10 ข้อเสนอเกี่ยวกับ multitude และระบบทุนนิยมแบบหลังฟอร์ด / เปาโล เวอร์โน

 

ถอดความโดยเก่งกิจ กิติเรียงลาภ จาก Paolo Virno, A Grammar of The Multitude (Los Angeles: Semiotext(e), 2004), pp. 98-112.

ข้อเสนอที่ 1: ระบบหลังฟอร์ด (และ multitude) ปรากฎตัวขึ้นในอิตาลี พร้อมกับความขัดแย้งทางสังคมที่รุนแรงซึ่งถูกเรียกว่า “ขบวนการปี 1977”

-           ระบบหลังฟอร์ดถือกำเนิดขึ้นจากการขยายตัวของการศึกษาและอัตราเร่งของการเคลื่อนย้ายของกำลังแรงงาน

-           รูปแบบการผลิตของกำลังแรงงานที่มีความรู้มากขึ้นไม่สามารถถูกจำกัดอยู่ได้ด้วยระบบการผลิตแบบสายพาน หรือ assembly line ได้

-           การขยายตัวของแรงงานที่มีความรู้ในระบบทุนนิยมส่งผลให้เกิดวงจรความขัดแย้งทางชนชั้นรอบใหม่ โดยเฉพาะในทศวรรษ 1970 

ข้อเสนอที่ 2: ระบบหลังฟอร์ดคือการบรรลุตัวเองประจักษ์ชัดแจ้งของข้อเขียนของ Marx เกี่ยวกับ “บางเรื่องเกี่ยวกับเครื่องจักร”

-           Marx เคยชี้ว่า เมื่อแรงงานพัฒนาศักยภาพของตนเองมากขึ้น “เวลาการทำงาน” (labour time) ซึ่งเคยเป็นตัวชี้วัดมูลค่า (value) ในระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมแบบฟอร์ดจะไม่สามารถนำมาใช้ในการวัดมูลค่าได้อีกต่อไป

-           นั่นหมายความว่า “กฎของมูลค่า” (law of value) ที่เคยใช้ในการควบคุม/กำหนดการทำงานของแรงงานในระบบทุนนิยมเริ่มถูกลดความสำคัญลงไปเรื่อยๆ

-           เมื่อกฎของมูลค่าใช้งานไม่ได้ ก็หมายถึง การที่ทุนไม่สามารถเปลี่ยนมูลค่าใช้สอย (use-value) ที่เกิดจากกำลังของแรงงานมนุษย์ให้กลายเป็นมูลค่าแลกเปลี่ยน (exchange-value) ในระบบตลาดได้

-           แม้ว่าระบบหลังฟอร์ดที่เกิดขึ้นจะสร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบการผลิตแบบใหม่ แต่มันไม่ได้รับประกันว่าจะเกิดการปลดปล่อยแรงงานออกจากการกดขี่ของทุน

ข้อเสนอที่ 3: multitude โดยตัวมันเองคือวิกฤตของสังคมแรงงาน

-           ความมั่งคั่งเกือบทั้งหมดของระบบการผลิตแบบหลังฟอร์ดมีที่มาจาก “ปัญญาทั่วไป” (general intellect) และการที่แรงงานมีความรู้แบบวิทยาศาสตร์มากขึ้น

-           ทุนพยายามควบคุมแรงงานของมนุษย์มากขึ้น โดยการเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงานให้ยืดหยุ่น ผลก็คือ แรงงานสำรอง (reserved army of labour) หายไป เพราะแรงงานส่วนใหญ่ไม่มีความมั่นคง และกลายเป็นแรงงานสำรองเกือบทั้งหมด

ข้อเสนอที่ 4: สำหรับ multitude ในระบบหลังฟอร์ด ทุกๆความแตกต่างในเชิงคุณภาพระหว่างเวลาทำงาน (labour time) กับเวลาที่ไม่ได้ทำงาน (non-labour time) ล้วนแล้วแต่ถูกสลายลงไป

-           เวลาของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่มีการแยกเวลาการทำงานออกจากเวลาของการใช้ชีวิต แต่เมื่อการผลิตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในทุกที่อันเนื่องมาจากรูปแบบการจ้างงานที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้เวลาในชีวิตทางสังคมทั้งหมดของมนุษย์กลายเป็นเวลาของการผลิต

-           ผลอีกประการคือ การแบ่งแยกแรงงานออกเป็นคนที่มีงานทำ/ถูกจ้าง กับคนตกงาน/ว่างงานเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ข้อเสนอที่ 5: ในระบบหลังฟอร์ด “เวลาทำงาน” (labour time) กับ “เวลาในการผลิตสร้างสิ่งต่างๆ” (production time) ไม่ได้ซ้อนทับกันหรือลงรอยกันพอดีอีกต่อไป

ข้อเสนอที่ 6: ระบบหลังฟอร์ดก็คือ การที่ตัวแบบการผลิตที่แตกต่างหลากหลายอย่างถึงที่สุดนั้นดำรงอยู่ด้วยกัน ซึ่งเป็นรูปแบบการผลิตที่การผลิตไม่ได้อยู่ในสถานที่ทำงาน แต่กระจายตัวออกไปทั่วทั้งสังคม (socialization)

-           การที่ระบบหลังฟอร์ดให้ความสำคัญกับ “การสื่อสาร” (communication) ในฐานะที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของการผลิต กระบวนการผลิต และผลผลิต ส่งผลให้เวลาทั้งหมดของมนุษย์ที่อยู่ “นอก” โรงงานที่มนุษย์ใช้ชีวิตในฐานะมนุษย์ผ่านการสื่อสารกับคนอื่นกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตสร้างมูลค่า

ข้อเสนอที่ 7: ในระบบหลังฟอร์ด ปัญญาทั่วไป (the general intellect) ไม่ได้อยู่ในรูปของทุนคงที่ (fixed capital) แต่ปรากฎแสดงตัวอยู่ในฐานะที่เป็นคุณสมบัติเชิงการรับรู้และการสื่อสารของแรงงานที่มีชีวิตอยู่ (living labour)

-           เมื่อการสื่อสารกลายมาเป็นส่วนสำคัญที่สุดของการผลิต มนุษย์ผู้ซึ่งใช้ภาษาและใช้ความคิดในการสื่อสารผ่านภาษาย่อมต้องใช้ความรู้และศักยภาพของตนเองในการตัดสินใจในกระบวนการผลิตมากขึ้น

-           พลังทางการผลิตได้ย้ายจากทุนคงที่มาสู่แรงงานที่มีชีวิตอยู่ และความหลากหลายของสินค้าขึ้นกับความหลากหลายของตัวตนของแรงงานที่ทำการผลิตสร้างสิ่งต่างๆในสังคม

ข้อเสนอที่ 8: กำลังแรงงานทั้งหมดในระบบหลังฟอร์ด ไม่เว้นแม้แต่แรงงานที่ไร้ทักษะที่สุด ต่างก็เป็นกำลังแรงงานที่ใช้ปัญญาทั้งสิ้น หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น “ความสามารถในการใช้ความคิดของมวลชนทั้งหมด”

-           เมื่อการสื่อสารและทักษะการใช้ความคิดและภาษาเป็นส่วนสำคัญของการผลิต การทำความเข้าใจกิจกรรมในการใช้ปัญญาซึ่งเกิดขึ้นผ่านระบบภาษาของแรงงานและมนุษย์ในสังคมจึงเป็นส่วนสำคัญที่ทฤษฎีทางสังคมละเลยไม่ได้อีกต่อไป

-           จากเดิมที่การใช้ปัญญาของมนุษย์เป็นสิ่งที่ถูกกันออกจากกระบวนการใช้ร่างกายในการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ส่งผลให้การแยกการวิเคราะห์สังคมออกเป็นโครงสร้างส่วนบน ซึ่งหมายถึงกิจกรรมการใช้ความคิด สำนึก และอุดมการณ์ กับโครงสร้างทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นกิจกรรมของการผลิตและการบริโภคไม่สามารถอธิบายได้ วิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองซึ่งวางอยู่บนฐานคิดที่แยกโครงสร้างทั้ง 2 นี้ออกจากกันจึงต้องปรับเปลี่ยนไป โดยจะต้องไม่แยกกิจกรรมทางปัญญาออกจากการกิจกรรมของการผลิต

ข้อเสนอที่ 9: การเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของ multitude ทำให้ “ทฤษฎีว่าด้วยการกลายเป็นชนชั้นแรงงาน” (theory of proletarianization) หมดพลังในการอธิบายอย่างสิ้นเชิง

-           คุณสมบัติสำคัญที่สุดในฐานะที่เป็นศํกยภาพของแรงงานในระบบหลังฟอร์ดก็คือ การร่วมมือกัน (cooperation) เพราะการร่วมมือกันจะนำไปสู่การสร้างสรรค์ที่ซับซ้อนขึ้น รูปแบบของการจัดการแรงงานในระบบหลังฟอร์ดจึงไม่ใช่การแบ่งงานกันทำระหว่างแรงงานกายกับแรงงานสมอง แรงงานไร้ทักษะกับแรงงานมีทักษะ หรือแม้แต่แรงงานที่ถูกจ้างกับแรงงานที่ไม่ถูกจ้าง แต่มนุษย์ทั้งหมดในสังคมถูดึงเข้ามาสู่กระบวนการผลิตที่ซับซ้อนขึ้น และเชื่อมต่อกันผ่านการร่วมมือกันทำข้ามไปมาอย่างไม่สิ้นสุด

-           แรงงานในระบบหลังฟอร์ดจึงเป็นแรงงานที่ซับซ้อน (complex labour) ไม่ใช่เป็นแรงงานพื้นๆทั่วไป (simple labour)

ข้อเสนอที่ 10: ระบบหลังฟอร์ด คือ “สภาวะแบบคอมมิวนิสต์ของทุน” (communism of capital)  

-           “สภาวะแบบคอมมิวนิสต์ของทุน” ก็คือ การที่ทุนอยู่ “นอก” กระบวนการใช้แรงงานของมนุษย์ และทุนต้องพึ่งพิงกับการร่วมมือกันอย่างเป็นอิสระของแรงงาน สภาวะเช่นนี้จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดที่ทำให้การสร้างสังคมคอมมิวนิสต์ที่ทุกคนร่วมมือกันอย่างเป็นอิสระและสมัครใจสามารถเกิดขึ้นได้

-           ระบบการผลิตแบบหลังฟอร์ดจะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อเราผลักทุนให้ออกไปจากกระบวนการผลิต (และสังคมทั้งหมด เพราะสังคมทั้งหมดคือโรงงานที่มนุษย์ใช้ทำการผลิต) และนั่นคือ เหตุผลว่าทำไมสังคมคอมมิวนิสต์เป็นเพียงทางออกเดียวที่เป็นไปได้สำหรับการที่มนุษย์จะเป็นอิสระ

จาก“มดลูกก็ปัจจัยการผลิต” ถึงภาคบริการ: ทำไมผู้หญิงต้องปลดแอกตัวเองจากระบบทุนนิยม

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ เขียนถึง “มดลูกก็ปัจจัยการผลิต” ของ แล ดิลกวิทยรัตน์ ที่พยายามเสนอไว้กว่า 40 ปีก่อน และการเรียกร้อง “ค่าแรงสังคม” ที่ไปไกลกว่าการต่อสู้ในชีวิตประจำวันหรือการเรียกร้องให้ผู้หญิงเข้าไปนั่งในสภามากขึ้น น่าจะเป็นสิ่งที่แรงงานหญิงในประเทศนี้ฝันถึง

10 ข้อเสนอเกี่ยวกับ multitude และระบบทุนนิยมแบบหลังฟอร์ด / เปาโล เวอร์โน

ระบบหลังฟอร์ด (และ multitude) ปรากฎตัวขึ้นในอิตาลี พร้อมกับความขัดแย้งทางสังคมที่รุนแรงซึ่งถูกเรียกว่า “ขบวนการปี 1977” คือการบรรลุตัวเองประจักษ์ชัดแจ้งของข้อเขียนของ Marx เกี่ยวกับ “บางเรื่องเกี่ยวกับเครื่องจักร” multitude โดยตัวมันเองคือวิกฤตของสังคมแรงงาน สำหรับ multitude ในระบบหลังฟอร์ด ทุกๆความแตกต่างในเชิงคุณภาพระหว่างเวลาทำงาน (labour time) กับเวลาที่ไม่ได้ทำงาน (non-labour time) ล้วนแล้วแต่ถูกสลายลงไป ฯลฯ