พิณผกา งามสม
ปรากฏการณ์เคลื่อนไหวทางการเมืองบนเว็บไซต์ที่เกิดขึ้นในไทยอยู่ขณะนี้ เป็นพื้นที่การต่อสู้ใหม่ๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นในเมืองไทยไม่กี่ปี่ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันสื่อกระแสหลักก็เปลี่ยนหรือขยายเป้าหมายจากการช่วงชิงพื้นที่ในตลาดสิ่งพิมพ์มาสู่ตลาดแห่งใหม่ในโลกไซเบอร์
นักวิชาการด้านสื่อสารสนเทศ สังคมวิทยา และรวมถึงนักรัฐศาสตร์ในโลกก็เริ่มขยายการศึกษาวิจัยมาสู่พื้นที่ใหม่ที่เรียกว่าอินเตอร์เน็ตมากขึ้นเช่นกัน โลกวิชาการระดับนานาชาติผลิตงานศึกษาวิจัยถึงบทบาทของอินเตอร์เน็ตกับการแสดงออกทางการเมืองอย่างกว้างขวาง และมีข้อเสนอว่า อินเตอร์เน็ตสามารถเข้ามาเติมเต็มส่วนที่ขาดในโลกจริง เป็นต้นว่า การได้แสดงออกอย่างฉับพลันทันที การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยปราศจากข้อจำกัดเรื่องระยะทาง เป็นต้น
น่าสนใจว่า การปฏิบัติต่อพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่นี้ในสังคมไทยกลับได้รับการต้อนรับที่ค่อนข้างเฉยชาจากนักวิชาการเมืองไทยอยู่พอสมควร มิหนำซ้ำยังให้ราคากับการโพสต์ข้อความในอินเตอร์เน็ตต่ำกว่างานวิชาการที่ได้การตีพิมพ์ ดังเช่นกรณีที่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เคยพบกับข้อกล่าวหานี้ในช่วงแรกๆ ที่เขาเริ่มเข้ามาสร้างวิวาทะในเว็บบอร์ดต่างๆ
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันนี้ ที่การสื่อสารในโลกอินเตอร์เน็ตมีบทบาทยิ่งต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทย ทั้งเพื่อต้านระบอบทักษิณ และทั้งในแง่การต้านการรัฐประหาร จะต้านเผด็จการศักดินา หรือเผด็จการทุนนิยมสามานย์ก็ตามแต่ สังคมไทยได้ใช้เครื่องมืออันใหม่นี้อย่างเมามันและมีประสิทธิภาพยิ่ง...นี่ไม่ใช่สิ่งใหม่ในโลก แต่มันเกิดขึ้นในหลายๆ ที่ ด้วยบริบทที่แตกต่างกันไป
กรณีศึกษามาเลเซีย รัฐบาลมั่นคง สื่อกระแสหลักอ่อนแอ สังคมออนไลน์เข้มแข็ง
ยังไม่มีใครพิสูจน์ความสัมพันธ์ระหว่างการกดทับในโลกจริง กับการระเบิดออกในโลกอินเตอร์เน็ต แต่หากพิจารณากรณีที่เกิดขึ้นในประเทศมาเลเซีย ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการรัฐสภา ผนวกกับเศรษฐกิจแบบพวกพ้องของรัฐบาลที่นำโดยแนวร่วมพรรคแห่งชาติมาเลเซีย หรือ อัมโน ซึ่งดำเนินมาต่อเนื่องยาวนานนับแต่การเกิดขึ้นของประเทศที่ชื่อมาเลเซีย การแสดงความเห็นอย่างวิพากษ์วิจารณ์และการรวมกลุ่มกันในที่สาธารณะนั้นอาจนับเป็นความผิดได้หลายกระทง โดยมีกฎหมายความมั่นคงภายใน หรือกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติเป็นเครื่องมือในการปราบปรามอย่างรุนแรง
ในข้อด้อยมีข้อดี เมื่อรัฐบาลที่มีเสถียรภาพสูงมากอย่างอัมโนวางแนวทางการพัฒนาชาติระยะยาว และสามารถดำเนินนโยบายอย่างต่อเนื่อง โครงการที่เป็นหนามยอกอกรัฐบาลอัมโนก็ได้ผลเป็นรูปเป็นร่างขึ้นอย่างรวดเร็ว นั่นคือโครงการ Multimedia Super Corridor ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาไอทีขนาดที่ฝันว่าจะเป็นฮับของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยทีเดียว โดยแนวทางนี้ ในเวลาไม่ช้านาน ประชากรชาวมาเลเซียราว 28 ล้านคนจะสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ถึง 14 ล้านคน นั่นคือครึ่งหนึ่งของคนมาเลเซียทั้งหมด และหายนะของอัมโนก็มาถึง.....
นักกิจกรรมทางสังคมที่ต้องพบเจอเครื่องกีดขวางนานาประการจากกฎหมายอันเคร่งครัด และแนวปฏิบัติอันเฉียบขาดในการกวาดล้าง หรือทำให้ผู้เห็นต่างเงียบเสียงลงในโลกจริง พวกเขาหันมาสู่การเป็น ‘บล็อกเกอร์’ และใช้พื้นที่ของตัวเองอย่างทรงประสิทธิภาพ การเลือกตั้งมาเลเซียครั้งล่าสุด ที่พรรคฝ่ายค้านได้คะแนนเสียงเป็นประวัติการณ์นั้น มีนักกิจกรรมที่เป็นบล็อกเกอร์อยู่ 4 คน ในจำนวนนั้น มี เทียน ฉัว ( www.tianchua.net) ผู้อำนวยการด้านการสื่อสารของพรรคเกออาดิลัน ซึ่งเป็นพรรคแกนนำของฝ่ายค้านอยู่ในขณะนี้
ในโลกจริง เทียน ฉัว ถูกจับเข้าคุกเนื่องจากการเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงานและการเมืองหลายครั้ง แต่ในอินเตอร์เน็ต บล็อก (blog) ของเขาเป็นบล็อกยอดนิยม
เทียน ฉัว เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในระดับปัจเจก แต่สิ่งที่ผลักเทียน ฉัว เข้าสู่รัฐสภาของมาเลเซียมีมากกว่านั้น
โดยแนวนโยบายของ Muiltimedia Super Corridor เอง มีข้อจำกัดในการจำกัดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร มิฉะนั้นย่อมเป็นจุดอ่อนในทางการค้าพาณิชย์ แม้ว่าจะมีมีกฎหมายถึง 9 ฉบับที่คนใช้อินเตอร์เน็ตในมาเลเซียจำต้องระมัดระวังก็ตาม
เมื่อรัฐบาลมาเลเซียผลัดมือสู่นายกฯคนใหม่ผู้มีเสน่ห์ทางการเมืองด้อยกว่ามหาเธร์อย่างเทียบชั้นกันไม่ได้ การเคลื่อนไหวในมาเลเซียผ่านอินเตอร์เน็ตนั้นดูเหมือนจะเติบโตผกผันกับความนิยมในรัฐบาลอัมโนเลยทีเดียว ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บล็อกเกอร์และนักท่องอินเตอร์เน็ตของมาเลเซียรวมตัวกันเพื่อเคลื่อนไหวประเด็นทางการเมืองทั้งในโลกไซเบอร์ครั้งใหญ่อย่างน้อย 3 ครั้ง ประเด็นแรกเป็นเรื่องคดีฆาตกรรมที่เกี่ยวพันกับนักการเมืองระดับสูงในรัฐบาล ที่กิจกรรมในโลกไซเบอร์นานาชาติคุ้นเคย กรณีของอาทันตูยา (Altantuya) หญิงสาวชาวมองโกเลียซึ่งถูกฆาตกรรม กลายเป็นข่าวใหญ่ แต่สื่อกระแสหลักรายงานว่า เธอเป็นนางแบบธรรมดาๆ ทว่าในโลกไซเบอร์ บรรดาบล็อกเกอร์ให้ข้อมูลตรงกันว่า เธอเป็นนายหน้าค้าอาวุธ และการฆาตกรรมครั้งนี้เกี่ยวพันกับการคอร์รัปชั่นในรัฐบาลอย่างแยกไม่ออก
กรณีที่ 2 เมื่อบล็อกเกอร์ชื่อดัง 2 ราย เจฟ อุย (www.jeffooi.com) และ ซูซาน ลูน (sloone.wordpress.com) ถูกหนังสือพิมพ์นิวสเตรทไทม์ ฟ้องละเมิดเนื่องจากบล็อกเกอร์ทั้งสองอาจหาญไปวิพากษ์วิจารณ์การรายงานข่าวของนิวสเตรทไทม์ ซึ่งถือหุ้นใหญ่โดยบริษัทการลงทุนของอัมโน บล็อกเกอร์ชาวมาเลย์ได้รวมตัวกันสื่อสารประเด็นนี้ไปยังนักกิจกรรมในโลกไซเบอร์อื่นๆ และได้รับความร่วมมือในการรณรรงค์กรณีดังกล่าวอย่างกว้างขวาง
กรณีสุดท้ายที่เขย่าขวัญรัฐบาลมาเลเซียครั้งใหญ่ คือขบวนการ BERSIH ซึ่งเป็นการรวมตัวกันกว่า 40 องค์กรระหว่างพรรคฝ่ายค้าน และองค์กรแรงงาน รวมถึงองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในมาเลเซียเพื่อเรียกร้องการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และเป็นธรรม หัวหาดในการสื่อสารอยู่ที่ http://bersih.org
พลังการสื่อสารผ่านเว็บไซต์ที่ดำเนินมายาวนานได้ระเบิดออกเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2550 เป็นการเดินขบวนของนักเคลื่อนไหวและประชาชนชาวมาเลเซียกว่า 40,000 คน โดยใช้เวลาถึง 2 วัน 2 คืน นี่เป็นเรื่องไม่ปกติสำหรับมาเลเซียที่กฎหมายความมั่นคงถูกใช้อย่างเข้มงวด และสิ่งที่เขย่ารัฐบาลมาเลเซียตามมาติดๆ ก็คือผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมานั่นเอง
ถามว่า แล้วสื่อมวลชนที่ควรจะอยู่ข้างประชาชนไปอยู่ไหนเสียเล่า คำตอบคือ อยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของพรรครัฐบาล ภายใต้การนำของอัมโน สื่อกระแสหลักล้วนถือหุ้นโดยรัฐบาล และสื่อกระแสหลักที่ทรงอิทธิพลที่สุดก็หนีไม่พ้น นิวเสตรทไทม์ ซึ่งทำหน้าที่กระบอกเสียงของรัฐบาล กระทั่งเป็นสื่อในฝันของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตผู้นำของไทยเลยทีเดียว
ไทย : การตั้งไข่ของนักเคลื่อนไหวโลกไซเบอร์ภายใต้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์
เราอาจจะยังไม่เห็นว่า บล็อกเกอร์ที่ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นกระบอกเสียงให้ความคิดของตัวเองรวมถึงการหวังผลในทางการเมืองเท่าใดนัก รวมไปถึงการใช้พื้นที่ในอินเตอร์เน็ตเป็นการประกาศความคิดหรือความเชื่อ หรือทฤษฎีใหม่ดังปรากฏมากขึ้นๆ ในโลกไซเบอร์ฝั่งตะวันตก สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกไซเบอร์ของไทยที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมากที่สุด น่าจะได้แก่การย้ายพื้นที่จากโลกของสิ่งพิมพ์มาสู่โลกออนไลน์ของสื่อกระแสหลักทั้งหลาย ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร เพราะเป็นสิ่งที่สื่อสิ่งพิมพ์ทั่วโลกทำกันอยู่แล้ว ทั้งเพื่อเปิดพื้นที่ทางการตลาด และเพื่อการสื่อสารที่มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวในโลกอินเตอร์เน็ตของไทยที่แปรมาเป็นพลังทางการเมืองย่อมไม่อาจดูเบา เมื่อเว็บบอร์ดสาธารณะอย่าง ‘พันทิบ’ ถึงกับต้องปิดโต๊ะราชดำเนินไปอย่างน้อย 2 ครั้งหลังการรัฐประหาร เพราะไม่อาจรับมือกับ ‘วอร์รูม’ ได้
ด้านสื่อกระแสหลักอย่าง ‘ผู้จัดการ’ ที่เคยเป็นสื่อใหญ่อันดับต้นๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ฟุบลงไปเพราะพิษเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 หันมาเปิดแนวรบด้านอินเตอร์เน็ต รวมไปถึงการใช้สื่ออื่นๆ โหมประโคมข้อมูลด้านลบของรัฐบาลทักษิณ จนมีผู้ออกมาเดินถนนเพื่อขับไล่รัฐบาลดังกล่าวถึงกว่า 200,000 คน และยังคงเป็นหัวหอกในการต้านทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับทักษิณ ชินวัตร รวมถึงการประกาศตัวเป็นฝ่ายกษัตริย์นิยมอย่างสุดขั้ว
แต่เมื่อพิจารณาดูตัวเลขของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในไทยพบว่า มีเพียง 8 ล้านคน จากประชากร 67 ล้านคน แม้แต่ตัวเลขผู้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตก็ยังตามหลังมาเลเซียอยู่ เมื่อดูตัวเลขผู้เข้าชมจะพบว่า เว็บไซต์ที่ผู้เข้าชมมากที่สุดคือ www.sanook.com มีผู้คลิกต่อวันประมาณ 300,000 ไอพี และเมื่อหันมาดูที่เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ในขณะนี้ www.manager.co.th มียอดการคลิกเข้าชมอยู่ราวๆ 180,000 ไอพี ต่อวันซึ่งตกลงจากยอดประมาณ 300,000 ไอพี ในช่วงที่กระแสขับไล่ทักษิณขึ้นสูง เว็บไซต์เล็กๆ อย่าง ‘ประชาไท’ ที่มีคนอ่านอยู่ที่ราวๆ 12,000 ไอพี ได้ตัวเลขผู้เข้าอ่านจำนวนเท่านี้นับจากการเกิดรัฐประหาร และเว็บไซต์ฟ้าเดียวกันกำลังเพิ่มขึ้น 4 เท่า แต่ก็ยังคงเป็นตัวเลขหลักพันเท่านั้น
ในขณะที่ผู้จัดการหันมาเปิดแนวรบด้านอุดมการณ์กับเว็บไซต์เล็กๆ 2 รายดังกล่าว และอาจทำให้คนทำงานในเว็บไซต์เล็กๆ นี้เผลอคิดไปว่าตัวเองโตขึ้น และสำคัญขึ้น ในอีกด้าน ยอดคลิกของผู้จัดการที่ลดลงเกือบครึ่ง ก็อาจจะบอกได้ว่า ผู้จัดการเองนั้นกำลังเล็กลงๆ นี่ยังไม่เท่ากับตัวเลขที่หลอกหลอนว่า ประชากรทั้งหมดในโลกอินเตอร์เน็ตของไทยมี 8 ล้านกว่าคน แต่เข้ามาอ่าน 3 เว็บไซต์นี้รวมกันแล้วไม่ถึง 200,000 ....นี่กลับมาสู่ทฤษฎีพื้นฐานที่ว่าด้วยอุปสรรคของอินเตอร์เน็ตที่ว่า
ประชากรในอินเตอร์เน็ตถูกคัดสรรแล้ว อย่างน้อยโดยฐานะทางเศรษฐกิจ คำถามกลับไปยังการเคลื่อนไหวทางการเมืองในโลกอินเตอร์เน็ตของไทย ใครคือประชากรกลุ่มนี้ และมันพูดแทนประชากรในโลกจริงๆ ของไทยได้หรือเปล่า
และท้ายสุด การเกิดขึ้นของการรัฐประหาร กระแสการต้านรัฐประหาร และการต่อสู้กันในโลกไซเบอร์ที่ดำเนินอยู่ขณะนี้จะเป็นจังหวะก้าวที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง สำหรับผู้สนใจศึกษาการเคลื่อนไหวและการพัฒนาของอินเตอร์เน็ตที่มีผลต่อพลังทางการเมืองไทย ไม่ว่าคนที่อยู่ในปัจจุบันจะเขียนมันอย่างไร แต่การศึกษาและตีความที่จะเกิดขึ้นภายหลัง ย่อมเป็นเป็นอิสระโดยตัวของมันเอง
อ้างอิง
Balgos, C.A. Cecile, Across the border: Southeast Asian Chroniles, Southeast Asian Press Alliance, Bangkok, 2005.
Gan, Steven, Gomez,James and Johanen, Uwe. Asian Cyberactivistm: Freedom of Expression and Media Censorship. 2004.
Jr. MacIver. J. William and Birdsall F.William F., Technological evolution and the right to communicate: the implication for Electronic Democracy, New Zealand, 2002
Lai, On-Kwok. Cultural (Re-)Presentation of Global Civil Society and Global Citizenship in the Cyber Age: Positioning Transnational Activism in a Globalizing World www.inst.at/trans/16Nr/15_1/lai16.htm
Lewis,Glen, Virtual Thailand: the Media and culture politics in Thailand, Malaysia and Singapore, Routledge Curzon, London, 2006