Skip to main content
สาละวิน, ลูกรัก


ลูกลืมตาดูโลกในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ปี พ..2550 ในตอนค่ำเวลา 19.21 . ตรงกับวันขึ้น 12 ค่ำเดือน 4 ปีกุน แม่ให้ชื่อลูกไว้ตั้งแต่ยังไม่เกิดว่า "สาละวิน" ชึ่งหมายถึงชื่อของแม่น้ำพรมแดนกั้นระหว่างไทยกับพม่า


สาละวินของแม่ถือกำเนิดมาจากแม่ซึ่งเป็นคนไทยและพ่อที่อพยพมาจากพม่า ชื่อของลูกที่เปรียบเทียบได้กับแม่น้ำพรมแดนเชื่อมสายสัมพันธ์ให้เราสองคนอยู่เคียงข้างกันตลอดไปดังเช่นไทยและพม่า


แต่ความจริงแล้วเรื่องการแบ่งแยกว่าใครเป็นไทย ใครเป็นพม่านั้น แม่ไม่ได้ถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งใหญ่นัก แม่เองก็ไม่ใช่ไทยแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์มาจากไหน มีแม่(ยาย)เป็นคนภาคอีสาน และพ่อซึ่งยังเป็นปริศนาชีวิตสำหรับแม่


ส่วนพ่อของลูกนั้นแท้จริงแล้วเป็นเพียงชนเผ่าเล็กๆ ที่อาศัยในแผ่นดินพม่า พ่อจึงไม่ได้ยอมรับตัวเองว่าเป็นคนพม่าเต็มร้อย เพราะ "พม่า" ที่หมายถึงรัฐที่ปกครองด้วยระบบเผด็จการทหาร ก็ยังรุกรานรังแกชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ ซึ่งก็ไม่เว้นแม้แต่เผ่าเล็กๆ อย่างชาวกระยัน หรือที่รู้จักกันดีในต่างแดนนี้ว่าเผ่ากระเหรี่ยงคอยาวนั่นแหละ


เมื่อก่อนก็ไม่มีใครรู้ว่า แม่น้ำสายไหน ภูเขาลูกใด เป็นพรมแดนประเทศอะไรหรอกลูก มนุษย์เกิดมาและรับรู้เพียงว่า เขาดำรงชีวิตอยู่ในสังคมวัฒนธรรมเช่นใด และเรียนรู้ที่จะดำเนินชีวิตไปตามสังคมและวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ อาจจะมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมด้วยการไปมาหาสู่กันบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับรบราฆ่าฟันกันเพื่อแย่งชิงดินแดน เมื่อทรัพยากรในการดำรงชีวิตยังคงมีเหลือเฟือไม่ถึงขั้นกับฝืดเคือง


"
แผนที่" ซึ่งถูกขีดขึ้นภายหลังเมื่อไม่นานนี้จนกำหนดเป็นพรมแดนประเทศต่างๆ ขึ้นมา ก็เพียงเพื่อรับใช้ระบอบการปกครองของคนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น การล่าอาณานิคมเพื่อยึดครองพื้นที่ในยุคต่อมา เป็นสิ่งชี้ชัดว่ามนุษย์ยึดติดกับแผนที่เพื่อหาผลประโยชน์จากการยึดครองเท่านั้นเอง


ลูกที่เกิดและเติบโตบนผืนแผ่นดินที่เรียกว่า "ไทย" วันหนึ่งอาจอยากเดินทางย้อนกลับไปยังเส้นทางที่พ่อของลูกได้เดินเท้าจากมาเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก ซึ่งต้องใช้เวลารอนแรมอยู่หลายคืนวัน


สาเหตุที่พ่อต้องเดินทางรอนแรมกลางป่าเขาข้ามตะเข็บชายแดนที่เต็มไปด้วยทุ่นระเบิด มายังฝั่งไทยนั้น แม่ได้สอบถามจากย่าผู้ซึ่งนำพาให้พ่อแม่มาพบกันยังฝั่งไทยนี้ ได้ความว่า


ครอบครัวของพ่อของลูกนั้นเป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งในประเทศพม่า แม้จะยืนยันตัวเองว่าเป็นชนกลุ่มน้อยที่เดิมเคยมีแผ่นดินเป็นอาณาเขตปกครองตนเองดังเช่นชนกลุ่มน้อยอื่นๆ เมื่อถูกฉีกสัญญาปางโหลง จึงหันมาจับปืนรบกับพม่าเพื่อทวงสัญญาแผ่นดินคืน


คนหนุ่มในเผ่าของพ่อไม่น้อยทิ้งจอบเสียมหันมาจับปืน ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับเพื่อนร่วมอุดมการณ์อีกหลายเผ่า บางคนก็ทิ้งชีวิตไว้ในสมรภูมิและอีกมากมายที่หนีตายอพยพข้ามพรมแดนมายังไทย


เมื่อครั้งที่ย่ายังอาศัยที่พม่าก็ทำมาหากินตามประสาครอบครัวที่ยากจน คือรับจ้างทำนา เพราะไม่มีที่นาเป็นของตนเอง ส่วนลูกๆ ก็ต้องเฝ้าวัวให้กับเจ้าของนา วัวสองสามร้อยตัวใช้ลูกๆ 3-4 คนช่วยกันต้อนเลี้ยงในทุ่งหญ้า เมื่อครบปีก็จะได้ข้าวสารจากเจ้าของวัวเป็นค่าเหนื่อย


เมื่อทำงานมาอย่างเหนื่อยยาก กินไม่เคยอิ่ม บางมื้อต้องอาศัยน้ำข้าวลูบท้องประทังความหิว เคราะห์หามยามร้ายทหารพม่าเข้าปล้นชิงหมู่บ้านขูดรีดเอาข้าวสารที่เก็บกักตุน ซ้ำเติมความยากลำบากเข้าไปอีก


เมื่อวันหนึ่งย่าได้รับข่าวจากเพื่อนบ้านหลายครอบครัว ที่ได้อพยพเข้าประเทศไทย ถึงความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ได้กินอิ่มนอนอุ่นกว่าเคย เพราะไม่ต้องคอยหวาดกลัวกับทุ่นระเบิดและทหารพม่าเช่นแต่ก่อน


นอกจากนี้ย่ายังทราบว่า หากต้องการเดินทางข้ามมายังฝั่งไทย ก็จะมีคนมานำทางให้ เป็นสิทธิพิเศษสำหรับเผ่ากระยันที่สวมห่วงมทองเหลืองไว้ที่คอเท่านั้น


เมื่อเกวียนเล่มแรกเริ่มหมุน เกวียนเล่มต่อไปก็เริ่มหมุนตาม ย่าจึงตัดสินใจหอบหิ้วลูกสามคนที่ยังเล็กอยู่เดินเท้าติดตามขบวนผู้คนเข้าฝั่งไทย ทิ้งลูกที่โตบ้างแล้วไว้เป็นแรงงานอยู่กับปู่ เพราะย่าคิดว่าหากมาเมืองไทยแล้วไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง ก็ยังสามารถกลับไปกินข้าวที่ลูกๆ ทำไว้ที่หมู่บ้านเดิมได้


เมื่อมาถึงศูนย์อพยพชั่วคราวบ้านในสอยจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีกะเรนนีอาศัยอยู่หลายชนเผ่า แต่เนื่องจากเผ่ากะยัน ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือสวมห่วงทองเหลืองไว้ที่คอและมีคอที่ยาวขึ้น ทำให้เป็นที่อัศจรรย์ใจแก่ผู้พบเห็น แล้ววันหนึ่งย่าก็ถูกขายลักษณะพิเศษของตนเอง แทนการจับจอบจับเสียม ทำไร่ไถนาที่เคยทำมาค่อนชีวิต


ย่าได้กลายมาเป็นดาราหน้ากล้อง เมื่อยามนักท่องเที่ยวเดินพ้นประตูเข้ามาในหมู่บ้าน เพื่อชมความแปลกประหลาดของชนเผ่าเล็กๆนี้ แลกกันเงินที่จ่ายให้ย่าเป็นรายเดือน เงินจำนวนหนึ่งพันห้าร้อยบาทเมื่อสิบปีก่อนหน้านี้ หากเปรียบเทียบชีวิตที่เคยอาศัยอยู่หมู่บ้านเดิม ก็นับว่าทำให้เศรษฐกิจในครอบครัวชาวกระยัน มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว


แต่หากจะให้เปรียบระหว่างรายได้ที่นายทุนเรียกเก็บจากนักท่องเที่ยวกับค่าตอบแทนสำหรับหญิงกะยันที่สวมห่วงทองเหลืองก็อาจจะเรียกว่าแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน


สิบสี่ปีแล้วที่หมู่บ้านห้วยเสือเฒ่าถูกจัดตั้งขึ้นเป็นที่อยู่อาศัยของชาวกระยัน (กะเหรี่ยงคอยาว) และกระยอ (กะเหรี่ยงหูกว้าง) หมู่ที่ไม่มีบ้านเลขที่ในทะเบียนราษฎร์ แต่อยู่ห่างจากเมืองเพียงไม่กี่กิโลเมตร เพียงเพื่อให้ความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว ในการเดินทางมาชมวิถีชีวิตของเผ่ากระยัน

 

 

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
12 ตุลาคม 2550 ยามสายของวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่สนามบินแตกตื่นไปกับผู้คนที่เดินทางไปรับผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนใหม่ โดยเฉพาะเมื่อเห็นหญิงกระยันสวมห่วงทองเหลืองที่ขัดจนแวววาว เดินอย่างเป็นระเบียบมาเข้าแถวต้อนรับผู้ว่าฯ คนใหม่อย่างพร้อมเพียงบางคนที่มารอขึ้นเครื่องเข้ามากดชัตเตอร์ขอถ่ายรูปพวกเธอที่แต่งชุดกระยันเต็มยศ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส มะลิ เด็กสาวกระยันคนหนึ่งถูกเลือกให้กล่าวคำต้อนรับท่านผู้ว่าฯ ด้วยเหตุผลที่เธอสามารถอ่านหนังสือภาษาไทยได้ชัดเจนที่สุด แม้ว่าเธอจะประหม่าบ้างกับกล้องถ่ายรูป ผู้คน และภารกิจที่เธอจะต้องทำ แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดี…
เจนจิรา สุ
25 กันยายน 2550 หมู่บ้านใหม่ค่อนข้างจะคึกคักตกเย็นมีเสียงดีดสีตีเป่าร้องรำทำเพลงเป็นเพลงพื้นบ้าน  เสียงซึงประสานเสียงโม่งสอดรับกับท่วงทำนองเนื้อร้องของแม่เฒ่า เอื้อนไต่บันไดเสียงคลอปี่ไม้ไผ่ผิวหวิวไหวขึ้นลง ไล่เลียงไปไม่ทันสุดบันไดเสียงก็โยนกลับไป-มาเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้ฉันรู้สึกราวกับว่าตกอยู่ในหมู่บ้านลี้ลับกลางป่าเปลี่ยวดึกดำบรรพ์ที่ไหนสักแห่งที่เคยอยู่อาศัยเมื่อนานมาแล้ว ต่างจากหมู่บ้านเดิมลิบลับ ที่นี่ไม่มีแบตเตอรี่พอเพียงสำหรับเปิดเพลงจากซีดี ไม่มีทีวีให้รุมดู แต่มีกาน้ำชาอุ่นบนกองไฟที่ล้อมวงไปด้วยเด็กๆ หนุ่มสาว จนถึงคนเฒ่าคนแก่ ปรึกษาหารือถึงวิถีชีวิตของวันพรุ่งนี้…
เจนจิรา สุ
20 กันยายน 2550 เจ้าเขียวสะอื้น (มอเตอร์ไซค์คู่ชีพ) ส่งเสียงครางกระหึ่มอุ่นเครื่องอยู่ใต้ถุนบ้าน ก่อนที่มันจะต้องเดินทางไกลในเส้นทางที่ฟ้าสวยแต่พื้นดินแสนขรุขระตรงกันข้าม สามีฉันจึงจัดแจงเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เช็คเครื่อง และเพิ่มตะกร้าหลังให้มันเพื่อบรรทุกสัมภาระที่ขนย้ายไปไม่หมด  ชาวบ้านหลายครอบครัวได้ย้ายไปดำเนินชีวิตที่หมู่บ้านใหม่ก่อนหน้าฉันหลายวันแล้ว แต่ฉันติดตรงที่ต้องพาลูกไปฉีดวัคซีนตามที่หมอนัด จึงยังอาศัยอยู่ที่บ้านแม่สามีไปพลางก่อนเช้านี้เราจึงตัดสินใจจะเดินทางไปหมูบ้านใหม่กัน สำหรับฉันค่อนข้างจะตื่นเต้นเพราะยังไม่เคยเห็นบ้านใหม่ของตัวเองสักที …
เจนจิรา สุ
12 กันยายน 2550 และแล้วก็มาถึงวันที่ทุกคนรอคอย เมื่อวันที่ย้ายต้องเลื่อนออกมาจากกำหนดเดิมอีกสองวัน แสงแดดดูเหมือนจะเป็นใจสาดส่องให้ถนนเส้นทางสายห้วยเดื่อ- ห้วยปูแกงที่เคยชื้นแฉะและเป็นหลุมบ่อจากน้ำฝนแห้งสนิท
เจนจิรา สุ
5 กันยายน 2550 ยามเช้า,ตื่นขึ้นด้วยเสียงเลื่อยไม้, เสียงค้อนตอกตะปู,เสียงสังกะสีกระทบพื้นดังโครมคราม ไก่หลายตัวที่เคยขันปลุกทุกเช้า ถูกเชือดเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงคนที่มาช่วยลงแขกรื้อบ้านตั้งแต่เมื่อวานและเช้านี้ บ้านหลายหลังพังพาบเป็นกองไม้ รอวันขนย้ายไปที่แห่งใหม่ เด็กๆ วิ่งตึงตังในห้องกลางเพราะต้องมานอนรวมแออัดกันที่บ้านย่า ก็คือบ้านสามีของฉัน แม่บ้านและเด็กสาววุ่นวายอยู่ในครัว เหตุการณ์ชุลมนเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อหลายวันก่อน ชาวบ้านมาขอคำปรึกษาเรื่องบ้าน ฉันจึงตัดสินใจกดหมายเลขโทรศัพท์ต่อสายพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับปลัดหนุ่มที่ดูแลพื้นที่“ปลัดฯหรือคะ คือฉันมีเรื่องรบกวนจะเรียนถาม…
เจนจิรา สุ
31สิงหาคม2550 22.40 น.ฉันลุกขึ้นเปิดดวงไฟจากแบตเตอรี่อีกครั้ง หลังจากที่ลุกขึ้นมาโทรศัพท์สนทนากับเพื่อนที่เชียงใหม่ ระบายความกลัดกลุ้มด้วยคำพูดแต่ดูเหมือนเมื่อปิดไฟลง ดวงตาก็เบิกโพลงไปกับความคิดฉันจึงปล่อยความคิดโลดแล่นไปกับปลายปากกานับถอยหลังไปอีกสิบวัน หมู่บ้านที่ฉันอาศัยอยู่นี้ก็จะถูกย้ายไปที่แห่งใหม่ ตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยให้ไปรวมกับหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ไกลออกไปติดชายแดนไทย-พม่าทางฝั่งทิศตะวันตก    เนื่องจากชาวบ้านที่นี่อาศัยอยู่กับนายทุนมานานกว่า 12 ปี ด้วยสัญลักษณ์ที่พิเศษแตกต่างกว่าชนเผ่าอื่น “กะยัน” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ากะเหรี่ยงคอยาว…