กรณีนี้ไม่ใช่กรณีเดียวที่เกิดขึ้น สำหรับเรื่องที่เรียกกันว่า ‘หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ’ หากแต่เป็นกรณีแรกๆ ที่ตัดสินใจต่อสู้คดี โดยไม่รับสารภาพ และเดินหน้าสู่การอภัยโทษดังที่เคยเป็น ต่อไปนี้เป็นลำดับเวลาตลอดระยะปีกว่า เนื้อหาการต่อสู้คดีบางส่วน รวมถึงวิธีคิดของเธอจากการสนทนาสั้นๆ แบบเก็บเล็กผสมน้อย
\\/--break--\>
18-19 กรกฎาคม 2551
ขึ้นปราศรัยที่เวทีท้องสนามหลวง จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การปราศรัยครั้งนี้ในเว็บบอร์ดหลายแห่ง
20 กรกฎาคม 2551
สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เจ้าของสื่อเครือผู้จัดการ-เอเอสทีวี ขึ้นปราศรัยที่เวทีสะพานมัฆวานฯ ถึงการปราศรัยของดารณีว่าดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ "อย่างเลวร้ายที่สุด"
กองทัพบกได้มีหนังสือ "ด่วนที่สุด" ถึง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ขอให้กองบัญชาการตำรวจนครบาลตรวจสอบการปราศรัยของน.ส.ดารณี หากพบว่ามีการกระทำความผิดจริง ขอให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
22 กรกฎาคม 2551
พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ได้อนุมัติหมายจับดารณี จากศาลอาญากรุงเทพใต้ เลขที่ 2209/2551 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2551 ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเข้าจับกุมตัวดารณี ภายในหอพัก โดยดารณี ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากตำรวจ เนื่องจากไม่มีการออกหมายเรียกเหมือนผู้ต้องหาคนอื่น
23 กรกฎาคม 2552
ผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และอาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยื่นคำร้องขอประกันตัวดารณี ใช้หลักทรัพย์เป็นตำแหน่งข้าราชการ ระดับ 8 อัตราเงินเดือน 25,000 บาท ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ถ้อยคำหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นมีข้อความที่ร้ายแรง ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว
ศาลอาญาได้ออกหมายจับสนธิ ลิ้มทองกุล กรณีขยายความหมิ่นเบื้องสูงของดารณีบนเวทีพันธมิตรฯ ต่อมาในวันรุ่งขึ้น สนธิได้มารับทราบข้อกล่าวหากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และได้รับอนุญาตให้ประกันตัว โดยใช้ตำแหน่ง ส.ว. ของคำนูณ สิทธิสมาน
25 กรกฎาคม 2551
ผศ.ดร.สุธาชัย ยื่นอุทธรณ์คำร้องขอประกันตัวดารณีอีกครั้ง เจ้าหน้าที่ศาลอาญาได้รับคำอุทธรณ์ไว้
1 สิงหาคม 2551
ศาลอุทธรณ์ มีคำสั่งยกคำร้องการขอปล่อยตัวชั่วคราวดารณี เนื่องจากเห็นว่าความผิดมีอัตราโทษสูง เป็นความผิดร้ายแรง และกระทบกระเทือนจิตใจของประชาชน หากปล่อยตัวไปเกรงว่า ผู้ต้องหาจะไปกระทำผิดซ้ำ
5 สิงหาคม 2551
เว็บไซต์สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันออกจดหมายเปิดผนึก "ความอยุติธรรมต่อคนคนหนึ่ง คือ ความอยุติธรรมต่อคนทั้งสังคม" พร้อมด้วยรายชื่อประชาชน 139 คน เรียกร้อง ขอให้มีการประกันตัวแก่ดารณี เช่นเดียวกับผู้ต้องหารายอื่นๆ
25 กันยายน 2551
ศาลรับคดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ฟ้องดารณี หลายข้อหา กรณีนำมวลชนล้อมบ้านพระอาทิตย์ ในคดีหมายเลขดำที่ อ.3634/2551
9 ตุลาคม 2551
ราว 1 สัปดาห์ ก่อนจะครบอำนาจฝากขังของพนักงานสอบสวน (84 วัน) ศาลได้รับคำฟ้องจากพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 ซึ่งยื่นเป็นโจทก์ฟ้องดารณี ในมาตรา 112 ในคดีหมายเลขดำที่ อ.3959/2551 โดยในสำนวนอัยการระบุการกระทำผิด 3 กรรม
10 ตุลาคม 2551
ศาลนัดสอบคำให้การคดีนี้ จำเลยให้การปฏิเสธและขอต่อสู้คดี ศาลจึงนัดแถลงเปิดคดีในวันที่ 1 ธันวาคม 2551
16 ตุลาคม 2551
ผศ.ดร.สุธาชัย ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวดารณี โดยใช้หลักทรัพย์เป็น เงินสดจำนวน 200,000 บาท ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งยกคำร้อง ออกมาในวันเดียวกัน
17 พฤศจิกายน 2551
ศาลอาญานัดไต่สวนเพื่อตรวจพยานหลักฐาน สอบคำให้การจำเลย ในคดีล้อมบ้านพระอาทิตย์ เบื้องต้นจำเลยให้การปฏิเสธ ศาลจึงนัดพิจารณาวันที่ 15 ธันวาคม 2551
1 ธันวาคม 2551
ศาลอาญา นัดตรวจสอบหลักฐาน สอบคำให้การจำเลยคดีหมิ่นฯ โดยศาลได้สั่งให้เลื่อนการนัดไปเป็นวันที่ 15 ธันวาคม 2551
ประเวศ ประภานุกูล ทนายความของดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว และศาลชั้นต้นยกคำร้อง โดยให้เหตุผลว่าไม่มีเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
4 ธันวาคม 2551
ทนายของดารณี ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยโต้แย้งว่า การสั่งไม่ปล่อยชั่วคราวตาม ม.108/1 นั้น ต้องเข้าข่ายผู้ต้องหา/จำเลยจะหลบหนี, จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน, จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น, ผู้ร้องขอประกันไม่น่าเชื่อถือ, จะไปก่อความเสียหายต่อการสอบสวนหรือดำเนินคดี ซึ่งคดีนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยจะไปยุ่งกับพยานหลักฐานเพราะพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ส่วนการหลบหนีนั้นเป็นเพียงข้อสันนิษฐานโดยไม่ปรากฏเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ส่วนที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคดีนี้เป็นเรื่องร้ายแรงนั้นเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกสำนวน และขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 39 วรรค 2 และ 3 เพราะคดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ยังไม่แน่ว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงต้องถือว่าจำเลยบริสุทธิ์ การไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวยังเป็นอุปสรรคต่อการต่อสู้คดีของจำเลย การรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงต่างๆ ทำได้ยากลำบาก อาจทำให้เสียความยุติธรรมได้ ฯลฯ
ต่อมาราวกลางเดือนธันวาคม ศาลอุทธรณ์ได้ยืนยันเหตุผลเดิมของศาลชั้นต้น ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว
15 ธันวาคม 2551
ศาลนัดสืบพยานในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของดารณี โดยนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 23-25 มิถุนายน 2552 และนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 26-30 มิถุนายน 2552
ส่วนคดีเกี่ยวกับการนำมวลชนจำนวนหนึ่งไปปิดล้อมบริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอมฯ นั้น ศาลได้นัดหมายเพื่อสืบพยานโจทก์ในวันที่ 2-3 กรกฎาคม 2552 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 9-10 กรกฎาคม 2552
26 มกราคม 2552
ศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน คดีหมายเลขดำที่ อ.4767/2551 คือคดีหมิ่นประมาท พล.อ.สะพรั่ง กัลยาณมิตร ศาลสั่งเลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐาน สอบคำให้การจำเลย ไปเป็นวันที่ 16 มีนาคม 2552 เนื่องจากทนายจำเลยร้องขอ
23 มิถุนายน 2552
สืบพยานโจทก์นัดแรกของคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยผู้พิพากษาพรหมาศ ภู่แส ได้มีคำสั่งให้พิจารณาคดีดังกล่าวเป็นการลับ อาศัยอำนาจตามมาตรา 177 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
24 มิถุนายน 2552
- สืบพยานโจทก์วันที่สอง โดยทนายจำเลยและจำเลยไม่ลงรายมือชื่อรับรองการพิจารณาคดีในวันนี้
- ดารณี เผยแพร่คำแถลงถึง 'สื่อมวลชนและพี่น้องผู้รักความเป็นธรรม' โดยในคำแถลงดังกล่าว ดารณีได้ระบุว่า ไม่ยอมรับการพิจารคดีเป็นการลับ เพราะเป็นการปิดบังข้อเท็จจริงมิให้ประชาชนได้รับรู้ และเป็นการทำลายหลักการยุติธรรมของกฎหมาย
"แม้ว่าในวันนี้ข้าพเจ้าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ก็เชื่อมั่นว่า เจตนารมณ์ของคณะราษฎร์ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 จะต้องได้รับชัยชนะในที่สุด" ระบุท้ายคำแถลง
- ทนายจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลคัดค้านการพิจารณาคดีลับ โดยขอให้รอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวตามมาตรา 211 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยระบุว่าการพิจารณาคดีเป็นการลับ เป็นการใช้บทบัญญัติกฎหมาย ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตราที่ 40 (2) และมาตรา 29
- ศาลได้พิจารณายกคำร้องดังกล่าวของทนายจำเลย โดยระบุว่า การพิจารณาลับไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 211 เนื่องจากจำเลยมีทนายแก้ต่าง และสามารถนำพยานหลักฐานมายังศาลได้อย่างครบถ้วน การพิจารณาคดีจึงดำเนินต่อไป
- ทนายจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลคัดค้านการรับฟังพยานหลักฐานซีดีการปราศรัยของจำเลยและบันทึกการถอดความ เนื่องจากจำเลยถูกคุมขังและเมื่อส่งหลักฐานดังกล่าวไปยังทัณฑสถานหญิงกลาง จำเลยไม่สามารถเปิดซีดีเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานได้ เพราะผิดกฎเรือนจำ จำเลยจึงไม่ทราบว่าซีดีบันทึกเสียงอะไร และเป็นเสียงของใคร ทำให้เสียเปรียบในการต่อสู้คดี และไม่สามารถหาวัตถุพยานหลักฐานมาหักล้างวัตถุพยานและพยานเอกสารดังกล่าวได้
25 มิถุนายน 2552
ภายหลังจากไต่สวนพยานโจทก์วันที่สามเสร็จสิ้นแล้ว ทนายจำเลยแถลงต่อศาลขอยกเลิกการไต่สวนพยานจำเลยตามกำหนดเดิมคือวันที่ 26 และ 30 มิ.ย. โดยขอนัดไต่สวนในวันที่ 28 ก.ค. และ 5 ส.ค. 52 ซึ่งศาลอนุญาต
อย่างไรก็ตาม ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องคัดค้านการจดรายงานกระบวนการพิจารณาคดีเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ว่าการเปิดแผ่นซีดีในห้องพิจารณาไม่ใช่เป็นการแถลงขอของโจทก์ (อัยการ) ตามที่ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณา หากแต่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนได้สั่งด้วยวาจาให้โจทก์นำเครื่องเล่นมาเปิดเล่นแผ่นซีดีตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน
26 มิถุนายน 2552
- ทนายจำเลยยื่นคำโต้แย้งคัดค้านการจดรายงานกระบวนพิจารณาอีกครั้ง
1.1 โต้แย้งการจดรายงานฯ วันที่ 23 มิถุนายน ระบุว่า โจทก์ (อัยการ) ไม่ได้ขอให้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับ แต่เป็นดำริของศาล โดยผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเรียกพนักงานอัยการโจทก์เข้าไปพูดคุยก่อน จากนั้นจึงได้เรียกทนายจำเลยเข้าไปแจ้งว่าจะพิจารณาคดีนี้เป็นการลับ ต่อมาโจทก์จึงเขียนคำร้องขอให้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับ ดังจะเห็นได้จากศาลออกนั่งพิจารณาคดีเวลา 10.15 น. แต่คำร้องของโจทก์ เจ้าหน้าที่ศาลประทับตราคำร้องเวลา 11.45 น. นอกจากนี้ในขณะที่ศาลแจ้งทนายจำเลยว่า จะพิจารณาคดีนี้เป็นการลับดังกล่าว ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนได้แจ้งทนายจำเลยด้วยว่า จะให้โอกาสต่อสู้คดีอย่างเต็มที่
1.2 โต้แย้งการจดรายงานฯ วันที่ 24 มิถุนายนเพิ่มเติม ระบุว่า ทนายจำเลยแถลงคัดค้านการเปิดซีดีโดยบังคับให้จำเลยอยู่ฟังด้วย โดยจำเลยไม่ได้สมัครใจ หากศาลประสงค์จะเปิดซีดีฟังศาลสามารถเปิดในห้องทำงานผู้พิพากษาได้ แต่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนแจ้งว่า การเปิดซีดีในห้องพิจารณษเป็นกระบวนการพิจารณาคดีซึ่งต้องกระทำต่อหน้าจำเลย ทั้งยังพูดกับทนายจำเลยว่า ทนายจำเลยจะไม่อยู่ฟังก็ได้ และระหว่างศาลเปิดซีดีฟังในห้องพิจารณาคดี จำเลยอยู่ในห้องพิจารณานั้น เป็นการอยู่โดยคำสั่งศาลหาใช้ความสมัครใจของจำเลยไม่ การเปิดซีดีฟังในห้องพิจารณาดังกล่าว เป็นการช่วยโจทก์ลบล้างข้อบกพร่องในการอ้างแผ่นซีดีและข้อความ ซึ่งจำเลยได้แถลงค้านการรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวเนื่องจากจำเลยไม่มีโอกาสตรวจพิสูจน์ความถูกต้อง
1.3 โต้แย้งการจดรายงานฯ วันที่ 25 มิถุนายน 2552 ว่าการขอโอกาสสู้คดีอย่างเต็มที่ หาใช่เป็นการแถลงของจำเลยดังปรากฏในรายงานฯ จำเลยเพียงแต่แถลงขอเลื่อนคดี ส่วนการให้โอกาสจำเลยสู้คดีอย่างเต็มที่เป็นคำพูดของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน
1.4 จำเลยกราบเรียนว่า เหตุที่ต้องโต้แย้งคัดค้านรายงานฯ วันที่ 25 มิถุนายน เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงใหม่จากการสืบพยานโจทก์ปากสุดท้ายว่า ก่อนเจ้าพนักงานตำรวจจะแจ้งความดำเนินคดีกับจำเลย ได้มีนายสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งเป็นแกนนำพันธมิตรฯ นำคำปราศรัยของจำเลยไปพูดขยายความ ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ไม่ปรากฏสำนวนหรือในพยายนเอกสารที่โจทก์อ้างส่งต่อศาลก่อนหน้านี้ เป็นข้อเท็จจริงนอกพยานเอกสารของโจทก์ และอาจเกี่ยวพันกับประเด็นแห่งคดีนี้ โดยที่จำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจากศาล จึงเป็นอุปสรรคกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแสวงหาพยานหลักฐานของทนายจำเลย ไม่ทราบถึงข้อเท็จจริงที่เพิ่งปรากฏดังกล่าว และไม่สามารถถามค้านพยานโจทก์ให้อธิบายไว้ก่อนได้ และในท้ายที่สุดจำเลยอาต้องอุทธรณ์ฎีกาในประเด็นโอกาสในการต่อสู้คดีของจำเลย การดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีของศาล จึงต้องโต้แย้งคัดค้านรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 23 ถึง 25 มิถุนายน 2552 ดังกล่าว
- องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ได้ส่งแถลงการณ์ถึงผู้สื่อข่าว ระบุว่า รัฐบาลไทยต้องอนุญาตให้มีการพิจารณาที่เปิดเผยต่อสาธารณะแก่ดารณี พร้อมทั้งระบุว่า แม้สนธิสัญญาสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองระหว่างประเทศ (ICCPR) และรัฐธรรมนูญ จะอนุญาตให้กีดกันสาธารณะออกจากการพิจารณาคดีได้ แต่ก็ต้องเป็นไปอย่างจำกัดอย่างยิ่ง และจะต้องเป็นเพียงมาตรการสำคัญเพียงอย่างเดียวที่เหลืออยู่ หลังจากไม่มีมาตรการอื่นใดที่ใช้ได้แล้ว
"ภายใต้หลักกฎหมายสากล การพิจารณาคดีที่เปิดเผยต่อสาธารณะเป็นหลักสำคัญในการปกป้องสิทธิของปัจเจกบุคคลจากการพิจารณาคดีและกระบวนการเกี่ยวกับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม...เมื่อศาลปิดประตูห้องพิจารณา นั่นคือสัญญาณเสี่ยงต่อความอยุติธรรม" แถลงการณ์ระบุ
2 กรกฎาคม 2552
ศาลนัดสืบพยานโจทก์ 5 ปาก ในคดีปิดล้อมเอเอสทีวี
9 กรกฎาคม 2552
ดารณีเป็นพยานให้ตนเองในคดีปิดล้อมเอเอสทีวี
28 กรกฎาคม 2552
ศาลอาญา ยกฟ้องดารณีบุกเอเอสทีวี แต่คงคำพิพากษาหมิ่นประมาท ‘สนธิ ลิ้มทองกุล’ สั่งปรับ 5 หมื่น แต่จำคุกเกินกว่าค่าปรับแล้วจึงให้ปล่อยตัว แต่ยังคงถูกคุมขังจากคดีหมิ่นพระเดชานุภาพ
30 กรกฏาคม 2552
กลุ่มสมัชชาสังคมก้าวหน้าและคนทั่วไปราว 20 คนได้เดินทางไปที่ทัณฑสถานหญิงกลาง และส่งตัวแทน 5 คนเข้าเยี่ยมนางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (มาตรา 112) จากการปราศรัยที่สนามหลวงเมื่อปี 2550 เป็นเวลา 10 นาทีตามกฎระเบียบของเรือนจำโดยมีผู้คุมคอยดูแลอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังมีการถือป้ายรณรงค์คัดค้านการใช้กฎหมายนี้ และบริจาคหนังสือหลายสิบเล่มหลังจากที่ก่อนหน้านี้ทนายความของดารณีได้แจ้งข่าวว่าลูกความของเขาได้ร้องขอให้ประชาชนช่วยบริจาคหนังสือให้แดนแรกรับทัณฑสถานหญิงกลาง เนื่องจากมีหนังสือจำนวนน้อยและเก่ามาก หลังจากนั้นได้มีการเรี่ยไรเงินบริจาคเพื่อนำเข้าบัญชีในเรือนจำของดารณีจำนวน 3,200 บาท และพร้อมกันนี้ยังได้นำเข้าบัญชีในเรือนจำของนางบุญยืน ประเสริฐยิ่ง
27 สิงหาคม 2552
ทนายจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเรื่องการถูกละเมิดสิทธิตมรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 211 กรณีศาลอาญาสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญประทับรับเรื่อง
28 สิงหาคม 2552
นายพรหมาศ ภู่แส และองค์คณะขึ้นนั่งอ่านคำตัดสินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากการปราศรัยของดารณีที่สนามหลวง 3 ครั้ง คือวันที 7 และ 13 มิถุนายน 2551 และ วันที่ 18-19 กรกฎาคม 2551
ตัดสินว่า จากพยานหลักฐาน จำเลยกระทำผิดจริงตามข้อกล่าวหา โดยจำเลยได้กระทำผิด 3 กรรม จากการปราศรัยที่สนามหลวง 3 ครั้ง ตัดสินจำคุกกรรมละ 6 ปี รวม 18 ปี
“แม้จำเลยจะให้การว่าสิ่งที่กระทำไปเพื่อต้องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์จากการถูก คมช. และกลุ่มพันธมิตรฯ ดึงมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่ศาลเห็นว่าเป็นเพียงการแก้ตัวเท่านั้น” ตอนหนึ่งของคำพิพากษา
รายงานข่าวจากเอเอสทีวีระบุถึงคำพิพากษาบางส่วนว่า
"...ตามฟ้องโจทก์ สรุประหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย.2551 เวลากลางคืน จำเลยขึ้นปราศรัยบนเวทีเสียงประชาชน ณ ท้องสนามหลวง ด้วยการกระจายเสียงทางเครื่องขยายเสียง ท่ามกลางประชาชนที่มาฟังจำนวนหลายคน ซึ่งเป็นบุคคลที่สาม โดยกล่าวคำพูดจาบจ้วง ล่วงเกิน เปรียบเทียบและเปรียบเปรย หมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายถึงองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ องค์ปัจจุบัน ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าทั้งสองพระองค์ทรงเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการชุมนุม ประท้วงของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อจะล้มล้างรัฐบาล และการรัฐประหาร
ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสื่อมเสียพระเกียรติยศชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง โดยเจตนาจะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เหตุเกิดที่แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
โดยศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์แล้ว มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม 3 นาย เบิกความว่า เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2551 เวลา 21.00 น.และ 24.00 น.จำเลยขึ้นเวทีปราศรัยที่ สนามหลวง โดยพยานทั้งสามเป็นสายสืบฟังการปราศรัย และพบว่า จำเลยกล่าวข้อความดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ก็ได้บันทึกเสียงลงในเครื่องบันทึก เอ็มพี3 และได้บันทึกลงในแผ่นซีดี แล้วนำมาถอดเทป และจำเลยยังขึ้นปราศรัยกล่าวดูหมิ่นอีกในวันที่ 7 และ 13 มิ.ย.2551 ซึ่งได้บันทึกเสียงไว้ แล้วก็ได้แจ้งข้อหาดำเนินคดีจำเลย โดยพยานโจทก์ เบิกความด้วยว่า แผ่นซีดีบันทึกเสียงที่เป็นหลักฐาน พบว่า เป็นเสียงคนๆ เดียวกัน จึงฟังได้ว่าตามวันเวลาดังกล่าวจำเลย ได้ขึ้นเวทีปราศรัย ขณะที่ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวบนเวที ก็พบว่า แม้จะไม่ระบุตัวบุคคลที่ถูกกล่าวถึงอย่างชัดแจ้ง แต่ถ้อยคำที่กล่าวถึง เช่น สัญลักษณ์สีเหลือง สีฟ้า ในการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นสีประจำวันประสูติของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทำให้เห็นว่าจำเลยกระทำการจาบจ้วงล่วงเกิน โดยทำให้ประชาชนเข้าใจว่าทั้งสองพระองค์สนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่ม พันธมิตรฯ ทำให้ทั้งสองพระองค์ต้องเสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียง
รวมทั้งการกล่าวถึงการรัฐประหาร โดยกล่าวถ้อยคำถึงมือที่มองไม่เห็นหลังสี่เสาเทเวศร์ ซึ่งประชาชนรับรู้อยู่แล้วว่าสี่เสาเทเวศร์ คือ สถานที่ที่เป็นบ้านพักของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี โดยการแต่งตั้งองคมนตรี นั้น ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นอำนาจพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้ง ถ้อยคำของจำเลยจึงทำให้ประชาชนเข้าใจว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สนับสนุน พล.อ.เปรม ในการยึดอำนาจจากประชาชน ซึ่งล้วนเป็นเท็จ
โดยแม้ว่าชั้นพิจารณาจำเลย จะเบิกความว่า จดจำถ้อยคำที่กล่าวปราศรัยไม่ได้ว่ามีประเด็นใดบ้าง และจดจำวัน-เวลาไม่ได้ แต่จำเลยก็ไม่ได้นำสืบโต้แย้งว่าไม่ได้กล่าวถ้อยคำที่โจทก์ยื่นฟ้อง ซึ่งแม้ว่าคำพูดของจำเลยไม่บังเกิดผลเพราะไม่มีใครเชื่อ แต่จำเลยก็ไม่อาจพ้นผิด พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังได้ว่าจำเลยกล่าวคำพูดจาบจ้วง ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ บรมราชินีนาถ
พิพากษาว่า จำเลยกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งกระทำผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษทุกรรม ให้จำคุก 3 กระทงๆ 6 ปี รวมจำคุก 18 ปี…"
28 สิงหาคม 2552
ทนายจำเลยยื่นอุทธรณ์คดีหมิ่นประมาทสนธิ ลิ้มทองกุล ระบุว่า
- โจทก์ไม่มีพยานบุคคลยืนยันว่าจำเลยพูดใส่ความนายสนธิอย่างไรบ้าง มีเพียงพยานยืนยันว่าจำเลยด่าทอผู้เสียหายด้วยถ้อยคำหยาบคายอันเป็นการเบิกความลอยๆ และนายสนธิ ผู้เสียหายเองก็ไม่มาเบิกความต่อศาลแม้จำเลยจะขอให้ศาลส่งหมายเรียกแล้วก็ตาม และไม่ปรากฏว่าผู้เสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากคำพูดจำเลยอย่างไร
- การปราศรัยของจำเลยเป็นการแสดงความคิดเห็นทางกรเมือง โต้ตอบกันระหว่างนายสนธิและจำเลยซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างมีความเชื่อที่แตกต่างกันอย่างสุดโต่ง จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะโจมตีกันด้วยถ้อยคำรุนแรง และผู้ฟังก็ย่อมเชื่อถือแต่ฝ่ายที่ตนเชื่ออยู่แล้ว พวกเป็นกลางย่อมไม่เชื่อถือทั้งสองฝ่าย การใช้คำพูดรุนแรง หยาบคายด่าทอนายสนธิ ย่อมไม่ทำให้สนธิ ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง เพราะพวกที่สำนับสนุนก็จะไม่เชื่อคำพูดจำเลยอยู่แล้ว ส่วนพวกที่สนับสนุนกลุ่ม นปช.หรือเสื้อดงก็ไม่ชอบนายสนธิอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว คำพูดด่าท่อดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท หากเป็นความผิดก็เป็นเพียงความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า อันเป็นความผิดลหุโทษ
- ความผิดฐานหมิ่นประมาทเป็นความผิดต่อส่วนตัว ผู้เสียหายต้องแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเอง แต่นายสนธิ ได้มอบอำนาจให้นายพิสิษฐ์ เอี่ยมสอาด เป็นผู้แจ้งความแทน และนายสนธิ ก็ไม่ได้ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้แจ้งความร้องทุกข์ต่อหน้านายพิสิษฐ์ พนักงานสอบสวนก็ไม่ได้สอบสวนถึงกระบวนการมอบอำนาจนี้ อีกทั้งเมื่อศาลออกหมายเรียกสนธิมาเป็นพยาน เขาก็ปฏิเสธไม่มาเบิกความ คดีนี้จึงไม่มีพยานหลักฐานยืนยันความถูกต้องสมบูรณ์ของการมอบอำนาจ
- พฤติกรรมแห่งคดีนี้เป็นการพูดปราศรัยโจมตีความคิดเห็นทางการเมืองระหว่างจำเลยกับนายสนธิ โดยต่างฝ่ายต่างไม่ได้เหตุโกรธแค้นกันเป็นการส่วนตัว ดังนั้น หากมีการใช้ถ้อยคำรุนแรงหยาบคาย ก็เกิดจากอารมณ์ในการปราศรัยพาไป หาได้มีเจตนาหมิ่นประมาทอันเป็นความชั่วที่สมควรถูกลงโทษไม่ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับ 50,000 บาทจึงเป็นการลงโทษที่รุนแรงเกินไป และน่าจะเป็นความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าแทน ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท จึงขอศาลอุทธรณ์ได้โปรดพิจารณาพิพากษาลดโทษปรับของจำเลยด้วย
- 1 -
โตขึ้นอยากเป็นนักการเมือง
พ่อและแม่ของเธอมาจากเมืองจีน พวกเขามาแต่งงานตั้งรกรากที่เมืองไทย อาศัยอยู่แถวสะพานขาว เธอมีพี่น้อง 4 คน และเป็นลูกคนสุดท้อง พ่อทำงานอยู่โรงไม้ขีดไฟ ครอบครัวมีฐานะค่อนข้างยากจน พี่ชายคนที่สามที่ปัจจุบันเป็นผู้คอยมาเยี่ยมเยียนและส่งเสบียงเข้าไปในเรือนจำนี้เองที่เป็นผู้ส่งเสียให้เธอเรียนจนจบคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ผ่านมาเธอประกอบอาชีพเป็นนักข่าวสายการเมืองอยู่หลายปี พี่ชายเธอเล่าว่า เธอรู้จักนักการเมืองเยอะ เพราะทำงานเป็นนักข่าวนับสิบปี โดยในช่วงหลังๆ เธอเป็นฟรีแลนซ์ไม่สังกัดองค์กรใด เธอยังเคยเป็นผู้ช่วยอดีตส.ว.ท่านหนึ่ง ที่ปัจจุบันเป็น นายก อบจ. จังหวัดหนึ่งด้วย
“เขาอยากเป็นส.ส. อยากเป็นนักการเมือง” พี่ชายเธอว่า
- 2 -
Pridi...My hero
หลังจากจบจากรามคำแหง ดารณีสมัครเรียนต่อปริญญาโทที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ลาออกกลางคัน ซึ่งเธอบอกเองว่าเป็นเพราะไม่พอใจระบบบางอย่าง ก่อนจะไปเรียนต่อที่คณะ.... มหาวิทยาลัยเกริกจนจบปริญญาโท
ขณะที่ต้องขังอยู่ในเรือนจำเธอก็พยายามจะลงทะเบียนเรียนทางไกลกับมหาวิทยาสุโขทัยธรรมาธิราชซึ่งเพิ่งมีโครงการพิเศษเปิดในเรือนจำ เธอพยายามให้พี่ชายไปขอใบปริญญาหรือใบรับรองบางอย่างจากมหาวิทยาลัยเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการสมัคร แต่ไม่ทันการ เพราะติดขัดเรื่องไม่มีรูปถ่าย
“น้องผมเค้าเป็นหนอนหนังสือ เค้าหัวไวด้วย หนังสือเล่มนึงหนาๆ เค้าอ่านแป๊บเดียวจบ แล้วจับได้ โช๊ะๆๆๆ” พี่ชายดาเล่า
ด้วยความที่เธอสนใจด้านรัฐศาสตร์ เธอจึงดูผูกพันกับธรรมศาสตร์ โดยเฉพาะกับปรีดี พนมยงค์ เป็นพิเศษ และยังใช้เขาเป็นกำลังใจสำหรับการใช้ชีวิตในเรือนจำด้วย เธอพูดถึงเขาบ่อยครั้ง ไม่เว้นแม้แต่วันฟังคำพิพากษา
“พี่ก็นึกถึงท่านปรีดี อองซาน ซูจี มหาตมะ คานที จะได้ไม่รู้สึกว่ามีแต่เราคนเดียว” เธอกล่าวตอนอยู่ในห้องขังของศาลอาญา ก่อนขึ้นห้องพิจารณาคดีเพื่อฟังคำตัดสินในวันที่ 28 สิงหาคม
หรือตอนที่สุพจน์ ด่านตระกูล เสียชีวิต ข่าวนี้ไม่ได้สร้างความเศร้าโศกเฉพาะในหมู่ปัญญาชนเท่านั้น แต่เมื่อมีนกพิราบคาบข่าวร้ายนี้ไปบอกเธอในเรือนจำ เธอเงียบไปอึดใจ ก่อนจะถอนหายใจ และบอกว่าเธอคาดหวังว่าจะให้ทนายของเธอเชิญคุณสุพจน์ มาเป็นพยานในศาล เพราะข้อมูลหลายๆ อย่างที่เธอปราศรัยบนเวทีก็มาจากหนังสือที่เขาเขียน
และด้วยความผูกพันกับธรรมศาสตร์แบบนี้กระมังที่ทำให้ก่อนหน้านี้ ช่วงหลังรัฐประหารใหม่ๆ เธอนำมวลชนกลุ่มเล็กๆ จากสนามหลวงมาปราศรัยโจมตี หรืออาจจะเรียกได้ว่า “ด่าทอ” สุรพล นิติไกรพจน์ อธิบการบดีคนปัจจุบันในระหว่างมีงานฉลองกำแพงประวัติศาสตร์ ฐานที่เขาบอกว่ามาตรา 7 ทำได้ และให้ความชอบธรรมกับการทำรัฐประหาร ผลงานนั้นได้ลงหน้าหนึ่งเกือบทุกฉบับเพราะมีคนโชว์ของดีประท้วงด้วย
ใครหลายคนอาจไม่คุ้นเคย หรือไม่ชื่นชอบกับท่าทีการต่อสู้ของเธอ อันนำมาซึ่งฉายา ‘ดา ตอร์ปิโด’ แม้กระทั่งในกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐประหารด้วยกันก็ตาม ด้วยบุคลิกการปราศรัยแบบมุทะลุดุดัน รุนแรง เกินกว่าสังคมไทยจะยอมรับได้ บางคนที่ขึ้นปราศรัยด้วยกันก็บอกว่า “ผมเคยเตือนเค้าแล้ว”
- 3 -
ความหยาบคาย
“คุณได้ไปด่าทอเขาจริงหรือไม่” ทนายถามดาขณะให้การเป็นพยานให้ตัวเองในคดีหมิ่นประมาท พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร
ดารณีซึ่งเพิ่งรับทราบผลจากห้องพิจารณาคดีหมิ่นฯ ที่ตัดสินโทษ 18 ปี และเข้ามานั่งต่อในคดีหมิ่นพล.อ.สะพรั่ง ตอบอย่างฉาดฉาน
“ดิฉันพูดอย่างมีเหตุผลมา 2 ปีแล้ว เราพูดกันจนไม่รู้จะพูดยังไงว่าทำไมต้องคัดค้านการรัฐประหาร มันสร้างความเสียหายให้ประเทศยังไง แต่เค้าเคยฟังไหม แล้ววันนั้นมันเป็นจุดสิ้นสุดความอดทน เพราะมีการยุบพรรคไทยรักไทย”
“ดิฉันไม่ได้ว่า พล.อ.สพรั่งคนเดียว แต่ยังว่าพล.อ.สนธิ พล.อ.เปรม พล.อ.วินัย อีกหลายๆ คนที่มีส่วนร่วม”
“เราไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ไม่ได้ว่าพล.อ.สพรั่งเพราะเป็นพล.อ.สพรั่ง แต่ว่าเพราะเขาเป็นผู้ช่วยเลขาฯ คมช. ไม่ว่าใครจะมาอยู่ตรงนี้ ดิฉันก็จะว่าทั้งหมด”
ไม่รู้ว่านี่เป็นการแก้ต่างที่ดีในการพิจารณาคดีหรือไม่ แต่ก็พอได้แง่มุมเหตุผลในการตัดสินใจปราศรัยแบบที่เธอทำ
- 4 -
ไข่แม้ว
ดารณีบอกว่า เธอเคลื่อนไหวทางการเมืองมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร โดยการปราศรัยกันที่สนามหลวงของประชาชนกลุ่มย่อยๆ ก่อนที่ขบวนการคนเสื้อแดงจะก่อรูปขึ้น
ไม่ว่าจะอย่างไร การเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตย ถูกขับเคลื่อนไปพร้อมกับการสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งทำให้ปัญญาชน นักวิชาการ ฯลฯ บางส่วนอิหลักอิเหรื่อในการให้การสนับสนุน ดารณีก็เป็นคนหนึ่งที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างชัดเจน โดยระบุว่าทักษิณเป็นนักการเมืองที่มีความสามารถ มีการสร้างนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนจนมาก และเธอเห็นด้วยอย่างยิ่ง
“ปัญหาหลักของประเทศเรา ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าความยากจน มันมีช่องว่างเยอะระหว่างคนรวยกับคนจน ต้องทำให้คนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศลืมตาอ้าปากได้ และเขา [ทักษิณ] ทำได้ดี”
“พรรคไหนมีนโยบายแบบนี้ พี่ก็สนับสนุน และถ้าประชาธิปัตย์เขาทำดี เลือกตั้งแล้วเขาชนะ พี่ก็เคารพ” คำบอกเล่าตั้งแต่ในช่วงแรกๆ ที่เข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ
ในวันตัดสินคดี 28 สิงหาคม ก่อนที่จะขึ้นไปยังห้องพิจารณาคดี พี่ชายของเธอ ‘กิตติชัย’ เดินทางมาจากภูเก็ตเหมือนเคยเพื่อฟังคำตัดสินและแวะเยี่ยมน้องสาวที่ห้องขังใต้ถุนศาลอาญาเหมือนเคย แม้ดาจะยังดูปกติ พูดคุยตามธรรมดา แต่พี่ชายของเขามีสีหน้าอมทุกข์
“ผมไม่เอาแล้วทั้งเหลือง ทั้งแดง น้องผมสู้ในสิ่งที่เชื่อ รักเค้าและสู้เพื่อเค้า [ทักษิณ] เอาตัวเข้าแลก แต่พอถึงเวลาที่น้องผมปริ่มๆ ใกล้จะจมน้ำ ไม่มีใครยื่นแม้แต่กิ่งไม้มาช่วย”
- 5 -
เบื้องหลังลูกกรง
ในการถูกคุมตัวช่วงแรกๆ สร้างแรงกดดันให้เธออย่างหนัก เห็นได้การพูดตัดพ้อฝ่ายการเมืองที่เธอสนับสนุนว่ามิได้ให้ความช่วยเหลือ เท่าที่เธอคาดหวัง
“ถ้าเราโดนจับในสมัยคมช. เลยยังจะดีกว่า นี่มันรัฐบาลฝั่งเราแท้ๆ [สมัย สมัคร สุนทรเวช]”
“มันน่าเสียใจที่เราโดนจับขังคุกในยุคของรัฐบาลที่มาตามระบอบประชาธิปไตย...ออกไปคงไม่ไปยุ่งเกี่ยว ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแล้ว”
แต่หลังจากนั้นก็ดูเหมือนจะปรับตัวได้กับสภาพในเรือนจำ ยกเว้นเรื่องสุขภาพที่ยังมีปัญหากรามอักเสบ ทำให้ไม่สามารถอ้าปากได้มาก ทำให้แปรงฟัน หรือทานอาหารได้ไม่สะดวก
“อาหารมันค่อนข้างแย่ กับข้าวมีน้อย แล้วมื้อเย็นที่คนค่อนข้างจะกินเยอะก็ดันเป็นกับข้าวรสเผ็ด เวลาจำกัด เรากินได้ช้า ตอนนี้น้ำหนัดลดไป 15 โลแล้ว”
สภาพชีวิตในคุกสำหรับคนชั้นกลางแล้วก็เป็นเรื่องค่อนข้างหนักหนา นอกเหนือจากการถูกพรากเสรีภาพแล้ว ยังมีเรื่องต้องต่อสู้กับชีวิตประจำวันหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเป็นอยู่ที่แออัด ต้องนอนร่วมกัน 50-80 คน เธอว่าบางครั้งมันแน่นจนต้องนอนตะแคงทั้งคืน
สำหรับนักโทษในคดีหมิ่นฯ ดูเหมือนจะได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษ เธอเล่าว่า คดีนี้เป็นคดีพิเศษ หากเป็นคนอื่น เมื่อแรกเข้ามาในเรือนจำ จะถูกแยก ไม่ให้พูดคุยกับเพื่อนๆ คนอื่น ประมาณหนึ่งเดือน แต่เธอเป็นกรณีพิเศษของพิเศษ เพราะโดนโดดเดี่ยวถึง 3 เดือน
หากสังเกตให้ดียังจะพบความพิเศษนี้ชัดเจนที่ศาล เมื่อเธอถูกเบิกตัวไปให้การไม่ว่าในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือคดีหมิ่นประมาทธรรมดา เธอจะมาในชุดนักโทษหญิงสีน้ำตาล ขลิปปลายแขนสีแดงโดดเด่นตลอดมา ซึ่งเสื้อเช่นนี้เป็นสัญลักษณ์ของนักโทษอุฉกรรจ์ เช่น ผู้ค้ายาบ้าเป็นหมื่นเม็ดขึ้นไป ยังไม่นับรวมการตรวจภายใน ก่อนออกจากเรือนจำ ซึ่งทำให้เธอมักร้องขอให้ศาลนัดพิจารณาคดีต่างๆ ในวันเดียวกัน
"จะออกจากเรือนจำมาศาลแต่ละที เขาจับขึ้นขาหยั่งตรวจภายในทั้งตอนเข้า ตอนออก เขากลัวเรื่องยาเสพติด แต่ไม่ดูเลยนี่มันคดีอะไร มันเป็นคดีการเมือง รู้สึกแย่มากๆ"
นอกเหนือจากความเป็นอยู่ที่ลำบาก การอาบน้ำเพียง 30 วินาที (นับหนึ่งถึงสามสิบ) แล้ว การเอาตัวรอดในหมู่เพื่อนผู้ต้องขังด้วยกันก็เป็นเรื่องสำคัญ
ตลอดระยะเวลา 1 ปี เธอมีเรื่องกระทบกระทั่งกับเพื่อนร่วมเรือนจำหลายครั้ง เพราะความเป็นคนไม่ยอมใคร และตามกฎของเรือนจำ เมื่อมีเรื่องกัน จะต้องโดนลงโทษทั้งสองฝ่าย โดยไม่ต้องไต่สวนว่าใครผิดหรือถูก เธอเปรียบเปรยว่า คนที่หาเรื่องเธอนั้นสามารถกลับขาวเป็นดำ ร้องห่มร้องไห้ได้เก่งยิ่งกว่านางร้ายในละครน้ำเน่า หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่บางคนก็ไม่ชอบหน้าเธอ เห็นเธอเป็นตัวอันตราย และพยายามกันคนอื่นๆ ไม่ให้คบหา พูดคุยกับเธอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีคำตัดสินแล้ว ความกดดันทุกอย่างก็ดูเหมือนจะยิ่งทวีความเข้มข้นมากขึ้น
“พวกผู้ต้องขังที่จ้องจะกลั่นแกล้งเรา หาเรื่องเรา เขายิ่งมั่นใจ เพราะมีคำตัดสินแล้วว่าเราผิด ตอนนี้สงครามประสาทก็ยิ่งหนัก เจ้าหน้าที่ที่ไม่ชอบเราก็เยอะ แต่เจ้าหน้าที่ดีๆ ก็เยอะ โดยเฉพาะหัวหน้า เขาชอบประชาธิปัตย์นะ แต่เขาพูดจากกับเราด้วยเหตุด้วยผล เลยคุยกันได้ แต่เขากำลังจะเกษียณกันยานี้แล้ว คนเค้าก็พูดกันว่า ดูซิว่าจะมีใครคอยคุ้มกะลาหัวอีดาอีก”
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ซึ่งยังไม่รู้ว่าเมื่อไร เธอน่าจะต้องถูกส่งตัวไปยังแดนนอก มิใช่แดนแรกรับอย่างเคย ที่นั่นเธอบอกว่าความเป็นอยู่ลำบากกว่า และต้องทำงานหนักกว่า ไม่สามารถที่จะเลือกทำหรือไม่ทำได้เหมือนตอนอยู่แดนแรกรับอีกแล้ว
- 6 -
ปฏิรูปคุก
ช่วงแรกๆ ที่อยู่ในเรือนจำ เธอยังพูดเรื่องการเมืองอยู่บ้าง แต่หลังจากนั้นไม่นาน เธอก็เริ่มพูดถึงปัญหาในเรือนจำ และแนวทางการปฏิรูปเรือนจำ อาจเพราะในนั้นไม่ให้ได้รับข่าวสารบ้านเมือง ใครไปเยี่ยมเยียนถึงมักถูกซักถาม ตอนนี้ใครเป็นรัฐบาล ด้วยเสียงเท่าไร เสื้อแดงไปถึงไหน หัวหน้าพรรคต่างๆ ชื่ออะไร ฯลฯ นอกจากนี้ดารณียังเสนอการปรับมาตรฐานในเรือนจำหลายเรื่อง เช่น น่าจะมีหนังสือที่หลากหลาย และอัพเดทมากขึ้นในเรือนจำ เพราะเท่าที่มีนั้นจำกัดและเก่ามาก, กรณีผู้ต้องขังหญิงวัยรุ่นจำนวนมากที่ติดคดียาเสพติดเล็กๆ น้อยๆ เป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรบุคคลของชาติ น่าจะนำทรัพยากรส่วนนี้ไปทำประโยชน์ด้านอื่น, การจับแรงงานต่างด้าวจำนวนมากมาไว้ในเรือนจำทำให้เรือนจำซึ่งขาดแคลนทรัพยากรอยู่แล้วยิ่งแออัดและขัดสน น่าจะมีการจัดการรูปแบบอื่น ฯลฯ
ในช่วงสองสามเดือนหลัง ดาได้ขยับขึ้นเป็น ‘แม่ห้อง’ [คล้ายหัวหน้าห้อง] คอยดูแลเพื่อนๆ ในเรือนนอน 50-60 คน เพราะสามารถแก้ไขปัญหาส้วมแตกให้เพื่อนๆ ในเรือนนอนได้ เนื่องจากไม่มีใครกล้าหืออือหรือเรียกร้องอะไรกับเจ้าหน้าที่ แต่เธอลองเสี่ยงดู และได้รับการตอบสนอง
เธอว่าภาระหน้าที่ของการเป็นแม่ห้องค่อนข้างหนัก ต้องออกเงินซื้อปากกา กระดาษ จดรายงานเอง ต้องคอยดูแลคนอื่นๆ ทำให้ได้ไปกินข้าวช้า มีสิทธิพิเศษก็เพียงได้ล็อกเกอร์เล็กๆ ส่วนตัวเพิ่มจาก 1 เป็น 2 และมีที่นอนกว้างกว่าคนอื่นเล็กน้อย
“หลังพิพากษานี่สถานการณ์แย่มาก ตอนนี้ลูกห้องทำอะไรผิด มาลงที่เราหมดเลย ใครผิดก็ควรจะไปว่า ไปลงโทษคนนั้นถูกไหม นี่มาลงเราหมด แล้วลูกห้องก็ได้ใจ”
“พี่อยากจะช่วยงานเขานะ พี่รู้ว่าเขาได้งบน้อยมาก จะเปลี่ยนคอห่านยังลำบาก ใช้กันมา 12 ปีไม่เคยเปลี่ยน ถ้าพี่เป็นส.ส.จะแปรญัตติให้งบเขาเยอะๆ เลย แต่ถ้าเขาไม่เป็นธรรมกับเรา มันก็ไม่ไหว”
- 7 -
?
“พี่ไม่ได้หวังอะไรมาก แค่อยากให้คดีนี้ถูกบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ เวลาคนรุ่นหลังมาดูจะได้รู้ว่าเค้าต่อสู้กันยังไง เหมือนคดีของท่านปรีดี”
“เราทำดีที่สุดแล้ว ถ้าสังคมไทยยังอยากจะเป็นแบบนี้ ไม่มีสิทธิเสรีภาพในการพูดความจริงแบบนี้ก็แล้วแต่ ก็อยู่ไปแบบนี้”
คำพูดของเธอก่อนคดีจะถูกพิพากษาไม่กี่ชั่วโมง
-------------
หมายเหตุ - การโควทคำพูดของดามีคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง ไม่ตรงทุกถ้อยคำ เนื่องจากเป็นเพียงการจดจากการสนทนาระหว่าง เข้าเยี่ยมในเรือนจำในหลายๆ ครั้ง