คิม ไชยสุขประเสริฐ
กับภาพเคลื่อนไหวในจอตู้สี่เหลี่ยม...
คุณครูคนหนึ่งกับกิจวัตรประจำวันในการสอนหนังสือ... ดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่สิ่งที่สะกิดใจฉันอย่างจังคือประโยคที่ว่า
"จะรู้ว่าใครเก่งแค่ไหนต้องรอดูว่าใคร (สอบ) ได้ที่หนึ่ง... ได้ที่หนึ่งแล้วจะบอกว่าไม่เก่งก็คงไม่ได้"
ครูซึ่งดูก็รู้ว่าเชี่ยวกรำกับวิชาชีพนี้มานานนับสิบปี พูดถึงการวัด ‘ความเก่ง’ ของเด็กนักเรียน โดยใช้ลำดับที่ของการสอบ ถูกนำไปผูกโยงกับ ‘ตัวสินค้า’ ในฐานะรถกระบะคันเก่งที่ขายได้เป็น ‘อันดับหนึ่ง' ซึ่งมีสโลแกนว่า ‘รถกระบะอันดันหนึ่งของคนไทย'
ทั้งนี้ เมื่อว่าด้วยเรื่องของการตลาดแล้ว ในฐานะที่ไม่ได้ติดตามในเรื่องนี้ก็ไม่อาจทราบได้ว่า รถกระบะเจ้าไหนจะครองความเป็นเจ้าตลาด หรือเป็นผู้ถือส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุด และไม่รู่ว่าโฆษณาชิ้นนี้บอกเล่าความจริงมากน้อยเพียงใด
แต่มันทำให้ความคิดฉันหมุนวนอยู่กับคำว่า การศึกษาทำให้คนเป็น ‘ที่หนึ่ง' คือ ‘เก่งที่สุด' และ ‘ดีที่สุด' ...
000
ย้อนไปเมื่อตอนเด็กๆ นอกจากผู้ใหญ่จะสอนให้เป็นเด็กดีแล้ว เค้ายังบอกให้เด็กน้อยต้องเรียนหนังสือเก่งๆ จะได้มีอาชีพดีๆ มีอนาคตดีๆ...
จำได้ว่าสมัยประถม แม่สร้างแรงจูงใจในการสอบให้เด็กหญิงบ้านนอกแสนขี้เกียจอย่างฉัน ด้วยการเอารางวัลเข้าล่อ เพื่อแลกกับการสอบได้ลำดับที่ดีๆ ของห้อง ยิ่งถ้าสอบได้ที่หนึ่ง จำได้ว่าแม่บอกจะปิดหมู่บ้านเลี้ยงฉลองให้เลยที่เดียว
ในความเป็นจริง การเลี้ยงฉลองให้แก่ที่หนึ่งของฉันไม่เคยเกิดขึ้น เพราะฉันไม่เคยทำได้แม้จะขุดความพยายามออกมามากแค่ไหนก็ตาม ก็เรื่องที่หนึ่งมันไม่สามารถทำได้เพียงไม่กี่วันก่อนสอบ และฉันเองก็ไม่ได้ชอบทุกวิชาที่ต้องเรียนเสียหน่อย หากจะทำคะแนนได้บ้างไม่ดีบ้าง มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลก
เมื่อโตขึ้นและได้พบปะผู้คนมากขึ้น ทำให้ได้รู้ว่า การได้เป็นที่หนึ่งนอกจากการเรียนซึ่ง (หลายคนบอกว่า) เป็นตัวชี้วัดถึงอนาคตแล้ว มันยังเข้ามาเกี่ยวพันกับการงาน รวมถึงการดำเนินชีวิตด้วย
สำหรับบางคนที่ตั้งความเป็นที่หนึ่งไว้เป็นเป้าของความสำเร็จในชีวิต บางครั้งการมันก็ไม่ได้สร้างความสุขเสมอไป เพราะมันต้องแลกด้วยความทุ่มเทแรงกายแรงใจ ตลอดไปจนถึงต้องสูญเสียอะไรบางอย่าง เพื่อแลกมาซึ่งความเป็นที่หนึ่งบนสุดยอดหอคอย แต่กลับมีเพียงความโดดเดี่ยว และเหลือเพียง 1 เดียวจริงๆ
เมื่อมาถึงจุดนั้น สำหรับบางคนแล้วการได้อยู่ในอันดับที่สอง สาม สี่ หรือในตำแหน่งที่รองๆ ลงมา คงมีความสุขมากกว่า
000
บิล เกตส์ เจ้าพ่อไมโครซอฟท์ เป็นตัวอย่างของคนที่ก้าวลงจากอันดับ 1 เมื่อไม่นานมานี้...
หลังครองตำแหน่งคนรวยที่สุดของโลกมา 13 ปี เข้าได้ตกมาอยู่อันดับ 3 ของมหาเศรษฐีโลก ด้วยสินทรัพย์รวม 58,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 2,000 ล้านดอลลาร์ (64,000 ล้านบาท) จากปีที่แล้ว
จากการจัดอันดับอภิมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุดของโลกในปี 2008 โดยนิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) ระบุว่า เจ้าพ่อไมโครซอฟท์ได้เสียตำแหน่งคนรวยที่สุดของโลก ให้แก่ วอร์เรน บัฟเฟต์ นักลงทุนชาวอเมริกัน โดย บัฟเฟต์ มีสินทรัพย์เพิ่มพรวดพราดจาก 10,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 320,000 ล้านบาท) เป็น 62,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2 ล้านล้านบาท)
ส่วนอันดับสองคือ เจ้าพ่อเทเลคอมชาวเม็กซิกัน เจ้าของบริษัทอเมริกาโมวิล ผู้นำสินค้าเทคโนโลยีการสื่อสาร คาร์ลอส สลิม เฮลู ผู้มีสินทรัพย์เพิ่มเท่าตัวภายในเวลาเพียง 2 ปี เป็น 60,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท)
อย่างไรก็ตาม เมื่อปีที่แล้ว บิล เกตส์ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า เขาไม่ได้รู้สึกดีกับการติดอันดับเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลกเลย
"I wish I wasn't," Gates replied. "There's nothing good that comes out of that."
หากจะว่ากันถึงเรื่องเหตุผลแล้ว การเป็นคนที่รวยที่สุดของ บิล เกตส์ คงไม่ได้ทำให้เขารู้สึกดีนัก เพราะเมื่อมีรายได้มากภาษีก็มากเป็นเงาตามตัว และการที่เขาหันไปทำงานด้านสาธารณกุศลมากขึ้นตั้งแต่ปี 2543 (คาดการกันว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อันดับของเขาต่ำลง) ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการลดหย่อนภาษี เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าในสหรัฐ ผู้บริจาคทรัพย์สินให้แก่มูลนิธิเพื่อการกุศลจะได้รับการลดหย่อนภาษีจากรัฐบาล
นอกจากนี้ การที่เขารวยเป็นอันดับสามนั้นไม่ได้หมายความว่ารายได้ของเขาลดลง แต่คนอื่นๆ มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าเขาต่างหาก
อย่างไรก็ตาม ความหน้าสนใจของ บิล เกตส์ ไม่ได้อยู่เฉพาะความมีอิทธิพลของเขาในโลกธุรกิจ หรือการติดอันดับเศรษฐีระดับโลก หรือแม้กระทั้งการที่เขาจะเป็นนักบุญที่แท้จริงหรือไม่
เพราะคนเก่งไม่จำเป็นต้องเป็นคนดี นี่คือสิ่งที่คนไทยได้เรียนรู้แล้วจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในช่วงปีที่ผ่านมา
จากประวัติของ บิล เกตส์ เขาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่ลาออกกลางคัน และอาจมีคนมองว่าเขาล้มเหลวในการเรียน แต่เขาก็ประสบความสำเร็จในประกอบธุรกิจทางด้านซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์จนร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีของโลก
นั่นคงเพราะเขาคิดว่า ที่หนึ่งในห้องเรียนนั้น ไม่ใช่ที่หนึ่งที่เขาต้องการในชีวิต
มันทำให้เกิดคำถามที่ว่า เรายังหลงอยู่กับการเป็นที่หนึ่งตามความคาดหวังบางอย่างของสังคม โดยไม่ได้มองถึงความเป็นจริงและศักยภาพของตนเองกันอยู่หรือเปล่า
000
การเป็นอันดับหนึ่ง สอง สาม...หรืออันดันดับสุดท้าย เป็นเรื่องของตำแหน่งแห่งที่ ซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์ในเชิงเปรียบเทียบ และถูกนำมาจัดเรียงลำดับทางสังคม ไม่ว่าในส่วนการจัดอันดับทางการศึกษา การงาน หรือผลประโยชน์
แต่การจัดอันดับนี้ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการบางอย่างในสังคมได้ทั้งหมด เมื่อสังคมมีความสัมพันธ์ที่หลากหลาย และสำหรับบางคน จุดหมายอาจไม่ได้อยู่ที่การเป็นที่หนึ่งของการจัดอันดับทางสังคมเสมอไป เพราะในบางครั้งการเป็นที่หนึ่งก็ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของคนแต่ละคนได้
และหากการเป็นที่หนึ่งคือสิ่งที่น่าชื่นชนยินดี การเป็นอยู่ในลำดับต่างๆ ก็เป็นตำแหน่งที่น่าต้องให้ความสนใจ
ในเมื่อที่ 1 ไม่ได้หมายความว่า ‘ดีที่สุด’ หรือ ‘เก่งที่สุด’ … ที่สุดท้ายก็ไม่ควรจะหมายความถึง ‘แย่ที่สุด’ หรือ ‘เลวที่สุด’ เช่นกัน