1
ตี 5 ครึ่งของวันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม 2549 ท้องฟ้ากำลังจะเปลี่ยนจากสีดำเป็นสีขาว ชาวจิตอาสา (เกือบ) 20 ชีวิต นัดรวมพลกันหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ บทเริ่มต้นของการเดินทางรวมใจสร้างห้องสมุดดิน (25-27 ส.ค.49) กับกลุ่มรักษ์เขาชะเมา จ.ระยอง คนกวาดถนน รถเก็บขยะและแม่ค้าขายผัก นักเรียน พนักงานห้างและพนักงานออฟฟิศ ผู้บริหาร ครู-อาจารย์และนักการเมือง คือ ลมหายใจของกรุงเทพฯ (มหานครของเรา) กับการเริ่มต้นของชีวิตอีกครั้ง ผมไปถึงที่นัดหมาย 06.00 น. (ฮา)
2
สีสันของโลกเข้มข้นขึ้นตามเวลา ระยองปลายฤดูฝนท้องฟ้าสีเทาออกหม่น ขาวข้นเหมือนวีปครีมในถ้วยกาแฟร้านสตาร์บั๊ค ผมนั่งหลับๆ ตื่นๆ อยู่ทางตอนหน้าข้างคนขับทำให้โลกระหว่างทางเป็นสีดำสลับสีขาวสีขาวสลับสีดำอยู่ตลอดเวลา ห้องสมุดดินของกลุ่มรักษ์เขาชะเมา ขนาด 1X3 เมตร เป็นจุดมุ่งหมายของภารกิจจิตอาสาในครั้งนี้ รถตู้สองคันเลี้ยวชะลอความเร็ว ลงไปตามถนนดินแฉะๆ มองเห็นทุ่งนาตัดกับเส้นขอบฟ้าและสวนผลไม้ของชาวบ้าน ผมมองผ่านกระจกหน้ารถเห็นป้ายไม้ซีดจางเขียนเอาไว้ว่า “กลุ่มรักษ์เขาชะเมา”
หลังป้ายเป็นอาคารดินใช้เป็นโรงเรียนโรงเล่นของกลุ่มรักษ์เขาชะเมาและห้องนอนอันอบอุ่นของชาวจิตอาสา ซูโม่และหมึกดำหมาสองตัวของแก้ววิ่งออกมาอย่างคุ้นเคยเหมือนกับมันจะรู้ว่าหน้าที่ของมัน คือ การต้อนรับแขก ก่อนที่แก้วจะคุยให้ผมฟังลับหลังมันว่า “มันต้อนรับไปหมดทุกคนนั่นแหละ แม้แต่ขโมยมันก็ไม่มีข้อยกเว้น”
การลงมือ-ลงเท้าย่ำดินปั้นบ้านเป็นงานหนักที่สนุกสนานและทำให้ผมลดความคลางแคลงใจจากที่เคยสงสัยว่าทำไมควายทุกเพศวัยถึงชอบนอนอ้อยอิ่งกลางปลักโคลนเลน ตอนนี้ จิตของชาวอาสาดูเหมือนจะว่างเพราะต่างไม่พะวงกับความเลอะเทอะ แต่ละคนกระโดดลงไปอยู่ในบ่อโคลนสีน้ำตาลเข้มโดยมี แก้ว ชายรูปร่างบอบบาง คอยบอกวิธีการ
ขั้นตอนนี้เป็นการย่ำเพื่อปั้นก้อนอิฐดินสำหรับมาก่ออาคาร โคลนเหนอะๆ ข้างคันนาถูกขุดจนเป็นหลุมก่อนจะเทน้ำลงไปผสมเพื่อให้การย่ำง่ายขึ้น ชาวจิตอาสาเกาะกันเป็นวงกลม ประสานมือไว้บนไหล่เพื่อนข้างๆ ทำให้การขยับเท้าเป็นไปอย่างมั่นคง ย่ำจนดินโคลนเหลวไหลผ่านง่ามนิ้วเท้า หลังจากนั้น แกลบหรือทรายจะถูกขนมาผสมจนโคลนเหลวจับตัวกันเหมือนวุ้นรสกาแฟ-ไม่ใส่ครีม เหนียวหนึบหากยืดหยุ่น ทดสอบจากการเอาฝ่าเท้ากดลงไปในเนื้อดิน หากดินจมลงไปแล้วไม่คืนรูปแสดงว่าใช้ได้
แก้ว เป็นบุคคลหนึ่งที่หลายคนทึ่งในความสามารถและความคิด บ้านดินเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของยุคสมัย เทคโนโลยีมุ่งให้เราเป็นผู้เอาชนะมากกว่าการพึ่งพาธรรมชาติ การมองผืนดินเป็นมากกว่าผืนดินทำให้เรารู้จักตัวเองและอ่อนโยนให้กับธรรมชาติ เหมือนกับคำว่าเกิดจากผืนดินกลับสู่ผืนดิน แก้วออกตัวว่ากลุ่มรักษ์เขาชะเมาไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการสร้างบ้านดินนะครับ สิ่งที่ทางกลุ่มของเราเน้น คือ การสร้างคุณค่าภายใน การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันกับดินน้ำลมไฟอย่างกลมกลืน สังคมมนุษย์กำลังถอยร่นออกจากจุดกำเนิดของชีวิต โลก-ธรรมชาติ จึงเป็นได้เพียงที่อยู่ชั่วคราวของเรากับการหาประโยชน์สร้างความร่ำรวยของคนบางกลุ่มเท่านั้น
แก้วลุกขึ้นพร้อมกับไม้เท้าแทนขาข้างขวา โขยกเขยกนำเราไปย่ำดินปั้นบ้านข้างคันนา
3
มือขาวๆ ของชาวอาสาถูกพอกเอาไว้ด้วยโคลนหนาเตอะและไหลเข้าไปอุดอยู่ในเล็บมือเล็บเท้าอย่างไม่ปรานีปราศรัย อิฐดินแข็งถูกลำเรียงก่อเป็นผนังอาคารห้องสมุด ฉาบผสานด้วยโคลนเหนียวผสมแกลบแทนปูนซีเมนต์ แต่ละก้อนถูกกะเทาะโป๊กๆ เป๊กๆ ให้เรียบทุกด้านด้วยคมมีดพร้าก่อนจะจัดเรียงสลับฟันปลา การก่ออิฐดินมีเทคนิคเฉพาะ ผู้ก่อต้องทุ่มอิฐลงไปแรงๆ บนโคลนเหนียวผสมแกลบให้ได้ยินเสียงดังแผละและเม็ดโคลนกระเด็นกระดอนให้ได้หลบกันพอหอมปากหอมคอ บางคนหลบไม่ทันเลอะหน้าเลอะตา แต่ไม่เป็นไร คิดซะว่าเป็นการบำรุงผิวด้วยการพอกโคลนเหนียวผสมแกลบ ผลจากการย่ำดิน ก่ออิฐกับรอยยิ้มเลอะเทอะท้าทายสบู่เหลวขจัดคราบไคลทำให้ผนังอาคารเริ่มเป็นรูปเป็นร่างกลายเป็นห้องสมุดแก่เด็กๆ รักษ์เขาชะเมา
4
ยามค่ำมาถึง ...
อาคารดินโรงเรียนโรงเล่นถูกแบ่งออกเป็นสองฟากโดยขึงเชือกฟางผ่าโถงจากด้านหน้าไปจรดด้านหลังตามแนวยาว มุ้งด้านซ้ายผูกปลายเชือกเข้ากับผนังด้านซ้ายส่วนอีกด้านผูกกับเชือกฟางกลางห้อง มุ้งด้านขวาผูกปลายเชือกกับผนังด้านขวาส่วนอีกด้านผูกกับเชือกฟางกลางห้อง หันหัวเข้าผนัง หันเท้าเข้าหากัน เพียงเท่านี้ อาคารโรงเรียนโรงเล่นก็แปรสภาพเป็นห้องนอนอันอบอุ่น
สภาพเท้า หลังย่ำดิน เป็นแบบนี้แหละครับ
ก่ออิฐต้องให้ได้ยินเสียงดังแผละ
ย่ำ ย่ำ ย่ำ
สัมผัสแผ่วเบาของนักสร้างบ้านดิน
จับมือลงบ่อดิน
หลังจากย่ำดิน ชาวอาสาได้ทดลองหว่านข้าว
เฮ! ดูกันก่อน ครายเป็นคราย เอิ๊ก เอิ๊ก