Skip to main content

picture

25 กันยายน 2550

หมู่บ้านใหม่ค่อนข้างจะคึกคักตกเย็นมีเสียงดีดสีตีเป่าร้องรำทำเพลงเป็นเพลงพื้นบ้าน  เสียงซึงประสานเสียงโม่งสอดรับกับท่วงทำนองเนื้อร้องของแม่เฒ่า เอื้อนไต่บันไดเสียงคลอปี่ไม้ไผ่ผิวหวิวไหวขึ้นลง ไล่เลียงไปไม่ทันสุดบันไดเสียงก็โยนกลับไป-มาเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด

ทำให้ฉันรู้สึกราวกับว่าตกอยู่ในหมู่บ้านลี้ลับกลางป่าเปลี่ยวดึกดำบรรพ์ที่ไหนสักแห่งที่เคยอยู่อาศัยเมื่อนานมาแล้ว

ต่างจากหมู่บ้านเดิมลิบลับ ที่นี่ไม่มีแบตเตอรี่พอเพียงสำหรับเปิดเพลงจากซีดี ไม่มีทีวีให้รุมดู แต่มีกาน้ำชาอุ่นบนกองไฟที่ล้อมวงไปด้วยเด็กๆ หนุ่มสาว จนถึงคนเฒ่าคนแก่ ปรึกษาหารือถึงวิถีชีวิตของวันพรุ่งนี้

ฉันเพิ่งแจ้งข่าวดีๆ ร้ายๆ ที่พึ่งรับรู้มาให้ทราบในที่ชุมนุมว่า
“ผู้ว่าราชการจังหวัดคนที่สั่งให้เราย้ายมาอยู่ที่นี่ได้ย้ายไปรับตำแหน่งใหม่ที่จังหวัดอื่นแล้วและเราก็จะได้ต้อนรับผู้ว่าคนใหม่ที่จะมารับตำแหน่งในวันที่ 29 กันยาที่จะถึงนี้กัน”

ทั้งสองข่าวสร้างความหวั่นไหวจนเกิดเสียงอื้ออึง เพราะผู้ว่าฯ คนเก่าเป็นเจ้าของโครงการหมู่บ้านอนุรักษ์วิถีชีวิตชนเผ่ากะเหรี่ยง (ประด่อง) เพื่อความมั่นคงจังหวัดแม่ฮ่องสอน อันเป็นที่มาให้ชาวบ้านทั้งสามหมู่บ้านย้ายมาอยู่รวมกันนั้นได้ย้ายไปแล้ว ชาวบ้านจึงไม่แน่ใจว่าผู้ว่าฯ คนใหม่จะมาสานต่อโครงการเดิมหรือไม่

สิ่งที่ผู้ว่าฯ คนเก่าเคยให้สัญญาไว้คือ จะให้หน่วยงานราชการเข้ามาดูแลในเรื่องการฟื้นฟูวิถีชีวิตในด้านต่างๆ ทั้งการศึกษา วัฒนธรรม ปัญหาปากท้อง หรือแม้แต่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ Human Zoosเหมือนเมื่อก่อน เหล่านี้ล้วนจำเป็นสำหรับก้าวแรกในวันที่ชาวบ้านเพิ่งปลดโซ่ตรวนที่พันธนาการจากนายทุนและยังไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้

ฉันรู้ว่าชาวบ้านยังไม่คุ้นชินกับการโยกย้ายแบบปุบปับของข้าราชการไทย แต่ก็รู้ว่า ผู้ว่าฯ นี่แหละที่มีอำนาจมากที่สุดในการปกครองพลเมืองในจังหวัดนี้

หากพวกเขาอยู่ได้อย่างมีตัวตน-หมายถึงทางจังหวัดเห็นความสำคัญไม่ทิ้งขว้าง ความมุ่งหมายของพวกเขาที่จะอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีเป็นเสมือนประชากรของจังหวัดคนหนึ่ง หรืออย่างน้อยก็เป็นเสมือนชาวเขาเผ่าอื่นๆ ที่มีสิทธิเสรีภาพมากกว่า ก็จะเข้าใกล้ความจริงไปอีกก้าว

“ฉันว่าพวกเราน่าจะไปต้อนรับผู้ว่าฯคนใหม่ ที่สนามบินกันนะ ท่านจะได้เห็นใจเราเข้ามาช่วยดูแลสานต่อโครงการของผู้ว่าคนเก่า ”
มะเลาะหญิงกระยันที่เคยไปเรียนหนังสือกับครูเอ็นจีโอฝรั่ง ชักชวนให้ทุกคนกระตือรือร้นอย่างมีความหวัง

“การไปต้อนรับครั้งนี้เราไม่ได้ไปแค่โชว์ตัวหรือฟ้อนรำให้เขาถ่ายรูปกับของแปลกแม่ฮ่องสอนเหมือนเมื่อก่อน แต่เราจะไปฝากตัวให้ผู้ว่าฯ เข้ามาดูแลเราเหมือนเป็นพลเมืองของจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนหนึ่ง เพราะเราไปด้วยความคิดของเรา ไม่ได้ไปเพราะมีใครสั่งให้เราไป ตอนนี้เราอยู่ในความดูแลของทางจังหวัด ไม่ใช่นายทุนเหมือนที่ผ่านมาอีกต่อไปแล้ว”  ฉันเสริมความคิดของมะเลาะ

คืนนั้นเราจึงเตรียมการณ์ไว้ว่าวันที่ 28 กันยายนที่จะถึงนี้ พวกเราจะไปต้อนรับผู้ว่าฯ กันที่สนามบิน เพื่อเรียกร้องให้หน่วยข้าราชการสนใจเข้ามาดูแลเรา เพราะนับวันเวลาผ่านไป ข้าวสารอาหารแห้งหรือแม้แต่เงินที่เคยเก็บสะสมไว้ก็ถูกนำมาใช้จ่ายจนลดน้อยลงไปทุกที ในขณะที่ยังไม่เห็นหนทางหารายได้

ในวันที่ข้าราชการสับเท้ากันขึ้นรับตำแหน่ง โครงการต่างๆ มากมายถูกปล่อยร้างเมื่อคนเก่าไปคนใหม่มา แต่ก็มีหลายโครงการดีๆ ที่ถูกสานต่อจนเป็นผลสำเร็จ โดยไม่ได้คิดว่าใครเป็นผู้ริเริ่มไม่มานั่งเถียงกันว่าเป็นผลงานของใคร

ฉันก็ได้แต่หวังว่าโครงการดีๆ ที่ชาวบ้านพร้อมใจกันสามัคคีและให้ความร่วมมือพัฒนาตัวเอง ไม่ใช่งอมืองอเท้าให้คนอื่นเข้ามาช่วยเหลือเพียงอย่างเดียวจะถูกสานต่อให้บรรลุผลสำเร็จไปด้วยกัน

แม้ว่าชาวบ้านที่นี่ทั้ง 89 คนจาก 31 ครอบครัว จะไม่มีใครที่มีบัตรประชาชนเป็นคนไทยเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่หากถามนักท่องเที่ยวว่าแม่ฮ่องสอนมีอะไรที่น่าเที่ยวชมบ้าง ฉันก็เชื่อว่าหนึ่งในนั้นก็คือพวกเขารวมอยู่ด้วย

ถึงแม้ว่าปัจจุบันกะเหรี่ยงคอยาวจะมีอยู่แพร่หลายทั้งเชียงใหม่, เชียงราย แต่แม่ฮ่องสอนก็เป็นบ้านหลังแรกๆ ของพวกเขา ก่อนที่กลุ่มทุนจะนำพาไปจัดตั้งหมู่บ้านเพื่อธุรกิจการท่องเที่ยวกระจัดกระจายไปอีกหลายแห่ง

บางคนที่เป็นพี่เป็นน้องกันต้องพลัดพรากจากกัน แม้ว่าอยู่ห่างจากกันไปไม่กี่จังหวัดแต่ก็ไม่สามารถไปมาหาสู่กันได้ เพราะโอกาสที่ชาวบ้านเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวจะขออนุญาตเดินทางออกนอกจังหวัดนั้นต้องเป็นกรณีสำคัญ เช่น เจ็บป่วยและต้องไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลอื่น เป็นต้น

ฉันเชื่อว่าหากสร้างบ้านที่มีความมั่นคงทั้งทางจิตใจ (ว่าจะไม่ต้องอพยพไปไหนอีกแล้ว) และมั่นคงทางร่างกายคือได้กินอิ่มนอนอุ่น มีสิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่ถูกกักถูกขังอยู่เฉพาะบริเวณนักท่องเที่ยวเข้าไปดูได้เท่านั้น เหมือนที่นายทุนกระทำอยู่ในหลายๆ แห่ง พวกเขาก็จะเต็มใจอยู่บ้านของเขาเอง โดยที่ทางการเองก็ไม่ต้องกลัวว่าใครจะลักลอบนำพาพวกเขา ไปอยู่บ้านสวนสัตว์ที่ไหนอีก

หมู่บ้านที่เขาเลือกอยู่อย่างมีความสุข ก็จะเป็นหมู่บ้านจริงๆ ที่มีเลือดเนื้อวิญญาณ มีกลิ่นอายวัฒนธรรมดึกดำบรรพ์และท่วงทำนองวิถีชีวิตที่ชวนเคลิบเคลิ้มไปว่าเราเคยมาเยือนเมื่อนานมาแล้ว

ซึ่งจะแตกต่างกับความรู้สึกหดหู่หลังจากเข้าไปเที่ยวในหมู่บ้านสวนสัตว์คอยาวที่ไหนสักแห่ง

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
12 ตุลาคม 2550 ยามสายของวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่สนามบินแตกตื่นไปกับผู้คนที่เดินทางไปรับผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนใหม่ โดยเฉพาะเมื่อเห็นหญิงกระยันสวมห่วงทองเหลืองที่ขัดจนแวววาว เดินอย่างเป็นระเบียบมาเข้าแถวต้อนรับผู้ว่าฯ คนใหม่อย่างพร้อมเพียงบางคนที่มารอขึ้นเครื่องเข้ามากดชัตเตอร์ขอถ่ายรูปพวกเธอที่แต่งชุดกระยันเต็มยศ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส มะลิ เด็กสาวกระยันคนหนึ่งถูกเลือกให้กล่าวคำต้อนรับท่านผู้ว่าฯ ด้วยเหตุผลที่เธอสามารถอ่านหนังสือภาษาไทยได้ชัดเจนที่สุด แม้ว่าเธอจะประหม่าบ้างกับกล้องถ่ายรูป ผู้คน และภารกิจที่เธอจะต้องทำ แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดี…
เจนจิรา สุ
25 กันยายน 2550 หมู่บ้านใหม่ค่อนข้างจะคึกคักตกเย็นมีเสียงดีดสีตีเป่าร้องรำทำเพลงเป็นเพลงพื้นบ้าน  เสียงซึงประสานเสียงโม่งสอดรับกับท่วงทำนองเนื้อร้องของแม่เฒ่า เอื้อนไต่บันไดเสียงคลอปี่ไม้ไผ่ผิวหวิวไหวขึ้นลง ไล่เลียงไปไม่ทันสุดบันไดเสียงก็โยนกลับไป-มาเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้ฉันรู้สึกราวกับว่าตกอยู่ในหมู่บ้านลี้ลับกลางป่าเปลี่ยวดึกดำบรรพ์ที่ไหนสักแห่งที่เคยอยู่อาศัยเมื่อนานมาแล้ว ต่างจากหมู่บ้านเดิมลิบลับ ที่นี่ไม่มีแบตเตอรี่พอเพียงสำหรับเปิดเพลงจากซีดี ไม่มีทีวีให้รุมดู แต่มีกาน้ำชาอุ่นบนกองไฟที่ล้อมวงไปด้วยเด็กๆ หนุ่มสาว จนถึงคนเฒ่าคนแก่ ปรึกษาหารือถึงวิถีชีวิตของวันพรุ่งนี้…
เจนจิรา สุ
20 กันยายน 2550 เจ้าเขียวสะอื้น (มอเตอร์ไซค์คู่ชีพ) ส่งเสียงครางกระหึ่มอุ่นเครื่องอยู่ใต้ถุนบ้าน ก่อนที่มันจะต้องเดินทางไกลในเส้นทางที่ฟ้าสวยแต่พื้นดินแสนขรุขระตรงกันข้าม สามีฉันจึงจัดแจงเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เช็คเครื่อง และเพิ่มตะกร้าหลังให้มันเพื่อบรรทุกสัมภาระที่ขนย้ายไปไม่หมด  ชาวบ้านหลายครอบครัวได้ย้ายไปดำเนินชีวิตที่หมู่บ้านใหม่ก่อนหน้าฉันหลายวันแล้ว แต่ฉันติดตรงที่ต้องพาลูกไปฉีดวัคซีนตามที่หมอนัด จึงยังอาศัยอยู่ที่บ้านแม่สามีไปพลางก่อนเช้านี้เราจึงตัดสินใจจะเดินทางไปหมูบ้านใหม่กัน สำหรับฉันค่อนข้างจะตื่นเต้นเพราะยังไม่เคยเห็นบ้านใหม่ของตัวเองสักที …
เจนจิรา สุ
12 กันยายน 2550 และแล้วก็มาถึงวันที่ทุกคนรอคอย เมื่อวันที่ย้ายต้องเลื่อนออกมาจากกำหนดเดิมอีกสองวัน แสงแดดดูเหมือนจะเป็นใจสาดส่องให้ถนนเส้นทางสายห้วยเดื่อ- ห้วยปูแกงที่เคยชื้นแฉะและเป็นหลุมบ่อจากน้ำฝนแห้งสนิท
เจนจิรา สุ
5 กันยายน 2550 ยามเช้า,ตื่นขึ้นด้วยเสียงเลื่อยไม้, เสียงค้อนตอกตะปู,เสียงสังกะสีกระทบพื้นดังโครมคราม ไก่หลายตัวที่เคยขันปลุกทุกเช้า ถูกเชือดเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงคนที่มาช่วยลงแขกรื้อบ้านตั้งแต่เมื่อวานและเช้านี้ บ้านหลายหลังพังพาบเป็นกองไม้ รอวันขนย้ายไปที่แห่งใหม่ เด็กๆ วิ่งตึงตังในห้องกลางเพราะต้องมานอนรวมแออัดกันที่บ้านย่า ก็คือบ้านสามีของฉัน แม่บ้านและเด็กสาววุ่นวายอยู่ในครัว เหตุการณ์ชุลมนเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อหลายวันก่อน ชาวบ้านมาขอคำปรึกษาเรื่องบ้าน ฉันจึงตัดสินใจกดหมายเลขโทรศัพท์ต่อสายพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับปลัดหนุ่มที่ดูแลพื้นที่“ปลัดฯหรือคะ คือฉันมีเรื่องรบกวนจะเรียนถาม…
เจนจิรา สุ
31สิงหาคม2550 22.40 น.ฉันลุกขึ้นเปิดดวงไฟจากแบตเตอรี่อีกครั้ง หลังจากที่ลุกขึ้นมาโทรศัพท์สนทนากับเพื่อนที่เชียงใหม่ ระบายความกลัดกลุ้มด้วยคำพูดแต่ดูเหมือนเมื่อปิดไฟลง ดวงตาก็เบิกโพลงไปกับความคิดฉันจึงปล่อยความคิดโลดแล่นไปกับปลายปากกานับถอยหลังไปอีกสิบวัน หมู่บ้านที่ฉันอาศัยอยู่นี้ก็จะถูกย้ายไปที่แห่งใหม่ ตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยให้ไปรวมกับหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ไกลออกไปติดชายแดนไทย-พม่าทางฝั่งทิศตะวันตก    เนื่องจากชาวบ้านที่นี่อาศัยอยู่กับนายทุนมานานกว่า 12 ปี ด้วยสัญลักษณ์ที่พิเศษแตกต่างกว่าชนเผ่าอื่น “กะยัน” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ากะเหรี่ยงคอยาว…