Skip to main content

กลายเป็นภาพที่คุ้นตา เรื่องที่คุ้นหูไปแล้ว สำหรับการออกมาเดินขบวนยื่นข้อเรียกร้องของแรงงานกลุ่มต่างๆ ในวันกรรมกรสากล (หรือวันแรงงานแห่งชาติ หรือวันเมย์เดย์) จนบางคนอาจชาชินกับสิ่งที่เกิดขึ้น "ก็เห็นเดินกันทุกปี" "เรียกร้องกันทุกปี" อย่างไรก็ตาม ปฎิเสธไม่ได้ว่าการที่มีข้อเรียกร้องอยู่ทุกปีนั้น สะท้อนถึงการคงอยู่ของ ปัญหาที่ไม่เคยได้รับการแก้ไข' ไม่ว่าจะเป็นข้อเรียกร้องของแรงงานกลุ่มไหน เมื่อลองกลับไปดูข้อเสนอของปีที่แล้ว เทียบกับปีก่อน และปีก่อนๆ ก็จะเห็นว่า ไม่สู้จะต่างกันสักเท่าใด

 

ดัน พ.ร.บ.ความปลอดภัยในการทำงาน

การจะทำงานให้เป็นไปด้วยความราบรื่นนั้น นอกจากตัวงานและผู้ร่วมงานแล้ว ความปลอดภัยในการทำงานก็คงเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเองกลับยังไม่มีองค์กรอิสระที่จะคอยดูแลเรื่องการป้องกันความปลอดภัยโดยตรง จะมีก็เพียงการตามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นไปแล้ว เช่น กองทุนเงินทดแทน ซึ่งเป็นที่วิจารณ์กันถึงอำนาจที่ทับซ้อนกันอยู่ในที คือ เป็นทั้งผู้วินิจฉัยโรค และเป็นทั้งผู้จ่ายเงินเสียเอง

สภาเครือข่ายฯได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบจัดทำร่างนโยบายด้านสุขภาพความปลอดภัยของแรงงาน เห็นว่าระบบบ้านเรายังล้าหลังมาก ซ้ำยังไม่มีนโยบายทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม แพทย์ทั่วไปไม่ทำการวินิจฉัยโรค คนป่วยจากงานจึงไม่ได้รับสิทธิ์ เพราะการวินิจฉัยโรคไปอยู่ในกองทุนเงินทดแทน ซึ่งเป็นทั้งผู้วินิจฉัยโรค และจ่ายเงินในองค์กรเดียวกัน

เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะลักษณะการผูกขาดอำนาจในการจัดการดูแลปัญหาอยู่ในมือรัฐ เมืองไทยขาดแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านนี้ เนื่องจากไม่มีนโยบาย หน่วยงานทำงานซ้ำซ้อนแต่ขาดประสิทธิภาพ ขาดการประสานงานที่ดีระหว่างกรมกองกระทรวง เจ้าหน้าที่น้อย ยังขาดทัศนคติความรับผิดชอบรู้ไม่เท่าทันนายจ้างหรือสถานประกอบการ ระบบที่มีอยู่ไม่ได้เอื้อประโยชน์มากนัก แก่ผู้ใช้แรงงาน รวมถึงขาดการมีส่วนร่วมของคนงานอย่างแท้จริง ฉะนั้นการบริหารจัดการเรื่องนี้ของรัฐมีลักษณะอนุรักษ์นิยมเข้าใจว่าตนเองเป็นผู้รู้ดีที่สุดคิดว่ากองทุนใหญ่โตคือผลสำเร็จ ไม่คำนึงถึงชีวิตคนงานที่มีความเสี่ยงต่อเครื่องจักรและสารพิษจากการทำงานทุกเสี้ยววินาที

ด้วยระบบที่มีอยู่ยังล้าหลัง เน้นแต่การจ่ายเงินทดแทนแถมยังสร้างระเบียบกฎเกณฑ์ตั้งมากมาย เพราะเป็นการลดสถิติการเจ็บป่วย คนงานไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์ ต้องเกิดความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตลอดเวลา 10 กว่าปี จึงมีการผลักดันองค์กรอิสระในด้านการบริการความปลอดภัยมาร่วม 7 ปีแล้วกับรัฐบาลชุดนี้ (ชุด พล.อ.สุรยุทธ์) ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งสถาบันฯ ผ่านการพิจารณาสำนักกฤษฎีกา กลับกลายเป็นร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยเฉยๆ ที่ไม่เป็นอิสระในการบริหารงานจากภาครัฐ แบบเบญจภาคี คือมีฝ่าย ลูกจ้าง นายจ้าง ภาครัฐ ผู้ถูกผลกระทบ และนักวิชาการผู้เชี่ยว ไม่มีระบบทำงานที่ครบวงจร ป้องกันดูแลรักษา ฟื้นฟู ทดแทน ขาดอำนาจการตรวจสอบสถานประกอบการและขาดการโอนเงินกองทุนทดแทนมาอยู่ในสถาบันใหม่ตามข้อเสนอฉบับขบวนการแรงงานและภาคประชาชน

 

 

สมบุญ สีคำดอกแค อดีตผู้นำสหภาพแรงงานโรงงานทอผ้ากรุงเทพ ทั้งยังเป็นผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้าย และประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของคนงานที่เจ็บป่วยอีกจำนวนหนึ่งในราวปี 2536 ที่หวังจะรวมกลุ่มช่วยเหลือกัน ในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล การต่อสู้ทางคดี และการดำรงชีวิต บอกเล่าถึงความสำคัญของคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงานตามกลไกของ "สถาบันคุ้มครองสุขภาพ ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ" กับสำนักข่าวประชาธรรม

ที่มา: สมบุญ สีคำดอกแค : เปิดโลกกฎหมาย โรคจากการทำงาน'

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ผู้ใช้แรงงานได้ร่วมกันผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ... ซึ่งร่วมกันร่างขึ้นอีกครั้ง เพื่อหวังว่า จะก่อตั้ง "สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน" ซึ่งมีสถานะเป็นองค์กรอิสระภายใต้การกำกับการดูแลของกระทรวงแรงงาน โดยมีผู้ใช้แรงงานร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย โดยที่สถาบันนี้จะมีหน้าที่พัฒนาการจัดทำมาตรฐานเพื่อส่งเสริมความปลอดภัย จัดการทางการแพทย์เกี่ยวกับการรักษาวินิจฉัยโรค และพิจารณาการจ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย โดยขณะนี้ กำลังอยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่อประชาชน ให้ครบ 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอ ร่าง พ.ร.บ. สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ... นี้ (ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม เพื่อเข้าชื่อเสนอกฎหมาย)

ผ่าโครงสร้างประกันสังคม

กองทุนประกันสังคมนั้น นับเป็นกองทุนขนาดใหญ่ โดยขณะนี้มีเม็ดเงิน 522,868 ล้านบาท [1] ผู้ประกันตนกว่า 9 ล้านคน และคาดกันว่าจะเพิ่มมากขึ้นอีก เมื่อมีการขยายไปยังบุคคลกลุ่มต่างๆ อย่างไรก็ตาม มักมีข้อเสนอให้ "ผ่าโครงสร้างประกันสังคม" อยู่เนืองๆ ด้วยสัดส่วนการจ่ายเงิน นายจ้างและผู้ประกันตน ฝ่ายละ 5% ของค่าจ้าง ขณะที่รัฐจ่าย 2.75% แต่ผู้ประกันตนกลับไม่ค่อยจะมีส่วนร่วมกับกองทุนสักเท่าใด ทั้งในด้านนโยบายและการตัดสินใจว่า เงินในกองทุนถูกนำไปใช้อย่างไร และส่วนใดบ้าง ขณะที่รัฐบาลซึ่งร่วมสมทบเพียงเล็กน้อยกลับมีสัดส่วนอยู่ในบอร์ดมากกว่า (ดูสัดส่วนคณะกรรมการประกันสังคม[2])

ในเรื่องนี้ วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้เสนอให้กรรมการไตรภาคีมาจากการเลือกตั้ง โดยใช้อัตราส่วนสมาชิกสหภาพแรงงาน 50 คน ต่อ 1 เสียง และต้องเปิดโอกาสให้กรรมการของสหภาพแรงงานทุกแห่งมีสิทธิสมัครเข้ารับการเลือกตั้ง

แรงงานข้ามชาติ ข้ามอคติ

เมื่อปลายปีที่แล้ว องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้เปิดตัวรายงานฉบับใหม่ เรื่อง คุณูปการของแรงงานย้ายถิ่นต่อประเทศไทย ของ ดร.ฟิลิป มาร์ติน สำนักงานองค์การแรงงานระหว่างประเทศประจำอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยผลการศึกษาระบุว่า ในปี 2550 ประเทศไทยมีแรงงานรวมประมาณ 36 ล้านคน ในจำนวนนี้มีแรงงานข้ามชาติอยู่ราว 1.8 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5% โดยกลุ่มแรงงานข้ามชาติส่วนมากจะทำงานประเภทที่ใช้ทักษะต่ำในสาขาเกษตร ประมง ก่อสร้าง อุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงภาคบริการ อาทิ คนทำงานบ้าน

ทั้งนี้ จากสมมติฐานว่าผู้อพยพมีจำนวน 1.8 ล้านคน ซึ่งคาดการณ์ว่ามีรายได้ 2 พันล้านดอลลาร์ ต่อปี หรือ 70,000 พันล้านบาท (1 ดอลลาร์ต่อ 35 บาท) จากการคำนวณรายได้เฉลี่ย 1,125 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี (40,000 บาทต่อปี) หากแรงงานดังกล่าวใช้จ่ายเงินครึ่งหนึ่งของรายได้ คือ 1 พันล้านดอลลาร์ จะทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของ GDP จำนวน 2 พันล้านดอลลาร์ จากการเพิ่มในการหมุนเวียนของค่าเงินทีเดียว

โดยที่แรงงานข้ามชาติได้รับค่าแรงเพียงครึ่งหนึ่งของค่าแรงขั้นต่ำเท่านั้น [3]

แรงงานข้ามชาติคือผู้มีส่วนร่วมสร้างจีดีพี 2% คิดเป็นเงินประมาณหมื่นล้านบาทขึ้นไป นี่ยังไม่รวมรายได้ของแรงงานข้ามชาติที่ใช้ในประเทศไทย โดยคิดเป็น 75% ของรายได้ของแรงงานข้ามชาติใช้ในประเทศไทย พวกเขาส่งเงินกลับน้อยเพราะช่องทางส่งกลับน้อย

 

ข้อมูลจาก: สารคดีเรื่อง "สถานการณ์แรงงานข้ามชาติในประเทศไทย"

จัดทำโดยมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท

จากตัวเลขข้างต้น จะพบว่า แม้เศรษฐกิจจะต้องการน้ำพักน้ำแรงจากแรงงานข้ามชาติ แต่ก็ดูเหมือนนโยบายของรัฐจะไม่นำพาต่อการเข้ามาทำงานอย่าง "ถูกกฎหมาย" ของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ โดยจะเห็นว่า แม้ว่ารัฐบาลมีนโยบายเปิดให้แรงงานข้ามชาติจดทะเบียนแรงงานเพื่อขออนุญาตทำงาน เรียกว่า ทร.38/1 โดยในปี 2551 นี้เปิดให้คนที่เคยมี ทร.38/1 แล้วแต่ไม่ได้ต่ออายุ มายื่นจดทะเบียนใหม่ ช่วง 21 ม.ค.-19 ก.พ. ปีนี้ แต่แรงงานข้ามชาติก็ไปจดทะเบียนน้อยมาก แค่ราว 5,000 คน เพราะแรงงานข้ามชาติ 1.ส่วนใหญ่ไม่รับรู้ข้อมูล 2.เอกสารที่ใช้ประกอบการขอรับ ทร.38/1 ยังไม่มีความชัดเจน บัตรเดิมก็ถูกนายจ้างริบไว้ จำข้อมูลไม่ได้ 3.การขอใช้เวลานาน ต้องทำหลายรอบ 4.หลายพื้นที่มีขบวนการนายหน้าช่วยประสานงานดำเนินการคิดค่าใช้จ่ายสูง 6,000 - 15,000 บาท แรงงานไม่สามารถแบกรับภาระการค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้ 5.ระยะเวลาสั้นเกินไป

อดิศร เกิดมงคล International Rescue Committee (IRC) กล่าวว่า จริงๆ แล้วกลไกรัฐไม่เคยมีกลไกจัดการเรื่องการย้ายถิ่น มีแต่เรื่องหาแรงงานมาทดแทน ชี้ให้เห็นว่าเราไม่มีมิติการย้ายถิ่นมาจัดการ

แรงงานข้ามชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก แต่ก็มีนโยบายกีดกันเขา โดยรัฐไทยมองเรื่องนโยบายนี้สองแง่ แง่หนึ่งมองว่าเป็นปัญหาเรื่องคนหลบหนีเข้าเมือง ไม่ให้ออกนอกเขต หรือเปลี่ยนนายจ้าง มองว่าไม่ใช่แรงงานทั่วไปอย่างที่เข้าใจกัน ต้องอยู่ในการกักกัน แต่ให้ทำงานได้ชั่วคราว เพื่อรอการส่งกลับ สอง อยากได้แรงงานราคาถูก พอเศรษฐกิจไทยพยายามเป็นประเทศอุตสาหกรรม ก็มีการดึงเอาแรงงานภาคเกษตรไปเยอะมาก ทำให้ความต้องการแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้น สองแนวคิดดังกล่าวไปด้วยกันได้ จึงมีการใช้แรงงานราคาถูก ภายใต้การควบคุม โดยอ้างความมั่นคง จะเห็นว่านโยบายที่เกิดขึ้นไม่ได้พูดถึงการคุ้มครองแรงงานเลย

อดิศร กล่าวว่า สิ่งที่รัฐสร้างขึ้นเรื่องความมั่นคงเป็นการสร้างพรมแดนในตัวคน เราถูกทำให้เชื่อว่าแรงงานข้ามชาติไม่ใช่พวกเรา หรือเหมือนไม่ใช่มนุษย์ เหมือนเครื่องจักรที่พังแล้วโยนทิ้ง เห็นได้ชัดในกรณีประกาศสมุทรสาคร เพราะสิ่งที่ทำให้ความเป็นมนุษย์เกิดขึ้นคือ วัฒนธรรม การมีตัวตนของตัวเองในการดำรงชีวิต หรือเช่นกรณีที่บอกว่า ไม่รับแรงงานหญิงที่ตั้งครรภ์แล้ว

 

เขาแสดงความเห็นว่า เคยคิดว่าเรื่องความมั่นคงจะซาไป แต่รัฐกลับใช้แนวคิดแบบนี้ส่งผ่านสื่อ ย้ำว่าแรงงานข้ามชาติเป็นปัญหานำโรคติดต่อเข้ามาก่ออาชญากรรม สร้างมายาคติขึ้น ทั้งนี้มีงานวิจัยเพื่อพิสูจน์ข้อกล่าวหา ในช่วงปี 45-46 เปรียบเทียบการก่ออาชญากรรม พบว่า คนไทยในพื้นที่ก่ออาชญากรรมมากกว่าแรงงานข้ามชาติ เกือบ 60% และคดีส่วนใหญ่ของแรงงานข้ามชาติ คือ หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย

สำหรับข้อเสนอในการแก้ปัญหา อดิศร เสนอว่า ในแง่นโยบาย รัฐต้องมิติการย้ายถิ่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะที่ผ่านมาไม่มีเลย ที่สำคัญคือต้องหาความสมดุลของสิทธิ ความมั่นคงและเศรษฐกิจให้สมดุลกัน และที่เสนอมานานก็คือ นิยามคำว่าความมั่นคง องค์กรที่จัดการเรื่องนี้กระจายเกินไป เพราะเรื่องคุ้มครองแรงงานควรคุ้มครองแรงงานทุกคน แต่แรงงานข้ามชาติไปติดที่ ตม. ยังไม่มีการสร้างกลไกให้ทำงานร่วมกัน อาจเป็นกรรมการระดับชาติอิสระเพื่อจัดการบริหารได้เป็นระบบ และเข้าใจปัญหาแรงงานข้ามชาติอย่างแท้จริง เช่น การเตรียมล่าม

สอง ปรับความเข้าใจ การศึกษาของเรากับแรงงานข้ามชาติให้เข้าใจกันมากขึ้น เพราะทุกวันนี้ นโยบายหลายอย่างกันคนออกจากกัน ไม่มีใครรู้ว่าแต่ละคนเป็นอย่างไร หรือต้องการอะไรกันแน่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญคือ การสร้างพื้นที่สนทนา ทำงานร่วมกัน ซึ่งกลไกสำคัญคือสหภาพแรงงาน เพราะมีผู้ใช้แรงงานเป็นตัวหลัก จะเห็นปัญหาร่วมกันคล้ายกัน และถ้าสร้างได้จะขยายไปสู่กระบวนการอื่นในสังคมไทยได้

ที่มา: แรงงานนอกระบบ' และ แรงงานข้ามชาติ': เรารู้จักกันแค่ไหน

เสริมทักษะแรงงานไทยในต่างแดน

ขณะที่แรงงานข้ามชาติเข้ามาทดแทนแรงงานบางประเภทที่แรงงานไทยไม่ทำ แรงงานไทยบางส่วนก็เข้าไปทำงานทดแทนในส่วนที่ประเทศอื่นๆ ขาดแคลนเช่นกัน แรงงานประเทศอื่นไม่ทำเช่นกัน ทั้งนี้ กลุ่มแรงงานหญิง ซึ่งไปทำงานแม่บ้านที่ฮ่องกง ได้เสนอว่า แม้พวกเขาจะเดินทางไปทำงานที่ฮ่องกง แต่ก็ต้องการกลับเข้ามาในประเทศ ดังนั้น พวกเขาจึงอยากให้ภาครัฐจัดให้มีอาชีพรองรับแรงงานที่กลับมาทำงานที่ประเทศไทย โดยจัดให้มีบุคลากรที่มีความรู้ด้านการวางแผนงานการประกอบอาชีพในอนาคต ไปอบรมให้กับแรงงานในต่างประเทศ จัดศูนย์ข้อมูลอาชีพและตำแหน่งงานที่เอื้อต่อทักษะของแรงงาน เพื่อให้แรงงานมีทางเลือกที่จะได้ทำงานอยู่ใกล้ครอบครัว รวมทั้งทำให้อาชีพแม่บ้านในเมืองไทย มีสัญญาการจ้างงานที่ถูกกฎหมาย และมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ยังเสนอให้รัฐหาแนวทางให้แรงงานที่ไปทำงานในต่างประเทศ ได้มีส่วนร่วมในโครงการกองทุนประกันสังคม โดยให้เหตุผลว่า ที่สุดแล้วแรงงานทุกคนต้องกลับมาประเทศไทย รวมทั้งจัดตั้งองค์กรช่วยเหลือครอบครัวของแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจของแรงงานในการตั้งใจทำงาน โดยไม่ต้องกังวลเรื่องบุตรของตน

รวมทั้งเสนอให้ภาครัฐต้องกำหนดอัตราจัดเก็บค่าบริการของบริษัทจัดหางานในประเทศไทยให้ชัดเจน และควบคุมการเก็บค่าบริการอย่างเข้มงวด มีกฎหมายลงโทษอย่างจริงจัง และจัดสรรงบประมาณประจำปี ให้กับกลุ่มองค์กรที่ทำงานให้กับแรงงานไทยในฮ่องกง เพื่อส่งเสริมโอกาสให้แรงงานได้ช่วยเหลือแรงงานด้วยกัน และสร้างเครือข่ายภาครัฐที่เข้มแข็ง รวมถึงมีนโยบายที่ชัดเจน ที่จะสนับสนุนแรงงานที่ออกไปทำงานยังต่างประเทศ และให้ความสำคัญในการส่งเสริมการนำเงินตราเข้าประเทศจากแรงงานเหล่านั้น

เพิ่มความมั่นคงให้แรงงานนอกระบบ

สารคดีเรื่อง "สถานการณ์แรงงานนอกระบบในประเทศไทย" จัดทำโดยมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ให้ข้อมูลว่า แรงงานนอกระบบจำนวน 22.5 ล้านคน จากแรงงานทั้งสิ้น 36.3 ล้านคนนั้น เป็นผู้ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไม่ต่ำกว่าปีละ 2 ล้าน ล้านบาท หรือราวร้อยละ 43 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ

อย่างไรก็ตาม พวกเขากลับทำงานที่ขาดความมั่นคง ไม่ได้รับค่าตอบแทนแรงงานที่เป็นธรรม งานที่ทำมีความเสี่ยงและมีอันตรายต่อสุขภาพ เข้าไม่ถึงกองทุนประกันสังคมและบริการอื่นๆ ของรัฐ และไม่สามารถใช้สิทธิในการรวมตัวต่อรองได้ เนื่องจาก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ไม่ได้ให้ความคุ้มครองครอบคลุมแรงงานนอกระบบเอาไว้ และในขณะเดียวกันก็ไม่มีกฎหมายเฉพาะที่จะคุ้มครองแรงงานนอกระบบได้ จึงมีการร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมพัฒนาผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ....ขึ้น ขณะที่กระทรวงแรงงานก็ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.. ...ขึ้นมาประกบ โดยที่ผ่านมา มีการแก้ไขปรับปรุงร่างทั้งสองแล้วหลายครั้ง แต่จนถึงวันนี้ ก็ยังไม่แล้วเสร็จ [4]

โดยนางสุจิน รุ่งสว่าง ตัวแทนเครือข่ายแรงงานนอกระบบ แสดงความกังวลว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ผลักดันกันมานานแล้ว แต่ก็ยังไม่ผ่าน โดยที่ผ่านมา ได้ปรับให้เข้ากับของกระทรวงแรงงาน แต่ก็มีความแตกต่าง เช่น ประเด็นค่าแรงที่เป็นธรรม การดูแลเรื่องอาชีวอนามัย

นางสุจิน เล่าว่า ที่ผ่านมาแรงงานนอกระบบ เข้าถึงหลักประกันสังคมอย่างเดียวคือ 30 บาทฯ แต่ 30 บาทฯ ไม่มีมิติเรื่องอาชีวอนามัยในหลักประกันสุขภาพ จึงควรส่งเสริมและดูแลสุขภาพเกี่ยวกับอาชีวอนามัยของคนทำงาน โดยออกกฎระเบียบในระดับท้องถิ่น ว่าต้องดูแลเรื่องอาชีวอนามัยกับแรงงานนอกระบบด้วย นอกจากนี้ อยากได้สิทธิประโยชน์เหมือนแรงงานในระบบ เพราะงานที่รับไปทำที่บ้านก็คืองานเช่นเดียวกับที่ในระบบทำ แต่พอออกไปถึงชุมชนแล้ว กลับไม่ได้รับการคุ้มครอง ทั้งค่าแรง สิทธิประโยชน์ จึงอยากให้รัฐบาลดูแลแรงงานนอกระบบเสมอภาคกับแรงงานในระบบ

 

ข้อเรียกร้องวันกรรมกร

2550

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ให้รัฐบาล คือ

1.ให้รัฐบาลประกาศบังคับใช้พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ (ฉบับผู้ใช้แรงงาน)

2.ให้รัฐบาลประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมคุ้มครองสุขภาพ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ (ฉบับผู้ใช้แรงงาน)

3.ให้รัฐบาลประกาศยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในทุกรูปแบบ และยกเลิก พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542

กลุ่มผู้ใช้แรงงานจำนวนแปดพันคนจากสภาองค์การลูกจ้างต่างๆ และสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจประเทศไทย ยื่นข้อเรียกร้อง 9 ข้อ

1.ขอให้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ในมาตรา 5(3) จ้างเหมาค่าแรงโดยลูกจ้างเหมาค่าแรงจะต้องได้ค่าจ้าง และสิทธิประโยชน์เท่ากับลูกจ้างในระบบจ้างปกติของสถานประกอบการนั้นๆ 2.ขอให้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยเพิ่มมาตรา 52 เรื่องการจัดตั้งสถาบันความปลอดภัยในการทำงาน เป็นองค์กรทางวิชาชีพ 3.ขอให้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน 4.ขอให้ปรับอัตราค่าจ้างให้กับลูกจ้างตามอัตราเงินเฟ้อและให้ปรับเงินในอัตราเดียวทั้งประเทศ และให้ควบคุมสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นต่อการครองชีพ

5.ขอให้ประกาศยกเลิกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 6.ขอให้ประกาศกฎหมายที่ให้ผู้ใช้แรงงานและประชาชนที่อาศัยหรือทำงานในพื้นที่นอกทะเบียนบ้านสามารถใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.ในเขตพื้นที่ซึ่งตนอาศัยหรือทำงานอยู่ได้ 7.ขอให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จัดตั้งโรงพยาบาลของตนเอง เพื่อบริการการรักษาแก่ผู้ประกันตน 8.ในกรณีที่ผู้ประกันตนเกษียณอายุไม่ว่าจะรับบำเหน็จหรือบำนาญ ขอให้ สปส.รักษาพยาบาลแก่ผู้ประกันตนฟรี ไม่ต้องไปใช้โครงการ 30 บาท และ 9.ขอให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการฝ่ายรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง ร่วมกับผู้แทนฝ่ายลูกจ้างทั้ง 11 สภาฯ กับ 1 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ติดตามข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานที่ยื่นในวันนี้ พร้อมทั้งให้แต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานสัมพันธ์ เป็นเลขานุการ

2549

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) พร้อมด้วยสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 10 ข้อ คือ 1.ให้รัฐบาลควบคุมราคาน้ำมันและราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นผลกระทบจากราคาน้ำมัน 2.ให้รัฐบาลปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นธรรม โดยยึดหลักมาตรฐานสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่กำหนดไว้วันละ 233 บาท

 

3.รัฐบาลต้องเร่งออกพ.ร.บ.จัดตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ ฉบับของขบวนการแรงงานที่เป็นองค์กรอิสระ 4.ให้รัฐบาลประกาศรับรองอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นอนุสัญญาขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลเกือบทั่วโลกให้การรับรอง ยกเว้นประเทศไทย เพื่อเป็นหลักประกันกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ในการคุ้มครองสิทธิคนงานทุกประเภทในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน

 

5.รัฐบาลต้องเร่งถอนพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับรัฐบาลออกจากกฤษฎีกา 6.ให้รัฐบาลนำร่างพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับผู้ใช้แรงงานเข้าสู่การพิจารณาเพื่อออกเป็นกฎหมาย 7.ให้รัฐบาลและสำนักงานประกันสังคมเร่งแก้ไขกฎหมายประกันสังคมที่มีปัญหาทั้งฉบับ เช่น มาตรา 39 ให้ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเพียงส่วนเดียวเท่านั้น ให้ขยายความคุ้มครองไปยังแรงงานนอกระบบ ภาคเกษตร และผู้ใช้แรงงานที่ติดเชื้อเอชไอวี

8.การทำสัญญาข้อตกลงเขตการค้าเสรีในระดับทวิภาคี พหุภาคี และนานาชาติ ซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชน สังคม ประเทศชาติ ซึ่งรัฐบาลต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยทำตามประชามติตามรัฐธรรมนูญ 9.ให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาลูกจ้างที่ประสบภัยพิบัติจากคลื่นสึนามิ โดยให้กองทุนประกันสังคมอนุมัติงบประมาณเพื่อให้ปล่อยกู้แก่ลูกจ้างที่ประสบภัยดังกล่าว

และ 10.ให้รัฐบาลส่งเสริมสนับสนุนจัดสรรงบประมาณในการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กประถมวัยในย่านอุตสาหกรรม ชุมชน โดยออกเป็นกฎหมายพร้อมจัดสรรงบประมาณให้และให้องค์กรแรงงาน ชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ

2548

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ร่วมกับเครือข่ายประชาธิปไตย 42 องค์กร ยื่นข้อเรียกร้อง 11 ข้อ คือ 1. ให้รัฐบาลหยุดขาย หรือแปรรูปรัฐวิสาหกิจ 2. ให้รัฐบาลควบคุมสินค้าอุปโภคบริโภค 3. ให้รัฐบาลผลักดันค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 233 บาท 4. ให้รัฐบาลเร่งออก พ.ร.บ. จัดตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยของแรงงานในสถานประกอบการทุกแห่ง 5. ให้รัฐบาลประกาศรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ( ILO) ซึ่งประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกให้การรับรองแล้ว ยกเว้นประเทศไทย 6. ให้รัฐบาลยกเลิกการจ้างงานเหมาช่วง หรือเหมาค่าแรงในสถานประกอบการ 7. ให้รัฐบาลเร่งนำร่าง พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ฉบับผู้ใช้แรงงานเข้าสู่สภา 8. ให้รัฐบาลและสำนักงานประกันสังคม เร่งแก้ไขกฎหมายประกันสังคมที่มีปัญหาทั้งฉบับ 9. ทบทวนการทำสัญญาข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่มีผลกระทบต่อแรงงาน 10. ให้รัฐบาลแก้ปัญหาลูกจ้างที่ประสบปัญหาจากคลื่นยักษ์สึนามิ และ11. ให้รัฐบาลส่งเสริมสนับสนุนงบประมาณ ในการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กปฐมวัย

 

 

000000

 

อ้างอิง

[1] ข้อมูล ณ วันที่ 31 มี.ค. 2551 จากสรุปผลการบริหารกองทุนประกันสังคมประจำไตรมาสที่ 1 พ.ศ.2551

[2] มาตรา 8 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการประกันสังคม" ประกอบด้วยปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวง การคลัง ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนสำนักงบประมาณเป็นกรรมการ กับผู้แทนฝ่าย นายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละห้าคน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ และเลขาธิการเป็น กรรมการและเลขานุการ

พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533

[3] ชี้แรงงานข้ามชาติสร้าง ศก.ไทย แต่ไม่ได้รับการดูแล ซ้ำนโยบายด้านความมั่นคงจำกัดการแสดงออกทางวัฒนธรรม

[4] พลวัตแรงงานนอกระบบ: การผลักดันการคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน

 

บล็อกของ หัวไม้ story

หัวไม้ story
ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทยจำนวนหนึ่ง อาจจะฮือฮามาสักพักแล้วกับเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ของนักการเมืองค่ายประชาธิปัตย์ นำโดย หล่อใหญ่ อภิสิทธิ์ ตามมาด้วยสาทิตย์ วงษ์หนองเตย  แต่ก็ยังอาจจะยังไม่เห็นประสิทธิผลมากนักสำหรับการเปิดพื้นที่ใหม่ในสื่อใหม่ในโลกออนไลน์ เพราะยังไม่มีการใช้สำหรับแคมเปญหาเสียง หรือแคมเปญกิจกรรมอะไรพิเศษ แต่แล้ว เมื่อเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ชื่อ thaksinlive เริ่มเป็นที่รับรู้ของชาวไซเบอร์เพียงไม่กี่วัน ก็กลับฮือฮาเป็นกระแสพ้นพรมแดนโลกไซเบอร์ออกมาเหมือนปีศาจที่ตามหลอกหลอนไปทุกพรมแดนความรับรู้ของขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้าม
หัวไม้ story
ในฐานะที่กระแสรางวัลซีไรต์ปีนี้ช่างแผ่วเบา เราจึงขอกระตุ้น ยั่วยวน ให้หันมองด้วยงานวิจารณ์ของ “นายยืนยง” ซึ่งยืนยันกับการชื่นชม “วิญญาณที่ถูกเนรเทศ” เล่มหนึ่งที่เข้ารอบสุดท้าย ไม่ว่าใครจะครหาอย่างไรก็ตาม         ชื่อหนังสือ         :           วิญญาณที่ถูกเนรเทศ ผู้เขียน              :           วิมล ไทรนิ่มนวล จัดพิมพ์โดย       :   …
หัวไม้ story
โดย ทีมข่าวการเมือง 5 แกนนำพันธมิตร ขึ้นปราศรัย ระหว่างงานรำลึก 1 ปีแห่งการต่อสู้ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อ 25 พ.ค. 52 ที่สนามกีฬากลาง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จ.ปทุมธานี (ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 25 พ.ค. 52)
หัวไม้ story
หลังการชุมนุมคนเสื้อแดงจบลงไปในวันที่ 14 เมษายน 2552 โดยการชุมนุมครั้งนั้นเกิดความรุนแรงขึ้นในหลายจุด ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการใช้อาวุธ ทั้งจากฝ่ายตำรวจ ผู้ชุมนุม และกลุ่มไม่ทราบฝ่าย ช่วงเวลา 2-3 วันให้หลัง ประชาไทพยายามติดตามหาพยานผู้เห็นเหตุการณ์ ทว่าพยานบุคคลหลายคนเลือกที่จะเป็นเสียงเงียบ และหลายคนเลือกการเดินทางกลับต่างจังหวัด บรรยากาศภายใน 1 สัปดาห์หลังจากนั้น ดูเหมือนเป็นบรรยากาศแห่งความเงียบและหวาดระแวงสำหรับผู้เคยเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดง นั่นทำให้เราเริ่มคิดถึงคนเสื้อแดงที่ต่างจังหวัด…
หัวไม้ story
สัมภาษณ์ เสรี สาระนันท์ ส.ส. หลายสมัยจากอ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ถึงเหตุผลที่ ส.ส. ยังคงต้องอยู่กับเสื้อแดงและทักษิณ และกระบวนการจัดการเสื้อแดงที่เป็นฐานเสียง และเป็นมวลชนที่เข้าร่วมการชุมนุม รวมถึงให้เขาประเมินอนาคตของทั้งตนเองและขั้วอำนาจฝ่ายสีแดง การสัมภาษณ์ครั้งนี้สะท้อนถึงพลังของ "ปีศาจ" อย่างทักษิณ ที่จะยังครอบงำจิตใจชาวบ้านและหลอกหลอนการเมืองขั้วตรงข้ามต่อไปอย่างยากจะเปลี่ยนแปลง
หัวไม้ story
เสียง ภาพ ชาวบ้านเสื้อแดง ตำบลหนองไผ่ จังหวัดอุดรธานี บอกเล่าความรู้สึกและความเห็นทางการเมือง ว่าด้วยประชาธิปไตย และทักษิณ หลังการชุมนุมคนเสื้อแดงที่ยุติลงในช่วงบ่ายของวันที่ 14 เม.ย. อนึ่ง ชาวบ้านบางส่วน ได้เข้ามาร่วมการชุมนุมคนเสื้อแดงในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ขณะที่อีกบางส่วนไม่ได้เข้าร่วม แต่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดอยู่ที่บ้าน ผ่านสถานีดีสเตชั่น และวิทยุชุมชนคนรักอุดร ประชาไทบันทึกคลิปวีดีโอ เมื่อวันที่ 23 เม.ย. ที่ผ่านมา
หัวไม้ story
ทีมข่าวการเมือง [การโหยหาอดีตของสองทหารแก่ สุรชัย-เปรม อาจไม่ต่างกันมาก ผิดกันตรงที่ ทหารแก่คนหนึ่งอาจสมใจ สังคมไทย Nostalgia ย้อนยุคขุนศึก อำมาตย์ เป็นใหญ่ได้อีกหลัง 19 ก.ย. 49 มีองคมนตรีมาเป็นนายกฯ ที่ป๋าเห็นเป็นวินสตัน เชอร์ชิล มีนายกฯ หนุ่มที่ป๋าบอก “ผมเชียร์” … เช่นนี้กระมัง สหายเก่า-ทหารแก่อีกคนจึงขอแต่งชุดทหารป่าเข้ามอบตัว ขอ Nostalgia อีกรอบ] ]   000 นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ แกนนำ นปช. ขณะเข้ามอบตัวเมื่อ 27 เม.ย. 52 (ที่มาของภาพ: ASTVผู้จัดการออนไลน์)
หัวไม้ story
[ ทีมข่าวการเมือง ]   ทุกๆ เช้าของวันจันทร์-ศุกร์ ถ้าไม่ใช่วันหยุดนักขัตฤกษ์ ภารกิจของนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คือเตรียมเดินทางมายังสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมแห่งเอเชีย (Asia Satellite Television) หรือ เอเอสทีวี ถ.พระอาทิตย์ เพื่อดำเนินรายการ “Good Morning Thailand” รายการเล่าข่าวและวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองอย่างเผ็ดร้อน ซึ่งเขาจัดเป็นประจำทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 6.00-7.00 น. แต่วันนี้ 17 เมษายน เขาไม่ได้จัดรายการ “Good Morning Thailand” เหมือนเคย เพราะถูกลอบยิงเมื่อเวลาราว 5.40 น. ก่อนที่รถของเขาจะมาถึงสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี   000   ที่มา:…
หัวไม้ story
(ทีมข่าวการเมือง)ทีมข่าวการเมือง สัมภาษณ์ผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปช.) หรือคนเสื้อแดง ระหว่างการชุมนุมเมื่อวันที่ 8 เมษายน ที่ผ่านมา โดยถามพวกเขาว่า “ออกมาชุมนุมทำไม?” ต่อไปนี้คือคำตอบของพวกเขา 
หัวไม้ story
ห้องพิจารณาคดี 904 หลังสิ้นเสียงคำพิพากษาให้จำคุก 10 ปี...
หัวไม้ story
[ทีมข่าวการเมือง]"พี่สนธิก็เคยคุยกับผมเป็นการส่วนตัวว่าคิดถึงพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วยซ้ำ มีโปลิตบูโร หรือคณะกรรมการนโยบายของพรรคที่อาจจะไม่ได้มามีตำแหน่งบริหาร ไม่ได้มามีตำแหน่งทางการเมือง แต่ว่าคุมยุทธศาสตร์ คุมทิศทางพรรค ซึ่งอันนี้น่าสนใจ และคงต้องดูว่าโครงสร้างเป็นอย่างไร ขณะเดียวกัน เรายังมีเวลาศึกษาพรรคการเมืองจากหลายประเทศ เพื่อเปรียบเทียบกัน และต้องดูบริบทสังคมไทยด้วย แบบไหนมันเข้ากับสังคมไทย"สุริยะใส กตะศิลา, สัมภาษณ์ใน เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 876, 13 มีนาคม 2552  000 แกนนำพันธมิตรฯ บน “เวทีคอนเสิร์ตการเมืองครั้งที่ 4” ของพันธมิตรฯ ที่เกาะสมุย เมื่อ 4 มีนาคม 2552…
หัวไม้ story
ทีมข่าวการเมือง การเยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 13-15 มี.ค. มีหลายประเด็นจากการเยือนดังกล่าวที่ยังไม่ได้รับการพูดถึง หลายเรื่องถูกบิดเบือน และผลิตซ้ำ จนกลายเป็นชุดความคิดที่ถูกยอมรับโดยไม่มีการตั้งคำถาม “ประชาไท” ขอนำเสนอเรื่องที่ยังไม่มีการรายงาน เรื่องที่ยังไม่ถูกพูดถึง และเรื่องที่บิดเบือนดังกล่าว ในระหว่างการเยือนอังกฤษของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  1.เปิดต้นทางข่าว “ไม่ได้หนี แล้วมาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร”   สื่อมวลชนไทยทุกฉบับพร้อมใจรายงานภารกิจของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่เดินทางเยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการ…