พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ
26 กันยายน 2550
ย่านพระเจดีย์สุเล, กรุงย่างกุ้ง
ภาพที่เห็นคือ...
ประชาชนหลายพันคนออกมายืนเต็มถนนย่านพระเจดีย์สุเล ซึ่งเป็นย่านกลางเมือง โดยไม่ไกลนักมีกองกำลังรักษาความมั่นคงพม่าตั้งแถวอยู่เบื้องหน้า ป้องกันไม่ให้ประชาชนเข้าใกล้พระเจดีย์แห่งนี้
"เราต้องการประชาธิปไตย" ชายวัยกลางคนผู้หนึ่งกล่าว
"รัฐบาลนี้อันตรายโคตรๆ" ชายอีกคนหนึ่งกล่าว
ประชาชนส่วนหนึ่ง พยายามต่อสู้กับทหาร ทหารที่มีทั้งโล่ กระบอง แก๊สน้ำตา กระทั่งปืน โดยประชาชนพยายามขว้างอิฐ ขว้างหิน เข้าใส่แถวแนวของทหารพวกนั้น
ก้อนแล้ว ก้อนเล่า ... ถูกทุบเป็นก้อนย่อมๆ
ก้อนแล้ว ก้อนเล่า ... ถูกขว้างสุดแรงเกิด ใส่แถวแนวทหาร
ก้อนแล้ว ก้อนเล่า ... ทำได้เพียงตกแทบปลายตีน คงเพียงสร้างความรำคาญให้ทหารราบทหารเลวเหล่านั้น หาได้ระคายเคืองต่อระบอบทหารไม่!
ชายหนุ่มคนหนึ่งจึงละความพยายามจากการขว้างปาก้อนหิน เปลี่ยนเป็นยืนหันหลังให้แถวแนวของทหาร ... แล้วถลกโสร่งของตัวเองขึ้น!!! ... ก่อนสะบัดตูดให้แถวแนวทหารเหล่านั้น
เช่นเคย ... หาได้ระคายเคืองต่อแถวแนวทหารเหล่านั้นไม่ คงได้เพียงความสะใจปลอบประโลมชายหนุ่มคนนั้น และผู้ยืนปรบมือเชียร์
"เราขอประกาศห้ามรวมตัวกันมากกว่า 5 คน ขอให้กลับบ้านใครบ้านมันภายใน 10 นาที" เสียงจากรถขยายเสียงของทหารพม่า เตือนผู้ชุมนุม
แถวแนวทหารเหล่านั้น กระชับขึ้น มุ่งตรงมายังประชาชน พวกเขาใช้ไม้กระบอง ตีโล่เป็นจังหวะ ตุบ ตุบ ตุบ ... .... .... ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ
ประชาชนทำอะไรไม่ได้มากไปกว่า ขว้างปาอิฐเข้าใส่ป้อมตำรวจเล็กๆ แถวนั้น
ภาพที่เห็นคือชายสอง-สามคน ลองขว้างก้อนหินใส่แถวแนวทหารที่กำลังตบเท้าใกล้เข้ามาๆ
ขวางได้เพียงสอง-สามก้อน เสียงปืนนัดแรกก็ดังขึ้น ผู้คนหนีกระจาย
เสียงปืนนัดต่อไปดังขึ้น นัดแล้ว นัดเล่า
วิ่ง วิ่ง วิ่ง วิ่ง และวิ่ง ผู้คนวิ่งอย่างไม่คิดชีวิต
บิน บิน บิน บิน และบิน อุปมาดั่งพิราบเหล่านั้น บินเพื่อเอาชีวิตรอด บินเพื่อฝันถึงประชาธิปไตยบทใหม่ในพม่า ซึ่งคงเกิดขึ้นในแผ่นดินนี้สักวัน
แต่ไม่ทันที่จะได้อย่างใจหวัง พิราบถูกยิงปีกหักร่วงลงมา จบชีวิตเสรี ณ ตรงนั้น ย่านพระเจดีย์สุเล!
000
26 กันยายน 2550
วัดพระมหาเจดีย์ชเวดากอง, กรุงย่างกุ้ง
ภาพที่เห็นคือ...
พระสงฆ์และประชาชนหลายร้อยคน ตั้งแถวประจันหน้ากับปลายทหารซึ่งอยู่ตรงหน้า ซึ่งปลายกระบอกปืนนั้นหันมาทางพระสงฆ์และประชาชนเหล่านั้น ...
พระสงฆ์นั่งลง และไหว้ทหารเหล่านั้น พระสงฆ์บางรูปก็ประกาศด้วยโทรโข่งร้องขอสันติภาพ
แต่ไม่เป็นผล ทหารตบเท้าเข้าหาพระสงฆ์และประชาชนเหล่านั้น จากนั้น ... เสียงกระบองทุบตีผู้คน ดังไปทั่วบริเวณ
ชายคนหนึ่งถูกทหารไม่ต่ำกว่าสองนาย ทั้งถีบทั้งตีด้วยกระบอง ก่อนที่ทหารนายหนึ่งจะถีบสุดแรงตีนจนชายคนนั้นคว่ำลง แล้วทหารก็เหยียบหลังของเขาเอาไว้
ทั้งพระทั้งคน ถ้าโชคดีไม่ถูกทหารยื้อยุดฉุดลากขึ้นรถบรรทุกเสียก่อน ก็หนีอย่างไม่คิดชีวิตด้วยการปีนกำแพงวัด แล้วเข้าไปหลบในเขตอภัยทานนั้น
เมื่อหลบได้แล้ว พระเณรบางรูปก็หาทางตอบแทน ด้วยการขว้างก้อนหินเข้าใส่ทหารเหล่านั้น ซึ่งก็ทำให้ทหารถอยไม่เป็นกระบวนชั่วขณะหนึ่ง แต่แล้วทหารเหล่านั้นก็โต้กลับด้วยแก๊สน้ำตา และระดมขว้างก้อนหินกลับคืน
ขบวนพระสงฆ์และประชาชนแตกกระจัดกระจายอีกครั้งหนึ่ง
000
ภาพที่เห็นคือ...
ผู้ประท้วงหายไปจากท้องถนน เหลือแต่ทหารพร้อมปืนประจำกาย ประจำการอยู่เต็มจุดสำคัญๆ ในกรุงย่างกุ้ง
"การประท้วงจบแล้วหรือ หรือมันจะเกิดขึ้นอีก?" คำถามลอยมาตามกระแสลม
"ประชาชนไม่ชอบรัฐบาล แต่เราไม่มีกำลัง เราไม่มีอาวุธ ... เราจึงไม่มีอิสรภาพ" คนขับรถประจำทางในกรุงย่างกุ้งกล่าว
"ทหารเป็นนักฆ่า พวกเขาฆ่าพระ ช่างโหดร้ายนัก แย่มาก แย่ที่สุดในโลก" ชายอีกคนที่กำลังกินดื่มอยู่ใต้แผงขายอาหารริมทางกล่าว
"เราไม่ลืมเด็ดขาด และเราจะไม่ยอมแพ้" เขากล่าว
000
นายโทนี่ เบิร์ทลีย์
ภาพที่เห็นทั้งหลายนั้น...
เป็นผลงานถ่ายทำของ นายโทนี่ เบิร์ทลีย์ (Tony Birthly) เพื่อเป็นสารคดี Inside Myanmar: The Crackdown ให้กับสำนักข่าวอัลจาซีรา โดยออกอากาศครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ที่ผ่านมา
สำหรับสารคดีดังกล่าว เขาใช้เวลากว่าสองสัปดาห์ในพม่า เพื่อบันทึกภาพการชุมนุมประท้วงรัฐบาลทหารพม่า โดยเขาเป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศเพียงไม่กี่คน ที่รายงานข่าวผ่านกล้องที่เขาซ่อนเอาไว้ ท่ามกลางการปราบปรามประชาชนของรัฐบาลทหารพม่า
สิ่งที่ติดตาผมก็คือ ความพยายามของประชาชนพม่าที่ต่อสู้กับเผด็จการโดยใช้สันติวิธีมาตลอด กระทั่งเมื่อคู่ต่อสู้ตรงหน้าถือปืน และมุ่งเอาชีวิตประชาชน พวกเขาความพยายามอย่างยิ่งยวดที่สุด ที่เขาจะต้านทานทหารเหล่านั้นเอาไว้ ก็เพียงแค่เศษอิฐ เศษหิน ซึ่งอำนาจทำลายล้างย่อมเทียบไม่ติดกับ รัฐบาลทหารที่เพียบพร้อมด้วยแสนยานุภาพและครองเมืองมายาวนานเกือบ 50 ปี
แต่เพียงแค่ก้อนหินของประชาชน รัฐบาลทหารพม่า (รวมถึงรัฐบาลทหารที่ไหนก็ตามในโลก) ก็มีข้ออ้างเพียงพอแล้ว ที่จะปราบปรามประชาชนของตนเอง โดยอ้างผ่านกระบอกเสียงของรัฐบาล ทั้งสถานีโทรทัศน์ MRTV หรือหนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ว่า ผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรงก่อน และนี่แค่เป็นการเตือน!!
นี่เองสะท้อนว่า รัฐบาลเผด็จการไม่ว่าที่ใดในโลก แค่ประชาชนถือก้อนอิฐ พวกเขาก็เห็นเป็น ‘ศัตรูของชาติ' ซึ่งพวกเขาต้องกวาดล้างให้สิ้นด้วยแสนยานุภาพที่เขามี
เราจึงไม่อาจไว้ใจคณะลิเกเผด็จการชุดไหนได้เลย การปล่อยให้เผด็จการเป็นเจ้า การใช้วิธีนอกกฎหมายด้วยหวังขจัดวิกฤตการเมือง จึงเป็นการตัดสินใจที่ผิด ประชาชนพม่าซึ่งประสบเคราะห์กรรมกับรัฐบาลทหารมาตั้งแต่ พ.ศ.2505 กระทั่งปัจจุบัน เป็นตัวอย่างอันดี สำหรับประเทศไทย ที่หลายหน้าหลายตา ยอมปูทางให้คณะนายทหารเข้ามาครองเมือง พากันตบเท้าเข้าบ้านหลายเสาของใครบางคนก่อนวันรัฐประหารไม่กี่วัน
ซึ่งการแก้วิกฤตการเมืองเช่นนี้ ไม่เพียงแต่จะคิดผิด แต่ได้ทำให้ประชาชนร่วมชาติพลอยตกหล่ม ถอยหลังลงคลอง ด้วยการนำพาของ ‘คณะลิเกเผด็จการ' มาปีกว่าอีกด้วย และไม่แน่ว่ามีเลือกตั้งแล้ว พวกเขาจะไม่ยอมลงโรงไปง่ายๆ
การรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 จึงเป็นการดูถูกจาบจ้วงล่วงเกินประชาชนร่วมชาติอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน!!
เราไม่ควรแม้แต่จะปูทางให้คณะลิเกเผด็จการ ‘คมช.' ยึดอำนาจด้วยซ้ำ ไม่ใช่เขาขอปล้นประชาธิปไตย 1 ปี ก็โร่หอบลูกจูงหลานไปมอบข้าวมอบน้ำ จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้เสียข้าวสุกสิ้นดี เพราะเกิน 1 ปีมา 1 เดือนกับอีกสองวันแล้ว แทนที่พวกจะสำนึกว่าหมดเวลา แล้ว พวกก็ยังลั่นว่าจะสืบทอดอำนาจ ‘ด้วยคุณธรรม'!!
ก้อนอิฐเท่านั้นที่เหมาะกับคณะลิเกเผด็จการพวกนั้น
พระเอกลิเก คณะลิเก ผู้ทรงคุณธรรมทั้งหลาย ... รับก้อนอิฐ ก้อนหิน สักก้อนสองก้อนไหมขอรับ
ที่มาของฉากในเรื่อง และภาพประกอบบทความ Inside Myanmar: The Crackdown, Aljazeera, OCTOBER 09, 2007, http://english.aljazeera.net/NR/exeres/A0A81AA6-DACD-4913-AB67-AA8602962EAB.htm
ชมสารคดีได้ที่นี่: Inside Myanmar: The Crackdown โดย Aljazeera
Inside Myanmar: The Crackdown โดย Aljazeera
|
ข้อมูลประกอบเพิ่มเติม
ชมคลิปวิดีโอพระสงฆ์-ประชาชนประท้วงกลางกรุงย่างกุ้ง 26 ก.ย. ก่อนถูกทหารพม่าปราบ, ประชาไท, 27 ก.ย. 2550 http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=9690&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai
Nine killed as Myanmar junta cracks down on protests, AFP, Sep 26, 2007
http://afp.google.com/article/ALeqM5jkMCKEq7yPbP20x3UjDZH9DbaJIQ
Politics of Burma, From Wikipedia, the free encyclopedia