ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข
บางคนบอกว่าโลกใบนี้คือโรงละคร และก็มีบางคนที่เห็นว่ามันคือ ‘คุก’ และคุณว่ามันคืออะไร
0 0 0
"หากพระเจ้ากำหนดให้อ่านหนังสือได้เพียงเล่มเดียว จงอ่านเล่มนี้เถิด"
นี่คือคำสรรเสริญที่มีต่อวรรณกรรมคลาสสิก ‘ดอน กีโฮเต้’ ของ มิเกล เด เซรบันเตส นวนิยายเรื่องแรกของโลก ที่ได้รับการคัดเลือกจากนักเขียนรางวัลโนเบล 100 คน ว่าเป็นนวนิยายที่ดีที่สุดในโลก และองค์การยูเนสโกระบุว่า ถูกแปลแพร่หลายไปในประเทศต่างๆ มากที่สุด มีจำนวนผู้อ่านมากที่สุดในโลก เป็นรองก็แต่พระคัมภีร์ไบเบิ้ลเท่านั้น
400 กว่าปีของวรรณกรรมคลาสสิกเล่มนี้พอจะบ่งชี้ว่ามันเป็นอมตะ ทว่าสำหรับคนร่วมสมัย ความเป็นอมตะของวรรณกรรมเล่มนี้ ยังอาจเป็นเพราะมันยังคงยั่วยวนให้ตีความ ท้าทาย ชวนฝัน และกล้าที่จะฝัน
เรื่องของคนแก่ที่ถูกหาว่า ‘บ้า’ เรื่องของผู้เฒ่าที่ใฝ่ฝันว่าเป็นอัศวิน ลุกขึ้นมาสู้กับกังหันลมที่ตัวเองหยั่งรู้ว่าเป็น ‘ยักษ์’ ในยุคที่ไม่มีใครคิดหรือกล้าจะต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม โดยมี ซานโช่ คนรับใช้ผู้ซื่อสัตย์ขี่ล่อคอยติดตาม
ในสมัยแห่งเอนิเมชั่น เรื่องนี้ถูกนำมาตีความใหม่หรือไม่? ไม่ทราบได้ แต่น่าสนใจที่ภาพยนตร์เอนิเมชั่นเรื่อง ‘ชเล็ค’ พระเอกไม่ได้ถูกหาว่า ‘บ้า’ แต่ร้ายกว่านั้น เพราะพระเอกกลายเป็น ‘ยักษ์’ ที่คน ‘กลัว’ นักหนา ทว่ากลับใจดีต่อสู้กับมารร้าย มีลาคอยติดตาม มีฉากกังหันลมคอยให้เปรียบเทียบ ในสมัยอาณาจักรของเจ้าผู้ครองนครผู้กดขี่บีทา
พระเอกจากคนบ้ากลายเป็นยักษ์ใจดี
อย่างไรเสีย การตีความที่ดีที่สุดของวรรณกรรมเรื่อง ‘ดอน กีโฮเต้’ ซึ่งฉุดรั้งความเป็นมนุษย์ออกมาจากมุมโลกที่โหดร้ายที่สุด ยังคงเป็นฉบับละครเพลงเรื่อง ‘Man of La Mancha’ โดย เดล วาสเซอร์มัน (Dale Wasserma) ที่นำวรรณกรรมเรื่องนี้มานำเสนอในรูปบทละครซ้อนละครแห่งบรอดเวย์อันลือลั่น และสร้างเพลง ‘The Impossible Dream’ อันโด่งดัง เพลงเดียวกับที่ อาซีโม หุ่นยนต์ที่คนรักทั่วโลกโชว์ความสามารถในการเป็นวาทยากรควบคุมวงออร์เคสตราให้บรรเลง
ฉากในบทละครเกิดขึ้นในยุคศาสนจักรเรืองอำนาจ ผู้กำหนดนิยามความดีความงาม ผูกขาดการติดต่อกับพระเจ้า และปกครองด้วยความกลัว และลงทัณฑ์ผู้เห็นต่าง
มิเกล เด เซรบันเตสนักละคร คือผู้เห็นต่างผู้นั้น และถูกพระเจ้ากำหนดโทษให้ต้องไปอยู่ในคุกซึ่งแออัดไปด้วยนักโทษผู้สิ้นหวัง
มิเกล เด เซรบันเตส เปลี่ยนคุกให้เป็นโรงละคร ด้วยเรื่องราวของอัศวินเฒ่า ดอน กีโฮเต้ และที่นั่นกลายเป็นโลกแห่งความหวังและความฝันใฝ่
นักโทษคนหนึ่งวิจารณ์ละครเรื่องนี้กระแทกใส่หน้ามิเกล เดอ เซบาลเตส ว่า นี่มันเรื่องบ้าๆ ของคนบ้า
เซรบันเตส ตอบและพูดถึงความบ้าว่า
“...ผมอยู่มาเกือบห้าสิบปี ได้เห็นชีวิตอย่างที่มันเป็น เห็นความเจ็บปวดทุกข์ยาก หิวโหย เป็นความโหดร้ายเกินกว่าจะทำใจให้เชื่อ … ในเมื่อชีวิตนั้นเองคือความบ้า ใครจะบอกได้ว่าความวิกลจริตมันอยู่ตรงไหน บางทีการพยายามปรับตัวให้เข้ากับโลกที่เป็นอยู่นั่นแหละคือความบ้า การยอมล้มเลิกความใฝ่ฝันสิอาจเป็นความบ้า การไขว่คว้าหาดวงแก้วในที่ซึ่งมีแต่สิ่งปฏิกูล การพยายามเหนี่ยวรั้งสติสัมปชัญญะไว้ในโลกของเหตุผลนั่นแหละคือความวิกลจริต และที่สุดของความบ้าทั้งปวง คือการมองชีวิตอย่างที่มันเป็น แทนการมองชีวิตอย่างที่มันควรจะเป็น”
ในประเทศไทย เมื่อมันถูกนำมาแสดงบนโรงละครแห่งชาติ โดยคณะละครสองแปดเมื่อ 20 ปีที่แล้ว คนหนุ่มคนสาวไทยในทศวรรษ 2530 หลายๆ คน มองบทละครและวรรณกรรมเรื่องนี้ กลายเป็นคัมภีร์ความใฝ่ฝันเล่มใหญ่
เพราะละครเรื่องนั้น ไม่เพียงแต่ทำให้คนจำนวนหนึ่งได้รู้จักวรรณกรรมเลื่องชื่อ รู้จักบทละครอันโด่งดัง และรู้จักตัวละครอมตะที่โลดแล่น แต่ยังมีส่วนเปิดประตูบานใหญ่ ให้ใครหลายคนได้ลิ้มลองก้าวเท้าออกจากโลกใบเก่าสู่โลกใบใหม่
โลกที่มี ‘ความจริง’ เป็นดั่งยักษ์ มีเราๆ ท่านๆ เป็นอัศวินผู้ฟาดฟัน มีการตั้งคำถามเป็นหอกดาบ มีความมุ่งมั่นศรัทธาเป็นเกราะสวมใส่ บนการเดินทางอันยาวไกลแห่งการค้นหาสัจจะและความหมายแห่งชีวิต
โจทย์มีอยู่ว่า 20 ปีผ่านไป ‘ยักษ์’ ตนนั้นคืออะไร และเรากำลังศรัทธาอะไร
โจทย์มีอยู่ว่า ในสมัยที่โลกบอกตัวเองว่า เป็นยุคสิ้นสุดประวัติศาสตร์ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ อีกแล้ว และเดินหน้าเข้าสู่ระบบการผลิตทุนนิยมเสรีอันไร้ขอบเขตเต็มตัว ยักษ์ตนนั้นได้ปลาสนาการหายไปด้วยหรือไม่
หรืออัศวินเฒ่าผู้ศรัทธามุ่งมั่นในความใฝ่ฝันถึง ‘โลกใหม่ที่เป็นไปได้’ ต่างหากที่หายไป
“ที่สุดของความบ้าทั้งปวง คือการมองชีวิตอย่างที่มันเป็น แทนการมองชีวิตอย่างที่มันควรจะเป็น” จึงเป็นดั่งคำประกาศอันสำคัญ ที่เซรบานเตสประกาศต่อเพื่อนนักโทษ ถึงเหตุผลที่ว่า ทำไมเขาจึงนำเรื่องราวของอัศวินเฒ่าผู้บ้าๆ บวมๆ แต่ใฝ่ฝันจะเป็นอัศวินผู้ปราบอธรรมความชั่วร้ายที่คนอื่นๆ ล้วนแล้วแต่ยอมจำนน มาเล่าให้ฟังในวันที่เราต่างก็อับจนอยู่ในคุกด้วยกันทั้งสิ้น
อายุของเรื่อง ‘ดอน กีโฮเต้’ ที่ประพันธ์โดยเซรบานเตสนั้นราว 400 ปี แต่ละครเพลง ‘แมน ออฟ ลามันช่า’ ที่ ‘วาสเซอร์มัน’ ประพันธ์ขึ้นเพื่อบอกเรื่องราวของเซบานเตสและ ‘ดอน กีโฮเต้’ นั้น ยังไม่ถึง 50 ปี
400 ปีที่แล้ว คือปลายยุคที่เขาเรียกกันว่า ฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ดอนกีโฮเต้ เกิดขึ้นในยามที่ผู้ประพันธ์ต้องต่อสู้กับศาสนาจักรผู้ครอบงำชีวิต
50 ปีที่แล้ว วาสเซอร์มัน นำเอาดอน กีโฮเต้ พร้อมกับเซรบานเตส มาโลดแล่นอีกครั้งในรูปของละครเพลงในช่วงที่โลกกำลังย่อยยับหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และสังคมนิยมกำลังบานเบ่งไปทั่วโลก
20 ปีที่แล้ว ‘คณะละครสองแปด’ เลือกเรื่องนี้มาแปลบทและแสดง ในยามที่ฝ่ายซ้ายในประเทศไทยออกจากป่าจนหมดสิ้น สองปีต่อมา กำแพงเบอร์ลินก็ทลายลง และต่อจากนั้นไม่นานสหภาพโซเวียตก็ล่มสลาย ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้นที่จัตุรัสเทียนอันเหมินก็นองไปด้วยเลือด หลังรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนตัดสินใจใช้กำลังเข้าบดขยี้ผู้ชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในจีน
หลังละครจบลง ใครต่างใครก็ตีความต่างกัน บางคนลิ้มลองที่จะฝัน บางคนซึมซับเอาความกล้าหาญ หลายคนตัดสินใจทิ้งชีวิตเมือง หันกลับสู่หมู่บ้านดงดอย ค่อยๆ สร้างโลกใหม่ เป็นโลกใหม่ที่เป็นไปได้
หลังละครจบลง 20 ปี ใครต่างใครยังคงตีความต่างกัน และใครๆ ก็เป็นดอน กีโฮเต้ ปราบอธรรมได้ทั้งนั้น
ไม่ใช่เพราะเขารักความเป็นธรรม แต่เพราะเขาชี้นิ้วบอกได้ว่า อะไรที่เขาจะปราบ สิ่งนั้นย่อมไม่เป็นธรรมเสมอ
ใครต่างใครยังคงตีความต่างกัน กระทั่งปีที่ผ่านมา เพลง ‘ดิ อิมพอสสิเบิ้ล ดรีม’ ยังก้องกังวาลบนถนนราชดำเนินในนามของการปราบอธรรม ทว่าได้กดคนจำนวนมหาศาลมิให้กล้าใฝ่ฝัน กระทั่งความใฝ่ฝันกลายเป็นความทะเยอทะยาน โลภ และไม่รู้จักพอเพียง
หรือ 20 ปีที่ผ่านมา เราสูญเสียความสามารถในการแยกแยะว่า อะไรคือ ‘สิ่งที่เป็น’ และอะไรคือ ‘สิ่งที่ควรจะเป็น’ ไปเสียแล้ว
0 0 0
ในการกลับมาอีกครั้งของบทละครเพลง ‘สู่ผันอันยิ่งใหญ่’ โดยคณะละครสองแปด บางคนอาจจะทำให้เราได้ดึงส่วนลึกของความเป็นมนุษย์ออกมาถามว่า โลกใบนี้คือโรงละคร หรือว่ามันคือ ‘คุก’ และเราคือใคร
................................................................
หมายเหตุ : บางส่วนของงานเขียนชิ้นนี้ดัดแปลงจากงานเขียนเดิม Don Quixote สู่ ‘มายาภาพ’ อันยิ่งใหญ่
ในคอลัมน์ ‘โรมานซ์ไม่ได้สร้างในวันเดียว’ นิตยสาร ‘way’
พื้นที่โฆษณา (ฟรี) |