Skip to main content

มีนาคม 2551


ฉันตอบจดหมายแฟนนักอ่านคอลัมน์ของฉันคนหนึ่ง เธอเป็นคนปักษ์ใต้ นานเป็นเดือนที่จดหมายมาถึงพร้อมเสื้อผ้าและข้าวของกล่องใหญ่ ด้วยเจตนาทดแทนความขาดแคลนตามความรู้สึกของเธอ ที่สัมผัสจากการอ่านในบันทึกของฉันอยู่สองสามฉบับ เธอบอกว่าอิจฉานิดๆ ในชีวิตที่เรียบง่ายที่ฉันเลือกเดิน ฉันจึงตอบเธอไปว่าฉันเป็นเพียงนกที่บินหลงทางมา



ก่อนหน้านี้ฉันก็ได้รับจดหมาย เสียงโทรศัพท์ และหนังสือดีๆ ที่ถูกส่งมาจากคนเมืองไกลจากเพื่อนที่ห่างหายการติดต่อมานานแสนนาน และจากมิตรร่วมความรู้สึกที่ไม่เคยเห็นหน้า


อาจดูเป็นเรื่องแปลกหรือมีเปอร์เซ็นต์น้อยเหลือเกิน ที่คนปกติธรรมดา เกิด และเติบโตในสังคมเมือง ได้รับการศึกษาเต็มความสามารถที่จะไปถึง ตัดสินใจทิ้งสังคมศิวิไลซ์มาใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ ที่ไร้ความสะดวกสบาย และเก็บงำตัวเองออกจากโลกภายนอก


เมื่อมองย้อนกลับไป ฉันพบตัวเองก้าวข้ามสะพานเล็กๆ ด้วยความรู้สึกไม่มั่นคงนัก สะพานที่เชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้าน หากแต่อีกฟากหนึ่งของสะพานกลับเป็นโลกอีกใบที่แตกต่าง ราวกับตัดขาดหมู่บ้านที่ห่างออกมาไม่ถึงร้อยเมตร


บนถนนเส้นเดียวที่ตัดเข้าหมู่บ้าน ฉันย่างเท้าด้วยความรู้สึกหดหู่ใจ ไม่กล้าแม้แต่จะเพ่งสายตาไปยังจุดใด เท้าสั่งให้ก้าวย่างไปข้างหน้าอย่างระมัดระวังตัว


ฉันมองเห็นทุกอย่างถูกทำให้เป็นสินค้าแม้กระทั่งตัวเธอเอง ไม่ว่าจะเป็นการจัดวางข้าวของที่ระลึก การยืนหลังร้าน ยิ้มแบบเดียวกัน เพื่อเชื้อเชิญให้นักท่องเที่ยวเข้ามาถ่ายรูป และมีแก่ใจซื้อของในร้าน


เมื่อเวลาผ่านไป ฉันได้ค้นพบสิ่งที่อยู่หลังร้านขายของเหล่านั้น มันคือครรลองชีวิตและสีสันที่แตกต่างจากที่เคยรู้สึก มันซ่อนอยู่วิถีชีวิตประจำวันของพวกเขา อยู่บนเตาไฟควันโขมง อยู่ในวงแขนที่กรำงานหนัก อยู่ที่ปลายควันกระบอกปืนยามเข้าป่าล่าสัตว์ หรือแม้แต่ยามตะวันตกดินบนเสื่อที่นอนแข็งชา


ลึกลงไปในความรู้สึกของหญิงชราที่หาบห่วงทองเหลืองอันหนักอึ้งไว้บนไหล่ ห่วงสีทองยังคงคุณค่าตั้งแต่เริ่มใส่และงดงามเสมอมาจนถึงวันนี้ แม่เฒ่าปฏิญาณว่าจะไม่ถอดออกแม้ถึงวันที่ดินกลบหน้า


ทว่าห่วงโซ่แห่งความรู้สึกย่อมมีวันเก่าผุพัง ห่วงสีทองกลายเป็นพันธนาการแห่งชีวิตที่ไม่อาจปฏิเสธ ในความรู้สึกของกระยันแรกรุ่น ที่ความเชื่อถูกสั่นคลอนด้วยตู้สี่เหลี่ยม ถ่ายทอดโลกภายนอกที่ทะลักล้นเข้ามาในหมู่บ้านอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน



หญิงกระยันวัยรุ่นไม่น้อย ปลดปล่อยตัวเองในชุดยีนหลังพระอาทิตย์ตกดิน แต่เมื่อยามเช้ามาถึงพวกเธอก็พร้อมที่จะเปลี่ยนเป็นเสื้อกระสอบ ผูกผมหน้าม้า ยืนอยู่ในที่ประจำ ก่อนจะสลัดชุดทำงานเมื่อแขกคนสุดท้ายลากลับ


ในขณะที่อีกหลายคนเลือกที่จะทิ้งห่วงทองเหลือง หันหลังกลับคืนสู่ศูนย์อพยพ พวกเธอหวังว่าจะได้บินไกลไปอยู่ประเทศที่สามตามโครงการของ UNDP


หากย้อนกลับไปเมื่อสามสิบปีก่อน ชุมชนกระยันแห่งนี้ยังคงอาศัยในอีกฝั่งของแม่น้ำสาละวิน ในรัฐคะยา ประเทศพม่า วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของพวกเขา ยังไม่พบกับการเปลี่ยนแปลงที่บ่าไหลมากับผู้คนแปลกหน้าที่เข้ามาทักทายถึงบันไดบ้าน


ชุมชนเล็กๆ ที่ตั้งอยู่กระจัดกระจายไปตามท้องไร่ท้องนา วิถีชีวิตผูกพันอยู่กับการทำกสิกรรม ครรลองชีวิตดำเนินไปอย่างเนิบช้าและเรียบง่าย


ชาวกระยันได้เริ่มอพยพเข้ามาในประเทศไทยราวกับนกอพยพที่คอยส่งข่าวให้กันถึงโอเอซีสแห่งใหม่ และจนกระทั่งปัจจุบันเราสามารถพบเห็นชาวกระยันได้เกือบทั่วภาคเหนือของไทย


เหตุอันใดที่นกพลัดถิ่นเช่นพวกเขาตัดสินใจทิ้งรังที่อยู่มาค่อนชีวิต บินลัดฟ้ามาไกลถึงแดนสยาม คงจะเป็นคำตอบเดียวกันกับผู้ลี้ภัยอีกหลายๆชนเผ่า ชนกลุ่มน้อยที่รักสงบ ถูกรุกรานจากระบบการปกครองที่ไม่เหลือที่ว่างให้กับผู้อ่อนแอ


จากทุ่งหญ้ากว้างใหญ่สู่กรงทองที่พร้อมพรั่งไปด้วยอาหาร สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้พวกเขาต้องปรับตัวในการดำรงชีวิต


หมู่บ้านห้วยเสือเฒ่า ที่ไม่มีแม้แปลงผักหลังบ้าน กระท่อมหลังเล็กๆ นับสิบหลังปลูกเบียดเสียดกันบนผืนนาเพียงสิบไร่เศษ มองเห็นคนแปลกหน้าย่ำเท้าเข้ามามากมายเสียยิ่งกว่าข้าวในนา


พวกเขาหว่านเพาะเม็ดเงินแทนเม็ดข้าว ใช้วัฒนธรรมที่เข้มแข็งแทนปุ๋ย บนที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยความกระหายใคร่รู้ของนักท่องเที่ยว ถึงกับทำให้บางคนร่ำรวยมั่งคั่ง


แต่สิ่งที่มีค่ามากไปกว่าเงินทอง การกินอิ่มนอนอุ่น คือการฝันถึงอิสรภาพ นกในกรงทองที่มีค่าตัวแพงลิ่ว มีอาหารคอยป้อนเช้าเย็น แต่ไร้ซึ่งเสรีภาพที่จะโผบิน


ประเทศไทยซึ่งมีชนกลุ่มน้อยมากมาย อาจพบเห็นเดินสวนทางกันไปมาบนทางเท้า ร้านค้า ร้านอาหารหรือแม้แต่มหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้หมายถึงชนเผ่ากระยันที่ไร้แม้กระทั่งสัญชาติ ไม่มีโอกาสทางการศึกษา และดูเหมือนว่าจะถูกแถมพ่วงด้วยการดูหมิ่นทางวัฒนธรรมมากกว่าชนเผ่าทั่วไป


แม้ชาวกระยันจะอาศัยอยู่ในประเทศไทยมานาน บางครอบครัวอาจนานกว่ายี่สิบปี เป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศและเกือบทั่วโลก แต่ก็ไม่อาจระบุสถานะที่ชัดเจนได้ เพราะหากเป็นผู้ลี้ภัยจากการสู้รบ ก็ต้องอาศัยอยู่ในศูนย์อพยพบ้านในสอย


พวกเขาได้อิสรภาพเต็มที่หากยังอยู่ในเขตชุมชนและผืนป่าที่จัดไว้สำหรับการท่องเที่ยว แต่ไม่มีที่ว่างแม้เพียงนิดหากก้าวล้ำเข้ามาสู่เขตเมือง


วันหนึ่งนกที่ฝันแต่จะบิน กับนกที่บินมาจนเหนื่อยได้มาเจอกัน นกตัวหนึ่งพยายามปลดปล่อยนกอีกตัวเพื่อให้สามารถกระพือปีกเคียงข้างกันไปในท้องฟ้า แต่มันก็ยากเกินกว่าที่จะทำได้


นกตัวนั้นจึงหักปีกตัวเองเพื่อเข้าไปอยู่เคียงข้างนกในกรงทอง เพื่อจะไม่รู้สึกอย่างโดดเดี่ยวเช่นที่ผ่านมา และรอคอยว่าสักวันจะได้บินไปในท้องฟ้าอีกครั้งกับคู่ของมัน หากวันใดกรงที่กักขังเปิดอ้าและคืนอิสรภาพให้นกในกรงทอง.


บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
12 ตุลาคม 2550 ยามสายของวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่สนามบินแตกตื่นไปกับผู้คนที่เดินทางไปรับผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนใหม่ โดยเฉพาะเมื่อเห็นหญิงกระยันสวมห่วงทองเหลืองที่ขัดจนแวววาว เดินอย่างเป็นระเบียบมาเข้าแถวต้อนรับผู้ว่าฯ คนใหม่อย่างพร้อมเพียงบางคนที่มารอขึ้นเครื่องเข้ามากดชัตเตอร์ขอถ่ายรูปพวกเธอที่แต่งชุดกระยันเต็มยศ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส มะลิ เด็กสาวกระยันคนหนึ่งถูกเลือกให้กล่าวคำต้อนรับท่านผู้ว่าฯ ด้วยเหตุผลที่เธอสามารถอ่านหนังสือภาษาไทยได้ชัดเจนที่สุด แม้ว่าเธอจะประหม่าบ้างกับกล้องถ่ายรูป ผู้คน และภารกิจที่เธอจะต้องทำ แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดี…
เจนจิรา สุ
25 กันยายน 2550 หมู่บ้านใหม่ค่อนข้างจะคึกคักตกเย็นมีเสียงดีดสีตีเป่าร้องรำทำเพลงเป็นเพลงพื้นบ้าน  เสียงซึงประสานเสียงโม่งสอดรับกับท่วงทำนองเนื้อร้องของแม่เฒ่า เอื้อนไต่บันไดเสียงคลอปี่ไม้ไผ่ผิวหวิวไหวขึ้นลง ไล่เลียงไปไม่ทันสุดบันไดเสียงก็โยนกลับไป-มาเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้ฉันรู้สึกราวกับว่าตกอยู่ในหมู่บ้านลี้ลับกลางป่าเปลี่ยวดึกดำบรรพ์ที่ไหนสักแห่งที่เคยอยู่อาศัยเมื่อนานมาแล้ว ต่างจากหมู่บ้านเดิมลิบลับ ที่นี่ไม่มีแบตเตอรี่พอเพียงสำหรับเปิดเพลงจากซีดี ไม่มีทีวีให้รุมดู แต่มีกาน้ำชาอุ่นบนกองไฟที่ล้อมวงไปด้วยเด็กๆ หนุ่มสาว จนถึงคนเฒ่าคนแก่ ปรึกษาหารือถึงวิถีชีวิตของวันพรุ่งนี้…
เจนจิรา สุ
20 กันยายน 2550 เจ้าเขียวสะอื้น (มอเตอร์ไซค์คู่ชีพ) ส่งเสียงครางกระหึ่มอุ่นเครื่องอยู่ใต้ถุนบ้าน ก่อนที่มันจะต้องเดินทางไกลในเส้นทางที่ฟ้าสวยแต่พื้นดินแสนขรุขระตรงกันข้าม สามีฉันจึงจัดแจงเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เช็คเครื่อง และเพิ่มตะกร้าหลังให้มันเพื่อบรรทุกสัมภาระที่ขนย้ายไปไม่หมด  ชาวบ้านหลายครอบครัวได้ย้ายไปดำเนินชีวิตที่หมู่บ้านใหม่ก่อนหน้าฉันหลายวันแล้ว แต่ฉันติดตรงที่ต้องพาลูกไปฉีดวัคซีนตามที่หมอนัด จึงยังอาศัยอยู่ที่บ้านแม่สามีไปพลางก่อนเช้านี้เราจึงตัดสินใจจะเดินทางไปหมูบ้านใหม่กัน สำหรับฉันค่อนข้างจะตื่นเต้นเพราะยังไม่เคยเห็นบ้านใหม่ของตัวเองสักที …
เจนจิรา สุ
12 กันยายน 2550 และแล้วก็มาถึงวันที่ทุกคนรอคอย เมื่อวันที่ย้ายต้องเลื่อนออกมาจากกำหนดเดิมอีกสองวัน แสงแดดดูเหมือนจะเป็นใจสาดส่องให้ถนนเส้นทางสายห้วยเดื่อ- ห้วยปูแกงที่เคยชื้นแฉะและเป็นหลุมบ่อจากน้ำฝนแห้งสนิท
เจนจิรา สุ
5 กันยายน 2550 ยามเช้า,ตื่นขึ้นด้วยเสียงเลื่อยไม้, เสียงค้อนตอกตะปู,เสียงสังกะสีกระทบพื้นดังโครมคราม ไก่หลายตัวที่เคยขันปลุกทุกเช้า ถูกเชือดเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงคนที่มาช่วยลงแขกรื้อบ้านตั้งแต่เมื่อวานและเช้านี้ บ้านหลายหลังพังพาบเป็นกองไม้ รอวันขนย้ายไปที่แห่งใหม่ เด็กๆ วิ่งตึงตังในห้องกลางเพราะต้องมานอนรวมแออัดกันที่บ้านย่า ก็คือบ้านสามีของฉัน แม่บ้านและเด็กสาววุ่นวายอยู่ในครัว เหตุการณ์ชุลมนเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อหลายวันก่อน ชาวบ้านมาขอคำปรึกษาเรื่องบ้าน ฉันจึงตัดสินใจกดหมายเลขโทรศัพท์ต่อสายพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับปลัดหนุ่มที่ดูแลพื้นที่“ปลัดฯหรือคะ คือฉันมีเรื่องรบกวนจะเรียนถาม…
เจนจิรา สุ
31สิงหาคม2550 22.40 น.ฉันลุกขึ้นเปิดดวงไฟจากแบตเตอรี่อีกครั้ง หลังจากที่ลุกขึ้นมาโทรศัพท์สนทนากับเพื่อนที่เชียงใหม่ ระบายความกลัดกลุ้มด้วยคำพูดแต่ดูเหมือนเมื่อปิดไฟลง ดวงตาก็เบิกโพลงไปกับความคิดฉันจึงปล่อยความคิดโลดแล่นไปกับปลายปากกานับถอยหลังไปอีกสิบวัน หมู่บ้านที่ฉันอาศัยอยู่นี้ก็จะถูกย้ายไปที่แห่งใหม่ ตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยให้ไปรวมกับหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ไกลออกไปติดชายแดนไทย-พม่าทางฝั่งทิศตะวันตก    เนื่องจากชาวบ้านที่นี่อาศัยอยู่กับนายทุนมานานกว่า 12 ปี ด้วยสัญลักษณ์ที่พิเศษแตกต่างกว่าชนเผ่าอื่น “กะยัน” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ากะเหรี่ยงคอยาว…