ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับความคิดของคาร์ล มาร์กซ์ ตอนที่ 2 – ย้อนคิด (อีกครั้ง)

(แปลและเรียบเรียงจากบทความ The Ideas of Karl Marx ของ Alan Woods นักรัฐศาสตร์ชาวสหราชอาณาจักร ผู้สมาทานแนวความคิดแบบ ทร็อทสกี้ สามารถเข้าถึงบทความต้นฉบับผ่าน http://www.marxist.com/karl-marx-130-years.htm )

                                                                                    ปิยวัฒน์ จิตรเย็น สมาชิกกลุ่มสหายสังคมนิยม  แปล/เรียบเรียง

                ภายหลังการเกิดขึ้นของการเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจได้ไม่นาน ในเดือนกรกฎาคม ปี 2009 นิตยสาร The Economist ได้จัดการเสวนาขึ้น ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อพยายามร่วมกันหาคำตอบของคำถามที่ว่า “เกิดความผิดพลาดอะไรขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ?” มันได้แสดงให้เห็นว่าสำหรับนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทฤษฏีเศรษฐศาสตร์แบบกระแสหลักนั้น เริ่มที่จะไม่มีความสำคัญและใช้การไม่ได้ Paul Krugman นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลกล่าวยอมรับอย่างแทบไม่น่าเชื่อหูและสร้างความตะลึงงันว่า “พัฒนาการของทฤษฏีเศรษฐศาสตร์มหภาคในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อย่างดีที่สุดนั้นถือได้ว่าไร้ค่าจนน่าใจหาย ส่วนถ้ามองในแง่ร้ายมันก็คือตัวการสร้างความเสียหายที่แท้จริง” ซึ่งความเห็นนี้ได้ให้ภาพอย่างหมดจดเกี่ยวกับทฤษฏีเศรษฐศาสตร์ของพวกกระฎุมพี

                อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เหตุการณ์ในวันนั้นจะสามารถส่งสารเล็ดรอดเข้าไปในกะโหลกของเหล่านักคิดกระฏุมพีได้เพียงเล็กน้อย แต่เราก็กำลังประจักษ์ถึงจำนวนบทความมากมายที่ต้องออกมากัดฟันยอมรับในที่สุดว่ามาร์กซ์นั้นถูกต้อง แม้กระทั่งหนังสือพิมพ์ฉบับทางการของสำนักวาติกัน L’Osservatore Romano เอง ก็ได้ตีพิมพ์บทความหนึ่งในปี 2009 เพื่อยกย่องมาร์กซ์ในคำอธิบายเกี่ยวกับสาเหตุของความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าตลกในการออกมาสนับสนุนจุดยืนของชายผู้ได้ประกาศต่อโลกว่า “ศาสนาคือยาฝิ่นของประชาชน” ในปัจจุบัน Das Capital กำลังเป็นหนังสือยอดนิยมในเยอรมัน และในญี่ปุ่นถึงกระทั่งมีการพิมพ์เวอร์ชั่นมังงะออกวางจำหนาย

                George Magnus นักวิเคราะห์เศรษฐกิจอาวุโสของธนาคาร UBS  เขียนบทความตีพิมพ์ใน Bloomberg View ด้วยชื่อบทความที่น่าสนใจว่า “Give Karl Marx a Chance to Save the World Economy (ให้โอกาสคาร์ล มาร์กซ์ในการพิทักษ์เศรษฐกิจโลก” ซึ่งธนาคาร UBS นี้มีที่ตั้งหลักอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ มีสาขาตามประเทศต่างๆทั่วโลกมากกว่า 50 แห่ง ถือครองสินทรัพย์มากถึงสองล้านล้านดอลล่าสหรัฐ  และยังถือว่าเป็นเสาหลักหนึ่งที่สำคัญของสถาบันการเงินโลก อย่างไรก็ตามในบทความนั้น Magnus เขียนว่า “ เศรษฐกิจโลกในทุกวันนี้มีความคล้ายคลึงอย่างประหลาดกับสิ่งที่มาร์กซ์ได้ทำนายไว้ “

                ในบทความนั้น Magnus ได้เริ่มต้นด้วยการอธิบายถึงการที่บรรดานักนโยบายต่าง “ พยายามกันอย่างหนักเพื่อที่จะทำความเข้าใจถึงกระแสธารการเกิดขึ้นของ ความวิตกกังวลสับสนทางการเงิน (financial panics) การประท้วงชุมนุม และปัญหาอื่นๆที่ส่งผลกระทบต่อโลกอย่างต่อเนื่องและเรื้อรัง” และได้ให้คำแนะนำว่าพวกเขาควรที่จะกลับไปศึกษาผลงานของ “ นักเศรษฐศาสตร์ผู้จากโลกนี้ไปเนิ่นนานแล้ว หรือก็คือ คาร์ล มาร์กซ์ “

ยกตัวอย่างเช่น ลองพิจารณาดูถึงคำทำนายของมาร์กซ์ในเรื่องของความขัดแย้งภายในระหว่างทุนกับแรงงาน(inherent conflict between capital and labor ) ที่ในที่สุดก็จะสำแดงตัวของมันเองออกมา อย่างที่มาร์กซ์เขียนใน Das capital ว่าในกระบวนการแสวงหากำไรและเพิ่มผลผลิตของบรรษัทต่างๆนั้น โดยธรรมชาติเองนำไปสู่ความต้องการแรงงานในจำนวนที่น้อยลงๆเรื่อยๆ ซึ่งได้สร้างให้กองทัพสำรองของคนจนและผู้ว่างงานเกิดขึ้นมา (industrial reserved army) หรือก็คือ ในขณะเดียวกันกับที่มันคือกระบวนการในการสะสมความร่ำรวย ในอีกแง่หนึ่งมันก็คือกระบวนการสะสมความหายนะ (Accumulation of wealth at one pole is, therefore, at the same time accumulation of misery)”               

Magnus เขียนต่อไปว่า

กระบวนการที่เขา (marx) อธิบายเอาไว้สามารถประจักษ์ได้อย่างทั่วไปในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามของบรรษัทต่างๆในสหรัฐอมริกาในการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและการหลีกเลี่ยงการจ้างงานนั้นได้ทำให้กำไรของบรรษัทต่างๆเหล่านี้พุ่งขึ้นไปสู่การได้รับส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจที่สูงที่สุดในรอบหกทศวรรษ ในขณะเดียวกันกับที่อัตตราการว่างงานอยู่ที่ 9.1 เปอร์เซ็นต์และค่าจ้างก็ยังคงหยุดนิ่งอยู่เท่าเดิม

ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในสหรัฐอเมริกาคำนวณโดยบางมาตรฐานแล้วนั้นอยู่ในจุดสูงสุดนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1920 เป็นต้นมาในช่วงก่อนปี 2008 ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ยังเป็นที่มองเห็นได้อย่างไม่ชัดเจนนักเนื่องด้วยปัจจัยอย่าง การปล่อยกู้สินเชื่อที่ง่ายดาย (easy credit) ที่ทำให้ครัวเรือนที่ยากจนสามารถมีชีวิตที่ค่อนข้างสุขสบายได้ แต่ในปัจจุบันปัญหาเหล่านี้ได้กลับมาเปิดเผยตัวของมันเองอย่างชัดเจน

                The Wall Street Journal ได้ทำการสัมภาษณ์นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง Dr. Nouriel Roubini หรือในอีกชื่อหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันในบรรดานักเศรษฐศาสตร์คือ “Dr. Doom” สาเหตุที่ได้ชื่อนี้มานั้นก็เพราะว่าการคาดการณ์ที่แม่นยำของเขาต่อวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2008 มีการแผยแพร่คลิปวิดิโอของการการสัมภาษณ์ที่น่าสนใจและไม่ธรรมดานี้ ซึ่งสมควรเป็นอย่างยิ่งในการศึกษาอย่างละเอียดเพราะมันได้แสดงให้เห็นถึงวิธีคิดของนักยุทธศาสตร์ที่สายตายาวไกลที่สุดแล้วของทุน (most far-sighted strategists of Capital)

                Roubini ให้ความเห็นว่า สายโซ่ของสินเชื่อนั้นล้มเหลว ทุนนิยมได้ก้าวเข้าไปสู่วงจรอุบาทว์ที่การผลิตที่ล้นเกิน ความตกต่ำในความต้องการของผู้บริโภค และหนี้ในระดับมหาศาลทำให้ความมั่นใจของนักลงทุนหดหายไป ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมในการดิ่งลงของการแลกเปลี่ยนซื้อขายในตลาดหุ้น การตกต่ำของราคาอสังหาริมทรัพย์ และการล่มสลายของเศรษฐกิจในที่สุด

                เช่นเดียวกันกับนักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลาย ตัว Roubini เองก็ไม่ได้มีข้อเสนอในการแก้ปัญหาในวิกฤติปัจจุบันที่เกิดขึ้น นอกเหนือไปจากการฉีดเม็ดเงินเข้าไปของธนาคารกลางเพื่อหลีกเลี่ยงความถดถอยอีกครั้งหนึ่งของเศรษฐกิจ แต่ทั้งนี้เขาก็กล่าวยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่านโยบายทางการเงินเพียงอย่างเดียวนั้นคงไม่เพียงพอ Roubini กล่าวว่าในขณะที่ยุโรปและสหรัฐอเมริกาต่างบังคับใช้นโยบายรัดเข็มขัดทางการเงินเพื่อพยายามที่จะแก้ไขปัญหาสภาวะเต็มไปด้วยหนี้สินของประเทศ พวกเขาควรที่จะบังคับใช้นโยบายทางการเงินเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่า ข้อสรุปของเขาไม่สามารถให้ภาพในแง่ร้ายมากไปกว่านี้ได้อีกแล้ว “ คาร์ล มาร์กซ์ได้เข้าใจอย่างถูกต้องว่าในบางครั้งคราว ทุนนิยมก็สามารถทำลายตัวมันเองได้ “ และเขายังกล่าวไปต่อไปว่า “พวกเราคิดว่าตลาดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในความเป็นจริงคือมันไม่”

                ผีของมาร์กซ์ยังคงตามหลอกหลอนเหล่ากระฏุมพีถึงแม้ว่าจะเป็นเวลาถึงหนึ่งร้อยกับอีกสามสิบปีแล้วก็ตามที่ร่างและซากศพของมาร์กซ์ได้ถูกฝังไป แต่อย่างไรก็ตามอะไรคือ ลัทธิมาร์กซ์ (Marxism) เพื่อที่จะทำความเข้าใจทุกแง่มุมของลัทธิมาร์กซ์อย่างยอดเยี่ยมในบทความเดียวนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นพวกเราจึงจำกัดเนื้อหาของพวกเราอยู่แต่เพียงเนื้อหาทั่วๆไปและคร่าวๆเท่านั้น ด้วยความหวังที่ว่ามันจะกระตุ้นให้ผู้อ่านได้ไปค้นคว้าติดตามอ่านงานต้นฉบับของตัวมาร์กซ์เอง ถึงที่สุดแล้วไม่มีใครที่จะสามารถอธิบายแนวความคิดของตัวมาร์กซ์เองได้ดีเท่ากับเจ้าตัวเป็นผู้อธิบาย  

                กล่าวอย่างคร่าวๆ ความคิดของมาร์กซ์สามารถแบ่งออกได้เป็นสามส่วนที่แยกต่างหากออกจากกันแต่ในขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงต่อกัน หรือที่ Lenin เรียกว่าสามที่มาและสามองค์ประกอบของลัทธิมาร์กซ์ สามส่วนนี้โดยทั่วไปถูกอธิบายภายใต้ชื่อว่า ทฤษฏีเศรษฐศาสตร์แบบมาร์กซิสต์ วัตถุนิยมวิภาษวิธี และวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ ทั้งสามส่วนสามองค์ประกอบนี้ยืนอยู่บนความสัมพันธ์แบบวิภาษวิธีซึ่งกันและกัน และเราไม่สามารถที่จะทำความเข้าใจส่วนประกอบใดส่วนประกอบหนึ่งได้โดยแยกขาดจากส่วนประกอบที่เหลือ จุดตั้งต้นที่ดีในการที่จะเริ่มทำความเข้าใจก็คืองานเขียนที่เป็นรากฐานของขบวนการของเรา ซึ่งตัวมันเองถูกเขียนขึ้นในช่วงก่อนหน้าการปฏิวัติยุโรปในปี 1848 เพียงนิดเดียว และมันยังถือว่าเป็นงานเขียนที่ยิ่งใหญ่และมีอิทธิพลมากที่สุดชิ้นหนึ่งในประวัติศาสตร์อีกด้วย

หมายเหตุ อ่านตอนที่ 1 ได้ ที่นี่

จาก“มดลูกก็ปัจจัยการผลิต” ถึงภาคบริการ: ทำไมผู้หญิงต้องปลดแอกตัวเองจากระบบทุนนิยม

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ เขียนถึง “มดลูกก็ปัจจัยการผลิต” ของ แล ดิลกวิทยรัตน์ ที่พยายามเสนอไว้กว่า 40 ปีก่อน และการเรียกร้อง “ค่าแรงสังคม” ที่ไปไกลกว่าการต่อสู้ในชีวิตประจำวันหรือการเรียกร้องให้ผู้หญิงเข้าไปนั่งในสภามากขึ้น น่าจะเป็นสิ่งที่แรงงานหญิงในประเทศนี้ฝันถึง

10 ข้อเสนอเกี่ยวกับ multitude และระบบทุนนิยมแบบหลังฟอร์ด / เปาโล เวอร์โน

ระบบหลังฟอร์ด (และ multitude) ปรากฎตัวขึ้นในอิตาลี พร้อมกับความขัดแย้งทางสังคมที่รุนแรงซึ่งถูกเรียกว่า “ขบวนการปี 1977” คือการบรรลุตัวเองประจักษ์ชัดแจ้งของข้อเขียนของ Marx เกี่ยวกับ “บางเรื่องเกี่ยวกับเครื่องจักร” multitude โดยตัวมันเองคือวิกฤตของสังคมแรงงาน สำหรับ multitude ในระบบหลังฟอร์ด ทุกๆความแตกต่างในเชิงคุณภาพระหว่างเวลาทำงาน (labour time) กับเวลาที่ไม่ได้ทำงาน (non-labour time) ล้วนแล้วแต่ถูกสลายลงไป ฯลฯ