Ko We Kyaw
เมื่อวันที่ 13 มีนาคม หรือเมื่อวานนี้ นักกิจกรรมพม่ารุ่น’88 ในประเทศไทย นำโดยสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองในพม่า (Assistance Association for Political Prisoners-Burma - AAPP) และสมัชชาเพื่อประชาธิปไตยในพม่า (the Forum for Democracy in Burma - FDB) จัด “Free Burma’s Political Prisoners Now!” (“ปล่อยนักโทษการเมืองในพม่าเดี๋ยวนี้!”) (www.fbppn.net) โดยมีการจัดแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) กรุงเทพมหานคร และที่ศูนย์นานาชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อล่ารายชื่อกดดันให้รัฐบาลทหารพม่าปล่อยตัวนักโทษการเมือง ซึ่งขิ่น โอมาร์ (Khin Ohmar) ผู้นำนักกิจกรรมพม่าจาก FDB เผยว่า หลังจากเหตุการณ์ประท้วงของพระสงฆ์ในเดือนสิงหาคมปี 2550 มีนักโทษการเมืองในพม่าเพิ่มเป็น 2,100 คนจากก่อนหน้านี้ราว 1,100 คน โดยการรณรงค์ตั้งเป้าการล่าชื่อไว้ที่ 888,888 คน มีการล่าชื่อทั้งในประเทศไทย ออสเตรเลีย แคนาดา ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ อังกฤษ และอีกหลายประเทศ
ที่นักกิจกรรมพม่ารุ่น’88 เลือกเอาวันดังกล่าวเปิดตัวการณรงค์ เนื่องจากออง ซาน ซูจี และผู้นำฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า ถือเอาวันที่ 13 มีนาคม เป็นวันสิทธิมนุษยชนพม่า (Burma’s Human Rights Day) เพื่อรำลึกถึงการเสียชีวิตของ โพน หม่อ (Phone Maw) และ ซอ หน่าย (Soe Naing) นักกิจกรรมที่เสียชีวิตเนื่องจากการปะทะกับตำรวจในปี 1988
เหตุวิวาทร้านน้ำชาและ ‘จุดเปลี่ยน’ สู่เหตุการณ์ 8888
ปี 1988 สำหรับพม่า ถือเป็นปีแห่งความไม่พอใจ โดยก่อนหน้านี้มีความไม่พอใจรัฐบาลทหารที่นำโดยนายพลเนวินที่มาจากการรัฐประหารในปี 1962 (พ.ศ.2505) ที่มีการดำเนินโครงการสังคมนิยมวิถีพม่า (Burmese Way to Socialism) ทำให้พม่าโดดเดี่ยวจากประชาคมโลก และสภาพเศรษฐกิจของพม่าย่ำแย่ มีการสั่งยกเลิกธนบัตรหลายครั้งโดยไม่มีการชดเชยให้ประชาชน ครั้งที่มีผลกระทบมากที่สุดคือการยกเลิกใบละ 25 จ๊าต 35 จ๊าต และ 75 จ๊าต เมื่อวันที่ 5 กันยายน ปี 1987 (พ.ศ.2530) โดยไม่มีการชดเชยใดๆ ซึ่งทำให้เงินตราของประเทศถึงร้อยละ 75 ที่หมุนเวียนอยู่ในประเทศไร้ค่าทันที
โดยในพม่าเหลือเพียงธนบัตรราคา 45 จ๊าต และ 90 จ๊าต ที่นายพลเนวินยังให้ใช้ได้เพราะมูลค่าหารด้วย 9 ลงตัว ซึ่งเลข 9 ถือเป็นเลขนำโชค
เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ปี 1988 (พ.ศ.2531) ซึ่งอยู่ในช่วงสอบปลายภาคของนักศึกษา กลุ่มนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีแห่งย่างกุ้ง (Rangoon Institute of Technology - RIT) เข้าไปนั่งในร้าน ‘ซานดา วิน’ (Sanda Win) ร้านน้ำชาที่ชื่อร้านบังเอิญไปพ้องกับชื่อบุตรสาวของนายพลเนวิน นักศึกษากลุ่มนี้ต้องการให้ร้านเปิดเทปคาสเซทเพลงของ ‘ชายตีเส่ง’ (Sai Htee Saing, 1950-2008) นักร้องเชื้อสายไทใหญ่ชื่อดังในพม่าที่ร้องเพลงได้ทั้งภาษาพม่าและไทใหญ่ แต่ชาวบ้านกลุ่มอื่นที่นั่งอยู่ในร้านไม่ยอมให้เปิดเพลงของชายตีเส่ง จึงเกิดวิวาทกัน
เส่ง หาน (Sein Han) นักศึกษา RIT ยุค 1988 ที่ประสบในเหตุการณ์เช่นกันบอกว่า ในความเป็นจริง มีการปะทะระหว่างนักศึกษาและชาวบ้านในวันที่ 12 มีนาคม “แต่เราก็ไม่ได้ใส่ใจเรื่องนี้มากนัก เนื่องจากเราชินกับเหตุการณ์แบบนี้แล้ว”
การวิวาทดังกล่าวทำให้นักศึกษา RIT บาดเจ็บ และตำรวจจับเด็กชาวบ้านคนหนึ่งในข้อหาทำร้ายร่างการนักศึกษา แต่ต่อมาก็ปล่อยตัวไป ทำให้นักศึกษา RIT ไม่พอใจ โดย มิน ซอ (Min Zaw) นักศึกษา RIT ในสมัยนั้น เล่าว่าในวันที่ 13 มีนาคม มีการยกพวกไปขว้างปาก้อนหินใส่ร้านน้ำชา และปะทะกับชาวบ้านที่มีท่อนไม้และมีด
มินซอ เล่าว่า ในวันที่ 13 มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่เขาเองก็ไม่ทราบว่าเป็นใคร ยังพยายามจุดไฟเผาสหกรณ์ และสถาบันผู้ช่วยพยาบาลแห่งพม่า (Burmese Paramedical Institute - BPI) แต่ไม่สำเร็จ นอกจากนี้ยังมีการขว้างก้อนหินใส่รถดับเพลิงที่เข้ามาในสถาบัน RIT จนกระจกหน้ารถแตก ต้องล่าถอยออกไป
ต่อมามีรถดับเพลิงเข้ามาใน RIT อีก 5 คัน และฉีดน้ำดับเพลิงเพื่อสลายกลุ่มนักศึกษา แต่นักศึกษาเห็นเป็นเรื่องสนุกที่มีการฉีดน้ำ บางคนก็ขว้างก้อนหินเข้าใส่รถดับเพลิง ฝ่ายเจ้าหน้าที่ดับเพลิงก็ตอบโต้ด้วยการขว้างก้อนหินกลับบ้าง
จากนั้นทหารและตำรวจพร้อมปืนและแก๊สน้ำตาก็ยิงเข้ามาในมหาวิทยาลัย
เหตุการณ์นั้นเองที่ทำให้นักศึกษาคนหนึ่งชื่อ ‘โพน หม่อ’ (Phone maw) ถูกยิงที่ท้องเสียชีวิต ส่วน ‘ซอ หน่าย’ (Soe Naing) ได้รับบาดเจ็บบริเวณหน้าอก และเสียชีวิตในวันที่ 5 เดือนพฤษภาคมปีนั้น นอกจากนี้ก็มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่อีกหลายราย
จากเหตุวิวาทระหว่างนักศึกษากับวัยรุ่นชาวบ้าน แต่การระงับเหตุ ‘แบบเว่อร์ๆ’ ของรัฐบาลทหารพม่า จนมีนักศึกษาเสียชีวิต ได้ทำให้ฝ่ายนิยมประชาธิปไตยในพม่าเดินขบวนขึ้นในสถาบัน RIT และลุกลามไปยังสถาบันอื่นๆ จากจุดนี้เองทำให้นักศึกษาพม่าซึ่งไม่เคยเดินขบวนประท้วงใหญ่เลยนับตั้งแต่ปี 1962 เริ่มรู้สึกว่าตัวเองเป็นนักกิจกรรม
ความไม่พอใจที่เริ่มต้นจากเหตุทะเลาะวิวาทในร้านน้ำชา ขยายตัวไปสู่เรื่องการปกครองของรัฐบาลทหาร การขาดช่องทางในการระบายความคับข้องหมองใจ ความโมโหการกระทำของตำรวจ การบริหารนโยบายเศรษฐกิจที่ล้มเหลว และการทุจริตของรัฐบาล
โดยกลางเดือนมีนาคมเกิดการประท้วงขึ้นหลายครั้ง เป็นเรื่องของการร่วมขบวนการของประชาชนกับนักศึกษาในการเรียกร้องให้รัฐบาลชดใช้เงินที่รัฐบาลประกาศยกเลิกอย่างพลการ การสอบสวนกรณีที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาในเหตุการณ์เดือนมีนาคม การยกเลิกระบบพรรคการเมืองพรรคเดียว
แต่ก็ไม่มีคำตอบจากรัฐบาลนอกจากการปราบปราม มีการสลายการชุมนุมครั้งแล้วครั้งเล่า มีผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์แก้แค้นจากฝ่ายนักศึกษา เช่น ในเดือนมิถุนายนปี 1988 มีการประกาศไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลเข้ามาในเขตพื้นที่ตน และเกิดการรุมประชาทัณฑ์จนเจ้าหน้าที่เสียชีวิตไปหลายคน จนรัฐบาลต้องประกาศปิดมหาวิทยาลัยย่างกุ้งและสถาบันเศรษฐศาสตร์แห่งย่างกุ้ง เพื่อให้เหตุการณ์ยุติลง
และในที่สุดสถานการณ์การเมืองในพม่าก็ดำเนินไปสู่การปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างรุนแรงในวันที่ 8 เดือนสิงหาคมปี 1988 หรือที่รู้จักกันในนามเหตุการณ์ ‘8888’
000
เหตุวิวาทร้านน้ำชาสู่วันสิทธิมนุษยชนพม่า
1989 Phone Maw Day in RIT
ที่มา: BINAmojo http://www.youtube.com/watch?v=noFZnTTk1G8
งานรำลึกถึงโพน หม่อ ปีแรกเมื่อ 13 มีนาคม 1989 ที่ RIT
ที่มา: BINAmojo http://www.youtube.com/watch?v=noFZnTTk1G8
มิน โก นาย (Min Ko Naing)
ที่มา: BINAmojo http://www.youtube.com/watch?v=noFZnTTk1G8
อองซาน ซูจี (Aung San Suu Kyi)
ที่มา: BINAmojo http://www.youtube.com/watch?v=noFZnTTk1G8
มีเรื่องที่เล่าต่อๆ กันมาในภายหลังว่า เหตุที่ตำรวจรีบปล่อยวัยรุ่นในเหตุวิวาทร้านน้ำชาเมื่อ 12 มีนาคม เพราะเป็นลูกของเจ้าหน้าที่ในพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า (Burma Socialist Program Party – BSPP) พรรครัฐบาล ซึ่งเป็นพรรคการเมืองเดียวที่ถูกกฎหมายในพม่า แต่เรื่องนี้ไม่ได้รับการยืนยัน แต่เรื่องเล่าลักษณะนี้ก็ช่วยทำให้เหตุวิวาทระหว่างชาวบ้านกับนักศึกษาและเหตุการณ์ต่อเนื่องในวันนั้นดู ‘ฟังขึ้น’ ว่าเรื่องความไม่พอใจรัฐบาลทหาร ดูดีกว่าเรื่องเล่าในทำนองที่ว่านักศึกษาไปทะเลาะวิวาทกับชาวบ้าน
โดยหลังเหตุการณ์ปะทะในวันที่ 13 มีนาคม 1988 และเหตุการณ์ ‘8888’ อีก 1 ปี ถัดมา ในวันที่ 13 มีนาคม ปี 1989 ก็มีการจัดงานรำลึกถึง ‘โพน หม่อ’ และผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 13 มีนาคม ที่สถาบัน RIT นั่นเอง มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก ทั้ง มิน โก นาย (Min Ko Naing) ผู้นำนักศึกษา (ปัจจุบันถูกรัฐบาลพม่าจับกุม) รวมทั้ง ออง ซาน ซูจี ซึ่งขณะนั้นกำลังเริ่มมีบทบาททางการเมืองในพม่า หลังร่วมปราศรัยในเดือนสิงหาคมปี 1988 และตั้งพรรคสันนิบาติชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) เมื่อ 24 กันยายน ปี 1988 ก็เข้าร่วมงานนี้ด้วย
และต่อมาทั้งอองซาน ซูจี รวมทั้งผู้นำนักศึกษารุ่น’88 ก็ประกาศให้วันที่ 13 มีนาคม เป็นวันสิทธิมนุษยชนพม่า (Burma’s Human Rights Day) มีการรำลึกถึงโพนหม่อและเหตุการณ์วันที่ 13 มีนาคม ตั้งแต่ปี 1989 มาจนถึงทุกวันนี้ โดยถือว่าวันดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ ‘8888’
เส่งหาน ผู้ที่กล่าวว่านักศึกษาเองก็ไม่ได้ใสใจเรื่องการปะทะกับชาวบ้านในวันที่ 12 มีนาคม 1988 มากนัก กลับบอกว่า “ทหารพม่าพยายามปกปิดประวัติศาสตร์ แต่ความรับผิดชอบของพวกเรา (ฝ่ายประชาธิปไตย) คือเปิดเผยประวัติศาสตร์ เราควรจัดงานรำลึก “วันสิทธิมนุษยชนพม่า” ทุกๆ ปี เราควรเคารพต่อผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย นักศึกษารุ่นใหม่ในพม่าต้องรับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 13 มีนาคม ปี 1988”
000
ล่าสุดในปีนี้ ผู้นำนักศึกษารุ่น’88 ก็ถือฤกษ์วันสิทธิมนุษยชนพม่า 13 มีนาคม เปิดตัวการรณรงค์เพื่อล่าชื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองในพม่า
คงเป็นที่ยอมรับในหน้าประวัติศาสตร์ว่าเหตุการณ์ในวันที่ 13 มีนาคม 1988 เป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ ‘8888’ ในเดือนสิงหาคม เพราะความไม่พอใจรัฐบาลทหารพม่าที่สะสมมาก่อนหน้านั้นถูกจุดให้เกิดประกายไฟหลังจากวันที่ 13 มีนาคม 1988 นั่นเอง
เพียงแต่การกำหนดให้วันที่ 13 มีนาคม เป็น “วันสำคัญ” ระดับ “วันสิทธิมนุษยชนพม่า” คงเป็นที่ถกเถียงและถูกตั้งคำถามที่ต้องการคำตอบ ว่าเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทของนักศึกษากับชาวบ้านที่ร้านน้ำชาในวันที่ 12 มีนาคม เพราะเรื่องไม่ยอมเปิดเพลงที่ชื่นชอบ ตามมาด้วยการแก้แค้นเอาคืน และการปราบปรามของรัฐบาลพม่าในวันต่อมาเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนอย่างไร
และกรณี 13 มีนาคมนี้สะท้อน “ความเป็นตัวแทน” ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้อยแปดพันประการที่เกิดขึ้นและยังคงดำเนินต่อไปในพม่าและแผ่นดินอันเป็นรัฐของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ อย่างไร
คงเป็นคำถามสำหรับทั้งนักกิจกรรมพม่าและบรรดาผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลายต่อไป ว่าการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย เราต้องการข้อเท็จจริง หรือตำนาน หรือต้องการแค่แรงบันดาลใจ โดยละทิ้งข้อเท็จจริงบางด้านไป
อ้างอิง
ส่วนที่เป็นบันทึกของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ 13 มีนาคม 1988 โปรดดู Interviews With RIT Students in 1988
http://www.scribd.com/doc/13185999/Interviews-With-RIT-Students-in-1988
8888 Uprising, From Wikipedia, the free encyclopedia
http://en.wikipedia.org/wiki/8888_Uprising
1989 Phone Maw Day in RIT, By BINAmojo,
http://www.youtube.com/watch?v=noFZnTTk1G8&feature=related
20 ปี 8888: ลุกขึ้นสู้ มุ่งสู่แสงตะวัน วานวันแห่งความมืดมิด และอุดมคติที่เลือนหาย โดย อดิศร เกิดมงคล และบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์, ประชาไท, 8/8/2551 http://www.prachatai.com/05web/th/home/13128
เงื่อนไขที่จะก่อให้เกิดการลุกฮือในพม่า, ทรงฤทธิ์ โพนเงิน, OKnation, 6/9/2007 http://www.oknation.net/blog/mekong/2007/09/06/entry-1
Political Prisoners Doubled in Two Years, Say Activists, By WAI MOE, Irrawaddy, 13/3/2009
http://www.irrawaddy.org/article.php?art_id=15302
เรื่องก่อนหน้านี้
‘ตลกพม่า’ ประชัน ‘ตลก.ไทย’ ใครขำกว่า , Ko We Kyaw, 4/10/2008