ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ
เมื่อเวลา 13.00-14.30 น.วันที่ 28 ตุลาคม 2558 ที่ห้องศรีตานี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง) ร่วมกับ เครือข่ายนักศึกษาอิสระเพื่อสังคม (TUPAT) กลุ่มเยาวชนความฝันชายแดนใต้ (DreamSouth) และสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) จัดเสวนา "การอ่าน การศึกษาที่ชายแดนใต้ ส่งเสริมวิถีชีวิตคนชายแดนใต้อย่างไร" โดยมีนักศึกษา เยาวชน และผู้สนใจเข้าร่วมประมาณ 70 คน
โดยนายฟาเดล หะยียามานักอ่าน/เจ้าหน้าที่สถาบันคีนันเอเชียซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการ ส่วนวิทยากรนำเสวนาประกอบด้วย นายดันย้าล อับดุลเลาะ เลขาธิการกลุ่มเยาวชนความฝันชายแดนใต้ (DreamSouth) นายอารีฟินโสะ ประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเยาวชนนักเรียนปาตานี (PerMAS) นายโกศล เตบจิตรตัวแทนสหพันธ์นักเรียนนักศึกษาเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (สสชต.) และนายปรัชญเกียรติว่าโร๊ะนักอ่าน/นักเขียน/ผู้สื่อข่าวอิสระ
ภาพโดย มูฮัมหมัดอายุบ ปาทาน
ฉายภาพ 'ประชาธิปไตยไทยโยงความขัดแย้งปาตานี' ต้นเหตุอยู่ที่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ใหม่
ฟาเดล หะยียามา ถามปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ ว่า หากจะต้องอ่านเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ปาตานี อ่านอย่างไร อ่านลักษณะใดแล้วสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ปาตานีได้?
ปรัชญเกียรติ กล่าวว่า เขาให้ความสำคัญรากของปัญหาประเทศไทย และรากของปัญหาปาตานี เขาวิเคราะห์จากการอ่านและคิดว่าปัญหาปาตานีไม่ได้แยกขาดจากปัญหาของประเทศไทย เขาจึงให้ความสนใจกับการทำความเข้าใจปัญหาผ่านหนังสือประวัติศาสตร์ หนังสือการเมือง หนังสือประวัติศาสตร์การเมือง
สิ่งที่เขาค้นพบจากการอ่านคือ อาณาจักรในดินแดนประเทศไทยปัจจุบันมีถึง 7 อาณาจักร คืออาณาจักรล้านช้าง (ลาว-อีสาน) ซึ่งมีชาติพันธุ์ลาว นับถือศาสนาพุทธ อาณาจักล้านนา (ภาคเหนือตอนบน) มีชาติพันธุ์ไทยวน นับถือศาสนาพุทธ อาณาจักสุโขทัย-อยุธยา-ธนบุรี-กรุงเทพฯ มีชาติพันธุ์ไทย และนับถือพุทธ ขณะที่ทางใต้มีอาณาจักรนครศรีธรรมราช อาณาจักสงขลา ซึ่งมีความก้ำกึ่งระหว่างชาติพันธุ์มลายูและไทย มีทั้งนับถือพุทธและอิสลาม ส่วนหัวเมืองมลายู คือ อาณาจักรคือเกดะห์(ไทรบุรี-เปอร์ลิศ-สตูล) และอาณาจักรปาตานี ที่เป็นชาติพันธุ์มลายูและนับถือศาสนาอิสลาม
ฟาเดลถามต่อว่า แล้วหากเราอ่านประวัติศาสตร์มากจะไม่เกิดบาดแผลหรือนำไปสู่การแบ่งแยกหรือ ปรัชญาเกียรติ ปฏิเสธในเรื่องนี้
"ผมมองว่าหากเราอ่านประวัติศาสตร์อย่างเข้าใจจะไม่เกิดบาดแผลเพิ่ม ไม่เกิดการแบ่งแยก ผมมองกลับกันการไม่ให้ศึกษาประวัติศาสตร์นั้นแหละคือการพยายามปกปิดบาดแผลไว้ แล้วแสร้งแสดงว่าไม่มีแผล เพราะความแตกแยกคืออาการของแผล ถ้าขืนปกปิดต่อไปก็หาสาเหตุของความแตกแยกไม่เจอ ผมก็เลยสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ ขณะเดียวกันผมก็สนใจอ่านหนังสือการเมือง เศรษฐศาสตร์การเมือง จิตวิทยาการเมือง และประวัติศาสตร์การเมือง 'ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ:ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ.2475-2500) ของณัฐพลใจจริง ซึ่งบอกเล่าประวัติศาสตร์หลังการเปลี่ยนแปลง 2475 ที่มีขบวนการแย่งชิงอำนาจระหว่างฝ่ายปฏิวัติ คือ คณะราษฎรที่มีแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม ประชาธิปไตยเสรีนิยม กับฝ่ายเครือข่ายกษัตริย์ที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม นิยมสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พยายามโต้กลับหลังโดนปฏิวัติ อาทิ กบฏบวชเดช กบฏนายสิบฯลฯ" ปรัชญาเกียรติกล่าว
"กระทั่งปี 2490 ที่การสถาปนาของกลุ่มกษัตริย์นิยม สมบูรณาญาสิทธิราชย์นิยม โต้กลับและสถาปนาระบบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยผสมกลมกลืนกับแนวคิดสมบูรณาญาสิทธิราชย์กับประชาธิปไตย เกิดระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขขึ้นครั้งแรกเมื่อ 2490 ผมเรียกระบอบนี้ว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ใหม่ที่พยายามปรับตัวจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เดิมมาเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ใหม่ โดยบริบททางการเมืองถูกยึดกลับอย่างสมบูรณ์ในปี 2501 โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์" ปรัชญาเกียรติกล่าว
มึนประวัติศาสตร์ปาตานีหลายชุด แนะอ่านควบ'ศาสนา-วัฒนธรรม-ชาติพันธุ์' ลดขัดแย้ง
โกศล เตบจิตร เห็นว่าถ้าหากจะอ่านหนังสือเพื่อการเปลี่ยนแปลง โกศลไม่อยากแนะนำให้เยาวชนอ่านประวัติศาสตร์ฉบับใดฉบับหนึ่ง ประวัติศาสตร์สำคัญมาก มีทั้งประวัติศาสตร์ความเป็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประวัติศาสตร์ความเป็นปาตานี ประวัติศาสตร์แต่ละยุคเป็นอย่างไร ซึ่งมันไม่ได้มีหน้าเดียว ไม่ได้มีชุดความคิดเดียว และบางครั้งมันก็แตกต่างกัน ประวัติศาสตร์ความเป็นความเป็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังทะเลาะกัน โกศลยกตัวอย่างว่า เขาเรียนประวัติศาสตร์ชายแดนใต้จากอาจารย์ 3 คนซึ่งสอนไม่เหมือนกันสักคนหนึ่ง โกศลซึ่งเป็นมุสลิมพังงา อยู่นอกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เขาพยายามเรียนรู้ประวัติศาสตร์ส่วนนี้แล้วเชื่อมโยงปัจจุบันแต่ก็ยังมีประวัติศาสตร์หลายชุดจนทำให้ยังมึนงง
"เยาวชนอ่านอะไร ให้เกิดความสงบสุขในพื้นที่ ผมแนะนำให้อ่านประวัติศาสตร์ระดับชาติ ในขณะที่อ่านหนังสือประวัติศาสตร์ระดับชาติก็จะทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ระดับท้องถิ่นไปด้วย รวมถึงหนังสือเกี่ยวกับศาสนา วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ ต้องอ่านต้องคิดวิเคราะห์ว่าอะไรคืออะไร เพราะว่าประวัติศาสตร์ต้องควบคู่กับศาสนาด้วย เหมือนที่นี่ เป็นแผ่นดินอิสลาม ชาติพันธุ์มลายู เพราะสิ่งที่เราทำ สิ่งที่เราปฎิบัติ มันขัดกับหลักศาสนา หรือมันเป็นแนวทางเดียวกับศาสนา ความคิดส่วนตัวว่า วิธีนี้น่าจะลดความขัดแย้งต่างๆ ใน3 จังหวัดหรือปาตานี เกิดความสงบสุขได้ ไม่มากก็น้อย"
อยากอ่านปากคำจากคนใน อะไรผลักให้ขบวนการฯ จับปืน
ฟาเดล หะยียามา ถามอารีฟินโสะว่า ตอนนี้อยากอ่านหนังสือเรื่องอะไรมากที่สุด? อารีฟินโสะเกริ่นจากการอ่านนวนิยายสืบสวนสอบสวนของเขา เขาพบว่าในนวนิยายสืบสวนสอบสวนมักเกิดชุดความคิดที่ปะทะกัน คือ ผู้ที่กระทำเหตุการณ์นั้นกับผู้ที่พยายามแก้ไขเหตุการณ์นั้น ผู้ที่สร้างปัญหาก็คือฆาตรกร ทำให้เห็นว่าเรื่องใดๆ มักจะมีคู่ขัดแย้งหลัก เป็นคู่ขัดแย้งของชุดความคิด พลัง 2 พลังที่ผลักกัน ชนกัน ปะทะกัน ประหัตประหารกัน
"หนังสือที่ขาดในพื้นที่ปาตานี คือ หนังสือเกี่ยวกับความขัดแย้งของพลังจากฝั่งโครงสร้างอำนาจไทย กับพลังของฝั่งโครงสร้างของขบวนการที่ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปาตานีออกจากรัฐไทย เรื่องราวเหล่านี้มันมีน้อยมาก หรือผมอาจจะค้นไม่เจอ สิ่งที่เราเสพไม่มีการบอกเล่าที่มาที่ไป ชุดอุดมการณ์การตั้งพูโล บีไอพีพี บีอาร์เอ็น องค์กรต่างๆ ไม่มีการบอกเล่า หากมีการบอกเล่าก็จะกระจุกอยู่แค่เฉพาะกลุ่มเท่านั้น" อารีฟินกล่าว
"เมื่อเราไม่มีข้อมูลก็ไม่สามารถเข้าถึงความคิด แรงผลักของขบวนการได้ ดังนั้นสิ่งที่ผมหาไม่เจอคือ เรื่องของคนในขบวนการฯ ที่เขียนออกมา หรือถ้ามีก็อยากให้เผยแพร่ออกมาว่าในยุคก่อตั้งแรกๆ มันมีเหตุการณ์อะไรที่สามารถให้คนรวมกลุ่มกันได้ เริ่มก่อตั้งเป็นกลุ่มก้อน เพื่อที่จะสร้างอำนาจต่อรอง สิ่งที่อยากรู้จริงๆ คือคำบอกเล่าจากคนในขบวนการ ที่สำคัญผมอยากรู้ ทำไมพวกเขาคิดอยากสร้างองค์กรเพื่อไปสู่เป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงปฎิวัติสังคมออกจากรัฐอาณานิคม" อารีฟิน ระบุ
ภาพโดย มูฮัมหมัดอายุบ ปาทาน
ศึกษาความขัดแย้งปาตานี บนหลักเหตุผลไม่ใช่แค่ความรู้สึก
ฟาเดล หะยียามา ถามดันย้าลอับดุลเลาะว่าหากเยาวชนที่นี่ อ่านเพื่อให้เกิดความชัดเจนควรมีทักษะในการอ่านอย่างไร? ดันย้าล มองว่า หนังสือที่น่าสนใจคือหนังสือที่อธิบายเกี่ยวกับความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่นี้หรือที่อื่น เช่น ติมอร์เลสเต อาเจะห์ อินโดนีเซีย มินดาเนา ฟิลิปปินส์ พยัคทมิฬอีแลม ศรีลังกา ฯลฯ อาจไม่จำเป็นต้องมีบริบทเหมือนกัน แต่อย่างน้อยก็มีหลักของการจัดการความขัดแย้งอยู่
"ผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้น่าสนใจที่เราจะต้องศึกษามัน ยิ่งพวกเราเป็นเยาวชนพวกเราจะต้องเรียนรู้และอ่านเรื่องพวกนี้เยอะๆ เพื่อที่จะรับไม้ต่อจากผู้อาวุโสที่กำลังขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ ในการเป็นผู้เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่นี่ให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ที่จัดการความขัดแย้งที่สำเร็จ หรือไม่สำเร็จ จำเป็นอย่างยิ่งต้องเข้าไปศึกษาเรียนรู้ ผมคิดว่า พื้นที่ความขัดแย้งในแต่ละพื้นที่มีบริบท มีปัจจัยมีความขัดแย้งอะไรหลายๆ อย่างต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันก็คือมันมีหลักการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจากความขัดแย้งที่มีความรุนแรงไปสู่ความสงบ หรือความขัดแย้งที่ไม่ใช้ความรุนแรง"
"พื้นที่ที่มีความขัดแย้งเราต้องศึกษาไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งที่มีระยะเวลานานเพียงไหน ที่นานที่สุดสุดเท่าที่ผมศึกษาคือการจัดการความขัดแย้งอิสราเอลกับปาเลสไตน์ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2491 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันก็มีการเจรจาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ยังไม่จบไม่สิ้น ขณะที่ในบริบทปาตานีปัจจุบันก็กำลังมีการพูดคุยระหว่างกลุ่มคิดต่างจากรัฐไทยกับรัฐไทยที่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ บ้านเราอาจมีอะไรบางอย่างที่นำไปสู่ข้อเสนอก็ได้ บริบทสังคมของบ้านเราน่าสนใจ”
"อีกเรื่องคือ ถ้าอ่านหนังสือประวัติศาสตร์มันต้องมีหลักคือ ทัศนะส่วนตัวที่จะใช้ในการชั่งข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์และตีความอย่างมีเหตุผล ผมตีความและเดาว่าการอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ของหลายๆกลุ่มมีวิธีการและการอ่านที่แตกต่างกันออกไป ทักษะที่มีปัญหามากที่สุดคือการใช้จินตนาการ หรือมโนภาพในการตีความเรื่องประวัติศาสตร์ ตรงนี้อันตรายมาก ใช้มโนภาพและการจินตนาการอย่างเดียวโดยที่ไม่ใช้ความรู้ในการตีความประวัติศาสตร์มันจะนำไปสู่การสร้างความคิดทางประวัติศาสตร์ที่มีแต่ความเจ็บปวด ซึ่งการผลิตซ้ำทางความคิดของเรื่องประวัติศาสตร์ที่มีแต่ความเจ็บปวด มันจะนำไปสู่การที่ไม่ยอมพูดคุยกันเลย เพราะมีแต่สร้างความเจ็บปวดซึ่งกันและกัน"
ดันย้าลชี้ว่า การมโนภาพในการตีความประวัติศาสตร์ค่อนข้างอันตราย หากไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ด้วย เพราะจะเป็นการผลิตซ้ำความเจ็บปวดโดยไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อไปสู่การแก้ปัญหา
"ความขัดแย้งนำไปสู่สังคมที่มีการจัดการความขัดแย้งที่พิเศษขึ้น คือ สังคมใหม่ ถ้าสมมุติสังคมปาตานีบ้านเรามันจัดการความขัดแย้งได้ ทุกอย่างสงบ ไม่มีการใช้อาวุธ ไม่มีการใช้ความรุนแรง แม้ว่าความขัดแย้งยังอยู่ก็ตาม สิ่งที่จะตามก็คือการสร้างสังคมใหม่จากเดิมที่มันเลอะเทอะ มีการวางระเบิดตูมตาม การนำไปสู่สังคมใหม่ที่ว่านี้ ถ้าคนที่ไม่มีความรู้ คุณจะบริหารสังคมได้อย่างไร"
ดันย้าล เน้นการใช้ตรรกะเหตุผลเท่าทันอารมณ์ความรู้สึก และชวนคิดว่าหากปาตานีผ่านเลยความขัดแย้ง หรือยังจมปลักกับความขัดแย้งจะปูพื้นอย่างไรให้คนภายในสังคมมีความรู้เท่าทัน และช่วยกันแก้ปัญหา
"ดังนั้นพวกเราจึงจำเป็นจะต้องอ่านเพื่อให้มีความรู้และเพื่อจะเป็นผู้บริหาร จะมีความรู้ได้ก็ต้องอ่านเยอะๆ อ่านให้มากๆ ถึงแม้ว่าคุณจะเกลียดเนื้อหานั้นก็ยังควรอ่าน เพราะการอ่านนำไปสู่การมีความรู้ใหม่ และนั่นจะนำไปสู่สังคมที่มีสันติภาพ...ถ้าวันหนึ่งนักรบของขบวนการฯ ยอมให้คนที่มีความรู้ ความสามารถในการบริหาร อย่างพวกเธอขึ้นมาบริหารแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น มันจะมีภาพที่แตกต่างกันแน่นอน ดังนั้น มันสำคัญมากว่าเราจะรับไม้ต่อจากคนรุ่นเก่าที่กำลังทำกระบวนการสันติภาพโดยไม่มีความรู้หรือ"
เลิกกล่าวหา-ศึกษาจริงข้ามให้พ้นอคติ เรียกร้องเยาวชนร่วมแก้ปัญหาปาตานี
ฟาเดล หะยียามา ถามอารีฟินโสะ ว่า ถ้ากระบวนการสันติภาพปาตานีเกิดขึ้นในปัจจุบัน เรื่องที่เป็นสถานการณ์ เรื่องข้อมูล เราจำเป็นต้องอ่านอย่างไรเพื่อให้สันติภาพเกิดขึ้นจริง
"ผมว่าสิ่งแรกควรอ่านสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจ สิ่งที่เราทำออกมาเพื่อไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ มันต้องเกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจส่วนตัวของแต่ละคน วันนี้หลายๆ คนอาจจะถูกปิดกั้น มีความหวาดระแวง มีอคติ เมื่อพูดถึงความรุนแรงในปาตานีก็จะเกิดการถอยห่างไม่พูดถึง ไม่ศึกษาโดยถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกหัวรุนแรงหรือเปล่า เป็นขบวนการบีอาร์เอ็นหรือเปล่า ผมว่าหากจุดนี้เราไม่สามารถก้าวข้ามได้ การที่จะมองเห็นอนาคตที่ดีได้ก็คงไปไม่ถึงเพราะตัวเองยังไม่กล้าที่จะไปเตะมัน สิ่งแรกที่สำคัญคือการต้องก้าวไป "อารีฟิน โสะ กล่าว
อารีฟิน เริ่มระบายสิ่งที่อัดอั้นในใจออกมา จากการที่PerMASถูกทหารและกอ.รมน.เพ่งเล็งว่าเป็นปีกการเมืองของขบวนการฯ
"ถ้าวันนี้เพื่อนคุณบอกว่า PerMAS หัวรุนแรง ก่อการร้าย เป็นปีกการเมืองของบีอาร์เอ็น พวกคุณเคยสัมผัสพวกเขาหรือยัง คุณรับรู้แค่ข่าวสาร คุณรับรู้ว่าเพื่อนบอกอย่างนี้ สมมติมีคนบอกอีกว่า สสชต. เป็นนักศึกษาของทหาร มี กอ.รมน. จัดตั้ง คุณเคยสัมผัสเขาหรือยัง หรือคุณรู้จักเขาแค่ว่าเป็นวิทยากร เป็นลูกน้องทหาร เป็นสายข่าวให้ทหาร เช่นเดียวกัน ถ้ามองว่าว DreamSouth เป็นเด็กของ ศอ.บต. ไม่มีจุดยืนของตัวเอง เราถามว่ารู้จักพวกเขาหรือยัง หรือว่าแค่ใช้อคติส่วนตัวที่เป็นบ่อหลุมในการสาธยายมันขึ้น”
"เช่นเดียวกันกับกลุ่มขบวนการฯ เขาคือกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง กลุ่มที่ทำให้สังคมปั่นป่วน เราเคยสัมผัสพวกเขาหรือยังว่าพวกเขามีความคิดอย่างไรถึงเลือกการปฎิบัติการใช้กำลังอาวุธ โดยสละชีวิตตัวเองในการที่จะไม่ใช้ความปกติสุขอย่างเช่นใครอื่น ในวันนี้คีย์ใหญ่ๆ ที่เราจะให้เริ่มต้น คือ สังคมที่เราคาดหวังไว้ในอนาคตที่อยากให้เป็น คือ กลับไปดูว่า เราเคยสัมผัสปัญหานี้มากน้อยแค่ไหน แล้วเราเรียนรู้อะไรบ้าง สิ่งแรกที่สำคัญคือ เราต้องเรียนรู้มัน สัมผัสกับมัน แล้วจึงจะสามารถก้าวเดินไปข้างหน้าได้”
"ขณะที่เราไม่ได้สนใจประเด็นปัญหาเหล่านี้ เราสนใจแค่หาเลี้ยงปากท้อง มีลูก 3-4 คน เลี้ยงพ่อแม่ให้ได้แค่นั้น เป็นเพียงการอยู่กับปัญหาของตัวเอง ควรปรับมุมมองใหม่ว่า เราจะเข้าถึงปัญหาสังคมแล้วก็จะออกแบบ สร้างสังคมที่ดีได้ในอนาคตให้คนในปาตานีได้อย่างไร เพราะมันก็คือที่ที่เราอยู่ อีก 40 ปีข้างหน้าคนรุ่นเราจะเป็นกำลังหลักในสังคมข้างหน้า ถ้าในวันนี้ไม่แก้ปัญหาสังคมบ้าง ไม่สัมผัสปัญหาสังคมบ้านเราบ้าง ในวันนี้อีก 10 ปีข้างหน้าเราก็คงยังจมปลักอยู่กับปัญหาอย่างนี้" อารีฟินกล่าว
อ่านแล้วต้องพูดคุยแลกเปลี่ยนปะทะสังสรรค์ทางความคิด
โกศล เตบจิตร ตอบจากคำถามเดียวกันว่า อารีฟินโสะ กับตัวเขาเองยังขาดการพูดคุยกันเพราะความกลัวกันและกันและยึดติดกับองค์กร แต่มีสิ่งหนึ่งที่ตกผลึกร่วมกันคือ ในคืนวันที่ 26 ตุลาคม 2558 หลังจากร่วมกินน้ำชาพูดคุยเพื่อเตรียมประเด็นสำหรับเวีทีเสวนาในวันนี้ เขาพบว่ามีหลายอย่างที่เขาไม่รู้เกี่ยวกับอารีฟิน และPerMAS เขาเพิ่งรู้ผ่านการแลกเปลี่ยนในวงน้ำชาคืนนั้นนั่นเอง
"ผมไม่ค่อยได้อ่านหนังสือ แต่แหล่งข้อมูลความรู้ของผมผ่านการศึกษาจากหลักสูตรรัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัย ผ่านการพูดคุยจากวงน้ำชา ผ่านการฟังเสาวนา และอ่านบทความและหนังสือที่เขียนกันเองของเพื่อน ผมสอบวิชากฎหมายมันยากต่อความเข้าใจมันไม่เหมือนคำปกติที่เขาพูดกัน ตั้งวงกันพูดคุยทีละนิดทีละน้อย
"อ่านอย่างไร ถึงจะให้มันเกิดสันติภาพจริงๆ ถ้าเราอ่านอยู่คนเดียวก็คิดคนเดียว ไม่ฟังคนอื่นแล้ว แม้แต่การอ่านประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์มีหลายชุด คุณอ่านประวัติศาสตร์แล้วคุณต้องชั่งคุณ ต้องวิเคราะห์ ฉะนั้นผมคิดว่าง่ายที่สุดที่ทำได้คือ อย่าอ่านคนเดียว อาจจะอ่านคนเดียวก็ได้แต่ความรู้คุณต้องถึง ความรู้ต้องคิดวิเคราะห์ สมเหตุสมผล ฉะนั้นการเปิดใจเป็นสิ่งสำคัญสำหรับอ่าน รู้เขา รู้เรา รบสิบครั้ง ชนะสิบครั้ง รู้เขาอย่างเดียวรบยังไงก็ไม่ชนะ"โกศลกล่าว
.
*หมายเหตุ*
เผยแพร่ครั้งแรกที่ สำนักข่าวประชาไท,15 พฤศจิกายน 2558,23:56,http://prachatai.org/journal/2015/11/62458