"ความพยายามสร้างกติกาอันบิดเบี้ยวตลอดปีกว่าที่ผ่านมา ส่งผลให้ ‘ผี' ยิ่งน่ากลัวสำหรับคนที่กลัว และยิ่งน่าพิสมัยสำหรับผู้ที่ไม่กลัว และผู้ที่ไม่กลัวส่วนใหญ่นั้นแม้จะอยู่ห่างไกล ไร้อำนาจ แต่ก็สามารถแสดงพลังเงียบของตนได้อย่างมีนัยสำคัญ"
ภาพจาก dschild.exteen
มุทิตา เชื้อชั่ง
ผมเป็นคนกลัวผีมากจนแทบจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการกลัวผี และรู้สึกว่าสังคมไทยกำลังกลัว ‘ผี' อย่างหนัก ข้อสังเกตที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งคือ จากที่เคยมีคำอธิบายมากมายว่าทำไมจึงต้องกลัว ‘ผี' หรือไล่ ‘ผี' แต่นานวันเข้า สถานการณ์เปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังเท้า ความกลัว ‘ผี' ก็ยังคงอยู่และอาจจะมากยิ่งกว่าเดิมโดยที่คำอธิบากลับลดน้อย จางหาย จนหลายต่อหลายคนก็อธิบายไม่ถูกว่าทำถึงทั้งเกลียดทั้งกลัว ‘ผี' เช่นนั้นตลอดเวลา ทุกสถานการณ์ ขณะเดียวกันก็รู้สึกตีบตัน สิ้นหวัง ยิ่งนักในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้
ตามทฤษฎีว่าด้วยผีวิทยาแล้ว ผีไม่มีวันตาย ไม่ตายซ้ำซ้อน และเป็นภาพประทับของความน่ากลัวที่อยู่ในความรู้สึกนึกคิด ถ้าเป็นมากหน่อยก็ไปอยู่ในส่วนของจินตนาการซึ่งไร้ขอบเขต ความกลัวผีที่เกิดขึ้นไม่จำเป็นต้องมีเหตุมีผล ดังนั้น หากไม่ระมัดระวังผู้ที่กลัวผีมีแนวโน้มจะกลัวยิ่งขึ้นๆ จนขาดสติ รู้สึกตนเองไร้อำนาจอย่างรุนแรงขณะเดียวกันก็ไม่เชื่อมั่นในขีดความสามารถและอำนาจของเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ อาจถึงขั้นกระทำการที่ไม่อยู่ในครรลองที่ควรเป็น เช่น กระโดดถอยหลังทีละหลายก้าว ทำให้หกคะมำหัวร้างข้างแตกได้โดยง่าย
ผู้ที่กลัว ‘ผี' อาจจะไม่จำเป็นต้องพยายามลบภาพประทับของ ‘ผี' หรือเปลี่ยนให้ ‘ผี' กลายเป็น ‘เทวดา' แต่ควรตั้งสติพิจารณา ‘ผี'ให้ถี่ถ้วน ตำราผีวิทยาในหลายประเทศยืนยันว่า การพิจารณา ‘ผี' อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ สร้างระบบและกลไกที่มีประสิทธิภาพ สร้างความเข้มแข็งของจิตใจและปัญญาของผู้คนเจ้าของประเทศ จะช่วยจำกัด ‘ผี' หรือควบคุมสถาบันผีไม่ให้น่ากลัวกระทั่งเชื่อฟังคำสั่งประชาชนได้ แต่ในบางพื้นที่ที่มีปัญหาเรื้อรังสลับซับซ้อนเกินกว่าจะพูดถึง ก็อาจต้องใช้เวลานานกว่าปกติ
กระนั้นก็ตาม การฝืนธรรมชาติด้วยการกำจัด ‘ผี' ออกไปจากการรับรู้ของผู้คนโดยสิ้นเชิงนั้นไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง เพราะยังมีคนอีกมากมายที่ชอบ ‘ผี' ไม่กลัว ‘ผี' พวกเขาควรมีโอกาสดูหนังผี เล่าเรื่องผี เป็นชู้กับผี ฯลฯ ได้ด้วยเช่นกันตามกติกาของประชาธิปไตย แต่ก็ควรออกแบบโครงสร้างในการควบคุม ตรวจสอบ ‘ผี' ให้รัดกุมอย่างที่กล่าวไป เพื่อไม่ให้สร้างความเดือดร้อนเสียหายต่อส่วนรวม
อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมาเราจะพบว่าสังคมไทย (เมืองหลวงเป็นหลัก) ตระหนักถึงความน่ากลัวของ ‘ผี' และมุ่งกำจัด ‘ผี'ให้สิ้นซากตามแบบวิธีคิดเก่าแก่ แต่ด้วยรูปแบบและคำอธิบายที่ละเมียดขึ้น แม้จะผิดระเบียบวิธีการประชาธิปไตย
ล่าสุด คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีมติกีดกันอดีต ‘ผี' ทั้ง 111 ตนไม่ให้สามารถปราศรัยร่วมหาเสียง ถ่ายรูปคู่กับผู้สมัคร เป็นวิทยากรให้กับพรรคการเมือง ส่วนการที่อดีตหัวหน้าผีจะปราศรัยช่วยหาเสียงผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์นั้นอย่าแม้แต่จะฝัน ทั้งยังไม่ให้ ‘ผี' ทั้ง 111 ตน ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ และการสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง
วิธีการเหล่านี้ยิ่งทำก็ยิ่งถลำลึกไปในกับดักของอาการกลัว ‘ผี' โดยเฉพาะบรรดาหมอผี เกจิอาจารย์ชื่อดังทั้งหลาย ซึ่งหลายคนหวังดี และอีกหลายคนอยู่ในภาวะขี่หลังเสือ ซึ่งอาจทำให้ขาดสติอย่างรุนแรงออกกฎหมายที่ไม่น่าออก มุ่งเน้นแต่ประเด็นการเมือง การปกป้องตัวเองเป็นหลัก
และด้วยความพยายามสร้างกติกาอันบิดเบี้ยวตลอดปีกว่าที่ผ่านมา จะส่งผลให้ ‘ผี' ยิ่งน่ากลัวสำหรับคนที่กลัว และยิ่งน่าพิสมัยสำหรับผู้ที่ไม่กลัว และผู้ที่ไม่กลัวส่วนใหญ่นั้นแม้จะอยู่ห่างไกล ไร้อำนาจ แต่ก็สามารถแสดงพลังเงียบของตนได้อย่างมีนัยสำคัญ ดังเช่นการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 50 ที่ผ่านมา จนเป็นที่จับตากันมากว่าการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ คนไม่กลัวผีจะมีพลังเพียงไหน
สุดท้าย หนังสือเล่มล่าสุดของ ศ.Leonard Coup d'etat สรุปไว้ว่า อาการกลัวผีแต่พอดีเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นสิ่งแสดงออกถึงสุขภาพอันดีของพลเมือง ซึ่งจะกระตุ้นให้ผีทั้งหลายใช้ความน่ากลัวไปในทางที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง ขณะเดียวกันอาการกลัวผีแบบไม่ลืมหูลืมตาอย่างกรณีของไทยตอนนี้ กระทั่งกฎอัยการศึกก็ยอม พ.ร.บ.ความมั่นคงออกมาก็ยอม ฯลฯ สามารถส่งผลเสียใหญ่หลวงได้ ซึ่งนอกจากจะกำจัดผีไม่ได้แล้ว ยังทำให้สังคมสุ่มเสี่ยงที่จะไปถึงทางตัน (ยิ่งกว่า) ซึ่งทั้งน่ากลัวและทั้งเจ็บปวดกว่าการเผชิญหน้ากับ ‘ผี' หลายเท่า