แดดยามบ่ายกระทบสายน้ำเป็นริ้วเต้นระริกรินไหลไปตามแก่งหินน้อยใหญ่ ทิวไม้สองฝั่งแน่นขนัดทอดกายยึดผืนดินไม่ให้น้ำกัดเซาะ ราวกับมืออันอบอุ่นของแม่ที่โอบอุ้มทารกแนบอก
ธรรมชาติสร้างสรร จัดวางสรรพสิ่งบนคานแห่งความสมดุล
ลำน้ำเข็ก จากเทือกเขาเพชรบูรณ์ ไหลรวมกับน้ำน่านถึงเจ้าพระยา สร้างความชื่นใจแก่ชีวิตผู้คนสองฝั่งน้ำมาตั้งแต่ครั้งรุ่นปู่รุ่นย่ายังสาว
โลกเปลี่ยนไป การท่องเที่ยวทำให้ชาวบ้านหันมาเป็นผู้ประกอบการธุรกิจแพยาง ,ร้านอาหาร ,รีสอร์ท นอกเหนือ จากการทำนาพร้อมกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลมาล่องแก่งน้ำเข็กกันอย่างล้นหลาม
ณัฐวัฒน์ วัฒนาประสิทธิ์ พี่เคน ประธานชมรมอนุรักษ์ลำน้ำเข็ก ผู้สร้างเรน ฟอเรส รีสอร์ท นับเนื่องเวลา 10 ปี เขามองเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของลำน้ำในพื้นที่
“มีขยะทับถมมากขึ้นเรื่อยๆ หากปล่อยไว้ วันหนึ่งขยะอาจจะท่วมเจ้าพระยา”
ชายหนุ่มเริ่มต้นบทสนทนา
เขาเริ่มต้นด้วยการนำลูกน้องภายในรีสอร์ทเก็บขยะตามลำน้ำด้วยความเชื่อที่ว่า หากเรารักษาดินน้ำป่า ธรรมชาติจะรักเรา
ขยะมาจากไหน?
สถานที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ปัญหาขยะย่อมตามมา ส่วนหนึ่งเกิดจากตัวชาวบ้านในพื้นที่ที่เปิดร้านอาหาร เปิดที่พัก จำนวนคนที่เข้ามาอาศัยเพิ่มมากขึ้นเพราะชวนกันมาลงทุนทำธุรกิจท่องเที่ยวในแหล่ง ยกตัวอย่าง ผู้ประกอบการเรือยาง จากหนึ่งรายสองราย ตอนนี้เพิ่มเป็น 16 ราย อย่างนี้เป็นต้น
ใครนำขยะมา?
ผมเห็นว่า ส่วนหนึ่งมาจากผู้ประกอบการและชาวบ้านในพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น น้ำขวดลิตร กระป๋องแป้งหรือสบู่บางยี่ห้อ ขยะพวกนี้เป็นขยะจากบ้านเรือนของชาวบ้านในละแวกลำน้ำ แต่เราคงไม่โทษใคร เราทำงานเพื่อสร้างความตระหนักและให้ความสำคัญในการร่วมกันรักษาลำน้ำมากกว่าตัดสินว่าใครผิดใครถูก
เขาเชื่อว่า ขยะในลำน้ำเข็กเป็นฝีมือชาวบ้านถึง 70-75%
กล่องโฟมจากขาทีวี ,กระป๋องยาฉีดยุงไบกอน ,เสื่อเปื่อยยุ่ย ,ถุงพลาสติกใส่ขยะ ฯลฯ
อาสาสมัครคนหนึ่ง บอกว่า
เขาเก็บซากทีวีเก่าได้และคิดว่า นักท่องเที่ยวคงไม่นำทีวีมาเที่ยวด้วยอย่างแน่นอน
เขายิ้ม !!!