หมู่บ้านมอแกน อ่าวบอนใหญ่ แห่งหมู่เกาะสุรินทร์ มองเห็นบ้านเรือนเป็นทิวแถวจากผืนทะเลสีคราม ,ภาพบนถ่ายจากหน้าหมู่บ้าน บนเรือหัวโทง ,ภาพล่างถ่ายจากท้ายหมู่บ้าน บนเส้นทางเดินธรรมชาติ ทั้งหมดนี้ เป็นหนึ่งในโปรแกรมมอแกนพาเที่ยว โครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สนใจติดต่อ 083-703-0925 ,andamanproject1@yahoo.com
จากชายหาด มองเห็นบ้านมอแกนเรียงรายเป็นแถวๆ คล้ายหมู่บ้านจัดสรร ,พื้นที่แห่งนี้ เป็นพื้นที่ที่ทางการได้จัดสรรให้หลังจากเหตุการณ์สึนามิ โดยนำมอแกนจาก 2 หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านไทรเอนและหมู่บ้านอ่าวบอนน้อย มาอยู่ร่วมกันในพื้นที่ถาวรซึ่งแตกต่างไปจากวิถีเดิมของชาวมอแกนที่ชอบเดินทางเร่ร่อนไปในท้องทะเลมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ
กลางวัน เด็กๆ จะนั่งหลบแดดอยู่ใต้ถุนบ้านที่ยกสูง ,เด็กที่นี่คุ้นเคยกับท้องทะเลมาตั้งแต่เกิด ไม่กลัวแดด ผิวสีน้ำตาลแดงสนิทและไม่สนใจครีมกันแดดและครีมกัดผิวขาว
เสาสลักสำหรับประกอบพิธีไหว้ผีบรรพบุรุษหรือที่เรียกว่า ‘ลอโบง' บริเวณหน้าหมู่บ้านมอแกน อ่าวบอนใหญ่ สีสันลวดลายง่ายๆ สะดุดตาสะดุดใจนักท่องเที่ยว
คุณลุงมอแกนนอนหลับกลางวัน อย่างเพลิดเพลินอารมณ์ ,ระหว่างผมยกกล้องถ่ายแกสลึมสลือผงกหน้าจากที่นอนขึ้นมาดู ,ก่อนจะหลับต่อไปอย่างคนอารมณ์ดี
ใต้ถุนที่ยกสูงเป็นที่หลบแดดและสนามสำหรับนอนกลางวันของเด็กๆ เป็นอย่างดี
ถนนสายหลักกลางหมู่บ้านมอแกน อ่าวบอนใหญ่ เด็กชายคนนี้นุ่งผ้าถุงแม่ลายดอกพื้นเมือง ห่มคลุมไปทั้งหัว ,ดูแกออกจะงงเหมือนกันว่า คนแปลกหน้ามาทำอะไรที่นี่ "ถ่ายรูปอยู่ได้"
เด็กชายวิ่งเล่นอยู่บนชายหาดหน้าหมู่บ้าน ,แกทำหน้าย่นเมื่อผมขอถ่ายรูปแล้วบอกให้ยืนนิ่งสักหนึ่งนาที ขณะที่ในมือของเด็กน้อยกำเปลือกหอยเอาไว้ "เสียเวลาเล่นจริงๆ"
‘ก่าบาง มอแกน' เป็นเรือของชาวเลที่ใช้ขึ้นล่องกลางผืนน้ำ มาช้านาน ,ปัจจุบันมีให้เห็นน้อยมากเพราะส่วนใหญ่หันมาเปลี่ยนเป็นเรือหัวโทง ,เฉพาะที่อ่าวบอนใหญ่ หมู่เกาะสุรินทร์แห่งนี้ มีเหลือเพียง 3 ลำ ,หนึ่งในนั้นกำลังซ่อมแซมเพราะไม่ได้ใช้งานมานาน
เรือยอร์ชลำโตทอดสมอขวางเส้นขอบฟ้า, ทะเลมีคนมากขึ้น ชาวมอแกนปัจจุบันหยุดการเป็นชนเร่ร่อนมาขึ้นบกและสร้างที่อยู่อาศัยถาวร อาจจะเป็นจริงที่ว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นสัจจะธรรมหนึ่งที่ยากแก่การปฏิเสธ ,เพียงแต่ว่า ชาวเล อ่าวบอนใหญ่ จะอยู่ตรงไหนบนโลกใบนี้