เรานั่งพูดคุยบนชานหน้าบ้านอย่างออกรส ส่วนใหญ่ก็จะถามไถ่ทุกข์สุขกันและกัน เลยไปถึงญาติคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เห็นหน้ากันนาน
พี่เขยขึ้นเรือนมาสมทบเมื่อสิ้นเสียงออดของโรงเรียนได้พักใหญ่
“ไปเป็นการ์ดยามมา เขาให้เดือนละสี่ร้อย” พี่สาวแจง เป็นรายได้เดียวที่เหลืออยู่ของครอบครัว
ทุกๆ วันพี่เขยจึงมีหน้าที่ไปเฝ้ายามตามจุดต่างๆ ซึ่งจะผลัดเปลี่ยนกันเป็นกะ บางครั้งเวลาเปลี่ยนกะก็อาศัยฟังเสียงออดของโรงเรียน
กว่าจะร่ำลากันก็บ่ายคล้อย ฉันจำต้องรับของฝากจากพี่สาวด้วยความจำใจ เพราะเธอทั้งยัดเยียดและหว่านล้อม เกลือถุงใหญ่ ถั่วเหลือง และน้ำมันที่แบ่งจากบีบอยู่ในขวดน้ำอัดลม น้ำใจคนยากที่เอ่ยกับเราว่า “เอาไปกินเถอะ มันเหลือเก็บ เดี๋ยวสิ้นเดือนก็ได้อีก”
ก่อนที่ตะวันจะพลบเรายังพอมีเวลา ฉันและสามีจึงเดินเที่ยวไปเรื่อยเปื่อย เราเห็นสนามประจำป็อกคลาคล่ำไปด้วยผู้คน
สนามวอลเล่ห์บอลที่สร้างขึ้นอย่างง่ายๆ บนที่โล่งกว้าง ชายฉกรรจ์ฝั่งละหกคนกำลังขับเคี่ยวชิงชัยชนะกันอย่างดุเดือด ฝุ่นสีแดงคลุ้งกระจายตามแรงกระแทกของบอลที่ถูกตบลงบนพื้นสนาม เสียงเชียร์ข้างสนามเร่งเร้าให้เราก้าวเบียดผู้คนไปยืนชิดขอบสนาม
“คนที่นี่เขามีพรสวรรค์เรื่องเล่นวอลเล่ห์บอลจริงๆ ดูสิ ขนาดเนตยังสูงกว่ามาตรฐานด้วยซ้ำ” ฉันเอ่ยวิเคราะห์กับสามี
“แล้วเขาไม่นิยมเล่นกีฬาอย่างอื่นเหรอ เช่น ตะกร้อ หรือไม่ก็ฟุตบอล”
“ตะกร้อก็มีบ้าง แต่ไม่มากนัก ส่วนฟุตบอลลืมไปได้เลยเพราะไม่มีสนามกว้างขนาดนั้น”
“เล่นดีกันจริงๆ น่าจะติดทีมชาติได้นะเนี้ยะ”
“แต่ทีมชาติไหนก็คงไปไม่ถึง” สามีต่อคำ ดูเหมือนนอกจากการเล่นดนตรีประเภทกีต้าร์ แล้วก็มีกีฬาวอลเลห์บอลที่เป็นนิยมของผู้คนที่นี่ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ เป็นความบันเทิงไม่กี่อย่างที่พวกเขาจะหาได้ในพื้นที่อันจำกัด
“มาทางนี้สิมีอะไรจะให้ลอง” หลังจากเราดูวอลเล่ห์บอลได้สักพักท้องก็เริ่มส่งสัญญาณเตือน เราจึงไปทานก๋วยเตี๋ยวชามละสิบบาทในร้านค้าข้างสนามจนอิ่มหนำ
“เขาเรียกว่าอะไร” ฉันมองตามมือที่สามีชี้ไป เห็นกล่องใสสี่ห้ากล่องวางเรียงกัน จะเป็นขนมก็ไม่ใช่ จะเป็นอาหารก็ไม่เชิง
“ขอหมาก ห้าบาท” ฉันถึงบางอ้อ เมื่อคนขายหยิบพูขึ้นมากรีดปูนสีขาว เปิดฝากระปุกหยิบส่วนผสมของหมากที่แตกต่างไปจากที่ฉันเคยเห็น ในกระปุกนั้นมีทั้ง เม็ดถั่ว อ้อยชิ้นเล็กๆ มะพร้าวคั่วน้ำตาลชุบสีแดง และอีกหลายอย่างที่สามีฉันยังนึกเป็นชื่อภาษาไทยไม่ออก
“หอมจัง ได้กลิ่นนมแมวด้วย” ฉันทดสอบหมากที่ขอตั้งชื่อมันว่าหมากลูกกวาด ทั้งที่จริงมันชื่อหมากหวาน เพราะมันทั้งหอมทั้งหวาน ไม่เหมือนหมากของยายทวดที่ฉันเคยชิม
เราเดินเคี้ยวหมากหวานไปจนถึงกระท่อมหลังใหญ่แห่งหนึ่ง ฉันมองเห็นเด็กพากันเอาหน้าแนบผนังกระท่อม สอดสายตาเข้าไปในรูไม้ไผ่สานอย่างสนอกสนใจ
“ดูหนังกันไหม” เป็นคำชักชวนที่ฉันต้องหูผึ่ง
“ในนี้นี่นะจะมีหนังให้ดู” ฉันยังไม่เชื่อหูตัวเอง
เราจ่ายค่าบัตรผ่านประตูเข้ามาในโรงหนังที่ว่าด้วยราคาเด็กสามบาท ผู้ใหญ่ห้าบาท นอกโรงหนังยังมีเด็กๆ ที่ไม่มีตังค์สามบาท ยืนเอาหน้าแนบผนังไม้ไผ่มองลอดช่องเข้ามาดู
ภายในโรงหนังค่อนข้างมืด มีเก้าอี้เรียงเป็นแถวยาวต่อกันไปสองช่วง เว้นตรงกลางสำหรับเดินเข้าออก หน้าสุดมีจอโทรทัศน์ขนาดยี่สิบสี่นิ้ว ลำโพงตัวใหญ่สองข้างส่งเสียงก้อง
เด็กเดินหนังกำลังกดเปลี่ยนแผ่นวีซีดีภาพยนตร์พม่า หนังกังฟูสมัยบรูซลีโลดแล่นบนจอแทน
เรานั่งในแถวที่สามถัดจากหน้าจอทีวี สามีทักทายหญิงสาวที่เคยรู้จัก เธอรวบผมที่ยาวปะเอวไว้ด้านซ้ายปะหน้าด้วยแป้งทานาคา ผู้หญิงที่นี่เกือบทั้งหมดนิยมนุ่งผ้าถุงและทาหน้าด้วยทานาคาจนหน้าลาย
ฉันเกือบจะหัวเราะแต่ก็หัวเราะไม่ออก คิดอีกทีก็เก๋ดี โรงหนังวีซีดีราคาตั๋วแค่ห้าบาท แต่ก็สร้างความสำราญได้ไม่แพ้กัน
ฉันดูหนังไม่จบ ข้างในร้อนเกินไปและหนังก็เก่าจนฟังเสียงพากย์ไม่รู้เรื่อง เราเดินเรื่อยเปื่อยสักพักจนถึงหอนาฬิกากลางลานชุมชน หน้าปัดนาฬิกา Seiko บอกเวลาเกือบห้าโมง เราจึงกุลีกุจอไปที่รถ เพราะหากเลยหกโมงเย็นไปแล้ว ก็จะไม่สามารถเข้าออกศูนย์ฯได้ และที่สำคัญเราขออนุญาตทางอำเภอได้เพียงไปเช้ากลับเย็น ไม่ได้รับอนุญาตให้ค้างในศูนย์ ฯ
แต่แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ฉันก็รู้สึกว่าผูกพันกับคนและสถานที่แห่งนี้อย่างบอกไม่ถูก ราวกับว่าครั้งหนึ่งฉันเคยใช้ชีวิตอยู่ที่นี่จริงๆ มีญาติจริงๆ อยู่ที่นี่ จนเหมือนจะรับรู้และเข้าใจหัวอกของคนที่นี่ ที่อธิบายเป็นคำพูดได้อย่างยากเย็น.