ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง
เป็นเรื่องปกติในสังคมการเมืองแบบไทยๆ เมื่อมีบางคนใน ‘ตองหนึ่ง' อดีตผู้บริหารไทยรักไทยเรียกร้องในสิทธิความเป็นมนุษย์ที่พึงมีต่อองค์กร ‘ไม่ใช่พ่อ' และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อขอให้เข้ามาดูแลสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติห้ามอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยยุ่งเกี่ยวการเมืองทุกรูปแบบกรณี ซึ่งอาจเป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพในการพูดและแสดงออก
แทบฉับพลันทันทีนั้น เสียงแขวะฝอยเลาะตะเข็บก็ดังควากออกมาอย่างหยามหยันมากมายตามหน้าสื่อต่างๆ
เมื่อตามรอยตะเข็บที่เลาะไป ใช่จะไม่มีมูล เพราะความชัดเจนในสิ่งที่รัฐบาลไทยรักไทยเคยทำเมื่อครั้งเรืองอำนาจสูงสุดก็คือ ‘ความเฉยเมย' ต่อเรื่องที่พวกเขากำลังร้องหาเสียงหลงในเวลานี้ นั่นคือเรื่องการ ‘ละเมิดสิทธิมนุษยชน' ซึ่งในช่วงเวลานั้นค่อนข้างเป็นไปอย่างรุนแรง ทั้งการทำสงครามยาเสพติดที่นำไปสู่การฆ่าตัดตอน 2,500 ศพ การอุ้มฆ่าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การประกาศใช้กฏอัยการศึก หรือกรณีการอุ้มทนาย สมชาย นีละไพจิตร เป็นต้น
แน่นอนว่าประเด็นเหล่านี้ล้วนสำคัญอย่างสมเหตุสมผลพอจะตั้งคำถามและสืบสวนตามกระบวนการยุติธรรมกลับไปยังรัฐบาลทักษิณ
แต่นั่นเป็นคนละประเด็นกับการ ‘เรียกร้องสิทธิ' แม้ว่ามันจะมาจากผู้ที่เคยละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้อื่นอย่างรุนแรงก็ตาม ซึ่งในเรื่องราวดังกล่าวนี้ สิ่งที่น่าตระหนก ณ ขณะปัจจุบัน คือการปรากฏ ‘สัญญาณแห่งความมืด' ที่มีผลต่ออารมณ์และอุณหภูมิสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าจะต้องรีบทบทวนกันก่อนจะกลายเป็น ‘สามานย์สำนึกร่วม'
เพราะในเสียงที่แขวะฝอยหาตะเข็บนั้น แฝงนัยความหมายแห่งถ้อยคำที่หล่นออกมาจากปากของนัก (ที่เรียกตัวเองว่า) ประชาธิปไตย นักสิทธิมนุษยชนบางคน หรือสื่อบางฉบับดูในลักษณะเสียดสีเชิงสมน้ำหน้า การ ‘เรียกร้องสิทธิ' ถูกมองเป็นเรื่องของคน ‘ไม่เจ็บไม่จำ' หรือ ‘ไม่โดนเอง ไม่รู้' และยกเรื่องเหล่านี้มาเปรียบเทียบแบบเด็กๆ ในทำนอง ‘ทีเธอ-ทีฉัน'
พูดง่ายๆ คือคล้ายกับจะบอกเป็นนัยๆ ว่า ทีเธอเมื่อก่อนยัง ‘ทำ' ยิ่งกว่านี้ แค่เรื่องมติ กกต.นิดเดียวยังมีหน้ามาเรียกร้องสิทธิมนุษยชนอีกหรือ การกระทำแบบนี้เป็นแค่พวกห่วงแต่เสรีภาพตัวเองเท่านั้นเอง ในสื่อบางฉบับมีการใช้คำไปจนถึงขั้นว่า ‘นักการเมือง' กำลังทำให้ ‘สิทธิมนุษยชน' เป็นเรื่องตลก"
แต่มันคงตลกไม่ออก ถ้าจะถามต่อไปว่า ‘สิทธิมนุษยชน' มันยกเว้น ‘การใช้' ได้ด้วยหรือ ???
เพราะถ้าทำได้-มันเท่ากับการยกเว้น ‘หลักการ' สำคัญของความเป็น ‘มนุษย์' ที่มีสิทธิขั้นพื้นฐานเท่าเทียมกันในทั้งการคิด การกระทำ และการแสดงออกอย่างเสรี โดยไม่ควรมีตราติดยี่ห้อไว้ว่ามนุษย์ผู้นั้น ‘ดี' หรือ ‘เลว'
หาก ‘สิทธิมนุษยชน' คือการยกเว้นการใช้สำหรับผู้ที่ถูกติดตราบาปไว้แล้ว และคนเหล่านั้นไม่สามารถมีสิทธิเรียกร้องความชอบธรรมในความเป็นมนุษย์ใดๆ อีกต่อไป
หากบุคคลที่ถูกติดตราบาปเหล่านั้นจะถูกกระทำที่มากขึ้น หนักหนายิ่งกว่าแค่การตัดสิทธิ ไปจนถึงจองจำเสรีภาพ หรือเลวร้ายไปจนถึงการเผาเพื่อกำจัดพ่อมด-แม่มดในยุโรปยุคกลางก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะถ้าตรรกะของสังคมไทยยังเป็นไปด้วยความลักลั่นในการเลือกใช้ ‘สิทธิมนุษยชน' แบบนี้ เราคงมีโอกาสเห็นปรากฏการณ์แบบ ‘ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป' เกิดขึ้นอีกครั้งได้ไม่ยาก
การที่นัก (ที่เรียกตัวเองว่า) ประชาธิปไตย, นักสิทธิมนุษยชน และสื่อมวลชนกำลังทำให้การเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์เป็นเรื่องของการวัดกันที่ ‘ความดี' และ ‘ความเลว' ซึ่งเป็นเรื่อง (โคตรจะ) นามธรรมแล้ว ความเป็นมนุษย์ของนักนิยามตัวเองและผู้อื่นเหล่านี้คงมีวิธีคิดไม่ต่างอะไรกับวิธีคิดแบบนาซีหรือเขมรแดงที่มีลักษณะจำแนกมนุษย์ที่ลงเอยด้วยการ ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์' ที่ตนมองว่า ‘ไม่บริสุทธิ์' ไปหลายล้านคน...
แล้ว ‘หัวใจ' ที่เริ่มต้นมองมนุษย์ด้วยกันอย่างเต็มไปด้วย ‘ความรุนแรง' ของท่านเหล่านี้ ยังจะสามารถเดินไปบนเส้นทางที่พิทักษ์สิทธิมนุษยชนร่วมกับประชาชนได้อีกหรือ !!!