ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ
เมื่อเวลา 13.00-14.30 น.วันที่ 28 ตุลาคม 2558 ที่ห้องศรีตานี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง) ร่วมกับ เครือข่ายนักศึกษาอิสระเพื่อสังคม (TUPAT) กลุ่มเยาวชนความฝันชายแดนใต้ (DreamSouth) และสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) จัดเสวนา "การอ่าน การศึกษาที่ชายแดนใต้ ส่งเสริมวิถีชีวิตคนชายแดนใต้อย่างไร" โดยมีนักศึกษา เยาวชน และผู้สนใจเข้าร่วมประมาณ 70 คน
เวทีเริ่มด้วยการชี้แจงที่มาและวัตถุประสงค์ของการจัดเสวนาตามโครงการ “อ่านยกกำลังสุข อ่านสันติภาพที่ชายแดนใต้ ปี 2558” ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ” โดยผู้รับผิดชอบโครงการ คือ ตูแวปาตีเมาะ นิโวะ บัณฑิตอาสาพัฒนามาตุภูมิบ้านบราโอ ตำบลประจัน อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ภายใต้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
“เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของนักศึกษาและเยาวชนในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความสำคัญของการอ่านที่ส่งเสริมชีวิตคนชายแดนใต้อ่านสันติภาพที่ชายแดนใต้อ่านอย่างไรเพื่อไปสู่สันติภาพการมีส่วนร่วมในการสรรสร้างการอ่านของนักศึกษาและเยาวชนเพื่อเป็นการเปิดพื้นที่สาธารณะในการร่วมพูดคุยประเด็นทางสังคมปัจจุบัน” ตูแวปาตีเมาะ ชี้แจง
ฟาเดล หะยียามา นักอ่านและเจ้าหน้าที่สถาบันคีนันเอเชีย ในฐานะผู้ดำเนินรายการได้แนะนำวิทยากรนำเสวนา ซึ่งประกอบด้วย ดันย้าล อับดุลเลาะ เลขาธิการกลุ่มเยาวชนความฝันชายแดนใต้ (DreamSouth) อารีฟิน โสะ ประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเยาวชนนักเรียนปาตานี (PerMAS) โกศล เตบจิตร ตัวแทนสหพันธ์นักเรียนนักศึกษาเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (สสชต.) และนายปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ นักอ่าน, นักเขียน, ผู้สื่อข่าวอิสระ
(ซ้ายไปขวา) อารีฟิน โสะ ประธาน PerMAS ดันย้าล อับดุลเลาะ เลขาธิการ DreamSouth ฟาเดล หะยียามา เจ้าหน้าที่สถาบันคีนันเอเชีย
'วิญญาณขบถ-แฮรีพอตเตอร์-The hunger game' การเมือง คำถามต่อความเชื่อ
นายฟาเดล เริ่มด้วยการตั้งถามคำถามถึงประวัติการอ่านหนังสือของแต่ละคนผ่านประสบการณ์ในการอ่านหนังสืออะไรมาบ้างหลอมให้เป็นตัวตนในปัจจุบัน
ดันย้าล ได้เท้าความประสบการณ์การอ่านของตัวเองว่าเขามีทักษะการอ่านมาตั้งแต่สมัยเรียนประถมศึกษาทักษะการอ่านของเขาล้ำหน้าเพื่อนๆ ในชั้นเรียนมากเพราะชอบอ่านทุกอย่างที่ขวางหน้าเวลาจะซื้อขนมหรือสินค้าใดจะอ่านรายละเอียดบทลากอย่างละเอียดทุกครั้ง
“อ่านอะไรจนเป็นผมทุกวันนี้เริ่มแรกเลยคือเส้นทางสู่หลักชัยเชื่อว่านักเคลื่อนไหวและนักกิจกรรมทางสังคมมุสลิมมักจะผ่านหนังสือเล่มนี้มาตอนนั้นที่เริ่มอ่านก็ไม่มีอะไรมากไม่คิดอะไรด้วยซ้ำ แต่ชอบสำนวนในการใช้ในหนังสือเล่มนั้น
"ต่อมาเริ่มอ่านนิยายมีนิยายหลายเล่มที่อ่านงานเขียนของคาริลยิบรานเป็นงานเขียนที่สนใจมากเนื่องจากงานเขียนของคาริลยิบรานออกแนวการวิพากษ์ความเชื่อศาสนาตั้งคำถามกับจารีตสังคมที่ถูกผูกโยงกับความเชื่ออีกทั้งยังตั้งข้อสังเกตระหว่างคำสอนและคำสั่งของคนชั้นนำทางศาสนาเล่มที่อ่านบ่อยๆคือวิญญาณขบถ" ดันย้าล กล่าว
สำหรับวรรณกรรมเยาวชนที่ ดันย้าล อ่านจนแทบจะจำได้ว่าบทสนทนาในแต่ละตอนมีอะไรบ้างคือ แฮรรี่พอตตเตอร์ทั้ง 7 เล่ม ของ เจเค โรลลิ่ง และอ่านมาแล้วเล่มละไม่ต่ำกว่า 5 รอบ
"นิยายวรรณกรรมเยาวชนที่ผมมองว่าไม่แค่เรื่องของจินตนาการเมืองเวทมนต์เสียแล้วแต่นี่คือนิยายการเมืองวรรณกรรมที่ซ่อนเร้นเรื่องการแย่งชิงอำนาจผ่านการต่อสู้ที่เอาเด็กเป็นตัวประกันเพื่ออนาคตของสังคม" ดันย้าล ถ่ายทอดเนื้อหาที่แฝงอยู่ในแฮรรี่พอตเตอร์
นอกจากนี้ ดันย้าล ยังกล่าวว่า ชอบอ่านเกมล่าชีวิต The hunger game ของ ซูซาน คอนลินซ์ ที่สะท้อนมุมเรื่องเยาวชนที่เติบโตมาในภาวะสงครามแวดล้อมแบบนั้นจะส่งผลอย่างไรต่อเด็กเยาวชนซึ่งถ่ายทอดผ่านวรรณกรรมที่ผมอ่านเล่มเดียวจบภายในหนึ่งวัน
"แฮรีพอตเตอร์และเกมล่าชีวิตทำให้ผมเข้าใจว่าเยาวชนคืออนาคตของสังคมและทำไมเยาวชนถึงสำคัญมากขนาดที่ตองมีการช่วงชิงมวลชลเยาวชนใว้ในฝั่งพรรคของตนเอง ขณะที่งานเขียนของคาริลยิบราลทำให้ผมเข้าใจว่าทำไมต้องตั้งคำถามกับวิถีจารีตของสังคมที่ผูกโยงกับความเชื่อคาริล ยิบราน มิได้แตะต้องหลักศรัทธาแต่อย่างใดแต่งานในเรื่องวิญญาณขบถ ซึ่งวิพากษ์ถึงอำนาจพิเศษที่อยู่นอกหลักคำสอนคัมภีร์ที่ทั้งหมดหรือในมิติที่ถูกสถาปนาคำสอนทางจารีตโดยชนนั้นนำของศาสนานั่นเอง" ดันย้าล กล่าว
นวนิยายสืบสวนสอบสวน‘โคนัน-เชอร์ล็อกโฮม’ สร้างตรรกะการคิดเชิงเหตุและผล รู้บริบทโลก
ด้าน อารีฟิน ได้ย้อนประสบการณ์การอ่านหนังสือของตัวเองว่า เกิดจากบรรยากาศของครอบครัวที่สร้างบรรยากาศรักการอ่าน โดยทุกๆ หัวค่ำหลังจากรับประทานอาหารค่ำเสร็จแล้วสมาชิกในครอบครัวก็จะหยิบจับหนังสือที่ตนสนใจมาอ่าน โดยเริ่มจากพ่อและแม่ที่จะอ่านหนังสือพิมพ์ประจำวันและได้ชวนตัวเขาและน้องๆ มาเปิดอ่านเรื่องราวในหนังสือพิมพ์ด้วย ซึ่งบรรยากาศเช่นนี้ได้ดำเนินไปทุกวัน จึงทำให้สมาชิกในครอบครัวเติบโตกับบรรยากาศรักการอ่านและเป็นพื้นฐานสำคัญที่สร้างทักษะการอ่านให้กับเขา
“หนังสือเล่มแรกที่ผมได้อ่านและได้เป็นเจ้าของคือเจ้าหนังสือการ์ตูน หลังจากที่ผมและพ่อได้เข้าไปในร้านหนังสือ หนังสือเล่มนั้นก็คือหนังสือการ์ตูนนักสืบจิ๋วโคนัน ที่เป็นเรื่องราวการสืบสวนสอบสวนที่ดึงดูดใจผมมาก ที่ทำให้ผมได้รู้จักทักษะการใช้เหตุและผล ผ่านเรื่องราวในการ์ตูน
“เมื่อเติบโตขึ้นในวัยของมัธยมต้นผมก็พยายามหาเรื่องราวอื่นๆที่มีเนื้อหาคล้ายกับหนังสือการ์ตูนโคนัน ผมจึงได้ทบทวนเรื่องราวในการ์ตูนโคนันได้กล่าวถึงนักสืบชื่อดังที่มีนามว่าเชอร์ล็อกโฮม ของอังกฤษในยุคศตวรรษที่ 19 จึงเป็นแรงผลักดันให้ต้องดิ้นร้นหาเรื่องราวของโฮมมาให้ได้ ว่าเหตุใดโคนันจึงประทับใจกับนักสืบคนนี้มาก และผมก็ได้พบกับเรื่องราวที่ประทับในยุคคลาสสิคของนวนิยายสืบสวนสอบสวน ที่ใช้ตรรกะได้อย่างเกินที่จะคาดเดาได้บวกประสานกับกลิ่นอายของยุคคลาสสิคอันลงตัว และอีกตัวอย่างหนึ่งของนักสืบที่เรื่องราวของการ์ตูนโคนันที่กล่าวถึงคือนักสืบชื่อก้องของญี่ปุ่นในยุคสมัยฟื้นฟูหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีนามว่าคินดะอิจิ หนังสือได้บอกเล่าถึงภารกิจการคลีคล้ายคดีของคินดะอิจิผสมผสานการบอกเล่าถึงสภาพสังคมของประเทศญี่ปุ่นที่เป็นผู้แพ้สงคราม ทั้งสองนักสืบชื่อดังทั้งเชอร์ล็อคโฮมและคินดะอิจิ ได้เชื่อมร้อยความสำคัญของทักษะการคิดการอ่านโดยใช่ตรรกะการคิดเชิงเหตุและผล ให้เห็นถึงความสำคัญที่ขาดไม่ได้
“การเดินเรื่องของเชอร์ล็อคโฮมและคินคินดะอิจิ อยู่ในช่วงเวลาของบริบทสำคัญของโลก กล่าวคือ เชอร์ล็อคโฮม อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านของยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม และในส่วนของคินดะอิจิอยู่ในช่วงของโลกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง บริบทเรื่องราวของโลกทั้งสองนี้ยิ่งทำให้ผมในวัยนั้นรู้สึกต้องพยายามค้นหาเรื่องราวถึงที่มาที่ไปของบริบทโลกทั้งสอง ผ่านหนังสือประวัติศาสตร์โลกที่ฉายภาพร่วมการเคลื่อนไหวของโลกในช่วงยุคสมัยต่างๆ
“ต่อมาอยู่ในช่วงเวลาที่พยายามทำความเข้าใจปรัชญาในสำนักคิดต่างๆที่ดำรงอยู่ในโลกทั้งเสรีนิยม สังคมนิยม ทุนนิยม วัตถุนิยม คอมมิวนิสต์แซคคิวลา อณาคิสโพสโมเดิร์น และอิสลามิส ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้เราเห็นภาพถึงกระแสความคิดของโลกอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น” อารีฟิน กล่าวประสบการณ์การอ่านของตัวเอง
(ซ้ายไปขวา) ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ นักอ่าน, นักเขียน, ผู้สื่อข่าวอิสระ โกศล เตบจิตร ตัวแทนสหพันธ์นักเรียนนักศึกษาเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (สสชต .) อารีฟิน โสะ ประธาน PerMAS
‘ขายหัวเราะ-เหตุใดเราจึงยังมีชีวิตอยู่-The Prince เจ้าผู้ปกครอง’ พาตั้งคำถามและแสวงหา
โกศล ได้ถ่ายทอดประสบการณ์การอ่านของตัวเองว่า ตอนเด็กๆ ตนก็เหมือนเด็กทั่วไปอ่านหนังสือที่ให้ความสนุก เช่น ขายหัวเราะ หนังสือที่คนหลายๆต้องผ่านมันมา และเริ่มอ่านหนังสือแบบจริงจังก็คงเป็นสมัย ม.ปลาย หนังสือเล่มนั้นที่อ่านคือ "เหตุใดเราจึงยังมีชีวิตอยู่" งานเขียนของนามปากกาชื่อดัง "นิ้วกลม" หนังสือเล่มนี้สะท้อนการดิ้นรนของชีวิต ให้คนเราก้าวผ่านจุดร้ายๆ และค้นหาความเป็นเรา แสวงโดยการมองการสังเกตสรรพสิ่งรอบๆ ข้าง จนพบเจอกับความหมาย ว่าเหตุใดเราจึงยังมีชีวิต เป็นหนังสือสร้างพลังใจ
“หนังสือเล่มต่อมาที่อ่านคือตอนเรียน ป.ตรี ปี 1 หนังสือ The Prince เจ้าผู้ปกครอง แปลโดย สมบัติ จันทรวงศ์ เป็นหนังสือที่อ่านยังไงก้อไม่เข้าใจ แต่มีประเด็นหลักประเด็นหนึ่งที่จับได้คือ แม็คเคลเวอรี่ ได้กล่าวว่า ผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องเป็นคนดี ขอแค่สร้างผลประโยชน์แก่รัฐ ก็เพียงพอ ประโยคๆ นี้ทำให้เกิดกระบวนการคิดต่อไปว่า บริบทของประเทศไทยเองก็คงไม่ต่างกัน ต่างกันที่ว่าใครสร้างประโยชน์ในรัฐมากน้อยกว่ากันแค่นั้น
“และอีกหนึ่งบทความที่มีโอกาสได้ศึกษาที่บทความของนักปรัชญากรีกโบราณ คือ โสเกรตีส กับ ยูไทโฟร สิ่งที่ได้จากการอ่านบทความคือ ทำให้ทราบถึงวิธีการแสวงหาความรู้ของโสเกรตีสว่าเป็นอย่างไร โสเกรตีส แสวงหาความรู้ด้วยการถามยูไทโฟรไปเรื่อยๆ ถามแล้วถามอีก ถามจนยูไทโฟรหนีไป การกระทำเช่นนี้สอดคล้องกับคำกล่าวของอัลเบิร์ตไอสไตน์ ที่ว่า "จงอย่าหยุดตั้งคำถาม" และนั้นเองทำให้ตัวผม ไม่เคยหยุดตั้งคำถามกับทุกสรรพสิ่งที่พานพบ” โกศล กล่าวถึงประสบการณ์การอ่านของตัวเอง
'เพลงเพื่อชีวิต-นักฝันข้างถนน-แผ่นดินอื่น' อิทธิพลความคิดเพื่อสังคม
ปรัชญเกียรติ ได้ย้อนประสบการณ์การอ่านของตัวเองว่า ตนเป็นแค่เด็กในระบบที่อ่านหนังสือเรียนรู้ตามหลักสูตรประถมศึกษา หนังสือเล่มแรกคือวิชาภาษาไทยที่มีตัวละคร อาทิ มานี มานะ ปิติ ชูใจ วีระ เจ้าโต ฯลฯ รวมถึงศึกษาตามหลักสูตศาสนาอิสลามเบื้องต้น (ตาดีกา-ฟัรดูอีน) ไปพร้อมกัน โดยชอบอ่านประวัติศาสดา 25 ศาสดาในอิสลาม ขณะเดียวกันตนเติบโตในความเป็นชนบทหลังเขาของอำเภอละงู จังหวัดสตูลที่วัยรุ่นค่อนข้างนิยมฟังเพลงเพื่อชีวิต อาทิ คาราวาน คาราบาว แฮมเมอร์คำภีร์ สันติภาพ ฯลฯ จึงค่อนข้างได้รับอิทธิพลและอุดมการณ์ทางความคิดผ่านเพลงมาตั้งแต่เด็กๆ
"หนังสือเล่มแรกสำหรับผม คือ สตาร์ซอคเกอร์ สืบเนื่องจากนัดชิงชนะเลิศเอฟเอคัพ อังกฤษ ประมาณปี 2534-2535 ในความทรงจำที่ตื่นเต้น เร้าใจมาก ระหว่าง แอสตัน วิลล่า กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทำให้ต้องตามอ่าน สตาร์ซ็อกเกอร์ติดตามข่าวสารฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด" ปรัชญเกียรติ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นแรกที่สนใจอ่านหนังสือ
ปรัชญเกียรติ กล่าวต่อว่า ปี 2537 หลังจบชั้นประถมศึกษาแล้วไปเรียนต่อมัธยมศึกษาตอนต้นยังโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม (ปอเนาะแสงธรรม) อำเภอเมือง จังหวัดสตูล โดยพักที่นั่น 5 วัน และกลับบ้านเฉพาะเสาร์-อาทิตย์เท่านั้น ก่อนเดินทางกลับปอเนาะ ตนซื้อสตาร์ซ็อกเกอร์ ศาลาคนเศร้า นิยายเล่มละ 1 บาท ติดไม้ติดมือไปทุกครั้งเพื่ออ่านที่ปอเนาะ หลังจบ ม.ต้นปี 2540 ตนเรียนต่อมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนพิมานพิทยาสรรค์ ซึ่งเป็นโรงเรียนชื่อดังในตัวจังหวัดสตูล เริ่มหัดเขียนกวี เรื่องสั้น เล่นกีตาร์ และหัดเขียนเพลง จบม.ปลายด้วยเกรดเฉลี่ย 1.71 แต่ในสมุดวิชาเรียนต่างๆ กลับเต็มไปด้วยกวี บทกลอน และเนื้อเพลง
"อ่านศาลาคนเศร้า มีทั้งกลอนความรัก เหงา อกหักรักคุด แอบรัก อ่านจนได้รับอิทธิพลทางภาษาที่สวยงาม กระทั่ง 2543-2547 ตอนเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหงจึงอ่านหนังสือแนววรรณกรรม บทกวี เรื่องสั้น นวนิยาย ขณะที่ตำราเรียนรัฐศาสตร์ตามหลักสูตรที่ตัวเองเรียนก็หาได้เข้าใจอะไรลึกซึ้งไม่ เรียนเพื่อผ่าน อ่านเพื่อสอบ ไม่ได้วิเคราะห์ เข้าใจอะไรจริงๆ ความรู้เกี่ยวกับรัฐศาสตร์ผมมาศึกษามันอย่างจริงจังหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมเสื้อแดงเมื่อปี 2553" ปรัชญเกียรติ กล่าว
สำหรับหนังสือกวีที่สะกิดให้หาความหมายของชีวิต ปรัชญเกียรติ ระบุว่า คือ นักฝันข้างถนน ของวารี วายุ (วินัย อุกฤษ) ซึ่งเป็นกวียุคแสวงหาบริบท 14 ตุลาคม 2516-6 ตุลาคม 2519 แล้ว
“คนหนุ่ม เจ้าทำอะไรอยู่ เจ้าแสวงหาสิ่งใด
นั่งอยู่ลำพังในความสงัดแห่งธรรมชาติ ยืนอย่างโดดเดี่ยวบนผืนแผ่นดินราบกว้าง
เดินไปเดียวดายตามถนนของเมืองใหญ่ เจ้าขมวดคิ้วนิ่วหน้า เวียนวนครุ่นคิด
เจ้าอ่านบทกวีร้อยบท เจ้าขับร้องเพลงหลายทำนอง เจ้าพาความสงัดเดินผ่านความกึกก้องไปอย่างเฉยเมย
ใบไม้ผลัดใบร่วงหล่นไปตามฤดูกาล ดาวบางดวงตกจากฟากฟ้าแล้วดับหาย
คนหนุ่ม เจ้าทำอะไรอยู่ เจ้าแสวงหาสิ่งใด” ปรัชญเกียรติ อ่านกวีบทดังกล่าว
ปรัชญเกียรติ เล่าถึงความสะเทือนใจปัญหาเกี่ยวกับปาตานี หรือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า ได้อ่านผ่านเรื่องสั้น 'แมวแห่งบูเกะกรือซอ' ในหนังสือรวมเรื่องสั้น 'แผ่นดินอื่น' ของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ นักเขียนซีไรต์ปี 2539
“เธอจะสอนให้เด็กๆ รักสันติได้อย่างไร? ในเมื่อเพียงหันหน้าออกนอกห้องเรียน พวกเขาก็เห็นผู้ใหญ่ถือปืน อยู่เต็มสนาม” ปรัชญเกียรติ กล่าวถึงประโยคจากเรื่องสั้นดังกล่าวที่สร้างความรู้สึกสะเทือนอารมณ์ให้กับเขา
.
*หมายเหตุ*
เผยแพร่ครั้งแรกที่ สำนักข่าวประชาไท,12 พฤศจิกายน 2558,00.31,http://prachatai.org/journal/2015/11/62391