ห้องทะเบียนราษฏรเคลื่อนที่ถูกจำลองขึ้นบนลานโล่งบริเวณบ้านผู้ใหญ่บ้าน ,คนไร้รัฐบ้านแม่แพะมารวมตัวกันเพื่อทำประชาคม ,ยกมือรับรองสถานะบุคคลเป็นพยานรู้เห็นว่าครอบครัวที่ได้รับการสำรวจทั้งหมดอยู่บนผืนดินแห่งนี้มานาน ก า เ ล
ก่อนการประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติสาละวิน
การจัดทำข้อมูลทางทะเบียนเพื่อสอบประวัติ ,ได้รับการสำรวจโดยกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ,ที่ชักชวนกันมาทำงานด้วยใจอาสา ,จากกลุ่มหัวรถไฟและศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน ลงทำงานในพื้นที่บ้านแม่เหลอ บ้านมอโกจ่อ บ้านแม่แพะ บ้านนาป่าแป๋ และบ้านเสาหิน ,ก่อนส่งข้อมูลให้กับทางอำเภอเพื่อดำเนินการต่อ
..........
“เรามาเพื่อช่วยผลักดันให้กลไกการทำงานของอำเภอรวดเร็วและกระชับยิ่งขึ้น” หนึ่งในอาสาสมัครพูดข้างกองไฟ
ยามค่ำ ,อากาศเริ่มชื้นและเหล้าต้มทำให้หัวใจชื่นบาน
“ข้อมูลที่สำรวจมาไม่ได้ถูกต้องทั้งหมดและยังไม่ใช่เครื่องมือที่จะยืนยันว่า ทุกคนที่ผ่านการสำรวจจะได้รับสัญชาติทั้งหมด ทั้งนี้ ยังมีอีกหลายขั้นตอนและขึ้นอยู่กับการทำงานของคนหลายๆ ฝ่าย” เสียงใสอีกเสียงยืนยันข้างกองไฟ
การพิสูจน์สัญชาติเป็นเรื่องซับซ้อนที่ต้องทำอย่างจริงจัง ตั้งแต่ลงมือเก็บข้อมูล หาพยานบุคคลที่ยืนยันได้ การทำประชาคมเป็นเพียงการพิสูจน์เบื้องต้นที่จะต้องมีการพิสูจน์ซ้ำ ,ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความไว้วางใจระหว่างอำเภอแม่สะเรียง ,หน่วยงานราชการในพื้นที่และประชาชน
“จะใช้หัวใจหรือความรู้สึกเพียงอย่างเดียวไม่ได้” ปลัดปกครองใช้กังวานเสียงเข้มข้น ข้างกองไฟ ยามค่ำ ก่อนสาดเหล้าต้มลงคอ
..........
วินัย(นามแฝง) ชายหนุ่มวัย 42 ปี ร่างกายเต็มไปด้วยรอยแผล ป้อมๆ หนาๆ ในแบบคนดอย อุ้มลูกสาวแนบออก ,ผูกกระชับด้วยผ้าขาวม้าในสไตล์ชาวปาเกอญอ ,สีหน้าไม่บ่งบอกความรู้สึกนอกจาก รอ ,รอการขานชื่อเพื่อลงทะเบียนประวัติและพิสูจน์จากประชาคมว่าเขาอยู่บนผืนดินแห่งนี้มานานกาเล
วินัย หนีจากกองทัพกะเหรี่ยง KNU เข้ามาอยู่ในแผ่นดินไทยมานานกว่า 20 ปีแล้ว
“ไม่ไหวเป็นทหารไม่อิ่ม” ชายหนุ่มพูดเป็นสำเนียงไทยปนกะเหรี่ยงเหมือนกับที่เราได้ฟังในหนังหรือในทีวี ในความหมายที่ว่า ชีวิตลำบากมาก
เขารับใช้ชาติพันธุ์ตัวเองถึง 5 ปี หน้าที่ของเขาในกองทัพกู้ชาติ คือ ฆ่าเชลยศึก
“ทำยังไง” ผมถาม
“หากจับทหารพม่ามาได้ สอบสวนแล้วไม่ได้ความ จะเป็นหน้าที่ของผม”
“ทำยังไง” ผมย้ำ
เขาอึกอัก “ใช้มีด”
แล้วชี้มาที่คอของผม “แทงตรงๆ แล้วปาด” วนจากซ้ายมาขวา
ผมคิดภาพ
เมื่อทนไม่ไหว วินัยจึงหนีทัพ ข้ามแดนมายังฝั่งไทย
“อยู่ที่นี่ ยังไงก็อิ่ม” วินัยมีภรรยาและลูกติดหนึ่งคน ต่อมาภรรยาเสียชีวิต เขาได้ภรรยาคนใหม่เป็นหญิงสาวที่มีดวงตาโศกและผิวพรรณเปล่งปลั่งด้วยวัย 18 ปี
เธอกำลังตั้งครรภ์
ชายหนุ่มยิ้มกริ่มก่อนยกมือขึ้นลูบศีรษะภรรยาสุดที่รักเป็นเชิงว่าครอบครัวของเขาถูกขานชื่อให้ไปยืนต่อหน้าประชาคมแล้ว
หล่อนเป็นเด็กกำพร้า
...........
“เป็นคุณ คุณจะคิดยังไง นายพลโมเบี๊ยะเสียชีวิต คนที่นี่แห่ข้ามไปไว้อาลัย อีกฝั่ง” ปลัดปกครองกล่าวอย่างมีอารมณ์ปนขันเล็กๆ
หมายความว่า คุณจะให้ผมคิดว่าเขาเป็นคนไทย 100% ได้ยังไง
เรื่องแบบนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียง
หรือว่า “ทำทะเบียนสำรวจครั้งนี้แล้ว ผมขึ้นมาสำรวจใหม่ พบว่า มีคนเข้ามาเพิ่มล่ะ คุณจะให้เราทำยังไง” เขาต่ออีกประโยค
ยังไม่มีคำตอบสำหรับเรื่องนี้ ตราบเท่าที่สงครามยังไม่จบและคนยังคงเข่นฆ่ากันและ ‘เรา’ คงต้องทำงานกันต่อไป
“ทั้งที่เราไม่อยากจัดงานวันเด็กไร้สัญชาติอีกแล้ว” ผอ.ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กคิด
..........
มากกว่าของขวัญวันเด็กและเสียงเพลง คือ การดูแลกันในฐานะเพื่อนร่วมโลก
หรือเราจะมัวแต่พูดกันด้วยเจตคติซ้ำซาก
ว่า “ทำไมไม่ดูแลเด็กไทยที่ขาดแคลน”
ครอบครัวของวินัย ตัวของเขา ภรรยา และบุตรอีกสองคน (คนหนึ่งอยู่ในท้อง) ได้รับการยืนยันจากประชาคมว่า พวกเขาอยู่ที่มานานกว่า 20 ปีแล้วด้วยการยกมือ
!!!!!
กว่าเด็กน้อยจะมายืนเป็นแบบให้ถ่าย เล่นเอาช่างภาพเหงื่อตก
ภาพตอนที่แล้วใช้มอเตอร์ไซค์ข้ามลำห้วยแม่แงะ ภาพนี้ชาวบ้านกำลังเดินข้ามลำห้วย
อาหย่อยละคับ งานนี้ !!!
การอุ้มลูกสไตล์คนปาเกอญอ จริงๆ ก็ไม่เชิงว่าเป็นสไตล์ใครแต่ใช้วิธีนี้กันทั่วไป จนคนพื้นราบเอามาดัดแปลงเป็นเปลติดหน้าอกที่เราเห็นฝรั่งแถวสยามทำกันบ่อยๆ
เด็กชายให้ถ่ายภาพเป็นแบบเหมาะเหม็ง พร้อมกับเสื้อตัวเก่ง THAILAND
ข้างในฮู้ดสีขาวหม่น เด็กคนนี้จ้องด้วยสายตาส่อความหมาย “ถ่ายอะไรกันนักหนา เนี่ย”
เด็กๆ กรูกันเข้ามาหยิบไม้บรรทัด หลังจากที่ไม่ต้องเล่นเกมส์อีกแล้ว ไม้บรรทัด สำหรับเด็กๆ ที่นั่นมีความหมายยิ่งนัก
เวทีงานวันเด็ก อย่างง่ายๆ ถูกจัดที่ลานโรงเรียน
วิวทิวทัศน์ก่อนพลบค่ำ บริเวณลำห้วยแม่แงะ
(คลิ๊กเพื่อดูภาพขยายนะครับ)