Skip to main content

มีนาคม 2551


ฉันตอบจดหมายแฟนนักอ่านคอลัมน์ของฉันคนหนึ่ง เธอเป็นคนปักษ์ใต้ นานเป็นเดือนที่จดหมายมาถึงพร้อมเสื้อผ้าและข้าวของกล่องใหญ่ ด้วยเจตนาทดแทนความขาดแคลนตามความรู้สึกของเธอ ที่สัมผัสจากการอ่านในบันทึกของฉันอยู่สองสามฉบับ เธอบอกว่าอิจฉานิดๆ ในชีวิตที่เรียบง่ายที่ฉันเลือกเดิน ฉันจึงตอบเธอไปว่าฉันเป็นเพียงนกที่บินหลงทางมา



ก่อนหน้านี้ฉันก็ได้รับจดหมาย เสียงโทรศัพท์ และหนังสือดีๆ ที่ถูกส่งมาจากคนเมืองไกลจากเพื่อนที่ห่างหายการติดต่อมานานแสนนาน และจากมิตรร่วมความรู้สึกที่ไม่เคยเห็นหน้า


อาจดูเป็นเรื่องแปลกหรือมีเปอร์เซ็นต์น้อยเหลือเกิน ที่คนปกติธรรมดา เกิด และเติบโตในสังคมเมือง ได้รับการศึกษาเต็มความสามารถที่จะไปถึง ตัดสินใจทิ้งสังคมศิวิไลซ์มาใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ ที่ไร้ความสะดวกสบาย และเก็บงำตัวเองออกจากโลกภายนอก


เมื่อมองย้อนกลับไป ฉันพบตัวเองก้าวข้ามสะพานเล็กๆ ด้วยความรู้สึกไม่มั่นคงนัก สะพานที่เชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้าน หากแต่อีกฟากหนึ่งของสะพานกลับเป็นโลกอีกใบที่แตกต่าง ราวกับตัดขาดหมู่บ้านที่ห่างออกมาไม่ถึงร้อยเมตร


บนถนนเส้นเดียวที่ตัดเข้าหมู่บ้าน ฉันย่างเท้าด้วยความรู้สึกหดหู่ใจ ไม่กล้าแม้แต่จะเพ่งสายตาไปยังจุดใด เท้าสั่งให้ก้าวย่างไปข้างหน้าอย่างระมัดระวังตัว


ฉันมองเห็นทุกอย่างถูกทำให้เป็นสินค้าแม้กระทั่งตัวเธอเอง ไม่ว่าจะเป็นการจัดวางข้าวของที่ระลึก การยืนหลังร้าน ยิ้มแบบเดียวกัน เพื่อเชื้อเชิญให้นักท่องเที่ยวเข้ามาถ่ายรูป และมีแก่ใจซื้อของในร้าน


เมื่อเวลาผ่านไป ฉันได้ค้นพบสิ่งที่อยู่หลังร้านขายของเหล่านั้น มันคือครรลองชีวิตและสีสันที่แตกต่างจากที่เคยรู้สึก มันซ่อนอยู่วิถีชีวิตประจำวันของพวกเขา อยู่บนเตาไฟควันโขมง อยู่ในวงแขนที่กรำงานหนัก อยู่ที่ปลายควันกระบอกปืนยามเข้าป่าล่าสัตว์ หรือแม้แต่ยามตะวันตกดินบนเสื่อที่นอนแข็งชา


ลึกลงไปในความรู้สึกของหญิงชราที่หาบห่วงทองเหลืองอันหนักอึ้งไว้บนไหล่ ห่วงสีทองยังคงคุณค่าตั้งแต่เริ่มใส่และงดงามเสมอมาจนถึงวันนี้ แม่เฒ่าปฏิญาณว่าจะไม่ถอดออกแม้ถึงวันที่ดินกลบหน้า


ทว่าห่วงโซ่แห่งความรู้สึกย่อมมีวันเก่าผุพัง ห่วงสีทองกลายเป็นพันธนาการแห่งชีวิตที่ไม่อาจปฏิเสธ ในความรู้สึกของกระยันแรกรุ่น ที่ความเชื่อถูกสั่นคลอนด้วยตู้สี่เหลี่ยม ถ่ายทอดโลกภายนอกที่ทะลักล้นเข้ามาในหมู่บ้านอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน



หญิงกระยันวัยรุ่นไม่น้อย ปลดปล่อยตัวเองในชุดยีนหลังพระอาทิตย์ตกดิน แต่เมื่อยามเช้ามาถึงพวกเธอก็พร้อมที่จะเปลี่ยนเป็นเสื้อกระสอบ ผูกผมหน้าม้า ยืนอยู่ในที่ประจำ ก่อนจะสลัดชุดทำงานเมื่อแขกคนสุดท้ายลากลับ


ในขณะที่อีกหลายคนเลือกที่จะทิ้งห่วงทองเหลือง หันหลังกลับคืนสู่ศูนย์อพยพ พวกเธอหวังว่าจะได้บินไกลไปอยู่ประเทศที่สามตามโครงการของ UNDP


หากย้อนกลับไปเมื่อสามสิบปีก่อน ชุมชนกระยันแห่งนี้ยังคงอาศัยในอีกฝั่งของแม่น้ำสาละวิน ในรัฐคะยา ประเทศพม่า วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของพวกเขา ยังไม่พบกับการเปลี่ยนแปลงที่บ่าไหลมากับผู้คนแปลกหน้าที่เข้ามาทักทายถึงบันไดบ้าน


ชุมชนเล็กๆ ที่ตั้งอยู่กระจัดกระจายไปตามท้องไร่ท้องนา วิถีชีวิตผูกพันอยู่กับการทำกสิกรรม ครรลองชีวิตดำเนินไปอย่างเนิบช้าและเรียบง่าย


ชาวกระยันได้เริ่มอพยพเข้ามาในประเทศไทยราวกับนกอพยพที่คอยส่งข่าวให้กันถึงโอเอซีสแห่งใหม่ และจนกระทั่งปัจจุบันเราสามารถพบเห็นชาวกระยันได้เกือบทั่วภาคเหนือของไทย


เหตุอันใดที่นกพลัดถิ่นเช่นพวกเขาตัดสินใจทิ้งรังที่อยู่มาค่อนชีวิต บินลัดฟ้ามาไกลถึงแดนสยาม คงจะเป็นคำตอบเดียวกันกับผู้ลี้ภัยอีกหลายๆชนเผ่า ชนกลุ่มน้อยที่รักสงบ ถูกรุกรานจากระบบการปกครองที่ไม่เหลือที่ว่างให้กับผู้อ่อนแอ


จากทุ่งหญ้ากว้างใหญ่สู่กรงทองที่พร้อมพรั่งไปด้วยอาหาร สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้พวกเขาต้องปรับตัวในการดำรงชีวิต


หมู่บ้านห้วยเสือเฒ่า ที่ไม่มีแม้แปลงผักหลังบ้าน กระท่อมหลังเล็กๆ นับสิบหลังปลูกเบียดเสียดกันบนผืนนาเพียงสิบไร่เศษ มองเห็นคนแปลกหน้าย่ำเท้าเข้ามามากมายเสียยิ่งกว่าข้าวในนา


พวกเขาหว่านเพาะเม็ดเงินแทนเม็ดข้าว ใช้วัฒนธรรมที่เข้มแข็งแทนปุ๋ย บนที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยความกระหายใคร่รู้ของนักท่องเที่ยว ถึงกับทำให้บางคนร่ำรวยมั่งคั่ง


แต่สิ่งที่มีค่ามากไปกว่าเงินทอง การกินอิ่มนอนอุ่น คือการฝันถึงอิสรภาพ นกในกรงทองที่มีค่าตัวแพงลิ่ว มีอาหารคอยป้อนเช้าเย็น แต่ไร้ซึ่งเสรีภาพที่จะโผบิน


ประเทศไทยซึ่งมีชนกลุ่มน้อยมากมาย อาจพบเห็นเดินสวนทางกันไปมาบนทางเท้า ร้านค้า ร้านอาหารหรือแม้แต่มหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้หมายถึงชนเผ่ากระยันที่ไร้แม้กระทั่งสัญชาติ ไม่มีโอกาสทางการศึกษา และดูเหมือนว่าจะถูกแถมพ่วงด้วยการดูหมิ่นทางวัฒนธรรมมากกว่าชนเผ่าทั่วไป


แม้ชาวกระยันจะอาศัยอยู่ในประเทศไทยมานาน บางครอบครัวอาจนานกว่ายี่สิบปี เป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศและเกือบทั่วโลก แต่ก็ไม่อาจระบุสถานะที่ชัดเจนได้ เพราะหากเป็นผู้ลี้ภัยจากการสู้รบ ก็ต้องอาศัยอยู่ในศูนย์อพยพบ้านในสอย


พวกเขาได้อิสรภาพเต็มที่หากยังอยู่ในเขตชุมชนและผืนป่าที่จัดไว้สำหรับการท่องเที่ยว แต่ไม่มีที่ว่างแม้เพียงนิดหากก้าวล้ำเข้ามาสู่เขตเมือง


วันหนึ่งนกที่ฝันแต่จะบิน กับนกที่บินมาจนเหนื่อยได้มาเจอกัน นกตัวหนึ่งพยายามปลดปล่อยนกอีกตัวเพื่อให้สามารถกระพือปีกเคียงข้างกันไปในท้องฟ้า แต่มันก็ยากเกินกว่าที่จะทำได้


นกตัวนั้นจึงหักปีกตัวเองเพื่อเข้าไปอยู่เคียงข้างนกในกรงทอง เพื่อจะไม่รู้สึกอย่างโดดเดี่ยวเช่นที่ผ่านมา และรอคอยว่าสักวันจะได้บินไปในท้องฟ้าอีกครั้งกับคู่ของมัน หากวันใดกรงที่กักขังเปิดอ้าและคืนอิสรภาพให้นกในกรงทอง.


บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
  สาละวิน,ลูกรัก เมื่อครั้งที่แม่มาจังหวัดเชียงใหม่ครั้งแรกนั้น แม่อายุได้ 18 ปี เชียงใหม่ในความรู้สึกของแม่มันช่างกว้างใหญ่สวยงาม  แม่เป็นเพียงเด็กบ้านนอกจนๆ ที่มีเพียงเงินค่ารถติดตัวไม่กี่บาท ที่เหลือก็เป็นค่าลงทะเบียนสอบเอ็นทรานซ์ แม่มองเห็นพระธาตุดอยสุเทพจากวิวนอกเมืองยามรถแล่นผ่าน  แม่อธิษฐานในใจว่า หากมีบุญที่จะได้มาอยู่เชียงใหม่  ก็จะขึ้นไปนมัสการพระธาตุฯ ให้ได้
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก แม่ได้เล่าถึงพิธีกรรมในการเรียกขวัญลูกในบทบันทึกที่ผ่านมา แม่ก็นึกขึ้นมาได้ว่ายังมีพิธีกรรมเกี่ยวกับแม่ ซึ่งเป็นประสบการณ์ใหม่ของแม่เช่นกัน
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก พ่อกับแม่ต่างเกิดขึ้นมาในวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างริบลับ แม่นั้นแม้จะเกิดที่ภาคอีสานของประเทศ แต่ก็ซึมซับวัฒนธรรมอีสานได้เพียงน้อยนิด ก็ต้องมาใช้ชีวิตและเติบโตที่ภาคเหนือจนกระทั่งเมื่อเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย ก็ดูเหมือนจะตัดขาดกับฐานวัฒนธรรมของตัวเอง เพราะอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่สังคมชั้นกลางเป็นกระแสหลักอยู่รายล้อม
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก เช้าวันที่สองของการไปคลอด ในมือของแม่ยังคงว่างเปล่า ทั้งที่ทุกคนในห้องหลังคลอดต่างมีห่อของขวัญอยู่ในมือกันคนละห่อ พ่อของลูกเทียวไปมาระหว่างห้องหลังคลอด ซึ่งอยู่ชั้นบนของห้องรอคลอด กับห้องพักเด็กอ่อน ที่อยู่ไกลออกไปอีกหนึ่งช่วงตึก ที่นั่นมีห่อของขวัญของแม่นอนอยู่ในตู้อบเล็กๆ ขนาดเท่ากับตัวลูก
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก ในเช้าที่แม่ต้องเดินทางไปคลอดลูกที่โรงพยาบาลในเมือง เป็นเช้าสุดท้ายที่แม่ได้นอนตื่นสายเช่นที่แม่เคยเป็นมาตั้งแต่ไหนแต่ไร หลังจากมีสาละวินแล้ว แม่ก็ไม่ได้ตื่นสายอีกเลย มันเป็นเช้าปกติที่แม่ตื่นขึ้นมาพบว่าอุ้มท้องลูกได้เก้าเดือนแล้ว และวันนี้หมอนัดให้แม่ไปคลอดลูกที่โรงพยาบาล
เจนจิรา สุ
 สาละวิน,ลูกรัก  ลูกมักตื่นแต่เช้า เช้าที่เรียกว่าไก่โห่เลยที่เดียว  มีคนเคยพูดไว้ว่า มีเด็กทารก กับคนแก่ที่มีพฤติกรรมคล้ายกัน คือตื่นเช้ามากๆ  แต่จุดประสงค์ของการตื่นเช้าของคนต่างวัยกลับต่างกัน เด็กทารกนั้น ตื่นเต้นกับโลกใหม่ที่ไม่คุ้นเคย และหลับมานานในท้องแม่จนกระตือรือร้นที่จะตื่นมาเรียนรู้โลกใบกว้าง  ในขณะที่คนแก่ซึ่งอยู่บนโลกมานานรู้ว่าจะเหลือเวลาอยู่ดูโลกนี้ได้อีกไม่นาน  จึงไม่อยากจะเสียเวลาไปกับการนอน
เจนจิรา สุ
แม่มองย้อนกลับไปในวัยเด็ก อุปนิสัยก้าวร้าวรุนแรง ที่เคยแสดงออกทางกายภาพนั้นมันยังคงซ่อนอยู่ในจิตใจและแสดงออกมาในรูปแบบอื่นเมื่อเราโตขึ้น เช่น เมื่อก่อนที่แม่จะมีลูก แม่เป็นนักดื่มตัวยงคนหนึ่ง เมื่อเมาจนได้ที่ ความก้าวร้าวรุนแรงก็จะปรากฏให้เห็นอยู่เป็นระยะ จนบางครั้งเพื่อนฝูงต่างก็เอือมระอา 
คนที่ขาดพื้นฐานความรักความอบอุ่นจากครอบครัวเช่นแม่นั้น ย่อมมีผลต่อพฤติกรรมจากเด็กจนถึงผู้ใหญ่และอาจติดตัวไปตลอดชีวิตเลยก็เป็นได้ หากแม่ไม่มองย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นและไล่เรียงสิ่งผิดพลาดในชีวิตที่ผ่านมา เพื่อเป็นอุทาหรณ์และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น เพราะหากแม่มัวแต่โทษว่าสิ่งที่ตัวเองทำผิดต่างๆ…
เจนจิรา สุ
สาละวิน, ลูกรัก ในวันที่แม่เริ่มจับปากกาเขียนถึงลูก สาละวินอายุได้หนึ่งเดือนกับสิบแปดวัน แม่นั่งอยู่ข้างๆ เบาะเล็กๆสีชมพู ซึ่งลูกอาจจะแปลกใจที่แม่เลือกซื้อข้าวของเครื่องใช้เป็นสีชมพูนั้น แม่ยอมรับว่าในใจตอนแรกของแม่ก็หวังจะให้ลูกคนแรกเป็นผู้หญิง
เจนจิรา สุ
นักท่องเที่ยวต่างชาติยอมจ่ายค่าตั๋วอย่างต่ำหนึ่งร้อยถึงสองร้อยห้าสิบบาทเป็นค่าเข้าชม วิถีชีวิตที่จำลองขึ้นของชาวกระยันที่ถูกเรียกขานเสียใหม่เพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวว่า "กะเหรี่ยงคอยาว" และนับเป็นความสำเร็จของกลุ่มนายทุนและการโปรโมทการท่องเที่ยวของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ทำให้คนทั่วประเทศหลั่งไหลเข้ามาชมกระเหรี่ยงคอยาว จนเป็นที่รับรู้กันว่าหากจะมาดูชนเผ่าที่มหัศจรรย์ที่สุดต้องมาที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนแห่งนี้
เจนจิรา สุ
สาละวิน, ลูกรัก ลูกลืมตาดูโลกในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ.2550 ในตอนค่ำเวลา 19.21 น. ตรงกับวันขึ้น 12 ค่ำเดือน 4 ปีกุน แม่ให้ชื่อลูกไว้ตั้งแต่ยังไม่เกิดว่า "สาละวิน" ชึ่งหมายถึงชื่อของแม่น้ำพรมแดนกั้นระหว่างไทยกับพม่า สาละวินของแม่ถือกำเนิดมาจากแม่ซึ่งเป็นคนไทยและพ่อที่อพยพมาจากพม่า ชื่อของลูกที่เปรียบเทียบได้กับแม่น้ำพรมแดนเชื่อมสายสัมพันธ์ให้เราสองคนอยู่เคียงข้างกันตลอดไปดังเช่นไทยและพม่า
เจนจิรา สุ
มะโนตัดสินใจอยู่นานกว่าสองวันหลังจากที่หญิงกระยันร่างกายผอมบางอายุ 52 ปี สะดุดล้มในห้องน้ำจนทำให้ให้เกิดอาการบวมที่ท้องด้านขวา เมื่อทนการรบเร้าจากคนรอบข้างไม่ไหวให้ไปหาหมอ เธอจึงเปิดหีบใบใหญ่ที่ใส่ข้าวของเงินทองที่มีอยู่รวมไปถึงเอกสารประจำตัวต่างๆ เพื่อค้นใบเล็กๆ สีเขียว มันเป็นบัตรเข้ารับการบริการที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด แต่จนแล้วจนรอดก็หาไม่พบ
เจนจิรา สุ
จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นอีกจังหวัดหนึ่งในประเทศไทยที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินึกถึงเมื่อเดินทางมาเยือนภาคเหนือของไทยแม้หนทางที่มุ่งสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอนจากจังหวัดเชียงใหม่   จะคดโค้งลาดชันน่าหวาดเสียวจนขึ้นชื่อว่า   หากใครเดินทางมาถึงแม่ฮ่องสอนจะเป็นดั่งผู้พิชิตจำนวนโค้งมากที่สุดถึง 1,864 โค้งเลยทีเดียว