อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา
หลังจากที่ภาพยนตร์เรื่อง ‘ดรีมทีม ฮีโร่ฟันน้ำนม' (Dream Team) ปล่อยตัวอย่างภาพยนตร์แสนน่ารักออกมายั่วยวนคนรักเด็กแล้ว ในสัปดาห์แรกที่ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายซึ่งประจวบเหมาะเป็นช่วงปิดเทอม จึงเห็นมีเด็กตัวเล็กๆ มาดูกันคับโรงไปหมด
เช่นเคย ทุกครั้งก่อนภาพยนตร์จะได้ฉาย คนดูหนังจะต้องลุกขึ้นยืนเมื่อเพลงสรรเสริญพระบารมีบรรเลงขึ้น และอาจจะด้วยความไร้เดียงสา เด็กคนหนึ่งพูดออกมาเสียงงอแงค่อนข้างดังว่า "มาดูหนัง ทำไมต้องยืนด้วย"
อาจไม่แปลกที่เด็กน้อยไม่คุ้นชินกับธรรมเนียมที่โลกของผู้ใหญ่ปฏิบัติกันมายาวนาน แต่นั่นยังไม่ซับซ้อนน่าสงสัย เท่ากับการที่เรื่องทำนองนี้อาจสุ่มเสี่ยงต่อการถูกตีความได้ว่า เป็นการดูหมิ่นเบื้องสูง และการ ‘ดูหมิ่น' นี้ต่างจากกรณีดูหมิ่นทั่วๆ ไป ที่เปิดช่องให้ผู้อื่นเรียกร้องสิทธิ์และศักดิ์ศรีแทนกันได้ โดยไม่จำเพาะเจาะจงว่าต้องเป็นผู้เสียหาย
สังคมไทยยอมให้มีการเป็นเดือดเป็นร้อนแทนกันได้ อาจเพราะเชื่อว่า เป็นการแสดงความรักและปรารถนาดีต่อสถาบันอันเป็นที่รัก กฎหมายจึงเปิดให้การคุ้มครองป้องกันการถูกดูหมิ่นมีหลายระดับ มีทั้งมาตราธรรมดา กับมาตราที่ไม่ธรรมดา
ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้เกิดขึ้นแล้วในเมืองไทย เมื่อคนสองคนเข้าไปดูภาพยนตร์แล้วไม่ลุกขึ้นยืนก่อนหนังฉาย จนทำให้มีคนอีกคนหนึ่งโกรธแล้วทะเลาะวิวาทกันขึ้น ตอนนี้กำลังเป็นคดีความที่คนผู้นั้นฟ้องร้องว่า คนทั้งสองได้ดูหมิ่นสถาบันเบื้องสูง
ในด้านหนึ่ง กฎหมายอาจใช้คุ้มครองสังคม แต่ลืมไม่ได้ว่า ผู้ที่สามารถใช้อำนาจตามกฎหมาย ก็เปรียบดั่งคนที่มีดาบอยู่ในมือ เราจึงได้ยินบ่อยๆ ว่า คนที่ยิ่งมีอำนาจ ยิ่งต้องใช้มีระดับการไตร่ตรองที่สูงตามระดับอำนาจที่ถือครอง เพราะแม้จะมีดาบอยู่ในมือ แต่การใช้ดาบฟาดฟันโดยหวังให้ผลลัพธ์ผลิดอกออกมาเป็นความรักและศรัทธา ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะไปทางเดียวกัน
เราคงยากจะตีความไปว่า ยิ่งจำนวนคดีหมิ่นเบื้องสูงมากขึ้น ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความรัก แต่ข้อเท็จจริงชี้ว่าตำรวจทำคดีที่เป็นความผิดตาม ป.ม.อาญา มาตรา 112 มากขึ้นเรื่อยๆ
กรณีล่าสุด ตำรวจเข้าแจ้งข้อหาหมิ่นเบื้องสูงต่อนาย โจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวประจำภูมิภาคเอเชียของบีบีซี และคณะกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) สืบเนื่องจากการจัดสัมมนาหัวข้อ Coup, Capital and Crown เป็นวงเสวนาเกี่ยวกับหนังสือ 2 เล่ม คือ Thai Capital after the 1997 Crises ซึ่ง ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ร่วมเขียนกับ คริส เบเกอร์ และ Journal of Contemporary Asia Special: The Thailand Coup ซึ่งเควิน ฮิววิสัน และไมเคิล คอนเนอร์เป็นบรรณาธิการร่วมกัน โดยกล่าวหาว่า นายโจนาธานซึ่งเป็นพิธีกรกล่าวเปิดงานสัมมนา ใช้ถ้อยคำเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นเบื้องสูง (อ่านข่าวนี้เพิ่มเติม)
เมื่อเร็วๆ นี้เอง (3 เม.ย. 50) เจ้าหน้าที่กระทรวงไอซีทีก็ได้ขอเชิญประชุมผู้ดูแลเว็บไซต์ประชาไท และเว็บไซต์ฟ้าเดียวกัน เพราะทั้งสองเว็บไซต์นี้มีเว็บบอร์ดที่ดูจะเป็นพื้นที่ที่มีการวิเคราะห์วิพากษ์ถกเถียงเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ค่อนข้างมาก บ้างก็เป็นไปในทางวิชาการ บ้างก็เป็นไปในทางหมิ่นเหม่ ที่ไม่ว่าเนื้อหาจะเป็นอย่างไร แต่ก็ทำให้เจ้าหน้าที่ไอซีทีนั่งไม่ติดและตกเป็นจำเลยของสังคมว่า ทำไมปล่อยให้เรื่องแบบนี้โลดแล่นได้ในโลกไซเบอร์
กระทรวงเล็กๆ ที่ไม่ค่อยจะได้รับความสนใจเท่าไร อย่างกระทรวงไอซีที จึงถึงกับต้องมีหน่วยหน่วยหนึ่งที่คอย "กำกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ" ของประชาชน มีหน้าที่เปิดอินเตอร์เน็ตตามไปยังที่ที่มีการร้องเรียนเข้ามามากๆ ว่าเนื้อหาหมิ่นเหม่ อย่างที่เรารู้กันว่าโลกไซเบอร์นั้นไพศาลไม่มีที่สิ้นสุด มันกลายเป็นภาระชิ้นโตที่กระทรวงขนาดจิ๋วต้องรับผิดชอบ
แต่ไม่ว่ากระทรวงไอซีทีจะขยับตัวอย่างไรก็ถูกก่นด่าไปทุกทาง ทางหนึ่งก็บอกว่าทำไมปล่อยให้เนื้อหาเหล่านั้นเรี่ยราดออกมาได้ อีกทางก็บอกว่าทำไมคิดจะมากีดกันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในทางวิชาการ
เรื่องทำนองนี้เถียงอย่างไรก็ไม่จบง่ายๆ เพราะประเด็นมันอยู่ที่ เรา - สังคม คิดและเชื่ออย่างไร ต่อการวางแนวปฏิบัติ ที่เชื่อว่าจะเป็นการเคารพและปรารถนาดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์?
แนวคิดในการปกป้องสถาบันอันเป็นที่รักนั้น ที่ต้องขอเรียกว่า เป็นแบบ ‘ไทยๆ' ยังมีอีกตัวอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ และเป็นตัวอย่างที่น่าเวทนา คือเมื่อคณะกรรมการเซ็นเซอร์ เซ็นเซอร์ภาพยนตร์เรื่องแสงศตวรรษ โดยจะตัดออก 4 ฉากที่เขาเชื่อว่าไม่สมควร และเมื่อมีการอุทธรณ์ให้ทบทวนการพิจารณา ผลกลับออกมาว่า ยืนยันตัด 4 ฉากเดิม และตัดเพิ่ม 2 ฉาก รวมเป็น 6 ฉาก!
ธรรมเนียมการทำงานเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ของไทย คือ ถ้าภาพยนตร์เรื่องไหน มีสถาบัน มีวิชาชีพไหนมาเกี่ยวข้อง ก็จะมีตัวแทนจากสถาบัน วิชาชีพ นั้น เข้าร่วมเป็นกรรมการพิจารณา
สำหรับภาพยนตร์เรื่องแสงศตวรรษ ที่โดนหั่น 4 ฉากแรก ประกอบด้วย ฉากพระเล่นเครื่องร่อน และฉากพระเล่นกีตาร์ ซึ่งตัวแทนองค์กรสงฆ์ออกมาป้องว่า แม้ไม่ผิดศีลธรรม แต่ผิดพระวินัย และฉากหมอดื่มเหล้าในโรงพยาบาล ฉากหมอจูบกับแฟนสาวแล้วอวัยวะเพศแข็งตัวในโรงพยาบาล ซึ่งตัวแทนองค์กรแพทย์บอกว่า มันทำให้เสื่อมเสียภาพลักษณ์ต่อวิชาชีพแพทย์
คณะกรรมการเซ็นเซอร์ลงความเห็นว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ไร้ซึ่งความเป็นศิลปะ ทำให้เสื่อมเสีย ซึ่งอีกสองฉากที่โดนหั่นเพิ่ม คือ ฉากที่เห็นพระรูปปั้นของสมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนี และฉากที่เห็นพระรูปปั้นสมเด็จพระบรมราชชนก เพราะทั้งสองฉากนี้ทำให้คนที่เห็นอาจรู้ได้ว่า ‘ที่นี่เมืองไทย'
คณะกรรมการเซ็นเซอร์จึงตัดออกไป 6 ฉาก แต่ในทางปฏิบัตินั้นโดนตัดไป 7 ฉาก เพราะตำรวจตัดผิด ไปตัดรูปปั้นอื่น ที่ไม่ใช่พระรูปปั้น
นั่นคือผลสรุปที่มาจากความปรารถนาจะปกป้องหวงแหนสถาบันอันเป็นที่เคารพรัก
อีกกรณีที่โด่งดังไปข้ามโลก และยืนยันถึงเอกลักษณ์ทำนอง ‘ที่นี่เมืองไทย' คือ กรณีที่เกิดกับเว็บไซต์ยูทูบ (youtube.com)
เมื่อเมษายนปีที่แล้ว รัฐไทยตัดสินใจขั้นเด็ดขาด ในการบล็อคเว็บไซต์ยูทูบในประเทศไทย หลังจากมีคลิปหนึ่งถูกเผยแพร่ ไอซีทีเจรจากับทางเว็บไซต์ยูทูบให้ถอดคลิปดังกล่าวออก แต่ไม่เป็นผลในคราวแรก เพราะยูทูบถือว่า คลิปนั้นซึ่งมีเนื้อหาเป็นการล้อเลียนผู้นำประเทศไม่ได้ผิดนโยบายของยูทูบ กระทรวงไอซีทีจึงตัดสินเอง ด้วยการปิดช่องทางให้คนที่อยู่ในประเทศไทยดูคลิปในยูทูบไม่ได้เป็นเวลานาน 4 เดือน (เมษายน 2550 - สิงหาคม 2550)
มาวันนี้ คนไทยเข้าเว็บไซต์ยูทูบได้แล้ว หลังจากกระทรวงไอซีทีตกลงกับยูทูบสำเร็จเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2550 โดยยูทูบตกลงใช้มาตรการ ‘เซ็นเซอร์ตัวเอง' คือ จัดการบล็อคคลิปที่มีเนื้อหาผิดกฎหมายไทยหรือ ‘ทำร้ายจิตใจคนไทย' ทำให้คนที่อยู่ในประเทศไทยดูไม่ได้ ปรากฏข้อความที่ว่า This video is not available in your country - "วิดีโอนี้ไม่ได้รับอนุญาตในประเทศของคุณ"
แต่อย่างที่รู้กัน วิธีคิดในการปิดกั้น ไม่เคยเป็นคำตอบที่ดีในการปกป้องสถาบันอันเป็นที่เคารพรัก คณะกรรมการเซ็นเซอร์ตัด 6 (ซึ่งจริงๆ คือ 7) ฉาก เรื่องนี้ถูกพูดถึงไปทั่วว่ากองเซ็นเซอร์ทำอะไรลงไป เราได้รู้วิธีคิดของกองเซ็นเซอร์ไปพร้อมๆ กับรู้รายละเอียดส่วนที่เขาหั่นหนังออก ทั้งยังมีช่องทางอื่นๆ ที่กองเซ็นเซอร์ตามไล่จับไม่ทัน (ไม่เชื่อลองวิ่งตามทีละก้าว 1... 2... 3... 4... 5... 6...)
มิพ้นคนส่วนใหญ่ยังต้องสมเพชกับวงการแพทย์และพระสงฆ์ ที่มีตัวแทนมาปฏิบัติการในนามขององค์กรวิชาชีพที่วิธีคิดคับแคบ .. คงได้แต่ภาวนาหวังว่า สังคมไทยคงไม่เหมารวมคนทั้งสองวิชาชีพนี้ว่ามีวิสัยทัศน์แบบเดียวกับตัวแทนองค์กรทั้งสอง
ส่วนกรณียูทูบนั้น สะท้อนว่าเราจะใช้วิธีที่เคยชินแบบนี้ไปได้อีกนานแค่ไหน ในเมื่อโลกเปลี่ยนไปเรื่อยๆ มันสะท้อนชัดว่า การแบนไม่ได้ช่วยอะไร อย่างน้อยก็มีวิธีง่ายๆ มากมายในการเขาถึงสิ่งที่รัฐพยายามปิดกั้น ไม่เพียงเท่านั้น มันจะมีความหมายอะไรที่คลอบกะลามาให้คนเฉพาะในอาณาเขตด้ามขวานทอง ให้เข้าไม่ถึงสิ่งที่คนทั่วโลกเข้าถึง
มาถึงตรงนี้ ทำให้หวนนึกไปถึงคำพูดของเจ้าหน้าที่กระทรวงไอซีที ที่เชิญประชาไทและฟ้าเดียวกันไปร่วมประชุม เขาตั้งประเด็นนำไว้ว่า ต้องการชวนคิดว่า "เราจะมีแนวทางร่วมกันจงรักภักดีอย่างไร"
อาจยังไม่มีคำตอบชัดเจนนักที่จะรับมือกับโลกยุคใหม่ แต่พอจะบอกได้ชัดว่าวิธีแบบไหนไม่เข้าท่า อาทิ วิธีการปิดกั้นการแสดงออก ปิดกั้นไปถึงความคิดและวิญญาณ เป็นทางที่ไม่มีวันบรรลุผล และยังน่าจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี
และว่ากันตามตรง บางที.. วิธีการออกมาปกป้อง แสดงความเคารพอย่างไม่ยั้งคิด ดูจะเหมาะที่จะใช้กับศัตรู มากกว่าใช้กับคนที่เคารพรักเสียอีก.