PATANI FORUM กับปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพสื่อทางเลือกชายแดนใต้

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ

 

สื่อทางเลือกชายแดนใต้ขาดการพัฒนาศักยภาพมา 6 ปีแล้ว ครั้งล่าสุดที่พบว่ามีการพัฒนาศักยภาพ คือ  ปลายปี 2553 ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) ร่วมกับอินเตอร์นิวส์ (องค์กรพัฒนาคุณภาพสื่อและผู้ผลิตสื่อ) ตั้งศูนย์ฝึกอบรมผู้ผลิตสื่อ (Media Training Centre: MTC) จัดอบรมผู้ผลิตสื่อในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ดอกผลจากการอบรมครั้งนั้น ‘โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (Deep South Journalism School)’  จึงถือกำเนิดขึ้นใต้ปีกของ ‘ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch)’ มีเป้าหมายเพื่ออบรมและพัฒนาศักยภาพเพื่อสร้างผู้สื่อข่าวรุ่นใหม่ให้กับจังหวัดชายแดนใต้ ด้วยการทำข่าวท่ามกลางการปฏิบัติ

ระหว่าง 2553-2554 ‘Deep South Watch’ พยายามดึงสื่อทางเลือกชายแดนใต้ประชุมกองบรรณาธิการ อบรม พัฒนาศักยภาพและร่วมทำข่าวกับ ‘โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้’ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะสื่อทางเลือกชายแดนใต้ค่อนข้างต้องการความเป็นอิสระสูง ขณะเดียวกัน ปี 2554-2556  เกิดงาน ‘วันสื่อทางเลือกชายแดนใต้’ ขึ้นโดยการนำของ‘Deep South Watch’ เกิด‘เครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมชายแดนใต้’ รวมตัวกันหลวมๆ ร่วมกันจัดงาน

ต่อมาปี 2557-2558 เปลี่ยนชื่อเป็น ‘วันสื่อสันติภาพชายแดนใต้’ โดยกำหนดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันที่ตัวแทนฝ่ายรัฐไทยพูดคุยกับตัวแทนขบวนการปลดปล่อยปาตานีกันครั้งแรกในปี 2556  ตามกระบวนการสันติภาพ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยการอำนวยความสะดวกของรัฐบาลแห่งสหพันธรัฐมาเลเซีย

มิถุนายน-พฤศจิกายน 2557 ‘PATANI FORUM’ จัดเวทีระดมความคิดเห็นในจังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช กรุงเทพมหานคร อุบลราชธานี เชียงใหม่ ยะลา นราธิวาส และปัตตานี ทำ ‘รายงานข้อเสนอนโยบายสาธารณะการสื่อสารเพื่อหนุนเสริมสันติภาพปาตานี/ชายแดนใต้’ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID)

     

‘รายงานข้อเสนอนโยบายสาธารณะการสื่อสารเพื่อหนุนเสริมสันติภาพปาตานี/ชายแดนใต้’ มีข้อเสนอต่อสื่อทางเลือกชายแดนใต้ คือ สร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายและเพิ่มพูนทักษะการทำงานของสื่อทางเลือก สื่อทางเลือกในท้องถิ่นควรสร้างความเข้มแข็งของการทำงานเครือข่าย รวมทั้งร่วมมือกับสื่อกระแสหลัก สื่อส่วนกลาง และสื่อทางเลือกในภูมิภาคอื่น ๆ

“ควรพัฒนาทักษะและความเฉียบคมในการทำงานทั้งในเชิงกระบวนการและเชิงประเด็น และควรตระหนักว่าสื่อมีบทบาทต่อการหนุนเสริมสันติภาพและการสื่อสารข้อเท็จจริงที่ซับซ้อน” ข้อเสนอต่อสื่อทางเลือกชายแดนใต้ รายงาน ระบุ

ปี 2558  ‘PATANI FORUM’ จึงต่อยอดจากข้อเสนอจากรายงานฯ ดังกล่าว ดำเนิน‘โครงการพัฒนาศักยภาพองค์กรสื่อภาคพลเมืองเพื่อการสื่อสารสันติภาพปาตานี/ชายแดนใต้’ จากโครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูชายแดนใต้ (ช.ช.ต.) ของสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (Local Development Institute-LDI) ซึ่งสนับสนุนโดยธนาคารโลก (World Bank)

‘PATANI FORUM’  มุ่งพัฒนาศักยภาพสื่อทางเลือกชายแดนใต้  พร้อมๆ กับคำนึงว่าสื่อทางเลือกชายแดนใต้ค่อนข้างต้องการความเป็นอิสระ และไม่อยากถูกนำ ‘PATANI FORUM’  จึงออกแบบตัวเองเป็นแค่ผู้อำนวยความสะดวก

วันที่ 31 ตุลาคม 2558 ณ ห้องประชุมสำนักงานสถานีวิทยุ MEDIA SELATAN บริเวณถนนยะรัง ตำบลจะบังติกอ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี สื่อทางเลือกชายแดนใต้ 15 คนจากโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้,สำนักสื่อ WARTANI,สถานีวิทยุ MEDIA SELATAN ,กลุ่ม InSouth,กลุ่ม AWAN BOOK ,กลุ่ม SAIBURI LOOKER รวมถึงองค์กรภาคประชาสังคมที่ผลิตสื่อ อย่าง ศูนย์วัฒนธรรมสลาตัน (BUMI)  และกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมชายแดนใต้  (BUKIT) โคจรมาเจอกันครั้งที่ 2

             

การปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (Information Operation:IO) คือ เรื่องหนึ่งที่ในวงประชุมให้ความสนใจ เพราะในโซเชียลมีเดีย มีเพจเฟสบุค บล็อก และเว็บไซต์ที่โจมตีนักศึกษา ภาคประชาสังคม และสื่อทางเลือกชายแดนใต้

วงประชุมวันนั้นวิเคราะห์กันว่า การ IO โจมตีนั้นอาจเป็นสื่อที่มาจากฝ่ายทหาร และประชาชนที่มีอุดมการณ์ชาตินิยมไทยสุดโต่งบางส่วน จึงอยากหาวิทยากรมาให้ความรู้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร และวิธีการรับมือและจัดการสื่อ IO อย่างไร ขณะที่ในความขัดแย้งในชายแดนภาคใต้ 11 ปีที่ผ่านมา การทำงานเชิงประเด็นของสื่อทางเลือกในพื้นที่ยังไม่คมเท่าที่ควร ดังนั้นเรื่องเนื้อหา (Content) และประเด็นในการทำข่าวจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

    

วงประชุมสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2558 จึงเสนอให้เชิญ ‘สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี’ นักข่าวอาวุโสจากสำนักข่าวเนชั่น ซึ่งเชี่ยวชาญการวิเคราะห์ประเด็นการทำข่าวในพื้นที่ความขัดแย้ง การปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร วิธีการรับมือและจัดการสื่อ IO และ ‘นวลน้อย ธรรมเสถียร’ อดีตนักข่าว BBC ภาคภาษาไทย จาก FT MEDIA ซึ่งติดตามประเด็นในพื้นที่ชายแดนใต้มาตลอด ให้มาเป็นวิทยากรกระบวนการอบรมและเทคนิคต่างๆ ในการสร้างเนื้อหา (Content) และวิเคราะห์ประเด็นในการทำข่าวในการอบรมเชิงปฏิบัติการณ์ (Work Shop) ในเดือนธันวาคม 2558

      

ร่างกำหนดการณ์การอบรมเชิงปฏิบัติการณ์ (Work Shop) วิเคราะห์และพัฒนาประเด็นข่าวเพื่อสร้างผลกระทบต่อสาธารณะ ที่ ‘PATANI FORUM’ เตรียมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-27 ธันวาคม 2558 ณ โรงแรมบูม ฟอร์เรส ตำบลคลองแห อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จึงปรากฏออกมาในการประชุมสื่อทางเลือกชายแดนใต้ครั้งที่ 3 ตาม ‘โครงการพัฒนาศักยภาพองค์กรสื่อภาคพลเมืองเพื่อการสื่อสารสันติภาพปาตานี/ชายแดนใต้’ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558  ณ สำนักงานสถานีวิทยุ MEDIA SELATAN  และ  FreeVoiceMedia ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาที่ลุกขึ้นมาทำสื่อเผยแพร่ทางเฟสบุค เข้ามาร่วมอีกกลุ่มหนึ่ง

ตามร่างกำหนดการณ์การอบรมวันที่ 25 ธันวาคม 2558 ‘สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี’ บรรยายและร่วมแลกเปลี่ยนกับสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ในหัวข้อ ‘สื่อปาตานี กับการเผชิญหน้ากับความมั่นคงและสังคมความเป็นไทย’ และ ‘บทบาท และท่าทีของสื่อในสถานการณ์ความขัดแย้งปาตานี / ชายแดนใต้ และการเมืองไทย ปัจจุบัน-อนาคต ควรเป็นไปอย่างไร’

ส่วนวันที่ 26-27 ธันวาคม 2558  ‘นวลน้อย ธรรมเสถียร’ เป็นวิทยากรนำกระบวนการ ‘หลักการ จับและวิเคราะห์ประเด็น เพื่อสร้างข่าว ที่มีผลกระทบต่อสถานการณ์และสาธารณะ’ ฝึกวิเคราะห์ วิพากษ์ เรื่องและปรากฏการณ์ ฝึกการต่อยอดการทำข่าวจากโจทย์และหัวข้อข่าวที่ให้ค้นหาประเด็นที่สร้างผลกระทบทางการสื่อสาร นำเสนอและร่วมกันวิจารณ์และแลกเปลี่ยน

วงประชุมสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 ยังนำไปสู่กองบรรณาธิการร่วมขึ้น โดยหยิบยกข่าวที่สำนักสื่อ WARTANI ทำ 2 ข่าว คือ ข่าวผู้ปกครองนักเรียนมุสลิมโรงเรียนชุมชนวัดอัมพวนาราม ตำบลเมาะมาวี อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เรียกร้องให้รับผิดชอบกรณีครูให้นักเรียนมุสลิมกินอาหารที่มีหมู ในระหว่างที่ไปทัศนะศึกษายังกรุงเทพมหานคร และอยุธยา ระหว่างวันที่ 11 – 13 พฤศจิกายน 2558 และ และข่าวกรณีเจ้าหน้าที่ทหารตรวจ DNA เด็กอายุ 5 เดือนในอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2558

สำนักสื่อ WARTANI เผยแพร่ข่าว ‘ชาวบ้านเรียกร้องความเป็นธรรม ไม่พอใจ ครูสั่งเนื้อหมูให้ทาน’ สู่สาธารณะในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2558  และเผยแพร่ข่าว ‘สุดช็อก! ทหารตรวจค้นที่ดอนรัก จับเด็ก 5 เดือนตรวจ DNA’ ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2558

       

การปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO) ต่อสำนักสื่อ WARTANI ก็เริ่มขึ้นโดยเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2558  บล็อก NARATER2009 โจมตีสำนักสื่อ WARTANI ว่า ‘สื่อแนวร่วมได้ทีผสมโรงขยายผลครูให้นักเรียนมุสลิมกินหมู’ ต่อมาวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558  บล็อก PULONY  ก็โจมตีสำนักสื่อ WARTANI ว่า ‘ปีกการเมืองแนวร่วมโจรใต้ปั่นกระแสตรวจ DNA ละเมิดสิทธิ’ และในห้วงเวลาเดียวกันเฟสบุคอีกนานาเพจก็โจมตีสำนักสื่อ WARTANI ในทำนองเดียวกัน

จนวันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 เจ้าหน้าที่ทหาร 6 นาย ได้ไปพบ 'ทวีศักดิ์ ปิ' บรรณาธิการข่าวของสำนักสื่อ WARTANI และเพื่อน 3-4 คน ในระหว่างเตรียมเสวนา ‘สร้างแรงบันดาลใจนักสื่อสาร ในศตวรรษที่ 21’ ที่คณะวิทยาการสื่อสาร มอ.ปัตตานี ด้วยลักษณะเชิงพูดข่มขู่คุกคามหาว่า สำนักสื่อ WARTANI ดิสเครดิตทหาร และทำให้ภาพของภาครัฐเสียหาย

ทวีศักดิ์ ยอมรับว่า ข่าวทั้ง 2 ข่าว นำเสนอแค่ปรากฎการณ์เท่านั้น ไม่ได้ทำข่าวเพื่อสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องต่อจากนั้น สำนักสื่อ WARTANI มีข้อจำกัดเรื่องทั้งจำนวนนักข่าว และนักข่าวยังขาดศักยภาพเรื่องเนื้อหา (Content) และวิเคราะห์ประเด็นในการทำข่าวยังไม่ดีพอ

“แต่อย่างน้อยๆ สำนักสื่อ WARTANI ก็สามารถชงให้สำนักข่าวข่าวสด นำข่าวไปเล่นต่อ” ทวีศักดิ์ เชื่อ

‘มูฮัมหมัด ดือราแม’ บรรณาธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ เห็นว่า เรื่องครูให้เด็กกินหมูนั้นได้มีคำสั่งย้ายครูที่เกี่ยวข้องแล้ว สื่อควรพัฒนาการประเด็นข่าว และต่อยอดข่าวเกี่ยวกับมาตรการอย่างไรที่ป้องกันไม่ให้เกิดกรณีแบบนี้ซ้ำขึ้นมาอีก สำนักจุฬาราชมนตรีต้องออกแนวปฏิบัติอย่างไรได้บ้าง

“จากประสบการณ์ในการทำข่าวลักษณะที่สำนักสื่อ WARTANI เจอคือไม่ได้วางแผนการทำข่าว ไม่ประชุมข่าวว่าควรติดตามข่าวเรื่องไหน ข่าวเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไร โครงสร้างของผู้เกี่ยวข้องในข่าวมีใครบ้าง ถ้ารู้โครงสร้างของผู้เกี่ยวข้องในข่าวความคิดต่อยอดจะมาเอง” มูฮัมหมัด แสดงความเห็น

ทว่าหลังจบวงประชุมสื่อทางเลือกชายแดนใต้เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2558 ก็หาได้มีสื่อสำนัก กลุ่ม หรือองค์กรไหนที่ตามต่อข่าวกรณีครูให้นักเรียนมุสลิมกินอาหารที่มีหมู ในระหว่างที่ไปทัศนะศึกษา และข่าวกรณีเจ้าหน้าที่ทหารตรวจ DNA เด็กอายุ 5 เดือน

กระทั่งเกิดกรณีการตายของ ‘อับดุลลายิบ ดอเลาะ’ ในค่ายอิงคยุทธบริหารขึ้นในวันที่ 4 ธันวาคม 2558 แม้สื่อทางเลือกชายแดนใต้ไม่ได้ร่วมประชุมกองบรรณาธิการและวิเคราะห์ประเด็นข่าวร่วมกัน แต่กระบวนการสังสรรค์เองของข่าวก็เกิดขึ้น แต่หาได้ต่อยอดประเด็นข่าวของกันและกัน

 

 

เผยแพร่ครั้งแรก : ฟาตอนีออนไลน์,16 กุมภาพันธ์ 2559,http://www.fatonionline.com/1624