ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทยจำนวนหนึ่ง อาจจะฮือฮามาสักพักแล้วกับเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ของนักการเมืองค่ายประชาธิปัตย์ นำโดย หล่อใหญ่ อภิสิทธิ์ ตามมาด้วยสาทิตย์ วงษ์หนองเตย แต่ก็ยังอาจจะยังไม่เห็นประสิทธิผลมากนักสำหรับการเปิดพื้นที่ใหม่ในสื่อใหม่ในโลกออนไลน์ เพราะยังไม่มีการใช้สำหรับแคมเปญหาเสียง หรือแคมเปญกิจกรรมอะไรพิเศษ แต่แล้ว เมื่อเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ชื่อ thaksinlive เริ่มเป็นที่รับรู้ของชาวไซเบอร์เพียงไม่กี่วัน ก็กลับฮือฮาเป็นกระแสพ้นพรมแดนโลกไซเบอร์ออกมาเหมือนปีศาจที่ตามหลอกหลอนไปทุกพรมแดนความรับรู้ของขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้าม
กระนั้น ก็นับว่าเป็นเรื่องน่าสนใจที่นักการเมืองไทยเริ่มก้าวข้ามพรมแดนของโลกจริงมาสู่โลกเสมือน แม้ว่า..อย่างที่กล่าวไป เราอาจจะยังไม่เห็นนัยยะสำคัญในการเคลื่อนไหวทางการเมืองเนื่องจากเพิ่งเป็นระยะเริ่มต้นเท่านั้น หากเทียบกับการใช้สื่อใหม่ในทางการเมืองของประเทศที่เคลื่อนพื้นที่กิจกรรมทางสังคมมานานกว่า อย่างในอเมริกา ยุโรป เกาหลีใต้หรือแม้แต่ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ซึ่งสามารถใช้เครือข่ายทางสังคมในโลกเสมือนนี้เคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมืองอย่าจริงจังกระทั่งส่งผลสะเทือนออกมาเป็นพลังทางสังคมในโลกจริงอย่างน่าทึ่ง ตัวอย่างที่เพิ่งผ่านไปก็เช่น การประท้วงเอฟทีเอของชาวเกาหลีใต้ ซึ่งอินเตอร์เน็ตมีส่วนสำคัญยิ่งในการเชื่อมร้อนผู้คน และเป็นเสมือนสถานที่นัดแนะสำหรับการออกมาร่วมเดินถนนขงผู้คนเรือนแสน เมื่อปลายปีที่ผ่านมา หรืออีกตัวอย่างที่ใกล้เข้ามาก็คือการประท้วงการเลือกตั้งของฝ่ายต่อต้านประธานาธิบดีมาห์มุด อามาดิเนจัด ซึ่งใช้ทวิตเตอร์เป็นนกสื่อสารออนไลน์ที่ทรงพลังอย่างยิ่ง
และเนื่องจากกระแสที่ฮือฮาขึ้นเกี่ยวกับนักการเมืองไทยซึ่งแต่ก่อนร่อนชะไรมักถูกถากถางว่าเป็นไดโนเสาร์ วันนี้เมื่อพวกเขาเริ่มสื่อสารกับประชาชนกลุ่มที่ก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและเริ่มใช้พื้นที่ในโลกเสมือนสร้างเครือข่ายทางสังคมซึ่งเริ่มขยายจำนวนมากขึ้นๆ ก็น่าจะลองสำรวจดูในเบื้องต้นก่อนว่า ใครบ้างที่เริ่มปรับตัวแล้วกับเครือข่ายทางสังคมรูปแบบใหม่ แม้ว่าเอาเข้าจริงจะช้าไปสักนิดก็ตามที
หัวไม้สัปดาห์นี้ นำบทสำรวจเบื้องต้น พร้อมข้อสังเกต จากนักกิจกรรมในโลกไซเบอร์รายหนึ่ง มาเปิดประเด็นเรียกน้ำย่อยกันก่อนจะจับตากันต่อไปว่า พื้นที่เครือข่ายทางสังคมใหม่แห่งนี้ จะถูกใช้ไปในทางการเมืองได้เข้มข้นมากน้อยเพียงใด
- - - - -
ปกติผมจะไม่ค่อยคิดว่านักการเมืองบ้านเราจะทันสมัยอะไรกับชาวบ้านเขา เท่าไรนัก แค่ลุ้นให้ทำงานกันก็เหนื่อยแล้ว ยิ่งหลังๆดูเหมือนจะแบ่งข้างกันชันเจนว่าฝ่ายไหนฝ่ายไหน ตีกันไปมาตามหน้าหนังสือพิมพ์ ขโมยซีน ชิงพื้นที่สื่อกันสนุกสนาน แต่เผอิญว่าข่าวนี้ใกล้กับ New Media เลยต้องเอามาพูดหน่อย เดี๋ยวจะเอาท์
เมื่อก่อนเราจะเห็นนักการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาลออกมาอัด กันผ่านหน้าหนังสือพิมพ์หรือทีวี แต่เดี๋ยวนี้เราเริ่มจะได้เห็นนักการเมืองไทยย้ายขึ้นไปใช้สื่อใหม่ (New Media) อย่างบรรดา Social Media ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter หรือ Hi5 เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้บริโภคสื่อแบบเดิมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่น คนทำงาน อายุไม่เกิน 35 นับว่าเป็นการจับจองกลุ่มคนที่ค่อนข้างจะเป็นหัวๆ มีพลังที่จะทำอะไรสักอย่าง และดูเป็นฐานเสียงที่จะเป็นกำลังสำคัญเลยทีเดียว
แน่นอนว่าการจะเข้าถึงคนกลุ่มที่ว่ามานี้ง่ายที่สุดก็คือกระโดดเข้าไป กลางวง กลางที่ๆเขาอยู่กัน Facebook และ Twitter จึงกลายเป็นกระแสขึ้นมาในไทยทันที (หลังจากที่ Hi5 ดูจะเอ้าท์ๆไปแล้ว)
ผมลองมาไล่ๆจากข่าวและที่เคยๆเห็นมา น่าแปลกใจมาก! ที่พรรคเพื่อไทยของคุณ ทักษิณ ชินวัตร กลับใช้ New Media น้อยและช้ากว่าที่คิด ผิดกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่ภาพลักษณ์ดูเชย โบราณ กลับกลายเป็นว่ามีคนเล่นเยอะกว่าเพื่อน
ประชาธิปัตย์
1. อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
- twitter: @PM_abhisit (เริ่มใช้งานเดือน มิถุนายน 2552)
- facebook: http://www.facebook.com/pages/Abhisit-Vejajiva/17171146143
2. กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
- twitter: @korbsak (กรกฏาคม 2552)
3. สาทิตย์ วงศ์หนองเตย
- twitter: @satittrang (มิถุนายน 2552)
- facebook: http://www.facebook.com/satittrang
4. กรณ์ จาติกวณิช
- twitter: @KornDemocrat (มิถุนายน 2552)
- facebook: http://www.facebook.com/pages/Korn-Chatikavanij/71254499739
5. จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
- twitter: @aoodda (กรกฏาคม 2552)
6. อภิรักษ์ โกษะโยธิน
- twitter: @apirak_news (เมษายน 2552)
- facebook: http://www.facebook.com/apirakkosayodhin
7. อลงกรณ์ พลบุตร
- twitter: @ponlaboot (มิถุนายน 2552)
เพื่อไทย (อดีตไทยรักไทย พลังประชาชน)
1. ทักษิณ ชินวัตร
- twitter: @thaksinlive (กรกฏาคม 2552)
- facebook: http://www.facebook.com/thaksinlive
2. จาตุรนต์ ฉายแสง
- twitter: @chaturon (พฤษภาคม 2552)
- twitter: @ChaturonNetwork (กรกฏาคม 2552)
3. สุรนันท์ เวชชาชีวะ
- twitter: @suranand (กุมภาพันธ์ 2552)
*หลายๆ account ไม่แน่ใจว่าตัวจริงทำเองหรือไม่
สำหรับเมืองนอกคงไม่ต้องพิสูจน์แล้วว่า New Media นั้นมีอิทธิพลต่อคนสมัยนี้อย่างไร ยกตัวอย่าง นาย โอบามา ประธานาธิบดีของสหรัฐนั่นไงที่ใช้ New Media ได้ดีจนชนะการเลือกตั้งและเป็นแบบอย่างให้หลายประเทศไปเลียนแบบ
เพียงแต่ผมไม่อยากให้เรื่องความสนใจในด้านเทคโนโลยีของบรรดานักการเมือง ทั้งหลายเป็นเพียงแค่กระแสเพื่อเอามาเกทับ บลัฟกัน ว่าใครทำก่อนทำหลัง แล้วก็จบๆไป แต่อยากให้ท่านๆใช้ New Media เป็นช่องทางในการสื่อสารที่เข้าถึงผู้คนได้มีประสิทธิภาพและดูใกล้ชิดกว่า ที่เคยมีมา แล้วเชื่อในเทคโนโลยีว่ามันมีประโยชน์ และกลับไปใช้เทคโนโลยีนำในการพัฒนาประเทศต่อไป
สาธุ
- - - - -
หมายเหตุ:
- บทความ "ฤา การเมืองจะเข้าสู่สงครามโลก Cyber" เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.basicstep.net/thai-political-cyber-war/
บทความที่เกี่ยวข้อง
- SIU: “สงครามเน็ต” ว่อนอิหร่าน นักรบไซเบอร์แคนาดาช่วยอิหร่านทะลวงบล็อกทวิตเตอร์ : http://www.prachatai.com/journal/2009/06/24739
- รายงาน: สงครามเทคโนโลยี ในการประท้วงที่อิหร่าน : http://www.prachatai.com/journal/2009/06/24703
- พลังของอินเตอร์เน็ต ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นมีการต่อสู้ : http://blogazine.prachatai.com/user/headline/post/706