ตติกานต์ เดชชพงศ
เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ที่ผ่านมา เพิ่งมีโอกาสได้ไปดูฉากโหดๆ อาทิ หัวขาดกระเด็น เลือดสาดกระจาย กระสุนเจาะกระโหลกเลือดกระฉูด ในหนังไทย (ทุ่มทุนสร้างกว่า 80 ล้านบาท!) เรื่อง ‘โอปปาติก'
รู้สึกอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่งว่าหนังเรื่องนี้รอดพ้นเงื้อมมือกองเซ็นเซอร์ผู้เคร่งครัดมาได้ยังไง?
เพราะด้วยการทำงานของหน่วยงานเดียวกันนี้ ทำให้หนังเรื่องหนึ่งถูกห้ามฉาย เพราะมีฉากพระสงฆ์เล่นกีตาร์, และฉากนายแพทย์บอกเล่าว่าตนก็มีึความรู้สึกทางเพศ
แม้แต่ฉากเด็กผู้หญิงอาบน้ำ (ซึ่งเป็นเพียงตัวการ์ตูนญี่ปุ่น) ก็ยังถูกเซ็นเซอร์มาแล้ว ด้วยข้อหา ‘ทำให้เสื่อมเสียศีลธรรมอันดี'
แต่โอปปาติกเป็นหนัง ‘เหนือจริง' ห่อหุ้มด้วยเปลือกบางๆ ของแนวคิดพุทธศาสนา ว่าด้วยการเกิด-การตาย โดยมีการนำวิธีจำแนกการเกิด 4 ประเภทของสัตว์โลกมาอธิบายว่า ‘โอปปาติก' คือสิ่งมีชีวิต (มีดวงจิต) ที่เกิดแล้วโตทันที
ซึ่งในหนังตั้งเงื่อนไขว่า โอปปาติกคือมนุษย์ที่ฆ่าตัวตาย แต่ดวงจิตหรือวิญญาณไม่หลุดพ้นไปจากโลก และกลับจุติขึ้นใหม่ในรูปอื่น พร้อมกับแต่งเติม ‘พรสวรรค์' ของโอปปาติกแต่ละตนให้แตกต่างกันไป เพื่อให้หนังมีรสชาติมากขึ้น ภายใต้พล็อตที่ผูกเอาไว้หลวมๆ ว่าโอปปาติกตนหนึ่งต้องการอำนาจพิเศษเหนือใคร จึงให้ลูกน้องไปตามล่าโอปปาติกตนอื่นๆ ให้มาติดกับ เพื่อที่จะได้แย่งชิงพลังอำนาจของผู้อื่นมาเป็นของตัวเอง
แต่ตัวละครที่น่าสนใจและเป็นตัวดำเนินเรื่องในโอปปาติก กลับกลายเป็น ‘มนุษย์' คนหนึ่งซึ่งทำงานด้วยความจงรักภักดีแบบถวายหัวให้กับโอปปาติกซึ่งมีตบะแก่กล้าบารมีสูงส่ง และมีบุญคุณต่อกันมาตั้งแต่ปางไหนก็ไม่รู้
มนุษย์รายนี้เกลียดชังใครก็ตามที่ไม่เห็นคุณค่าของชีวิต เขาก็เลยเกลียดคนที่ฆ่าตัวตาย แม้ว่าส่าเหตุส่วนหนึ่งที่คนฆ่าตัวตายจะมาจากการยุแหย่โดยโอปปาติกที่เป็น ‘เจ้านาย' ของตัวเองก็ตามที
และเพื่อทำงานให้กับ ‘เจ้านาย' ผู้มีบุญคุณ มนุษย์รายเดียวกันนี้ก็ส่งลูกน้อง (ที่เป็นมนุษย์ด้วยกัน) ไปต่อสู้กับโอปปาติกที่เป็นอมตะ เพื่อให้ภารกิจของ ‘นาย' สิ้นสุด หรือถ้าจะพูดว่า มนุษย์ในเรื่องนี้ไม่เห็นคุณค่าของมนุษย์ด้วยกัน-ก็น่าจะใช่ เขาจึงพร้อมที่จะสละชีวิตลูกน้องจำนวนมาก เพื่อความพอใจสูงสุดของเจ้านายมากกว่า
ในความเคลื่อนไหวของหนัง ภาพมืดหม่นของชีวิตที่วนเวียนกับความรุนแรงของการเข่นฆ่าและการค้นหาทางเพิ่มพูนพลังอำนาจ (รวมถึงฉากแหวะๆ เช่น การใช้กริชแทงทะลุหัวกะโหลก หรือไม่ก็แทงคอทะลุเลือดพุ่ง) อาจทำให้คนดูหลายคนรู้สึกเหมือนอยากจะอาเจียน
แต่เพียงแค่บอกว่า นี่เป็นการนำ ‘พุทธปรัชญา' มาตีแผ่ หนังเรื่องนี้ก็สามารถออกฉายได้เต็มๆ โดยไม่ถูกตัดทอนอะไร แสดงให้เห็นถึงความลักลั่นเรื่อง ‘การกำหนดมาตรฐาน' ของผู้มีอำนาจในการเซ็นเซอร์ (อย่างเห็นได้ชัด)
เพราะในเวลาเดียวกันกับที่หนังพยายามบอกว่า ‘การฆ่าตัวตายเป็นบาปที่ไม่อาจหลุดพ้น' ตัวละคร (ทั้งที่เป็นภูตผีและที่เป็นคน) ล้วนเอาเป็นเอาตายกับการฆ่าล้างโคตรกันไม่หยุดหย่อน เพราะเห็นว่า ‘ชีวิตอื่นๆ' ไม่มีความหมายเท่าชีวิตของคนที่ตัวเองเชิดชู
ในทางกลับกัน เมื่อความบัดซบในชีวิตทำให้ใครบางคนต้องเลือก ‘ความตาย' เป็นคำตอบสุดท้าย
เขาคนนั้นอาจตายเพื่อเป็นแสงสว่างให้กับโลกมืดของโอปปาติกที่เวียนว่ายไม่ยอมไปผุดไปเกิดเสียทีก็เป็นได้
ถึงแม้ว่านี่จะเป็นหนังแอ๊กชั่นที่มีคนวิจารณ์ว่าออกจะขาดๆ เกินๆ และบกพร่องเรื่องความสมจริงไปบ้าง แต่ในทัศนะส่วนตัวแล้ว ‘โอปปาติก' ถือว่าเป็น ‘หนังสะท้อนสังคม' ที่ทำให้ฉุกคิดเรื่องอะไรหลายๆ อย่างได้มากที่สุด ณ ตอนนี้!
...ในวาระครบรอบ 1 ปี (กับอีก 3 วัน) การจากไปของ ‘นวมทอง ไพรวัลย์'...