พิณผกา งามสม/พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ
เมื่อกระแสแก้รัฐธรรมนูญเริ่มต้นด้วยการถูกโจมตีว่าจะเป็นการเบิกทางให้กับพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร กลับเข้ามามีที่อยู่ที่ยืนในเวทีการเมืองไทยอีกครั้ง มิหนำซ้ำยังเป็นการปูทางไปสู่การฟอกตัวของอดีตนายกผู้ซึ่งตามทัศนะของฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มองว่าเป็นเหตุแห่งความวิบัติทั้งสิ้นทั้งมวลของประเทศชาติ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อเรื่องแก้รัฐธรรมนูญก็กลายมาสู่เรื่องการเอาทักษิณ หรือไม่เอาทักษิณ แบบกลยุทธ์ขายเบียร์พ่วงเหล้า คือถ้าไม่เอาทักษิณก็ต้องไม่แก้รัฐธรรมนูญ ถ้าใครจะแก้รัฐธรรมนูญถือเป็นพวกทักษิณ ว่ากันตามจริงแล้ว ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงอะไรในโครงการสร้างการเมืองไทยที่เกิดขึ้นเวลานี้ ก็ถูกจับโยนลงไปเป็นประเด็น เอาทักษิณกลับมา หรืออย่าเอาทักษิณกลับมา.....นับเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ หนึ่งเดียวของโลกจริงๆ
รับไปก่อน แก้ทีหลัง
สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญไปที่ไหนก็บอกชาวบ้านให้รับร่างรัฐธรรมนูญไปก่อน แล้วค่อยแก้ทีหลัง สำทับอีกทีโดยนายจรัญ ภักดีธนากุล ก่อนที่จะมีการลงประชามติ พ่วงด้วยการบอกอีกซ้ำๆ ว่าหากไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญก็จะไม่มีเลือกตั้ง ถึงเวลานี้ดูเหมือนไม่มีใครทบทวนความจำอันแสนสั้นและเลือนรางเสียแล้ว
เมื่อประเด็นแก้รัฐธรรมนูญถูกจุดขึ้นโดยฝ่ายรัฐบาล ในห้วงเวลาที่ รายชื่อ พรรคการเมือง 3 พรรค อันได้แก่ พลังประชาชน ชาติไทย และมัชฌิมาธิปไตย อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้งว่ามีการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งอันอาจจะนำไปสู่การยุบพรรคหรือไม่ โดยพลัน พรรคประชาธิปัตย์ก็ออกมาตอบโต้ทันทีว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นเหตุแห่งวิกฤตการเมือง ในขณะที่พลังเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มใหญ่อย่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ออกมากล่าวหาโดยทันทีว่า พรรคพลังประชาชนต้องการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อหนีการยุบพรรครวมทั้งเพื่อฟอกตัวอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ทั้งยังหวังว่าจะเป็นการปูทางให้ทักษิณกลับมาสู่เวทีการเมืองไทยอีกครั้ง
กระทั่งในการเสวนาวิชาการโดยพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา ได้มีการออกแถลงการณ์คัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการพ่วงด้วยคำขู่ว่าพันธมิตรฯ จะเคลื่อนไหวทันทีที่มีการแก้รัฐธรรมนูญ
ดูทีว่า ฝ่ายพันธมิตรฯ และพรรคฝ่ายค้านมีความกลัวอย่างสุดขีดว่าการแก้รัฐธรรมนูญที่รัฐบาลนำโดยพรรคพลังประชาชนจะนำไปสู่ความอยู่รอดปลอดภัยของ 3 พรรคการเมือง แม้ว่าหลายๆ ฝ่ายมองว่า 3 พรรคนี้ ดูท่าว่าจะชะตาขาดไปแล้ว เพราะแม้จะมีการแก้รัฐธรรมนูญจริง ก็คงไม่ทันการกับคดีที่ขณะนี้ไปอยู่ในมือศาลรัฐธรรมนูญแล้ว
อะไรบ้างที่ถูกเสนอให้แก้ และอะไรบ้างที่ไม่ควรแก้ ในรัฐธรรมนูญ 2550
5 อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกแถลงการณ์นำมาเป็นเจ้าแรกว่าด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ โดยประเด็นแก้รัฐธรรมนูญนั้นเป็นสุดท้ายในแถลงการณ์คัดค้านการยุบพรรคการเมือง โดยเหตุผลหลักของคณาจารย์กลุ่มดังกล่าวคือ บทบัญญัติว่าด้วยการยุบพรรคการเมืองที่บัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 นั้นขัดกับหลักนิติธรรม โดยเฉพาะบทลงโทษผู้กระทำผิดที่ลงโทษแบบเหมารวม คือทำผิดคนเดียว ลงโทษทั้งพรรค เป็น "การฝืนพัฒนาการทางกฎหมายของโลกและจะทำให้สถานะทางกฎหมายของประเทศตกต่ำลงในสายตาของนานาอารยะประเทศ" อันที่จริงอาจารย์ 5 ท่านได้จำแนกมาโดยละเอียดถึง 10 ประเด็น เฉพาะกรณีมาตรา 237 ที่เกี่ยวกับสิ่งที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่า บทบัญญัติว่าด้วยการยุบพรรค อาจารย์ 5 ท่านดักคอ (ใครก็ไม่รู้) เอาไว้ก่อนว่าเมื่อกฎหมายมีอยู่อย่างนี้และมีปัญหาต่อหลักนิติธรรมอย่างรุนแรงตั้งหลายข้อดังได้กล่าวไปนั้น เวลาที่จะพิจารณาคดีพรรคการเมือง ก็คงจะตีความไปตามตัวบทอย่างซื่อๆ ไม่ได้ หากแต่ต้องยึดเอาทั้งหลักนิติรัฐและนิติธรรมเป็นที่ตั้ง ตบท้ายว่า เพื่อแก้ปัญหาระยะยาว รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องแก้ไข อย่างน้อยก็มาตรานี้แหละ
จากนั้น ปิยบุตร แสงกนกกุล หนึ่งใน 5 อาจารย์กลุ่มดังกล่าวได้เขียนบทความออกมาแสดงความเห็นส่วนตัวว่า ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญ ต้องมีอย่างน้อย 5 ประเด็นได้แก่
•1. ระบบการเลือกตั้ง ส.ส.
•2. ที่มาของส.ว.
•3. การรับรองให้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐประหารแต่งตั้งขึ้นให้ดำรงตำแหน่งต่อไปได้เต็มวาระ
•4. กระบวนการยุบพรรค อำนาจของ กกต.ในการแจกใบเหลือง-ใบแดงแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และ
•5. มาตรา 309 ที่ "ได้เสกให้ ๑.) คำสั่ง คปค. ๒.) ประกาศ คปค. ๓.) การปฏิบัติตามคำสั่งและประกาศ คปค. ไม่ว่าก่อนหรือหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๙ และ ๔.) การกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับ ๑-๓ ไม่ว่าจะในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต ไม่ว่าโดยแท้จริงแล้วจะชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ตาม กลายเป็นสิ่งที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ทุกประการ"
นี่ดูจะเป็นข้อเสนอที่ชัดเจนที่สุดที่ถูกเสนอออกมา ก่อนที่กระแสแก้รัฐธรรมนูญได้เดนทางเข้าสู่สงครามน้ำลายระหว่างฝ่ายค้าน รัฐบาล และพันธมิตรฯ
รัฐธรรมนูญ 2540 ทางกลับคือการเดินทางต่อ
วันที่ 30 มี.ค. วรพล พรหมิกบุตร อาจารย์จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. ซึ่งถูกติดป้ายเป็นฝ่าย นปก. ไปแล้ว และคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกมาประสานเสียงกันโดยมิได้นัดหมาย ให้นำเอารัฐธรรมนูญ 2540 มาเป็นพื้นฐานในการแก้รัฐธรรมนูญ
ปฏิเสธไม่ได้ว่านับถึงวินาทีนี้ รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ก็ยังถูกอ้างอิงถึงว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา และเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนส่วนร่วมมากที่สุดเช่นกัน
แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ต้องมีปัญหา และปัญหานั้นถูกพูดถึงตั้งแต่เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมีอายุครบ 7 ปีด้วยซ้ำไป โดยนายชุมพล ศิลปะอาชากล่าวเชิงรับว่า รัฐธรรมนูญ 2540 นั้นเริ่มมีปัญหาและคงต้องถูกนำมาพิจารณากันอีกสักครั้งว่าจะปรับแก้อะไรได้บ้าง ครั้งนั้น เป็นช่วงแรกๆ ของวิกฤตองค์กรอิสระที่เริ่มดำเนินไปไม่ได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญดังกล่าว เช่นเกี่ยวกันกับข้อวิจารณ์จากวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ที่วิพากษ์องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญว่ามีเส้นแบ่งของอำนาจที่ไม่ชัดเจนและจะกอให้เกิดปัญหาในภายหลังได้ นอกเหนือจากประเด็นองค์กรอิสระแล้ว ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่แม้จะถูกอ้างเสมอว่า ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ที่มีอิทธิพลชี้นำโดยทั้งให้ข้อมูล รวมทั้งโน้มน้าวความคิดความเชื่อของประชาชนก็หนีไม่พ้นเหล่านักวิชาการอรหันต์ทั้งหลายที่ได้ข้ามามีบทบาทอย่างเต็มที่ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว
ข้อสังเกตนั้นย่อมนำไปสู่การแก้ไข และรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่ถูกโจมตีหนักขนาดที่รัฐธรรมนูญ 2550 กำลังเผชิญว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็น ปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย และเป็นรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่การรัฐประหารเงียบ เว้นเสียแต่จะมีใครอยากจะกล่าวหาว่า รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้คนอย่างทักษิณ เข้ามาทำลายประชาธิปไตยไทยก็ช่วยยกมาตราไหนสักมาตรามาอ้างด้วย
ขณะที่บรรดาเซียนการเมือง และกูรูทั้งหลายออกมาแลกหมัด เอ๊ย แลกเปลี่ยนกันฝุ่นตลบอยู่เรื่องแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญ และถ้าแก้แล้วจะแก้แบบไหน เสียงหนึ่งที่แหวกกระแสเอามากๆ ดังมาจากฝั่งนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวที่จับตาเรื่องการเจรจาเอฟทีเอของรัฐบาลไทยมาตั้งแต่สมัยของ รัฐบาลไทยรักไทย ออกมาดักทางรัฐบาลที่กำลังเสนอแก้รัฐธรรมนูญ เพราะไม่ว่ารฐธรรมนูญ 2550 จะถูกวิพากษ์หรือวิภาษณ์ว่าอย่างไร แต่ในนั้นก็มีมาตราหนึ่งที่เข้าท่าเข้าทาง ก็คือมาตรา 190 แต่ก็ขณะนี้กำลังถูกวิปรัฐบาลเสนอเข้าไปพิจารณาแก้ไขด้วย
หัวใจหลักในการผลักดันมาตรา 190 คือการอุดช่องว่างช่องโหว่สำคัญจากมาตรา 224 ในรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ตีความให้รัฐบาลไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างจริงจังและไม่ต้องนำเอฟทีเอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้ โดยการผลักดันทำผ่านสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนสำคัญ อย่าง สุริชัย หวันแก้ว
อย่าลืมนับเสียงประชาชน
ความคืบหน้าของเรื่องแก้รัฐธรรมนูญขณะนี้ อยู่ในชั้นที่วิปรัฐบาลเสนอต่อรัฐสภาแก้หรือยกเลิกจำนวน 5 มาตรา อันได้แก่ 1. แก้ ม. 237 ว่าด้วยการยุบพรรค 2 ยกเลิกมาตรา 309 3) แก้ไขมาตรา 266 ว่าด้วยการโยกย้ายข้าราชการ 4) ให้ประชาชนเสนอกฎหมาย - เพิ่มเติมให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ทุกเรื่อง จากเดิมให้เสนอกฎหมายได้แค่เฉพาะในหมวดว่าด้วยสิทธิเสรีภาพและแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และ 5 เสนอแก้มาตรา 190 ดังได้มีเสียงคัดค้านเกิดขึ้นแล้ว ส่วนการแก้มาตรา 237 ว่าด้วยการยุบพรรคก็มีการออกมาคัดคานโดยคณาจารย์ 41 คนจาก 9 สถาบัน ไม่เหมาะสมเพราะเป็นกรณีที่พรรคการเมืองและนักการเมืองมีส่วนได้เสียเอง
ในฝุ่นควันของการอภิปรายเรื่องรัฐธรรมนูญ และการเดินหน้าไปของฝ่ายพรรครัฐบาล ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักเรียนรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาวายอิ ตั้งข้อสังเกตกับประชาไทด้วยเสียงนุ่มๆ สไตล์เขา เป็นหนักแบบส่งหมัดตรงไปยังปลายคางนักการเมืองและกูรูทั้งหลายว่า ไม่ว่ารัฐธรรมนุญ 2550 จะมีข้อผิดพลาดเลวร้ายอย่างไร แต่ขณะนี้สิ่งที่เราได้ยินกันก็เพียงแต่ได้ยินการวิเคราะห์วิจารณ์อย่างผู้เชี่ยวชาญ หรือชี้นำเท่านั้น แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืมก็คือว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ได้ผ่านประชามติจากประชาชนถึง 14 ล้านเสียง แม้จะมีข้อกล่าวหาว่ามีการปล่อยข่าวลวง หรือจะอธิบายแบบที่คนต้านทักษิณถนัดก็คือ เสียงไม่เอาก็มีตั้ง 10 ล้านเสียง ชนะกันไม่ขาด แต่เราก็ไม่สามารถเพิกเฉยต่อ 14 ล้านเสียงได้ หากจะแก้รัฐธรรมนูญจะทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นการเพิกเฉยต่อ 14 ล้านเสียง........นี่เป็นเงื่อนไขประการหนึ่งที่ฝ่ายเรียกร้องการแก้รัฐธรรมนูญซึ่งอ้างอิงตัวเองอยู่บนฐานของประชาธิปไตยต้องฝ่าไปด้วย เพราะอย่างน้อยฐานที่ชอบธรรม และการเคารพเสียงของประชาชน เคยช่วยรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งอยู่ได้ตั้ง 10 ปี (หุหุ) ถ้าไม่มีรัฐประหาร
ข่าว-บทความที่เกี่ยวข้อง
‘สู่ประชาธิปไตย ต้องยกเลิกกฎหมายท็อปบู๊ตทมิฬ': คำอภิปรายของปิยบุตร แสงกนกกุล, ประชาไท, 25/3/2551 http://www.prachatai.com/05web/th/home/11624
รายงาน: ‘ทำไม' รธน.มาตรา 190 ขึ้นเขียงรอแก้ แม้ไม่เข้าพวก, ประชาไท, 3/4/2551 http://www.prachatai.com/05web/th/home/11741
คณาจารย์นิติศาสตร์ 9 มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์ค้านแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 237, ประชาไท, 3/4/2551 http://www.prachatai.com/05web/th/home/11733
5 อาจารย์นิติ มธ. ออกแถลงการณ์ค้านการยุบพรรค, ประชาไท, 24/3/2551
http://www.prachatai.com/05web/th/home/11616
เสนอเอารัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้ด่วนแก้วิกฤตยุบพรรคการเมือง, ประชาไท, 30/3/2551
http://www.prachatai.com/05web/th/home/11679
ม.เที่ยงคืนเรียกร้องรื้อรธน. ทั้งฉบับ ยึด 40 เป็นเสา หวั่นประชาชนตกเป็นเหยื่อ, ประชาไท, 30/3/2551
http://www.prachatai.com/05web/th/home/11680