จิรนันท์ หาญธำรงวิทย์
ตลอดสัปดาห์นี้ ดูเหมือนเรื่องร้อนๆ คงหนีไม่พ้นเรื่องจะ ‘แก้-ไม่แก้' รัฐธรรมนูญ
บางคนบอกว่า ไม่ควรแก้กันตอนนี้ เพราะรัฐบาลยังไม่ได้แก้ปัญหาเศรษฐกิจให้เรียบร้อย ผู้เขียนกลับเห็นว่า ควรจะแก้เสียตอนนี้เลย
เพราะแม้ว่า รัฐธรรมนูญไทยจะถูกฉีกเป็นว่าเล่น ต้องร่างใหม่กันบ่อยๆ จนตอนนี้ปาเข้าไปฉบับที่ 18 คำนวณอายุโดยเฉลี่ยของรัฐธรรมนูญก็ตกอยู่ราวๆ ฉบับละ 4 ปีนิดๆ พอๆ กับอายุบัตรนักศึกษามหาวิทยาลัย สั้นกว่ากฎหมายและระเบียบว่าด้วยการแต่งกายของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[1] หรือแม้กระทั่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์ฉบับเก่า ซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2473 (ที่ตอนนี้ ได้ฉบับใหม่มาประกาศใช้แทนเรียบร้อย ร.ร. สนช. ไปแล้ว)
แต่ก็นับว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญ มีความสำคัญกับการดำรงชีวิตของประชาชน เพราะได้กำหนดถึงวิธีการได้มาซึ่งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ที่จะมาทำหน้าที่บริหารประเทศ ออกกฎหมาย และควบคุมไม่ให้การกระทำของฝ่ายบริหารขัดต่อกฎหมาย หรือไม่ให้กฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ แทนเรา (ซึ่งจะขอพูดถึงในลำดับต่อไป)
ยิ่งมาตรา 237 ที่ว่าด้วยเรื่องของการยุบพรรคการเมือง ยิ่งสำคัญกับเราทุกคน ตามที่ 5 อาจารย์แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความเห็นเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า ไม่เห็นด้วยกับการตีความรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 เพื่อยุบพรรคการเมือง เพราะเท่ากับความผิดของบุคคลคนเดียวนำไปสู่การยุบพรรคการเมือง ที่ประกอบไปด้วยสมาชิกจำนวนมากซึ่งไม่ได้ทำผิด อีกทั้งการเอาผิดกับบุคคลซึ่งไม่ได้กระทำ ยังขัดต่อหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลอย่างร้ายแรงด้วย
หากรัฐธรรมนูญไม่สามารถตีความครอบคลุมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลได้ เรื่องอื่นๆ ที่คงจะหวังได้ยาก... อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนจะขอหยุดการแสดงความเห็นเรื่องมาตรา 237 ไว้ตรงบรรทัดนี้ เพราะได้มีผู้แสดงความเห็นไปแล้วหลาย คน (และผู้เขียนเห็นด้วย)
เมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา สุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ทันทีที่ญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร กลุ่มพันธมิตรฯ ก็จะมีความชอบธรรมและจะชัดเจนว่าจะเคลื่อนไหวโดยการชุมนุมหรือไม่ เพราะมีจุดยืนคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่ามาตราใดๆ เนื่องจากไม่ใช่เรื่องสำคัญ โดยเห็นว่า รัฐบาลควรจะแก้ไขปัญหาอื่นของประเทศชาติก่อนที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ผู้เขียนเห็นต่างว่า การแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วน เพราะการออกแบบการได้มาซึ่ง ส.ส. ส.ว. รวมถึง ศาล และองค์กรอิสระนั้น ออกจะบิดเบี้ยวไม่น้อย
เริ่มตั้งแต่ ส.ว. การสรรหา ส.ว. เกือบครึ่งหนึ่ง (74 คน) มาจากคณะกรรมการ 7 คน ได้แก่ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ตัวแทนที่ประชุมศาลฎีกา และตัวแทนที่ประชุมศาลปกครองสูงสุด
(โดยที่ ส.ว. ทั้งสรรหา และเลือกตั้ง นั้น สามารถถอดถอน ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนได้ และมีอำนาจแต่งตั้ง-ถอดถอนองค์กรอิสระ หรือก็คือบุคคลที่เลือกตนเองมาได้ด้วย)
ขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น จะได้มาจากการสรรหาโดยประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) มาจากการสรรหาโดยประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) มาจากการสรรหาโดยประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ตัวแทนที่ประชุมศาลฏีกา ตัวแทนที่ประชุมศาลปกครอง ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมการการเลือกตั้ง มาจากการสรรหาโดยประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ตัวแทนที่ประชุมศาลฏีกา ตัวแทนที่ประชุมศาลปกครอง ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ผู้ตรวจการแผ่นดิน สรรหาโดยโดยประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ตัวแทนที่ประชุมศาลฏีกา และตัวแทนที่ประชุมศาลปกครอง ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร[2]
นอกจากนี้ ขณะที่รัฐธรรมนูญห้ามกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญลงสมัคร ส.ส. ส.ว. แต่กลับไม่ห้ามดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ[3] ทั้งยังไม่มีการห้าม ส.ส.ร. และ สนช. ดำรงตำแหน่ง ส.ส. และ ส.ว.[4] ทั้งที่ ส.ส.ร. มีส่วนได้ส่วนเสียกับรัฐธรรมนูญ ที่ออกแบบการได้มาซึ่ง ส.ส. ส.ว. และ สนช.ก็เป็นผู้ผ่าน พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว.
หลักการไขว้กันขนาดนี้ ไม่แก้คงไม่ได้?
[1] ดู ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ : ฐานะและบทบาททางประวัติศาสตร์ของรธน.ในระบบประชาธิปไตยไทย
[2] ดู ตารางเปรียบเทียบจำนวน ที่มา ของศาล และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี2540และ2550
[3] จรัญ ภักดีธนากุล และสุพจน์ ไข่มุกด์ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ได้รับการสรรหาเป็นว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
[4] คำนูณ สิทธิสมาน และสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้รับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา