Skip to main content
มะโนตัดสินใจอยู่นานกว่าสองวันหลังจากที่หญิงกระยันร่างกายผอมบางอายุ 52 ปี สะดุดล้มในห้องน้ำจนทำให้ให้เกิดอาการบวมที่ท้องด้านขวา


เมื่อทนการรบเร้าจากคนรอบข้างไม่ไหวให้ไปหาหมอ เธอจึงเปิดหีบใบใหญ่ที่ใส่ข้าวของเงินทองที่มีอยู่รวมไปถึงเอกสารประจำตัวต่างๆ เพื่อค้นใบเล็กๆ สีเขียว มันเป็นบัตรเข้ารับการบริการที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด แต่จนแล้วจนรอดก็หาไม่พบ


นับเป็นเวลาเกือบสิบปีที่แม่เฒ่ามะโนไปโรงพยาบาลครั้งสุดท้าย แม่เฒ่าเยียวยาโรคร้ายเล็กน้อยด้วยยาสมุนไพรที่นำติดตัวมาจากประเทศพม่า และเหล้าขาวดีกรีแรง โดยหารู้ไม่ว่า "ยาดี" ที่แม่เฒ่าชอบพูดถึงเวลาใครถามไถ่เรื่องสุขภาพ จะกลายมาเป็นปีศาจร้ายทำลายร่างกายจนต้องเข้ารับการเยียวยาอย่างเร่งด่วน


"โรคตับโต เกิดจากการกินเผ็ดเกินไป เค็มเกินไป ที่สำคัญคนส่วนใหญ่เป็นโรคตับเพราะดื่มเหล้าเป็นประจำ ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นโรคตับแข็งในอนาคตได้ " คุณหมอชี้แจงและเตือนให้แม่เฒ่าเลิกกินอาหารที่เผ็ดและเค็มเกินไป


แต่แม่เฒ่ารู้ดีว่าสาเหตุของการเจ็บป่วยมิใช่เกิดจากการลื่นล้ม หรือกินอาหารรสจัดแต่เป็นเพราะการจิบเหล้าขาวมาเป็นเวลานานนั่นเอง


เมื่อหมออนุญาตให้มะโนกลับบ้าน แม่เฒ่าก็ต้องตกใจกับบิลค่ารักษาเป็นเงินจำนวนกว่าครึ่งหมื่น เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่เกี่ยวข้อง รู้ดีว่าหญิงกระยันเป็นคนต่างด้าว ไม่มีบัตรทอง ซึ่งต้องรับภาระจ่ายค่ารักษาเองทั้งหมด แต่โดยทั่วไปจะแจ้งไปยังนักสังคมสงเคราะห์ เพื่อที่ทางสังคมสงเคราะห์ของโรงพยาบาลจะมาช่วยจ่ายให้บางส่วน โดยทางผู้ป่วยต้องทยอยจ่ายค่ารักษาส่วนที่เหลือให้กับทางสังคมสงเคราะห์ภายหลัง


วันนั้นแม่เฒ่ามีเงินติดตัวไปโรงพยาบาลเพียงสามพันบาท จึงขอจ่ายก่อนสองพันห้าร้อยบาท แม่เฒ่าบ่นอุบอิบว่าไม่อยากมาโรงพยาบาลเลย เพราะต้องเสียเงินเยอะ แต่ก็ดีใจที่จะได้ออกจากโรงพยาบาลเสียทีเพราะนอนมาหลายคืนแล้ว


หมอนัดให้มารับยาอีกครั้งในเดือนถัดไป ซึ่งยาโรคตับคงจะต้องทานติดต่อนานเป็นปี แม่เฒ่ารับปากกับหมอว่าจะเลิกเหล้า และรีบไปทำบัตรทองคนต่างด้าว ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณหนึ่งพันห้าร้อยบาทต่อปี เพื่อการมาโรงพยาบาลครั้งต่อๆไปจะได้ไม่ต้องจ่ายค่ารักษาแพงๆ อีก


บัตรทองคนต่างด้าว ส่วนใหญ่แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยจะต้องทำกันแทบทุกคน เพราะสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก ทั้งนี้กฎหมายมิได้ระบุลงไปชัดเจนว่าแรงงานต่างด้าวต้องทำบัตรประกันสุขภาพทั่วหน้ากันทุกคน ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของนายจ้าง และความต้องการตนเอง


ที่หมู่บ้านห้วยเสือเฒ่า มีหญิงกระยันเพียงไม่กี่คนที่มีบัตรดังกล่าว มะนาง ที่ป่วยบ่อยครั้งและต้องไปนอนโรงพยาบาลให้น้ำเกลืออยู่เสมอ จะต่อบัตรประกันสุขภาพทุกๆ ปี


มีทารกกระยันหลายรายที่เกิดในโรงพยาบาลประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน เคยได้บัตรทองจากโรงพยาบาลเมื่อประมาณปี 2548 แต่พอผ่านไปสอง-สามปี โรงพยาบาลก็แจ้งทางผู้ปกครองเด็กว่า บัตรไม่สามารถใช้ได้ ต้องยึดบัตรดังกล่าวคืนโรงพยาบาล และให้ไปแจ้งทำบัตรใหม่โดยเสียค่าธรรมเนียมปีละหนึ่งพันห้าร้อยบาท

 

ในขณะที่กฎหมายการให้สัญชาติไทยแก่เด็กที่เกิดในราชอาณาจักรไทย สามารถขอลงรายการสัญชาติไทยได้ ตามมาตรา 23 ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.2551 แม้ว่าบุคคลดังกล่าวจะมีบิดามารดาเป็นคนต่างด้าว ซึ่งถ้าบุคคลนั้นอาศัยอยู่จริงในราชอาณาจักรไทยติดต่อกัน โดยมีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร และเป็นผู้ที่มีความประพฤติดี หรือทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมหรือประเทศไทย ให้ได้สัญชาติไทยตั้งแต่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ


ในอนาคตเด็กกระยันที่เกิดในประเทศไทยก็จะได้รับสัญชาติไทย ดูเหมือนเป็นช่องทางเดียวที่จะทำให้กระยันรุ่นลูกรุ่นหลายคน ได้มีสิทธิใช้บริการการรักษาพยาบาลฟรีจากภาครัฐได้ แต่จะอีกนานแค่ไหน ไม่มีใครรู้เพราะเมื่อผู้ปกครองของเด็กไปดำเนินการขอลงรายการสัญชาติกับทางอำเภอ กลับได้รับกระดาษแผ่นเล็กๆ เขียนข้อความระบุวันเวลานัดหมายสืบหลักฐานพยาน ซึ่งวันเวลาที่ระบุไว้ในกระดาษเพื่อนัดสืบหลักฐานพยาน ต้องรอนานกว่า 2 ปี.

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
12 ตุลาคม 2550 ยามสายของวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่สนามบินแตกตื่นไปกับผู้คนที่เดินทางไปรับผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนใหม่ โดยเฉพาะเมื่อเห็นหญิงกระยันสวมห่วงทองเหลืองที่ขัดจนแวววาว เดินอย่างเป็นระเบียบมาเข้าแถวต้อนรับผู้ว่าฯ คนใหม่อย่างพร้อมเพียงบางคนที่มารอขึ้นเครื่องเข้ามากดชัตเตอร์ขอถ่ายรูปพวกเธอที่แต่งชุดกระยันเต็มยศ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส มะลิ เด็กสาวกระยันคนหนึ่งถูกเลือกให้กล่าวคำต้อนรับท่านผู้ว่าฯ ด้วยเหตุผลที่เธอสามารถอ่านหนังสือภาษาไทยได้ชัดเจนที่สุด แม้ว่าเธอจะประหม่าบ้างกับกล้องถ่ายรูป ผู้คน และภารกิจที่เธอจะต้องทำ แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดี…
เจนจิรา สุ
25 กันยายน 2550 หมู่บ้านใหม่ค่อนข้างจะคึกคักตกเย็นมีเสียงดีดสีตีเป่าร้องรำทำเพลงเป็นเพลงพื้นบ้าน  เสียงซึงประสานเสียงโม่งสอดรับกับท่วงทำนองเนื้อร้องของแม่เฒ่า เอื้อนไต่บันไดเสียงคลอปี่ไม้ไผ่ผิวหวิวไหวขึ้นลง ไล่เลียงไปไม่ทันสุดบันไดเสียงก็โยนกลับไป-มาเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้ฉันรู้สึกราวกับว่าตกอยู่ในหมู่บ้านลี้ลับกลางป่าเปลี่ยวดึกดำบรรพ์ที่ไหนสักแห่งที่เคยอยู่อาศัยเมื่อนานมาแล้ว ต่างจากหมู่บ้านเดิมลิบลับ ที่นี่ไม่มีแบตเตอรี่พอเพียงสำหรับเปิดเพลงจากซีดี ไม่มีทีวีให้รุมดู แต่มีกาน้ำชาอุ่นบนกองไฟที่ล้อมวงไปด้วยเด็กๆ หนุ่มสาว จนถึงคนเฒ่าคนแก่ ปรึกษาหารือถึงวิถีชีวิตของวันพรุ่งนี้…
เจนจิรา สุ
20 กันยายน 2550 เจ้าเขียวสะอื้น (มอเตอร์ไซค์คู่ชีพ) ส่งเสียงครางกระหึ่มอุ่นเครื่องอยู่ใต้ถุนบ้าน ก่อนที่มันจะต้องเดินทางไกลในเส้นทางที่ฟ้าสวยแต่พื้นดินแสนขรุขระตรงกันข้าม สามีฉันจึงจัดแจงเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เช็คเครื่อง และเพิ่มตะกร้าหลังให้มันเพื่อบรรทุกสัมภาระที่ขนย้ายไปไม่หมด  ชาวบ้านหลายครอบครัวได้ย้ายไปดำเนินชีวิตที่หมู่บ้านใหม่ก่อนหน้าฉันหลายวันแล้ว แต่ฉันติดตรงที่ต้องพาลูกไปฉีดวัคซีนตามที่หมอนัด จึงยังอาศัยอยู่ที่บ้านแม่สามีไปพลางก่อนเช้านี้เราจึงตัดสินใจจะเดินทางไปหมูบ้านใหม่กัน สำหรับฉันค่อนข้างจะตื่นเต้นเพราะยังไม่เคยเห็นบ้านใหม่ของตัวเองสักที …
เจนจิรา สุ
12 กันยายน 2550 และแล้วก็มาถึงวันที่ทุกคนรอคอย เมื่อวันที่ย้ายต้องเลื่อนออกมาจากกำหนดเดิมอีกสองวัน แสงแดดดูเหมือนจะเป็นใจสาดส่องให้ถนนเส้นทางสายห้วยเดื่อ- ห้วยปูแกงที่เคยชื้นแฉะและเป็นหลุมบ่อจากน้ำฝนแห้งสนิท
เจนจิรา สุ
5 กันยายน 2550 ยามเช้า,ตื่นขึ้นด้วยเสียงเลื่อยไม้, เสียงค้อนตอกตะปู,เสียงสังกะสีกระทบพื้นดังโครมคราม ไก่หลายตัวที่เคยขันปลุกทุกเช้า ถูกเชือดเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงคนที่มาช่วยลงแขกรื้อบ้านตั้งแต่เมื่อวานและเช้านี้ บ้านหลายหลังพังพาบเป็นกองไม้ รอวันขนย้ายไปที่แห่งใหม่ เด็กๆ วิ่งตึงตังในห้องกลางเพราะต้องมานอนรวมแออัดกันที่บ้านย่า ก็คือบ้านสามีของฉัน แม่บ้านและเด็กสาววุ่นวายอยู่ในครัว เหตุการณ์ชุลมนเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อหลายวันก่อน ชาวบ้านมาขอคำปรึกษาเรื่องบ้าน ฉันจึงตัดสินใจกดหมายเลขโทรศัพท์ต่อสายพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับปลัดหนุ่มที่ดูแลพื้นที่“ปลัดฯหรือคะ คือฉันมีเรื่องรบกวนจะเรียนถาม…
เจนจิรา สุ
31สิงหาคม2550 22.40 น.ฉันลุกขึ้นเปิดดวงไฟจากแบตเตอรี่อีกครั้ง หลังจากที่ลุกขึ้นมาโทรศัพท์สนทนากับเพื่อนที่เชียงใหม่ ระบายความกลัดกลุ้มด้วยคำพูดแต่ดูเหมือนเมื่อปิดไฟลง ดวงตาก็เบิกโพลงไปกับความคิดฉันจึงปล่อยความคิดโลดแล่นไปกับปลายปากกานับถอยหลังไปอีกสิบวัน หมู่บ้านที่ฉันอาศัยอยู่นี้ก็จะถูกย้ายไปที่แห่งใหม่ ตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยให้ไปรวมกับหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ไกลออกไปติดชายแดนไทย-พม่าทางฝั่งทิศตะวันตก    เนื่องจากชาวบ้านที่นี่อาศัยอยู่กับนายทุนมานานกว่า 12 ปี ด้วยสัญลักษณ์ที่พิเศษแตกต่างกว่าชนเผ่าอื่น “กะยัน” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ากะเหรี่ยงคอยาว…