คนบางคนสมควรตาย?

 

 

พวกปาหินหนักแผ่นดิน น่าจะตายไปเสียให้หมด...

ขอให้จับคนร้ายได้ไวๆ แล้วเอาตัวไปประหารชีวิต...

พวกวัยรุ่นปาหินสมควรตาย...

 

{ตติกานต์ เดชชพงศ}

ประโยคที่ถูกส่งผ่านทาง SMS มายังหน้าจอโทรทัศน์ซึ่งกำลังเสนอรายการประเภท เล่าข่าว' เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 10 มีนาคม 2551 ส่วนใหญ่เป็นไปในทำนองเดียวกัน นั่นคือ การแสดงความเกลียดชังต่อผู้ก่อเหตุ ปาหิน' ไปโดนศีรษะเด็กชายอนุพงษ์ สายเพ็ชร หรือ น้องมอส' อายุ 12 ปี ซึ่งนั่งรถมากับพ่อผู้เป็นคนขับรถบรรทุก และน้องมอสได้เสียชีิวิตในเวลาไม่นานหลังจากนั้น

หลายคนสาปแช่งคนลงมือก่อเหตุให้ตายตกไปตามกัน ในขณะที่อีกบางส่วนก็แสดงความเห็นใจผ่านข้อความที่ส่งมา และอวยพรให้พ่อของเด็กชายผู้เคราะห์ร้ายจากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้รับ ความเป็นธรรม' ในเร็ววัน

หลังจากนั้น สื่อมวลชนก็รับลูกต่ออย่างตั้งอกตั้งใจ รวบรวมคดี ปาหิน' มานำเสนอ นอกเหนือจากการรายงานข่าวอุบัติเหตุรายวัน จนดูเหมือนกับว่า แฟชั่นปาหิน' กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศไทย จากเพชรบุรี ไปปทุมธานี และอยุธยาฯ


บางกรณีเป็นการ ปาขวด' ซึ่งยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจงใจของผู้ขว้างปา หรือแท้จริงแล้วเป็นเพียงขวดเครื่องดื่มบำรุงกำลังที่ถูกคนมักง่ายโยนทิ้ง และบังเิอิญมีผู้เคราะห์ร้ายผ่านมาทางนั้นพอดี ซึ่งก็ยังอุตส่าห์มีคนเชื่อมโยงจนได้ว่าเป็นเรื่องของ แก๊งค์ปาขวด-ปาหิน' ซึ่งกำลังเป็นประเด็นให้ต้องคอยระแวดระวังกันอย่างหนัก

ยิ่งถ้าหากจับอาการของสังคมในช่วงนี้ จะเห็นว่าการสรรหาวิธีลงโทษผู้ก่อเหตุปาหินถูกพูดถึงกันมากทีเดียว ทั้งข้อเสนอให้ประหารชีวิต พิพากษาจำคุกตลอดชีวิต ไม่ต้องออกมาเห็นเดือนเห็นตะวันกันอีกเลย

ความเป็นจริงที่ว่า สังคมไทยอ่อนไหวง่าย' ยังเหมือนเดิมอยู่อย่างนั้น และเรื่องของการตอบโต้แบบตาต่อตา ฟันต่อฟันก็มักจะ ยุขึ้น' เสียด้วย

ระหว่างเจ้าหน้าที่กำลังสืบสวนคดีกรณีขว้างหินไปโดน ด.ช.อนุพงษ์ ก็มีข่าวออกมาอีกเช่นกันว่า ผู้้ต้องสงสัยในกรณีดังกล่าว ฆ่าตัวตาย' เพื่อชดใ้ช้ความผิดแล้ว

ผู้ต้องสงสัยในกรณีนี้ คือ นายพนม อินทกูล' วัย 37 ปี ซึ่งมีหลักฐานในที่เกิดเหตุบ่งชี้ให้เข้าใจว่านายพนมตัดสินใจฆ่าตัวตาย เพราะมีจดหมายสั่งเสียถึง 3 ฉบับวางอยู่ด้วย ในขณะที่เพื่อนคนหนึ่งของนายพนมให้การกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ผู้ตายกล่าวในคืนก่อนเสียชีวิตว่าเป็นคนปาก้อนหินใส่รถบรรทุก และเมื่อติดตามข่าวจากสื่อจึงได้ทราบว่ามีเด็กชายเคราะห์ร้ายจากเหตุการณ์ดังกล่าว

หลังจากพูดอย่างนั้นได้ไม่นาน นายพนมก็เสียชีวิต...

จากปากคำของ เพื่อนของนายพนม' กลายเป็นว่าตำรวจ แทบจะ' ปิดคดี เลิกตามหาหลักฐานมายืนยันว่าผู้ปาหินตัวจริงคือใคร และหนังสือพิมพ์หลายฉบับพร้อมใจกันลงข่าวซ้ำว่า มือปาหิน' ในคดีเด็กชายอนุพงษ์สำนึกผิดจึงฆ่าตัวตาย ทั้งที่ในความเป็นจริง...นายพนมอาจไม่ใช่มือปาหินตามที่ระบุลงในข่าวก็เป็นได้

เมื่อพี่สาวของนายพนมออกมาโต้แย้งว่าน้องชายของตน เป็นแพะรับบาป' จึงมีการรื้อฟื้นคดีเด็กชายอนุพงษ์มาสืบสวนกันต่อ...

จากการติดตามข่าวของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ พบว่าข้อเท็จจริงบางอย่างในกรณีนายพนมและ ด.ช.อนุพงษ์ แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

หนังสือพิมพ์ แนวหน้า ฉบับวันพุธที่ 12 มีนาคม 2551 ระบุว่า

 

"จดหมายลาตายเขียนด้วยลายมือมีข้อความสรุปได้ว่า ผู้เสียชีวิตทะเลาะกับภรรยาจึงขับรถจักรยานยนต์ไปตามถนน ก่อนจะใช้ก้อนหินปาใส่รถบรรทุกเพื่อระบายอารมณ์ความโกรธโดยไม่คาดคิดว่าจะไปถูก ด.ช.อนุพงษ์ จนเสียชีวิต หลังเกิดเหตุยิ่งทำให้รู้สึกเครียดจัด จึงตัดสินใจกินยาพิษฆ่าตัวตาย"

 

 

ทางด้าน ไทยรัฐ ก็รายงานการเสียชีวิตของนายพนมในวันเดียวกัน แต่มีรายละเอียดต่างกัน

 

"ในห้องที่เกิดเหตุพบจดหมายลาตาย 1 ฉบับ เขียนถึงภรรยา มารดา และบุตร แต่ไม่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสาเหตุ ได้มอบให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำผู้ที่เกี่ยวข้อง"

 

 

พอถึงตอนนี้ ความจริงในคดี ด.ช.อนุพงษ์เป็นอย่างไร และการเสียชีวิตของนายพนมมีเงื่อนงำหรือมูลเหตุจูงใจอย่างไรแน่ อาจไม่ใช่เรื่องที่คนอ่านข่าวให้ความสนใจอีกต่อไป เพราะหลายคนอาจ พอใจแล้ว' กับข่าวที่ถูกเสนอออกมา่ว่า มือปาหินสำนึกผิดฆ่าตัวตาย'

ดูเหมือนว่านั่นจะเป็น บทลงโทษ' ที่สังคมปรารถนาจะให้เกิดกับผู้ก่อเหตุและผู้ที่สร้างความเดือดร้อนในกรณีต่างๆ แต่หลายคนอาจลืมไปว่า ขณะที่กำลังชี้นิ้วพิพากษาว่า คนบางคนสมควรตาย' เราอาจกำลังแสดงความโหดเหี้ยมเลวร้ายออกมาโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน

ที่พูดมาทั้งหมดนี้ไม่ใช่ว่าจะไม่รู้สึกเห็นอกเห็นใจในหลายๆ กรณีที่มี ผู้เคราะห์ร้าย' จากการปาหินลึกลับ ไม่รู้ที่มาที่ไป แต่บางทีการหล่อเลี้ยงจิตใจด้วยความเกลียดชังโดยไม่รับฟังข้อมูลหรือเหตุผลอะไรเลย--ก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นสักเท่าไหร่นัก

การเสียชีวิตของนายพนมอาจตอบโจทย์ของสังคมได้ เพราะเมื่อมีเรื่องเลวร้ายเกิดขึ้น สิ่งที่คนในสังคมเลือกทำเป็นอันดับแรกก็คือการหาใครสักคนมาเป็นเป้าโจมตี เพื่อที่จะได้กล่าวโทษโดยไม่รู้สึกผิดว่า เราเองอาจเป็นอีกคนหนึ่งที่ก่อปัจจัยความรุนแรงขึ้นในสังคมนี้'

ข่าวเล็กๆ ของนายพนมคงจะเงียบหายไปในไม่ช้า หลังจากที่นายพนมลงเอยด้วยการถูก พิพากษา' ไปแล้วกลายๆ ว่าเป็น ผู้กระทำความผิด' โดยที่เขาไม่มีสิทธิ์จะแก้ตัวหรือแก้ต่างอีกต่อไป

แต่กับสังคมที่พอใจเพียงมาตรการตอบโต้แบบถึงเลือดถึงเนื้อ แรงมา-แรงไป และเป็นสังคมที่ตัดสินเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยอารมณ์เพียงวูบเดียวว่า คนชั่วสมควรตาย' โดยไม่คิดทบทวนว่าเรื่องราวทั้งหลายมีความเป็นมาอย่างไรนี่แหละ ทำให้คนฆ่ากันตายมานักต่อนักแล้ว ทั้งที่สาเหตุจริงๆ อาจเล็กน้อยเสียเหลือเกิน

สังคมเช่นนี้ได้สั่งสมบ่มเพาะความรุนแรงขึ้นมามากมายกว่าที่เราคิดมากนัก

 

ความเห็น

Submitted by teera on

หลายวันก่อน เพิ่งดูรายการข่าวของรัฐที่อยู่นี้ เขาพูดถึงเรื่องปาหินและปาขวด เกิดเหตุการณ์ปาขวดใส่รถคันหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว ปรากฏว่าคนที่โดนไม่ตายแต่ความจำส่วนหนึ่งหายไป ไปไหนด็ต้องใส่หมวกกันน๊อค ส่วนคนที่ปานั้นรับโทษจำคุกสองปี หลังจากนั้นจึงมีการเสนอให้เพิ่มข้อกฏหมายและบทการลงโทษไว้อย่างชัดเจน เพราะพฤติกรรมเช่นนี้ถือเป็นการบ่อนทำลายความสงบสุขของสังคม

Submitted by afrotang on

การนำเสนอข่าวนี้ทำให้เรารู้สึกเห็นใจผู้สูญเสีย ขณะเดียวกันเราก็สูญเสียความจริงที่เรา "ควร" ต้องรู้ไปด้วย เราต่างก็ถูกทำให้มีความรุนแรงอยู่ตลอดเวลา

Submitted by PRP on

จะผิดหรือถูก แต่เราไม่ควรที่จะสูญเสียชืวิตไปมากกว่านี้อีกแล้ว

แค่ผัวเมียทะเลาะกัน...ครับ

 
โจว ชิงหมาเกิด
 
 
ประเด็นฮอตฮิตในรอบสัปดาห์นี้หนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือบทสัมภาษณ์ "สมชาย หอมละออ"แย้มผลสอบสลายชุมนุมพฤษภา′53 ผัวเมียทะเลาะกัน... ผิดทั้งคู่ (วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เวลา 14:00:45 น. สัมภาษณ์พิเศษ โดย พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์)
 
 

ด้วยรักและไว้อาลัยแด่การสอบโอเน็ต (และบทสัมภาษณ์ 'ติ่งหู' กับ 'ผู้ไม่เชี่ยวชาญ')

เดือนมีนาคมแล้วค่ะท่านผู้อ่าน

ช่วงเวลาที่นักเรียนชั้น ม.6 ต้องจำจากจรสถาบันอันเป็นที่รักเพื่อก้าวไปข้างหน้า ทั้งจากความต้องการของตัวเองและกระแสสังคมที่ต่างคาดหวังว่าการ ศึกษาคือหนทางแห่งการเป็น “เจ้าคนนายคน”

หากท่านผู้อ่านเคยผ่านช่วงเวลาของการสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ว่าจะเป็นระบบเอนทรานซ์หรือระบบแอดมิชชันคงยังจำช่วงเวลาหฤโหดของการเข้าห้องสอบที่แบกเอาความฝันของตัวเอง ความคาดหวังของผู้บุพการี และหน้าตาของสถาบันระดับมัธยมศึกษา (ที่มักจะวัดกันด้วยจำนวนนักเรียนที่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้)ตลอดจนท่านผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ครู อาจารย์ ไปจนถึงผู้บริหารสถานศึกษาก็ต่างลุ้นตัวโก่งกับผลการเข้ามหาวิทยาลัยในอีกไม่กี่เดือนหลังจากนั้น ….ช่างเป็นช่วงชีวิตที่ลืมไม่ลง เสียจริง ๆ

รักเทอซะให้เข็ด ..แม่เจ็ดสาวลีโอ

ปีนี้บรรยากาศเหน็บหนาวที่มาพร้อมกับลานเบียร์หลายแห่งตามห้างสรรพสินค้า มีเรื่องสนุกสนานทวีคูณมากขึ้น เมื่อเกิดปรากฏการ “สาวลีโอ” ที่ยุ่งเหยิงอีรุงตุงนังเมื่อไปพันกับการเมืองยุคอำมาตย์ฝึกหัดครองเมือง

เมื่อมาถึงปลายปีที่มีบรรยากาศหนาวๆ ชวนให้เปล่าเปลี่ยว ธรรมเนียมปฏิบัติของบรรษัทค่ายน้ำเมาต่างๆ จะต้องมีแคมเปญอะไรมาเป็นของกำนัลให้กับหนุ่มๆ คึกคักมีชีวิตชีวา โดยปฏิทินรูปแบบวาบหวามมักจะถูกเข็นออกมาในช่วงนี้ และลีโอก็ไม่เคยพลาด หลังจากที่ได้ “ลูกเกด - เมทินี กิ่งโพยม” มาช่วยเป็นแม่ทัพดูแลการผลิตด้านสื่อหวาบหวิวให้ค่ายลีโอ เป็นส่วนหนึ่งในการฟาดฟันต่อสู้กับค่ายช้างจนทำให้เบียร์ลีโอเป็นเบียร์อันดับหนึ่งของประเทศ โดยกลยุทธการตลาดที่สำคัญนั้นก็คือการขายความเซ็กซี่และมีระดับกว่าช้างมาหน่อย

ขออนุญาต "ไม่แปล"

สถานการณ์ในเมืองไทยตอนนี้ทำให้พวกเราไม่สามารถนำเสนออะไรหลายอย่างได้โดยเฉพาะสิ่งที่มาจากต่างประเทศ ก็เพราะประเทศสยามกำลังพยายามปิดกั้นไม่ให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลจากสื่อต่างชาติ หรือถ้าจะให้รับรู้ก็จะถูกบิดเบือนหรือรับเอามาดัดแปลงให้เป็นวาทศิลป์มุ่งสำเร็จความใคร่ในการทำลายล้างศัตรูของตนเอง โดยไม่สนถึงผลกระทบที่ตามมาว่าจะบานปลายร้ายแรงขนาดไหน