Skip to main content

picture

25 กันยายน 2550

หมู่บ้านใหม่ค่อนข้างจะคึกคักตกเย็นมีเสียงดีดสีตีเป่าร้องรำทำเพลงเป็นเพลงพื้นบ้าน  เสียงซึงประสานเสียงโม่งสอดรับกับท่วงทำนองเนื้อร้องของแม่เฒ่า เอื้อนไต่บันไดเสียงคลอปี่ไม้ไผ่ผิวหวิวไหวขึ้นลง ไล่เลียงไปไม่ทันสุดบันไดเสียงก็โยนกลับไป-มาเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด

ทำให้ฉันรู้สึกราวกับว่าตกอยู่ในหมู่บ้านลี้ลับกลางป่าเปลี่ยวดึกดำบรรพ์ที่ไหนสักแห่งที่เคยอยู่อาศัยเมื่อนานมาแล้ว

ต่างจากหมู่บ้านเดิมลิบลับ ที่นี่ไม่มีแบตเตอรี่พอเพียงสำหรับเปิดเพลงจากซีดี ไม่มีทีวีให้รุมดู แต่มีกาน้ำชาอุ่นบนกองไฟที่ล้อมวงไปด้วยเด็กๆ หนุ่มสาว จนถึงคนเฒ่าคนแก่ ปรึกษาหารือถึงวิถีชีวิตของวันพรุ่งนี้

ฉันเพิ่งแจ้งข่าวดีๆ ร้ายๆ ที่พึ่งรับรู้มาให้ทราบในที่ชุมนุมว่า
“ผู้ว่าราชการจังหวัดคนที่สั่งให้เราย้ายมาอยู่ที่นี่ได้ย้ายไปรับตำแหน่งใหม่ที่จังหวัดอื่นแล้วและเราก็จะได้ต้อนรับผู้ว่าคนใหม่ที่จะมารับตำแหน่งในวันที่ 29 กันยาที่จะถึงนี้กัน”

ทั้งสองข่าวสร้างความหวั่นไหวจนเกิดเสียงอื้ออึง เพราะผู้ว่าฯ คนเก่าเป็นเจ้าของโครงการหมู่บ้านอนุรักษ์วิถีชีวิตชนเผ่ากะเหรี่ยง (ประด่อง) เพื่อความมั่นคงจังหวัดแม่ฮ่องสอน อันเป็นที่มาให้ชาวบ้านทั้งสามหมู่บ้านย้ายมาอยู่รวมกันนั้นได้ย้ายไปแล้ว ชาวบ้านจึงไม่แน่ใจว่าผู้ว่าฯ คนใหม่จะมาสานต่อโครงการเดิมหรือไม่

สิ่งที่ผู้ว่าฯ คนเก่าเคยให้สัญญาไว้คือ จะให้หน่วยงานราชการเข้ามาดูแลในเรื่องการฟื้นฟูวิถีชีวิตในด้านต่างๆ ทั้งการศึกษา วัฒนธรรม ปัญหาปากท้อง หรือแม้แต่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ Human Zoosเหมือนเมื่อก่อน เหล่านี้ล้วนจำเป็นสำหรับก้าวแรกในวันที่ชาวบ้านเพิ่งปลดโซ่ตรวนที่พันธนาการจากนายทุนและยังไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้

ฉันรู้ว่าชาวบ้านยังไม่คุ้นชินกับการโยกย้ายแบบปุบปับของข้าราชการไทย แต่ก็รู้ว่า ผู้ว่าฯ นี่แหละที่มีอำนาจมากที่สุดในการปกครองพลเมืองในจังหวัดนี้

หากพวกเขาอยู่ได้อย่างมีตัวตน-หมายถึงทางจังหวัดเห็นความสำคัญไม่ทิ้งขว้าง ความมุ่งหมายของพวกเขาที่จะอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีเป็นเสมือนประชากรของจังหวัดคนหนึ่ง หรืออย่างน้อยก็เป็นเสมือนชาวเขาเผ่าอื่นๆ ที่มีสิทธิเสรีภาพมากกว่า ก็จะเข้าใกล้ความจริงไปอีกก้าว

“ฉันว่าพวกเราน่าจะไปต้อนรับผู้ว่าฯคนใหม่ ที่สนามบินกันนะ ท่านจะได้เห็นใจเราเข้ามาช่วยดูแลสานต่อโครงการของผู้ว่าคนเก่า ”
มะเลาะหญิงกระยันที่เคยไปเรียนหนังสือกับครูเอ็นจีโอฝรั่ง ชักชวนให้ทุกคนกระตือรือร้นอย่างมีความหวัง

“การไปต้อนรับครั้งนี้เราไม่ได้ไปแค่โชว์ตัวหรือฟ้อนรำให้เขาถ่ายรูปกับของแปลกแม่ฮ่องสอนเหมือนเมื่อก่อน แต่เราจะไปฝากตัวให้ผู้ว่าฯ เข้ามาดูแลเราเหมือนเป็นพลเมืองของจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนหนึ่ง เพราะเราไปด้วยความคิดของเรา ไม่ได้ไปเพราะมีใครสั่งให้เราไป ตอนนี้เราอยู่ในความดูแลของทางจังหวัด ไม่ใช่นายทุนเหมือนที่ผ่านมาอีกต่อไปแล้ว”  ฉันเสริมความคิดของมะเลาะ

คืนนั้นเราจึงเตรียมการณ์ไว้ว่าวันที่ 28 กันยายนที่จะถึงนี้ พวกเราจะไปต้อนรับผู้ว่าฯ กันที่สนามบิน เพื่อเรียกร้องให้หน่วยข้าราชการสนใจเข้ามาดูแลเรา เพราะนับวันเวลาผ่านไป ข้าวสารอาหารแห้งหรือแม้แต่เงินที่เคยเก็บสะสมไว้ก็ถูกนำมาใช้จ่ายจนลดน้อยลงไปทุกที ในขณะที่ยังไม่เห็นหนทางหารายได้

ในวันที่ข้าราชการสับเท้ากันขึ้นรับตำแหน่ง โครงการต่างๆ มากมายถูกปล่อยร้างเมื่อคนเก่าไปคนใหม่มา แต่ก็มีหลายโครงการดีๆ ที่ถูกสานต่อจนเป็นผลสำเร็จ โดยไม่ได้คิดว่าใครเป็นผู้ริเริ่มไม่มานั่งเถียงกันว่าเป็นผลงานของใคร

ฉันก็ได้แต่หวังว่าโครงการดีๆ ที่ชาวบ้านพร้อมใจกันสามัคคีและให้ความร่วมมือพัฒนาตัวเอง ไม่ใช่งอมืองอเท้าให้คนอื่นเข้ามาช่วยเหลือเพียงอย่างเดียวจะถูกสานต่อให้บรรลุผลสำเร็จไปด้วยกัน

แม้ว่าชาวบ้านที่นี่ทั้ง 89 คนจาก 31 ครอบครัว จะไม่มีใครที่มีบัตรประชาชนเป็นคนไทยเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่หากถามนักท่องเที่ยวว่าแม่ฮ่องสอนมีอะไรที่น่าเที่ยวชมบ้าง ฉันก็เชื่อว่าหนึ่งในนั้นก็คือพวกเขารวมอยู่ด้วย

ถึงแม้ว่าปัจจุบันกะเหรี่ยงคอยาวจะมีอยู่แพร่หลายทั้งเชียงใหม่, เชียงราย แต่แม่ฮ่องสอนก็เป็นบ้านหลังแรกๆ ของพวกเขา ก่อนที่กลุ่มทุนจะนำพาไปจัดตั้งหมู่บ้านเพื่อธุรกิจการท่องเที่ยวกระจัดกระจายไปอีกหลายแห่ง

บางคนที่เป็นพี่เป็นน้องกันต้องพลัดพรากจากกัน แม้ว่าอยู่ห่างจากกันไปไม่กี่จังหวัดแต่ก็ไม่สามารถไปมาหาสู่กันได้ เพราะโอกาสที่ชาวบ้านเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวจะขออนุญาตเดินทางออกนอกจังหวัดนั้นต้องเป็นกรณีสำคัญ เช่น เจ็บป่วยและต้องไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลอื่น เป็นต้น

ฉันเชื่อว่าหากสร้างบ้านที่มีความมั่นคงทั้งทางจิตใจ (ว่าจะไม่ต้องอพยพไปไหนอีกแล้ว) และมั่นคงทางร่างกายคือได้กินอิ่มนอนอุ่น มีสิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่ถูกกักถูกขังอยู่เฉพาะบริเวณนักท่องเที่ยวเข้าไปดูได้เท่านั้น เหมือนที่นายทุนกระทำอยู่ในหลายๆ แห่ง พวกเขาก็จะเต็มใจอยู่บ้านของเขาเอง โดยที่ทางการเองก็ไม่ต้องกลัวว่าใครจะลักลอบนำพาพวกเขา ไปอยู่บ้านสวนสัตว์ที่ไหนอีก

หมู่บ้านที่เขาเลือกอยู่อย่างมีความสุข ก็จะเป็นหมู่บ้านจริงๆ ที่มีเลือดเนื้อวิญญาณ มีกลิ่นอายวัฒนธรรมดึกดำบรรพ์และท่วงทำนองวิถีชีวิตที่ชวนเคลิบเคลิ้มไปว่าเราเคยมาเยือนเมื่อนานมาแล้ว

ซึ่งจะแตกต่างกับความรู้สึกหดหู่หลังจากเข้าไปเที่ยวในหมู่บ้านสวนสัตว์คอยาวที่ไหนสักแห่ง

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
ฉันเป็นคนหนึ่งที่ติดตามชมละครเรื่องเมียหลวง ที่ถ่ายทอดทุกวันจันทร์-อังคารทางช่องเจ็ด เป็นละครไม่กี่เรื่องที่ฉันชอบดู ด้วยพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน รับสัญญาณโทรทัศน์ได้เพียงไม่กี่ช่อง  และอีกเหตุผลหนึ่งคือละครดีๆ มีไม่กี่เรื่อง  แม้หลายคนจะเหมารวมละครทีวีของไทยว่าเป็นละครน้ำเน่าเสียส่วนใหญ่ แต่ฉันก็เชื่อว่าละครที่สร้างมาจาก นวนิยาย ก็น่าจะมีเนื้อหาสาระบางอย่างสอนใจคนดูได้บ้าง ไม่ใช่จะดูแต่เพียงฉากตบกันของบรรดาเมียน้อยของคุณอนิรุจเท่านั้น
เจนจิรา สุ
เรานั่งพูดคุยบนชานหน้าบ้านอย่างออกรส ส่วนใหญ่ก็จะถามไถ่ทุกข์สุขกันและกัน เลยไปถึงญาติคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เห็นหน้ากันนาน พี่เขยขึ้นเรือนมาสมทบเมื่อสิ้นเสียงออดของโรงเรียนได้พักใหญ่ “ไปเป็นการ์ดยามมา เขาให้เดือนละสี่ร้อย” พี่สาวแจง เป็นรายได้เดียวที่เหลืออยู่ของครอบครัว
เจนจิรา สุ
 "ไตรบานา" แม่เฒ่ากล่าวขอบคุณเป็นภาษากระยัน เมื่อเราบอกลาเป็นภาษาเดียวกัน ยังมีครอบครัวพี่สาวของสามีที่อยู่ถัดไปอีกสามป็อก เราตั้งใจว่าจะเยี่ยมก่อนที่จะไม่ได้พบหน้ากันอีก เพราะทางยูเอ็นฯ ได้แจ้งว่า ครอบครัวของเธอจะได้ไปประเทศที่สามในอีกไม่ช้า เราเดินเท้าไปตามทางเดินอันแสนพลุกพล่าน ราวกับว่าผู้คนเร่งรีบเดินทางสู่งานเลี้ยงสังสรรค์ที่ไหนสักแห่ง ความแออัดของผู้คนซึ่งมีอยู่ราวๆ สองหมื่นคน ทำให้บนทางเท้าและที่สาธารณะต่างๆ ดูครึกครื้น กลบบังความทุกข์ของคนพลัดบ้าน
เจนจิรา สุ
บนถนนที่ทอดยาวสู่หุบเขาทางทิศตะวันตกของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เส้นทางที่ห่างออกมาเพียงสามสิบกิโลเมตรเศษ ลัดเลาะไปตามภูเขาบนถนนสายรพช. ซึ่งค่อยๆ แปรสภาพเป็นดินและหินลูกรังก่อนจะถึงสุดสายปลายทาง อันเป็นสถานที่คล้ายด่านกักกันมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่ไร้ประเทศและเสรีภาพ หมู่บ้านกลางป่าที่ปลูกเบียดเสียดเรียงรายทุกซอกหลีบของพื้นที่จัดสรร คนนับหมื่นอัดแน่นในที่อาศัยกว้างกว่าเท้าและหัวจะพาดวางเพียงไม่กี่วา ที่นี่คือศูนย์ผู้พักพิงบ้านในสอย
เจนจิรา สุ
 มีใครเคยใช้ชีวิตในบ้านนอกโดยเฉพาะทางภาคอีสาน เมื่อประมาณสัก 20 ปีก่อน อาจจะมีความทรงจำเกี่ยวกับวัดที่แตกต่างจากปัจจุบัน ฉันจำได้ว่าเมื่อครั้งยังเด็ก เราแทบจะก้มลงกราบที่เท้าพระ เมื่อท่านเดินผ่านด้วยความศรัทธาอย่างแท้จริง ซึ่งปัจจุบันเป็นไปได้ยาก ฉันเป็นชาวพุทธมาแต่อ้อนแต่ออก ด้วยหมู่บ้านที่มีวัดป่า พระเณรเพียงไม่กี่รูปหนึ่งในนั้นเป็นลูกพี่ลูกน้องฉันเอง เราจึงเที่ยวเล่นแวะเวียนมาที่วัดทุกครั้งที่มีโอกาส ฉันยังจำไม่ลืมที่พระหลวงพี่ จับเราพี่น้องนั่งเรียงแถวทำสมาธิ เทศน์สอนประวัติความเป็นมาของพุทธเจ้าให้ฟัง ความที่ท่านบวชตั้งแต่อายุยังน้อย ตอนนี้ท่านจึงกลายเป็นเจ้าอาวาสไปแล้ว
เจนจิรา สุ
เราทยอยออกจากบ้านร้างด้วยดวงใจที่ปวดร้าว ตรอกเล็กๆ ยาวเกือบหนึ่งกิโลเมตร เป็นเส้นทางสัญจรของผู้คนจากหมู่บ้านกลางป่าไปสู่บ้านห้วยปูแกงเก่า บัดนี้ถูกย่ำไปด้วยรอยของสัตว์สี่เท้า “เชื่อไหมว่าครั้งหนึ่ง เราเคยช่วยกันขนทรายจากแม่น้ำข้างล่างมาถมตรอกแห่งนี้ กระสอบทรายนับร้อยจากจำนวนคนเพียงหยิบมือเพื่อ....” ฉันหยุดคำพูดเพียงบางแค่นั้น ทิ้งบางส่วนค้างไว้ในความทรงจำ “เพื่ออะไรล่ะ” ใครคนหนึ่งยังคงตั้งคำถามต่อสิ่งที่ค้างคา “เพื่อให้นักท่องเที่ยวจากหมู่บ้านข้างนอกเขามาเห็นวิถีชีวิตเรา มาเห็นหมู่บ้านที่เป็นหมู่บ้านจริงๆ ไม่ใช่มีแต่ร้านขายของ แต่มันคงไกลเกินไป…
เจนจิรา สุ
สมรภูมิแห่งนี้เรารบกับอะไร ที่ผ่านมาเราถูกจองจำไว้ในกรงที่มองไม่เห็น เรามีอาหาร มีที่อยู่หลับนอน แต่เราไม่สามารถเป็นคนเต็มคนได้ เพราะเราไม่มีสิทธิ์คิดหรือแสดงความคิดเห็น ไม่สามารถรู้สึกเจ็บแค้นร้อนหนาว เราต้องทำหน้าที่อันถูกกำหนดมาจากผู้คุม ต้องทำงานหนักเพื่อสร้างความร่ำรวยให้กับนาย เพียงเพื่อส่วนแบ่งที่ถูกเจียดให้พอประทังชีวิต แล้ววันหนึ่งเราต้องการปลดแอก เราต้องการตั้งอาจักรของตนเอง มีบ้านและที่ดินที่เป็นของเราจริงๆ ได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมจากสมองและแรงกายของตนเอง
เจนจิรา สุ
ตุลาคม 2551"พร้อมหรือยัง"ใครคนหนึ่งตะโกนประโยคซ้ำเมื่อห้านาทีที่แล้ว เมื่อขบวนหนุ่มสาวต่างถิ่นยังคงง่วนอยู่กับการกดชัตเตอร์เก็บภาพแสงแดดยามเก้าโมงเช้า ช่างยวนใจให้ไม่อาจละสายตาจากหญิงกระยันที่ปะแป้งแต่งตัวกันจนเป็นที่เรียบร้อย หลายคนจึงยังเสียดายที่จะละกล้องแล้วออกเดินทาง "หากไปสายกว่านี้เราจะร้อนมากเมื่ออยู่กลางป่า" ฉันเตือนเพื่อนที่ไม่มีประสบการณ์ในการเดินเท้าสู่หมู่บ้านกลางป่าที่อยู่ห่างออกไปจากที่นี่ราวๆ สามกิโลดอย
เจนจิรา สุ
เสียงโหม่งขนาดใหญ่ประสานกับเสียงกลอง ฆ้อง ฉาบ แม้ฟังดูอึกทึกครึกโครม แต่ก็พลิ้วไหวไปตามทำนองขุล่ยมั้งที่เป็นขลุ่ยเฉพาะของชาวกระยัน ได้เริ่มขับประโคมหมู่บ้านราวป่า ส่งสัญญาณการเริ่มต้นของงานประเพณีต้นที “กะควาง” ในภาษากระยันถูกแปรออกมาเป็นภาษาเรียกอีกอย่างว่า “ต้นที” ซึ่งหมายถึงเสาไม้สีขาวแกะสลักปลายเสาให้เป็นรูปร่างคล้ายกับศิวลึงค์ ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ในหมู่บ้านชนเผ่ากระยัน(กระเหรี่ยงคอยาว) และชนเผ่ากระยา(กระเหรี่ยงแดง) ชาวกระยันเชื่อว่า ต้นทีเป็นต้นไม้ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งแรกบนโลกมนุษย์ การบูชาต้นทีก็เพื่อให้บรรพบุรุษของกระยัน…
เจนจิรา สุ
มีนาคม 2551 ฉันตอบจดหมายแฟนนักอ่านคอลัมน์ของฉันคนหนึ่ง เธอเป็นคนปักษ์ใต้ นานเป็นเดือนที่จดหมายมาถึงพร้อมเสื้อผ้าและข้าวของกล่องใหญ่ ด้วยเจตนาทดแทนความขาดแคลนตามความรู้สึกของเธอ ที่สัมผัสจากการอ่านในบันทึกของฉันอยู่สองสามฉบับ เธอบอกว่าอิจฉานิดๆ ในชีวิตที่เรียบง่ายที่ฉันเลือกเดิน ฉันจึงตอบเธอไปว่าฉันเป็นเพียงนกที่บินหลงทางมา ก่อนหน้านี้ฉันก็ได้รับจดหมาย เสียงโทรศัพท์ และหนังสือดีๆ ที่ถูกส่งมาจากคนเมืองไกลจากเพื่อนที่ห่างหายการติดต่อมานานแสนนาน และจากมิตรร่วมความรู้สึกที่ไม่เคยเห็นหน้า อาจดูเป็นเรื่องแปลกหรือมีเปอร์เซ็นต์น้อยเหลือเกิน ที่คนปกติธรรมดา เกิด และเติบโตในสังคมเมือง…
เจนจิรา สุ
20 พฤศจิกายน 2550 คืนนี้แสงจันทร์กำลังโผล่พ้นเหลี่ยมเขาทิศเหนือ ดาวพราวแต้มเต็มฟ้า เหล้าดีกรีแรงทิ้งก้นจอกตั้งวางเคียงดวงเทียนที่ถูกจุดขึ้นโดยแม่เฒ่า ฉันกระชับเสื้อกันหนาวอีกนิด เมื่อลมหนาวพรูมาทางหน้าต่างบานกว้าง แม่เฒ่าบอกให้ยกดื่มอีกสักจอกแล้วจะอุ่นขึ้น ฉันรินคืนให้แม่เฒ่าพลางถามถึงความหลังเมื่อครั้งที่ยังอยู่ที่เมืองดอยก่อ รัฐคะยา ประเทศพม่า “ตอนนั้นแม่ทำนามาได้ก็ต้องแบ่งให้กับเจ้าของนา ที่เหลือก็แทบไม่พอกิน ทหารพม่าก็ยังมาขูดรีดเอาอีก บางทีถ้าไม่ให้ก็ทุบตี พวกผู้ชายต้องพากันไปหลบซ่อนตัว  ไม่อย่างนั้นมันจะเกณฑ์ให้ไปขนระเบิดที่ชายแดน” “…
เจนจิรา สุ
10 พฤศจิกายน 2550 ฉันว่างเว้นจากการเขียนบันทึกไปนานด้วยทั้งภารกิจส่วนตัวที่ต้องยุ่งวุ่นวายกับเจ้าตัวน้อยที่อยู่ในวัยที่ต้องการการเอาใจใส่อย่างสูง และภารกิจของชุมชนที่ต้องเขียนโครงการเพื่อของบประมาณจากหน่วยงานราชการ ทั้งงานประสานงาน งานประชุม ส่วนเวลาที่เหลือฉันก็ยกให้กับการคิดในเรื่องต่างๆ ฉัน สามี และลูกต้องเดินทางทุกๆ 3-5 วัน จากบ้านของตนเองที่สร้างไว้ใกล้เมืองไปบ้านห้วยเสือเฒ่าและบ้านใหม่ห้วยปูแกง การพักอาศัยที่บ้านของตัวเองที่สร้างไว้ใกล้เมืองนั้นก็ด้วยเหตุผลเดียวคือความสะดวกสบาย ไม่ว่าจะการเดินทาง อยู่ใกล้โรงพยาบาล มีไฟฟ้าใช้สำหรับทำงาน หรือพักผ่อนด้วยการดูทีวี ติดตามข่าวสารโลกภายนอก…