Skip to main content
สาละวิน, ลูกรัก


ในวันที่แม่เริ่มจับปากกาเขียนถึงลูก สาละวินอายุได้หนึ่งเดือนกับสิบแปดวัน แม่นั่งอยู่ข้างๆ เบาะเล็กๆสีชมพู ซึ่งลูกอาจจะแปลกใจที่แม่เลือกซื้อข้าวของเครื่องใช้เป็นสีชมพูนั้น แม่ยอมรับว่าในใจตอนแรกของแม่ก็หวังจะให้ลูกคนแรกเป็นผู้หญิง


แต่เมื่อแม่ได้เห็นแววตาของลูกครั้งแรกหลังจากใช้ความพยายามเบ่งออกมาในห้องคลอดแม่ก็ปลื้มปิติกับชีวิตใหม่ที่เรียกว่า "ลูก" ซึ่งจะเป็นหญิงหรือชายก็ไม่ได้มีความสำคัญใดๆ อีกเลย


เบาะของลูกอยู่ชิดทางขวาของห้องมีแม่นอนตรงกลางและพ่อนอนซมไข้อยู่ด้านซ้าย เราสามคนแทบจะนอนชิดกัน


ห้องเล็กๆ อาศัยแสงไฟจากแบตเตอรี่ แม้มันจะไม่สว่างดังใจเช่นหลอดนีออนจากไฟฟ้า แต่ก็ยังดีกว่าเทียนไขที่ต้องคอยระวังมากขึ้นเป็นสองเท่า


โดยปกติลูกจะตื่นบ่อยในช่วงเวลานี้ แต่ก็ด้วยพิษไข้ที่ลูกเพิ่งจะสร่างได้ไม่นาน ทำให้ลูกไม่สามารถลืมตาตื่นขึ้นมาร้องกวนโยเยกับแม่ได้เหมือนทุกๆ วัน


เมื่อคืนนี้แม่แทบกลั้นน้ำตาไม่อยู่ แม้คำของลุงโดมยังก้องอยู่ในสมองของแม่ตลอดเวลาว่า

"เวลาลูกไม่สบายพ่อแม่อย่าวิตกกังวลจนเกินเหตุเพราะลูกหวังพึ่งพาพ่อกับแม่เท่านั้น หากพ่อแม่ใจเสียแล้ว ลูกก็ยิ่งใจเสียมากขึ้นเพราะไม่รู้ว่าจะไปพึ่งพาใครได้อีก"


ตั้งแต่ลูกคลอดมา นี่เป็นครั้งแรกที่ลูกป่วย ลูกมีไข้สูงถึงสามสิบเจ็ดถึงสามสิบแปดองศาเซลเซส จนแม่ต้องจับลูกเช็ดตัวตลอดเวลา เพราะคุณหมอไม่ยอมสั่งยาลดไข้ เนื่องจากลูกอายุยังไม่ครบสองเดือน ยาพาราเซตามอลจะมีผลต่อตับอ่อนๆ ของลูก


พอลูกไข้ขึ้นสูงลูกก็จะนอนซม พ่อกับแม่ต้องจับลูกถอดผ้าอ้อม เพื่อเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นให้ความร้อนในตัวของลูกลดลง ตอนนั้นลูกจะร้องไห้จ้า บางทีแม่ต้องเช็ดตัวลูกอยู่นานกว่าไข้จะลดจนลูกปากคอสั่นด้วยความหนาว ดวงตาดำขลับของลูกก็จะจับจ้องมาที่หน้าของแม่ดั่งมีคำถาม ซึ่งแม่ก็จะพยายามอธิบายทั้งๆ ที่ไม่แน่ใจว่าลูกจะเข้าใจในความหมายหรือไม่ว่า ทำไมแม่ต้องทำให้ลูกตัวเย็นในขณะที่ลูกยังหลับอยู่ดีๆ


หลังจากที่เมื่อคืนลูกต่อสู้กับพิษไข้จนถึงเช้า ลูกก็หลับและซึมทั้งวัน จนกระทั่งถึงตอนนี้นี่แหละ ที่ทำให้แม่ได้มีเวลามานั่งเขียนบันทึกถึงลูก แต่ถ้าลูกผวาตื่นลืมตาขึ้นมาคราใด แม่ก็จะขยับเข้าไปกอดลูกไว้ จูบตรงกระหม่อมและบอกลูกเบาๆ ว่าแม่ยังอยู่ข้างๆ กาย


แม่คิดว่าลูกคงต้องการกำลังใจมากกว่าปกติในยามป่วยไข้เช่นนี้


ตอนที่แม่ยังเด็กอายุประมาณเจ็ดแปดขวบ แม่เคยป่วยเป็นไข้หวัด มีไข้ตัวร้อน แม้จะเป็นไม่มากนักแต่แม่ก็ต้องการกำลังใจจากยาย(หมายถึงแม่ของแม่)


แม่จำได้ว่าทำเสียงครางฮือๆ ในลำคอหวังให้ยายที่นอนอยู่ห้องข้างๆ เข้ามาดูแล แต่จนถึงรุ่งเช้าก็ไม่มีวี่แววว่ายายจะเข้ามาเคาะประตูห้องแม่ จนกระทั่งแม่ได้คำตอบในตอนเช้าเมื่อยาย ได้มาพูดกับแม่ว่า

"เมื่อคืนเป็นไข้ทำไมไม่ลุกมาหาหยูกยากินเอง แม่ไม่ได้อยู่ดูแลตลอดไปนะ"

นั่นเป็นเหตุผลของยายที่ตอนนั้นแม่ไม่มีวันเข้าใจ สิ่งที่แม่รู้สึกกลับเป็นความน้อยเนื้อต่ำใจและคิดว่ายายไม่รักแม่ ทอดทิ้งแม่และรักน้องชายซึ่งเป็นลูกที่เกิดจากครอบครัวใหม่ของแม่มากกว่า


แม่ยอมรับว่าปมด้อยเล็กๆ ในใจของแม่ที่ไม่รู้ว่าเริ่มต้นเมื่อไร แต่มันขยายอาณาเขตกินพื้นที่หัวใจของแม่เรื่อยมา แม่กลายเป็นคนก้าวร้าว เย็นชา เพราะว่ามีแม่(ยาย) ที่ฝึกให้แม่เป็นเด็กที่แกร่งเกินวัย


แม่ลืมไปแล้วว่ายายกอดแม่ครั้งสุดท้ายเมื่อไร การโอบกอดกันนั้นแม่ไม่ค่อยได้รับมาในวัยเด็ก แม่จึงมักโหยหาและมอบอ้อมกอดให้คนรอบข้างอยู่เสมอไม่ว่าคนนั้นจะเป็นเพื่อน หรือคนรัก


แม่เชื่อว่าการโอบกอดเป็นการถ่ายเทความรักที่ง่ายที่สุด เมื่อเราโอบกอดใครด้วยความรักเราก็จะรู้สึกได้ถึงความรักนั้นกลับคืนมาด้วยความรู้สึกเดียวกัน แต่วัฒนธรรมการโอบกอดนี้เราจะรับเขามาจากต่างชาติอีกที ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจที่ยาย(แม่ของแม่)จะรู้สึกประดักประเดิดที่จะแสดง


แม่คิดว่ายายเองก็คงไม่ได้สัมผัสอ้อมกอดจากแม่ ก็คือยายทวด) เท่าไรนัก เพราะยายทวดที่มีลูกถึงเจ็ดคน คงจะไม่มีเวลามาใส่ใจเรื่องของจิตใจลูกๆ ลำพังการทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องให้อยู่รอด บนพื้นแผ่นดินอีสานก็นับว่าเหนื่อยยากมากแล้ว


ยายของลูกมีลูกเพียงสองคน ก็คือแม่ซึ่งเป็นลูกสาวคนโตและน้าไก่ ซึ่งเป็นลูกอีกคนที่เกิดต่างพ่อ แต่ยายกลับไม่มีเวลาที่จะดูแลลูกๆ เพราะยายต้องทำงานตัวเป็นเกลียวจากบ้านไปเร่ซื้อของเก่าในต่างจังหวัดนานเป็นเดือนๆ


แม่ยังจำได้ ยายจะทิ้งให้แม่และน้าไก่(น้องชายอายุน้อยกว่าแม่ 3 ขวบ) ให้อยู่กับพี่เลี้ยงเด็ก ซึ่งจะเปลี่ยนหน้ากันแทบไม่ซ้ำเป็นคนลาวบ้าง คนพม่าบ้าง แต่ละคนจะทนฤทธิ์เดชของแม่ได้ไม่นานก็ต้องเก็บกระเป๋ากลับบ้านหรือหางานใหม่ทำ แต่หากคนไหนที่ตามใจหน่อยก็จะอยู่ดูแลแม่และน้องได้นานหน่อย


มีอยู่คนหนึ่งเป็นสาวชาวลาว ไว้ผมยาวจรดหลังเล็บขาวสะอาดยาวเรียว เธอดูแลเล็บและผมเป็นอย่างดี แต่มาคืนหนึ่งที่เรากำลังจะปิดไฟเข้านอนกัน ก็เกิดอุบัติเหตุ เล็บยาวๆ นั้นเผลอมาจิ้มใส่ตาแม่เข้า


พอตอนเช้ายายก็ให้เธอพาแม่ไปหาหมอเพราะแม่เคืองตามาก มีน้ำตาไหลตลอดเวลา แต่แม่กลับบังคับให้เธอพาไปที่ตลาดก่อนไปหาหมอที่คลินิก แม่ใช้จ่ายเงินไปกับการซื้อของเล่นจนแทบหมด พอไปจ่ายค่ายาปรากฏว่าเงินไม่พอ ทำให้หมอต้องจ่ายยามาให้แค่ครึ่งเดียว


เมื่อกลับถึงบ้านเธอก็เอาเรื่องไปฟ้องยาย ทำให้ยายโกรธมากและหวดแม่ด้วยไม้เรียวเสียจนยับ พอตกกลางคืนแม่ก็เลยแก้แค้นพี่เลี้ยงคนนี้ ด้วยการย่องไปหั่นผมสวยๆ ของเธอตอนหลับจนหมดสวย


ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมแม่จึงเป็นเด็กดื้อนักและมักจะดื้อเงียบ คือถ้าโดนตีก็จะไม่ร้องไห้แต่จะแอบมาร้องไห้อยู่เงียบๆ คนเดียว ดูภายนอกเป็นคนเข้มแข็งแต่ภายในกลับอ่อนไหวกว่าที่ควรจะเป็น อย่างเวลาสัตว์เลี้ยงเช่นหมาหรือแมวตาย แม่มักจะเศร้าเสียใจมากบางทีก็ทำพิธีฝังศพให้มัน ยืนไว้อาลัยร้องไห้อยู่หลายวัน ไม่เฉพาะแต่ที่บ้าน ที่โรงเรียนแม่ก็มักมีเรื่องชกต่อยกับเพื่อนอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะกับเด็กผู้ชาย แม้จะตัวโตกว่าแม่ก็สู้ไม่เคยถอย


แม่คิดว่าพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงที่แม่แสดงออกมาในรูปของการชกต่อย และความอ่อนไหวภายในจิตใจ ที่เป็นด้านตรงกันข้ามกันนี้เกิดขึ้นเพราะการเลี้ยงดูในวัยเด็กของแม่ ทำให้แม่เป็นคนที่ขาดความรักความอบอุ่น พฤติกรรมต่างๆ ที่แสดงออกมาก็เพื่อเรียกร้องความสนใจจากคนรอบข้างนั่นเอง


มีคนโบราณพูดไว้ว่า เด็กเลี้ยงหลายมือจะดื้อและไม่ฟังใคร แม่เป็นคนหนึ่งที่ถูกเลี้ยงหลายมือ มือหนึ่งก็คือยายทวด เมื่อครั้งที่แม่(ของแม่)ทะเลาะกับพ่อใหม่(ที่ไม่ใช่พ่อที่ให้กำเนิด) แม่ก็หอบหิ้วลูกไปฝากให้ยายทวดเลี้ยง ตอนนั้นแม่จำความได้ครั้งแรกแม่เข้าโรงเรียนชั้นป.1พอดี และมีเรื่องชกต่อยกับเพื่อนใหม่ที่โรงเรียนในวันแรกที่ไปโรงเรียน


จังหวัดร้อยเอ็ดเป็นบ้านเกิดของแม่และยายแต่แม่ก็มีโอกาสได้ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น บ้านของยายทวดเพียงปีเดียว เมื่อเลื่อนขึ้นชั้นป.2 ยายก็พากลับมาเข้าโรงเรียนที่แพร่บ้านของพ่อใหม่ และเรียนที่แพร่จนกระทั่งจบม.6 แต่เวลาเพียงปีเดียวที่อยู่บ้านยายทวด แม่กลับมีความทรงจำมากมายที่นั่น และมักเป็นความทรงจำที่ดีๆ นั่นเพราะแม่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขที่แท้จริงของญาติฝ่ายยาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อย้ายมาอยู่ที่แพร่แล้ว ปู่และย่า(ซึ่งเป็นพ่อแม่ของพ่อใหม่) จะปฏิบัติทารุณโหดร้ายอะไรกับแม่หรอกนะ เพียงแต่เขาก็เลี้ยงเราตามประสา และย่อมเอาใจใส่น้าไก่ซึ่งเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขจริงๆ


นอกจากยายทอด ย่าทวด ปู่ทวดแล้ว ก็มีพี่เลี้ยงเด็กหลายๆ คนที่เวียนกันมาเลี้ยงดูแม่ การเลี้ยงดูจากพี่เลี้ยงเด็กแต่ละคนก็ย่อมแตกต่างกันไป และแม่ก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับพี่เลี้ยงเด็กที่เปลี่ยนหน้ากันมาอยู่ตลอดเวลา


ทั้งที่จริงๆ แล้วคนที่แม่โหยหาอยากให้อยู่ใกล้คอยดูแลเอาใจใส่ กลับไม่เคยมีเวลาให้เลย สิ่งที่ยายให้ได้ก็เพียงเงินที่ทิ้งไว้ให้พี่เลี้ยงเด็กบริหารเป็นรายเดือนเท่านั้น ซึ่งพี่เลี้ยงเด็กก็คงจะดูแลพวกแม่ได้เพียงกายภาพเท่านั้น ส่วนจิตใจที่โหยหาความอบอุ่นของแม่ก็ยังคงเหน็บหนาวอยู่เช่นนั่นร่ำไปลูกเอ๋ย

 

 

 

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
ฉันเป็นคนหนึ่งที่ติดตามชมละครเรื่องเมียหลวง ที่ถ่ายทอดทุกวันจันทร์-อังคารทางช่องเจ็ด เป็นละครไม่กี่เรื่องที่ฉันชอบดู ด้วยพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน รับสัญญาณโทรทัศน์ได้เพียงไม่กี่ช่อง  และอีกเหตุผลหนึ่งคือละครดีๆ มีไม่กี่เรื่อง  แม้หลายคนจะเหมารวมละครทีวีของไทยว่าเป็นละครน้ำเน่าเสียส่วนใหญ่ แต่ฉันก็เชื่อว่าละครที่สร้างมาจาก นวนิยาย ก็น่าจะมีเนื้อหาสาระบางอย่างสอนใจคนดูได้บ้าง ไม่ใช่จะดูแต่เพียงฉากตบกันของบรรดาเมียน้อยของคุณอนิรุจเท่านั้น
เจนจิรา สุ
เรานั่งพูดคุยบนชานหน้าบ้านอย่างออกรส ส่วนใหญ่ก็จะถามไถ่ทุกข์สุขกันและกัน เลยไปถึงญาติคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เห็นหน้ากันนาน พี่เขยขึ้นเรือนมาสมทบเมื่อสิ้นเสียงออดของโรงเรียนได้พักใหญ่ “ไปเป็นการ์ดยามมา เขาให้เดือนละสี่ร้อย” พี่สาวแจง เป็นรายได้เดียวที่เหลืออยู่ของครอบครัว
เจนจิรา สุ
 "ไตรบานา" แม่เฒ่ากล่าวขอบคุณเป็นภาษากระยัน เมื่อเราบอกลาเป็นภาษาเดียวกัน ยังมีครอบครัวพี่สาวของสามีที่อยู่ถัดไปอีกสามป็อก เราตั้งใจว่าจะเยี่ยมก่อนที่จะไม่ได้พบหน้ากันอีก เพราะทางยูเอ็นฯ ได้แจ้งว่า ครอบครัวของเธอจะได้ไปประเทศที่สามในอีกไม่ช้า เราเดินเท้าไปตามทางเดินอันแสนพลุกพล่าน ราวกับว่าผู้คนเร่งรีบเดินทางสู่งานเลี้ยงสังสรรค์ที่ไหนสักแห่ง ความแออัดของผู้คนซึ่งมีอยู่ราวๆ สองหมื่นคน ทำให้บนทางเท้าและที่สาธารณะต่างๆ ดูครึกครื้น กลบบังความทุกข์ของคนพลัดบ้าน
เจนจิรา สุ
บนถนนที่ทอดยาวสู่หุบเขาทางทิศตะวันตกของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เส้นทางที่ห่างออกมาเพียงสามสิบกิโลเมตรเศษ ลัดเลาะไปตามภูเขาบนถนนสายรพช. ซึ่งค่อยๆ แปรสภาพเป็นดินและหินลูกรังก่อนจะถึงสุดสายปลายทาง อันเป็นสถานที่คล้ายด่านกักกันมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่ไร้ประเทศและเสรีภาพ หมู่บ้านกลางป่าที่ปลูกเบียดเสียดเรียงรายทุกซอกหลีบของพื้นที่จัดสรร คนนับหมื่นอัดแน่นในที่อาศัยกว้างกว่าเท้าและหัวจะพาดวางเพียงไม่กี่วา ที่นี่คือศูนย์ผู้พักพิงบ้านในสอย
เจนจิรา สุ
 มีใครเคยใช้ชีวิตในบ้านนอกโดยเฉพาะทางภาคอีสาน เมื่อประมาณสัก 20 ปีก่อน อาจจะมีความทรงจำเกี่ยวกับวัดที่แตกต่างจากปัจจุบัน ฉันจำได้ว่าเมื่อครั้งยังเด็ก เราแทบจะก้มลงกราบที่เท้าพระ เมื่อท่านเดินผ่านด้วยความศรัทธาอย่างแท้จริง ซึ่งปัจจุบันเป็นไปได้ยาก ฉันเป็นชาวพุทธมาแต่อ้อนแต่ออก ด้วยหมู่บ้านที่มีวัดป่า พระเณรเพียงไม่กี่รูปหนึ่งในนั้นเป็นลูกพี่ลูกน้องฉันเอง เราจึงเที่ยวเล่นแวะเวียนมาที่วัดทุกครั้งที่มีโอกาส ฉันยังจำไม่ลืมที่พระหลวงพี่ จับเราพี่น้องนั่งเรียงแถวทำสมาธิ เทศน์สอนประวัติความเป็นมาของพุทธเจ้าให้ฟัง ความที่ท่านบวชตั้งแต่อายุยังน้อย ตอนนี้ท่านจึงกลายเป็นเจ้าอาวาสไปแล้ว
เจนจิรา สุ
เราทยอยออกจากบ้านร้างด้วยดวงใจที่ปวดร้าว ตรอกเล็กๆ ยาวเกือบหนึ่งกิโลเมตร เป็นเส้นทางสัญจรของผู้คนจากหมู่บ้านกลางป่าไปสู่บ้านห้วยปูแกงเก่า บัดนี้ถูกย่ำไปด้วยรอยของสัตว์สี่เท้า “เชื่อไหมว่าครั้งหนึ่ง เราเคยช่วยกันขนทรายจากแม่น้ำข้างล่างมาถมตรอกแห่งนี้ กระสอบทรายนับร้อยจากจำนวนคนเพียงหยิบมือเพื่อ....” ฉันหยุดคำพูดเพียงบางแค่นั้น ทิ้งบางส่วนค้างไว้ในความทรงจำ “เพื่ออะไรล่ะ” ใครคนหนึ่งยังคงตั้งคำถามต่อสิ่งที่ค้างคา “เพื่อให้นักท่องเที่ยวจากหมู่บ้านข้างนอกเขามาเห็นวิถีชีวิตเรา มาเห็นหมู่บ้านที่เป็นหมู่บ้านจริงๆ ไม่ใช่มีแต่ร้านขายของ แต่มันคงไกลเกินไป…
เจนจิรา สุ
สมรภูมิแห่งนี้เรารบกับอะไร ที่ผ่านมาเราถูกจองจำไว้ในกรงที่มองไม่เห็น เรามีอาหาร มีที่อยู่หลับนอน แต่เราไม่สามารถเป็นคนเต็มคนได้ เพราะเราไม่มีสิทธิ์คิดหรือแสดงความคิดเห็น ไม่สามารถรู้สึกเจ็บแค้นร้อนหนาว เราต้องทำหน้าที่อันถูกกำหนดมาจากผู้คุม ต้องทำงานหนักเพื่อสร้างความร่ำรวยให้กับนาย เพียงเพื่อส่วนแบ่งที่ถูกเจียดให้พอประทังชีวิต แล้ววันหนึ่งเราต้องการปลดแอก เราต้องการตั้งอาจักรของตนเอง มีบ้านและที่ดินที่เป็นของเราจริงๆ ได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมจากสมองและแรงกายของตนเอง
เจนจิรา สุ
ตุลาคม 2551"พร้อมหรือยัง"ใครคนหนึ่งตะโกนประโยคซ้ำเมื่อห้านาทีที่แล้ว เมื่อขบวนหนุ่มสาวต่างถิ่นยังคงง่วนอยู่กับการกดชัตเตอร์เก็บภาพแสงแดดยามเก้าโมงเช้า ช่างยวนใจให้ไม่อาจละสายตาจากหญิงกระยันที่ปะแป้งแต่งตัวกันจนเป็นที่เรียบร้อย หลายคนจึงยังเสียดายที่จะละกล้องแล้วออกเดินทาง "หากไปสายกว่านี้เราจะร้อนมากเมื่ออยู่กลางป่า" ฉันเตือนเพื่อนที่ไม่มีประสบการณ์ในการเดินเท้าสู่หมู่บ้านกลางป่าที่อยู่ห่างออกไปจากที่นี่ราวๆ สามกิโลดอย
เจนจิรา สุ
เสียงโหม่งขนาดใหญ่ประสานกับเสียงกลอง ฆ้อง ฉาบ แม้ฟังดูอึกทึกครึกโครม แต่ก็พลิ้วไหวไปตามทำนองขุล่ยมั้งที่เป็นขลุ่ยเฉพาะของชาวกระยัน ได้เริ่มขับประโคมหมู่บ้านราวป่า ส่งสัญญาณการเริ่มต้นของงานประเพณีต้นที “กะควาง” ในภาษากระยันถูกแปรออกมาเป็นภาษาเรียกอีกอย่างว่า “ต้นที” ซึ่งหมายถึงเสาไม้สีขาวแกะสลักปลายเสาให้เป็นรูปร่างคล้ายกับศิวลึงค์ ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ในหมู่บ้านชนเผ่ากระยัน(กระเหรี่ยงคอยาว) และชนเผ่ากระยา(กระเหรี่ยงแดง) ชาวกระยันเชื่อว่า ต้นทีเป็นต้นไม้ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งแรกบนโลกมนุษย์ การบูชาต้นทีก็เพื่อให้บรรพบุรุษของกระยัน…
เจนจิรา สุ
มีนาคม 2551 ฉันตอบจดหมายแฟนนักอ่านคอลัมน์ของฉันคนหนึ่ง เธอเป็นคนปักษ์ใต้ นานเป็นเดือนที่จดหมายมาถึงพร้อมเสื้อผ้าและข้าวของกล่องใหญ่ ด้วยเจตนาทดแทนความขาดแคลนตามความรู้สึกของเธอ ที่สัมผัสจากการอ่านในบันทึกของฉันอยู่สองสามฉบับ เธอบอกว่าอิจฉานิดๆ ในชีวิตที่เรียบง่ายที่ฉันเลือกเดิน ฉันจึงตอบเธอไปว่าฉันเป็นเพียงนกที่บินหลงทางมา ก่อนหน้านี้ฉันก็ได้รับจดหมาย เสียงโทรศัพท์ และหนังสือดีๆ ที่ถูกส่งมาจากคนเมืองไกลจากเพื่อนที่ห่างหายการติดต่อมานานแสนนาน และจากมิตรร่วมความรู้สึกที่ไม่เคยเห็นหน้า อาจดูเป็นเรื่องแปลกหรือมีเปอร์เซ็นต์น้อยเหลือเกิน ที่คนปกติธรรมดา เกิด และเติบโตในสังคมเมือง…
เจนจิรา สุ
20 พฤศจิกายน 2550 คืนนี้แสงจันทร์กำลังโผล่พ้นเหลี่ยมเขาทิศเหนือ ดาวพราวแต้มเต็มฟ้า เหล้าดีกรีแรงทิ้งก้นจอกตั้งวางเคียงดวงเทียนที่ถูกจุดขึ้นโดยแม่เฒ่า ฉันกระชับเสื้อกันหนาวอีกนิด เมื่อลมหนาวพรูมาทางหน้าต่างบานกว้าง แม่เฒ่าบอกให้ยกดื่มอีกสักจอกแล้วจะอุ่นขึ้น ฉันรินคืนให้แม่เฒ่าพลางถามถึงความหลังเมื่อครั้งที่ยังอยู่ที่เมืองดอยก่อ รัฐคะยา ประเทศพม่า “ตอนนั้นแม่ทำนามาได้ก็ต้องแบ่งให้กับเจ้าของนา ที่เหลือก็แทบไม่พอกิน ทหารพม่าก็ยังมาขูดรีดเอาอีก บางทีถ้าไม่ให้ก็ทุบตี พวกผู้ชายต้องพากันไปหลบซ่อนตัว  ไม่อย่างนั้นมันจะเกณฑ์ให้ไปขนระเบิดที่ชายแดน” “…
เจนจิรา สุ
10 พฤศจิกายน 2550 ฉันว่างเว้นจากการเขียนบันทึกไปนานด้วยทั้งภารกิจส่วนตัวที่ต้องยุ่งวุ่นวายกับเจ้าตัวน้อยที่อยู่ในวัยที่ต้องการการเอาใจใส่อย่างสูง และภารกิจของชุมชนที่ต้องเขียนโครงการเพื่อของบประมาณจากหน่วยงานราชการ ทั้งงานประสานงาน งานประชุม ส่วนเวลาที่เหลือฉันก็ยกให้กับการคิดในเรื่องต่างๆ ฉัน สามี และลูกต้องเดินทางทุกๆ 3-5 วัน จากบ้านของตนเองที่สร้างไว้ใกล้เมืองไปบ้านห้วยเสือเฒ่าและบ้านใหม่ห้วยปูแกง การพักอาศัยที่บ้านของตัวเองที่สร้างไว้ใกล้เมืองนั้นก็ด้วยเหตุผลเดียวคือความสะดวกสบาย ไม่ว่าจะการเดินทาง อยู่ใกล้โรงพยาบาล มีไฟฟ้าใช้สำหรับทำงาน หรือพักผ่อนด้วยการดูทีวี ติดตามข่าวสารโลกภายนอก…