Skip to main content

ตุลาคม 2551

"พร้อมหรือยัง"
ใครคนหนึ่งตะโกนประโยคซ้ำเมื่อห้านาทีที่แล้ว เมื่อขบวนหนุ่มสาวต่างถิ่นยังคงง่วนอยู่กับการกดชัตเตอร์เก็บภาพ
แสงแดดยามเก้าโมงเช้า ช่างยวนใจให้ไม่อาจละสายตาจากหญิงกระยันที่ปะแป้งแต่งตัวกันจนเป็นที่เรียบร้อย หลายคนจึงยังเสียดายที่จะละกล้องแล้วออกเดินทาง

"หากไปสายกว่านี้เราจะร้อนมากเมื่ออยู่กลางป่า" ฉันเตือนเพื่อนที่ไม่มีประสบการณ์ในการเดินเท้าสู่หมู่บ้านกลางป่าที่อยู่ห่างออกไปจากที่นี่ราวๆ สามกิโลดอย


ต๋อม ตรี แดน แอค และวาซามิหนึ่งสาวญี่ปุ่นที่พูดไทยได้ชัดแจ๋ว กลุ่มนักถ่ายรูปมือสมัครเล่น ที่มาเยือนหมู่บ้านห้วยเสือเฒ่า และได้ค้างแรมหมู่บ้านใต้แสงดาวแห่งนี้เมื่อคืนที่ผ่านมา


เช้านี้ พวกเขาวางแผนจะเดินทางไปถ่ายรูปหมู่บ้านกระเหรี่ยงคอยาวบ้านห้วยปูแกง ฉันจึงถือโอกาสติดตามขบวนของพวกเขา "เพื่อกลับบ้าน" บ้านที่ยังคงอยู่ในความทรงจำเสมอ


บ้านที่ว่านี้ก็คือ หมู่บ้านกลางป่าใหญ่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนทุ่มงบประมาณเพื่อสร้างโครงการที่สวยหรูในชื่อ "โครงการหมู่บ้านอนุรักษ์วิถีชีวิตชนเผ่ากระเหรี่ยง(ประด่อง)เพื่อความมั่นคงจังหวัดแม่ฮ่องสอน" ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อราวต้นปี 2550


นึกแล้วก็ใจหาย ฉันแทบจำไม่ได้ว่าครั้งสุดท้ายที่เข้ามาหมู่บ้านนั้นนานเท่าไรแล้ว นับตั้งแต่ผู้คนได้ย้ายเข้าไปอาศัยในหมู่บ้านเมื่อเดือนกันยายนปีก่อน


ไม่กี่เดือนต่อมาฉันก็ถอยหลังมาเป็นเพียงผู้เฝ้าสังเกตการณ์ มันไม่มีเหตุผลอันใดภายใต้เงื่อนไขของภาวการณ์ดำรงชีวิต ที่ถูกขีดให้ต้องเลือกเอาระหว่างภาระภายในและภาระทางสังคม


ข้อจำกัดของฉันคือภาระภายในที่รุมเร้า ฉันไม่อาจทุ่มเทเวลา สมอง ร่างกาย ให้กับหมู่บ้านในฝันได้เช่นที่เคยทำมาแต่ต้น


ชาวบ้านถูกปล่อยให้สานฝันนั้นแต่ลำพัง ด้วยความคลางแคลงใจว่ากลายเป็นผู้ถูกทอดทิ้งท่ามกลางกระแสลมพายุที่โหมกระหน่ำพัด


ฉันไม่อาจปฏิเสธว่ามีส่วนทำให้หมู่บ้าน ตกอยู่ท่ามกลางพายุที่โหดร้ายโดยไม่ได้เหลียวแล ซึ่งทำให้ฉันไม่กล้าแม้แต่จะจดบันทึกความพ่ายแพ้ที่ย่อยยับลงในเวลาอันสั้น


การเดินทางที่ไม่ได้วางแผน ชักนำให้เท้าก้าวไปตามเส้นทางกลับบ้านที่ถูกปล่อยทิ้งร้าง เส้นทางที่ฉันเลือกเดินเมื่อไฟยังคุกรุ่น


เส้นทางสู่วิหารแห่งชีวิตที่เคยพลีร่างกาย เวลา สติปัญญาและแม้แต่ชีวิต เพื่อให้วิหารของตนเองมีความศักดิ์สิทธิ์สวยงาม  แต่แล้วจู่ๆ ฉันกลับทอดทิ้งวิหาร ออกนอกเส้นทางที่เคยเดินโดยไม่ได้ล่ำลา นานเนิ่นนานที่ไม่กล้าแม้แต่จะหวนกลับไปดูซากปรักหักพัง


ข่าวที่แว่วมาว่าหมู่บ้านอนุรักษ์วิถีชีวิตชนเผ่ากระเหรี่ยง (ประด่อง) เพื่อความมั่นคงจังหวัดแม่ฮ่องสอน หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ "บ้านใหม่ห้วยปูแกง" กลายเป็นบ้านร้าง เงียบเป็นป่าช้า และกำลังกลับคืนเป็นป่าหญ้าในอีกไม่นานนั้น วันนี้ฉันจะได้ไปประจักษ์กับตา


เพื่อนร่วมเดินทางดูมีความตื่นเต้นไม่น้อย ทุกคนหยิบสัมภาระไปเพียงน้ำดื่มและกล้องถ่ายรูป สำหรับตรีและพวกเราชาวบ้านที่เคยไปมาหลายครั้งไม่มีวี่แววกังวลเท่าใดนัก


ในขณะที่ต๋อม ดูท่าทางจะตื่นเต้นที่สุด เพราะนี่เป็นครั้งแรกในชีวิตของการมาเยือนแม่ฮ่องสอน และการเดินทางไกลด้วยสองเท้าในเส้นทางที่ไม่รู้จัก


วาซามิเล่าว่าที่ญี่ปุ่นก็มีภูเขามากมาย เพราะเป็นเกาะมีทะเลล้อมรอบ จึงไม่ได้ตื่นเต้นอะไรกับการเดินทางครั้งนี้ ดูเธอจะเป็นคนเดียวที่ไม่บ่นและเดินด้วยจังหวะเท้าที่สม่ำเสมอเช่นคนชาวป่าอย่างเรา


แอคและแดนนั้น ยังคงง่วนอยู่กับการเก็บภาพ พวกเขาคงจะหอบภาพนับร้อยๆ เพื่อกลับไปบอกเล่าถึงความสนุก ความตื่นเต้นและประทับใจ ที่ได้มาสัมผัสครั้งแรก


คงอีกนานที่พวกเขาจะกลับมาอีก หรืออาจจะนานจนกระทั่งลืมแม้แต่ชื่อผู้คน สถานที่ ที่เคยเก็บภาพไปแล้วก็ได้


หลายสิ่งที่ผ่านเลนส์แห่งชีวิต ไม่ใช่ภาพเสมือน แต่มันชัดเจนและประทับอยู่ในสมองเรา บางครั้งอาจจะลืมภาพผู้คนที่เราผ่านพบ หรือเลือกที่จะจดจำเพียงบางเฟรมแห่งชีวิต แต่เราไม่อาจทอดทิ้งสิ่งที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบันขณะได้ เช่น หมู่บ้านใหม่ห้วยปูแกงใหม่ยามนี้ ที่กำลังจะปิดตำนานลงในเวลาเพียงไม่ถึงสองปี ล้วนเป็นภาพความทรงจำที่ดูเหมือนจะมีไว้ให้ทุกคนรีบลืมมันไป


และแล้วขบวนของเราที่ประกอบด้วยเพื่อนต่างถิ่นห้าคน ฉันและสามี ก็ค่อย ๆ ผ่านแนวป่าเข้าสู่เขตหมู่บ้านเกือบเที่ยงวัน ส่วนพี่เขยและพี่ชายสามีล่วงหน้ามานั่งหย่อนขาอยู่บนกระท่อมก่อนแล้ว

 

 


จากแนวป่าที่โอบล้อม คลายออกให้เห็นภาพหลังคากระท่อมนับสิบหลังที่ยืนเรียงรายอย่างสงบ เงียบ และวังเวงในความรู้สึก


กระท่อมหลายหลังทรุดโทรมเหมือนคนป่วยไข้ที่ถูกปล่อยให้นอนคาเตียงอย่างเดียวดาย ดูเหมือนจะมีเพียงมีต้นหญ้าที่สูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างร่าเริง


ผู้คนที่เคยมาเยือนอาจจะนึกภาพไม่ออก ถึงชีวิตใต้กระท่อมใบตองตึง ควันไฟจากการเผาไหม้ที่ลอยคว้างเป็นสายเนิ่นนานวัน แปลงผักจากหยาดเหงื่อแรงงานในครอบครัว รอยยิ้มหัวของลูกเล็กเด็กแดงที่ตื่นเต้นกับสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ


หรืออาจจะเป็นถนนนั่นที่เคยระดมกำลังกันสร้างมันขึ้นมา โดยไม่รู้ว่าในอนาคตที่มาถึงจะกลายเป็นเพียงทางเดินของวัวควาย ไม่ใช่นักท่องเที่ยวอย่างที่หวัง


มีบ้านที่อยู่ใกล้หมู่บ้านห้วยปูแกงเดิมสองสามหลังเท่านั้นที่ยังมีสัญญาณแห่งชีวิต ผู้คนส่วนใหญ่เลือกกลับคืนสู่เส้นทางที่จากมา ไม่ว่าจะหวนคืนสู่บ้านห้วยเสือเฒ่า บ้านเก่าห้วยปูแกง และศูนย์อพยพบ้านในสอย


"ไปดูบ้านเราหน่อยไหม"
สามีร้องเตือนเมื่อเห็นฉันยังยืนตะลึงในภาพที่เห็น สายตาที่ตอบไปแทนคำพูดโดยไม่ต้องให้เอ่ยซ้ำ ฉันไม่กล้าแม้แต่จะเดินไปดูบ้านของตัวเอง


มีใครบางคนถามถึงความเป็นมาเป็นไปของหมู่บ้าน ฉันอ้อมแอ้มตอบไปไม่เต็มเสียง


หน่วยความรู้สึกไหลมาจุกที่อกจนไม่อาจเอ่ยคำใดออกมา พี่ชายและพี่เขยคงรู้สึกแบบเดียวกัน มันคือสมรภูมิรบที่เราพ่ายแพ้อย่างยับเยินในเวลาอันรวดเร็ว


สมรภูมิรบที่เรารู้อยู่แก่ใจว่าไม่มีทางชนะ เราไม่มีเสบียง ไม่มีแม่ทัพ ไม่มีกองหนุนที่มีความจริงใจพอที่จะร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่


เราค่อยๆ หมดสิ้นซึ่งกำลังใจทีละนิดทีละนิด และเมื่อทุกคนเลิกรบ ก็ไม่มีใครที่อยากจะเอ่ยถึงความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้น แม้จะไม่ได้เกิดความเสียหายถึงชีวิตแต่ก็ทิ้งร่องรอยบาดแผลไว้ในใจเราทุกคน.




 

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
12 ตุลาคม 2550 ยามสายของวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่สนามบินแตกตื่นไปกับผู้คนที่เดินทางไปรับผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนใหม่ โดยเฉพาะเมื่อเห็นหญิงกระยันสวมห่วงทองเหลืองที่ขัดจนแวววาว เดินอย่างเป็นระเบียบมาเข้าแถวต้อนรับผู้ว่าฯ คนใหม่อย่างพร้อมเพียงบางคนที่มารอขึ้นเครื่องเข้ามากดชัตเตอร์ขอถ่ายรูปพวกเธอที่แต่งชุดกระยันเต็มยศ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส มะลิ เด็กสาวกระยันคนหนึ่งถูกเลือกให้กล่าวคำต้อนรับท่านผู้ว่าฯ ด้วยเหตุผลที่เธอสามารถอ่านหนังสือภาษาไทยได้ชัดเจนที่สุด แม้ว่าเธอจะประหม่าบ้างกับกล้องถ่ายรูป ผู้คน และภารกิจที่เธอจะต้องทำ แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดี…
เจนจิรา สุ
25 กันยายน 2550 หมู่บ้านใหม่ค่อนข้างจะคึกคักตกเย็นมีเสียงดีดสีตีเป่าร้องรำทำเพลงเป็นเพลงพื้นบ้าน  เสียงซึงประสานเสียงโม่งสอดรับกับท่วงทำนองเนื้อร้องของแม่เฒ่า เอื้อนไต่บันไดเสียงคลอปี่ไม้ไผ่ผิวหวิวไหวขึ้นลง ไล่เลียงไปไม่ทันสุดบันไดเสียงก็โยนกลับไป-มาเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้ฉันรู้สึกราวกับว่าตกอยู่ในหมู่บ้านลี้ลับกลางป่าเปลี่ยวดึกดำบรรพ์ที่ไหนสักแห่งที่เคยอยู่อาศัยเมื่อนานมาแล้ว ต่างจากหมู่บ้านเดิมลิบลับ ที่นี่ไม่มีแบตเตอรี่พอเพียงสำหรับเปิดเพลงจากซีดี ไม่มีทีวีให้รุมดู แต่มีกาน้ำชาอุ่นบนกองไฟที่ล้อมวงไปด้วยเด็กๆ หนุ่มสาว จนถึงคนเฒ่าคนแก่ ปรึกษาหารือถึงวิถีชีวิตของวันพรุ่งนี้…
เจนจิรา สุ
20 กันยายน 2550 เจ้าเขียวสะอื้น (มอเตอร์ไซค์คู่ชีพ) ส่งเสียงครางกระหึ่มอุ่นเครื่องอยู่ใต้ถุนบ้าน ก่อนที่มันจะต้องเดินทางไกลในเส้นทางที่ฟ้าสวยแต่พื้นดินแสนขรุขระตรงกันข้าม สามีฉันจึงจัดแจงเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เช็คเครื่อง และเพิ่มตะกร้าหลังให้มันเพื่อบรรทุกสัมภาระที่ขนย้ายไปไม่หมด  ชาวบ้านหลายครอบครัวได้ย้ายไปดำเนินชีวิตที่หมู่บ้านใหม่ก่อนหน้าฉันหลายวันแล้ว แต่ฉันติดตรงที่ต้องพาลูกไปฉีดวัคซีนตามที่หมอนัด จึงยังอาศัยอยู่ที่บ้านแม่สามีไปพลางก่อนเช้านี้เราจึงตัดสินใจจะเดินทางไปหมูบ้านใหม่กัน สำหรับฉันค่อนข้างจะตื่นเต้นเพราะยังไม่เคยเห็นบ้านใหม่ของตัวเองสักที …
เจนจิรา สุ
12 กันยายน 2550 และแล้วก็มาถึงวันที่ทุกคนรอคอย เมื่อวันที่ย้ายต้องเลื่อนออกมาจากกำหนดเดิมอีกสองวัน แสงแดดดูเหมือนจะเป็นใจสาดส่องให้ถนนเส้นทางสายห้วยเดื่อ- ห้วยปูแกงที่เคยชื้นแฉะและเป็นหลุมบ่อจากน้ำฝนแห้งสนิท
เจนจิรา สุ
5 กันยายน 2550 ยามเช้า,ตื่นขึ้นด้วยเสียงเลื่อยไม้, เสียงค้อนตอกตะปู,เสียงสังกะสีกระทบพื้นดังโครมคราม ไก่หลายตัวที่เคยขันปลุกทุกเช้า ถูกเชือดเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงคนที่มาช่วยลงแขกรื้อบ้านตั้งแต่เมื่อวานและเช้านี้ บ้านหลายหลังพังพาบเป็นกองไม้ รอวันขนย้ายไปที่แห่งใหม่ เด็กๆ วิ่งตึงตังในห้องกลางเพราะต้องมานอนรวมแออัดกันที่บ้านย่า ก็คือบ้านสามีของฉัน แม่บ้านและเด็กสาววุ่นวายอยู่ในครัว เหตุการณ์ชุลมนเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อหลายวันก่อน ชาวบ้านมาขอคำปรึกษาเรื่องบ้าน ฉันจึงตัดสินใจกดหมายเลขโทรศัพท์ต่อสายพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับปลัดหนุ่มที่ดูแลพื้นที่“ปลัดฯหรือคะ คือฉันมีเรื่องรบกวนจะเรียนถาม…
เจนจิรา สุ
31สิงหาคม2550 22.40 น.ฉันลุกขึ้นเปิดดวงไฟจากแบตเตอรี่อีกครั้ง หลังจากที่ลุกขึ้นมาโทรศัพท์สนทนากับเพื่อนที่เชียงใหม่ ระบายความกลัดกลุ้มด้วยคำพูดแต่ดูเหมือนเมื่อปิดไฟลง ดวงตาก็เบิกโพลงไปกับความคิดฉันจึงปล่อยความคิดโลดแล่นไปกับปลายปากกานับถอยหลังไปอีกสิบวัน หมู่บ้านที่ฉันอาศัยอยู่นี้ก็จะถูกย้ายไปที่แห่งใหม่ ตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยให้ไปรวมกับหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ไกลออกไปติดชายแดนไทย-พม่าทางฝั่งทิศตะวันตก    เนื่องจากชาวบ้านที่นี่อาศัยอยู่กับนายทุนมานานกว่า 12 ปี ด้วยสัญลักษณ์ที่พิเศษแตกต่างกว่าชนเผ่าอื่น “กะยัน” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ากะเหรี่ยงคอยาว…