< จิรนันท์ หาญธำรงวิทย์ >
หลังจากอ่าน บทสัมภาษณ์ของซูโม่ตู้ หรือจรัสพงษ์ สุรัสวดี ในเว็บไซต์ผู้จัดการรายสัปดาห์ออนไลน์ แล้วพบว่าสิ่งหนึ่งที่ควรชื่นชมคือ ความตรงไปตรงมาของจรัสพงษ์ที่กล้ายอมรับว่าตนเองนั้นรังเกียจคนกุลีรากหญ้า ที่ไร้การศึกษา โง่กว่าลิงบาบูน รวมไปถึง “เจ๊ก” และ “เสี่ยว” ที่มาทำให้ราชอาณาจักรไทยของเขาเสียหาย เป็นความตรงไปตรงมาของอภิสิทธิ์ชนที่ปากตรงกับใจ ไม่ต้องอ้อมค้อมให้เสียเวลา ที่คงไม่ได้ยินจากปากนักวิชาการ หรือนักเคลื่อนไหวคนไหน (ที่คิดแบบนี้) (เดี๋ยวหาว่าเหมารวม)
จรัสพงษ์ บอกว่า สาเหตุของปัญหาที่เกิดในขณะนี้นั้นมาจาก 3 ปัจจัยนั่นคือ การโกงกิน ความแตกแยก และ คุณภาพผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยได้ขยายความถึงคุณภาพของผู้มีสิทธิเลือกตั้งไว้อย่างละเอียดตั้งแต่ชาติกำเนิด (ไทย/ จีน/ เจ๊ก/ ลาว/ เสี่ยว) ไปจนถึงระดับการศึกษา และสถานภาพทางชนชั้น
ลองนั่งคิดต่อเล่นๆ จากบทสัมภาษณ์ของจรัสพงษ์แล้ว ก็น่าสนใจอย่างยิ่งว่า ถ้าจะให้คนมีเสียงไม่เท่ากัน เพราะ “คุณภาพ” แล้ว จะวัดกันอย่างไร
การจะให้สิทธิใครได้มากกว่าใครอาจต้องคิดคำนวณกันตั้งแต่ระดับดีเอ็นเอ คนที่พ่อเรียนจบปริญญาโท ส่วนแม่จบ ป.4 กับคนที่พ่อเรียนไม่จบ แต่แม่มีดีกรีเป็นดอกเตอร์ จะมีค่า หรือสิทธิ เท่าหรือต่างกันกี่มากน้อย
เมื่อเข้าโรงเรียน เด็กที่เรียนโรงเรียนวัดจะมีสิทธิต่างจากคนที่เข้าเรียนในโรงเรียนระดับท็อปไฟว์ของประเทศแค่ไหน แล้วเด็กที่ได้ที่หนึ่งของหมู่บ้านเล็กๆ ในอีสานจะมีค่าเทียบเท่ากับที่โหล่ของโรงเรียนท็อปไฟว์ในกรุงเทพฯ หรือเปล่า
เมื่อจบการศึกษา เราจะให้สิทธิแก่นักศึกษาเหล่านั้นลดหลั่นตามลำดับชั้นความยอดนิยมของมหาวิทยาลัย หรือจะวัดจากอะไร ความเก่าแก่? คุณภาพ? การจัดอันดับโดยคนไทย? (ที่ขี้เกียจ และปล่อยให้ “เจ๊ก” กับ “เสี่ยว” ยึดเมืองตามความเห็นของจรัสพงษ์) หรือ อาจต้องโดยต่างชาติแบบสิงคโปร์? (ที่เจริญแล้วในสายตาของจรัสพงษ์)
เพียงไม่กี่ช่วงของชีวิตก็ดูเหมือนการให้สิทธิตีค่าของคนจะซับซ้อนทับซ้อนจนยากจะคำนวณ
งานแบบไหนจะได้รับสิทธิสูงสุดกว่ากัน ข้าราชการ นักการเมือง นักธุรกิจ พ่อค้าแม่ค้า (ห้างร้าน/ หาบเร่/ แบกะดิน) โปรแกรมเมอร์ นักบิน ครู หมอ ดีไซเนอร์ คนขายข้าวหน้าเป็ด มอเตอร์ไซค์รับจ้าง นักเขียน ?
ต้องขึ้นอยู่กับบริษัทด้วยไหม บริษัทเฉยๆ บริษัทมหาชน บรรษัทสากล หรือบริษัทระดับจักรวาล?
ผู้ใช้แรงงาน (ที่เหมือนบาบูนในสายตาของจรัสพงษ์) ซึ่งฝึกฝนฝีมือทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งจนชำนาญ แต่ได้ค่าแรงน้อยนิดเพราะถูกนายจ้าง ซึ่งมีการศึกษาสูง เฉียบแหลมในการคำนวณต้นทุนให้ต่ำสุดใจ เพื่อกำไรสูงสุดขีด จะมีเสียงสักเท่าใดดี
คนรากหญ้าที่เดือนเงินหรือค่าแรงต่อวันถูกแสนถูก จนรัฐบาลไม่ (อาจ) เก็บภาษีเงินได้ แต่ต้องจ่ายภาษีทางอ้อม 7% ผ่านการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคทุกวันๆ กับเศรษฐีใหญ่ ที่แน่นอนว่าจ่าย 7% เหมือนกัน แต่ที่ดินที่บังเอิญมีหลายร้อยแปลงนั้นไม่ต้องเสียภาษีที่ดิน หรือภาษีมรดกสักแดง (คนจะรวยช่วยไม่ได้?) จะมีค่าต่างกันยังไง
การให้คุณค่าแก่ใครคนใดคนหนึ่งนั้น ต่างคนก็มีมาตรฐานกันคนละชุด สายตาคนละแบบ ความเชื่อคนละลัทธิ
อะไรคือจุดที่ลงตัว หากไม่กลับมาที่จำนวนที่ “นับได้” (1 คน 1 เสียง)
“การเมืองใหม่” ที่หลายคนผลักดัน ไม่ว่าจะมีรูปแบบอย่างไร สุดท้ายแล้วก็ใช้จำนวนเสียงจำนวนหัวของผู้ชุมนุม ในการผลักดันประเด็นมิใช่หรือ ไม่อย่างนั้นการมารวมตัวชุมนุมเพื่อ “แสดงพลัง” นั้นจะมีความหมายอะไร