Skip to main content
สาละวิน, ลูกรัก


ในวันที่แม่เริ่มจับปากกาเขียนถึงลูก สาละวินอายุได้หนึ่งเดือนกับสิบแปดวัน แม่นั่งอยู่ข้างๆ เบาะเล็กๆสีชมพู ซึ่งลูกอาจจะแปลกใจที่แม่เลือกซื้อข้าวของเครื่องใช้เป็นสีชมพูนั้น แม่ยอมรับว่าในใจตอนแรกของแม่ก็หวังจะให้ลูกคนแรกเป็นผู้หญิง


แต่เมื่อแม่ได้เห็นแววตาของลูกครั้งแรกหลังจากใช้ความพยายามเบ่งออกมาในห้องคลอดแม่ก็ปลื้มปิติกับชีวิตใหม่ที่เรียกว่า "ลูก" ซึ่งจะเป็นหญิงหรือชายก็ไม่ได้มีความสำคัญใดๆ อีกเลย


เบาะของลูกอยู่ชิดทางขวาของห้องมีแม่นอนตรงกลางและพ่อนอนซมไข้อยู่ด้านซ้าย เราสามคนแทบจะนอนชิดกัน


ห้องเล็กๆ อาศัยแสงไฟจากแบตเตอรี่ แม้มันจะไม่สว่างดังใจเช่นหลอดนีออนจากไฟฟ้า แต่ก็ยังดีกว่าเทียนไขที่ต้องคอยระวังมากขึ้นเป็นสองเท่า


โดยปกติลูกจะตื่นบ่อยในช่วงเวลานี้ แต่ก็ด้วยพิษไข้ที่ลูกเพิ่งจะสร่างได้ไม่นาน ทำให้ลูกไม่สามารถลืมตาตื่นขึ้นมาร้องกวนโยเยกับแม่ได้เหมือนทุกๆ วัน


เมื่อคืนนี้แม่แทบกลั้นน้ำตาไม่อยู่ แม้คำของลุงโดมยังก้องอยู่ในสมองของแม่ตลอดเวลาว่า

"เวลาลูกไม่สบายพ่อแม่อย่าวิตกกังวลจนเกินเหตุเพราะลูกหวังพึ่งพาพ่อกับแม่เท่านั้น หากพ่อแม่ใจเสียแล้ว ลูกก็ยิ่งใจเสียมากขึ้นเพราะไม่รู้ว่าจะไปพึ่งพาใครได้อีก"


ตั้งแต่ลูกคลอดมา นี่เป็นครั้งแรกที่ลูกป่วย ลูกมีไข้สูงถึงสามสิบเจ็ดถึงสามสิบแปดองศาเซลเซส จนแม่ต้องจับลูกเช็ดตัวตลอดเวลา เพราะคุณหมอไม่ยอมสั่งยาลดไข้ เนื่องจากลูกอายุยังไม่ครบสองเดือน ยาพาราเซตามอลจะมีผลต่อตับอ่อนๆ ของลูก


พอลูกไข้ขึ้นสูงลูกก็จะนอนซม พ่อกับแม่ต้องจับลูกถอดผ้าอ้อม เพื่อเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นให้ความร้อนในตัวของลูกลดลง ตอนนั้นลูกจะร้องไห้จ้า บางทีแม่ต้องเช็ดตัวลูกอยู่นานกว่าไข้จะลดจนลูกปากคอสั่นด้วยความหนาว ดวงตาดำขลับของลูกก็จะจับจ้องมาที่หน้าของแม่ดั่งมีคำถาม ซึ่งแม่ก็จะพยายามอธิบายทั้งๆ ที่ไม่แน่ใจว่าลูกจะเข้าใจในความหมายหรือไม่ว่า ทำไมแม่ต้องทำให้ลูกตัวเย็นในขณะที่ลูกยังหลับอยู่ดีๆ


หลังจากที่เมื่อคืนลูกต่อสู้กับพิษไข้จนถึงเช้า ลูกก็หลับและซึมทั้งวัน จนกระทั่งถึงตอนนี้นี่แหละ ที่ทำให้แม่ได้มีเวลามานั่งเขียนบันทึกถึงลูก แต่ถ้าลูกผวาตื่นลืมตาขึ้นมาคราใด แม่ก็จะขยับเข้าไปกอดลูกไว้ จูบตรงกระหม่อมและบอกลูกเบาๆ ว่าแม่ยังอยู่ข้างๆ กาย


แม่คิดว่าลูกคงต้องการกำลังใจมากกว่าปกติในยามป่วยไข้เช่นนี้


ตอนที่แม่ยังเด็กอายุประมาณเจ็ดแปดขวบ แม่เคยป่วยเป็นไข้หวัด มีไข้ตัวร้อน แม้จะเป็นไม่มากนักแต่แม่ก็ต้องการกำลังใจจากยาย(หมายถึงแม่ของแม่)


แม่จำได้ว่าทำเสียงครางฮือๆ ในลำคอหวังให้ยายที่นอนอยู่ห้องข้างๆ เข้ามาดูแล แต่จนถึงรุ่งเช้าก็ไม่มีวี่แววว่ายายจะเข้ามาเคาะประตูห้องแม่ จนกระทั่งแม่ได้คำตอบในตอนเช้าเมื่อยาย ได้มาพูดกับแม่ว่า

"เมื่อคืนเป็นไข้ทำไมไม่ลุกมาหาหยูกยากินเอง แม่ไม่ได้อยู่ดูแลตลอดไปนะ"

นั่นเป็นเหตุผลของยายที่ตอนนั้นแม่ไม่มีวันเข้าใจ สิ่งที่แม่รู้สึกกลับเป็นความน้อยเนื้อต่ำใจและคิดว่ายายไม่รักแม่ ทอดทิ้งแม่และรักน้องชายซึ่งเป็นลูกที่เกิดจากครอบครัวใหม่ของแม่มากกว่า


แม่ยอมรับว่าปมด้อยเล็กๆ ในใจของแม่ที่ไม่รู้ว่าเริ่มต้นเมื่อไร แต่มันขยายอาณาเขตกินพื้นที่หัวใจของแม่เรื่อยมา แม่กลายเป็นคนก้าวร้าว เย็นชา เพราะว่ามีแม่(ยาย) ที่ฝึกให้แม่เป็นเด็กที่แกร่งเกินวัย


แม่ลืมไปแล้วว่ายายกอดแม่ครั้งสุดท้ายเมื่อไร การโอบกอดกันนั้นแม่ไม่ค่อยได้รับมาในวัยเด็ก แม่จึงมักโหยหาและมอบอ้อมกอดให้คนรอบข้างอยู่เสมอไม่ว่าคนนั้นจะเป็นเพื่อน หรือคนรัก


แม่เชื่อว่าการโอบกอดเป็นการถ่ายเทความรักที่ง่ายที่สุด เมื่อเราโอบกอดใครด้วยความรักเราก็จะรู้สึกได้ถึงความรักนั้นกลับคืนมาด้วยความรู้สึกเดียวกัน แต่วัฒนธรรมการโอบกอดนี้เราจะรับเขามาจากต่างชาติอีกที ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจที่ยาย(แม่ของแม่)จะรู้สึกประดักประเดิดที่จะแสดง


แม่คิดว่ายายเองก็คงไม่ได้สัมผัสอ้อมกอดจากแม่ ก็คือยายทวด) เท่าไรนัก เพราะยายทวดที่มีลูกถึงเจ็ดคน คงจะไม่มีเวลามาใส่ใจเรื่องของจิตใจลูกๆ ลำพังการทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องให้อยู่รอด บนพื้นแผ่นดินอีสานก็นับว่าเหนื่อยยากมากแล้ว


ยายของลูกมีลูกเพียงสองคน ก็คือแม่ซึ่งเป็นลูกสาวคนโตและน้าไก่ ซึ่งเป็นลูกอีกคนที่เกิดต่างพ่อ แต่ยายกลับไม่มีเวลาที่จะดูแลลูกๆ เพราะยายต้องทำงานตัวเป็นเกลียวจากบ้านไปเร่ซื้อของเก่าในต่างจังหวัดนานเป็นเดือนๆ


แม่ยังจำได้ ยายจะทิ้งให้แม่และน้าไก่(น้องชายอายุน้อยกว่าแม่ 3 ขวบ) ให้อยู่กับพี่เลี้ยงเด็ก ซึ่งจะเปลี่ยนหน้ากันแทบไม่ซ้ำเป็นคนลาวบ้าง คนพม่าบ้าง แต่ละคนจะทนฤทธิ์เดชของแม่ได้ไม่นานก็ต้องเก็บกระเป๋ากลับบ้านหรือหางานใหม่ทำ แต่หากคนไหนที่ตามใจหน่อยก็จะอยู่ดูแลแม่และน้องได้นานหน่อย


มีอยู่คนหนึ่งเป็นสาวชาวลาว ไว้ผมยาวจรดหลังเล็บขาวสะอาดยาวเรียว เธอดูแลเล็บและผมเป็นอย่างดี แต่มาคืนหนึ่งที่เรากำลังจะปิดไฟเข้านอนกัน ก็เกิดอุบัติเหตุ เล็บยาวๆ นั้นเผลอมาจิ้มใส่ตาแม่เข้า


พอตอนเช้ายายก็ให้เธอพาแม่ไปหาหมอเพราะแม่เคืองตามาก มีน้ำตาไหลตลอดเวลา แต่แม่กลับบังคับให้เธอพาไปที่ตลาดก่อนไปหาหมอที่คลินิก แม่ใช้จ่ายเงินไปกับการซื้อของเล่นจนแทบหมด พอไปจ่ายค่ายาปรากฏว่าเงินไม่พอ ทำให้หมอต้องจ่ายยามาให้แค่ครึ่งเดียว


เมื่อกลับถึงบ้านเธอก็เอาเรื่องไปฟ้องยาย ทำให้ยายโกรธมากและหวดแม่ด้วยไม้เรียวเสียจนยับ พอตกกลางคืนแม่ก็เลยแก้แค้นพี่เลี้ยงคนนี้ ด้วยการย่องไปหั่นผมสวยๆ ของเธอตอนหลับจนหมดสวย


ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมแม่จึงเป็นเด็กดื้อนักและมักจะดื้อเงียบ คือถ้าโดนตีก็จะไม่ร้องไห้แต่จะแอบมาร้องไห้อยู่เงียบๆ คนเดียว ดูภายนอกเป็นคนเข้มแข็งแต่ภายในกลับอ่อนไหวกว่าที่ควรจะเป็น อย่างเวลาสัตว์เลี้ยงเช่นหมาหรือแมวตาย แม่มักจะเศร้าเสียใจมากบางทีก็ทำพิธีฝังศพให้มัน ยืนไว้อาลัยร้องไห้อยู่หลายวัน ไม่เฉพาะแต่ที่บ้าน ที่โรงเรียนแม่ก็มักมีเรื่องชกต่อยกับเพื่อนอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะกับเด็กผู้ชาย แม้จะตัวโตกว่าแม่ก็สู้ไม่เคยถอย


แม่คิดว่าพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงที่แม่แสดงออกมาในรูปของการชกต่อย และความอ่อนไหวภายในจิตใจ ที่เป็นด้านตรงกันข้ามกันนี้เกิดขึ้นเพราะการเลี้ยงดูในวัยเด็กของแม่ ทำให้แม่เป็นคนที่ขาดความรักความอบอุ่น พฤติกรรมต่างๆ ที่แสดงออกมาก็เพื่อเรียกร้องความสนใจจากคนรอบข้างนั่นเอง


มีคนโบราณพูดไว้ว่า เด็กเลี้ยงหลายมือจะดื้อและไม่ฟังใคร แม่เป็นคนหนึ่งที่ถูกเลี้ยงหลายมือ มือหนึ่งก็คือยายทวด เมื่อครั้งที่แม่(ของแม่)ทะเลาะกับพ่อใหม่(ที่ไม่ใช่พ่อที่ให้กำเนิด) แม่ก็หอบหิ้วลูกไปฝากให้ยายทวดเลี้ยง ตอนนั้นแม่จำความได้ครั้งแรกแม่เข้าโรงเรียนชั้นป.1พอดี และมีเรื่องชกต่อยกับเพื่อนใหม่ที่โรงเรียนในวันแรกที่ไปโรงเรียน


จังหวัดร้อยเอ็ดเป็นบ้านเกิดของแม่และยายแต่แม่ก็มีโอกาสได้ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น บ้านของยายทวดเพียงปีเดียว เมื่อเลื่อนขึ้นชั้นป.2 ยายก็พากลับมาเข้าโรงเรียนที่แพร่บ้านของพ่อใหม่ และเรียนที่แพร่จนกระทั่งจบม.6 แต่เวลาเพียงปีเดียวที่อยู่บ้านยายทวด แม่กลับมีความทรงจำมากมายที่นั่น และมักเป็นความทรงจำที่ดีๆ นั่นเพราะแม่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขที่แท้จริงของญาติฝ่ายยาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อย้ายมาอยู่ที่แพร่แล้ว ปู่และย่า(ซึ่งเป็นพ่อแม่ของพ่อใหม่) จะปฏิบัติทารุณโหดร้ายอะไรกับแม่หรอกนะ เพียงแต่เขาก็เลี้ยงเราตามประสา และย่อมเอาใจใส่น้าไก่ซึ่งเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขจริงๆ


นอกจากยายทอด ย่าทวด ปู่ทวดแล้ว ก็มีพี่เลี้ยงเด็กหลายๆ คนที่เวียนกันมาเลี้ยงดูแม่ การเลี้ยงดูจากพี่เลี้ยงเด็กแต่ละคนก็ย่อมแตกต่างกันไป และแม่ก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับพี่เลี้ยงเด็กที่เปลี่ยนหน้ากันมาอยู่ตลอดเวลา


ทั้งที่จริงๆ แล้วคนที่แม่โหยหาอยากให้อยู่ใกล้คอยดูแลเอาใจใส่ กลับไม่เคยมีเวลาให้เลย สิ่งที่ยายให้ได้ก็เพียงเงินที่ทิ้งไว้ให้พี่เลี้ยงเด็กบริหารเป็นรายเดือนเท่านั้น ซึ่งพี่เลี้ยงเด็กก็คงจะดูแลพวกแม่ได้เพียงกายภาพเท่านั้น ส่วนจิตใจที่โหยหาความอบอุ่นของแม่ก็ยังคงเหน็บหนาวอยู่เช่นนั่นร่ำไปลูกเอ๋ย

 

 

 

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
12 ตุลาคม 2550 ยามสายของวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่สนามบินแตกตื่นไปกับผู้คนที่เดินทางไปรับผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนใหม่ โดยเฉพาะเมื่อเห็นหญิงกระยันสวมห่วงทองเหลืองที่ขัดจนแวววาว เดินอย่างเป็นระเบียบมาเข้าแถวต้อนรับผู้ว่าฯ คนใหม่อย่างพร้อมเพียงบางคนที่มารอขึ้นเครื่องเข้ามากดชัตเตอร์ขอถ่ายรูปพวกเธอที่แต่งชุดกระยันเต็มยศ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส มะลิ เด็กสาวกระยันคนหนึ่งถูกเลือกให้กล่าวคำต้อนรับท่านผู้ว่าฯ ด้วยเหตุผลที่เธอสามารถอ่านหนังสือภาษาไทยได้ชัดเจนที่สุด แม้ว่าเธอจะประหม่าบ้างกับกล้องถ่ายรูป ผู้คน และภารกิจที่เธอจะต้องทำ แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดี…
เจนจิรา สุ
25 กันยายน 2550 หมู่บ้านใหม่ค่อนข้างจะคึกคักตกเย็นมีเสียงดีดสีตีเป่าร้องรำทำเพลงเป็นเพลงพื้นบ้าน  เสียงซึงประสานเสียงโม่งสอดรับกับท่วงทำนองเนื้อร้องของแม่เฒ่า เอื้อนไต่บันไดเสียงคลอปี่ไม้ไผ่ผิวหวิวไหวขึ้นลง ไล่เลียงไปไม่ทันสุดบันไดเสียงก็โยนกลับไป-มาเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้ฉันรู้สึกราวกับว่าตกอยู่ในหมู่บ้านลี้ลับกลางป่าเปลี่ยวดึกดำบรรพ์ที่ไหนสักแห่งที่เคยอยู่อาศัยเมื่อนานมาแล้ว ต่างจากหมู่บ้านเดิมลิบลับ ที่นี่ไม่มีแบตเตอรี่พอเพียงสำหรับเปิดเพลงจากซีดี ไม่มีทีวีให้รุมดู แต่มีกาน้ำชาอุ่นบนกองไฟที่ล้อมวงไปด้วยเด็กๆ หนุ่มสาว จนถึงคนเฒ่าคนแก่ ปรึกษาหารือถึงวิถีชีวิตของวันพรุ่งนี้…
เจนจิรา สุ
20 กันยายน 2550 เจ้าเขียวสะอื้น (มอเตอร์ไซค์คู่ชีพ) ส่งเสียงครางกระหึ่มอุ่นเครื่องอยู่ใต้ถุนบ้าน ก่อนที่มันจะต้องเดินทางไกลในเส้นทางที่ฟ้าสวยแต่พื้นดินแสนขรุขระตรงกันข้าม สามีฉันจึงจัดแจงเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เช็คเครื่อง และเพิ่มตะกร้าหลังให้มันเพื่อบรรทุกสัมภาระที่ขนย้ายไปไม่หมด  ชาวบ้านหลายครอบครัวได้ย้ายไปดำเนินชีวิตที่หมู่บ้านใหม่ก่อนหน้าฉันหลายวันแล้ว แต่ฉันติดตรงที่ต้องพาลูกไปฉีดวัคซีนตามที่หมอนัด จึงยังอาศัยอยู่ที่บ้านแม่สามีไปพลางก่อนเช้านี้เราจึงตัดสินใจจะเดินทางไปหมูบ้านใหม่กัน สำหรับฉันค่อนข้างจะตื่นเต้นเพราะยังไม่เคยเห็นบ้านใหม่ของตัวเองสักที …
เจนจิรา สุ
12 กันยายน 2550 และแล้วก็มาถึงวันที่ทุกคนรอคอย เมื่อวันที่ย้ายต้องเลื่อนออกมาจากกำหนดเดิมอีกสองวัน แสงแดดดูเหมือนจะเป็นใจสาดส่องให้ถนนเส้นทางสายห้วยเดื่อ- ห้วยปูแกงที่เคยชื้นแฉะและเป็นหลุมบ่อจากน้ำฝนแห้งสนิท
เจนจิรา สุ
5 กันยายน 2550 ยามเช้า,ตื่นขึ้นด้วยเสียงเลื่อยไม้, เสียงค้อนตอกตะปู,เสียงสังกะสีกระทบพื้นดังโครมคราม ไก่หลายตัวที่เคยขันปลุกทุกเช้า ถูกเชือดเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงคนที่มาช่วยลงแขกรื้อบ้านตั้งแต่เมื่อวานและเช้านี้ บ้านหลายหลังพังพาบเป็นกองไม้ รอวันขนย้ายไปที่แห่งใหม่ เด็กๆ วิ่งตึงตังในห้องกลางเพราะต้องมานอนรวมแออัดกันที่บ้านย่า ก็คือบ้านสามีของฉัน แม่บ้านและเด็กสาววุ่นวายอยู่ในครัว เหตุการณ์ชุลมนเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อหลายวันก่อน ชาวบ้านมาขอคำปรึกษาเรื่องบ้าน ฉันจึงตัดสินใจกดหมายเลขโทรศัพท์ต่อสายพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับปลัดหนุ่มที่ดูแลพื้นที่“ปลัดฯหรือคะ คือฉันมีเรื่องรบกวนจะเรียนถาม…
เจนจิรา สุ
31สิงหาคม2550 22.40 น.ฉันลุกขึ้นเปิดดวงไฟจากแบตเตอรี่อีกครั้ง หลังจากที่ลุกขึ้นมาโทรศัพท์สนทนากับเพื่อนที่เชียงใหม่ ระบายความกลัดกลุ้มด้วยคำพูดแต่ดูเหมือนเมื่อปิดไฟลง ดวงตาก็เบิกโพลงไปกับความคิดฉันจึงปล่อยความคิดโลดแล่นไปกับปลายปากกานับถอยหลังไปอีกสิบวัน หมู่บ้านที่ฉันอาศัยอยู่นี้ก็จะถูกย้ายไปที่แห่งใหม่ ตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยให้ไปรวมกับหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ไกลออกไปติดชายแดนไทย-พม่าทางฝั่งทิศตะวันตก    เนื่องจากชาวบ้านที่นี่อาศัยอยู่กับนายทุนมานานกว่า 12 ปี ด้วยสัญลักษณ์ที่พิเศษแตกต่างกว่าชนเผ่าอื่น “กะยัน” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ากะเหรี่ยงคอยาว…