Skip to main content

กรณีนี้ไม่ใช่กรณีเดียวที่เกิดขึ้น สำหรับเรื่องที่เรียกกันว่า ‘หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ’ หากแต่เป็นกรณีแรกๆ ที่ตัดสินใจต่อสู้คดี โดยไม่รับสารภาพ และเดินหน้าสู่การอภัยโทษดังที่เคยเป็น ต่อไปนี้เป็นลำดับเวลาตลอดระยะปีกว่า เนื้อหาการต่อสู้คดีบางส่วน รวมถึงวิธีคิดของเธอจากการสนทนาสั้นๆ แบบเก็บเล็กผสมน้อย

\\/--break--\>

18-19 กรกฎาคม 2551
ขึ้นปราศรัยที่เวทีท้องสนามหลวง จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การปราศรัยครั้งนี้ในเว็บบอร์ดหลายแห่ง

20 กรกฎาคม 2551
สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เจ้าของสื่อเครือผู้จัดการ-เอเอสทีวี ขึ้นปราศรัยที่เวทีสะพานมัฆวานฯ ถึงการปราศรัยของดารณีว่าดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ "อย่างเลวร้ายที่สุด"

กองทัพบกได้มีหนังสือ "ด่วนที่สุด" ถึง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ขอให้กองบัญชาการตำรวจนครบาลตรวจสอบการปราศรัยของน.ส.ดารณี หากพบว่ามีการกระทำความผิดจริง ขอให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

22 กรกฎาคม 2551
พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ได้อนุมัติหมายจับดารณี จากศาลอาญากรุงเทพใต้ เลขที่ 2209/2551 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2551 ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเข้าจับกุมตัวดารณี ภายในหอพัก โดยดารณี ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากตำรวจ เนื่องจากไม่มีการออกหมายเรียกเหมือนผู้ต้องหาคนอื่น

23 กรกฎาคม 2552
ผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และอาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยื่นคำร้องขอประกันตัวดารณี ใช้หลักทรัพย์เป็นตำแหน่งข้าราชการ ระดับ 8 อัตราเงินเดือน 25,000 บาท ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ถ้อยคำหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นมีข้อความที่ร้ายแรง ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

ศาลอาญาได้ออกหมายจับสนธิ ลิ้มทองกุล กรณีขยายความหมิ่นเบื้องสูงของดารณีบนเวทีพันธมิตรฯ ต่อมาในวันรุ่งขึ้น สนธิได้มารับทราบข้อกล่าวหากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และได้รับอนุญาตให้ประกันตัว โดยใช้ตำแหน่ง ส.ว. ของคำนูณ สิทธิสมาน

25 กรกฎาคม 2551
ผศ.ดร.สุธาชัย ยื่นอุทธรณ์คำร้องขอประกันตัวดารณีอีกครั้ง เจ้าหน้าที่ศาลอาญาได้รับคำอุทธรณ์ไว้

1 สิงหาคม 2551
ศาลอุทธรณ์ มีคำสั่งยกคำร้องการขอปล่อยตัวชั่วคราวดารณี เนื่องจากเห็นว่าความผิดมีอัตราโทษสูง เป็นความผิดร้ายแรง และกระทบกระเทือนจิตใจของประชาชน หากปล่อยตัวไปเกรงว่า ผู้ต้องหาจะไปกระทำผิดซ้ำ

5 สิงหาคม 2551
เว็บไซต์สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันออกจดหมายเปิดผนึก "ความอยุติธรรมต่อคนคนหนึ่ง คือ ความอยุติธรรมต่อคนทั้งสังคม" พร้อมด้วยรายชื่อประชาชน 139 คน เรียกร้อง ขอให้มีการประกันตัวแก่ดารณี เช่นเดียวกับผู้ต้องหารายอื่นๆ

25 กันยายน 2551
ศาลรับคดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ฟ้องดารณี หลายข้อหา กรณีนำมวลชนล้อมบ้านพระอาทิตย์ ในคดีหมายเลขดำที่ อ.3634/2551

9 ตุลาคม 2551
ราว 1 สัปดาห์ ก่อนจะครบอำนาจฝากขังของพนักงานสอบสวน (84 วัน) ศาลได้รับคำฟ้องจากพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 ซึ่งยื่นเป็นโจทก์ฟ้องดารณี ในมาตรา 112 ในคดีหมายเลขดำที่ อ.3959/2551 โดยในสำนวนอัยการระบุการกระทำผิด 3 กรรม

10 ตุลาคม 2551
ศาลนัดสอบคำให้การคดีนี้ จำเลยให้การปฏิเสธและขอต่อสู้คดี ศาลจึงนัดแถลงเปิดคดีในวันที่ 1 ธันวาคม 2551

16 ตุลาคม 2551

ผศ.ดร.สุธาชัย ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวดารณี โดยใช้หลักทรัพย์เป็น เงินสดจำนวน 200,000 บาท ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งยกคำร้อง ออกมาในวันเดียวกัน

17 พฤศจิกายน 2551
ศาลอาญานัดไต่สวนเพื่อตรวจพยานหลักฐาน สอบคำให้การจำเลย ในคดีล้อมบ้านพระอาทิตย์ เบื้องต้นจำเลยให้การปฏิเสธ ศาลจึงนัดพิจารณาวันที่ 15 ธันวาคม 2551

1 ธันวาคม 2551
ศาลอาญา นัดตรวจสอบหลักฐาน สอบคำให้การจำเลยคดีหมิ่นฯ โดยศาลได้สั่งให้เลื่อนการนัดไปเป็นวันที่ 15 ธันวาคม 2551

ประเวศ ประภานุกูล ทนายความของดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว และศาลชั้นต้นยกคำร้อง โดยให้เหตุผลว่าไม่มีเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

4 ธันวาคม 2551
ทนายของดารณี ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยโต้แย้งว่า การสั่งไม่ปล่อยชั่วคราวตาม ม.108/1 นั้น ต้องเข้าข่ายผู้ต้องหา/จำเลยจะหลบหนี, จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน, จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น, ผู้ร้องขอประกันไม่น่าเชื่อถือ, จะไปก่อความเสียหายต่อการสอบสวนหรือดำเนินคดี ซึ่งคดีนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยจะไปยุ่งกับพยานหลักฐานเพราะพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ส่วนการหลบหนีนั้นเป็นเพียงข้อสันนิษฐานโดยไม่ปรากฏเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ส่วนที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคดีนี้เป็นเรื่องร้ายแรงนั้นเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกสำนวน และขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 39 วรรค 2 และ 3 เพราะคดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ยังไม่แน่ว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงต้องถือว่าจำเลยบริสุทธิ์ การไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวยังเป็นอุปสรรคต่อการต่อสู้คดีของจำเลย การรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงต่างๆ ทำได้ยากลำบาก อาจทำให้เสียความยุติธรรมได้ ฯลฯ

ต่อมาราวกลางเดือนธันวาคม ศาลอุทธรณ์ได้ยืนยันเหตุผลเดิมของศาลชั้นต้น ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว 

15 ธันวาคม 2551
ศาลนัดสืบพยานในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของดารณี โดยนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 23-25 มิถุนายน 2552 และนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 26-30 มิถุนายน 2552



ส่วนคดีเกี่ยวกับการนำมวลชนจำนวนหนึ่งไปปิดล้อมบริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอมฯ นั้น ศาลได้นัดหมายเพื่อสืบพยานโจทก์ในวันที่ 2-3 กรกฎาคม 2552 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 9-10 กรกฎาคม 2552 



26 มกราคม 2552
ศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน คดีหมายเลขดำที่ อ.4767/2551 คือคดีหมิ่นประมาท พล.อ.สะพรั่ง กัลยาณมิตร ศาลสั่งเลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐาน สอบคำให้การจำเลย ไปเป็นวันที่ 16 มีนาคม 2552 เนื่องจากทนายจำเลยร้องขอ

23 มิถุนายน 2552
สืบพยานโจทก์นัดแรกของคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยผู้พิพากษาพรหมาศ ภู่แส ได้มีคำสั่งให้พิจารณาคดีดังกล่าวเป็นการลับ อาศัยอำนาจตามมาตรา 177 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

24 มิถุนายน 2552

  1. สืบพยานโจทก์วันที่สอง โดยทนายจำเลยและจำเลยไม่ลงรายมือชื่อรับรองการพิจารณาคดีในวันนี้
     
  2. ดารณี เผยแพร่คำแถลงถึง 'สื่อมวลชนและพี่น้องผู้รักความเป็นธรรม' โดยในคำแถลงดังกล่าว ดารณีได้ระบุว่า ไม่ยอมรับการพิจารคดีเป็นการลับ เพราะเป็นการปิดบังข้อเท็จจริงมิให้ประชาชนได้รับรู้ และเป็นการทำลายหลักการยุติธรรมของกฎหมาย

    "แม้ว่าในวันนี้ข้าพเจ้าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ก็เชื่อมั่นว่า เจตนารมณ์ของคณะราษฎร์ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 จะต้องได้รับชัยชนะในที่สุด" ระบุท้ายคำแถลง
     
  3. ทนายจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลคัดค้านการพิจารณาคดีลับ โดยขอให้รอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวตามมาตรา 211 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยระบุว่าการพิจารณาคดีเป็นการลับ เป็นการใช้บทบัญญัติกฎหมาย ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตราที่ 40 (2) และมาตรา 29
     
  4. ศาลได้พิจารณายกคำร้องดังกล่าวของทนายจำเลย โดยระบุว่า การพิจารณาลับไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 211 เนื่องจากจำเลยมีทนายแก้ต่าง และสามารถนำพยานหลักฐานมายังศาลได้อย่างครบถ้วน การพิจารณาคดีจึงดำเนินต่อไป 
     
  5. ทนายจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลคัดค้านการรับฟังพยานหลักฐานซีดีการปราศรัยของจำเลยและบันทึกการถอดความ เนื่องจากจำเลยถูกคุมขังและเมื่อส่งหลักฐานดังกล่าวไปยังทัณฑสถานหญิงกลาง จำเลยไม่สามารถเปิดซีดีเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานได้ เพราะผิดกฎเรือนจำ จำเลยจึงไม่ทราบว่าซีดีบันทึกเสียงอะไร และเป็นเสียงของใคร ทำให้เสียเปรียบในการต่อสู้คดี และไม่สามารถหาวัตถุพยานหลักฐานมาหักล้างวัตถุพยานและพยานเอกสารดังกล่าวได้

25 มิถุนายน 2552

ภายหลังจากไต่สวนพยานโจทก์วันที่สามเสร็จสิ้นแล้ว ทนายจำเลยแถลงต่อศาลขอยกเลิกการไต่สวนพยานจำเลยตามกำหนดเดิมคือวันที่ 26 และ 30 มิ.ย. โดยขอนัดไต่สวนในวันที่ 28 ก.ค. และ 5 ส.ค. 52 ซึ่งศาลอนุญาต

อย่างไรก็ตาม ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องคัดค้านการจดรายงานกระบวนการพิจารณาคดีเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ว่าการเปิดแผ่นซีดีในห้องพิจารณาไม่ใช่เป็นการแถลงขอของโจทก์ (อัยการ) ตามที่ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณา หากแต่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนได้สั่งด้วยวาจาให้โจทก์นำเครื่องเล่นมาเปิดเล่นแผ่นซีดีตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน

26 มิถุนายน 2552

  1. ทนายจำเลยยื่นคำโต้แย้งคัดค้านการจดรายงานกระบวนพิจารณาอีกครั้ง

    1.1 โต้แย้งการจดรายงานฯ วันที่ 23 มิถุนายน ระบุว่า โจทก์ (อัยการ) ไม่ได้ขอให้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับ แต่เป็นดำริของศาล โดยผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเรียกพนักงานอัยการโจทก์เข้าไปพูดคุยก่อน จากนั้นจึงได้เรียกทนายจำเลยเข้าไปแจ้งว่าจะพิจารณาคดีนี้เป็นการลับ ต่อมาโจทก์จึงเขียนคำร้องขอให้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับ ดังจะเห็นได้จากศาลออกนั่งพิจารณาคดีเวลา 10.15 น. แต่คำร้องของโจทก์ เจ้าหน้าที่ศาลประทับตราคำร้องเวลา 11.45 น. นอกจากนี้ในขณะที่ศาลแจ้งทนายจำเลยว่า จะพิจารณาคดีนี้เป็นการลับดังกล่าว ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนได้แจ้งทนายจำเลยด้วยว่า จะให้โอกาสต่อสู้คดีอย่างเต็มที่

    1.2 โต้แย้งการจดรายงานฯ วันที่ 24 มิถุนายนเพิ่มเติม ระบุว่า ทนายจำเลยแถลงคัดค้านการเปิดซีดีโดยบังคับให้จำเลยอยู่ฟังด้วย โดยจำเลยไม่ได้สมัครใจ หากศาลประสงค์จะเปิดซีดีฟังศาลสามารถเปิดในห้องทำงานผู้พิพากษาได้ แต่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนแจ้งว่า การเปิดซีดีในห้องพิจารณษเป็นกระบวนการพิจารณาคดีซึ่งต้องกระทำต่อหน้าจำเลย ทั้งยังพูดกับทนายจำเลยว่า ทนายจำเลยจะไม่อยู่ฟังก็ได้ และระหว่างศาลเปิดซีดีฟังในห้องพิจารณาคดี จำเลยอยู่ในห้องพิจารณานั้น เป็นการอยู่โดยคำสั่งศาลหาใช้ความสมัครใจของจำเลยไม่ การเปิดซีดีฟังในห้องพิจารณาดังกล่าว เป็นการช่วยโจทก์ลบล้างข้อบกพร่องในการอ้างแผ่นซีดีและข้อความ ซึ่งจำเลยได้แถลงค้านการรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวเนื่องจากจำเลยไม่มีโอกาสตรวจพิสูจน์ความถูกต้อง

    1.3 โต้แย้งการจดรายงานฯ วันที่ 25 มิถุนายน 2552 ว่าการขอโอกาสสู้คดีอย่างเต็มที่ หาใช่เป็นการแถลงของจำเลยดังปรากฏในรายงานฯ จำเลยเพียงแต่แถลงขอเลื่อนคดี ส่วนการให้โอกาสจำเลยสู้คดีอย่างเต็มที่เป็นคำพูดของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน

    1.4 จำเลยกราบเรียนว่า เหตุที่ต้องโต้แย้งคัดค้านรายงานฯ วันที่ 25 มิถุนายน เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงใหม่จากการสืบพยานโจทก์ปากสุดท้ายว่า ก่อนเจ้าพนักงานตำรวจจะแจ้งความดำเนินคดีกับจำเลย ได้มีนายสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งเป็นแกนนำพันธมิตรฯ นำคำปราศรัยของจำเลยไปพูดขยายความ ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ไม่ปรากฏสำนวนหรือในพยายนเอกสารที่โจทก์อ้างส่งต่อศาลก่อนหน้านี้ เป็นข้อเท็จจริงนอกพยานเอกสารของโจทก์ และอาจเกี่ยวพันกับประเด็นแห่งคดีนี้ โดยที่จำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจากศาล จึงเป็นอุปสรรคกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแสวงหาพยานหลักฐานของทนายจำเลย ไม่ทราบถึงข้อเท็จจริงที่เพิ่งปรากฏดังกล่าว และไม่สามารถถามค้านพยานโจทก์ให้อธิบายไว้ก่อนได้ และในท้ายที่สุดจำเลยอาต้องอุทธรณ์ฎีกาในประเด็นโอกาสในการต่อสู้คดีของจำเลย การดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีของศาล จึงต้องโต้แย้งคัดค้านรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 23 ถึง 25 มิถุนายน 2552 ดังกล่าว
     
  2. องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ได้ส่งแถลงการณ์ถึงผู้สื่อข่าว ระบุว่า รัฐบาลไทยต้องอนุญาตให้มีการพิจารณาที่เปิดเผยต่อสาธารณะแก่ดารณี พร้อมทั้งระบุว่า แม้สนธิสัญญาสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองระหว่างประเทศ (ICCPR) และรัฐธรรมนูญ จะอนุญาตให้กีดกันสาธารณะออกจากการพิจารณาคดีได้ แต่ก็ต้องเป็นไปอย่างจำกัดอย่างยิ่ง และจะต้องเป็นเพียงมาตรการสำคัญเพียงอย่างเดียวที่เหลืออยู่ หลังจากไม่มีมาตรการอื่นใดที่ใช้ได้แล้ว

    "ภายใต้หลักกฎหมายสากล การพิจารณาคดีที่เปิดเผยต่อสาธารณะเป็นหลักสำคัญในการปกป้องสิทธิของปัจเจกบุคคลจากการพิจารณาคดีและกระบวนการเกี่ยวกับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม...เมื่อศาลปิดประตูห้องพิจารณา นั่นคือสัญญาณเสี่ยงต่อความอยุติธรรม" แถลงการณ์ระบุ

2 กรกฎาคม 2552
ศาลนัดสืบพยานโจทก์ 5 ปาก ในคดีปิดล้อมเอเอสทีวี

9 กรกฎาคม 2552
ดารณีเป็นพยานให้ตนเองในคดีปิดล้อมเอเอสทีวี

28 กรกฎาคม 2552
ศาลอาญา ยกฟ้องดารณีบุกเอเอสทีวี แต่คงคำพิพากษาหมิ่นประมาท ‘สนธิ ลิ้มทองกุล’ สั่งปรับ 5 หมื่น แต่จำคุกเกินกว่าค่าปรับแล้วจึงให้ปล่อยตัว แต่ยังคงถูกคุมขังจากคดีหมิ่นพระเดชานุภาพ

30 กรกฏาคม 2552
กลุ่มสมัชชาสังคมก้าวหน้าและคนทั่วไปราว 20 คนได้เดินทางไปที่ทัณฑสถานหญิงกลาง และส่งตัวแทน 5 คนเข้าเยี่ยมนางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (มาตรา 112) จากการปราศรัยที่สนามหลวงเมื่อปี 2550 เป็นเวลา 10 นาทีตามกฎระเบียบของเรือนจำโดยมีผู้คุมคอยดูแลอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังมีการถือป้ายรณรงค์คัดค้านการใช้กฎหมายนี้ และบริจาคหนังสือหลายสิบเล่มหลังจากที่ก่อนหน้านี้ทนายความของดารณีได้แจ้งข่าวว่าลูกความของเขาได้ร้องขอให้ประชาชนช่วยบริจาคหนังสือให้แดนแรกรับทัณฑสถานหญิงกลาง เนื่องจากมีหนังสือจำนวนน้อยและเก่ามาก หลังจากนั้นได้มีการเรี่ยไรเงินบริจาคเพื่อนำเข้าบัญชีในเรือนจำของดารณีจำนวน 3,200 บาท และพร้อมกันนี้ยังได้นำเข้าบัญชีในเรือนจำของนางบุญยืน ประเสริฐยิ่ง

27 สิงหาคม 2552
ทนายจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเรื่องการถูกละเมิดสิทธิตมรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 211 กรณีศาลอาญาสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญประทับรับเรื่อง

28 สิงหาคม 2552
นายพรหมาศ ภู่แส และองค์คณะขึ้นนั่งอ่านคำตัดสินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากการปราศรัยของดารณีที่สนามหลวง 3 ครั้ง คือวันที 7 และ 13 มิถุนายน 2551 และ วันที่ 18-19 กรกฎาคม 2551

ตัดสินว่า จากพยานหลักฐาน จำเลยกระทำผิดจริงตามข้อกล่าวหา โดยจำเลยได้กระทำผิด 3 กรรม จากการปราศรัยที่สนามหลวง 3 ครั้ง ตัดสินจำคุกกรรมละ 6 ปี รวม 18 ปี

“แม้จำเลยจะให้การว่าสิ่งที่กระทำไปเพื่อต้องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์จากการถูก คมช. และกลุ่มพันธมิตรฯ ดึงมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่ศาลเห็นว่าเป็นเพียงการแก้ตัวเท่านั้น” ตอนหนึ่งของคำพิพากษา

รายงานข่าวจากเอเอสทีวีระบุถึงคำพิพากษาบางส่วนว่า

"...ตามฟ้องโจทก์ สรุประหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย.2551 เวลากลางคืน จำเลยขึ้นปราศรัยบนเวทีเสียงประชาชน ณ ท้องสนามหลวง ด้วยการกระจายเสียงทางเครื่องขยายเสียง ท่ามกลางประชาชนที่มาฟังจำนวนหลายคน ซึ่งเป็นบุคคลที่สาม โดยกล่าวคำพูดจาบจ้วง ล่วงเกิน เปรียบเทียบและเปรียบเปรย หมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายถึงองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ องค์ปัจจุบัน ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าทั้งสองพระองค์ทรงเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการชุมนุม ประท้วงของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อจะล้มล้างรัฐบาล และการรัฐประหาร

ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสื่อมเสียพระเกียรติยศชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง โดยเจตนาจะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เหตุเกิดที่แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112



โดยศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์แล้ว มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม 3 นาย เบิกความว่า เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2551 เวลา 21.00 น.และ 24.00 น.จำเลยขึ้นเวทีปราศรัยที่ สนามหลวง โดยพยานทั้งสามเป็นสายสืบฟังการปราศรัย และพบว่า จำเลยกล่าวข้อความดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ก็ได้บันทึกเสียงลงในเครื่องบันทึก เอ็มพี3 และได้บันทึกลงในแผ่นซีดี แล้วนำมาถอดเทป และจำเลยยังขึ้นปราศรัยกล่าวดูหมิ่นอีกในวันที่ 7 และ 13 มิ.ย.2551 ซึ่งได้บันทึกเสียงไว้ แล้วก็ได้แจ้งข้อหาดำเนินคดีจำเลย โดยพยานโจทก์ เบิกความด้วยว่า แผ่นซีดีบันทึกเสียงที่เป็นหลักฐาน พบว่า เป็นเสียงคนๆ เดียวกัน จึงฟังได้ว่าตามวันเวลาดังกล่าวจำเลย ได้ขึ้นเวทีปราศรัย ขณะที่ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวบนเวที ก็พบว่า แม้จะไม่ระบุตัวบุคคลที่ถูกกล่าวถึงอย่างชัดแจ้ง แต่ถ้อยคำที่กล่าวถึง เช่น สัญลักษณ์สีเหลือง สีฟ้า ในการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นสีประจำวันประสูติของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทำให้เห็นว่าจำเลยกระทำการจาบจ้วงล่วงเกิน โดยทำให้ประชาชนเข้าใจว่าทั้งสองพระองค์สนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่ม พันธมิตรฯ ทำให้ทั้งสองพระองค์ต้องเสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียง

รวมทั้งการกล่าวถึงการรัฐประหาร โดยกล่าวถ้อยคำถึงมือที่มองไม่เห็นหลังสี่เสาเทเวศร์ ซึ่งประชาชนรับรู้อยู่แล้วว่าสี่เสาเทเวศร์ คือ สถานที่ที่เป็นบ้านพักของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี โดยการแต่งตั้งองคมนตรี นั้น ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นอำนาจพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้ง ถ้อยคำของจำเลยจึงทำให้ประชาชนเข้าใจว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สนับสนุน พล.อ.เปรม ในการยึดอำนาจจากประชาชน ซึ่งล้วนเป็นเท็จ

โดยแม้ว่าชั้นพิจารณาจำเลย จะเบิกความว่า จดจำถ้อยคำที่กล่าวปราศรัยไม่ได้ว่ามีประเด็นใดบ้าง และจดจำวัน-เวลาไม่ได้ แต่จำเลยก็ไม่ได้นำสืบโต้แย้งว่าไม่ได้กล่าวถ้อยคำที่โจทก์ยื่นฟ้อง ซึ่งแม้ว่าคำพูดของจำเลยไม่บังเกิดผลเพราะไม่มีใครเชื่อ แต่จำเลยก็ไม่อาจพ้นผิด พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังได้ว่าจำเลยกล่าวคำพูดจาบจ้วง ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ บรมราชินีนาถ



พิพากษาว่า จำเลยกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งกระทำผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษทุกรรม ให้จำคุก 3 กระทงๆ 6 ปี รวมจำคุก 18 ปี…"

28 สิงหาคม 2552
ทนายจำเลยยื่นอุทธรณ์คดีหมิ่นประมาทสนธิ ลิ้มทองกุล ระบุว่า

  1. โจทก์ไม่มีพยานบุคคลยืนยันว่าจำเลยพูดใส่ความนายสนธิอย่างไรบ้าง มีเพียงพยานยืนยันว่าจำเลยด่าทอผู้เสียหายด้วยถ้อยคำหยาบคายอันเป็นการเบิกความลอยๆ และนายสนธิ ผู้เสียหายเองก็ไม่มาเบิกความต่อศาลแม้จำเลยจะขอให้ศาลส่งหมายเรียกแล้วก็ตาม และไม่ปรากฏว่าผู้เสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากคำพูดจำเลยอย่างไร
     
  2. การปราศรัยของจำเลยเป็นการแสดงความคิดเห็นทางกรเมือง โต้ตอบกันระหว่างนายสนธิและจำเลยซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างมีความเชื่อที่แตกต่างกันอย่างสุดโต่ง จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะโจมตีกันด้วยถ้อยคำรุนแรง และผู้ฟังก็ย่อมเชื่อถือแต่ฝ่ายที่ตนเชื่ออยู่แล้ว พวกเป็นกลางย่อมไม่เชื่อถือทั้งสองฝ่าย การใช้คำพูดรุนแรง หยาบคายด่าทอนายสนธิ ย่อมไม่ทำให้สนธิ ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง เพราะพวกที่สำนับสนุนก็จะไม่เชื่อคำพูดจำเลยอยู่แล้ว ส่วนพวกที่สนับสนุนกลุ่ม นปช.หรือเสื้อดงก็ไม่ชอบนายสนธิอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว คำพูดด่าท่อดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท หากเป็นความผิดก็เป็นเพียงความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า อันเป็นความผิดลหุโทษ
     
  3. ความผิดฐานหมิ่นประมาทเป็นความผิดต่อส่วนตัว ผู้เสียหายต้องแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเอง แต่นายสนธิ ได้มอบอำนาจให้นายพิสิษฐ์ เอี่ยมสอาด เป็นผู้แจ้งความแทน และนายสนธิ ก็ไม่ได้ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้แจ้งความร้องทุกข์ต่อหน้านายพิสิษฐ์ พนักงานสอบสวนก็ไม่ได้สอบสวนถึงกระบวนการมอบอำนาจนี้ อีกทั้งเมื่อศาลออกหมายเรียกสนธิมาเป็นพยาน เขาก็ปฏิเสธไม่มาเบิกความ คดีนี้จึงไม่มีพยานหลักฐานยืนยันความถูกต้องสมบูรณ์ของการมอบอำนาจ
     
  4. พฤติกรรมแห่งคดีนี้เป็นการพูดปราศรัยโจมตีความคิดเห็นทางการเมืองระหว่างจำเลยกับนายสนธิ โดยต่างฝ่ายต่างไม่ได้เหตุโกรธแค้นกันเป็นการส่วนตัว ดังนั้น หากมีการใช้ถ้อยคำรุนแรงหยาบคาย ก็เกิดจากอารมณ์ในการปราศรัยพาไป หาได้มีเจตนาหมิ่นประมาทอันเป็นความชั่วที่สมควรถูกลงโทษไม่ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับ 50,000 บาทจึงเป็นการลงโทษที่รุนแรงเกินไป และน่าจะเป็นความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าแทน ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท จึงขอศาลอุทธรณ์ได้โปรดพิจารณาพิพากษาลดโทษปรับของจำเลยด้วย
     

- 1 -
โตขึ้นอยากเป็นนักการเมือง

พ่อและแม่ของเธอมาจากเมืองจีน พวกเขามาแต่งงานตั้งรกรากที่เมืองไทย อาศัยอยู่แถวสะพานขาว เธอมีพี่น้อง 4 คน และเป็นลูกคนสุดท้อง พ่อทำงานอยู่โรงไม้ขีดไฟ ครอบครัวมีฐานะค่อนข้างยากจน พี่ชายคนที่สามที่ปัจจุบันเป็นผู้คอยมาเยี่ยมเยียนและส่งเสบียงเข้าไปในเรือนจำนี้เองที่เป็นผู้ส่งเสียให้เธอเรียนจนจบคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ผ่านมาเธอประกอบอาชีพเป็นนักข่าวสายการเมืองอยู่หลายปี พี่ชายเธอเล่าว่า เธอรู้จักนักการเมืองเยอะ เพราะทำงานเป็นนักข่าวนับสิบปี โดยในช่วงหลังๆ เธอเป็นฟรีแลนซ์ไม่สังกัดองค์กรใด เธอยังเคยเป็นผู้ช่วยอดีตส.ว.ท่านหนึ่ง ที่ปัจจุบันเป็น นายก อบจ. จังหวัดหนึ่งด้วย

“เขาอยากเป็นส.ส. อยากเป็นนักการเมือง” พี่ชายเธอว่า

- 2 -
Pridi...My hero

หลังจากจบจากรามคำแหง ดารณีสมัครเรียนต่อปริญญาโทที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ลาออกกลางคัน ซึ่งเธอบอกเองว่าเป็นเพราะไม่พอใจระบบบางอย่าง ก่อนจะไปเรียนต่อที่คณะ.... มหาวิทยาลัยเกริกจนจบปริญญาโท

ขณะที่ต้องขังอยู่ในเรือนจำเธอก็พยายามจะลงทะเบียนเรียนทางไกลกับมหาวิทยาสุโขทัยธรรมาธิราชซึ่งเพิ่งมีโครงการพิเศษเปิดในเรือนจำ เธอพยายามให้พี่ชายไปขอใบปริญญาหรือใบรับรองบางอย่างจากมหาวิทยาลัยเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการสมัคร แต่ไม่ทันการ เพราะติดขัดเรื่องไม่มีรูปถ่าย

“น้องผมเค้าเป็นหนอนหนังสือ เค้าหัวไวด้วย หนังสือเล่มนึงหนาๆ เค้าอ่านแป๊บเดียวจบ แล้วจับได้ โช๊ะๆๆๆ” พี่ชายดาเล่า

ด้วยความที่เธอสนใจด้านรัฐศาสตร์ เธอจึงดูผูกพันกับธรรมศาสตร์ โดยเฉพาะกับปรีดี พนมยงค์ เป็นพิเศษ และยังใช้เขาเป็นกำลังใจสำหรับการใช้ชีวิตในเรือนจำด้วย เธอพูดถึงเขาบ่อยครั้ง ไม่เว้นแม้แต่วันฟังคำพิพากษา

“พี่ก็นึกถึงท่านปรีดี อองซาน ซูจี มหาตมะ คานที จะได้ไม่รู้สึกว่ามีแต่เราคนเดียว” เธอกล่าวตอนอยู่ในห้องขังของศาลอาญา ก่อนขึ้นห้องพิจารณาคดีเพื่อฟังคำตัดสินในวันที่ 28 สิงหาคม

หรือตอนที่สุพจน์ ด่านตระกูล เสียชีวิต ข่าวนี้ไม่ได้สร้างความเศร้าโศกเฉพาะในหมู่ปัญญาชนเท่านั้น แต่เมื่อมีนกพิราบคาบข่าวร้ายนี้ไปบอกเธอในเรือนจำ เธอเงียบไปอึดใจ ก่อนจะถอนหายใจ และบอกว่าเธอคาดหวังว่าจะให้ทนายของเธอเชิญคุณสุพจน์ มาเป็นพยานในศาล เพราะข้อมูลหลายๆ อย่างที่เธอปราศรัยบนเวทีก็มาจากหนังสือที่เขาเขียน

และด้วยความผูกพันกับธรรมศาสตร์แบบนี้กระมังที่ทำให้ก่อนหน้านี้ ช่วงหลังรัฐประหารใหม่ๆ เธอนำมวลชนกลุ่มเล็กๆ จากสนามหลวงมาปราศรัยโจมตี หรืออาจจะเรียกได้ว่า “ด่าทอ” สุรพล นิติไกรพจน์ อธิบการบดีคนปัจจุบันในระหว่างมีงานฉลองกำแพงประวัติศาสตร์ ฐานที่เขาบอกว่ามาตรา 7 ทำได้ และให้ความชอบธรรมกับการทำรัฐประหาร ผลงานนั้นได้ลงหน้าหนึ่งเกือบทุกฉบับเพราะมีคนโชว์ของดีประท้วงด้วย  

ใครหลายคนอาจไม่คุ้นเคย หรือไม่ชื่นชอบกับท่าทีการต่อสู้ของเธอ อันนำมาซึ่งฉายา ‘ดา ตอร์ปิโด’ แม้กระทั่งในกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐประหารด้วยกันก็ตาม ด้วยบุคลิกการปราศรัยแบบมุทะลุดุดัน รุนแรง เกินกว่าสังคมไทยจะยอมรับได้ บางคนที่ขึ้นปราศรัยด้วยกันก็บอกว่า “ผมเคยเตือนเค้าแล้ว”

- 3 -
ความหยาบคาย

“คุณได้ไปด่าทอเขาจริงหรือไม่” ทนายถามดาขณะให้การเป็นพยานให้ตัวเองในคดีหมิ่นประมาท พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร

ดารณีซึ่งเพิ่งรับทราบผลจากห้องพิจารณาคดีหมิ่นฯ ที่ตัดสินโทษ 18 ปี และเข้ามานั่งต่อในคดีหมิ่นพล.อ.สะพรั่ง ตอบอย่างฉาดฉาน


“ดิฉันพูดอย่างมีเหตุผลมา 2 ปีแล้ว เราพูดกันจนไม่รู้จะพูดยังไงว่าทำไมต้องคัดค้านการรัฐประหาร มันสร้างความเสียหายให้ประเทศยังไง แต่เค้าเคยฟังไหม แล้ววันนั้นมันเป็นจุดสิ้นสุดความอดทน เพราะมีการยุบพรรคไทยรักไทย”

“ดิฉันไม่ได้ว่า พล.อ.สพรั่งคนเดียว แต่ยังว่าพล.อ.สนธิ พล.อ.เปรม พล.อ.วินัย อีกหลายๆ คนที่มีส่วนร่วม”

“เราไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ไม่ได้ว่าพล.อ.สพรั่งเพราะเป็นพล.อ.สพรั่ง แต่ว่าเพราะเขาเป็นผู้ช่วยเลขาฯ คมช. ไม่ว่าใครจะมาอยู่ตรงนี้ ดิฉันก็จะว่าทั้งหมด”

ไม่รู้ว่านี่เป็นการแก้ต่างที่ดีในการพิจารณาคดีหรือไม่ แต่ก็พอได้แง่มุมเหตุผลในการตัดสินใจปราศรัยแบบที่เธอทำ

- 4 -
ไข่แม้ว

ดารณีบอกว่า เธอเคลื่อนไหวทางการเมืองมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร โดยการปราศรัยกันที่สนามหลวงของประชาชนกลุ่มย่อยๆ ก่อนที่ขบวนการคนเสื้อแดงจะก่อรูปขึ้น

ไม่ว่าจะอย่างไร การเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตย ถูกขับเคลื่อนไปพร้อมกับการสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งทำให้ปัญญาชน นักวิชาการ ฯลฯ บางส่วนอิหลักอิเหรื่อในการให้การสนับสนุน ดารณีก็เป็นคนหนึ่งที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างชัดเจน โดยระบุว่าทักษิณเป็นนักการเมืองที่มีความสามารถ มีการสร้างนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนจนมาก และเธอเห็นด้วยอย่างยิ่ง

“ปัญหาหลักของประเทศเรา ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าความยากจน มันมีช่องว่างเยอะระหว่างคนรวยกับคนจน ต้องทำให้คนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศลืมตาอ้าปากได้ และเขา [ทักษิณ] ทำได้ดี”

“พรรคไหนมีนโยบายแบบนี้ พี่ก็สนับสนุน และถ้าประชาธิปัตย์เขาทำดี เลือกตั้งแล้วเขาชนะ พี่ก็เคารพ” คำบอกเล่าตั้งแต่ในช่วงแรกๆ ที่เข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ

ในวันตัดสินคดี 28 สิงหาคม ก่อนที่จะขึ้นไปยังห้องพิจารณาคดี พี่ชายของเธอ ‘กิตติชัย’ เดินทางมาจากภูเก็ตเหมือนเคยเพื่อฟังคำตัดสินและแวะเยี่ยมน้องสาวที่ห้องขังใต้ถุนศาลอาญาเหมือนเคย แม้ดาจะยังดูปกติ พูดคุยตามธรรมดา แต่พี่ชายของเขามีสีหน้าอมทุกข์

 “ผมไม่เอาแล้วทั้งเหลือง ทั้งแดง น้องผมสู้ในสิ่งที่เชื่อ รักเค้าและสู้เพื่อเค้า [ทักษิณ]  เอาตัวเข้าแลก แต่พอถึงเวลาที่น้องผมปริ่มๆ ใกล้จะจมน้ำ ไม่มีใครยื่นแม้แต่กิ่งไม้มาช่วย”

- 5 -
เบื้องหลังลูกกรง

ในการถูกคุมตัวช่วงแรกๆ สร้างแรงกดดันให้เธออย่างหนัก เห็นได้การพูดตัดพ้อฝ่ายการเมืองที่เธอสนับสนุนว่ามิได้ให้ความช่วยเหลือ เท่าที่เธอคาดหวัง

“ถ้าเราโดนจับในสมัยคมช. เลยยังจะดีกว่า นี่มันรัฐบาลฝั่งเราแท้ๆ [สมัย สมัคร สุนทรเวช]”

“มันน่าเสียใจที่เราโดนจับขังคุกในยุคของรัฐบาลที่มาตามระบอบประชาธิปไตย...ออกไปคงไม่ไปยุ่งเกี่ยว ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแล้ว”

แต่หลังจากนั้นก็ดูเหมือนจะปรับตัวได้กับสภาพในเรือนจำ ยกเว้นเรื่องสุขภาพที่ยังมีปัญหากรามอักเสบ ทำให้ไม่สามารถอ้าปากได้มาก ทำให้แปรงฟัน หรือทานอาหารได้ไม่สะดวก

“อาหารมันค่อนข้างแย่ กับข้าวมีน้อย แล้วมื้อเย็นที่คนค่อนข้างจะกินเยอะก็ดันเป็นกับข้าวรสเผ็ด เวลาจำกัด เรากินได้ช้า ตอนนี้น้ำหนัดลดไป 15 โลแล้ว”

สภาพชีวิตในคุกสำหรับคนชั้นกลางแล้วก็เป็นเรื่องค่อนข้างหนักหนา นอกเหนือจากการถูกพรากเสรีภาพแล้ว ยังมีเรื่องต้องต่อสู้กับชีวิตประจำวันหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเป็นอยู่ที่แออัด ต้องนอนร่วมกัน 50-80 คน เธอว่าบางครั้งมันแน่นจนต้องนอนตะแคงทั้งคืน

สำหรับนักโทษในคดีหมิ่นฯ ดูเหมือนจะได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษ เธอเล่าว่า คดีนี้เป็นคดีพิเศษ หากเป็นคนอื่น เมื่อแรกเข้ามาในเรือนจำ จะถูกแยก ไม่ให้พูดคุยกับเพื่อนๆ คนอื่น ประมาณหนึ่งเดือน แต่เธอเป็นกรณีพิเศษของพิเศษ เพราะโดนโดดเดี่ยวถึง 3 เดือน

หากสังเกตให้ดียังจะพบความพิเศษนี้ชัดเจนที่ศาล เมื่อเธอถูกเบิกตัวไปให้การไม่ว่าในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือคดีหมิ่นประมาทธรรมดา เธอจะมาในชุดนักโทษหญิงสีน้ำตาล ขลิปปลายแขนสีแดงโดดเด่นตลอดมา ซึ่งเสื้อเช่นนี้เป็นสัญลักษณ์ของนักโทษอุฉกรรจ์ เช่น ผู้ค้ายาบ้าเป็นหมื่นเม็ดขึ้นไป ยังไม่นับรวมการตรวจภายใน ก่อนออกจากเรือนจำ ซึ่งทำให้เธอมักร้องขอให้ศาลนัดพิจารณาคดีต่างๆ ในวันเดียวกัน  

"จะออกจากเรือนจำมาศาลแต่ละที เขาจับขึ้นขาหยั่งตรวจภายในทั้งตอนเข้า ตอนออก เขากลัวเรื่องยาเสพติด แต่ไม่ดูเลยนี่มันคดีอะไร มันเป็นคดีการเมือง รู้สึกแย่มากๆ"

นอกเหนือจากความเป็นอยู่ที่ลำบาก การอาบน้ำเพียง 30 วินาที (นับหนึ่งถึงสามสิบ) แล้ว การเอาตัวรอดในหมู่เพื่อนผู้ต้องขังด้วยกันก็เป็นเรื่องสำคัญ

ตลอดระยะเวลา 1 ปี เธอมีเรื่องกระทบกระทั่งกับเพื่อนร่วมเรือนจำหลายครั้ง เพราะความเป็นคนไม่ยอมใคร และตามกฎของเรือนจำ เมื่อมีเรื่องกัน จะต้องโดนลงโทษทั้งสองฝ่าย โดยไม่ต้องไต่สวนว่าใครผิดหรือถูก เธอเปรียบเปรยว่า คนที่หาเรื่องเธอนั้นสามารถกลับขาวเป็นดำ ร้องห่มร้องไห้ได้เก่งยิ่งกว่านางร้ายในละครน้ำเน่า  หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่บางคนก็ไม่ชอบหน้าเธอ เห็นเธอเป็นตัวอันตราย และพยายามกันคนอื่นๆ ไม่ให้คบหา พูดคุยกับเธอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีคำตัดสินแล้ว ความกดดันทุกอย่างก็ดูเหมือนจะยิ่งทวีความเข้มข้นมากขึ้น

“พวกผู้ต้องขังที่จ้องจะกลั่นแกล้งเรา หาเรื่องเรา เขายิ่งมั่นใจ เพราะมีคำตัดสินแล้วว่าเราผิด ตอนนี้สงครามประสาทก็ยิ่งหนัก เจ้าหน้าที่ที่ไม่ชอบเราก็เยอะ แต่เจ้าหน้าที่ดีๆ ก็เยอะ โดยเฉพาะหัวหน้า เขาชอบประชาธิปัตย์นะ แต่เขาพูดจากกับเราด้วยเหตุด้วยผล เลยคุยกันได้ แต่เขากำลังจะเกษียณกันยานี้แล้ว คนเค้าก็พูดกันว่า ดูซิว่าจะมีใครคอยคุ้มกะลาหัวอีดาอีก”

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ซึ่งยังไม่รู้ว่าเมื่อไร เธอน่าจะต้องถูกส่งตัวไปยังแดนนอก มิใช่แดนแรกรับอย่างเคย ที่นั่นเธอบอกว่าความเป็นอยู่ลำบากกว่า และต้องทำงานหนักกว่า ไม่สามารถที่จะเลือกทำหรือไม่ทำได้เหมือนตอนอยู่แดนแรกรับอีกแล้ว

- 6 -
ปฏิรูปคุก

ช่วงแรกๆ ที่อยู่ในเรือนจำ เธอยังพูดเรื่องการเมืองอยู่บ้าง แต่หลังจากนั้นไม่นาน เธอก็เริ่มพูดถึงปัญหาในเรือนจำ และแนวทางการปฏิรูปเรือนจำ อาจเพราะในนั้นไม่ให้ได้รับข่าวสารบ้านเมือง ใครไปเยี่ยมเยียนถึงมักถูกซักถาม ตอนนี้ใครเป็นรัฐบาล ด้วยเสียงเท่าไร เสื้อแดงไปถึงไหน หัวหน้าพรรคต่างๆ ชื่ออะไร ฯลฯ นอกจากนี้ดารณียังเสนอการปรับมาตรฐานในเรือนจำหลายเรื่อง เช่น น่าจะมีหนังสือที่หลากหลาย และอัพเดทมากขึ้นในเรือนจำ เพราะเท่าที่มีนั้นจำกัดและเก่ามาก, กรณีผู้ต้องขังหญิงวัยรุ่นจำนวนมากที่ติดคดียาเสพติดเล็กๆ น้อยๆ เป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรบุคคลของชาติ น่าจะนำทรัพยากรส่วนนี้ไปทำประโยชน์ด้านอื่น, การจับแรงงานต่างด้าวจำนวนมากมาไว้ในเรือนจำทำให้เรือนจำซึ่งขาดแคลนทรัพยากรอยู่แล้วยิ่งแออัดและขัดสน น่าจะมีการจัดการรูปแบบอื่น ฯลฯ 

ในช่วงสองสามเดือนหลัง ดาได้ขยับขึ้นเป็น ‘แม่ห้อง’ [คล้ายหัวหน้าห้อง] คอยดูแลเพื่อนๆ ในเรือนนอน 50-60 คน เพราะสามารถแก้ไขปัญหาส้วมแตกให้เพื่อนๆ ในเรือนนอนได้ เนื่องจากไม่มีใครกล้าหืออือหรือเรียกร้องอะไรกับเจ้าหน้าที่ แต่เธอลองเสี่ยงดู และได้รับการตอบสนอง

เธอว่าภาระหน้าที่ของการเป็นแม่ห้องค่อนข้างหนัก ต้องออกเงินซื้อปากกา กระดาษ จดรายงานเอง ต้องคอยดูแลคนอื่นๆ ทำให้ได้ไปกินข้าวช้า มีสิทธิพิเศษก็เพียงได้ล็อกเกอร์เล็กๆ ส่วนตัวเพิ่มจาก 1 เป็น 2 และมีที่นอนกว้างกว่าคนอื่นเล็กน้อย

“หลังพิพากษานี่สถานการณ์แย่มาก ตอนนี้ลูกห้องทำอะไรผิด มาลงที่เราหมดเลย ใครผิดก็ควรจะไปว่า ไปลงโทษคนนั้นถูกไหม นี่มาลงเราหมด แล้วลูกห้องก็ได้ใจ”

“พี่อยากจะช่วยงานเขานะ พี่รู้ว่าเขาได้งบน้อยมาก จะเปลี่ยนคอห่านยังลำบาก ใช้กันมา 12 ปีไม่เคยเปลี่ยน ถ้าพี่เป็นส.ส.จะแปรญัตติให้งบเขาเยอะๆ เลย แต่ถ้าเขาไม่เป็นธรรมกับเรา มันก็ไม่ไหว”

 

- 7 -
?

“พี่ไม่ได้หวังอะไรมาก แค่อยากให้คดีนี้ถูกบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ เวลาคนรุ่นหลังมาดูจะได้รู้ว่าเค้าต่อสู้กันยังไง เหมือนคดีของท่านปรีดี”

“เราทำดีที่สุดแล้ว ถ้าสังคมไทยยังอยากจะเป็นแบบนี้ ไม่มีสิทธิเสรีภาพในการพูดความจริงแบบนี้ก็แล้วแต่ ก็อยู่ไปแบบนี้”

คำพูดของเธอก่อนคดีจะถูกพิพากษาไม่กี่ชั่วโมง

-------------

หมายเหตุ  -   การโควทคำพูดของดามีคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง ไม่ตรงทุกถ้อยคำ เนื่องจากเป็นเพียงการจดจากการสนทนาระหว่าง เข้าเยี่ยมในเรือนจำในหลายๆ ครั้ง

บล็อกของ หัวไม้ story

หัวไม้ story
ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทยจำนวนหนึ่ง อาจจะฮือฮามาสักพักแล้วกับเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ของนักการเมืองค่ายประชาธิปัตย์ นำโดย หล่อใหญ่ อภิสิทธิ์ ตามมาด้วยสาทิตย์ วงษ์หนองเตย  แต่ก็ยังอาจจะยังไม่เห็นประสิทธิผลมากนักสำหรับการเปิดพื้นที่ใหม่ในสื่อใหม่ในโลกออนไลน์ เพราะยังไม่มีการใช้สำหรับแคมเปญหาเสียง หรือแคมเปญกิจกรรมอะไรพิเศษ แต่แล้ว เมื่อเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ชื่อ thaksinlive เริ่มเป็นที่รับรู้ของชาวไซเบอร์เพียงไม่กี่วัน ก็กลับฮือฮาเป็นกระแสพ้นพรมแดนโลกไซเบอร์ออกมาเหมือนปีศาจที่ตามหลอกหลอนไปทุกพรมแดนความรับรู้ของขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้าม
หัวไม้ story
ในฐานะที่กระแสรางวัลซีไรต์ปีนี้ช่างแผ่วเบา เราจึงขอกระตุ้น ยั่วยวน ให้หันมองด้วยงานวิจารณ์ของ “นายยืนยง” ซึ่งยืนยันกับการชื่นชม “วิญญาณที่ถูกเนรเทศ” เล่มหนึ่งที่เข้ารอบสุดท้าย ไม่ว่าใครจะครหาอย่างไรก็ตาม         ชื่อหนังสือ         :           วิญญาณที่ถูกเนรเทศ ผู้เขียน              :           วิมล ไทรนิ่มนวล จัดพิมพ์โดย       :   …
หัวไม้ story
โดย ทีมข่าวการเมือง 5 แกนนำพันธมิตร ขึ้นปราศรัย ระหว่างงานรำลึก 1 ปีแห่งการต่อสู้ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อ 25 พ.ค. 52 ที่สนามกีฬากลาง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จ.ปทุมธานี (ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 25 พ.ค. 52)
หัวไม้ story
หลังการชุมนุมคนเสื้อแดงจบลงไปในวันที่ 14 เมษายน 2552 โดยการชุมนุมครั้งนั้นเกิดความรุนแรงขึ้นในหลายจุด ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการใช้อาวุธ ทั้งจากฝ่ายตำรวจ ผู้ชุมนุม และกลุ่มไม่ทราบฝ่าย ช่วงเวลา 2-3 วันให้หลัง ประชาไทพยายามติดตามหาพยานผู้เห็นเหตุการณ์ ทว่าพยานบุคคลหลายคนเลือกที่จะเป็นเสียงเงียบ และหลายคนเลือกการเดินทางกลับต่างจังหวัด บรรยากาศภายใน 1 สัปดาห์หลังจากนั้น ดูเหมือนเป็นบรรยากาศแห่งความเงียบและหวาดระแวงสำหรับผู้เคยเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดง นั่นทำให้เราเริ่มคิดถึงคนเสื้อแดงที่ต่างจังหวัด…
หัวไม้ story
สัมภาษณ์ เสรี สาระนันท์ ส.ส. หลายสมัยจากอ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ถึงเหตุผลที่ ส.ส. ยังคงต้องอยู่กับเสื้อแดงและทักษิณ และกระบวนการจัดการเสื้อแดงที่เป็นฐานเสียง และเป็นมวลชนที่เข้าร่วมการชุมนุม รวมถึงให้เขาประเมินอนาคตของทั้งตนเองและขั้วอำนาจฝ่ายสีแดง การสัมภาษณ์ครั้งนี้สะท้อนถึงพลังของ "ปีศาจ" อย่างทักษิณ ที่จะยังครอบงำจิตใจชาวบ้านและหลอกหลอนการเมืองขั้วตรงข้ามต่อไปอย่างยากจะเปลี่ยนแปลง
หัวไม้ story
เสียง ภาพ ชาวบ้านเสื้อแดง ตำบลหนองไผ่ จังหวัดอุดรธานี บอกเล่าความรู้สึกและความเห็นทางการเมือง ว่าด้วยประชาธิปไตย และทักษิณ หลังการชุมนุมคนเสื้อแดงที่ยุติลงในช่วงบ่ายของวันที่ 14 เม.ย. อนึ่ง ชาวบ้านบางส่วน ได้เข้ามาร่วมการชุมนุมคนเสื้อแดงในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ขณะที่อีกบางส่วนไม่ได้เข้าร่วม แต่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดอยู่ที่บ้าน ผ่านสถานีดีสเตชั่น และวิทยุชุมชนคนรักอุดร ประชาไทบันทึกคลิปวีดีโอ เมื่อวันที่ 23 เม.ย. ที่ผ่านมา
หัวไม้ story
ทีมข่าวการเมือง [การโหยหาอดีตของสองทหารแก่ สุรชัย-เปรม อาจไม่ต่างกันมาก ผิดกันตรงที่ ทหารแก่คนหนึ่งอาจสมใจ สังคมไทย Nostalgia ย้อนยุคขุนศึก อำมาตย์ เป็นใหญ่ได้อีกหลัง 19 ก.ย. 49 มีองคมนตรีมาเป็นนายกฯ ที่ป๋าเห็นเป็นวินสตัน เชอร์ชิล มีนายกฯ หนุ่มที่ป๋าบอก “ผมเชียร์” … เช่นนี้กระมัง สหายเก่า-ทหารแก่อีกคนจึงขอแต่งชุดทหารป่าเข้ามอบตัว ขอ Nostalgia อีกรอบ] ]   000 นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ แกนนำ นปช. ขณะเข้ามอบตัวเมื่อ 27 เม.ย. 52 (ที่มาของภาพ: ASTVผู้จัดการออนไลน์)
หัวไม้ story
[ ทีมข่าวการเมือง ]   ทุกๆ เช้าของวันจันทร์-ศุกร์ ถ้าไม่ใช่วันหยุดนักขัตฤกษ์ ภารกิจของนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คือเตรียมเดินทางมายังสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมแห่งเอเชีย (Asia Satellite Television) หรือ เอเอสทีวี ถ.พระอาทิตย์ เพื่อดำเนินรายการ “Good Morning Thailand” รายการเล่าข่าวและวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองอย่างเผ็ดร้อน ซึ่งเขาจัดเป็นประจำทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 6.00-7.00 น. แต่วันนี้ 17 เมษายน เขาไม่ได้จัดรายการ “Good Morning Thailand” เหมือนเคย เพราะถูกลอบยิงเมื่อเวลาราว 5.40 น. ก่อนที่รถของเขาจะมาถึงสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี   000   ที่มา:…
หัวไม้ story
(ทีมข่าวการเมือง)ทีมข่าวการเมือง สัมภาษณ์ผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปช.) หรือคนเสื้อแดง ระหว่างการชุมนุมเมื่อวันที่ 8 เมษายน ที่ผ่านมา โดยถามพวกเขาว่า “ออกมาชุมนุมทำไม?” ต่อไปนี้คือคำตอบของพวกเขา 
หัวไม้ story
ห้องพิจารณาคดี 904 หลังสิ้นเสียงคำพิพากษาให้จำคุก 10 ปี...
หัวไม้ story
[ทีมข่าวการเมือง]"พี่สนธิก็เคยคุยกับผมเป็นการส่วนตัวว่าคิดถึงพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วยซ้ำ มีโปลิตบูโร หรือคณะกรรมการนโยบายของพรรคที่อาจจะไม่ได้มามีตำแหน่งบริหาร ไม่ได้มามีตำแหน่งทางการเมือง แต่ว่าคุมยุทธศาสตร์ คุมทิศทางพรรค ซึ่งอันนี้น่าสนใจ และคงต้องดูว่าโครงสร้างเป็นอย่างไร ขณะเดียวกัน เรายังมีเวลาศึกษาพรรคการเมืองจากหลายประเทศ เพื่อเปรียบเทียบกัน และต้องดูบริบทสังคมไทยด้วย แบบไหนมันเข้ากับสังคมไทย"สุริยะใส กตะศิลา, สัมภาษณ์ใน เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 876, 13 มีนาคม 2552  000 แกนนำพันธมิตรฯ บน “เวทีคอนเสิร์ตการเมืองครั้งที่ 4” ของพันธมิตรฯ ที่เกาะสมุย เมื่อ 4 มีนาคม 2552…
หัวไม้ story
ทีมข่าวการเมือง การเยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 13-15 มี.ค. มีหลายประเด็นจากการเยือนดังกล่าวที่ยังไม่ได้รับการพูดถึง หลายเรื่องถูกบิดเบือน และผลิตซ้ำ จนกลายเป็นชุดความคิดที่ถูกยอมรับโดยไม่มีการตั้งคำถาม “ประชาไท” ขอนำเสนอเรื่องที่ยังไม่มีการรายงาน เรื่องที่ยังไม่ถูกพูดถึง และเรื่องที่บิดเบือนดังกล่าว ในระหว่างการเยือนอังกฤษของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  1.เปิดต้นทางข่าว “ไม่ได้หนี แล้วมาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร”   สื่อมวลชนไทยทุกฉบับพร้อมใจรายงานภารกิจของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่เดินทางเยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการ…