พวกปาหินหนักแผ่นดิน น่าจะตายไปเสียให้หมด... ขอให้จับคนร้ายได้ไวๆ แล้วเอาตัวไปประหารชีวิต... พวกวัยรุ่นปาหินสมควรตาย... |
{ตติกานต์ เดชชพงศ}
ประโยคที่ถูกส่งผ่านทาง SMS มายังหน้าจอโทรทัศน์ซึ่งกำลังเสนอรายการประเภท ‘เล่าข่าว' เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 10 มีนาคม 2551 ส่วนใหญ่เป็นไปในทำนองเดียวกัน นั่นคือ การแสดงความเกลียดชังต่อผู้ก่อเหตุ ‘ปาหิน' ไปโดนศีรษะเด็กชายอนุพงษ์ สายเพ็ชร หรือ ‘น้องมอส' อายุ 12 ปี ซึ่งนั่งรถมากับพ่อผู้เป็นคนขับรถบรรทุก และน้องมอสได้เสียชีิวิตในเวลาไม่นานหลังจากนั้น
หลายคนสาปแช่งคนลงมือก่อเหตุให้ตายตกไปตามกัน ในขณะที่อีกบางส่วนก็แสดงความเห็นใจผ่านข้อความที่ส่งมา และอวยพรให้พ่อของเด็กชายผู้เคราะห์ร้ายจากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้รับ ‘ความเป็นธรรม' ในเร็ววัน
หลังจากนั้น สื่อมวลชนก็รับลูกต่ออย่างตั้งอกตั้งใจ รวบรวมคดี ‘ปาหิน' มานำเสนอ นอกเหนือจากการรายงานข่าวอุบัติเหตุรายวัน จนดูเหมือนกับว่า ‘แฟชั่นปาหิน' กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศไทย จากเพชรบุรี ไปปทุมธานี และอยุธยาฯ
บางกรณีเป็นการ ‘ปาขวด' ซึ่งยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจงใจของผู้ขว้างปา หรือแท้จริงแล้วเป็นเพียงขวดเครื่องดื่มบำรุงกำลังที่ถูกคนมักง่ายโยนทิ้ง และบังเิอิญมีผู้เคราะห์ร้ายผ่านมาทางนั้นพอดี ซึ่งก็ยังอุตส่าห์มีคนเชื่อมโยงจนได้ว่าเป็นเรื่องของ ‘แก๊งค์ปาขวด-ปาหิน' ซึ่งกำลังเป็นประเด็นให้ต้องคอยระแวดระวังกันอย่างหนัก
ยิ่งถ้าหากจับอาการของสังคมในช่วงนี้ จะเห็นว่าการสรรหาวิธีลงโทษผู้ก่อเหตุปาหินถูกพูดถึงกันมากทีเดียว ทั้งข้อเสนอให้ประหารชีวิต พิพากษาจำคุกตลอดชีวิต ไม่ต้องออกมาเห็นเดือนเห็นตะวันกันอีกเลย
ความเป็นจริงที่ว่า ‘สังคมไทยอ่อนไหวง่าย' ยังเหมือนเดิมอยู่อย่างนั้น และเรื่องของการตอบโต้แบบตาต่อตา ฟันต่อฟันก็มักจะ ‘ยุขึ้น' เสียด้วย
ระหว่างเจ้าหน้าที่กำลังสืบสวนคดีกรณีขว้างหินไปโดน ด.ช.อนุพงษ์ ก็มีข่าวออกมาอีกเช่นกันว่า ผู้้ต้องสงสัยในกรณีดังกล่าว ‘ฆ่าตัวตาย' เพื่อชดใ้ช้ความผิดแล้ว
ผู้ต้องสงสัยในกรณีนี้ คือ ‘นายพนม อินทกูล' วัย 37 ปี ซึ่งมีหลักฐานในที่เกิดเหตุบ่งชี้ให้เข้าใจว่านายพนมตัดสินใจฆ่าตัวตาย เพราะมีจดหมายสั่งเสียถึง 3 ฉบับวางอยู่ด้วย ในขณะที่เพื่อนคนหนึ่งของนายพนมให้การกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ผู้ตายกล่าวในคืนก่อนเสียชีวิตว่าเป็นคนปาก้อนหินใส่รถบรรทุก และเมื่อติดตามข่าวจากสื่อจึงได้ทราบว่ามีเด็กชายเคราะห์ร้ายจากเหตุการณ์ดังกล่าว
หลังจากพูดอย่างนั้นได้ไม่นาน นายพนมก็เสียชีวิต...
จากปากคำของ ‘เพื่อนของนายพนม' กลายเป็นว่าตำรวจ ‘แทบจะ' ปิดคดี เลิกตามหาหลักฐานมายืนยันว่าผู้ปาหินตัวจริงคือใคร และหนังสือพิมพ์หลายฉบับพร้อมใจกันลงข่าวซ้ำว่า ‘มือปาหิน' ในคดีเด็กชายอนุพงษ์สำนึกผิดจึงฆ่าตัวตาย ทั้งที่ในความเป็นจริง...นายพนมอาจไม่ใช่มือปาหินตามที่ระบุลงในข่าวก็เป็นได้
เมื่อพี่สาวของนายพนมออกมาโต้แย้งว่าน้องชายของตน ‘เป็นแพะรับบาป' จึงมีการรื้อฟื้นคดีเด็กชายอนุพงษ์มาสืบสวนกันต่อ...
จากการติดตามข่าวของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ พบว่าข้อเท็จจริงบางอย่างในกรณีนายพนมและ ด.ช.อนุพงษ์ แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
หนังสือพิมพ์ แนวหน้า ฉบับวันพุธที่ 12 มีนาคม 2551 ระบุว่า
"จดหมายลาตายเขียนด้วยลายมือมีข้อความสรุปได้ว่า ผู้เสียชีวิตทะเลาะกับภรรยาจึงขับรถจักรยานยนต์ไปตามถนน ก่อนจะใช้ก้อนหินปาใส่รถบรรทุกเพื่อระบายอารมณ์ความโกรธโดยไม่คาดคิดว่าจะไปถูก ด.ช.อนุพงษ์ จนเสียชีวิต หลังเกิดเหตุยิ่งทำให้รู้สึกเครียดจัด จึงตัดสินใจกินยาพิษฆ่าตัวตาย"
|
ทางด้าน ไทยรัฐ ก็รายงานการเสียชีวิตของนายพนมในวันเดียวกัน แต่มีรายละเอียดต่างกัน
"ในห้องที่เกิดเหตุพบจดหมายลาตาย 1 ฉบับ เขียนถึงภรรยา มารดา และบุตร แต่ไม่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสาเหตุ ได้มอบให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำผู้ที่เกี่ยวข้อง"
|
พอถึงตอนนี้ ความจริงในคดี ด.ช.อนุพงษ์เป็นอย่างไร และการเสียชีวิตของนายพนมมีเงื่อนงำหรือมูลเหตุจูงใจอย่างไรแน่ อาจไม่ใช่เรื่องที่คนอ่านข่าวให้ความสนใจอีกต่อไป เพราะหลายคนอาจ ‘พอใจแล้ว' กับข่าวที่ถูกเสนอออกมา่ว่า ‘มือปาหินสำนึกผิดฆ่าตัวตาย'
ดูเหมือนว่านั่นจะเป็น ‘บทลงโทษ' ที่สังคมปรารถนาจะให้เกิดกับผู้ก่อเหตุและผู้ที่สร้างความเดือดร้อนในกรณีต่างๆ แต่หลายคนอาจลืมไปว่า ขณะที่กำลังชี้นิ้วพิพากษาว่า ‘คนบางคนสมควรตาย' เราอาจกำลังแสดงความโหดเหี้ยมเลวร้ายออกมาโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน
ที่พูดมาทั้งหมดนี้ไม่ใช่ว่าจะไม่รู้สึกเห็นอกเห็นใจในหลายๆ กรณีที่มี ‘ผู้เคราะห์ร้าย' จากการปาหินลึกลับ ไม่รู้ที่มาที่ไป แต่บางทีการหล่อเลี้ยงจิตใจด้วยความเกลียดชังโดยไม่รับฟังข้อมูลหรือเหตุผลอะไรเลย--ก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นสักเท่าไหร่นัก
การเสียชีวิตของนายพนมอาจตอบโจทย์ของสังคมได้ เพราะเมื่อมีเรื่องเลวร้ายเกิดขึ้น สิ่งที่คนในสังคมเลือกทำเป็นอันดับแรกก็คือการหาใครสักคนมาเป็นเป้าโจมตี เพื่อที่จะได้กล่าวโทษโดยไม่รู้สึกผิดว่า ‘เราเองอาจเป็นอีกคนหนึ่งที่ก่อปัจจัยความรุนแรงขึ้นในสังคมนี้'
ข่าวเล็กๆ ของนายพนมคงจะเงียบหายไปในไม่ช้า หลังจากที่นายพนมลงเอยด้วยการถูก ‘พิพากษา' ไปแล้วกลายๆ ว่าเป็น ‘ผู้กระทำความผิด' โดยที่เขาไม่มีสิทธิ์จะแก้ตัวหรือแก้ต่างอีกต่อไป
แต่กับสังคมที่พอใจเพียงมาตรการตอบโต้แบบถึงเลือดถึงเนื้อ แรงมา-แรงไป และเป็นสังคมที่ตัดสินเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยอารมณ์เพียงวูบเดียวว่า ‘คนชั่วสมควรตาย' โดยไม่คิดทบทวนว่าเรื่องราวทั้งหลายมีความเป็นมาอย่างไรนี่แหละ ทำให้คนฆ่ากันตายมานักต่อนักแล้ว ทั้งที่สาเหตุจริงๆ อาจเล็กน้อยเสียเหลือเกิน
สังคมเช่นนี้ได้สั่งสมบ่มเพาะความรุนแรงขึ้นมามากมายกว่าที่เราคิดมากนัก