ช่วงเวลาแห่งสงกรานต์ผ่านพ้นไปแล้ว การกระหน่ำสาดน้ำในนามของวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามยุติลง (ชั่วคราว) หลายคนที่เคยดวลปืน (ฉีดน้ำ) หรือแม้แต่จ้วงขันลงตุ่มแล้วสาดราดรดผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมา ล้วนวางอาวุธและกลับเข้าสู่สภาวะปกติของชีวิต
แน่นอนว่า สงคราม (สาด) น้ำที่เกิดขึ้นในบ้านเราแต่ละปี เป็นห้วงยามแห่งความสนุกสนานและการรวมญาติในแบบฉบับไทยๆ แต่ในขณะที่คนมากมายกำลังใช้น้ำเฉลิมฉลองงานสงกรานต์จนถึงวันสิ้นสุด แต่สงคราม (แย่งชิง) น้ำที่เกิดขึ้นทั่วโลก ยังดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง
สงครามน้ำส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาการขาดแคลนน้ำในบางพื้นที่ของโลก และมักจะมีสาเหตุจากข้อจำกัดทางภูมิประเทศ แต่จากรายงานของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) และองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ซึ่งเผยแพร่ในปี 2549 พบว่า แหล่งน้ำจืดเท่าที่มีอยู่ในโลกเหลือเพียงร้อยละ 0.25 ของแหล่งน้ำทั่วโลก ไม่มีทางหล่อเลี้ยงพลเมืองโลกประมาณ 6 พันล้านคนได้อย่างทั่วถึงเลย
ด้วยทรัพยากรน้ำที่มีจำกัด แต่ประชากรในโลกกลับเพิ่มสูงขึ้นทุกปี นอกจากนี้ ภาวะสิ่งแวดล้อม เช่น โลกร้อน ยิ่งซ้ำเติมให้ภาวะขาดแคลนน้ำกลายเป็นตัวคุกคามต่อการพัฒนาประเทศยากจนต่างๆ การแย่งชิงหรือรุกคืบเพื่อยึดครองแหล่งน้ำจึงเป็นเรื่องที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ไล่มาตั้งแต่ระดับชุมชนต่อสู้กันเอง ชุมชนต่อสู้กับรัฐ ไปจนถึงการแย่งชิงน้ำในระดับประเทศ ไม่เ้ว้นแม้กระทั่งประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ก็ยังประสบกับปัญหาการจัดสรรน้ำไม่เป็นธรรม ซึ่งเกิดขึ้นเพราะการแปรรูปน้ำไปให้บริษัทเอกชนจัดการ
สงครามน้ำจึงอาจไม่ใช่เรื่องของความขาดแคลนเสมอไป แต่ในอีกแง่หนึ่ง มันหมายถึงการจัดสรรหรือแบ่งปันน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอและขาดความเป็นธรรมเท่าเทียม
"โลกมีเพียงพอสำหรับความต้องการของทุกคน แต่ไม่พอสำหรับความโลภของกลุ่มคนน้อยนิด"
-มหาตมา คานธี-
|
สงครามน้ำแย่งชิงน้ำ จากโลกเหนือถึงโลกใต้
การแข่งขันของบริษัทผู้ผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดทั่วโลกดุเดือดขึ้นทุกวัน แต่ละแบรนด์ต่างก็พยายามสร้างสรรค์หีบห่อและคุณสมบัติของสินค้าให้โดดเด่นดึงดูดผู้บริโภค นี่ก็ถือเป็นสงครามน้ำอีกรูปแบบหนึ่ง แต่สงครามแย่งชิงน้ำในประเทศที่มีข้อจำกัดทางภูมิอากาศและภูมิประเทศนั้นรุนแรงกว่ามาก เพราะมันคือการปะทะต่อสู้กันตรงๆ จนถึงขั้นสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อ
สงครามแย่งชิงน้ำที่เก่าแก่และต่อเนื่องที่สุด น่าจะเป็นที่ประเทศ อินเดีย ซึ่งแม่น้ำแทบทุกสาย ไม่ว่าจะเป็น คงคา มหานที กฤษณะ สตลัช นรมทา ยมนา และกาเวรี คือพื้นที่แห่งความขัดแย้ง ทั้งในระดับชุมชมขัดแย้งกันเอง และในระดับที่ชุมชนขัดแย้งกับรัฐ
ปัญหาความขัดแย้งเรื่องทรัพยากรน้ำในอินเดีย เกิดจากการที่รัฐบาลกลางพยายามรวบอำนาจบริหารจัดการน้ำมารวมศูนย์เพียงฝ่ายเดียว และมีนโยบายสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตร รวมถึงการควบคุมน้ำท่วม และบรรเทาความแห้งแล้ง แต่กลายเป็นว่าการชลประทานในระดับชุมชนถูกละเลยขาดการมีส่วนร่วมของผู้คนที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่น ประชาชนชาวอินเดียจำนวนมากจึงไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชน จนนำไปสู่การก่อจลาจลหลายครั้งหลายหน
ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าการสร้างเขื่อนได้เปลี่ยนแปลงการผันน้ำจากกระแสที่ไหลตามธรรมชาติ และเปลี่ยนรูปแบบการจ่ายน้ำในลุ่มน้ำ ทำให้เกิดการกัก-เก็บ จนชาวบ้านไม่สามารถนำน้ำไปใช้ได้ตามวิถีชีวิตแบบเดิม
ในที่สุด ก็นำไปสู่ข้อพิพาทระหว่างชุมชนที่ได้รับการจ่ายน้ำกับชุมชนที่ถูกละเลย เพราะไม่ได้เป็นพื้นที่สำคัญของกระบวนการผลิต และลุกลามไปสู่ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับรัฐ รวมถึงรัฐขัดแย้งกับรัฐบาลกลาง ซึ่งศาลระหว่างรัฐต้องทำคดีมากมายเพื่อหาทางยุติปัญหาดังกล่าว แต่ระหว่างกระบวนการในชั้นศาลดำเนินไป การสูญเสียที่เกิดจากการปะทะกันระหว่างประชาชนก็ยังดำเนินไป
แม้แต่ในทวีปอเมริกา สหรัฐอเมริกา และ เม็กซิโก ก็เคยขัดแย้งกันมาก่อนเรื่องน้ำในแม่น้ำโคโลราโด ทั้งนี้ มีการทำสัญญาว่าอเมริกาจะปันน้ำจากแม่น้ำโคโลราโดให้กับเม็กซิโก ตั้งแต่ปี ค.ศ.1944 เป็นต้นมา แต่เมื่อปี 1961 น้ำจากแม่น้ำโคโลราโดมีความเค็มสูงขึ้น เพราะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนที่เกลนแคนยอนและเขื่อนฮูเวอร์ในอเมริกา ทำให้ชาวเม็กซิโกที่ต้องใช้น้ำรวมตัวกันชุมนุมประท้วงอยู่นาน จนกระทั่งรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องสร้างโรงงานเพื่อลดความเค็มของน้ำก่อนที่ปล่อยไปยังเม็กซิโก
ส่วนความขัดแย้งเรื่องน้ำในระดับประเทศที่ยืดเยื้อยาวนานกว่านั้น ได้แก่ บริเวณลุ่มแม่น้ำไนล์ ซึ่งกินพื้นที่ถึง 10 ประเทศ คือ เอธิโอเปีย, ซูดาน, อียิปต์, อูกันดา, เคนยา, แทนซาเนีย, บูรุนดี, รวันดา, สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และ เอริเทรีย
แรกเริ่มเดิมที เอธิโอเปียเป็นแหล่งกำเนิดน้ำร้อยละ 85 ของแม่น้ำไนล์ที่ไหลอยู่ตลอดปี และอีกร้อยละ 14 มาจากเคนยา อูกันดา แทนซาเนีย รวันดา และคองโก แต่เมื่ออียิปต์สร้าง ‘เขื่อนอัสวาน' ในปี ค.ศ.1958 ก็ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างอียิปต์ เอธิโอเปีย และซูดาน เพราะนอกจากชาวซูดานกว่า 100,000 รายจะถูกไล่ที่ พวกเขายังหมดโอกาสที่จะใช้น้ำในแม่น้ำไนล์ได้อย่างอิสระเสรีเหมือนแต่ก่อนอีกด้วย
นอกจากนี้ เอธิโอเปียก็ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในอียิปต์ เพราะอังกฤษได้ทำสัญญาว่าด้วยการไม่ควบคุมกระแสน้ำในแม่น้ำไนล์น้ำเงิน เพื่อเอื้อประโยชน์ในการเดินเรือของสหราชอาณาจักร เนื่องจากแม่น้ำไนล์น้ำเงินมีต้นกำเนิดจากเอธิโอเปีย (ในขณะที่แ่ม่น้ำไนล์ขาว มีต้นกำเนิดจากบูรุนดี)
การสร้างเขื่อนอัสวานส่งผลถึงเส้นทางการเดินเรือของอังกฤษ และำนำไปสู่การกดดันให้เอธิโอเปียทำอะไรบางอย่างเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น จึงเป็นเหตุให้อียิปต์ เอธิโอเปีย และซูดาน ต้องต่อสู้แย่งชิงด้านสิทธิในการเข้าถึงน้ำในแม่น้ำไนล์กันหลายยกทีเดียว
ปัจจุบัน การปล้นน้ำและแย่งชิงการครอบครองพื้นที่แหล่งน้ำยังคงเกิดขึ้นในอินเดีย, โบลิเวีย, บังคลาเทศ, ซูดาน, เอธิโอเปีย, อิสราเอล, เขตเวสต์แบงก์, อิรัก ฯลฯ เช่นเดียวกับปัญหาการเข้าไม่ถึงแหล่งน้ำก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง และปัญหาเรื่องน้ำที่ใหญ่ที่สุดของชุมชนจำนวนมากในเวลานี้ คือ การถูกรุกคืบจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่ซึ่งพยายามจะแปรรูปให้น้ำกลายสภาพจากทรัพยากรธรรมชาติไปเป็นสมบัติของเอกชน
ข้ออ้างสำคัญที่บริษัทต่างๆ ใช้เมื่อต้องการบุกเข้าไปในชุมชนเพื่อจัดการแปรรูปน้ำคือการบอกว่าจะมีการพัฒนาประสิทธิภาพในการให้บริการเรื่องน้ำอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันมากกว่าที่เป็นอยู่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว คำโฆษณาที่ได้ยินได้ฟังจากกลุ่มทุนต่างๆ มีเพียงด้านเดียวเท่านั้น
การจัดการน้ำในเมืองไทย-ใครบอกว่าไม่มีปัญหา?
ในการประชุมเมื่อวันที่ 22 มี.ค.2551 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปไม่นาน สมัชชาสหประชาชาติได้ประกาศเตือนเนื่องในวาระ ‘วันน้ำโลก' (World Water Day) ว่า ประเด็นที่จะต้องขับเน้นเป็นวาระพิเศษประจำปีนี้คือ ‘การรณรงค์แก้ปัญหามลพิษทางน้ำ' รวมถึงการทำให้แหล่งน้ำตามธรรมชาติกลับเป็นแหล่งน้ำสะอาดและมีคุณภาพเพียงพอที่จะใช้ในการดำรงชีวิตได้
ในส่วนของประเทศไทย นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพิ่งจะพูดถึงปัญหามลพิษเมื่อครั้งที่ไปเปิดงานนิทรรศการภาพถ่าย ‘วิกฤตน้ำ วิกฤตชีวิต' ซึ่งจัดโดยกลุ่มกรีนพีซ เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยที่นายสุวิทย์ยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะว่า กระทรวงอุตสาหกรรมฯ จะเข้าไปตรวจสอบดูแลโรงงานอุตสาหกรรมให้มีการติดตั้งระบบน้ำเสียที่มีมาตรฐาน เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบของกฎกระทรวง, ยึดหลักธรรมาภิบาล, ร่วมกันรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด เพื่อแก้ปัญหามลพิษทางน้ำ
สิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงและรองนายกฯ พยายามย้ำตลอดเวลาคือข้อเท็จจริงที่ว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาวิกฤตน้ำในด้านปริมาณและคุณภาพ แหล่งน้ำจืดที่มีคุณภาพดีของไทยมีอยู่จำกัด และกำลังลดลงจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุจากปัญหาการปล่อยมลพิษลงสู่แหล่งน้ำ
ทั้งนี้ ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับปัญหามลพิษทางน้ำที่จัดทำโดยศูนย์วิจัยความสุขชุมชนมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญล่าสุด ระบุว่าร้อยละ 86.5 ของชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีความคิดเห็นว่ามลพิษทางน้ำเป็นปัญหาสำคัญของประเทศและควรรีบเร่งแก้ไขป้องกันอย่างเร่งด่วน (1)
อย่างไรก็ตาม นอกจากปัญหามลพิษทางน้ำ การแก้ปัญหาในระดับโครงสร้าง ซึ่งหมายถึงการทบทวน พ.ร.บ.การจัดการน้ำ ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป เพราะในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการนำ พ.ร.บ.น้ำ 2550กลับมาอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ยังไม่ผ่านในสมัย สนช.และเป็นที่กังขาในหมู่คนทำงานด้านเกษตรและสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก
พ.ร.บ.น้ำ ฉบับรีเทิร์นนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะนำไปสู่การมอบอำนาจในรัฐจัดการน้ำแบบเบ็ดเสร็จ เพราะ ‘สถานะของน้ำ' ทั้งที่มจากดิน แหล่งน้ำ อากาศ ใต้ดิน จะกลายเป็นของรัฐบาลโดยสมบูรณ์ เพราะเนื้อหาใน พ.ร.บ.มอบอำนาจในรัฐสามารถที่จะ (1) พัฒนาแหล่งน้ำ สร้างฝาย สร้างเขื่อน การผันน้ำ หรือทำลายสิ่งกีดขวางในช่วงน้ำท่วม (2) รัฐสามารถกำหนดรูปแบบการบริหารการจัดการน้ำ หรือการใช้น้ำโดยจำแนกประเภทของการใช้น้ำ โดยต้องขออนุญาตและเสียค่าน้ำ และ (3) รัฐสามารถประกาศแหล่งต้นน้ำลำธารได้ โดยรวมถึงการกำหนดเงื่อนไขการใช้ประโยชน์จากที่ดินด้วย
หาก พ.ร.บ.น้ำ ประกาศใช้ เมื่อไหร่ ก็หมายความว่า หน่วยงานของรัฐ เช่น กรมทรัพยากรน้ำ ก็จะสามารถกำหนดให้การเพาะปลูกของเกษตรกรได้ และภาระทางการเงินของผู้ใช้น้ำจะต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งประเด็นสำคัญก็คือ ข้อมูลเกี่ยวกับภาระทางการเงินที่ประชาชนต้องแบกรับเพิ่มขึ้น ไม่เคยถูกเปิดเผย ในเวทีแสดงความคิดเห็นของชาวบ้านเลย
จากประเด็นเหล่านี้ นายสายัณห์ข้ามหนึ่ง เจ้าหน้าที่โครงการแม่น้ำเพื่อที่ชีวิต ได้กล่าวถึงอย่างน่าสนใจในระหว่างการบันทึกเทปให้สัมภาษณ์รายการวิทยุ ‘มองคนละมุม' ที่สถานีวิทยุ FM 100 เสียงสื่อสารมวลชน เมื่อวันที่ 29 ก.พ. และประชาไทได้รายงานเอาไว้ในบทความ ‘เมื่อน้ำมีราคา เมื่อนามีมิเตอร์ หาก ‘พ.ร.บ.น้ำ' ผ่าน' ว่า
"พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเป็นการลิดรอนสิทธิของชุมชนและเกษตร เพื่อที่จะให้รัฐสามารถจัดการน้ำได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะว่าแนวคิดหลักที่บอกว่าการใช้น้ำในภาคการเกษตรนั้นสูญเปล่าไม่ก่อให้เกิดรายได้ เพราะฉะนั้นรัฐบาลก็จะทำอย่างไรก็ได้ที่จะให้สามารถเก็บค่าน้ำจากภาคการเกษตรให้เป็นมูลค่าได้ อีกด้านหนึ่งที่น่าคิดก็คือการจัดการในปัจจุบันในภาครัฐไม่ว่าจะเป็นเขื่อนหรืออ่างขนาดใหญ่ ในการพิจารณาให้น้ำกับภาคการเกษตรนี้จะมาทีหลัง ดูจากภาคกลาง กลุ่มหลักที่จะได้ประโยชน์และถูกพิจารณาเป็นอันดับแรกก็คือภาคอุตสาหกรรม ซึ่งภาคการเกษตรจะถูกพิจารณาเป็นอันดับสุดท้ายอยู่แล้ว" ความคืบหน้าของการร่าง พ.ร.บ.น้ำภาคประชาชนนั้น ปัจจุบันภาคประชาชนได้ทำการปรึกษานายหาญณรงค์ เยาวเลิศ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีความถนัดในเรื่องการจัดการน้ำ ได้อาสาจะมาเป็นผู้ยกร่าง และเมื่อทำการบกร่างแล้วเสร็จก็จะเชิญแกนนำชาวบ้านมาร่วมกันพิจารณาปรับปรุงแก้ไข เพื่อที่จะให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับภาคเกษตรและชาวบ้าน ถึงอย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.น้ำ ฉบับนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการยกร่าง โดยยังอยู่ในขั้นของกรรมาธิการ ซึ่งตอนนี้ถูกฟ้องที่ศาลรัฐธรรมนูญว่ากฎหมายฉบับนี้ออกมาด้วยความไม่ชอบธรรม เพราะว่าในช่วงของการผ่านญัตติของ สนช. นั้นเกิดปัญหาเนื่องจาก สนช.ที่ร่วมพิจารณากฎหมายฉบับนี้ไม่ครบองค์ประชุม นายสายัณน์ ได้ฝากถึงรัฐบาลชุดใหม่นี้ว่า "หากมีการผลักดัน พ.ร.บ.น้ำฉบับนี้ต่อก็ควรจะต้องมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น เพื่อที่จะให้ภาคประชาชน ซึ่งในภาคประชาชนก็ต้องแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และต้องร่าง พ.ร.บ.น้ำภาคประชาชนขึ้นมาเพื่อเสนอให้พิจารณา
|