารเคมีใด ๆ ทั้งสิ้น ผักจะขึ้นพร้อมกับข้าวในพื้นที่ไร่และเก็บกินได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม


ต่อมา เมื่อถูกจำกัดพื้นที่ทำกินโดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ครอบครัวหนึ่งจึงเหลือพื้นที่ทำกินเพียง 3-5 แปลงนอกจากนี้ ยังเลี้ยงสัตว์ แต่หลังจากเหมืองแร่ปล่อยสารตะกั่ว ทำให้เป็ด วัว ควายล้มตาย ชาวบ้านจึงขายทิ้ง


ลำห้วยคลิตี้เป็นสายน้ำสายหลักของคนพื้นถิ่นนี้ โดยเฉพาะหมู่บ้านคลิตี้ล่าง ต่างใช้อุปโภคบริโภค ถึงแม้ปัจจุบัน ศาลชั้นต้นจะสั่งชดเชยค่าเสียหายแก่ชาวบ้าน 8 คน ในวงเงิน 4 ล้านบาท จากการร่วมกันฟ้องร้องเป็นจำนวนเงินมากกว่า 10 ล้าน บาท ในเดือนสิงหาคมของปีที่ผ่านมา (.. 2550)


แต่ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับลำห้วยและวิถีชีวิตเป็นสิ่งที่ชดเชยกันอย่างไรก็คงไม่คุ้มค่า


แม้ว่าวันนี้ ชนกะเหรี่ยงคลิตี้จะดูเหมือนคนปกติทั่วไปแต่อาการเจ็บป่วยผิดปกติยังคงปรากฏให้เห็นและยังลุกลามไปถึงลูกหลานของคนที่นั่น


วันนี้ น้ำในลำห้วยคลิตี้ยังคงใสเย็น บริเวณน้ำตก เด็กๆ หนุ่มๆ สาวๆ ทั้งในถิ่นและต่างหมู่บ้านที่มาร่วมงานปีใหม่ไทย ต่างลงเล่นน้ำดำผุดดำว่าย ป่าสีเขียวทึบปล่อยสายแดดยามบ่ายลอดลงมาตามกิ่งใบสะท้อนบนผิวน้ำมองเห็นเป็นประกายวาววับสวยงาม หากซ่อนเร้นความมักง่ายของคนบางกลุ่มที่ไม่คำนึงถึงระบบชีวิตในธรรมชาติ ชุมชน คน เพื่อนร่วมโลกอื่นๆ ที่ต้องอยู่ร่วมกัน


.....


ปัจจุบัน ศาลพิพากษา กรมควบคุมมลพิษล่าช้าแต่ไม่ละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ โดยให้ระบบธรรมชาติค่อยๆ ฟื้นตัวเองและห้ามชาวบ้านทำตะกอนในลำห้วยฟุ้งขึ้นมาบนผิวน้ำ


สายน้ำคลิตี้ สวยอยู่กลางป่าสีเขียว แต่พิษตะกั่วยังตกค้าง


ความเชื่อและแรงศรัทธา


 

 

งานบุญปีใหม่ไทย จะอุ้มพยุงพระเดินบนหลังชาวบ้านผู้ศรัทธา ตามความเชื่อของชาวกะเหรี่ยง






โจวทิไผ่และโจวหล่อพ่อ ผู้ได้รับผลกระทบจากพิษสารตะกั่ว






นับนิ้วดูสิครับ






ชาวบ้านคลิตี้ร่วมงานบุญและดูและรักษาป่า



บล็อกของ กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์

กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ใบไม้ปลิดออกจากขั้ว กลายเป็นสีขาวกลางผืนป่าสีเขียว
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
   ฮ่อมดง มองเห็นเป็นพุ่มๆ ริมทาง
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ดงน้อยเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวมักจะหยุดค้างแรม มีห้องน้ำที่ทำด้วยไม้ไผ่สานใบตองตึงต่ออย่างหยาบๆ ในห้องขุดลึกเป็นโพรงราวๆ 3 เมตร ปากหลุมเป็น 4 เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 1x1 เมตร มีไม้พาดระหว่างปากหลุมให้นักท่องเที่ยวเข้าไปนั่งทำธุระทั้งหนักและเบานักเดินป่าสัก 10 คน มาถึงดงน้อยในเย็นวันนั้น อากาศขมุกขมัวทำให้เวลากลางวันสั้นกว่าเวลากลางคืน มืดสนิทภายใต้อ้อมกอดของขุนเขาและราวป่า ลูกหาบของคณะเดินป่าชุดนั้นเริ่มอุธทรณ์ เมื่อพวกเขาคิดว่า จะเดินไปอ่างสลุงในคืนนั้น เพื่อให้ทันดูทะเลหมอก“หากพวกคุณจะไป พวกคุณไปได้เลย ลูกหาบ(4 คน)จะพักที่นี่แล้วตามไปพรุ่งนี้”“อ่าว แล้วเราจะเอาอะไรกินคืนนี้” หนึ่งในนั้นเริ่ม…
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ผมยืนมอง ขาหมูอวบๆ สีน้ำตาลเข้มแช่อยู่ในน้ำพะโล้ที่ร้านพรเพ็ญ(ขาหมูเสวย เจ้าเก่า)มันนอนนิ่งๆ รอคนขายเอามีดมาปาดบางๆ โปะลงบนข้าวให้ลูกค้า ไอร้อนหน้าเตาพอจะช่วยให้เนื้อตัวผมเบาขึ้นจากความหนาวนอกร้านที่กัดกร่อนถึงกระดูก"ซื้อขาหมู 100 บาท ครับ" ผมบอกคนขายแกกำลังวุ่นวายอยู่กับงานขายตรงหน้า ลูกค้าเริ่มทยอยเข้ามาหนาตา แดดสายแหย่ตัวรอดตามช่องชายคา ผมคิดว่า เราน่าจะซื้อขาหมูขึ้นไปกินบนดอยหลวงเชียงดาว...
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ผมเจอ สาม พัน โบก โดยบังเอิญ คุณป้าจากสองคอน รีสอร์ท แกบอกว่าให้ขับรถไปสัก 3 กิโลเมตร เลี้ยวซ้าย สุดสวนมะขามของอาจารย์เรืองประทิน นั่นแหละอาจารย์เรืองประทิน ชายร่างใหญ่ ผิวสีน้ำตาลไหม้ ผมหยักศกสีดำสนิท ทำให้แกดูขรึมๆ แต่รอยยิ้มที่ออกมาจากดวงตาเล็กๆ คู่นั้น บอกว่า แกเป็นคนมีไมตรี“นาย 2 คน มาจากที่ไหนกัน” แกทักด้วยน้ำเสียงแบบพ่อพิมพ์ภูธร“กรุงเทพฯ ครับ” เพื่อนผมบอก ก่อนจะเล่าที่มาที่ไปและมาที่นี่ได้ยังไง“โอ้ว นั่น คุณเดินลงไปสำรวจสิ” แกชี้ไปที่กลุ่มโขดหินเว้าแหว่ง ข้างหน้า
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ทะเลแหวก ที่หาดนพรัตน์ธารา เสียงเครื่องเรือหางยาวออกจากฝั่ง พรายฟองทะเลสีขาวละเอียดแหวกออกเป็นสายตามความเร็วของเรือ ไกลออกไปสุดลูกหูลูกตา ขอบฟ้ากับผืนน้ำจรดกันแทบเป็นเนื้อเดียวอาสาสมัครลงความเห็นว่า เราควรจะไปทะเลแหวกอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-อ่าวพระนาง หมู่เกาะพีพี หรือ "หาดคลองแห้ง" ตามคำเรียกเดิมของคนพื้นถิ่น ด้วยเหตุผลง่ายๆ ทางภูมิศาสตร์ช่วงน้ำลง น้ำคลองซึ่งไหลลงมาจากภูเขาทางด้านเหนือจะแห้งขอด ทรายขาวละเอียดปนเปลือกหอยยาวเหยียดจะโผล่เหนือผืนน้ำ ทอดยาวลงทะเล ก่อนจะบรรจบกับเกาะเขาปากคลอง เข้ากันได้ดีกับทิวสนริมฝั่ง กลายเป็นภูมิทัศน์ชายหาดแปลกตาสำหรับนักท่องเที่ยว ไกลออกไป…