Skip to main content

ตุลาคม 2551

"พร้อมหรือยัง"
ใครคนหนึ่งตะโกนประโยคซ้ำเมื่อห้านาทีที่แล้ว เมื่อขบวนหนุ่มสาวต่างถิ่นยังคงง่วนอยู่กับการกดชัตเตอร์เก็บภาพ
แสงแดดยามเก้าโมงเช้า ช่างยวนใจให้ไม่อาจละสายตาจากหญิงกระยันที่ปะแป้งแต่งตัวกันจนเป็นที่เรียบร้อย หลายคนจึงยังเสียดายที่จะละกล้องแล้วออกเดินทาง

"หากไปสายกว่านี้เราจะร้อนมากเมื่ออยู่กลางป่า" ฉันเตือนเพื่อนที่ไม่มีประสบการณ์ในการเดินเท้าสู่หมู่บ้านกลางป่าที่อยู่ห่างออกไปจากที่นี่ราวๆ สามกิโลดอย


ต๋อม ตรี แดน แอค และวาซามิหนึ่งสาวญี่ปุ่นที่พูดไทยได้ชัดแจ๋ว กลุ่มนักถ่ายรูปมือสมัครเล่น ที่มาเยือนหมู่บ้านห้วยเสือเฒ่า และได้ค้างแรมหมู่บ้านใต้แสงดาวแห่งนี้เมื่อคืนที่ผ่านมา


เช้านี้ พวกเขาวางแผนจะเดินทางไปถ่ายรูปหมู่บ้านกระเหรี่ยงคอยาวบ้านห้วยปูแกง ฉันจึงถือโอกาสติดตามขบวนของพวกเขา "เพื่อกลับบ้าน" บ้านที่ยังคงอยู่ในความทรงจำเสมอ


บ้านที่ว่านี้ก็คือ หมู่บ้านกลางป่าใหญ่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนทุ่มงบประมาณเพื่อสร้างโครงการที่สวยหรูในชื่อ "โครงการหมู่บ้านอนุรักษ์วิถีชีวิตชนเผ่ากระเหรี่ยง(ประด่อง)เพื่อความมั่นคงจังหวัดแม่ฮ่องสอน" ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อราวต้นปี 2550


นึกแล้วก็ใจหาย ฉันแทบจำไม่ได้ว่าครั้งสุดท้ายที่เข้ามาหมู่บ้านนั้นนานเท่าไรแล้ว นับตั้งแต่ผู้คนได้ย้ายเข้าไปอาศัยในหมู่บ้านเมื่อเดือนกันยายนปีก่อน


ไม่กี่เดือนต่อมาฉันก็ถอยหลังมาเป็นเพียงผู้เฝ้าสังเกตการณ์ มันไม่มีเหตุผลอันใดภายใต้เงื่อนไขของภาวการณ์ดำรงชีวิต ที่ถูกขีดให้ต้องเลือกเอาระหว่างภาระภายในและภาระทางสังคม


ข้อจำกัดของฉันคือภาระภายในที่รุมเร้า ฉันไม่อาจทุ่มเทเวลา สมอง ร่างกาย ให้กับหมู่บ้านในฝันได้เช่นที่เคยทำมาแต่ต้น


ชาวบ้านถูกปล่อยให้สานฝันนั้นแต่ลำพัง ด้วยความคลางแคลงใจว่ากลายเป็นผู้ถูกทอดทิ้งท่ามกลางกระแสลมพายุที่โหมกระหน่ำพัด


ฉันไม่อาจปฏิเสธว่ามีส่วนทำให้หมู่บ้าน ตกอยู่ท่ามกลางพายุที่โหดร้ายโดยไม่ได้เหลียวแล ซึ่งทำให้ฉันไม่กล้าแม้แต่จะจดบันทึกความพ่ายแพ้ที่ย่อยยับลงในเวลาอันสั้น


การเดินทางที่ไม่ได้วางแผน ชักนำให้เท้าก้าวไปตามเส้นทางกลับบ้านที่ถูกปล่อยทิ้งร้าง เส้นทางที่ฉันเลือกเดินเมื่อไฟยังคุกรุ่น


เส้นทางสู่วิหารแห่งชีวิตที่เคยพลีร่างกาย เวลา สติปัญญาและแม้แต่ชีวิต เพื่อให้วิหารของตนเองมีความศักดิ์สิทธิ์สวยงาม  แต่แล้วจู่ๆ ฉันกลับทอดทิ้งวิหาร ออกนอกเส้นทางที่เคยเดินโดยไม่ได้ล่ำลา นานเนิ่นนานที่ไม่กล้าแม้แต่จะหวนกลับไปดูซากปรักหักพัง


ข่าวที่แว่วมาว่าหมู่บ้านอนุรักษ์วิถีชีวิตชนเผ่ากระเหรี่ยง (ประด่อง) เพื่อความมั่นคงจังหวัดแม่ฮ่องสอน หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ "บ้านใหม่ห้วยปูแกง" กลายเป็นบ้านร้าง เงียบเป็นป่าช้า และกำลังกลับคืนเป็นป่าหญ้าในอีกไม่นานนั้น วันนี้ฉันจะได้ไปประจักษ์กับตา


เพื่อนร่วมเดินทางดูมีความตื่นเต้นไม่น้อย ทุกคนหยิบสัมภาระไปเพียงน้ำดื่มและกล้องถ่ายรูป สำหรับตรีและพวกเราชาวบ้านที่เคยไปมาหลายครั้งไม่มีวี่แววกังวลเท่าใดนัก


ในขณะที่ต๋อม ดูท่าทางจะตื่นเต้นที่สุด เพราะนี่เป็นครั้งแรกในชีวิตของการมาเยือนแม่ฮ่องสอน และการเดินทางไกลด้วยสองเท้าในเส้นทางที่ไม่รู้จัก


วาซามิเล่าว่าที่ญี่ปุ่นก็มีภูเขามากมาย เพราะเป็นเกาะมีทะเลล้อมรอบ จึงไม่ได้ตื่นเต้นอะไรกับการเดินทางครั้งนี้ ดูเธอจะเป็นคนเดียวที่ไม่บ่นและเดินด้วยจังหวะเท้าที่สม่ำเสมอเช่นคนชาวป่าอย่างเรา


แอคและแดนนั้น ยังคงง่วนอยู่กับการเก็บภาพ พวกเขาคงจะหอบภาพนับร้อยๆ เพื่อกลับไปบอกเล่าถึงความสนุก ความตื่นเต้นและประทับใจ ที่ได้มาสัมผัสครั้งแรก


คงอีกนานที่พวกเขาจะกลับมาอีก หรืออาจจะนานจนกระทั่งลืมแม้แต่ชื่อผู้คน สถานที่ ที่เคยเก็บภาพไปแล้วก็ได้


หลายสิ่งที่ผ่านเลนส์แห่งชีวิต ไม่ใช่ภาพเสมือน แต่มันชัดเจนและประทับอยู่ในสมองเรา บางครั้งอาจจะลืมภาพผู้คนที่เราผ่านพบ หรือเลือกที่จะจดจำเพียงบางเฟรมแห่งชีวิต แต่เราไม่อาจทอดทิ้งสิ่งที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบันขณะได้ เช่น หมู่บ้านใหม่ห้วยปูแกงใหม่ยามนี้ ที่กำลังจะปิดตำนานลงในเวลาเพียงไม่ถึงสองปี ล้วนเป็นภาพความทรงจำที่ดูเหมือนจะมีไว้ให้ทุกคนรีบลืมมันไป


และแล้วขบวนของเราที่ประกอบด้วยเพื่อนต่างถิ่นห้าคน ฉันและสามี ก็ค่อย ๆ ผ่านแนวป่าเข้าสู่เขตหมู่บ้านเกือบเที่ยงวัน ส่วนพี่เขยและพี่ชายสามีล่วงหน้ามานั่งหย่อนขาอยู่บนกระท่อมก่อนแล้ว

 

 


จากแนวป่าที่โอบล้อม คลายออกให้เห็นภาพหลังคากระท่อมนับสิบหลังที่ยืนเรียงรายอย่างสงบ เงียบ และวังเวงในความรู้สึก


กระท่อมหลายหลังทรุดโทรมเหมือนคนป่วยไข้ที่ถูกปล่อยให้นอนคาเตียงอย่างเดียวดาย ดูเหมือนจะมีเพียงมีต้นหญ้าที่สูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างร่าเริง


ผู้คนที่เคยมาเยือนอาจจะนึกภาพไม่ออก ถึงชีวิตใต้กระท่อมใบตองตึง ควันไฟจากการเผาไหม้ที่ลอยคว้างเป็นสายเนิ่นนานวัน แปลงผักจากหยาดเหงื่อแรงงานในครอบครัว รอยยิ้มหัวของลูกเล็กเด็กแดงที่ตื่นเต้นกับสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ


หรืออาจจะเป็นถนนนั่นที่เคยระดมกำลังกันสร้างมันขึ้นมา โดยไม่รู้ว่าในอนาคตที่มาถึงจะกลายเป็นเพียงทางเดินของวัวควาย ไม่ใช่นักท่องเที่ยวอย่างที่หวัง


มีบ้านที่อยู่ใกล้หมู่บ้านห้วยปูแกงเดิมสองสามหลังเท่านั้นที่ยังมีสัญญาณแห่งชีวิต ผู้คนส่วนใหญ่เลือกกลับคืนสู่เส้นทางที่จากมา ไม่ว่าจะหวนคืนสู่บ้านห้วยเสือเฒ่า บ้านเก่าห้วยปูแกง และศูนย์อพยพบ้านในสอย


"ไปดูบ้านเราหน่อยไหม"
สามีร้องเตือนเมื่อเห็นฉันยังยืนตะลึงในภาพที่เห็น สายตาที่ตอบไปแทนคำพูดโดยไม่ต้องให้เอ่ยซ้ำ ฉันไม่กล้าแม้แต่จะเดินไปดูบ้านของตัวเอง


มีใครบางคนถามถึงความเป็นมาเป็นไปของหมู่บ้าน ฉันอ้อมแอ้มตอบไปไม่เต็มเสียง


หน่วยความรู้สึกไหลมาจุกที่อกจนไม่อาจเอ่ยคำใดออกมา พี่ชายและพี่เขยคงรู้สึกแบบเดียวกัน มันคือสมรภูมิรบที่เราพ่ายแพ้อย่างยับเยินในเวลาอันรวดเร็ว


สมรภูมิรบที่เรารู้อยู่แก่ใจว่าไม่มีทางชนะ เราไม่มีเสบียง ไม่มีแม่ทัพ ไม่มีกองหนุนที่มีความจริงใจพอที่จะร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่


เราค่อยๆ หมดสิ้นซึ่งกำลังใจทีละนิดทีละนิด และเมื่อทุกคนเลิกรบ ก็ไม่มีใครที่อยากจะเอ่ยถึงความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้น แม้จะไม่ได้เกิดความเสียหายถึงชีวิตแต่ก็ทิ้งร่องรอยบาดแผลไว้ในใจเราทุกคน.




 

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
ฉันเป็นคนหนึ่งที่ติดตามชมละครเรื่องเมียหลวง ที่ถ่ายทอดทุกวันจันทร์-อังคารทางช่องเจ็ด เป็นละครไม่กี่เรื่องที่ฉันชอบดู ด้วยพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน รับสัญญาณโทรทัศน์ได้เพียงไม่กี่ช่อง  และอีกเหตุผลหนึ่งคือละครดีๆ มีไม่กี่เรื่อง  แม้หลายคนจะเหมารวมละครทีวีของไทยว่าเป็นละครน้ำเน่าเสียส่วนใหญ่ แต่ฉันก็เชื่อว่าละครที่สร้างมาจาก นวนิยาย ก็น่าจะมีเนื้อหาสาระบางอย่างสอนใจคนดูได้บ้าง ไม่ใช่จะดูแต่เพียงฉากตบกันของบรรดาเมียน้อยของคุณอนิรุจเท่านั้น
เจนจิรา สุ
เรานั่งพูดคุยบนชานหน้าบ้านอย่างออกรส ส่วนใหญ่ก็จะถามไถ่ทุกข์สุขกันและกัน เลยไปถึงญาติคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เห็นหน้ากันนาน พี่เขยขึ้นเรือนมาสมทบเมื่อสิ้นเสียงออดของโรงเรียนได้พักใหญ่ “ไปเป็นการ์ดยามมา เขาให้เดือนละสี่ร้อย” พี่สาวแจง เป็นรายได้เดียวที่เหลืออยู่ของครอบครัว
เจนจิรา สุ
 "ไตรบานา" แม่เฒ่ากล่าวขอบคุณเป็นภาษากระยัน เมื่อเราบอกลาเป็นภาษาเดียวกัน ยังมีครอบครัวพี่สาวของสามีที่อยู่ถัดไปอีกสามป็อก เราตั้งใจว่าจะเยี่ยมก่อนที่จะไม่ได้พบหน้ากันอีก เพราะทางยูเอ็นฯ ได้แจ้งว่า ครอบครัวของเธอจะได้ไปประเทศที่สามในอีกไม่ช้า เราเดินเท้าไปตามทางเดินอันแสนพลุกพล่าน ราวกับว่าผู้คนเร่งรีบเดินทางสู่งานเลี้ยงสังสรรค์ที่ไหนสักแห่ง ความแออัดของผู้คนซึ่งมีอยู่ราวๆ สองหมื่นคน ทำให้บนทางเท้าและที่สาธารณะต่างๆ ดูครึกครื้น กลบบังความทุกข์ของคนพลัดบ้าน
เจนจิรา สุ
บนถนนที่ทอดยาวสู่หุบเขาทางทิศตะวันตกของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เส้นทางที่ห่างออกมาเพียงสามสิบกิโลเมตรเศษ ลัดเลาะไปตามภูเขาบนถนนสายรพช. ซึ่งค่อยๆ แปรสภาพเป็นดินและหินลูกรังก่อนจะถึงสุดสายปลายทาง อันเป็นสถานที่คล้ายด่านกักกันมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่ไร้ประเทศและเสรีภาพ หมู่บ้านกลางป่าที่ปลูกเบียดเสียดเรียงรายทุกซอกหลีบของพื้นที่จัดสรร คนนับหมื่นอัดแน่นในที่อาศัยกว้างกว่าเท้าและหัวจะพาดวางเพียงไม่กี่วา ที่นี่คือศูนย์ผู้พักพิงบ้านในสอย
เจนจิรา สุ
 มีใครเคยใช้ชีวิตในบ้านนอกโดยเฉพาะทางภาคอีสาน เมื่อประมาณสัก 20 ปีก่อน อาจจะมีความทรงจำเกี่ยวกับวัดที่แตกต่างจากปัจจุบัน ฉันจำได้ว่าเมื่อครั้งยังเด็ก เราแทบจะก้มลงกราบที่เท้าพระ เมื่อท่านเดินผ่านด้วยความศรัทธาอย่างแท้จริง ซึ่งปัจจุบันเป็นไปได้ยาก ฉันเป็นชาวพุทธมาแต่อ้อนแต่ออก ด้วยหมู่บ้านที่มีวัดป่า พระเณรเพียงไม่กี่รูปหนึ่งในนั้นเป็นลูกพี่ลูกน้องฉันเอง เราจึงเที่ยวเล่นแวะเวียนมาที่วัดทุกครั้งที่มีโอกาส ฉันยังจำไม่ลืมที่พระหลวงพี่ จับเราพี่น้องนั่งเรียงแถวทำสมาธิ เทศน์สอนประวัติความเป็นมาของพุทธเจ้าให้ฟัง ความที่ท่านบวชตั้งแต่อายุยังน้อย ตอนนี้ท่านจึงกลายเป็นเจ้าอาวาสไปแล้ว
เจนจิรา สุ
เราทยอยออกจากบ้านร้างด้วยดวงใจที่ปวดร้าว ตรอกเล็กๆ ยาวเกือบหนึ่งกิโลเมตร เป็นเส้นทางสัญจรของผู้คนจากหมู่บ้านกลางป่าไปสู่บ้านห้วยปูแกงเก่า บัดนี้ถูกย่ำไปด้วยรอยของสัตว์สี่เท้า “เชื่อไหมว่าครั้งหนึ่ง เราเคยช่วยกันขนทรายจากแม่น้ำข้างล่างมาถมตรอกแห่งนี้ กระสอบทรายนับร้อยจากจำนวนคนเพียงหยิบมือเพื่อ....” ฉันหยุดคำพูดเพียงบางแค่นั้น ทิ้งบางส่วนค้างไว้ในความทรงจำ “เพื่ออะไรล่ะ” ใครคนหนึ่งยังคงตั้งคำถามต่อสิ่งที่ค้างคา “เพื่อให้นักท่องเที่ยวจากหมู่บ้านข้างนอกเขามาเห็นวิถีชีวิตเรา มาเห็นหมู่บ้านที่เป็นหมู่บ้านจริงๆ ไม่ใช่มีแต่ร้านขายของ แต่มันคงไกลเกินไป…
เจนจิรา สุ
สมรภูมิแห่งนี้เรารบกับอะไร ที่ผ่านมาเราถูกจองจำไว้ในกรงที่มองไม่เห็น เรามีอาหาร มีที่อยู่หลับนอน แต่เราไม่สามารถเป็นคนเต็มคนได้ เพราะเราไม่มีสิทธิ์คิดหรือแสดงความคิดเห็น ไม่สามารถรู้สึกเจ็บแค้นร้อนหนาว เราต้องทำหน้าที่อันถูกกำหนดมาจากผู้คุม ต้องทำงานหนักเพื่อสร้างความร่ำรวยให้กับนาย เพียงเพื่อส่วนแบ่งที่ถูกเจียดให้พอประทังชีวิต แล้ววันหนึ่งเราต้องการปลดแอก เราต้องการตั้งอาจักรของตนเอง มีบ้านและที่ดินที่เป็นของเราจริงๆ ได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมจากสมองและแรงกายของตนเอง
เจนจิรา สุ
ตุลาคม 2551"พร้อมหรือยัง"ใครคนหนึ่งตะโกนประโยคซ้ำเมื่อห้านาทีที่แล้ว เมื่อขบวนหนุ่มสาวต่างถิ่นยังคงง่วนอยู่กับการกดชัตเตอร์เก็บภาพแสงแดดยามเก้าโมงเช้า ช่างยวนใจให้ไม่อาจละสายตาจากหญิงกระยันที่ปะแป้งแต่งตัวกันจนเป็นที่เรียบร้อย หลายคนจึงยังเสียดายที่จะละกล้องแล้วออกเดินทาง "หากไปสายกว่านี้เราจะร้อนมากเมื่ออยู่กลางป่า" ฉันเตือนเพื่อนที่ไม่มีประสบการณ์ในการเดินเท้าสู่หมู่บ้านกลางป่าที่อยู่ห่างออกไปจากที่นี่ราวๆ สามกิโลดอย
เจนจิรา สุ
เสียงโหม่งขนาดใหญ่ประสานกับเสียงกลอง ฆ้อง ฉาบ แม้ฟังดูอึกทึกครึกโครม แต่ก็พลิ้วไหวไปตามทำนองขุล่ยมั้งที่เป็นขลุ่ยเฉพาะของชาวกระยัน ได้เริ่มขับประโคมหมู่บ้านราวป่า ส่งสัญญาณการเริ่มต้นของงานประเพณีต้นที “กะควาง” ในภาษากระยันถูกแปรออกมาเป็นภาษาเรียกอีกอย่างว่า “ต้นที” ซึ่งหมายถึงเสาไม้สีขาวแกะสลักปลายเสาให้เป็นรูปร่างคล้ายกับศิวลึงค์ ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ในหมู่บ้านชนเผ่ากระยัน(กระเหรี่ยงคอยาว) และชนเผ่ากระยา(กระเหรี่ยงแดง) ชาวกระยันเชื่อว่า ต้นทีเป็นต้นไม้ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งแรกบนโลกมนุษย์ การบูชาต้นทีก็เพื่อให้บรรพบุรุษของกระยัน…
เจนจิรา สุ
มีนาคม 2551 ฉันตอบจดหมายแฟนนักอ่านคอลัมน์ของฉันคนหนึ่ง เธอเป็นคนปักษ์ใต้ นานเป็นเดือนที่จดหมายมาถึงพร้อมเสื้อผ้าและข้าวของกล่องใหญ่ ด้วยเจตนาทดแทนความขาดแคลนตามความรู้สึกของเธอ ที่สัมผัสจากการอ่านในบันทึกของฉันอยู่สองสามฉบับ เธอบอกว่าอิจฉานิดๆ ในชีวิตที่เรียบง่ายที่ฉันเลือกเดิน ฉันจึงตอบเธอไปว่าฉันเป็นเพียงนกที่บินหลงทางมา ก่อนหน้านี้ฉันก็ได้รับจดหมาย เสียงโทรศัพท์ และหนังสือดีๆ ที่ถูกส่งมาจากคนเมืองไกลจากเพื่อนที่ห่างหายการติดต่อมานานแสนนาน และจากมิตรร่วมความรู้สึกที่ไม่เคยเห็นหน้า อาจดูเป็นเรื่องแปลกหรือมีเปอร์เซ็นต์น้อยเหลือเกิน ที่คนปกติธรรมดา เกิด และเติบโตในสังคมเมือง…
เจนจิรา สุ
20 พฤศจิกายน 2550 คืนนี้แสงจันทร์กำลังโผล่พ้นเหลี่ยมเขาทิศเหนือ ดาวพราวแต้มเต็มฟ้า เหล้าดีกรีแรงทิ้งก้นจอกตั้งวางเคียงดวงเทียนที่ถูกจุดขึ้นโดยแม่เฒ่า ฉันกระชับเสื้อกันหนาวอีกนิด เมื่อลมหนาวพรูมาทางหน้าต่างบานกว้าง แม่เฒ่าบอกให้ยกดื่มอีกสักจอกแล้วจะอุ่นขึ้น ฉันรินคืนให้แม่เฒ่าพลางถามถึงความหลังเมื่อครั้งที่ยังอยู่ที่เมืองดอยก่อ รัฐคะยา ประเทศพม่า “ตอนนั้นแม่ทำนามาได้ก็ต้องแบ่งให้กับเจ้าของนา ที่เหลือก็แทบไม่พอกิน ทหารพม่าก็ยังมาขูดรีดเอาอีก บางทีถ้าไม่ให้ก็ทุบตี พวกผู้ชายต้องพากันไปหลบซ่อนตัว  ไม่อย่างนั้นมันจะเกณฑ์ให้ไปขนระเบิดที่ชายแดน” “…
เจนจิรา สุ
10 พฤศจิกายน 2550 ฉันว่างเว้นจากการเขียนบันทึกไปนานด้วยทั้งภารกิจส่วนตัวที่ต้องยุ่งวุ่นวายกับเจ้าตัวน้อยที่อยู่ในวัยที่ต้องการการเอาใจใส่อย่างสูง และภารกิจของชุมชนที่ต้องเขียนโครงการเพื่อของบประมาณจากหน่วยงานราชการ ทั้งงานประสานงาน งานประชุม ส่วนเวลาที่เหลือฉันก็ยกให้กับการคิดในเรื่องต่างๆ ฉัน สามี และลูกต้องเดินทางทุกๆ 3-5 วัน จากบ้านของตนเองที่สร้างไว้ใกล้เมืองไปบ้านห้วยเสือเฒ่าและบ้านใหม่ห้วยปูแกง การพักอาศัยที่บ้านของตัวเองที่สร้างไว้ใกล้เมืองนั้นก็ด้วยเหตุผลเดียวคือความสะดวกสบาย ไม่ว่าจะการเดินทาง อยู่ใกล้โรงพยาบาล มีไฟฟ้าใช้สำหรับทำงาน หรือพักผ่อนด้วยการดูทีวี ติดตามข่าวสารโลกภายนอก…