Skip to main content

 

 

หัวไม้ story - คือ ภาคต่อของรายการทีวีอินเทอร์เน็ต สมาคมหัวไม้' ที่เป็นคล้ายๆ บทบรรณาธิการของกอง บก.ประชาไท เกิดจากการพูดคุย ถกเถียง วิวาทะ เกี่ยวกับเรื่องราวที่น่าสนใจของความเป็นไปในสังคมรอบตัว และอยากจะเน้นย้ำให้ผู้อ่านประชาไทได้รับรู้ไปพร้อมกัน ทุกๆ สัปดาห์ จากนั้นจะมีการรายงานความคืบหน้าในประเด็น หัวไม้' อีกครั้งหนึ่ง ผ่านพื้นที่ของ หัวไม้ story' ในส่วนของบล็อกกาซีน-ประชาไท (ปลายสัปดาห์)

 

 

หากย้อนดูปรากฏการณ์การเคลื่อนขบวนของประชาชนออกมาแสดงพลังขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาลไทยรักไทย ที่ผ่านมานับแต่การเริ่มต้นเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรครั้งแรก การเคลื่อนไหวของพันธมิตรอบสองนี้ นับว่าเป็นจังหวะก้าวที่คุ้นเคยยิ่ง โดยเริ่มการเปิดโปงและเรียกร้องความโปร่งใสในกรณีจำเพาะเจาะจง จากนั้นจึงขยายมูลความผิดออกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งนำไปสู่การต่อต้านรัฐบาลไทยรักไทยในฐานะที่เป็นระบอบทักษิณ ด้วยข้อหาอุกฉกรรจ์ คือ ไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำลายพุทธศาสนาด้วยกรณีสังฆราช 2 องค์ คอร์รัปชั่นอย่างมโหฬารชนิดที่เมืองไทยไม่เคยประสบพบเจอมาก่อน แม้เมื่อเทียบกับยุคเผด็จการ ทั้งกรณีเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดในสนามบินสุวรรณภูมิ (CTX) ขายชาติโดยเอาทรัพย์สินของชาติไปขายในนามของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ไหนจะเป็นสำนึกเห็นแก่ได้ไม่ยอมเสียภาษีจากการขายหุ้นชินคอร์ปให้กองทุนสัญชาติสิงคโปร์อีกเล่า

เรื่องราวครั้งนั้นจบลงที่การรัฐประหาร ดังที่เราท่านรู้ๆ กันดี ครานี้ พันธมิตรฯ เริ่มอีกครั้ง หลังจากที่ดูเหมือนว่าระบอบทักษิณจะเป็นเชื้อชั่วไม่ยอมตาย และกลายพันธุ์มาในรูปแบบใหม่ที่ไม่รู้จะดื้อยากว่าเก่าหรือเปล่า โดยพรรคนอมินีอย่าง พลังประชาชน นำโดยผู้นำพรรคอย่างนายสมัคร สุนทรเวช โดยพันธมิตรระบุความผิดพลาดของรัฐบาลสมัครที่ทำให้ต้องออกมารวมตัวกันอีกครั้งได้แก่

1. มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี และฝ่ายนิติบัญญัติที่มีประวัติด่างพร้อย และมีมลทิน อันเป็นการจงใจหยามเหยียดเกียรติภูมิของประเทศ และดูถูกศักดิ์ศรีของคนในชาติ

2. มีการเร่งรัดในการโยกย้ายข้าราชการเพื่อแทรกแซง และตัดตอนกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับคดีความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโยกย้ายอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษให้พ้นจากคดีความที่มีความเกี่ยวพันกับระบอบทักษิณ

3. มีการโยกย้ายข้าราชการตำรวจเพื่อล้างแค้นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตแกนนำอดีตพรรคไทยรักไทย และแกนนำพรรคพลังประชาชนให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ ไม่เว้นแม้แต่ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อันเป็นสัญญาณการสร้าง "รัฐตำรวจ" ให้กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่งเพื่อปูทางสร้างฐานให้กับ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พี่ภรรยาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้มาเป็นผู้คุมดูแลรัฐตำรวจในอนาคตอันใกล้

4. มีการดำเนินการโยกย้ายข้าราชการอย่างอุกอาจสำคัญๆ เช่น เลขาธิการองค์การอาหารและยา (อย.) และอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์อย่างไร้เหตุผล อันเป็นการกระทำการโยกย้ายใช้อำนาจแบบเผด็จการทุนนิยมสามานย์อย่างโจ่งแจ้ง ดังที่เคยปรากฏมาแล้วเหมือนในอดีตในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่อดีตนายกรัฐมนตรีกุมอำนาจตัดสินใจสั่งการแต่ผู้เดียว ทำลายระบบคุณธรรม ก่อให้เกิดความแตกแยกอย่างรุนแรง บริหาร สั่งราชการ และตัดสินใจในการดำเนินการใดๆ ขึ้นอยู่กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรแต่เพียงผู้เดียว

5. มีการแทรกแซงสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี โดยการยิงสัญญาณก่อกวนเพื่อปิดกั้นข้อมูลข่าวสารไม่ให้ประชาชนได้รับทราบอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และเป็นลักษณะของการก่อการร้ายสากล และยังให้เคเบิลทีวีท้องถิ่นในหลายพื้นที่งดการถ่ายทอดรายการจากสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวีเพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารและข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งที่ตรงไปตรงมา

6. รัฐบาลได้จุดประเด็นดำเนินนโยบายบ่อนเสรีสร้างอบายมุขเหยียบย่ำศีลธรรม เป็นการจงใจที่จะทำลายรากเหง้าและฐานรากวัฒนธรรมและศีลธรรมอันดีงามของสังคมไทย เพื่อแลกกับผลประโยชน์มหาศาลเฉพาะหน้า ทำลายแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่บัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยไม่ใส่ใจกับการล่มจมของประเทศชาติสลายในอนาคต

7. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์สื่อสารมวลชนต่างประเทศเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม และมีเป้าหมายกลับมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างชัดเจน ตลอดจนมีการพาดพิงไปถึงสถาบันอันสำคัญของประเทศว่าเป็นตัวการอยู่เบื้องหลัง

นี่คือภาคต่อเนื่องของพันธมิตรฯ และชื่อของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้นเป็นเป้าหมายอันใหญ่ที่พันธมิตรต้องการจะหยุดแบบถอนรากถอนโคน ดังที่ปรากฏในแถลงการณ์พันธมิตรฯ ที่ออกมาในปี 2549

 

ลองเทียบเคียงที่จุดเริ่มต้นครั้งก่อน ใครจะกล่าวหาว่าเป็นการประท้วงไปเรื่อย เหมือนกับว่าพอไม่ได้ดังใจก็ออกมาประท้วง อาจจะต้องทบทวนข้อกล่าวหากันอีกที เพราะไม่เพียงแต่มีข้อเสนอ หากที่จุดเรี่มต้นการชุมนุมที่นำโดยคุณสนธิ ลิ้มทองกุลนั้นมีข้อเสนอเป็นรูปธรรมอย่างยิ่ง เช่น

1. ต้องกล้าจัดการกับปัญหาคอร์รัปชันรายใหญ่ และจัดการกับเครือญาติที่คอร์รัปชัน และจัดการกับรัฐมนตรีที่คอร์รัปชัน

2.ต้องกล้าจัดการแก้ปัญหาเรื่องการมีสมเด็จพระสังฆราช 2 พระองค์ และ

3. กล้าให้คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) (23 ก.ย. 2548-ผู้จัดการรายวัน)

ในระหว่างที่การเรียกร้องอย่างเป็นรูปธรรมดำเนินไป การผลิตวาทกรรมขึ้นมารองรับก็ดำเนินไปพร้อมๆ กันด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวาทกรรม พระราชอำนาจ' อันมีผลสืบมาถึงการตีความมาตรา 7 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และลงท้ายด้วย แถลงการณ์พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ฉบับที่ 6/2549 ชวนพี่น้องประชาชนรวมพลังร่วมแสดงตนขอพึ่งพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงพระกรุณาใช้พระราชอำนาจตามนัยแห่งมาตรา 7 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 พระราชทานนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพื่อให้เกิดกระบวนการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2

 

แม้ไม่ได้นายกพระราชทาน แต่พันธมิตรและชาวไทยทั้งหลายก็ได้นายกฯ สูงคุณธรรมที่กองทัพส่งมาให้ พร้อมๆ กับการเมืองและเศรษฐกิจที่สะดุดชะงัดลงในช่วงเวลาปีเศษๆ

ย่อหน้าจากนี้ไป ประชาไทไม่ได้แต่งเติมใดๆ ทั้งสิ้น หากแต่ทุกคำคัดลอกมาจากข้อเสนอที่ผู้นำการชุมนุมในช่วงแรก นายสนธิ ลิ้มทองกุล และต่อมาคือข้อเรียกร้องที่ถูกประกาศออกมาในนามพันธมิตรฯ อ่านไปเพลินๆ เราก็จะเห็นสังคมในอุดมคติของฝ่ายพันธมิตร ซึ่งวันนี้ก็ยังย้ำคำเดิมว่า สังคมนั้นต้องไม่มีคนชื่อ ทักษิณ ชินวัตร

000

 

แก้ปัญหาประเทศชาติต้องใช้จิตใจ เริ่มต้นด้วยจิตใจที่สุจริตก่อน ตามด้วยจิตใจที่รักความเป็นธรรม และจิตใจที่ต้องการทำเพื่อส่วนรวม (15 ต.ค. 2548-ผู้จัดการรายวัน)

 

 

 

เอาธรรมนำหน้า เพราะธรรมไม่มีวันผิด" (23 ก.ย.2548 ผู้จัดการรายวัน)

 

 

 

"ความเจริญในมิติของนายกรัฐมนตรี กับความเจริญของผมนี่ไม่เหมือนกัน ท่านมองถึงโครงการที่มีรางรถไฟ ท่านมองถึงตึกสูงที่เกิดขึ้น ท่านมองถึงหวยบนดิน ท่านมองถึงเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ซึ่งจะมีบ่อนการพนัน ท่านมองถึงอะไรหลายอย่าง ท่านมองถึงโอท็อปซึ่งเจ๊งไปเรียบร้อยแล้ว ท่านมองเพียงแค่จีดีพี

 

"แต่ผมมองความเจริญทางจิตวิญญาณ ผมมองความเจริญว่านักการเมืองนั้นต้องไม่โลภแล้วไม่โกงกิน ไม่ทำร้าย ทำลายประเทศ ผมมองความเจริญทางด้านศีลธรรม ทางด้านคุณธรรม ผมมองความเจริญในเรื่องของความสงบในสังคม ผมมองความเจริญของเรื่องครอบครัวที่เป็นหน่วยใดหน่วยหนึ่ง มีความอบอุ่น ผมมองความเจริญที่การศึกษาที่ให้องค์ความรู้คน ผมมองความเจริญของการไม่ปิดกั้นข่าวสาร ให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริง ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในประเทศ ไม่ใช่ให้เขาร่วมแค่ 4 วินาที ตอนที่เดินไปแล้วหย่อนบัตรเท่านั้นเอง"นายสนธิ กล่าว (16 ธ.ค. 2548-ผู้จัดการรายวัน)

 

 

 

"สถานการณ์ของชาติบ้านเมืองในเวลานี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกระบวนการแก้ไข ปรับปรุงรายละเอียดของรัฐธรรมนูญด้วยแนวทางสันติวิธี และชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดการถวายพระราชอำนาจคืนแด่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ในการพระราชทานผู้นำในการปฏิรูปการเมือง เพื่อดำเนินการจัดโครงสร้างองค์กรทางการเมืองใหม่ ผ่านการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ที่อย่างน้อยจะต้องมีสารัตถะไม่บังคับผู้สมัคร ส.ส.สังกัดพรรคการเมือง ไม่มีมาตรการทำลายพรรคขนาดเล็ก นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง และจัดระบบที่มาของวุฒิสภาเสียใหม่ไม่ให้เป็นช่องทางแทรกแซงของพรรคการเมืองทั้งหมด รวมทั้งจะต้องมีมาตรการพิเศษเฉพาะหน้าเพื่อการขจัดคอร์รัปชั่นในโครงการใหญ่ ให้เป็นผลเป็นรูปธรรม

 

โครงสร้างทางการเมืองใหม่ที่มาจากการพระราชทานผู้นำในการปฏิรูปการเมืองของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทนี้ ประชาชนทั้งประเทศจะเป็นผู้ออกเสียงเป็นประชามติก่อนประกาศใช้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักของราชประชาสมาศรัย เป็นความอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชน (11 พ.ย. 2548-ผู้จัดการรายวัน)

 

 

000

ข้อเรียกร้องบางส่วนของพันธมิตรนั้นได้รับการตอบสนองภายหลังการรับประหาร 19 กันยายน 2549 ขณะที่ก็ต้องแลกกับภาวะชะงักของเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในสายตาโลก กระทั่งผู้นำระดับสูงของรัฐบาลพม่าหยิบยกประเทศไทยไปเทียบเคียงกับสถานการณ์ในประเทศตัวเอง มิหนำซ้ำยังบอกด้วยว่า ขณะนี้รูปแบบการเลือกตั้ง ส.ว. ของพม่าดูท่าจะเป็นประชาธิปไตยกว่าไทยเสียด้วยซ้ำ

ผลโพลล์ล่าสุด จากศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์ สถาบันวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จากกลุ่มตัวอย่าง 1,214 คน ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม ร้อยละ 57.4 ให้เหตุผลว่าจะเป็นการสร้างความวุ่นวาย และทำให้เกิดความแตกแยก ควรให้รัฐบาลทำงานนานกว่านี้ก่อน และ ร้อยละ 80.8 ระบุว่าจะไม่ไปร่วมชุมนุม

แน่นอนว่าเมื่อผ่านภาวะสะบักสะบอมมาด้วยกันทุกฝ่าย และหลายคนเสียเพื่อน เสียน้ำตาไปเพราะความขัดแย้งทางความคิดที่ระอุมากว่าสามปี นี่ไม่ใช่เรื่องไม่ปกติ ที่สังคมจะมีคนที่คิดเห็นแตกต่าง

ที่ผ่านมานั้น พันธมิตรฯ ได้แสดงให้เห็นค่อนข้างชัดแล้วว่าต้องการอยู่ในประเทศแบบไหน และประชาชนทั่วไปนั้นพอจะรู้แล้วว่า พันธมิตรฯ เดินไปไหน เพียงแต่ครั้งนี้ พันธมิตรฯ จะไปไกลแค่ไหน

หรือจะต้องย้อนกลับไปการประกาศกู้ชาติฉบับที่ 1/2549 เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2549......

"ไม่ชนะ-ไม่เลิก!"

 

 

 

ลำดับเหตุการณ์พันธมิตรฯ รอบแรก

23 กันยายน 2548 หลังจาก บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) สั่งให้ระงับรายการ เมืองไทยรายสัปดาห์ ดำเนินรายการโดย สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งและเจ้าของหนังสือพิมพ์ในเครือผู้จัดการ และ สโรชา พรอุดมศักดิ์ ซึ่งออกอากาศทางช่อง 9 อ.ส.ม.ท. มาตั้งแต่ 4 กรกฎาคม 2546 โดยเทปสุดท้ายออกอากาศเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2548 หลังจากนั้นจึงเกิดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรขึ้น โดยครั้งที่ 1 จัดขึ้นที่หอประชุมศรีบูรพา (หอประชุมเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในงาน วางขายเสื้อสกรีนข้อความ "เราจะสู้เพื่อในหลวง"

สนธิยืนยันว่า เขาไม่ใช่นักปลุกระดม ไม่ได้รับเงินจากพรรคประชาธิปัตย์มาโค่นล้มรัฐบาล ตามที่ถูกกล่าวหา เพียงแต่ต้องการทำหน้าที่ตามวิชาชีพสื่อ ทั้งนี้ได้รู้จักกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มานาน ยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ใช่เป็นนักประชาธิปไตย และเล่าว่า สมัยก่อนการเลือกตั้งครั้งแรก ได้มาหาที่บ้านเพื่อขอความสนับสนุน และยืนยันว่ารวยแล้วไม่โกง ซึ่งฟังแล้วเคลิ้มตาม แต่ต่อมา ในปีแรกที่เป็นนายกรัฐมนตรี มีปัญหาเรื่องคดีซุกหุ้น ปีที่ 2 ย้ายข้าราชการจำนวนมาก พอเข้าสู่ปี 47 เริ่มพบความผิดปกติ ซึ่งยอมไม่ได้แล้ว จะยอมหักไม่ยอมงอ เพราะถือคติที่ว่า ยอมเป็นหยกที่แหลกลาญดีกว่ากระเบื้องที่สมบูรณ์

สนธิระบุว่ายังให้โอกาส พ.ต.ท.ทักษิณแก้ตัว โดยต้องกล้าจัดการกับปัญหา 3 ข้อ คือ 1.ต้องกล้าจัดการกับปัญหาคอร์รัปชันรายใหญ่ รวมถึงเครือญาติที่คอร์รัปชัน 2.ต้องกล้าจัดการแก้ปัญหาเรื่องการมีสมเด็จพระสังฆราช 2 พระองค์ และ 3. กล้าให้คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งคิดว่าไม่กล้า

หลังจากนั้น มีการชุมนุมทุกวันศุกร์ ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

14 ตุลาคม 2548 เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ครั้งที่ 4 ย้ายจากหอประชุมศรีบูรพา ไปหอประชุมใหญ่ โดยมีผู้เข้าร่วมมากขึ้น เนื่องจากตรงกับวันครบรอบเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

28 ตุลาคม 2548 เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ครั้งที่ 6 ย้ายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาจัดที่สวนลุมพินี จำนวนผู้ชุมนุมเพิ่มมากขึ้น

11 พฤศจิกายน 2548 เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ครั้งที่ 8 สนธิ ลิ้มทองกุล นำประชาชนหลายหมื่นคน ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ว่าจะร่วมกันต่อสู้โดยสันติ และโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดการถวายคืนพระราชอำนาจ และขอพระราชทานผู้นำในการปฏิรูปการเมือง เพื่อจัดโครงสร้างทางการเมืองใหม่ ให้หลุดพ้นจากการครอบงำของนายทุนพรรคการเมือง และเกิดประโยชน์สุขต่อประชากร

 

13 มกราคม 2549 เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรครั้งที่ 14 ขบวนผู้ชุมนุม นำโดย สนธิ ลิ้มทองกุล เดินทางจากสวนลุมพินี ไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อแสดงพลังขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ผู้ชุมนุมบางส่วนพยายามบุกเข้าไปในทำเนียบ

23 มกราคม 2549 พ.ต.ท.ทักษิณขายหุ้นของตระกูลชินวัตรทั้งหมดในเครือชินคอร์ป มูลค่า 73,300 ล้านบาท ให้แก่บริษัทเทมาเซคของสิงคโปร์ โดยไม่เสียภาษี เนื่องจากเป็นการขายจากบุคคลธรรมดา ไม่ใช่นิติบุคคล

 

 

4 กุมภาพันธ์ 2549 หลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวในรายการนายกทักษิณพบประชาชน ในเช้าวันเดียวกันว่า ไม่ต้องออกมาชุมนุมไล่ให้เสียเวลา หากพระเจ้าอยู่หัว "กระซิบ" ให้ลาออก เขาก็จะลาออกทันที ในการชุมนุม ในช่วงค่ำ สนธิ ลิ้มทองกุล ได้วิจารณ์พ.ต.ท.ทักษิณว่า จาบจ้วงเบื้องสูง "ทหารอยู่ไหน พูดแค่นี้ก็เอามันไปยิงเป้าได้แล้ว" สนธิกล่าว

ต่อมา สนธิได้อ่านคำถวายฎีกา ซึ่งจะถวายในหลวง ระบุว่า ประชาชนผู้ถวายฎีกามีความเดือดร้อน อันเนื่องมาจากรัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ได้สร้างความเสื่อมทรุด ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ด้านต่างๆ 5 ประเด็น ได้แก่

1. วิกฤตการณ์ทางการเมืองและการบิดเบือนระบอบประชาธิปไตย

2. การฉ้อราษฎร์บังหลวงใช้ กอบโกยผลประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้องผ่านนโยบายสาธารณะ มีผลประโยชน์ทับซ้อนจากการใช้อำนาจบริหาร

3. ขายทรัพยากรและสิทธิประโยชน์ของชาติ มุ่งประโยชน์ตัวโดยขาดจริยธรรม

4. วิกฤตการณ์ศาสนาและจริยธรรม

5. ขาดความรู้ความเข้าใจ ทำให้ปัญหาวิกฤตสามจังหวัดภาคใต้ลุกลามบานปลาย

หลังจากอ่านฎีกาจบ สนธิและขบวนผู้ชุมนุมบางส่วนได้เดินทางไปบ้านสี่เสาเทเวศน์ เพื่อนำฎีกามอบให้แก่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ขณะที่สโรชาและจิตนาถ ลิ้มทองกุล เดินนำอีกขบวนเดินทางไปพระบรมมหาราชวัง เพื่อนำฎีกามอบให้แก่เลขาฯ องคมนตรี เพื่อนำถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ดูเพิ่ม สนธิพูดอะไร ในวันที่ 4 กุมภาฯ, ประชาไท)

ต่อมา เวลาประมาณ 1.25น. ของวันที่ 5 กุมภาพันธ์ สนธิ ลิ้มทองกุล พร้อมด้วยผู้ชุมนุม เดินทางไปยังกองบัญชาการกองทัพบก เพื่อยื่นจดหมายถึง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. เรียกร้องให้ทหารออกมายืนเคียงข้างประชาชน โดยใจความตอนหนึ่งระบุว่า

"ขณะนี้เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าประชาชนทั้งประเทศไม่ต้องการให้รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร บริหารประเทศอีกต่อไป จึงขอเรียกร้องให้ข้าราชการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกหมู่เหล่า เพื่อรักษาสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ออกมายืนเคียงข้างประชาชนตั้งแต่บัดนี้"

ทั้งนี้ ทางกองทัพบกได้ส่ง พลตรีจเร อนุภาค เลขานุการกองทัพบก มาเป็นตัวแทนรับจดหมาย

 

5 กุมภาพันธ์ 2549 สนธิปราศรัยปิดการชุมนุมในวันนั้น ด้วยการประกาศ "ชัยชนะ 4 ประการ" ได้แก่ 1.การที่ถวายฎีกาที่สำนักราชเลขาฯ สำนักพระราชวัง ได้เป็นที่เรียบร้อย แม้จะเลยเวลาทำการ 2.แม้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในฐานะประธานองคมนตรี จะเดินทางไปงานศพแห่งหนึ่ง แต่ได้ให้ พล.ร.ท.พระจุณณ์ เชิญเขาเข้าไปในบ้าน เพื่อที่จะรับจดหมายร้องทุกข์ แทนที่จะรับหน้าบ้าน 3.พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยินดีที่จะรับเขา สโรชา และประพันธ์ คูณมี เข้าไปในห้องรับรอง ได้รับฟังคำอธิบายของผมถึงการจาบจ้วงพระเจ้าอยู่หัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ และเมื่อเขาถาม พล.อ.สนธิ ว่าจะยืนข้างประชาชนหรือเปล่า พล.อ.สนธิ พยักหน้า และว่าผมจะยืนข้างประชาชน เพราะผมเป็นทหารของพระเจ้าอยู่หัว และ 4. ชัยชนะของผู้ชุมนุมที่มาชุมนุมกันอย่างสันติ ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ พร้อมนัดหมายชุมนุม "ปิดบัญชี" ในวันที่ 11 ก.พ.

 

 

10 กุมภาพันธ์ 2549 แถลงข่าวเปิดตัว กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยมีพันธกิจ 3 ข้อคือ รณรงค์ผลักดันให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่ง "ขาดความชอบธรรมขั้นพื้นฐาน" ลาออกจากตำแหน่ง เปิดโปงความไม่ชอบธรรม และวาระซ่อนเร้นของระบอบทักษิณ และประสานกลุ่มพลังต่างๆ ในสังคม ผลักดันการปฏิรูปการเมืองไทยครั้งที่ 2 โดยยึดแนวทางลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน

 

 

11 กุมภาพันธ์ 2549 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนัดชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยมีการร่วมตัวกัน เคลื่อนขบวนจากสะพานมัฆวานเข้าสู่ถนนราชดำเนินนอก ไปยังลานพระบรมรูปทรงม้าได้สำเร็จ

 

 

19 กุมภาพันธ์ 2549 พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ประกาศเข้าร่วมกับพันธมิตรฯ โดยให้เหตุผลว่า ตัดสินใจเข้าร่วม เพราะกรณีขายหุ้นชินคอร์ป และกรณีที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ถูกสมัคร สุนทรเวช -ดุสิต ศิริวรรณ จาบจ้วง ในรายการ

 

23 กุมภาพันธ์ 2549 พ.ต.ท.ทักษิณเข้าพบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ

24 กุมภาพันธ์ 2549 พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และประกาศยุบสภาในเวลาต่อมา

25 กุมภาพันธ์ 2549 3 พรรคฝ่ายค้าน มีมติคว่ำบาตรการเลือกตั้ง 2 เม.ย.

26 กุมภาพันธ์ 2549 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ชุมนุมครั้งที่ 2 ที่ท้องสนามหลวงเพื่อกดดันให้พ.ต.ท.ทักษิณลาออกจากตำแหน่ง และวางมือทางการเมือง

เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ เผยแพร่บทความ "การงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา" ของ ชัยอนันต์ สมุทวณิช ซึ่งเป็นการตีความว่า ขอนายกฯ พระราชทานได้ โดยใช้มาตรา 7

 

27 กุมภาพันธ์ 2549 พันธมิตรฯ พาผู้ชุมนุมเดินจากท้องสนามหลวง ไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ระบุว่า เพื่อแสดงเจตนารมณ์และคารวะดวงวิญญาณวีรชน 14 ตุลา

พันธมิตรฯ ออกแถลงการณ์ ขีดเส้นตาย ให้ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยไม่มีเงื่อนไข ภายใน 5 วัน (ภายในวันอาทิตย์ที่ 5 มีนาคม 2549)

 

1 มีนาคม 2549 พ.ต.ท.ทักษิณ ปฏิเสธข่าวลือที่ว่าเขาจะลาออกจากตำแหน่งนายกฯ โดยยืนยันว่าจะทำหน้าที่จนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ

วันเดียวกัน สื่อมวลชนรายงานกระแสข่าวลืออย่างต่อเนื่องว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะเข้าพบ พล.อ.เปรม ที่บ้านพักสี่เสาเทเวศร์ ในช่วงเย็น พร้อมกับอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตผู้นำฝ่ายค้าน โดยเชื่อว่าจะเป็นการเคลียร์ปัญหากรณีฝ่ายค้านบอยคอตไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.ทักษิณ ปฎิเสธข่าวลือดังกล่าว ส่วน พล.อ.เปรม ตอบว่า ไม่ทราบ ขณะที่องอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ปฏิเสธข่าวลือดังกล่าว แต่ยอมรับมีผู้ใหญ่บางคนพยายามเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยปัญหา ระหว่างหัวหน้าพรรคไทยรักไทยและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แต่ไม่ใช่ พล.อ.เปรม

 

 

3 มีนาคม 2549 สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยื่นจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้แต่ละฝ่ายถอยคนละก้าว พร้อมเสนอให้รักษาการนายกฯ ลาออกและขอรักษาการนายกฯ พระราชทาน ผ่านมาตรา 7

พรรคไทยรักไทยจัดปราศรัยใหญ่ที่สนามหลวง

เกิดเหตุระเบิดป้อมตำรวจหน้าบ้านสี่เสาเทเวศน์ ซึ่งเป็นบ้านพักของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี

 

5 มีนาคม 2549 พันธมิตรฯ เคลื่อนจากสนามหลวงไปทำเนียบ และกลับมาที่ท้องสนามหลวง ประกาศชุมนุมยืดเยื้อ "ไม่ชนะไม่เลิก"

 

11 มีนาคม 2549 น.พ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทย พร้อมกับขออุปสมบท ส่งผลให้สถานภาพในฐานะผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 93 พรรคไทยรักไทย เป็นประเด็นปัญหาในข้อกฎหมายขึ้นมา และมีแนวโน้มว่าจะทำให้ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ไม่ครบ 100 คน อันนำไปสู่ปัญหาการเปิดประชุมสภา เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้มี ส.ส.ครบ 500 คน เพื่อเปิดการประชุมสภา

 

 

14 มีนาคม 2549 พันธมิตรฯ เคลื่อนจากสนามหลวง มาปักหลักชุมนุมหน้าทำเนียบ ระบุชุมนุม จนกว่าพ.ต.ท.ทักษิณจะลาออก

 

18 มีนาคม 2549 สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและสภาทนายความ ออกแถลงการณ์ เรื่องวิกฤตศรัทธาในตัวรักษาการนายกรัฐมนตรี โดยเรียกร้องให้ประชาชน "ดำเนินการโดยราชประชาสมาสัยให้เกิดพลังมหาชน เพื่อขอให้ทรงใช้พระราชอำนาจตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย"

 

21 มีนาคม 2549 พันธมิตรฯ ประกาศให้เวลาพ.ต.ท.ทักษิณ 48 ชั่วโมง ตัดสินใจสละอำนาจ

 

23 มีนาคม 2549 พันธมิตรฯ ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 6/2549 "นัดหมายชุมนุมใหญ่แสดงตนขอพึ่งพระบารมี ขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 7 ปลดชนวนวิกฤตของแผ่นดิน เริ่มต้นการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2" โดยเชิญชวนประชาชน "รวมพลังร่วมแสดงตนขอพึ่งพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงพระกรุณาใช้พระราชอำนาจตามนัยแห่งมาตรา 7 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 พระราชทานนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพื่อให้เกิดกระบวนการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 ที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรม โดยพลัน"

 

 

25 มีนาคม 2549 พรรคประชาธิปัตย์ปราศรัยใหญ่ที่สนามหลวง เรียกร้องคณะรัฐมนตรีออกยกชุด เพื่อขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลใหม่ ตามมาตรา 7

 

26 มีนาคม 2549 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รวมตัวกันที่สนามศุภชลาศัย เคลื่อนขบวนไปตามถนนสุขุมวิท ย่านธุรกิจต่างๆ ที่สำคัญ เช่น สยามเซ็นเตอร์ มาบุญครอง สยามพรารากอน ผ่านแยกราชประสงค์ เข้าสู่ ถนนสุขุวิท ห้างสรรพสินค้าดิเอ็มโพเรี่ยม เพื่อเรียกร้องให้กลุ่มพลังเงียบขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และร่วมลงชื่อถวายฎีกาขอพระราชทานนายกรัฐมนตรี

พรรคไทยรักไทยจัดเวทีปราศรัยใหญ่ที่บริเวณลานพระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่ โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ประกาศว่า หากผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว พรรคไทยรักไทยพร้อมจะตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมา เพื่อยุติความขัดแย้งและปัญหาในบ้านเมืองขณะนี้ โดยจะเปิดโควต้ารัฐมนตรีให้กับพรรคที่ลงเลือกตั้งและไม่ลงเลือกตั้งให้เข้ามาช่วยกันแก้ปัญหา มีการขายเสื้อและผ้าโพกหัว ข้อความว่า "ทักษิณ สู้"

 

29 มีนาคม 2549 เครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ชุมนุมบริเวณหน้าศูนย์การค้าสยามพารากอน

 

30 มีนาคม 2549 ผู้ชุมนุมในพันธมิตรฯ บางส่วนเคลื่อนขบวนแยกเป็น 2 กลุ่ม มุ่งหน้าไปกดดันการทำงานของตำรวจที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่อาคารศรีจุลทรัพย์

ที่หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เผาหุ่นฟาง หุ่นอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประท้วงการเปิดปราศรัยของพรรคประชาธิปัตย์ จนอภิสิทธิ์ ต้องประกาศยกเลิกการปราศรัยในที่สุด

คาราวานคนจนปิดล้อมอาคารเนชั่น เนื่องจากไม่พอใจกรณีที่ นสพ.คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ตีพิมพ์คำสัมภาษณ์นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อันมีถ้อยความหมิ่นเหม่ต่อสถาบันเบื้องสูง โดยหลังการเจรจากับผู้บริหาร นสพ.คม ชัด ลึก ได้ข้อสรุปว่า นสพ.คม ชัด ลึก ผิดพลาดในกระบวนการเสนอข่าว ซึ่งลงถ้อยความคำสัมภาษณ์ไม่ครบถ้วนและขอปิดตัวเองลง 5 วัน พร้อมทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานอภัยโทษ โดยนายก่อเขต จันทรเลิศลักษณ์ บรรณาธิการ รับผิดชอบด้วยการลาออก คาราวานคนจนจึงล่าถอยไป

 

2 เมษายน 2549 เลือกตั้งทั่วไป พรรคไทยรักไทยได้คะแนนเสียงในระบบัญชีรายชื่อ 16,420755 คะแนน มีจำนวนผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน ร้อยละ 33.14

 

4 เมษายน 2549 พ.ต.ท.ทักษิณ ประกาศไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ยังคงรักษาการต่อไปจนกว่าจะมี ครม.ชุดใหม่

 

7 เมษายน 2549 พันธมิตรฯ ชุมนุมสั่งลาชั่วคราว ประกาศโค่นทักษิณพร้อมระบอบทักษิณ ยืนยันแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยมาตรา 7 เพื่อการจัดตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติเพื่อการปฏิรูปการเมือง โดยนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เตรียมขยายเครือข่ายเพื่อเป็นสมัชชาประชาชน ขับเคลื่อนการปฏิรูปการเมือง โดยยึดหลักลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน และปรับฐานความคิดจากนายกรัฐมนตรีเข้มแข็ง เป็นประชาชนเข้มแข็ง พร้อมทั้งประกาศว่า ในช่วงช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. คงไม่มีการชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพฯ เนื่องจากช่วงดังกล่าว เป็นช่วงของการเฉลิมฉลองครองราชย์ครบ 60 ปี และจะใช้วิธีจัดเวทีอภิปรายในต่างจังหวัดทั่วประเทศ แทน

 

 

25 เมษายน 2549 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า "ข้าพเจ้ามีความเดือดร้อนมาก ที่เอะอะอะไรก็ขอพระราชทานนายกฯ พระราชทาน ซึ่งไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย ถ้าไปอ้างมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญเป็นการอ้างที่ผิด มันอ้างไม่ได้" และ "อยู่ที่ผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็นสำคัญที่จะ ศาลอื่นๆ ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลอะไรไม่มีข้อที่จะอ้างได้มากกว่าศาลฎีกา ผู้พิพากษาศาลฎีกาที่จะมีสิทธิที่จะพูด ที่จะตัดสินก็ขอให้ท่านได้กลับไปพิจารณา ไปปรึกษาผู้พิพากษาศาลแผนกอื่นๆ ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ว่าควรทำอย่างไรไม่ต้องรีบทำ ไม่งั้นบ้านเมืองล่มจม"

 

27 เมษายน 2549 พันธมิตรฯ แถลงขอน้อมรับพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 25 เมษายน พร้อมทั้งสนับสนุนและให้กำลังใจศาลทั้ง 3 ศาล คือศาลฎีกา ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญที่จะร่วมกันประชุมหารือกัน เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตของบ้านเมือง ผลออกมาอย่างไรก็จะยอมรับทุกประการ

โดยกลุ่มพันธมิตรฯ คณะราชนิกูลและแพทย์อาวุโส ขอน้อมรับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชวินิจฉัยว่าการพระราชทานนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 7 ทำไม่ได้ ทางกลุ่มจะหยุดการเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ทันที

นอกจากนี้ยังนัดชุมนุม 2 พฤษภาคม ที่ท้องสนามหลวง เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนที่เข้ามาร่วมรับสนองพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัว เป็นการชุมนุมเพื่อสนับสนุนศาล

 

 

28 เมษายน 2549 มีการประชุมระหว่างประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา และประธานศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 1

2 พฤษภาคม 2549 แกนนำพันธมิตรทั้ง 5 นำ ขึ้นปราศรัยบนเวที สนธิขอบคุณประชาชนที่มาร่วมชุมนุม และบอกว่าต่อไปนี้ทุกวันเสาร์จะจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์คอนเสิร์ตการเมือง เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคมเป็นต้นไป โดย 5 แกนนำพันธมิตรจะสลับหมุนเวียนกันขึ้นปราศรัยบนเวที

9 พฤษภาคม 2549 มีการประชุมระหว่างประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา และประธานศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 2

8 พฤษภาคม 2549 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 8 ต่อ 6 เสียงว่า การเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

19 พฤษภาคม 2549 พันธมิตรฯ มีมติยกเลิกนัดชุมนุมเพื่อให้กำลังใจประมุขทั้ง 3 ศาลในวันที่ 22 พฤษภาคม เพื่อไม่ให้สังคมเข้าใจผิด หรือเปิดช่องให้ผู้ไม่หวังดีต่อกลุ่มพันธมิตรฉวยโอกาสตีความบิดเบือนและป้ายสีการชุมนุมครั้งนี้ จนอาจทำให้สังคมเข้าใจผิดและเกิดความสับสนต่อบทบาทของ 5 แกนนำกลุ่มพันธมิตร รวมถึงจะยุติการชุมนุมเดินขบวนใดๆ ในลักษณะกดดันไว้ชั่วคราวก่อน เพื่อให้ประมุขทั้ง 3 ศาล ได้ปฏิบัติหน้าที่คลี่คลายปัญหาบ้านเมืองอย่างเต็มที่ต่อไป

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และเดินทางกลับภายในวันเดียวกัน โดยมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการเดินทางไปครั้งนี้ว่า ไม่ได้มีหมายล่วงหน้าแจ้งมาที่ทำเนียบรัฐบาลมาก่อน อย่างไรก็ตาม หลังกลับจากเข้าเฝ้าฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้ให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด

 

 

24 พฤษภาคม 2549 ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการเสวนาทางวิชาการเรื่อง "ปฏิญญาฟินแลนด์"ยุทธศาสตร์ครองเมืองของไทยรักไทย โดยมีชัยอนันต์ สมุทวณิช อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้บังคับการโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ปราโมทย์ นาครทรรพ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์อาวุโส และสนธิ ลิ้มทองกุล เข้าร่วม โดยมีเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง รักษาการ สว.กทม.เป็นผู้ดำเนินการเสวนา โดยในตอนท้าย มีการประกาศ "ปฏิญญาธรรมศาสตร์" ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยชีวิต และทำลาย "ปฏิญญาฟินแลนด์"

 

 

6 มิถุนายน 2549 บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่งโดยให้เหตุผลว่า สถานการณ์บ้านเมืองที่เปลี่ยนไปและอยู่ในภาวะไม่ปกติ ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันในบ้านเมือง ส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ไม่ราบรื่น นอกจากนี้ จะอุปสมบทถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และหลังจากลาสิกขาบทแล้วจะไปทำงานด้านวิชาการและจะไม่ลงเล่นการเมือง หรือไปเป็นที่ปรึกษาให้กับพรรคการเมืองใด ทั้งยังฝากไปยังผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ให้นึกถึงตัวเองให้น้อยลง และให้นึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประเทศชาติ และประชาชนเป็นสำคัญ

 

24 มิถุนายน 2549 วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง

พันธมิตรฯ นำโดย 5 แกนนำ คือ สนธิ ลิ้มทองกุล, พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, พิภพ ธงไชย, สมศักดิ์ โกศัยสุข และสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ เปิดประชุมสมัชชาเครือข่ายพันธมิตรจากทั่วประเทศ ครั้งที่ 1 เพื่อหาแนวทางชัดเจนในการหยุดระบอบทักษิณและนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองในระยะยาว และเพื่อสนับสนุนแนวทางของฝ่ายตุลาการในการแก้ไขวิกฤตการเมือง โดยเป็นไปได้ที่อาจมีการชุมนุมใหญ่ต้นเดือนกรกฎาคม

ด้านพล.ต.จำลอง กล่าวถึงกระแสข่าวหนาหูว่าทหารจะปฏิวัติว่า คงห้ามไม่ได้ เพราะประเทศไทยยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา ประชาธิปไตยยังไม่ได้หยั่งรากลึก แต่ถ้าเป็นการปฏิวัติแล้วอยู่เคียงข้างประชาชนก็พอรับได้ แต่ถ้าปฏิวัติแล้วเพื่อบางคนบางกลุ่มก็เหมือนในอดีตที่ผ่านมาอยู่ได้ไม่นาน และนี่ไม่ใช่แนวคิดของพันธมิตรฯ ไม่ได้สนับสนุน (แนวหน้า25 มิ.ย.)

 

 

29 มิถุนายน 2549 พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวถึงผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ เข้ามาวุ่นวายกับองค์กรที่มีในระบบรัฐธรรมนูญ และไม่เคารพกติกา

 

14 กรกฎาคม 2549 พล.อ.เปรมเปรียบทหารเป็นม้า รัฐบาลเป็นจ๊อกกี้ เจ้าของคอกคือในหลวง เพราะฉะนั้น ทหารจึงเป็นทหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ใช่ทหารของรัฐบาล

 

25 กรกฎาคม 2549 ศาลอาญาพิพากษาว่า กกต. จัดการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นธรรม โดยอนุญาตให้ผู้สมัครที่ขาดคุณสมบัติลงสมัตรรับเลือกตั้งได้ ศาลอาญาพิพากษาให้จำคุก กกต. ทั้ง 6 คน เป็นเวลา 4 ปี และตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี

 

19 สิงหาคม 2549 เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ทำร้ายร่างกายประชาชนที่ตะโกนขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน

24 สิงหาคม 2549 ตำรวจจับกุม ร.ท.ธวัชชัย กลิ่นชนะ อายุ 43 ปี เจ้าหน้าที่ทหารของกรมทหารราบ ที่ 11 คนขับรถของ พล.อ.พัลลัภ ปิ่นมณี อดีต รอง ผอ.กอ.รมน. พร้อมของกลาง คือ รถยนต์ ทะเบียนปลอม ที่ซ่อนวัตถุระเบิดชนิดร้ายแรงไว้ในกระโปรงท้ายรถ สันนิษฐานว่า เป็นการเตรียมการเพื่อสังหาร พ.ต.ท.ทักษิณ

 

 

26 สิงหาคม 2549 พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายทหาร จปร. 7 เขียนจดหมายเปิดผนึกลงวันที่ 26 ส.ค.49 ถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี เตือนให้หยุดหาเรื่องและสร้างความแตกแยก หยุดทำลายเกียรติของทหาร พร้อมทั้งเตือนให้หยุดเชื่อฟังคำยุยงของคนรอบข้างได้แล้ว

 

15 กันยายน 2549 พันธมิตรฯ พร้อมผูกผ้าพันคอสีฟ้า มีข้อความว่า

"902

74

12 สิงหาคม 2549

วันแม่แห่งชาติ"

แถลงข่าว นัดชุมนุม 20 กันยายน ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า

 

 

6 กันยายน 2549 สนธิ ลิ้มทองกุล เดินทางไปยื่นจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้ พล.อ.เปรม นำความขึ้นกราบทูลเพื่อขอพระบารมีเป็นที่พึ่ง อย่าให้ระบอบทักษิณยึดกองทัพไทยไปเป็นสมบัติส่วนตน อันจะมีผลต่อการล้มล้างสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จนหมดสิ้น ขอพระบารมีเป็นที่พึ่งได้โปรดดำรงรักษากองทัพไทยให้เป็นกองทัพของชาติ และของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอดไปชั่วกัลปาวสาน เพื่อความดำรงคงอยู่ของประเทศชาติไทย ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวระบุด้วยว่า ขณะนี้สถานการณ์ของประเทศไทยอยู่ในภัยอันตรายอย่างร้ายแรง และ "เป็นวิกฤตที่สุดในโลก"

 

 

9 กันยายน 2549 สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานเครือข่ายประชาสังคมหยุดระบอบทักษิณ ต่อตระกูล ยมนาค นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ประสาร มฤคพิทักษ์ อดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย กลุ่มสตรีไฮโซ และกลุ่มชาวบ้านอีกประมาณ 100 คน เดินทางไปที่หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ จากนั้นเวลา 09.09 น. ร่วมกันจุดเทียน "ส่องทางนำชาติ" และร้องเพลงยามรักษาแผ่นดิน พร้อมกันนั้นได้ยื่นหนังสือให้ พล.ร.ท.พะจุณณ์ ตามประทีป หัวหน้าสำนักงานประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ โดยข้อความระบุว่า พล.อ.เปรม เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองที่สำคัญที่สุด เป็นผู้ที่ได้รับความไว้พระราชหฤทัย โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี รัฐบุรุษ ฉะนั้น จะปฏิบัติตามโอวาทที่ท่านมอบให้ และจะชักชวนให้ญาติมิตรและเพื่อนร่วมงานได้ปฏิบัติตาม

 

 

15 กันยายน 2549 พ.ต.ท.ทักษิณ ให้สัมภาษณ์โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทีวีพูล) บนเครื่องบิน ระหว่างบินจากกรุงลอนดอนของอังกฤษไปประเทศคิวบาว่า "ผมอาจจะเว้นวรรคทางการเมือง เพราะสังคมไทย สื่อไทยขี้เบื่อ อยู่นานไปก็เบื่อ อย่าง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่วันนี้สื่อยกย่องว่าเป็นคนดี แต่เมื่อย้อนกลับไปดูเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะเห็นว่าในช่วงที่เบื่อ พล.อ.เปรม หนังสือพิมพ์ทุกฉบับต่างโจมตี พล.อ.เปรม เช่นกัน ผมย้อนไปดูเรื่องเก่าๆ แล้ว ผมว่าผมโดนหนักแล้ว แต่พอไปดูสมัยป๋า (พล.อ.เปรม)แล้วโดนหนักกว่า ค่อยมีกำลังใจ รู้สึกสูสีกัน"

 

16 กันยายน 2549 เครือข่ายประชาสังคมหยุดระบอบทักษิณ นำโดย ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ดร.วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ แถลงข่าว มีมติเห็นชอบที่จะรวมพลังกับพันธมิตรฯ เคลื่อนไหวชุมนุมใหญ่วันที่ 20 กันยายนนี้ เพื่อไม่อนุญาตให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางเข้าประเทศ

 

 

19 กันยายน 2549 รัฐประหาร โดยคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)

 

21 กันยายน 2549 แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประกาศยุติบทบาทเคลื่อนไหวกดดัน โดยจะจัดตั้งศูนย์ประสานงานเครือข่ายทั่วประเทศเพื่อเดินหน้าปฏิรูปการเมือง ระบุไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจและการทำรัฐประหาร แต่สภาวะการเมืองปัจจุบันเข้าสู่เงื่อนไขที่เป็นทางตัน ที่ไม่มีทางออก

ด้านสนธิ ลิ้มทองกุล ยุติการจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ที่กำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 22 กันยายน เนื่องจากอยู่ในช่วงของการประกาศกฎอัยการศึก ต้องเคารพกติกา และเพื่อเลี่ยงคำสั่งห้ามมีการชุมนุมเกิน 5 คน หากมีการยกเลิกคำสั่งดังกล่าว ก็พร้อมจะกลับมาดำเนินรายการเมืองไทยรายสัปดาห์เช่นเดิม

อย่างไรก็ตาม พันธมิตรฯ ได้สรุป 3 ภาระที่ได้ดำเนินการคือ 1.ไล่นายกฯ 2.โค่นล้มบุคคลในระบอบทักษิณ 3.การปฏิรูปการเมือง โดยระบุว่า การไล่นายกฯ ได้สำเร็จเสร็จสิ้นแล้วทำให้แกนนำได้ประกาศยุติบทบาท ส่วนการโค่นล้มในระบอบทักษิณและการปฏิรูปการเมืองจะยังดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ ต้องรอดูเหตุการณ์ต่างๆ ประกอบไปด้วย

 

15 ตุลาคม 2549 (การเลือกตั้งทั่วไป หากไม่มีรัฐประหาร)

 

มาตรา 7 "ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 

 

 

บล็อกของ หัวไม้ story

หัวไม้ story
กรณี “แดงจับแดง” ที่เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ไม่ควรถูกมองว่าเป็นแค่เรื่องเข้าใจผิด หรือเรื่องน้ำผึ้งหยดเดียวและจบกัน แต่นี่คือเป็นปัญหาท่าที และหลักการของแกนนำซึ่งไปช้ากว่ามวลชนอย่างสม่ำเสมอ
หัวไม้ story
ขอย้อนรอยความทรงจำจากปากคำของชาวบ้านภูมิซรอลอีกครั้ง ในฐานะที่พวกเขาเป็นมนุษย์ผู้ต้องเผชิญกับชะตากรรมของสงครามที่แท้จริง และบาดเจ็บล้มตายจริง จากการเปิดฉากต่อสู้
หัวไม้ story
วิธีกลบข่าวแบบบ้านๆ ไทยๆ ไม่ต้องลงทุนมากก็กลบมันด้วยน้อง M79 ลูกกระสุนสนนราคาละไม่กี่ร้อย แต่ก็ได้พาดหัวข่าวหน้าหนึ่งกลบข่าวคนเป็นหมื่นเป็นแสนที่ออกมาไล่รัฐบาลในขณะนี้
หัวไม้ story
สื่อต่างประเทศให้ความสนใจกับข่าวการเมืองในไทยกันหนาแน่นตลอดสัปดาห์นี้ ยิ่งใกล้วันศุกร์ วันที่สื่อทั้งหลายเรียกมันว่า judgement day มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งลงข่าวและบทวิเคราะห์กันคึกคักมากขึ้นเท่านั้น ประเด็นของการรายงานของสื่อนอกเน้นหนักไปที่สองเรื่องใหญ่คือ แนวทางของคำพิพากษาที่จะออกมา กับผลสะเทือนทางการเมืองจากการตัดสินหนนี้ ทั้งต่อการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างสองขั้วคือเหลืองกับแดง และผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทย (ที่มาของภาพ: มังกรดำ) ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่อาคารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2551 หรือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว…
หัวไม้ story
เรื่อง : สิริลักษณ์ ศรีประสิทธิ์ ภาพจาก : http://urbansea09.multiply.com/photos/album/1/Por_Border_Towns  
หัวไม้ story
ทีมข่าวการเมือง พันธมิตรฯ เดินสองแนวทางทั้งการขยายพรรคการเมืองใหม่ และพื้นที่การเมืองภาคประชาชน โดยในภาพนายสมศักดิ์ โกศัยสุข รองหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) หนึ่งในแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และแกนนำ พธม.เชียงราย ร่วมพิธีตัดริบบิ้นเปิดสำนักงานพรรคเชียงราย ย่านบ้านดู่ ใกล้มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เมื่อ 20 ธ.ค. 52 (ที่มา: “ก.ม.ม.” ปักธงเปิดสาขาเชียงรายสำเร็จ - หางแดงรวมตัวได้แค่ 3 ป่วนไม่ขึ้น, ASTVผู้จัดการออนไลน์, 21 ธ.ค. 2552)
หัวไม้ story
ทีมข่าวการเมือง การชุมนุมของคนเสื้อแดงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 10 ธ.ค. 52 (ที่มา: CBNpress) การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคนเสื้อแดงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 10 ธ.ค. ผ่านไปอย่างเรียบร้อย โดยไม่มีเหตุยกคนมาล้อมคนเสื้อแดง อย่างที่สุนันท์ ศรีจันทรา นักวิเคราะห์ตลาดหลักทรัพย์ กล่าวเชิญชวนผ่านช่องเนชั่นฯ แต่อย่างใด
หัวไม้ story
  ทีมข่าวการเมือง   องค์กรเพื่อความโปร่งใสสากลหรือ TI ที่มีสำนักงานที่เบอร์ลินเผยแพร่รายงานดัชนีชี้วัดคอรัปชั่น (CPI) ประจำปี 2552 นิวซีแลนด์-เดนมาร์ก-สิงคโปร์-สวีเดน โปร่งใสสุด ไทยได้อันดับ 84 ขณะที่ผลสำรวจย้อนหลังพบว่าไทยเคยได้คะแนนดีที่สุดในปี 2548 ขณะที่ในรอบ 5 ปีมานี้คะแนนต่ำสุดช่วงรัฐบาลรัฐประหารในปี 2550
หัวไม้ story
ภาวะตลาดหุ้นและค่าเงินบาทของไทยดิ่งตัวลงอย่างฮวบฮาบเมื่อสัปดาห์ที่ ผ่านมาด้วยข่าวลือที่สื่อไทยไม่รายงานโดยตรงเลยแม้แต่สำนักเดียวว่าเป็นข่าว ลือเรื่องใด และแม้ตลาดหุ้นจะมีอาการกระเตื้องขึ้นอีกครั้งในวันสุดท้ายของสัปดาห์ แต่ภาวะความไม่มั่นใจของนักลงทุนนี้ถูกวิเคราะห์จากสื่อทั้งสองแห่งว่าเป็น ผลโดยตรงจากความผันผวนและไร้หลักยึดของการเมืองไทยที่เป็นอาการป่วยสั่งสม แอนดรูว์ มาร์แชล จากรอยเตอร์ วิเคราะห์ผ่านบทวิเคราะห์เรื่อง ทำไมพระพลานามัยของพระมหากษัตริย์จึงส่งผลสะเทือนต่อตลาดหุ้น (อ้างอิงจาก http://www.reuters.com/article/latestCrisis/idUSSP406158 อัพเดทเวลา 6.39 น. วันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม)…
หัวไม้ story
กรณีนี้ไม่ใช่กรณีเดียวที่เกิดขึ้น สำหรับเรื่องที่เรียกกันว่า ‘หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ’ หากแต่เป็นกรณีแรกๆ ที่ตัดสินใจต่อสู้คดี โดยไม่รับสารภาพ และเดินหน้าสู่การอภัยโทษดังที่เคยเป็น ต่อไปนี้เป็นลำดับเวลาตลอดระยะปีกว่า เนื้อหาการต่อสู้คดีบางส่วน รวมถึงวิธีคิดของเธอจากการสนทนาสั้นๆ แบบเก็บเล็กผสมน้อย
หัวไม้ story
ทีมข่าวการเมือง     คลิปสนธิ ลิ้มทองกุลอ่านฎีกา เมื่อ 4 ก.พ. 2549 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า (ตอนที่ 1) (ที่มา: บันทึกจาก ASTV)   คลิปสนธิ ลิ้มทองกุลอ่านฎีกา เมื่อ 4 ก.พ. 2549 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า (ตอนที่ 2) (ที่มา: บันทึกจาก ASTV)   คลิปสนธิ ลิ้มทองกุลอ่านฎีกา เมื่อ 4 ก.พ. 2549 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า (ตอนที่ 3) (ที่มา: บันทึกจาก ASTV)   คลิปสนธิ ลิ้มทองกุลอ่านฎีกา เมื่อ 4 ก.พ. 2549 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า (ตอนที่ 4) (ที่มา: บันทึกจาก ASTV)