Skip to main content

feet picture
ภาพจาก: http://imaim.wordpress.com

แรงกระเพื่อมของสังคมไทยในช่วงที่ผ่านมา ต่อเรื่อง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทำให้ต้องมานั่งนับวันว่า เมื่อไหร่จะถึงวันที่กฎหมายฉบับนี้นี้จะเขาที่ประชุม ครม.เพื่อลุ้นเอาแค่กฎหมายฉบับนั้นจะผ่านครม.เข้าสู่สภาฯ ได้หรือไม่ แล้วค่อยไปว่ากันต่อด้วยเรื่องหน้าตาว่าจะออกมาสวย หล่อ เพียงใด

ตามที่ รมว.คลัง ท่านบอกผ่านสื่อมวลชนไว้ เมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา มีกำหนด 2 สัปดาห์ นี่ก็คงอยู่ในช่วงระยะเวลานัดหมายแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

ล่าสุด รมว.คลังกล่าวผ่านสื่อว่า กระทรวงการคลังยังเดินหน้าแนวคิดการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยจะนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเดือน ส.ค.นี้

นับย้อนไป..

หลังจากที่รัฐบาลโดยการนำของนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกมาประกาศสนับสนุนให้เดินหน้ากฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แทน พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 และพ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508 ตามแนวคิด นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ที่ให้เหตุผลว่า "เพื่อความเป็นธรรมในสังคม" หลังจากพบว่าการจัดเก็บภาษีตามกฎหมายเดิมมีปัญหาความเหลื่อมล้ำมากมาย

แถมยังแสดงความกระตือรือร้นในการออกกฎหมายดังกล่าวอย่างเห็นได้ชัด ด้วยการประกาศว่าร่างกฎหมายจัดทำเสร็จแล้วตั้งแต่เมื่อเดือนพฤษภาคม จ่อเข้าที่ประชุม ครม.แล้ว และคาดหวังว่าร่างกฎหมายภาษีที่ดินดังกล่าวจะผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรและบังคับใช้ได้ช่วงปลายปี 2552

แต่ข้อสงสัยที่ยังเซ็งแซ่ คือ ท่าน รมว.คลัง จะผลักดันเรื่องนี้สำเร็จหรือ เพราะรู้ๆ กันอยู่ว่า ส.ส.และ สว.ในสภา ต่างประกอบไปด้วยมหาเศรษฐีที่ดินที่เรียกกันถึงขั้นราชา ราชินี หากนับมูลค่าที่ดินรวมๆ คงจะนับเลขในหลักสิบล้านกับไม่หวาดไม่ไหว

.....

หลายคนมองว่า...

รัฐบาลชุดนี้ นายแน่มาก ที่กล้าหาญชาญชัยออกมาผลักดันเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงในเรื่องภาษีมรดก เพราะเขาวาดภาพถึงการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าต่อทรัพย์สินเหล่านี้ แต่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของรัฐบาลนี้ก็ยังไม่ใช่ภาษีก้าวหน้าอย่างแท้จริง และรัฐบาลนี้ไม่ใช่รัฐบาลแรกที่มองเห็นปัญหาการจัดเก็บภาษีที่มีอยู่

เรื่องนี้เคยเริ่มตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งมีกระแสความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ที่ดินและเงินทุนจากของบุคคลเป็นระบบสหกรณ์ และ "ท่านปรีดี พนมยงค์" แกนนำคณะราษฎรได้ยกร่างฯ "เค้าโครงเศรษฐกิจ" แต่ถูกยกเลิกไป และในสมัยของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เองก็ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อทำการศึกษาร่างกฎหมาย ล่าสุดที่จ่อคิวจะเข้า ครม.คือในสมัยของ น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็น รมว.คลัง แต่ก็มีการเปลี่ยนรัฐบาลเสียก่อน

ในส่วนหลักการที่ รมว.คลัง คนปัจจุบัน ยืนยัน มาตลอดนั่น คือ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะนำมาใช้นี้ จะก่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม มีระบบจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพ มีความทั่วถึง

ด้วยการจัดเก็บจากฐานมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และตามประเภทการใช้งาน ถ้าเป็นสำหรับการเกษตรอัตราการจัดเก็บก็จะต่ำสุดคือไม่เกิน 0.05 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเป็นที่อยู่อาศัยก็จะสูงขึ้นหน่อยคือไม่เกิน 0.1 เปอร์เซ็นต์ และถ้าเป็นเชิงพาณิชย์จะอยู่ที่ 0.5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนถ้าเป็นที่ดินที่ไม่ใช้ประโยชน์ก็จะจัดเก็บในอัตราสูงสุดนั่นก็คือ 0.5 เปอร์เซ็นต์

ผลคือ"ที่ดินเกิดการใช้ประโยชน์" จะถูกนำมาพัฒนาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ถูกปล่อยให้ทิ้งร้างเหมือนที่พบเห็นอยู่มากมายในปัจจุบัน แม้ผลปรากฏออกมาจะเป็นสวนกล้วยในพื้นที่ทำเลทองก็ตาม

ส่วนรัฐในส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อย่าง อบต.และเทศบาลจะมี "รายรับเพิ่ม" จากการจัดเก็บภาษี เพื่อการบริหารจัดการในท้องถิ่น พูดได้ว่า รัฐบาลและกระทรวงการคลังกำลังเพ่งเล็งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นหลัก

สำหรับความเป็นธรรมแก่สังคมที่ รมว.คลังและท่านนายยกว่าไว้ ตีความได้ถึงการยึดหลัก "ผู้ที่ได้ประโยชน์ต้องจ่าย" ที่ดินพื้นที่มากในทำเลทองยอมได้ดอกผลจากที่ดินมากกว่าพื้นที่ขนาดเล็ก ก็ต้องจ่ายมากและเงินนั้นก็นำมาทำประโยชน์เพื่อท้องถิ่นนั้นๆ เอง

คำถามคือ จริงหรือที่ว่าสิ่งเหล่านี้คือการใช้กระบวนการทางกฎหมายเพื่อมาช่วยลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ตามนัยการสร้างความเป็นธรรมในสังคมของใครหลายๆ คน

......

หลายคนให้ความเห็นว่า...

รัฐบาลหยิบเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกมาในช่วงนี้ ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับปากท้องประชาชนที่จะต้องเร่งแก้ในช่วงที่วิกฤติเศรษฐกิจ โดยมองว่ามันเป็นการเร่งรัดนำเงินออกจากกระเป๋าประชาชนทั้งที่เศรษฐกิจกำลังลุ่มๆ ดอนๆ

ยกตัวอย่างคนทั่วๆ ไป ในปัจจุบันคนที่เป็นเจ้าของบ้านหรือที่อยู่อาศัยนั้นไม่ต้องเสียภาษี แต่ภาษีตัวใหม่นั้นต้องเสีย เพราะฉะนั้นภาระของคนที่มีบ้านเป็นขอตัวเองตรงนี้เพิ่มขึ้น แต่ว่าอัตราภาษีก็ไม่ได้ถูกกำหนดมาแบบที่สูงมาก

ด้วยเหตุผลที่ว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะเป็นช่องทางที่ทำให้รัฐสามารถมีรายได้เข้าคลังที่ดูเหมือนกำลังต้องการเอาอากาศเข้าไปเพื่อยื้อชีวิต หลังลุยรีดภาษีน้ำมัน เหล้า บุหรี่ไปกันแล้ว และเตรียมไล่บี้ภาษีสรรพาสามิตสถานบันเทิงผับ บาร์ คาราโอเกะ กันต่อ รวมทั้งการออก พ.ร.ก.เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ กู้เงินฉุกเฉิน 400,000 ล้านบาท ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่ามีความจำเป็นรีบด่วนเมื่อไม่กี่วันมานี้

แต่การที่กฎหมายตัวนี้แม้ว่าจะผ่านสภาแล้วก็จะยังไม่มีมีผลบังคับใช้ทันที เนื่องจากบทเฉพาะกาลที่กำหนดไว้ว่าหลังจากนั้นอีก 2 ปี จึงจะมีการจัดเก็บภาษี เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมตัว ตรงนี้ช่วยลดแรงเสียดทานจากการบังคับใช้กฎหมาย นอกจากนั้นยังการออกกพระราชกฤษฎีกายกเว้นการเก็บภาษี หากทรัพย์สินมีมูลค่าต่ำกว่าที่กำหนด และมีช่องในการนำค่าเสื่อมสภาพของบ้านมาใช้ในการลดหย่อนภาษีได้

ตรงนี้ทำให้เกิดความสงสัยว่าหากหวังเม็ดเงินจากการเก็บภาษีในส่วนนี้ รัฐบาลนี้ก็คงต้องอยู่ยาวไปอย่างน้อย 2 ปี เพื่อจะได้ดำเนินการให้มีการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามที่วางแนวทางไว้ แต่หากหวังจะดึงเม็ดเงินมาช่วยหนุนในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ มองอย่างไรก็คงไม่ทันการ

ความจริงสิ่งที่ ปฏิเสธไม่ได้คือไม่ว่าในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจหรือไม่ ปัญหาที่ดินทำกินเป็นปัญหาปากท้องของประชาชนที่รัฐบาลจะต้องเร่งแก้ไข และอยู่ในขั้นวิกฤตลงทุกขณะ

.....

หลายคนตั้งความหวังว่า...

การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะช่วยลดการสะสมที่ดินเพื่อการเก็งกำไร เพราะที่ดินมีมูลค่าที่ต้องจ่ายไปกับภาษี ทำให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน โดยที่ดินถูกคายมาสู่ตลาด จนทำให้ราคาที่ดินต่ำลงพอที่ผู้มีความต้องการทั่วไป (ไม่เฉพาะคนจน) เข้าถึงได้

นั่นคือความคาดหวังของประชาชน ที่หวังแม้มันจะเป็นเพียงผลพลอยได้ของกฎหมายฉบับนี้

ก่อนหน้านี้หลายต่อหลายครั้ง ชาวบ้าน เกษตรกร คนจนไร้ที่ดิน หลายต่อหลายกลุ่มได้จากบ้านมาชุมนุมตากแดดตากฝนหน้าทำเนียบและกระทรวงต่างๆ เพื่อหวังมาต่อรองให้นักการเมืองมาช่วยแก้ปัญหาที่ดินทำกิน

ขณะที่เราจับจ้องอยู่กับกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่แม้จะได้รับแรงหนุนจากนายกรัฐมนตรีที่ออกปากว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลและของพรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องผลักดัน แต่ก็ต้องรอลุ้นกับความจริงใจของรัฐบาลและนักการเมืองว่าจะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมหรือประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้องมากกว่ากัน

หลายพื้นที่ของประเทศนี้ ประชาชนกำลังประสบภัยปัญหาไม่มีที่ดินทำกิน มีการแย่งชิงพื้นที่เพื่อทำการเกษตรระหว่างชาวบ้านและนายทุนเจ้าที่ดินขนาดใหญ่ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ซึ่งเป็นภาคประชาชนกลุ่มใหญ่ที่ออกมาเคลื่อนไหวแก้ปัญหาที่ดินของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ได้ร่วมทำงานแก้ปัญหาที่ดินกับรัฐบาล โดยนายกอภิสิทธิ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ และได้นั่งเป็นประธานด้วยตัวเอง ถึงวันนี้ใกล้ครบกำหนด 90 วัน ของการทำงานของคณะอนุกรรมการฯ ในคณะกรรมการอำนวยการฯ แต่การดำเนินงานยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

ในพื้นที่ ปัญหาการแย่งชิงที่ดินทำกินของชาวบ้านกับรัฐราชการ รวมทั้งอิทธิพลเถื่อนยังคงเกิดขึ้น มีการข่มขู่ คุกคาม และรุนแรงถึงขั้นยิงกราด เผาบ้านอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย

ตัวอย่างกรณีแรกที่ เขตพื้นที่ ส.ป.ก.ใน อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี ช่วงวันที่ 16-19 พ.ค. มีการข่มขู่ คุกคาม ใช้อาวุธปืนยิงกราด และเผาบ้านพักชั่วคราวจำนวน 19 หลัง โดยกลุ่มชายฉกรรจ์ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นกลุ่มอิทธิพลมืดในพื้นที่ ที่มีความสัมพันธ์กับบริษัทขนาดใหญ่ที่เคยขออนุญาตใช้พื้นที่เพื่อปลูกปาลืมน้ำมัน แม้ขณะนี้บริษัทได้หมดอายุแล้วแต่ยังมีความพยายามขับไล่ชุมชนต่างๆ ให้ออกจากพื้นที่ ส่งผลให้สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ต้องย้ายพื้นที่ไปอาศัยกับชุมชนใกล้เคียง

อีกกรณีหนึ่งในพื้นที่ ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งในอดีตเป็นพื้นที่อิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ที่รัฐบาลมีนโยบายเปิดพื้นที่ป่าให้ชาวบ้านเข้าไปทำกินเมื่อปี พ.ศ. 2515-2516 ต่อมาเมื่อสถานการณ์สงบลง รัฐบาลมีนโยบายให้ชาวบ้านอพยพออกจากพื้นที่ ซึ่งก็คือพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมที่ให้บริษัทเอกชนเช่าปลูกป่ายูคาลิปตัส และเมื่อบริษัทหมดสัญญาเช่าแล้ว ชาวบ้านกลุ่มเดิมที่เคยทำกินในพื้นที่นี้มาก่อน จำนวน 171 ครอบครัวจึงเข้าไปทำกินในพื้นที่ แต่กลับถูกขู่คุกคามโดยการปล่อยข่าวว่าจะมีการใช้กำลังเข้าปราบปรามโดยเจ้าหน้าที่

นอกจากนี้ยังมีกรณีของชาวบ้านที่ถูกประกาศพื้นที่ป่าทับที่ทำกินที่ปัญหายังคาราคาซังกันอยู่ แม้ในบางพื้นมีการตกลงให้ชาวบ้านทำกินชั่วคราว แต่ในบางพื้นที่กฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือข่มขู่คุกคามชาวบ้าน ให้ไม่สามารถทำมาหาอยู่ได้อย่างเป็นสุข

หลายครั้ง และหลายพื้นที่ ที่มักได้ยินเสียงสะท้อนจากในพื้นที่ว่า "ชาวบ้านกลัวกฎหมาย แต่นายทุนไม่กลัว เพราะเขามีเงิน เขามีรัฐเป็นเพื่อน"

และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สะท้อนได้ถึงความจริงใจของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของประชาชน

มันสร้างข้อสงสัยขึ้นในใจว่า การที่นายกรัฐมนตรีหยิบยกเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไปจนถึงเรื่องโฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน ขึ้นมาพูดถึง นั่นคือการหาเสียงท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ดูไม่ค่อยมั่นคงของรัฐบาลบนฐานคะแนนของคนรากหญ้า มากกว่าความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรคนยากจนโดยแท้จริง

.....

การที่คนส่วนหนึ่งให้การสนับสนุนแนวคิดจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง นั่นเพราะเขาถือว่ามันคือจุดเริ่มต้นหนึ่งของความพยายามจัดการกับความไม่เท่าเทียมที่มีอยู่ในสังคม ทั้งๆ ที่รู้ทั้งรู้ว่าแค่การจัดเก็บภาษีนี้ มันไม่สามารถทำให้ช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างคนรวยและคนจนแคบลงได้ ไม่สามารถเร่งรัดให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินจากมือคนรวยสู่มือเกษตรกรได้ ไม่สามารถทำให้ราคาที่ดินถูกลงพอที่คนธรรมดาสามัญไม่ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำทำงานกว่าจะมีที่ดินมีบ้านเป็นของตัวเอง ฯลฯ

ถึงอย่างไรมันก็ยังดีกว่าไม่ได้เริ่มทำอะไร...

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของการปฏิรูประบบภาษีที่จะมีส่วนอย่างสำคัญต่อการกระจายการถือครองที่ดิน ที่เราต้องการจะไปให้ถึง

เมื่อที่ดินคือทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ไม่แพ้น้ำ อากาศ ป่าไม้ ในฐานทรัพยากรในการผลิตที่ผูกพันกับวิถีชีวิตผู้คนมาเนินนาน และเป็นสิทธิของประชาชนที่จะเข้าถึง แต่มันกลับถูกแปลงเป็นสินค้าที่ถูกควบคุมโดยกลไกตลาดอย่างเต็มรูป ที่ถูกปั่นราคา เก็งกำไร ซื้อมาขายไปกันอย่างคล่องมือในหมู่ผู้มีอันจะกินที่ไม่ต้องอาบเหงื่อลงดินก็มีกินไปตลอดชาติ

ในขณะนี้ที่การออกกฎหมายเพื่อกำหนดมาตรการทางภาษียังต้องลุ้น แถมความคาดหวังถึงการปฏิรูปที่ดิน ยังเป็นเรื่องที่ดูยาวไกล

เอาแค่เฉพาะหน้านี้ จะทำอย่างไรให้ทุกคนที่อยากใช้ทรัพยากรที่ดินในการผลิตสามารถเข้าถึงได้ โดยไม่ถูกข่มขู่คุกคามจากกลุ่มผลประโยชน์ใดๆ นี่คงเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลที่จะแก้ปัญหาที่ดินให้กับประชาชน และดูเหมือนมันจะยากเย็นเต็มกลืนอยู่แล้ว

รัฐบาลอย่าหยิบยกเรื่องปฏิรูปภาษีเพื่อความเป็นธรรม ปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจน ขึ้นมาสร้างกระแส แล้วปล่อยให้เราต้องมานั่งฟันหวานอยู่กับอะไรที่เลื่อนลอย ช่วยสร้างผลงานสักชิ้นให้เห็นประจักษ์ในความจริงต่อการแก้ปัญหา ที่ไม่ใช่แค่การเอาผลประโยชน์ของประชาชนใช้เป็นเครื่องมือหาเสียงสนับสนุนทางการเมือง

เหมือนที่บอกกันมาว่า "ประชาธิปไตยของคนจนคือประชาธิปไตยที่กินได้" รัฐบาลที่ไม่มีน้ำยาแก้ปัญหาให้ประชาชนมีอยู่มีกินได้ก็ไม่ควรเป็นรัฐบาลของประชาชนเช่นกัน

บล็อกของ Hit & Run

Hit & Run
  ตติกานต์ เดชชพงศ  เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ที่ผ่านมา เพิ่งมีโอกาสได้ไปดูฉากโหดๆ อาทิ หัวขาดกระเด็น เลือดสาดกระจาย กระสุนเจาะกระโหลกเลือดกระฉูด ในหนังไทย (ทุ่มทุนสร้างกว่า 80 ล้านบาท!) เรื่อง ‘โอปปาติก'  รู้สึกอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่งว่าหนังเรื่องนี้รอดพ้นเงื้อมมือกองเซ็นเซอร์ผู้เคร่งครัดมาได้ยังไง?เพราะด้วยการทำงานของหน่วยงานเดียวกันนี้ ทำให้หนังเรื่องหนึ่งถูกห้ามฉาย เพราะมีฉากพระสงฆ์เล่นกีตาร์, และฉากนายแพทย์บอกเล่าว่าตนก็มีึความรู้สึกทางเพศ แม้แต่ฉากเด็กผู้หญิงอาบน้ำ (ซึ่งเป็นเพียงตัวการ์ตูนญี่ปุ่น) ก็ยังถูกเซ็นเซอร์มาแล้ว ด้วยข้อหา ‘ทำให้เสื่อมเสียศีลธรรมอันดี'…
Hit & Run
วิทยากร บุญเรือง ผมไปเจอข่าวชิ้นหนึ่ง เหตุเกิดที่โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งไม่ว่าจะยังไง ข่าวชิ้นนี้ผมว่ามันสามารถสะท้อนอะไรได้หลายอย่าง สำหรับสังคมไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคือข่าวที่กลุ่มมิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาก่ออาชญากรรมในโรงพยาบาลศิริราช มาหากินกับพสกนิกรผู้จงรักภักดีได้ลงคอ ... (กรุณาอ่านให้จบก่อนด่า)ท่านพงศพัศ พงษ์เจริญ ตำรวจหน้าหล่อ ได้กล่าวว่า ที่โรงพยาบาลศิริราช มีเรื่องซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นนั่นคือมีกลุ่มมิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาก่ออาชญากรรม และที่ไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง คือเป็นการก่อเหตุในเขตพระราชฐาน โดยขณะนี้ตำรวจได้รวบรวมหลักฐานแล้วเตือนไปยังแก๊งมิจฉาชีพที่ตั้งใจมาก่ออาชญากรรมว่า…
Hit & Run
พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ 26 กันยายน 2550ย่านพระเจดีย์สุเล, กรุงย่างกุ้ง   ภาพที่เห็นคือ...ประชาชนหลายพันคนออกมายืนเต็มถนนย่านพระเจดีย์สุเล ซึ่งเป็นย่านกลางเมือง โดยไม่ไกลนักมีกองกำลังรักษาความมั่นคงพม่าตั้งแถวอยู่เบื้องหน้า ป้องกันไม่ให้ประชาชนเข้าใกล้พระเจดีย์แห่งนี้"เราต้องการประชาธิปไตย" ชายวัยกลางคนผู้หนึ่งกล่าว"รัฐบาลนี้อันตรายโคตรๆ" ชายอีกคนหนึ่งกล่าวประชาชนส่วนหนึ่ง พยายามต่อสู้กับทหาร ทหารที่มีทั้งโล่ กระบอง แก๊สน้ำตา กระทั่งปืน โดยประชาชนพยายามขว้างอิฐ ขว้างหิน เข้าใส่แถวแนวของทหารพวกนั้นก้อนแล้ว ก้อนเล่า ... ถูกทุบเป็นก้อนย่อมๆก้อนแล้ว ก้อนเล่า ... ถูกขว้างสุดแรงเกิด…
Hit & Run
  อรพิณ ยิ่งยงพัฒนาดูเหมือนเรื่องน่าจะจบลงไปแล้ว กับความพยายามของ สนช.กว่า 60 คน ที่เข้าชื่อกันยื่นแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ในมาตราที่เกี่ยวข้องกับการทำผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ก่อนที่สุดท้าย สนช.จะตัดสินใจถอนการแก้ไขออกไปก่อนแม้เรื่องนี้มีนัยยะที่น่าสนใจหลายประเด็น แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ กระแสความคิดที่เกิดขึ้น แม้ภายหลังการถอยและถอนการเสนอแก้กฎหมายแล้วก็ตามสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีจำนวน 242 คน โดย สนช. สามารถเข้าชื่อกันเพื่อเสนอหรือแก้ไขกฎหมายได้ ผ่านการเข้าชื่อเพียงจำนวนไม่น้อยกว่า 25 คน ยกเว้นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน…
Hit & Run
จิรนันท์ หาญธำรงวิทย์นอกจาก 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย และ (อดีต) วันชาติแล้ว วันสำคัญที่เงียบเหงารองลงมา (อีกวัน) ก็คงหนีไม่พ้น 6 ตุลาคม 2519 ที่รับรู้กันว่า เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษา ประชาชน เพราะเข้าใจว่าเป็นคอมมิวนิสต์ สำหรับปีที่แล้ว วันนี้อาจคึกคัก เพราะถึงวาระตัวเลขกลมๆ 30 ปี ซ้ำยังเพิ่งผ่านพ้นรัฐประหาร 19 กันยายน มาหมาดๆ กระแสเรื่องการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจึงยังมีอยู่ แต่พอปีนี้กระแสกลับไปเงียบเหงาเหมือนปีก่อนๆ วันที่ 6 ตุลาในปีนี้ กลายเป็นวันเสาร์ธรรมดาๆเมื่อถามถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา กับหลายๆ คน…
Hit & Run
ภาพันธ์ รักษ์ศรีทองเป็นข่าวคราวกันพักใหญ่ในรอบสัปดาห์จนผู้หลักผู้ใหญ่ต้องรีบออกมาเต้นเร่าร้อนกันทั่ว เมื่อคุณหนูสาวๆ มีแฟชั่นเทรนใหม่เป็นการนุ่งกระโปงสั้นจุ๊บจิมโดยไม่สวมใส่ ‘กุงเกงลิง’ ความนิยมนี้เล่นเอาหลายคนหน้าแดงผ่าวๆจนพากันอุทาน ต๊ายยย ตาย อกอีแป้นจะแตก อีหนูเอ๊ยย ทำกันไปได้อย่างไร ไม่อายผีสาง เทวดาฟ้าดินกันบ้างหรืออย่างไรจ๊ะ โอ๊ย..ย สังคมเป็นอะไรไปหมดแล้ว รับแต่วัฒนธรรมตะวันตกมาจนไม่ลืมหูลืมตา วัฒนธรรมไทยอันดีงามของไทยไปไหนโม๊ดดดดเรื่องนี้มองเล่นๆ เหมือนจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่มันก็ไม่เล็ก จะว่าเป็นเรื่องใหญ่ก็ไม่ใหญ่ แต่ไปๆ มาๆ คล้ายกับว่ารอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ‘กุงเกงลิง’…