Skip to main content

ในสังคมการเมืองไทยสมัยใหม่ของไทย ผ่านความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงระบบ โครงสร้าง การเข้าถึงอำนาจ หลายครั้ง หลายรูปแบบ ที่มีสำเร็จและล้มเหลวคละเคล้ากันไป

สำหรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างฉับพลัน โดยวิธีนอกระบบกฎเกณฑ์ทางการเมืองที่สังคมในช่วงเวลานั้นๆ ไม่ยอมรับ เกี่ยวพันโดยตรงกับผลลัพธ์ของปฏิบัติการ ถ้าสำเร็จ คณะผู้ก่อการก็สามารถบัญญัติคำหรือภาษาสวยงามลงไปอ้างอิงการกระทำของกลุ่มตนเองได้ ไม่ว่าจะเป็น คณะปฏิวัติ  คณะปฏิรูป  เป็นต้น แต่หากล้มเหลวมีเพียงโทษสถานเดียวคือการเป็นศัตรูของสังคมในฐานะ “กบฏ”

หัวไม้สัปดาห์นี้จะพาย้อนไปดูการปฎิบัติการเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ ในสังคมการเมืองไทยสมัยใหม่…

0 0 0

กบฏ ร.ศ. 130

กบฏ ร.ศ. 130 เกิดขึ้นก่อนการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 นานถึง 24 ปี โดยเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อปี พ.ศ. 2455 (ร.ศ. 130) เมื่อนายทหารและปัญญาชนกลุ่มหนึ่ง วางแผนปฏิบัติการโดยหมายให้พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญให้ และเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่แผนการแตกเสียก่อน จึงมีการจับกุมผู้คิดก่อการหลายคนไว้ได้ 91 คน คณะตุลาการศาลทหารมีการพิจารณาตัดสินลงโทษให้จำคุกและประหารชีวิต โดยให้ประหารชีวิตหัวหน้าผู้ก่อการจำนวน 3 คน คือ ร.อ.เหล็ง ศรีจันทร์ ร.ท.จรูญ ณ บางช้าง และ ร.ต.เจือ ศิลาอาสน์ ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต 20 คน จำคุกยี่สิบปี 32 คน จำคุกสิบห้าปี 6 คน จำคุกสิบสองปี 30 คน

แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย และได้มีพระบรมราชโองการพระราชทานอภัยโทษ ละเว้นโทษประหารชีวิต ด้วยทรงเห็นว่า ทรงไม่มีจิตพยาบาทต่อผู้คิดประทุษร้ายแก่พระองค์

คณะผู้ก่อการได้รวมตัวกันเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2455 ประกอบด้วยผู้ร่วมคณะเริ่มแรกจำนวน 7 คน คือ

ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ (หมอเหล็ง ศรีจันทร์) เป็นหัวหน้า
ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ จาก กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์
ร.ต.จรูญ ษตะเมษ จากกองปืนกล รักษาพระองค์
ร.ต.เนตร์ พูนวิวัฒน์ จาก กองปืนกล รักษาพระองค์
ร.ต.ปลั่ง บูรณโชติ จาก กองปืนกล รักษาพระองค์
ร.ต.หม่อมราชวงศ์แช่ รัชนิกร จาก โรงเรียนนายสิบ
ร.ต.เขียน อุทัยกุล จาก โรงเรียนนายสิบ

คณะผู้ก่อการวางแผนจะก่อการในวันที่ 1 เมษายน ซึ่งเป็นวันพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา และวันขึ้นปีใหม่ ผู้ที่จับฉลากว่าต้องเป็นคนลงมือลอบปลงพระชนม์ คือ ร.อ.ยุทธ คงอยู่ (หลวงสินาด โยธารักษ์) เกิดเกรงกลัวความผิด จึงนำความไปแจ้งหม่อมเจ้าพันธุ์ประวัติ ผู้บังคับการกรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ และพากันนำความไปแจ้ง สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

ความทราบไปถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประทับอยู่ที่พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม คณะทั้งหมดจึงถูกจับกุมเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ถูกส่งตัวไปคุมขังที่คุกกองมหันตโทษ ที่สร้างขึ้นใหม่ และได้รับพระราชทานอภัยโทษในพระราชพิธีฉัตรมงคล เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2467 ครบรอบปีที่ 15 ของการครองราชย์

การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475

การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 คือการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยคณะราษฎร ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

คณะราษฎรได้มีการประชุมเตรียมการหลายครั้ง รวมถึงได้มีการล้มเลิกแผนการบางแผนการ เช่น การเข้ายึดอำนาจในวันพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาซึ่งตรงกับวันที่ 16 มิถุนายน แต่เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง จนกระทั่งสุดท้ายได้ข้อสรุปว่าจะดำเนินการในเช้าวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับที่วังไกลกังวล ทำให้เหลือข้าราชการเพียงไม่กี่คนอยู่ในกรุงเทพ

ในการวางแผนดังกล่าวกระทำที่บ้าน ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี ในวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยมีเป้าหมายสำคัญในการวางแผนควบคุมสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร โดยมีการเลื่อนวันเข้าดำเนินการหลายครั้งเพื่อความพร้อม

หลังจากนั้นยังได้มีการประชุมกำหนดแผนการเพิ่มเติมอีกที่บ้านพระยาทรงสุรเดช โดยมีการวางแผนว่าในวันที่ 24 มิถุนายนจะดำเนินการอย่างไร และมีการแบ่งงานให้แต่ละกลุ่ม แบ่งออกเป็น 4 หน่วยด้วยกัน คือ

หน่วยที่ 1 ทำหน้าที่ทำลายการสื่อสารและการคมนาคมที่สำคัญ เช่น โทรศัพท์ โทรเลข ดำเนินการโดยทั้งฝ่ายทหารบกและพลเรือน ทหารบกจะทำการตัดสายโทรศัพท์ของทหาร ส่วนโทรศัพท์กลางที่วัดเลียบมี นายควง อภัยวงศ์ นายประจวบ บุนนาค นายวิลาศ โอสถานนท์ ดำเนินการ โดยมีทหารเรือทำหน้าที่อารักขา ส่วนสายโทรศัพท์และสายโทรเลขตามทางรถไฟและกรมไปรษณีย์เป็นหน้าที่ของ หลวงสุนทรเทพหัสดิน หม่อมหลวงอุดม สนิทวงศ์ หม่อมหลวงกรี เดชาติวงศ์ เป็นต้น ซึ่งหน่วยนี้ยังรับผิดชอบคอยกันมิให้รถไฟจากต่างจังหวัดแล่นเข้ามาด้วย โดยเริ่มงานตั้งแต่เวลา 06.00 น.
 
หน่วยที่ 2 เป็นหน่วยเฝ้าคุม โดยมากเป็นฝ่ายพลเรือนผสมกับทหาร ทำหน้าที่ควบคุมตัวเจ้านายและบุคคลสำคัญต่าง ๆ เช่น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต จากวังสวนผักกาดมายังพระที่นั่งอนันตสมาคม พระประยุทธอริยั่น จากกรมทหารบางซื่อ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการวางแผนให้เตรียมรถยนต์สำหรับลากปืนใหญ่มาตั้งเตรียมพร้อมไว้ โดยทำทีท่าเป็นตรวจตรารถยนต์อีกด้วย โดยหน่วยนี้ดำเนินงานโดย นายทวี บุณยเกตุ นายจรูญ สืบแสง นายตั้ว ลพานุกรม หลวงอำนวยสงคราม เป็นต้น โดยฝ่ายนี้เริ่มงานตั้งแต่เวลา 01.00 น.

หน่วยที่ 3 เป็นหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนย้ายกำลัง ซึ่งทำหน้าที่ประสานทั้งฝ่ายทหารบกและทหารเรือ เช่น ทหารเรือจะติดไฟเรือรบ และเรือยามฝั่ง ออกเตรียมปฏิบัติการณ์ตามลำน้ำได้ทันที
หน่วยที่ 4 เป็นฝ่าย " มันสมอง " มี นายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า ทำหน้าที่ร่างคำแถลงการณ์ ร่างรัฐธรรมนูญ และหลักกฎหมายปกครองประเทศต่าง ๆ รวมทั้งการเจรจากับต่างประเทศเพื่อทำความเข้าใจภายหลังการปฏิบัติการสำเร็จแล้ว
 
แม้ว่าทางคณะราษฎรจะพยายามที่ทำลายหลักฐานต่าง ๆ แล้ว ยังมีข่าวเล็ดรอดไปยังทางตำรวจ ซึ่งได้ออกหมายจับกลุ่มผู้ก่อการ 4 คน คือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม พ.ต. หลวงพิบูลสงคราม ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี และ นายตั้ว ลพานุกรม อย่างไรก็ตามเมื่อนำเข้าแจ้งแก่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ก็ถูกระงับเรื่องไว้ก่อน เนื่องจากไม่ทรงเห็นว่าน่าจะเป็นอันตราย และให้ทำการสืบสวนให้ชัดเจนก่อน

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎร ได้ใช้กลลวง นำทหารบกและทหารเรือมารวมตัวกันบริเวณรอบ พระที่นั่งอนันตสมาคม ประมาณ 2000 คน ตั้งแต่เวลาประมาณ 5 นาฬิกา โดยอ้างว่าเป็นการสวนสนาม จากนั้นนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้อ่าน ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ ๑ ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เสมือน ประกาศยึดอำนาจการปกครอง ก่อนจะนำกำลังแยกย้ายไปปฏิบัติการต่อไป

หลักฐานประวัติศาสตร์ในเหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นหมุดทองเหลือง ฝังอยู่กับพื้นถนน บนลานพระบรมรูปทรงม้า ด้านสนามเสือป่า

รัฐประหาร 1 เมษายน พ.ศ. 2476

รัฐประหาร 1 เมษายน พ.ศ. 2476 เป็นรัฐประหารครั้งแรกของประเทศไทย (บางข้อมูลไม่นับเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นการรัฐประหาร) เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 โดยที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา

เหตุสืบเนื่องจากการนำเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ ฉบับที่เรียกว่า "สมุดปกเหลือง" ที่ถูกหลายฝ่ายมองว่าเป็นคล้ายกับเค้าโครงเศรษฐกิจของคอมมิวนิสต์ บ้างถึงกับกล่าวว่าถ้านายปรีดีไม่ลอกมาจากสตาลิน สตาลินก็ต้องลอกมาจากนายปรีดี ก่อให้เกิดความเห็นขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในหมู่คณะราษฎร์ด้วยกันเองและบรรดาข้าราชการ ซึ่งพระยาทรงสุรเดช 1 ใน 4 ทหารเสือผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้นำพระยาฤทธิ์อัคเนย์ และ พระประศาสน์พิทยายุทธ ทหารเสืออีก 2 คน สนับสนุนพระยามโนปกรณ์ ฯ แต่ในส่วนของบรรดานายทหารคณะราษฎร์ส่วนใหญ่ยังคงให้การสนับสนุนนายปรีดีอยู่

สำหรับตัวพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเองนั้น ไม่เห็นด้วยกับเค้าโครงเศรษฐกิจฉบับนี้ เป็นเหตุให้ต้องใช้พระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งถือได้ว่าเป็นการ รัฐประหารเงียบ พร้อมบีบบังคับนายปรีดีไปที่ประเทศฝรั่งเศส และได้ออกพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2476 ออกมาใช้ด้วย มีการกวาดล้างจับกุมชาวเวียดนามที่สงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ขณะเดียวกันคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์สยามก็ถูกจับและถูกจำคุก ทั้งนี้มีบันทึกที่ไม่เป็นทางการว่า พระยามโนปกรณ์นิติธาดา และ พระยาทรงสุรเดช ร่วมมือกันในการขจัดบทบาททางการเมืองของคนสำคัญในคณะราษฏร์เอง อาทิ นายปรีดี พนมยงค์ พันโท หลวงพิบูลสงคราม เป็นต้น

รัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476

รัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 เป็นรัฐประหารครั้งแรกในประเทศไทย (ซึ่งบางครั้งจะไม่นับ รัฐประหารในประเทศไทย เมษายน พ.ศ. 2476 เป็นครั้งแรก) เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 นำโดยพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ยึดอำนาจการปกครองของนายกรัฐมนตรี พระยามโนปกรณ์นิติธาดา

รัฐประหารครั้งนี้มีขึ้นหลังเกิดความตึงเครียดเมื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดาประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา หลังจากมีความขัดแย้งกันในหมู่รัฐบาลคณะราษฎร อันสืบเนื่องจากการยื่น "สมุดปกเหลือง" เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ถูกหลายฝ่ายมองว่าเป็นคล้ายกับเค้าโครงเศรษฐกิจของคอมมิวนิสต์ จึงนำไปสู่การปิดหนังสือพิมพ์บางฉบับ และเมื่อถึงขั้นวิกฤต "4 ทหารเสือ" คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิอัคเนย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ์ ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน โดยอ้างเหตุผลว่าเพื่อพักผ่อนหลังจากตรากตรำทำงานราชการจนสุขภาพเสื่อมโทรม

วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 คณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา หลวงพิบูลสงคราม และหลวงศุภชลาศัย ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ให้เหตุผลว่า "ด้วยคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดิน ณ บัดนี้ ไม่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ โดยเริ่มต้นปิดสภาผู้แทนและงดใช้รัฐธรรมนูญเป็นหลายบท คณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน จึงเห็นเหตุจำเป็นเข้ายึดอำนาจการปกครองเพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ"

เมื่อรัฐบาลสิ้นสุด ผู้สนับสนุน เช่น พระยาทรงสุรเดช ถูกกีดกันออกจากแวดวงการเมือง ด้านพระยามโนปกรณ์นิติธาดาต้องเดินทางไปที่ปีนัง พระยาพหลพลพยุหเสนามอบหมายให้เจ้าพระยาพิชัยญาติ ประธานสภาผู้แทนราษฎร นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ วังไกลกังวล หัวหิน เพื่อโปรดเกล้าฯ ให้เปิดประชุมสภาฯ พร้อมถวายรายงานเรื่องการยึดอำนาจ

กบฏบวรเดช

กบฏบวรเดช เกิดขึ้นเมื่อ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 นับเป็นการกบฏครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 สาเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างระบอบเก่าและระบอบใหม่ จากข้อโต้แย้งในเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจที่เสนอโดยนายปรีดี พนมยงค์ ที่ถูกกล่าวหาจากผู้เสียประโยชน์ว่าเป็น "คอมมูนิสต์" และชนวนสำคัญที่สุดคือข้อโต้แย้งในเรื่องพระเกียรติยศและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบใหม่ เป็นผลนำไปสู่การนำกำลังทหารก่อกบฏโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อันเป็นที่มาของชื่อ "กบฏบวรเดช" โดยในที่สุดฝ่ายรัฐบาลสามารถปราบปรามคณะกบฏลงได้ ส่วนพระองค์เจ้าบวรเดชหัวหน้าคณะกบฏและพระชายาได้หนีไปยังประเทศกัมพูชา

กบฏบวรเดชเกิดขึ้นในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 นำโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เป็นหัวหน้าฝ่ายทหารนำกำลังทหารจากหัวเมืองภาคอีสานล้มล้างการปกครองของรัฐบาล เนื่องจากไม่พอใจที่นายถวัลย์ ฤทธิเดช ได้ฟ้องร้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เนื่องจากกรณีที่ที่พระองค์มีพระบรมราชวินิจฉัยคัดค้านแผนพัฒนาเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ที่เรียกกันว่า "สมุดปกเหลือง" โดยออกเป็นสมุดปกขาว ซึ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจของนายปรีดีนี้มีการลดทอนอำนาจศักดินาอย่างมาก อาทิ เรื่องการถือครองและการเช่าที่ดิน และเปิดโอกาสให้เกษตรกรชาวไร่ชาวนาได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ก็มีแนวคิดที่คล้ายกับการปกครองในระบบสังคมนิยม เรื่องนี้ทำให้ผู้สูญเสียอำนาจและฝ่ายนิยมเจ้าออกมาคัดค้านอย่างรุนแรง เป็นเหตุให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมต้องไปอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสชั่วคราว ซึ่งทำให้คณะราษฎรหลายท่านไม่พอใจพระเจ้าอยู่หัวและพระยามโนปกรณ์นิติธาดา จนเป็นเหตุให้เกิดรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 หลังจากการรัฐประหารที่ให้พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี จึงมีการล้างมลทินให้หลวงประดิษฐมนูธรรมและกรณีฟ้องร้องพระเจ้าอยู่หัว

เหตุดังกล่าวทำให้พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช บรรดานายพล และ นายทหารอื่นๆ ที่โดนปลดหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 ไม่พอใจรัฐบาลเป็นอันมาก จึงเริ่มก่อกบฏขึ้น โดยนำทหารโคราช (กองพันทหารราบที่ 15, กองพันทหารราบที่ 16, กองพันทหารม้าที่ 4, กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 3 และ กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 4) ทหารเพชรบุรี (กองพันทหารราบที่ 14), ทหารอุดร (กองพันทหารราบที่ 18) เข้ารบ โดยหวังให้ทหารกรุงเทพที่สนิทกับพันเอกพระยาศรีสิทธิ์สงครามไม่ร่วมมือกับฝ่ายรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม ทหารกรุงเทพหันไปร่วมมือกับรัฐบาลเนื่องจากฝ่ายทหารโคราชยืนยันเอาพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชเป็นหัวหน้า ซึ่งผิดเงื่อนไขที่ทหารกรุงเทพต้องการ เนื่องจากทหารกรุงเทพนับถือพันเอก พระยาศรีสิทธิ์สงครามมากกว่า พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของทางฝ่ายกบฏบวรเดชเห็นว่า แท้ที่จริงแล้วการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้นเป็นเพียงแค่การรัฐประหาร (coup de'tat) เท่านั้น มิใช่การปฏิวัติ (revolution) เพราะหลังจากนั้นแล้ว อำนาจที่ถูกผ่องถ่ายมาจากพระมหากษัตริย์ก็ตกอยู่ในมือของคนแค่ไม่กี่คน อีกทั้งหลัก 6 ประการที่ได้สัญญาว่าจะปฏิบัติ ในวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็มิได้มีการกระทำจริง เหตุการณ์ทั้งหมดจึงเป็นเรื่องที่มิอาจยอมรับได้ จึงต้องดำเนินการดังกล่าว

การยิงกันครั้งแรกเริ่มที่ อ. ปากช่อง เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 แล้วมีการจับคนของรัฐบาลเป็นเชลยที่โคราช คณะผู้ก่อการได้ยกกองกำลังเข้ามาทางดอนเมืองและยึดพื้นที่เอาไว้ โดยเรียกชื่อคณะตัวเองว่า คณะกู้บ้านเมือง และเรียกแผนการปฏิวัติครั้งนี้ โดยใช้กองกำลังทหารจากหัวเมืองต่าง ๆ เข้าล้อมเมืองหลวง

เหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้นายทหารฝ่ายกบฏ ได้แก่ นายพันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) ถูกยิงเสียชีวิตโดยทหารจากกองพันทหารราบที่ 6 นำโดยพันตรีหลวงวีรวัฒน์โยธา เมื่อ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ส่วนพระองค์เจ้าบวรเดชหัวหน้าคณะกบฏและพระชายา ทรงขึ้นเครื่องบินเดินทางหนีไปยังประเทศกัมพูชา เมื่อ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ขณะที่พระอนุชาของท่าน (หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร) ถูกทหารจับกุม

ภายหลังได้มีการตั้งศาลพิเศษ มีการคุมขังทหารและพลเรือนผู้เกี่ยวข้องกับการกบฏครั้งนี้นับร้อยคนที่เรือนจำบางขวาง แต่ที่ไม่มีการประหารชีวิต เพราะพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สละราชสมบัติ ทำให้รัฐบาลต้องอภัยโทษให้บรรดาผู้รับโทษประหารชีวิตเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต และผู้ได้รับโทษจำคุกก็ได้รับการลดโทษตามลำดับขั้น

พ.ศ. 2482 นักโทษการเมืองจำนวนหนึ่งจากเหตุการณ์กบฏบวรเดชนี้ พร้อมกับนักโทษการเมืองอีกจำนวนหนึ่งจากเหตุการณ์กบฏนายสิบ ถูกส่งไปกักบริเวณอยู่ที่อ่าวตะโละอุดัง นิคมฝึกอาชีพตะรุเตา เกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติตะรุเตา

พ.ศ. 2487 ได้มีการปล่อยตัวบรรดาผู้ได้รับโทษกรณีกบฏบวรเดชทั้งหมดออกจากเรือนจำ

หลังจากปราบกบฏได้สำเร็จ ต่อมาวันที่ 12 มกราคม 2476 (ตอนนั้นเมษายังเป็นปีใหม่) ร.7 กับพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินีก็เสด็จราชดำเนินออกนอกประเทศเพื่อไปรักษาพระเนตร ณ อังกฤษ

กบฏนายสิบ 3 สิงหาคม 2478

ทหารชั้นประทวนในกองพันต่างๆ ซึ่งมีสิบเอกสวัสดิ์ มหะมัด เป็นหัวหน้า ได้ร่วมกันก่อการเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยจะสังหารนายทหารในกองทัพบก และจับพระยาพหลพลพยุหเสนาฯ และหลวงพิบูลสงครามไว้เป็นประกัน รัฐบาลสามารถจับกุมผู้คิดก่อการเอาไว้ได้ หัวหน้าฝ่ายกบฏถูกประหารชีวิต โดยการตัดสินของศาลพิเศษในระยะต่อมา

กบฏพระยาทรงสุรเดช 29 มกราคม 2481

ได้มีการจับกุมบุคคลผู้คิดล้มล้างรัฐบาล เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง ให้กลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ดังเดิม นายพันเอกพระยาทรงสุรเดชถูกกล่าวหาว่าเป็นหัวหน้าผู้ก่อการ และได้ให้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ต่อมารัฐบาลได้จัดตั้งศาลพิเศษขึ้นพิจารณา และได้ตัดสินประหารชีวิตหลายคน ผู้มีโทษถึงประหารชีวิตบางคน เช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร นายพลโทพระยาเทพหัสดิน นายพันเอกหลวงชานาญยุทธศิลป์ ได้รับการลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต เนื่องจากศาลเห็นว่าเป็นผู้ได้ทำคุณงามความดีให้แก่ประเทศชาติมาก่อน

รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

คณะนายทหารกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมี พลโทผิน ชุณหะวัณ เป็นหัวหน้าสำคัญ ได้เข้ายึดอำนาจรัฐบาล ซึ่งมีพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ แล้วมอบให้นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาลต่อไป ขณะเดียวกัน ได้แต่งตั้ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย

รัฐประหาร 6 เมษายน 2491

คณะนายทหารซึ่งทำรัฐประหารเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490 บังคับให้นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แล้วมอบให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้าดำรงตำแหน่งต่อไป

กบฏเสนาธิการ 1 ตุลาคม 2491

พลตรีสมบูรณ์ ศรานุชิต และพลตรีเนตร เขมะโยธิน เป็นหัวหน้าคณะนายทหารกลุ่มหนึ่ง วางแผนที่จะเข้ายึดอำนาจการปกครอง และปรับปรุงกองทัพจากความเสื่อมโทรม และได้ให้ทหารเข้าเล่นการเมืองต่อไป แต่รัฐบาลซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ทราบแผนการ และจะกุมผู้คิดกบฏได้สำเร็จ

กบฏวังหลวง 26 มิถุนายน 2492

นายปรีดี พนมยงค์ กับคณะนายทหารเรือ และพลเรือนกลุ่มหนึ่ง ได้นำกำลังเข้ายึดพระบรมมหาราชวัง และตั้งเป็นกองบัญชาการ ประกาศถอดถอน รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และนายทหารผู้ใหญ่หลายนาย พลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยกาปราบปราม มีการสู้รบกันในพระนครอย่างรุนแรง รัฐบาลสามารถปราบฝ่ายก่อการกบฏได้สำเร็จ นายปรีดี พนมยงค์ ต้องหลบหนออกนอกประเทศอีกครั้งหนึ่ง

กบฏแมนฮัตตัน 29 มิถุนายน 2494

นาวาตรีมนัส จารุภา ผู้บังคับการเรือรบหลวงสุโขทัยใช้ปืนจี้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปกักขังไว้ในเรือรบศรีอยุธยา นาวาเอกอานน บุญฑริกธาดา หัวหน้าผู้ก่อการได้สั่งให้หน่วยทหารเรือมุ่งเข้าสู่พระนครเพื่อยึดอำนาจ และประกาศตั้งพระยาสารสาสน์ประพันธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เกิดการสู้รบกันระหว่างทหารเรือ กับทหารอากาศ จอมพล ป. พิบูลสงคราม สามารถหลบหนีออกมาได้ และฝ่ายรัฐบาลได้ปรามปรามฝ่ายกบฏจนเป็นผลสำเร็จ

รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน 2494

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจตนเอง เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมเสียงข้างมากในรัฐสภาได้ ต้องใช้วิธีการให้ตำแหน่งและผลประโยชน์ต่างๆ แก่บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนอยู่เสมอ ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 ซึ่งใช้อยู่ในขณะนั้น มีวิธีการที่เป็นประชาธิปไตยมากเกินไป จึงได้ล้มเลิกรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเสีย พร้อมกับนำเอารัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 10 ธันวาคม 2475 มาใช้อีกครั้งหนึ่ง

รัฐประหาร 16 กันยายน 2500

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้าคณะนายทหารนำกำลังเข้ายึดอำนาจของรัฐบาลซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ภายหลังจากเกิดการเลือกตั้งสกปรก และรัฐบาลได้รับการคัดค้านจากประชาชนอย่างหนัก จอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ต้องหลบหนีออกไปนอกประเทศ

รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2501

เป็นการปฏิวัติเงียบอีกครั้งหนึ่ง โดยจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ในขณะนั้น ลากออกจากตำแหน่ง ในขณะเดียวกันจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น ได้ประกาศยึดอำนาจการปกครองประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากเกิดการขัดแย้งในพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล และมีการเรียกร้องผลประโยชน์หรือตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง เป็นเครื่องตอบแทนกันมาก คณะปฏิวัติได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยกเลิกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง และให้สภาผู้แทน และคณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลง

รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514

จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทำการปฏิวัติตัวเอง ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขึ้นทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ และให้ร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายในระยะเวลา 3 ปี

รัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519

พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ และคณะนายทหารเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ เนื่องจากเกิดการจลาจล และรัฐบาลพลเรือนในขณะนั้นยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยทันที คณะปฏิวัติได้ประกาศให้มีการปฏิวัติการปกครอง และมอบให้นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2520

พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะนายทหารเข้ายึดอำนาจของรัฐบาล ซึ่งมีนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากรัฐบาลได้รับความไม่พอใจจากประชาชน และสถานการณ์จะก่อให้เกิดการแตกแยกระหว่างข้าราชการมากยิ่งขึ้น ประกอบกับเห็นว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ในการปฏิรูปการปกครอง ซึ่งมีระยะเวลาถึง 12 ปีนั้นนานเกินไป สมควรให้มีการเลือกตั้งขึ้นโดยเร็ว

กบฎ 26 มีนาคม 2520

พลเอกฉลาด หิรัญศิริ และนายทหารกลุ่มหนึ่ง ได้นำกำลังทหารจากกองพลที่ 9 จังหวัดกาญจนบุรี เข้ายึดสถานที่สำคัญ 4 แห่ง คือ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบกสวนรื่นฤดี กองบัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารสูงสุดส่วนหน้า สนามเสือป่า และกรมประชาสัมพันธ์ ฝ่ายทหารของรัฐบาลพลเรือน ภายใต้การนำของ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลอากาศเอกกมล เดชะตุงคะ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และพลเอกเสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารบก ได้ปราบปรามฝ่ายกบฏเป็นผลสำเร็จ พลเอกฉลาด หิรัญศิริ ถูกประหารชีวิตตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 21 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2520

กบฎ 1 เมษายน 2524

พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา ด้วยความสนับสนุนของคณะนายทหารหนุ่มโดยการนำของพันเอกมนูญ รูปขจร และพันเอกประจักษ์ สว่างจิตร ได้พยายามใช้กำลังทหารในบังคับบัญชาเข้ายึดอำนาจปกครองประเทศ ซึ่งมีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดความแตกแยกในกองทัพบก แต่การปฏิวัติล้มเหลว ฝ่ายกบฏยอมจำนนและถูกควบคุมตัว พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา สามารถหลบหนีออกไปนอกประเทศได้ ต่อมารัฐบาลได้ออกกฏหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องการกบฏในครั้งนี้

กบฎ 9 กันยายน 2528

พันเอกมนูญ รูปขจร นายทหารนอกประจำการ ได้นำกำลังทหาร และรถถังจาก ม.พัน 4 ซึ่งเคยอยู่ใต้บังคับบัญชา และกำลังทหารอากาศโยธินบางส่วน ภายใต้การนำของนาวาอากาศโทมนัส รูปขจร เข้ายึดกองบัญชาการทหารสูงสุด และประกาศให้ พลเอกเสริม ณ นคร เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองของประเทศ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในขณะที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี และพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบก อยู่ในระหว่างการไปราชการต่างประเทศ กำลังทหารฝ่ายรัฐบาลโดยการนำของพลเอกเทียนชัย สิริสัมพันธ์ รองผู้บัญชากรทหารสูงสุด ได้รวมตัวกันต่อต้านและควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ในเวลาต่อมา พันเอกมนูญ รูปขจร และนาวาอากาศโทมนัส รูปขจร หลบหนีออกนอกประเทศ การก่อความไม่สงบในครั้งนี้มีอดีตนายทหารผู้ใหญ่หลายคน ตกเป็นผู้ต้องหาว่ามีส่วนร่วมอยู่ด้วย ได้แก่ พลเอกเสริม ณ นคร พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พลอากาศเอกพะเนียง กานตรัตน์ พลเอกยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา และพลอากาศเอกอรุณ พร้อมเทพ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด

รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534

โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติซึ่งประกอบด้วย ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ เจ้าหน้าที่-ตำรวจ และพลเรือน ภายใต้การนำของพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก พลเรือเอกประพัฒน์ กฤษณ-จันทร์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พลอากาศเกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ พลตำรวจเอกสวัสดิ์ อมร-วิวัฒน์ อธิบดีกรมตำรวจ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ และพลเอกอสิระพงศ์ หนุนภักดี รองผู้บัญชาการทหารบก เลขาธิการคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองจากพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี

รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549

รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เป็นรัฐประหารในประเทศไทยซึ่งเกิดขึ้นในคืนวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 โดย คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งมีพลเอก สนธิ บุญยรัตกลินเป็นหัวหน้าคณะและขณะเดียวกัน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งได้ข่าวการรัฐประหารโดยได้พยายามติอต่อช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ เพื่อการออกโทรทัศน์ แต่เนื่องจากไม่ได้มีการเตรียมไว้จึงทำให้การออกโทรทัศน์ไม่ได้และมีการโฟนอินไปยังช่อง 9 ประกาศใช้ พ.ร.ก สถานการณ์ฉุกเฉิน เฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ ต่อมาเมื่อมีการยึดพื้นที่ได้ทำให้ พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ได้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี แล้วประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร

รัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในเดือนตุลาคม หลังจากที่การเลือกตั้งเดือนเมษายนถูกตัดสินให้เป็นโมฆะ นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ดำเนินมายาวนานนับตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2548

รัฐประหารดังกล่าวไม่มีการเสียเลือดเนื้อและไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ ปฏิกิริยาจากนานาชาตินมีตั้งแต่การวิพากษ์วิจารณ์โดยประเทศ เช่น ออสเตรเลียการแสดงความความเป็นกลาง เช่นสาธารณรัฐประชาชนจีน ไปจนถึงการแสดงความผิดหวังอย่างสหรัฐอเมริกาซึ่งถือว่าประเทศไทยเป็นพันธมิตรนอกนาโต และกล่าวว่าการก่อรัฐประหารนั้น "ไม่มีเหตุผลที่ยอมรับได้"

ภายหลังรัฐประหาร คปค.ได้จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว โดยมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อมาวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2550 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกใน 41 จังหวัด รวมกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่ยังคงไว้ 35 จังหวัด

เช้าวันที่ 19 กันยายน มีคำสั่งจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เรียกผู้นำทุกเหล่าทัพเข้าประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ไม่มีผู้นำเหล่าทัพคนใดเข้าร่วมทำให้มีกระแสข่าวลือการปฏิวัติรัฐประหารแพร่สะพัดไปทั่วทำเนียบรัฐบาล ช่วงพลบค่ำมีข่าวว่ากำลังทหารหน่วยรบพิเศษจาก จ.ลพบุรี เคลื่อนกำลังเข้ากรุงเทพฯ

เวลา 18.00 น. นายสมชาย มีเสน ผู้จัดรายการวิทยุ F.M. 92.25 MHz นัดผู้ฟังรายการจำนวนหนึ่งเข้าพบ พล.อ.สนธิ ที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) เพื่อขอให้ทหารให้ความคุ้มครองกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่จะชุมนุมขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ วันพรุ่งนี้

ประมาณ 21.00 น. กำลังทหารจากพลร่มป่าหวาย หน่วยสงครามพิเศษลพบุรี เข้ามาประจำการที่กองบัญชาการกองทัพบก

เวลา 22.00 น. ขบวนรถถังเคลื่อนเข้าคุมเชิงที่สะพานมัฆวานรังสรรค์และ ถ.ราชดำเนินไม่กี่นาทีต่อมา ทหารจำนวนมากออกมาตรึงกำลังตามถนนต่าง ๆ ตั้งแต่แยกเกียกกาย ผ่านมาถึง ถ.ราชสีมา บริเวณสวนรื่นฤดี สี่แยกราชตฤณมัยสมาคม(สนามม้านางเลิ้ง)โดยมีทหารแต่งกายลายพรางเต็มยศเป็นผู้ควบคุมกำลัง

เวลา 22.54 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยออกอากาศทางสถานีทุกช่อง ขึ้นคำประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พร้อมขออภัยในความไม่สะดวก และเปิดเพลง "ความฝันอันสูงสุด" ประกอบ ด้านสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นและบีบีซีเผยแพร่ข่าวรถถังและกำลังทหารควบคุมสถานการณ์ภายใน กทม. หลังจากนั้น พล.ต.ประพาศ ศกุนตนาค อดีตโฆษก ททบ.5 ได้อ่านแถลงการณ์คณะปฏิรูปการปกครองฯ ที่แสดงไว้ในหน้าจอก่อนหน้านี้ซ้ำถึงสองครั้ง

เกือบเที่ยงคืน ผู้บัญชาทหารทุกเหล่าทัพเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต

รัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเมือง โดยมีสถานการณ์รอบด้านหลายประการรุมเร้า พลเอก สนธิ บุญรัตกลิน เปิดเผยว่าได้ใช้เวลาประมาณ 7 เดือนในการเตรียมการก่อรัฐประหาร ซึ่งหมายความว่าเริ่มวางแผนในราวเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งเป็นห้วงเวลาเดียวกับที่มีการเปิดตัวพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อมธ.เปิดล่ารายชื่อ 50,000 ชื่อเพื่อถอดถอนนายกรัฐมนตรี การเข้าพบ พล.อ.สนธิ ของนายสนธิ ลิ้มทองกุล เพื่อเรียกร้องให้ทหารออกมายืนข้างประชาชน การเสนอให้ใช้มาตรา 7 นายกฯ พระราชทาน และการประกาศยุบสภาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

พฤศจิกายน 2549 สองเดือนหลังจากรัฐประหาร คมช. ได้ออก "สมุดปกขาว"  ชี้แจงสาเหตุของการก่อรัฐประหารยึดอำนาจโดยมีสาระสำคัญ ได้แก่ การทุจริตผลประโยชน์ทับซ้อน การใช้อำนาจในทางมิชอบ การละเมิดจริยธรรมคุณธรรมของผู้นำประเทศ การแทรกแซงระบบการตรวจสอบทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ ข้อผิดพลาดเชิงนโยบายที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิเสรีภาพและการบ่อนทำลายความสามัคคีของคนในชาติ

อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์จากหลายฝ่ายชี้ให้เห็นว่ายังมีสาเหตุอีกบางประการนอกเหนือจากเหตุผลของ คมช. ที่นำมาสู่รัฐประหาร เช่น ความขัดแย้งทางอำนาจที่เห็นได้จากการโยกย้ายนายทหารประจำปี รวมไปถึงความขัดแย้งระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ กับประธานองคมนตรี

>> ความซวย! เมื่อรัฐยัดเยียดข้อหา “กบฏ” <<

นอกเหนือจากกลุ่มการเมืองที่มีกำลังทหารหนุนหลัง ในการรัฐประหาร แล้วกระทำการไม่สำเร็จจนต้องได้รับข้อหาว่าเป็นกบฏแล้ว ประชาชน นักการเมือง ปัญญาชนเอง ก็มีสิทธิ์ที่จะถูกยัดข้อหานี้ให้อยู่บ่อยครั้งเช่นกัน…

กบฏแบ่งแยกดินแดน 28 กุมภาพันธ์ 2491

จะมีการจับกุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรของภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายคน เช่น นายทิม ภูมิพัฒน์ นายถวิล อุดล นายเตียง ศิริขันธ์ นายฟอง สิทธิธรรม โดยกล่าวหาว่าร่วมกันดำเนินการฝึกอาวุธ เพื่อแบ่งแยกดินแดนภาคอีสานออกจากประเทศไทย แต่รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการจับกุมได้ เนื่องจากสมาชิกผู้แทนราษฏรมีเอกสิทธิทางการเมือง


กบฏสันติภาพ 10 พฤศจิกายน 2495

กบฏสันติภาพ ชื่อเรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 เมื่อรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้จับกุมประชาชนจำนวนมาก โดยอาศัยอำนาจตามความในกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 มาตรา 102, 104, 177, 181 และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2478 มาตรา 4 ในการจับกึมครั้งนี้ กรมตำรวจได้ออกแถลงการณ์ในวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 ได้จับกุมบุคคลต่างๆ เป็นจำนวนถึง 104 คน "ด้วยปรากฏจากการสอบสวนของกรมตำรวจว่า มีบุคคลคณะหนึ่งได้สมคบกันกระทำผิดกฎหมาย ด้วยการยุยงให้มีการเกลียดชังกันในระหว่างคนไทย เพื่อก่อให้เกิดการแตกแยก เกิดการทำลายกันเอง โดยใช้อุบายต่างๆ เช่น ปลุกปั่นแบ่งชั้น เป็นชนชั้นนายทุนบ้าง ชนชั้นกรรมกรบ้าง ชักชวนให้เกลียดชังชาวต่างประเทศที่เป็นมิตรของประเทศบ้าง อันเป็นการที่อาจจะทำให้เสื่อมสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ยุยงให้ทหารที่รัฐบาลส่งออกไปรบในเกาหลี ตามพันธะที่รัฐบาลมีอยู่ต่อองค์การสหประชาชาติ ให้เสื่อมเสียวินัย เมื่อเกิดการปั่นป่วนในบ้านเมืองได้ระยะเวลาเหมาะสมแล้ว ก็จะใช้กำลังเข้าทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบอื่น ซึ่งมิใช่ระบอบประชาธิปไตย ด้วยการชักจูงชาวต่างประเทศเข้าร่วมทำการยึดครองประเทศไทย..." จากนั้นยังได้ทะยอยจับกุมประชาชนเพิ่มเป็นระยะๆ จนกระทั่งถึงกลางปี พ.ศ. 2496 ก็ยังมีข่าวว่าได้จับกุมและสึกพระภิกษุที่เคยสนับสนุนและเผยแพร่สันติภาพอีก

ที่มาของคำว่า "สันติภาพ" เนื่องเพราะผู้ที่ถูกจับกุมคุมขังจำนวนหนึ่งเป็นสมาชิกคณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2494 โดยมี นายแพทย์เจริญ สืบแสง เป็นประธานคณะกรรมการ นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ และพระมหาดิลก สุวรรณรัตน์ เป็นรองประธาน นาย ส. โชติพันธุ์ (สิบโทเริง เมฆประเสริฐ) เป็นเลขาธิการ ตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านสงครามในคาบสมุทรเกาหลี ต่อต้านรัฐบาลสหรัฐอเมริกาซึ่งสนับสนุนสงครามเกาหลี และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยถอนตัวจากสงครามเกาหลี และกำลังเตรียมตัวเข้าร่วมประชุมกับนานาชาติในประเทศจีนเพื่อต่อต้านสงครามเกาหลี บรรดาบุคคลที่เข้าร่วมสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสันติภาพฯ และถูกจับกุมในครั้งนี้ มีหลากหลายกลุ่ม ประกอบไปด้วยนักเขียนหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียง อาทิ นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ นายอารีย์ ลีวีระ เจ้าของหนังสือพิมพ์สยามนิกร, นายสุภา ศิริมานนท์ เจ้าของและบรรณาธิการนิตยสารอักษรสาส์น นายอุทธรณ์ พลกุลบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวภาพ, นายแสวง ตุงคะบริหาร บรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามนิกร, นายบุศย์ สิมะเสถียร บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทย, นายฉัตร บุณยศิริชัย บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวภาพ, นายสมุทร สุรักขกะ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์, นายสมัคร บุราวาศ, นายเปลื้อง วรรณศรี, ฯลฯ และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านรัฐบาล อาทิ นายมารุต บุนนาคประธานกรรมการสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายลิ่วละล่อง บุนนาค (ผู้นำนักศึกษา), นายสุวัฒน์ วรดิลก (นักประพันธ์), นายฟัก ณ สงขลา (ทนายความ), นายสุ่น กิจจำนงค์ เลขาธิการสมาคมสหอาชีวกรรมกร, นายสุพจน์ ด่านตระกูล ฯลฯ ต่อมาได้มีการจับกุมเพิ่มเติ่ม อาทิ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ (ภริยารัฐบุรุษอาวุโส-นายปรีดี พนมยงค์), นายปาล พนมยงค์, นายสุภัทร สุคนธาภิรมย์, พลตรีเนตร เขมะโยธิน เป็นต้น บรรดาผู้ที่ถูกจับกุมนั้น เป็นที่ทราบกันว่าเป็นผู้ที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกับรัฐบาล บาลรายกำลังเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลอย่างลับๆ รวมถึงได้ร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยด้วย

คดีนี้ อัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหารวมทั้งสิ้น 54 ราย ศาลได้พิพากษาจำคุก บางราย 13 ปี บางราย 20 ปี และได้รับการประกันตัวและพ้นโทษตาม พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เนื่องในโอกาสพุทธศตวรรษที่ 25 ในปี พ.ศ. 2500


กบฏอดข้าว 21 กุมภาพันธ์ 2499

21 กุมภาพันธ์ 2 นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ ดาวไฮปาร์คชื่อดัง ผู้ที่มีความปรารถนาให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ยกเลิก ส.ส. ประเภทที่แต่งตั้ง และยกเลิกค่านิยมการทำรัฐประหาร ถูกจับกุมพร้อมพลพรรค ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ขณะกำลังอดข้าวประท้วงให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยโดนข้อหาเป็นกบฏภายในราชอาณาจักร ตามกฎหมายอาญามาตรา 104

กบฏทัศนาจร 21 กุมภาพันธ์ 2499

ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่พลพรรคกบฏอดข้าวถูกจับกุมตัวไป คณะสมาชิกผู้แทนราษฎรและนักคิดนักเขียน นำโดย นายเทพ โชตินุชิต อดีตรัฐมนตรี และ ส.ส. ศรีสะเกษ ซึ่งได้รับเชิญไปยังประเทศจีน ได้กลับมาถึงยังประเทศไทย

โดยนอกเหนือจากญาติพี่น้องไปรอรับแล้ว ทางการไทยก็ทำให้ไม่ผิดหวังเมื่อส่งสันติบาลกลุ่มหนึ่งไปรอรับด้วย และก็ควบคุมคณะทัศนาจรที่กลับมาจากเมืองจีนทั้งหมดในข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์และกบฏนอกราชอาณาจักร รวมถึงข้อหาแจ้งความเท็จ เนื่องจากในยุคนั้นการขอหนังสือเดินทางไปต่างประเทศจะต้องแจ้งประเทศที่จะไป หากแจ้งว่าจะไปประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์หรือสังคมนิยม ก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศ คณะทัศนาจรนี้จึงแจ้งว่าจะเดินทางไปห้องกง และเมื่อเดินทางเข้าจีนจึงถือว่าแจ้งความเท็จ

คดีกบฏ 13 คน ชนวนก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา

6 ตุลาคม 2516 มีบุคคลร่วมลงชื่อ 100 คน เพื่อเรียกร้องขอรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบด้วยบุคคลหลากหลายอาชีพ หลายวงการ เช่น นักวิชาการ นักการเมือง นักคิด นักเขียน นิสิต นักศึกษา เป็นต้น จากนั้น นักศึกษา 13 คน นำโดย นายธีรยุทธ บุญมี ได้เดินแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญตามสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพ ฯ โดยอ้างถึงใจความในพระราชหัตถ์เลขาของรัชกาลที่ 7ที่ส่งถึงรัฐบาลถึงสาเหตุที่ทรงสละราชสมบัติ แต่ทางตำรวจนครบาลจับได้เพียง 11 คน คือ นายธีรยุทธ บุญมี, นายประพันธ์ศักดิ์ กมลเพชร, นายนพพร สุวรรณพานิช, นายทวี หมื่นนิกร, นายมนตรี จึงศิริอารักษ์, นายปรีดี บุญซื่อ, นายชัยวัฒน์ สุระวิชัย, นายบุญส่ง ชเลธร, นายวิสา คัญทัพ, นายบัณฑิต เองนิลรัตน์, นายธัญญา ชุนชฎาธาร  และจับขังนักศึกษาทั้ง 11 คนนี้ไว้ที่โรงเรียนตำรวจนครบาลบางเขนและนำไปขังต่อที่เรือนจำกลางบางเขน พร้อมตั้งข้อหาร้ายแรงว่า เป็นการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ โดยห้ามเยี่ยม ห้ามประกันเด็ดขาด จากนั้นจึงได้มีการประกาศจับ นายก้องเกียรติ์ คงคา นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และตามจับ นายไขแสง สุกใส อดีต ส.ส.จ.นครพนม ขึ้นอีก รวมทั้งหมดเป็น 13 คน โดยกล่าวหาว่า นายไขแสงเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการแจกใบปลิวครั้งนี้ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้สร้างความไม่พอใจให้เกิดขึ้นครั้งใหญ่แก่มวลนักศึกษาและประชาชนอย่างมาก


ทั้งนี้เหตุการณ์นี้เป็นชนวนสำคัญสำหรับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

 

ที่มา:

- วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
- ลิขิต ธีรเวคิน, "การเมืองการปกครองไทยของไทย", สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2543
- โรม บุนนาค, “คู่มือรัฐประหาร”, สำนักพิมพ์สยามบันทึก, 2549

* แก้ไขข้อมูลครั้งแรกตามคำท้วงติงของ อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 51 เวลา 18.09 น.

บล็อกของ หัวไม้ story

หัวไม้ story
กรณี “แดงจับแดง” ที่เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ไม่ควรถูกมองว่าเป็นแค่เรื่องเข้าใจผิด หรือเรื่องน้ำผึ้งหยดเดียวและจบกัน แต่นี่คือเป็นปัญหาท่าที และหลักการของแกนนำซึ่งไปช้ากว่ามวลชนอย่างสม่ำเสมอ
หัวไม้ story
ขอย้อนรอยความทรงจำจากปากคำของชาวบ้านภูมิซรอลอีกครั้ง ในฐานะที่พวกเขาเป็นมนุษย์ผู้ต้องเผชิญกับชะตากรรมของสงครามที่แท้จริง และบาดเจ็บล้มตายจริง จากการเปิดฉากต่อสู้
หัวไม้ story
วิธีกลบข่าวแบบบ้านๆ ไทยๆ ไม่ต้องลงทุนมากก็กลบมันด้วยน้อง M79 ลูกกระสุนสนนราคาละไม่กี่ร้อย แต่ก็ได้พาดหัวข่าวหน้าหนึ่งกลบข่าวคนเป็นหมื่นเป็นแสนที่ออกมาไล่รัฐบาลในขณะนี้
หัวไม้ story
สื่อต่างประเทศให้ความสนใจกับข่าวการเมืองในไทยกันหนาแน่นตลอดสัปดาห์นี้ ยิ่งใกล้วันศุกร์ วันที่สื่อทั้งหลายเรียกมันว่า judgement day มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งลงข่าวและบทวิเคราะห์กันคึกคักมากขึ้นเท่านั้น ประเด็นของการรายงานของสื่อนอกเน้นหนักไปที่สองเรื่องใหญ่คือ แนวทางของคำพิพากษาที่จะออกมา กับผลสะเทือนทางการเมืองจากการตัดสินหนนี้ ทั้งต่อการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างสองขั้วคือเหลืองกับแดง และผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทย (ที่มาของภาพ: มังกรดำ) ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่อาคารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2551 หรือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว…
หัวไม้ story
เรื่อง : สิริลักษณ์ ศรีประสิทธิ์ ภาพจาก : http://urbansea09.multiply.com/photos/album/1/Por_Border_Towns  
หัวไม้ story
ทีมข่าวการเมือง พันธมิตรฯ เดินสองแนวทางทั้งการขยายพรรคการเมืองใหม่ และพื้นที่การเมืองภาคประชาชน โดยในภาพนายสมศักดิ์ โกศัยสุข รองหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) หนึ่งในแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และแกนนำ พธม.เชียงราย ร่วมพิธีตัดริบบิ้นเปิดสำนักงานพรรคเชียงราย ย่านบ้านดู่ ใกล้มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เมื่อ 20 ธ.ค. 52 (ที่มา: “ก.ม.ม.” ปักธงเปิดสาขาเชียงรายสำเร็จ - หางแดงรวมตัวได้แค่ 3 ป่วนไม่ขึ้น, ASTVผู้จัดการออนไลน์, 21 ธ.ค. 2552)
หัวไม้ story
ทีมข่าวการเมือง การชุมนุมของคนเสื้อแดงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 10 ธ.ค. 52 (ที่มา: CBNpress) การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคนเสื้อแดงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 10 ธ.ค. ผ่านไปอย่างเรียบร้อย โดยไม่มีเหตุยกคนมาล้อมคนเสื้อแดง อย่างที่สุนันท์ ศรีจันทรา นักวิเคราะห์ตลาดหลักทรัพย์ กล่าวเชิญชวนผ่านช่องเนชั่นฯ แต่อย่างใด
หัวไม้ story
  ทีมข่าวการเมือง   องค์กรเพื่อความโปร่งใสสากลหรือ TI ที่มีสำนักงานที่เบอร์ลินเผยแพร่รายงานดัชนีชี้วัดคอรัปชั่น (CPI) ประจำปี 2552 นิวซีแลนด์-เดนมาร์ก-สิงคโปร์-สวีเดน โปร่งใสสุด ไทยได้อันดับ 84 ขณะที่ผลสำรวจย้อนหลังพบว่าไทยเคยได้คะแนนดีที่สุดในปี 2548 ขณะที่ในรอบ 5 ปีมานี้คะแนนต่ำสุดช่วงรัฐบาลรัฐประหารในปี 2550
หัวไม้ story
ภาวะตลาดหุ้นและค่าเงินบาทของไทยดิ่งตัวลงอย่างฮวบฮาบเมื่อสัปดาห์ที่ ผ่านมาด้วยข่าวลือที่สื่อไทยไม่รายงานโดยตรงเลยแม้แต่สำนักเดียวว่าเป็นข่าว ลือเรื่องใด และแม้ตลาดหุ้นจะมีอาการกระเตื้องขึ้นอีกครั้งในวันสุดท้ายของสัปดาห์ แต่ภาวะความไม่มั่นใจของนักลงทุนนี้ถูกวิเคราะห์จากสื่อทั้งสองแห่งว่าเป็น ผลโดยตรงจากความผันผวนและไร้หลักยึดของการเมืองไทยที่เป็นอาการป่วยสั่งสม แอนดรูว์ มาร์แชล จากรอยเตอร์ วิเคราะห์ผ่านบทวิเคราะห์เรื่อง ทำไมพระพลานามัยของพระมหากษัตริย์จึงส่งผลสะเทือนต่อตลาดหุ้น (อ้างอิงจาก http://www.reuters.com/article/latestCrisis/idUSSP406158 อัพเดทเวลา 6.39 น. วันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม)…
หัวไม้ story
กรณีนี้ไม่ใช่กรณีเดียวที่เกิดขึ้น สำหรับเรื่องที่เรียกกันว่า ‘หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ’ หากแต่เป็นกรณีแรกๆ ที่ตัดสินใจต่อสู้คดี โดยไม่รับสารภาพ และเดินหน้าสู่การอภัยโทษดังที่เคยเป็น ต่อไปนี้เป็นลำดับเวลาตลอดระยะปีกว่า เนื้อหาการต่อสู้คดีบางส่วน รวมถึงวิธีคิดของเธอจากการสนทนาสั้นๆ แบบเก็บเล็กผสมน้อย
หัวไม้ story
ทีมข่าวการเมือง     คลิปสนธิ ลิ้มทองกุลอ่านฎีกา เมื่อ 4 ก.พ. 2549 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า (ตอนที่ 1) (ที่มา: บันทึกจาก ASTV)   คลิปสนธิ ลิ้มทองกุลอ่านฎีกา เมื่อ 4 ก.พ. 2549 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า (ตอนที่ 2) (ที่มา: บันทึกจาก ASTV)   คลิปสนธิ ลิ้มทองกุลอ่านฎีกา เมื่อ 4 ก.พ. 2549 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า (ตอนที่ 3) (ที่มา: บันทึกจาก ASTV)   คลิปสนธิ ลิ้มทองกุลอ่านฎีกา เมื่อ 4 ก.พ. 2549 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า (ตอนที่ 4) (ที่มา: บันทึกจาก ASTV)