ทีมข่าวพิเศษ Prachatai Burma
คณะพี่น้องตลกหนวดแห่งมัณฑะเลย์ (The Moustache Brothers)
ทำมือไขว้กันสองข้าง เป็นเครื่องหมาย ‘ไม่รับ’ รัฐธรรมนูญรัฐบาลทหารพม่า (ที่มา: The Irrawaddy)
ก่อนนาร์กิสจะซัดเข้าถล่มประเทศกระทั่งอยู่ในภาวะวิกฤต แน่นอนว่า ความสนใจที่โลกจะจับตามองประเทศมองนั้นคือวันที่ 10 นี้ ประเทศพม่าจะมีการลงประชามติเพื่อรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประวัติศาสตร์ ที่รัฐมนตรีฝ่ายข้อมูลข่าวสารของพม่ากล้าพูดว่า กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญและกระบวนการลงประชามตินั้นเป็นประชาธิปไตยกว่าของไทย แม้ว่าแหล่งข่าวภายในรัฐฉานจะให้ข้อมูลที่ต่างไปว่ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของพม่านั้น มีเพียงของรัฐบาลที่ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ ไม่มีฝ่ายค้าน ขณะที่ชนกลุ่มน้อยที่มาร่วมก็เป็นเพียงกลุ่มหยุดยิงที่สวามิภักดิ์รัฐบาล และไม่มีหน้าที่อะไรมากไปกว่ามานั่งฟัง เพราะรัฐบาลทหารพม่าปฏิเสธข้อเสนอชนกลุ่มน้อยทั้งหมด
ภายหลังวาตภัยนาร์กิสที่คร่าชีวิตชาวพม่าไปเรือนหมื่นพร้อมผู้ประสบภัยอีกจำนวนนับแสนคน สายตาของนานาชาติเปลี่ยนไปสู่การยื่นข้อเสนอเข้าช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนของชาวพม่า โดยเฉพาะสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์นั่คือ สิทธิในการเข้าถึงอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคนั้นได้ถูกไฮไลท์ขึ้นมาอย่างหนักหน่วงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาพของศพที่ไร้การเหลียวแลจัดการจากทางรัฐบาลถูกนำเสนอต่อสายตาชาวโลก รายงานอย่างต่อเนื่องถึงท่าทีที่ปฏิเสธความช่วยเหลือจากนานาชาติรวมถึงผลักดันเจ้าหน้าที่จากรัฐบาลอินโดนีเซียซึ่งเป็นกลุ่มแรกๆ ที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือ ด้วยเหตุผลว่าเจ้าหน้าที่กลุ่มนั้น พกเอาช่างภาพเข้าไปด้วย
รัฐบาลพม่าปฏิเสธความช่วยเหลือในด้านบุคลากร และเสนอรับเพียงเครื่องอุปโภคบริโภคเท่านั้น เจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมจากชาติต่างๆ รวมถึงจากองค์การสหประชาชาติยังคงติดค้างอยู่ในประเทศไทยจำนวนมากเพื่อรอการอนุญาตให้เข้าไปให้ความช่วยเหลือ ในขณะเดียวกันก็ปรากฏข่าวว่า ทหารและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกักตุนเครื่องอุปโภคบริโภคที่ได้รับบริจาค และเริ่มนำสิ่งของเหล่านั้นออกขายในราคาแพง
Debbie Stothard, Coordinator ขององค์กร Altsean-Burma (Alternative ASEAN Network on Burma) แสดงความวิตกต่อสถานการณ์รัฐบาลพม่าช่วยเหลือชาวบ้านชนิดแทบจะไร้การจัดการว่า ถ้าไม่ยอมให้มีการช่วยเหลือจากนานาชาติผู้เสียชีวิตอาจมากถึงหลักล้าน รัฐบาลทหารพม่ามีเวลา 24 ชั่วโมงในการเตือนแต่ไม่ทำอะไร ถ้าเตือนล่วงหน้าจะไม่มีผู้เสียชีวิตมากขนาดนี้ และนี่ถือเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายมาก เพราะนานาชาติไม่สามารถติดต่อผู้คนข้างใน หรือจับตาการให้ความช่วยเหลือของรัฐบาลพม่าใดๆ ได้เลย
เหนือสิ่งอื่นใด การลำดับความสำคัญของรัฐบาลทหารพม่ายังคงไม่แปรเปลี่ยนไปจากเดิม นั่นคือพยายามผลักพม่าไปสู่การเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญเป็นหลักประกัน
รัฐธรรมนูญ - วาระแห่งชาติ: เดินหน้าต่อไปแม้ประสบภัยนาร์กิส
เมื่อพิจารณาจากมาตรฐานที่รัฐบาลพม่ากระทำมาโดยตลอด การให้ความสำคัญกับประเด็นความมั่นคงของรัฐบาบลทหารมากกว่ากว่าสวัสดิภาพของพลเมืองไม่ใช่เรื่องเหลือความคาดหมายของประชาคมโลก แม้ว่านายบันคีมุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติจะออกมาวิพากษ์การจัดลำดับความสำคัญของรัฐบาลพม่าที่กลับหัวกลับหางกับประชาคมโลกขณะนี้ว่า รัฐบาลพม่าควรหันไปใส่ใจให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบพิบัติภัยมากกว่าจะให้ความสำคัญกับการลงประชามติเพื่อรับร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องของเลขาธิการยูเอ็นอยู่ที่ความตระหนักในความรับผิดชอบต่อสวัสดิภาพของชาวพม่าในห้วงเวลาที่เป็นโศกนาฏกรรรมของชาติ
อย่างไรก็ตาม วันที่ 10 พ.ค. นี้ การลงประชามติยังคงเดินหน้าต่อไป ตามกำหนดการเดิม ยกเว้น 7 เมืองในเขตอิระวดี และ 40 เมืองในเขตย่างกุ้ง ซึ่งเป็นเขตประสบภับพิบัติ การลงประชามติจะถูกเลื่อนไปเป็นวันที่ 24 พ.ค. นั่นคือประชาชนในเขตพิบัติภัยจะมีเวลาในการเตรียมตัวลงประชามติเพิ่มขึ้น 2 สัปดาห์!!!
ชาวพม่าต้องเตรียมอะไรก่อนไปลงประชามติ
ภาพถ่ายเมื่อเดือนพฤษภาที่ผ่านมา โดยป้ายนี้เขียนว่าการลงมติ ‘เห็นชอบ’ เป็นหน้าที่ของพลเมืองแห่งวันนี้
ขอให้พวกเราลงมติ ‘เห็นชอบ’ เพื่อผลประโยชน์ของชาติ ป้ายนี้ติดตั้งที่ศาลากลางเมืองย่างกุ้ง (ที่มา: Ko We Kyaw/Prachatai Burma)
ข้อมูลเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถูกตีพิมพ์จำนวน 200,000 ชุด เพื่อ ‘ขาย’ในราคา 1,000 จ๊าด (ประมาณ 33 บาท) ให้กับผู้ที่สนใจจะอ่านทำการบ้านก่อนไปลงประชามติ
ผลการสำรวจความเห็นก่อนการลงประชามติ โดยองค์กรความร่วมมือผู้สื่อข่าวพม่า 10 องค์กร ซึ่งทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้มีสิทธิลงประชามติ 2,000 คนทั่วประเทศ พบว่า 69 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างไม่เข้าใจว่าในรัฐธรรมนูญนั้นมีเนื้อหาว่าอย่างไร ทั้งนี้ แม้จะปราศจากความเข้าใจต่อรัฐธรรมนูญที่ตนเองกำลังจะไปลงประชามติ แต่ 83 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างก็คิดจะไปลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์ โดยในจำนวนนี้วางแผนที่จะโหวต ‘No’ 66.4 เปอร์เซ็นต์
ผลของโพลล์ที่ทำโดยผู้สื่อข่าวกับผลการลงประชามติจริงๆ จะไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม แต่ไม่ยากเกินคาดว่า ผลของโพลล์นั้นอาจจะไม่ได้สะท้อนสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงๆ เมื่อพิจารณาจากการลงประชามติล่วงหน้าในหลายๆ เมือง
โฆษณาทางโทรทัศน์ช่อง MRTV ของพม่า เชิญชวนประชาชนไปลงมติ ‘รับ’ รัฐธรรมนูญ
เป็นการโฆษณาชวนเชื่อแบบชัดๆ เคลียร์ๆ ไม่มีอ้อมค้อม (ที่มา: Ko We Kyaw/Prachatai Burma)
เมื่อเบนสายตาออกมาจากผลโพลล์ เราก็จะพบว่ารัฐบาลทหารพม่าจัดรณรงค์ให้ประชาชนออกเสียง ‘รับ’ รัฐธรรมนูญทุกวิถีทาง เช่น มีนายพลใน SPDC (state for peace and development council-สภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ) หรือ เลขาธิการ USDA (สมาคมสหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนา- union solidarity for development association) ในระดับท้องถิ่นระดมประชาชนมาฟังการปราศรัยให้ ‘รับ’ โดยสำทับว่าถ้า ‘ไม่รับ’ ในอนาคตจะมีปัญหา
ทั้งนี้ รัฐบาลมีฐานคะแนนเสียงอยู่ในมือจำนวนหนึ่ง ได้แก่ กลุ่มคนถือสัญชาติจีนที่อยู่ในพม่าจะได้บัตรประชาชนชั่วคราว เพื่อลงมติ ‘รับ’ มีการสอนนักโทษในคุกตำรวจให้โหวต ‘รับ’ แล้วปล่อยตัวเป็นอิสระหลังลงมติ ผู้สูงอายุที่อยู่ในบัญชีรายชื่อผู้จะลงมติ ‘รับ’
กรณีเจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบธุรกิจ ต้องลงมติรับไม่เช่นนั้นจะถูกยึดใบอนุญาตดำเนินกิจการ
ขณะเดียวกัน คนบางกลุ่มมีสิทธิลงมติล่วงหน้าได้หลายครั้ง เช่น กลุ่มทหารตำรวจที่ได้ลงมติไปแล้วเมื่อ 24 เม.ย. กลุ่มนักโทษที่ได้รับการปล่อยตัวให้ไปลงมติ ‘รับ’ เมื่อ 29 เม.ย. ก่อนปล่อยตัว ข้าราชการพม่าที่ได้รับการแนะนำให้ลงมติ ‘รับ’ กลุ่มพ่อค้า คนงาน ที่ต้องเดินทางไกลเพื่อมาทำงานในเมือง ก็ถูกรัฐบาลสั่งว่าถ้าการลงคะแนนล่วงหน้าไม่ ‘รับ’ จะไม่สามารถออกบ้านได้
นอกจากนี้ยังมีวิธีการหลอกล่อที่เหนือชั้นกว่า ‘รับก่อนแก้ทีหลัง’ ของบ้านเรามาก เช่น เจ้าหน้าที่รัฐบาลบอกให้ประชาชนมาดูวิธีการกากบาทออกเสียง โดยให้ติ๊กเครื่องหมายถูกลงบนบัตร แล้วบอกประชาชนว่าไม่ต้องมาลงเสียงในวันจริง แล้วก็เอาบัตรที่การับรองนั้นไปนับเป็นคะแนนเสียงจริงเสียเลย
‘ความลับ’ ในการลงประชามติล่วงหน้าที่เกิดขึ้นไปแล้วนั้น ไม่มีอยู่ในหลักการพื้นฐานในการใช้เสรีภาพทางการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐต้องลงมติต่อหน้าผู้บังคับบัญชา และประชาชนก็ต้องลงประชามติต่อหน้าเจ้าหน้าที่รัฐ
บัตรประชาชนอยู่ในฐานะของแลกเปลี่ยนที่ทรงคุณค่ายิ่ง เนื่องจากในภาวการณ์ปกติ ยากยิ่งนักที่กลุ่มชาติพันธุ์จะได้รับบัตรประชาชน แต่เพื่อการลงประชามติครั้งนี้ รัฐบาลพม่าได้เร่งทำบัตรประชาชนให้กลุ่มชาติพันธุ์ใน ‘เขตหยุดยิง’ ซึ่งทำการตกลงสวามิภักดิ์ต่อรัฐบาลทหารพม่าแล้ว แม้ว่าบัตรประชาชนนี้จะเป็นแบบ ‘ชั่วคราว’ เพื่อการลงประชามติก็ตาม ทั้งนี้ ความหมายอย่างสำคัญของการมีบัตรประชาชนก็คือเสรีภาพที่เพิ่มขึ้นอีกนิดในการเดินทางออกนอกพื้นที่ของตัวเอง อย่างน้อยที่สุด เมื่อมีบัตรประชาชน พวกเขาจะสามารถซื้อตั๋วรถไฟได้
ทำไมต้องเดี๋ยวนี้
ความสมเหตุสมผลของการมุ่งหน้าเรื่องการลงประชามตินี้อยู่ที่ไหน เหตุใดมันจึงสำคัญกว่าชีวิตผู้คนเรือนหมื่นเรือนแสนที่ประสบทุกขภัยอยู่ขณะนี้ รัฐบาลทหารพม่าอาจจะตอบกลับมาว่า ก็นี่ไม่ใช่หรือที่พวกคุณต้องการและเรียกร้องเรามาอย่างยาวนาน
การลงประชามติถือเป็น 1 ใน 7 ขั้นตอน Road Map ประชาธิปไตยพม่า โดยร่างรัฐธรรมนูญกันมาตั้งแต่ปี 1993 และสิ้นสุดในปี 2007
ขณะที่ย่างกุ้งกำลังวุ่นกับพายุไซโคลนนาร์กิสที่ขึ้นฝั่งตั้งแต่หัวค่ำของวันที่ 2 พ.ค. แต่การรณรงค์โหวตรับรัฐธรรมนูญก็เดินหน้าต่อไป
โดยประชาชนจำนวนมากที่เมืองลัตปันพยา ใกล้กับเมืองพุกาม ทางตอนในของประเทศพม่า ถูกเกณฑ์ให้มาฟังการปราศรัยสนับสนุนรัฐธรรมนูญ
เมื่อ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา (ที่มา: Ko We Kyaw/Prachatai Burma)
สุรพงษ์ ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูตไทย 5 ประเทศ อธิบายว่า แม้ว่ากระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยจะต้องเริ่มจาก เสรีภาพของประชาชนหรือเสรีภาพทางการเมือง แต่รัฐบาลทหารพม่ากระโจนเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยโดยเพิกเฉยต่อรายละเอียดเหล่านี้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไร เพราะสิ่งที่ประชาคมโลกเรียกร้องจากรัฐบาลพม่าก็คือประชาธิปไตย และสิ่งหนึ่งที่รับรองความเป็นประเทศประชาธิปไตยก็คือการมีรัฐธรรมนูญ และพม่าก็กำลังทำสิ่งนั้นอยู่ และเพื่อจะเข้าใจว่าพม่ากำลังทำอะไรเราก็ต้องโฟกัสไปที่กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยมากกว่าที่จะไปพิจารณารายละเอียดของการลงประชามติ
ท่านทูตสุรพงษ์อธิบายบนพื้นฐานที่ว่า “ทุกคนล้วนล้มเหลวต่อกระบวนการประชาธิปไตยในพม่า ไม่ว่าจะเป็นประชาคมโลก อาเซียน หรือยูเอ็น ฉะนั้นแล้ว การลงประชามติครั้งนี้ก็จะช่วยรักษาหน้าให้กับทั้งหมดที่ว่ามาได้ โดยที่ประชาคมโลกทั้งหมดก็คงพร้อมที่จะรับผลของมันในฐานะที่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้วที่พอจะทำได้” นี่คือคำอธิบายเมื่อวันที่ 5 พ.ค. ก่อนที่ประชาคมโลกทั้งหมดจะได้เห็นภาพคนพม่าจำนวนมาก จมอยู่ภายใต้ความขาดไร้ซึ่งปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต
โดยอาศัยคำอธิบายดังกล่าวเป็นฐานในการทำความเข้าใจต่อไป Road Map ประชาธิปไตยของพม่าดำเนินมายาวนานเกินกว่าที่รัฐบาลพม่าจะหยุดพักเพราะพายุไซโคลนที่พัดชั่วข้ามคืน แต่เงื่อนไขในการยอมรับรัฐธรรมนูญของพม่า ในฐานะที่เป็นหลักประกันการเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยก็พม่าก็ทบทวีขึ้น ตามการการเพิกเฉยต่อความเป็นมนุษย์ของประชาชนพม่าอยู่นั่นเอง.....บางที นี่อาจจะไม่ใช่โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลพม่า แต่เป็นโจทย์ที่ตีกลับมายังประชาคมโลกที่เรียกร้องพม่าอย่างลูบหน้าประจมูกมาตลอดว่า จะอธิบายตัวเองอย่างไรเพื่อจะยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ของพม่า ฉบับที่เป็นเครื่องยืนยันว่าพม่ากำลังเดินหน้าไปบน Road Map ประชาธิปไตยที่ทั่วโลกเรียกร้อง และก็เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ลงประชามติท่ามกลางซากศพ ผู้สูญเสีย และความเสียหายของประชาชนชาวพม่าที่ถูกคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นหลักล้านในเวลาไม่ช้าไม่นาน
อ้างอิง
- Government sells food to disaster victims http://english.dvb.no/news.php?id=1215
- Referendum postponed in some areas http://english.dvb.no/news.php?id=1200
- UN chief criticises junta’s referendum decision http://english.dvb.no/news.php?id=1225
- UN Suspends Aid Shipment to Burma http://www.irrawaddy.org/article.php?art_id=11894
- ความเสียหายหลัง ‘นาร์กิส’ ภาพจากพม่าชุดล่าสุด http://www.prachatai.com/05web/th/home/12117
- ใครบอกว่าประชาธิปไตยพม่ากับไทยเทียบกันไม่ได้ http://www.prachatai.com/05web/th/home/11506
- บทวิเคราะห์ : ‘พม่า’ เรื่องกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของอาเซียน http://www.prachatai.com/05web/th/home/1883